เริ่มใช้แล้ว! ภาษี e-Service เก็บ VAT 7% จากแพลตฟอร์มต่างประเทศที่มีรายได้จากประเทศไทย

ภาษี e-service

เมื่อไรจะเก็บภาษีจากธุรกิจต่างประเทศได้?

มิตรสหายท่านหนึ่งเอ่ยปากถาม

ก่อนจะพูดถึง “ภาษี e-Service” ผมเชื่อว่าหนึ่งในปัญหาคาใจของคนไทยที่เป็นผู้เสียภาษีให้ประเทศนี้ คงไม่พ้นเรื่องของการเก็บภาษีธุรกิจต่างประเทศที่มาประกอบกิจการในประเทศไทยแต่ทำไมถึงไม่มีหน้าที่เสียภาษีให้ประเทศนี้ใช่ไหมครับ ?

Advertisements

ทำไมไทยถึงเก็บภาษีจากต่างประเทศไม่ได้?

โดยส่วนใหญ่แล้ว การเสียภาษีในประเทศไทยของธุรกิจที่อยู่ในต่างประเทศนั้น มักจะเกี่ยวข้องกับภาษี 2 ชนิด คือ ภาษีเงินได้ กับ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเป็นภาษีที่อยู่ในความดูแลและรับผิดชอบของกรมสรรพากร แต่ปัญหาที่ทำให้ไม่สามารถจัดเก็บได้ คือ กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจในการจัดเก็บภาษีส่วนนี้ไว้นั่นเองครับ

สำหรับหลักการจัดเก็บภาษีเงินได้นั้น ประเทศไทยจะเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ ก็ต่อเมื่อ ธุรกิจดังกล่าวมีการประกอบกิจการที่ต้องจดทะเบียนในประเทศไทย หรือ “มีสำนักงาน/สาขา” หรือ “ตัวแทน” หรือ ได้รับรายได้บางประเภทที่กฎหมายมีอำนาจในการจัดเก็บ

Advertisements

แต่อย่างไรก็ดี ต่อให้มีกฎหมายจัดเก็บได้ขึ้นมาจริง ๆ ก็อาจไปเจอกับ “อนุสัญญาภาษีซ้อนระหว่างประเทศ” ที่กำหนดให้ลดหรืองดการจัดเก็บภาษีเงินได้ในส่วนนี้ลงอีก เพราะบริษัทเหล่านี้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ในประเทศตัวเองเช่นเดียวกัน

เพื่อให้เข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น ลองมาดูตัวอย่างกันครับ

ยกตัวอย่างเช่น Facebook (ธุรกิจต่างประเทศ) ที่มีรายได้จากค่าโฆษณาที่บรรดาธุรกิจทั้งหลายจ่ายให้รัว ๆ ในทุกวันนี้ แต่ประเทศไทยก็ยังไม่สามารถเก็บภาษีได้ เพราะเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

Advertisements
  • Facebook ไม่ได้จดทะเบียนจัดตั้งในประเทศไทย ดังนั้นจึงไม่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล (จากฐานกำไรสุทธิ) เหมือนธุรกิจที่จดทะเบียนในประเทศไทย
  • หากประเทศไทยพยายามจะเก็บภาษีโดยยึดหลัก เงินได้ที่จ่ายจากหรือในประเทศไทย ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฏากร ที่ใช้สำหรับธุรกิจนิติบุคคลที่ไม่ได้ประกอบกิจการในไทย แต่ได้รับเงินได้ที่จ่ายจากในประเทศไทย ก็ไม่สามารถเก็บได้อยู่ดี เพราะว่ารายได้ค่าโฆษณาที่ Facebook ได้รับนั้น ถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 8 แต่กฎหมายมาตรานี้ระบุให้เก็บได้เฉพาะเงินได้ประเภทที่ 2-6 เท่านั้น

