ต่อไปนี้ เราจะหนีภาษียากขึ้น!!!
แล้วสงสัยไหมครับว่า ต่อไปอีกกี่ปี?
เคยได้ยินคำพูดแบบนี้ใช่ไหมครับ
ในช่วงหนึ่ง ผมมักจะเห็นคำโปรยเรื่องหนีภาษีแบบนี้ในการขายสัมมนาเกี่ยวกับภาษี บัญชี หรือธุรกิจต่าง ๆ โดยเหตุผลของคำโปรยนี้มักจะมีตั้งแต่ ระบบการตรวจสอบของกรมสรรพากร ข้อกฎหมายใหม่ สังคมไร้เงินสด ไปจนถึง Big Data เชื่อมโยงข้อมูลต่าง ๆ ในอนาคต
บทความนี้ เลยถือโอกาสเอาเรื่องราวทั้งหมดมาเล่าสู่กันฟัง ผนวกกับความคิดเห็นส่วนตัวของผม ว่าจริงๆแล้วสิ่งที่เราเห็นในช่วงที่ผ่านมาก่อนหน้านี้เกี่ยวกับเรื่องภาษีมันมีอะไรบ้าง แล้วเราเองต้องจัดการกับมันแบบไหนให้ชีวิตในอนาคตของเราอยู่รอดและอยู่ร่วมกับภาษีได้อย่างมีความสุข
มุมมองที่เปลี่ยนไป ส่งผลต่อการหนีภาษี
ผมลองแบ่งมุมมองที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ออกเป็น 3 มุมมอง โดยแบ่งออกเป็น ข้อมูลจากภายนอก แนวทางตรวจสอบของกรมสรรพากร และ กฎหมายใหม่ ซึ่งมีความสัมพันธ์กันในมุมที่แตกต่างกันไป แต่อย่างไรก็ดีทุกอย่างนี้จะมาบรรจบกันในท้ายที่สุดครับ
เรามาเริ่มที่มุมมองแรกกันก่อนเลยครับ… นั่นคือ ข้อมูลภายนอก
ข้อมูลภายนอก ส่งผลกระทบต่อแนวทางการตรวจสอบ
ส่วนใหญ่แล้วคนมักจะเริ่มตั้งคำถามว่า ทำไมสรรพากรถึงรู้รายได้เรา หรือกลัวมาก ๆ เวลาได้ยินคำว่า ธนาคารส่งข้อมูลให้สรรพากร รวมถึงเรื่องพื้นฐานอย่าง การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย
โดยปกติแล้ว คนหนีภาษีมักจะเริ่มต้นด้วยจากการไม่ยอมให้ผู้ที่จ่ายเงินหัก ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เพราะมองว่าถ้าคนจ่ายเงินไม่ได้หักภาษีไว้แล้วส่งให้ แบบนี้ก็ไม่น่าจะมีใครรู้ และไม่มีใครดูออกว่าเรามีรายได้
สำหรับคนที่ไม่เข้าใจเรื่องนี้ ผมขยายความไว้นิดนึงครับว่า หน้าที่ของภาษีหัก ณ ที่จ่ายเป็นหน้าที่ของผู้จ่ายเงินที่ต้องหักไว้ ซึ่งทำให้กรมสรรพากรได้รับเงินภาษีส่วนหนึ่งมาล่วงหน้า (โดยผู้ถูกหักไว้สามารถเอาไปใช้หักจากภาษีที่คำนวณได้) แต่ที่สำคัญตรงนี้ก็คือ ถ้าหากคุณถูกหักภาษีไว้ มีรายได้แล้วไม่ยื่นภาษี อันนี้คุณจะมีโอกาสเจอตรวจสอบมากขึ้นครับ ดังนั้นเลยเป็นที่มาของการไม่ยอมให้ผู้จ่ายหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้นั่นเองครับ
ทีนี้ ถ้าเราลองเปลี่ยนจุดตั้งต้นไปที่อื่น นอกเหนือจากข้อมูลที่ส่งให้สรรพากรตามที่ว่ามานี้ เราจะเห็นว่าทางสรรพากรเริ่มมีการเปิดช่องทางให้คนทั่วไปสามารถแจ้งเบาะแสธุรกิจที่หนีภาษีได้ ซึ่งถ้าหากใครเจอธุรกิจที่ผิดกฎหมาย สามารถแจ้งได้ที่ ระบบแจ้งเบาะแสหลีกเลี่ยงภาษี กรมสรรพากร

นอกจากการแจ้งเบาะแสแล้ว ยังมีเรื่องของการเชื่อมโยงข้อมูลภายนอกกับหน่วยงานอื่นอีกมากมาย ทั้งข้อมูลจากหน่วยงานรัฐด้วยกัน หรือข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญๆ ที่ช่วยให้ระบบการตรวจสอบคนหนีภาษีนั้นเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ
จากการหาข้อมูลเพิ่มเติมของผมเอง พบว่าหน่วยงานที่ว่านี้ หมายถึงหน่วยงานรัฐต่างๆ เช่น กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมที่ดิน หรือแม้แต่ข้อมูลจาก การประปา การไฟฟ้า ข้อมูลธุรกิจอื่นๆ อีกมากมายครับ ซึ่งตรงนี้ก็มีการพัฒนาอยู่อย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่ได้มีลายลักษณ์อักษรบอกมาว่าตอนนี้มีการเชื่อมข้อมูลกับอะไรบ้างแล้ว
ดังนั้นในมุมมองแรกของข้อมูลภายนอก จะเห็นว่ามีการขยายแหล่งข้อมูลมากขึ้นเรื่อย ๆ ทีนี้เรามาดูกันต่อที่แนวทางการตรวจสอบของกรมสรรพากรบ้างครับ
แนวทางการตรวจสอบของกรมสรรพากรที่เปลี่ยนไป
ในช่วงหลัง กรมสรรพากรมีระบบการตรวจสอบที่เข้มข้นมาก ซึ่งในระบบต่าง ๆ เรามักจะได้ยินคำว่า RBA Big Data คัดเลือกราย ซึ่งเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2561 โดยผมสรุปสาระสำคัญของแต่ละระบบออกมาให้ทำความเข้าใจเพิ่มเติมดังนี้ครับ

RBA + Big DATA หรือ ระบบการตรวจสอบที่มีหลักเกณฑ์ตามความเสี่ยงของธุรกิจ (Risk Base Audit) และมีการเชื่อมโยงข้อมูล Big DATA ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆจากข้อมูลภายนอก (ในข้อก่อนหน้านี้) ซึ่งทั้งหมดนี้รอการพัฒนาเป็น AI ในอนาคต ทำให้กรมสรรพากรมีข้อมูลและแนวทางการตรวจสอบที่เป็นระบบมากขึ้นครับ
หลายคนอาจจะสงสัยว่า RBA คืออะไร เล่าให้ฟังสั้นๆว่า มันคือระบบเกณฑ์ทีเกิดขึ้นจากการรวบรวมข้อมูลทั้งหมดจากแหล่งข้อมูลภายนอกและภายในกรมสรรพากร เชื่อมโยงกันกับหน่วยงานต่างๆ และมีเกณฑ์ในการคัดเลือกให้คะแนนความเสี่ยงประมาณเกือบๆ 150 เกณฑ์ ซึ่งจะมีการเพิ่มเรื่อยๆครับ (ข้อมูล ณ ปี 2561)

โดยส่วนใหญ่เกณฑ์พวกนี้จะมาจากการวิเคราะห์ข้อมูลงบการเงิน แบบแสดงรายการภาษี อัตราส่วนทางการเงินและ ค่ามาตรฐานต่างๆในประเทศไทย เช่น GDP รวมถึงเกณฑ์ของผู้สอบบัญชีและผู้ทำบัญชีของกิจการต่าง ๆ ว่ามีมาตรฐานหรือไม่ ตรงนี้ก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งเกณฑ์ที่ใช้ในการพิจารณาเช่นเดียวกันครับ
ระบบคัดเลือกรายและการเชื่อมโยงข้อมูลต่อเนื่องจากระบบ RBA ทำให้กรมสรรพากรสามารถเลือกรายผู้เสียภาษีที่น่าสงสัยได้ถูกต้องมากยิ่งขึ้น ร่วมกับฐานข้อมูลที่มาจากการตรวจสอบ (ตรวจแนะนำ) ผู้ประกอบการในช่วงที่ผ่านมา เป็นตัวช่วยให้กรมสรรพากรลดการใช้ดุลยพินิจในการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ลง และอาศัยข้อมูลส่วนนี้ในการตัดสินใจมากยิ่งขึ้น
การจัดกลุ่มผู้ประกอบการ ในปัจจุบันกรมสรรพากรมีการจัดกลุ่มผู้ประกอบการว่า เป็น กลุ่มดี หรือ กลุ่มเสี่ยง ซึ่งถ้าหากธุรกิจหรือบุคคลไหนอยู่ในกลุ่มเสี่ยง ย่อมมีโอกาสเสี่ยงโดนตรวจสอบมากขึ้นเช่นกัน ส่วนกลุ่มดีนั้นถือเป็นกลุ่มที่สรรพากรมองว่าเป็นกลุ่มที่เข้าสู่ระบบอย่างถูกต้อง ดังนั้นในบางกรณีอาจจะมีโอกาสได้รับสิทธิ์ประโยชน์ต่าง ๆ ที่มากขึ้นในอนาคต (ต้องติดตามดูกันต่อไป)

จะเห็นว่าในการตรวจสอบของกรมสรรพากรเองก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้นเรื่อย ๆ เหมือนกันครับ แต่อำนาจในการตรวจสอบ รวมถึงแหล่งข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากไม่มีแนวทางของกฎหมายที่สนับสนุนให้เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นตัวสุดท้ายที่เราจะมาพูดถึงกันครับ
กฎหมายออกใหม่ที่เข้มงวดขี้น
ก่อนจะเล่าไปถึงกฎหมาย ผมขอย้อนมาเล่าที่กรอบของสังคมและภาครัฐที่เปลี่ยนแปลงไปก่อนครับ ซึ่งจุดเริ่มต้นคงต้องว่ากันนโยบาย E-Payment ที่ถือว่าเป็นการรุกหนักผลักเข้าสู่ระบบมากขึ้น เพราะเป็นการสร้างสังคมไร้เงินสดที่ดำเนินการตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา เราจะสังเกตเห็นได้ว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ ทุกคนสามารถทำรายการธุรกรรมทางการเงินได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายเงิน การรับเงินสะดวกขึ้น คนพกเงินสดน้อยลง แต่ในการกลับกัน ข้อมูลเหล่านี้ก็พาคนเข้าสู่ระบบการเสียภาษีเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

นอกจากนั้นเราจะเห็นนโยบายการลดเอกสารภาษี (ภาษีอิเล็กทรอนิกส์) ที่เริ่มใช้งานแล้วอย่าง E-TAX invoice หรือ E-Witholding TAX การพัฒนาระบบทั้งสองส่วนนี้ร่วมกับการใช้งานที่มากขึ้น ย่อมจะช่วยให้ข้อมูลที่มีอยู่ในระบบมากขึ้นเช่นเดียวกัน และทางรัฐเองก็มีนโยบายผลักดันธุรกิจให้ใช้ระบบนี้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการให้สิทธิ์รายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลที่มากขึ้น (เช่น รายจ่ายสองเท่ากรณีมีการติดตั้งระบบใหม่)
หลังจากนั้นเราจะได้เห็นข้อกฎหมายตามมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง บัญชีชุดเดียว ที่กระตุ้นให้ธุรกิจที่เป็นนิติบุคคลทั้งหลายเข้าสู่ระบบอย่างถูกต้อง เหมือนโค้งสุดท้ายที่จะให้โอกาสในการจัดการเรื่องหลบหนีภาษี หรือเป็นการประกาศกลายๆว่าใครเลี่ยงเจอดีแน่นอน
และก็เริ่มมาเป็นกระแสใหญ่มาก ๆ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมากับเรื่องของ ธนาคารส่งข้อมูลให้สรรพากร หรือ เปิดโอกาสให้สรรพากรตรวจสอบข้อมูลบัญชีธนาคารได้สำหรับธุรกรรมลักษณะเฉพาะที่เข้าเงื่อนไข ทำให้กรมสรรพากรมีข้อมูลในการวิเคราะห์ได้ดีขึ้น เมื่อนำไปเชื่อมโยงกับเรื่องที่กล่าวมาก่อนหน้านี้ทั้งหมด
นอกจากนั้น ในเวลาไล่เลี่ยกัน ก็จะมีเรื่องของ การส่งข้อมูลคำนวณดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ แม้ประเด็นนี้จะยังเห็นไม่ชัดว่ามีผลกระทบด้านภาษีมากนัก (แค่ตัดสินใจว่าส่งหรือไม่ส่งข้อมูลการคำนวณภาษีแบบสรุป) แต่ถ้าลองมองเชื่อมโยงกันได้ก็จะเห็นว่า ข้อมูลธุรกรรมต่างๆ เริ่มมีความเกี่ยวข้องกับชีวิตเรามากขึ้น
สำหรับคนที่ไม่เคยได้ยินเรื่องนี้ ผมขออธิบายเพิ่มเติมว่า การส่งข้อมูลคำนวณดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์นั้น เป็นหน้าที่ของธนาคารพาณิชย์ที่มีต้องส่งข้อมูลการคำนวณดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ให้กับสรรพากร โดยผู้เป็นเจ้าของบัญชีมีสิทธิปฎิเสธการส่งข้อมูลได้ โดยการแจ้งความประสงค์ที่ธนาคาร ซึ่งถ้าหากใครที่แจ้งว่าไม่ประสงค์ให้ธนาคารส่งข้อมูล ก็จะถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตรา 15% ทันทีโดยที่ไม่ได้รับสิทธิ์ยกเว้นเงินได้ที่ได้รับจากดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ส่วนที่ไม่เกิน 20,000 บาท (อ้างอิง : ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 346)

หรือเรื่องล่าชุดอย่าง ภาษี e-service ที่เริ่มบังคับใช้เก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากแพลตฟอร์มต่างประเทศในวันที่ 1 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา ก็จะเห็นว่าเริ่มมีการกำหนดให้แพลตฟอร์มต่างประเทศต้องส่งข้อมูลของลูกค้าที่มีการจ่ายค่าบริการที่เกิดขึ้นในแต่ละเดือนให้กับกรมสรรพากรด้วยเช่นกัน (ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 239)

สำหรับคนที่สงสัยว่า ภาษี e-Service คืออะไร ผมอธิบายสั้น ๆ ว่า มันคือการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากธุรกิจที่เป็นแพลตฟอร์มต่างประเทศที่ไม่ได้จดทะเบียนประกอบกิจการในประเทศไทย แต่มีการให้บริการในประเทศไทย เช่น Facebook, Google ที่ได้รับค่าโฆษณาจากประเทศไทย รวมถึงแพลตฟอร์มอื่น ๆ จากต่างประเทศด้วยครับ ซึ่งถ้าหากใครสนใจรายละเอียดภาษีตัวนี้เพิ่มเติม สามารถอ่านได้ที่บทความ เริ่มใช้แล้ว! ภาษี e-Service เก็บ VAT 7% จากแพลตฟอร์มต่างประเทศที่มีรายได้จากประเทศไทย หรือดูคลิปวีดีโอได้ที่ด้านล่างนี้ครับ
เราจะเชื่อมโยงข้อมูลภาษีได้จริง ๆ เหรอ ?
และถ้าเชื่อมโยงจริง มันจะเป็นยังไงกันนะ
สำหรับคำถามนี้ ผมอยากให้ลองคิดตามตัวอย่างนี้ดูครับ…
สมมติว่า นายบักหนอม เป็นพ่อค้าออนไลน์ที่มีรายได้เยอะมาก แต่ไม่อยากเสียภาษี เขาจึงพยายามทำทุกอย่างเพื่อกระจายบัญชี หลบเลี่ยงไม่ให้กรมสรรพากรได้ข้อมูลตามกฎหมายที่ธนาคารต้องส่งให้กับสรรพากรเพราะเชื่อว่าจะไม่ถูกตรวจสอบภาษี
แต่เนื่องจากนายบักหนอมไปเปิดบัญชีออมทรัพย์หลากหลายธนาคาร และธนาคารเองก็มีหน้าที่ส่งข้อมูลการคำนวณดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ให้กับสรรพากรเช่นกัน ตรงนี้ข้อมูลที่เชื่อมโยงกันจะพอเห็นอะไรแปลก ๆ แล้วว่า นายบักหนอมนี่มันมีเงินฝากหลายบัญชีจังนะ มีดอกเบี้ยก็เยอะอยู่ แต่ทำไมไม่มีข้อมูลที่ธนาคารส่งให้กับสรรพากรบ้างล่ะ ?
และถ้านายบักหนอมไปซื้อโฆษณาจากทาง Facebook โดยที่นายบักหนอมเองก็ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม Facebook ก็จะคิดค่าโฆษณาและภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% และนำส่งข้อมูลการซื้อโฆษณาของนายบักหนอมให้กับกรมสรรพากรต่อไป
หรือบางทีมีคนล่วงรู้ว่านายบักหนอมเลี่ยงภาษี เขาอาจจะไปแจ้งข้อมูลให้กับสรรพากรผ่านระบบอีกทีหนึ่ง แบบนี้ก็อาจจะเกิดขึ้นได้เหมือนกัน
และนี่เป็นแค่ตัวอย่างส่วนหนึ่งที่ข้อมูลที่เชื่อมโยงกันได้แบบง่าย ๆ ตามที่เล่ามา และยังไม่รวมระบบการตรวจสอบอื่น ๆ หรือ การเชื่อมโยงข้อมูลด้านอื่น ๆ ที่เรายังไม่รู้ แต่ถ้าลองพิจารณาดู ผมคิดว่าหลายคนก็คงเห็นภาพว่ามันน่าจะเป็นไปได้ และยิ่งมีข้อมูลมากเท่าไร การตรวจสอบยิ่งจะทำได้ง่ายขึ้นเรื่อย ๆ จริงไหมครับ
หากใครอยากฟังประเด็นต่าง ๆ ทั้งหมดอีกที ผมได้ทำคลิปสรุปไว้ที่ด้านล่างนี้ครับ
สรุป
เนื้อหาทั้งหมดนี้ เขียนขึ้นจากประสบการณ์ทำงานของผมกว่าหลายปี และขอย้ำอีกทีว่าเป็นบทความจากมุมมองของผมเองที่มีต่อระบบต่าง ๆ รวมถึงข้อกฎหมาย ซึ่งอาจจะไม่ใช่แนวทางของกรมสรรพากรหรือภาครัฐ นะครับ
แต่มาถึงตรงนี้แล้ว เราทุกคนคงปฎิเสธความจริงข้อหนึ่งไม่ได้ครับว่า ข้อมูลต่าง ๆ ที่ผ่านจากเทคโนโลยีทำให้คนหลีกเลี่ยงภาษียากขึ้น และจะยากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อบทบาทของเทคโนโลยีมีมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะมันส่งผลต่อระบบการตรวจสอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และกฎหมายต่าง ๆ ที่เราจะต้องปฎิบัติตามในอนาคต
อย่างไรก็ดี ขึ้นอยู่กับผู้ที่ใช้มันด้วยล่ะครับว่า จะใช้มันในแง่ไหนทางไหน เพราะถ้าหากเราใช้มันอย่างถูกต้อง สิ่งต่างๆเหล่านี้จะช่วยอำนวยความสะดวกให้เรามากยิ่งขึ้นครับ แต่ถ้าหากเราไม่เรียนรู้ที่จะใช้มันอย่างถูกต้อง หรือพยายามใช้มันเป็นช่องทางในการหลบเลี่ยงตลอดเวลา มันก็เป็นคำถามที่ผมถามต่อล่ะครับว่า แล้วเราจะอยู่แบบนี้ได้นานแค่ไหน?
ไม่แน่นะครับว่าจุดจบอาจจะใกล้กว่าที่เราคิดไว้ก็ได้
TAXBugnoms