ดังนั้นการเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับธุรกิจต่างประเทศในหลาย ๆ กรณีจึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก จากหลักการของข้อกฎหมายในบ้านเรา แต่ความหวังในการเก็บภาษีก็ยังคงมีอยู่ เพราะยังมีภาษีอีกตัวหนึ่งที่มีความยืดหยุ่นในการจัดเก็บมากกว่า นั่นคือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่เรียกเก็บจากผู้ขายสินค้าหรือให้บริการในประเทศไทย

จากตัวอย่างก่อนหน้านี้ ถ้าเราลองมาพิจารณาต่อ จะเห็นว่า Facebook เป็น ผู้ให้บริการโฆษณาในประเทศไทย ดังนั้นย่อมมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศไทยด้วย เพียงแต่ก่อนหน้านี้ กฎหมายได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของ “ผู้จ่ายเงินในประเทศไทย” ที่มีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 83/6 ด้วยแบบแสดงรายการ ภ.พ. 36 และให้สามารถนำมาใช้เป็นภาษีซื้อของกิจการได้ ในกรณีที่ผู้จ่ายเงินเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

มาตรา 83/6 เมื่อมีการชำระราคาสินค้าหรือราคาค่าบริการให้กับผู้ประกอบการดังต่อไปนี้ ให้ผู้จ่ายเงินค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการมีหน้าที่นำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการมีหน้าที่เสียภาษี

ประเด็นในทางปฎิบัติจึงอยู่ตรงที่ว่า คนที่จ่ายเงินค่าโฆษณาให้ Facebook ย่อมไม่สามารถบอก Facebook ได้ว่าในยอดเงินที่จ่ายให้นั้นมีภาษีมูลค่าเพิ่มซ่อนอยู่ แล้วจ่ายเงินเท่าเดิม โดยถือว่ายอดนั้นได้รวมภาษีมูลค่าเพิ่มไว้เรียบร้อยแล้ว แต่กลับต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ที่บวกเพิ่มจากราคาค่าโฆษณา (ด้วยแบบแสดงรายการ ภ.พ. 36) และนำมาใช้เป็นภาษีซื้อของกิจการ

และในขณะเดียวกัน หากพิจารณาข้อกฎหมายข้างต้นเพิ่มเติม ผู้จ่ายเงินที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็มีหน้าที่ในการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 83/6 เช่นเดียวกัน แต่ที่ผ่านมาก็ไม่ได้มีการนำส่ง และถ้าหากรัฐบังคับให้ต้องนำส่งอย่างเคร่งครัดตามข้อกฎหมาย ก็น่าจะเกิดปัญหาไม่ใช่น้อย

จากประเด็นที่ว่ามานี้ อาจเป็นเหตุผลที่รัฐต้องพยายามจะร่างกฎหมายฉบับใหม่ขึ้นมา เพื่อให้สามารถจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ให้บริการในต่างประเทศเหล่านี้ ได้อย่างถูกต้อง เป็นธรรม และสอดคล้องตามหลักสากล เลยเป็นที่มาของ ภาษี e-Service ตัวนี้นี่เองครับ

ภาษี e-Service คืออะไร?

ภาษี e-Service คือ วิธีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากธุรกิจต่างประเทศที่ไม่ได้จดทะเบียนประกอบกิจการในประเทศไทย แต่มีการให้บริการในประเทศไทย (เรียกสั้นๆ ว่า “มีรายได้”) ผ่านการใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์หรือเทคโนโลยี จึงเป็นผู้มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศไทย

ภาษี e-service เริ่มใช้ 1 กันยายน 2564 เป็นการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากแพลตฟอร์มต่างประเทศ
Advertisements

ถ้าให้สรุปเป็นภาษาชาวบ้าน นี่คือ วิธีการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากธุรกิจต่างประเทศที่มีให้บริการผ่านเทคโนโลยีในประเทศไทยนั่นเองครับ

โดยในปัจจุบัน ภาษี e-service ได้ออกมาเป็นกฎหมายแล้ว คือ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 53) พ.ศ. 2564 เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา โดยจะเริ่มบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 เป็นต้นไป ซึ่งกฎหมายฉบับนี้มีรายละเอียดสำคัญดังนี้

บริการแบบไหนบ้างที่ต้องเสียภาษี?

กฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดไว้ว่า การให้บริการที่จะเก็บภาษีได้นั้น ต้องเข้าข่ายนิยามของคำว่า บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ และรวมถึงการให้บริการผ่าน อิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม ตามกฎหมายแก้ไขมาตรา 77/1 แห่งประมวลรัษฎากรดังนี้ครับ

(10/1) “บริการทางอิเล็กทรอนิกส์” หมายความว่า บริการที่ส่งมอบโดยผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตหรือเครือข่ายทางอิเล็กทรอนิกส์อื่นใด ซึ่งลักษณะของบริการเป็นไปโดยอัตโนมัติ ในสาระสำคัญ โดยบริการดังกล่าวไม่สามารถกระทำได้หากปราศจากเทคโนโลยีสารสนเทศ

(10/2) “อิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม” หมายความว่า ตลาด ช่องทาง หรือกระบวนการ อื่นใดที่ผู้ให้บริการหลายรายใช้ในการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์แก่ผู้รับบริการ

อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ร่างกฎหมายออกมา ทางเฟสบุ๊ค กรมสรรพากร เองก็มีการอัพเดทข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องนี้ไว้ครับ และไห้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า การเก็บ VAT ผู้ให้บริการต่างชาติตรงนี้หมายถึงอะไรบ้าง ?

ภาษี e-Service
Advertisements

และก่อนกฎหมายฉบับนี้จะออกมาไม่นาน ทางกรมสรรพากรก็ได้ทำอัพเดทความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ออกมาอีกครั้งหนึ่ง ตามรูปด้านล่างนี้ครับ

ตัวอย่างการให้บริการอิเล็กทรอนิคส์

สำหรับตัวอย่างของการให้บริการอิเล็กทรอนิคส์ ที่พอจะเห็นภาพว่าน่าจะเข้าข่ายที่ต้องเสียภาษี e-Service หรือ VAT For e-Service (VES) นั้น ผมแยกเป็นประเภทต่าง ๆ ตามผู้ให้บริการดังนี้ครับ

  • การให้บริการรูปแบบโฆษณา เช่น Facebook, Google
  • บริการจองโรงแรมที่พัก/เดินทาง เช่น Booking.com, Agoda, Traveloka
  • บริการดูหนังฟังเพลงออนไลน์ เช่น Netflix, Spotify, Apple music, Youtube, HBOGo
  • บริการสตรีมมิ่ง เกมส์ต่างๆ เช่น XboxLive, Playstion online, Nintendo switch online
  • ธุรกิจที่ให้บริการ Platform e-commerce และตัวแทนขนส่งสินค้า

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันทางกรมสรรพากรได้อัพเดทรายชื่อธุรกิจต่างประเทศที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในกรณีนี้ไว้ที่เวปไซด์ VAT for Electronic Service (VES) ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 50 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2564)

ทีนี้ หลังจากที่เราเข้าใจเรื่องของผู้มีหน้าที่เสียภาษีตัวนี้แล้วว่าเป็นใคร เราจะมาดูกันต่อว่า แล้วผู้ประกอบการต่างประเทศที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในไทยกลุ่มนี้ เขาต้องมีวิธีการเสียภาษีแบบไหนยังไงบ้าง ในหัวข้อต่อไปกันครับ

วิธีจัดเก็บภาษี e-Service

หลักการในการจัดเก็บภาษีตัวนี้ จะเหมือนกับภาษีมูลค่าเพิ่มทั่วไปนี่แหละครับ เพียงแต่ว่าจะกำหนดขอบเขตเฉพาะเรื่องไว้ดังนี้ครับ

  • มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มเฉพาะการให้บริการให้ผู้ใช้ที่ไม่ใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียน หรือเรียกว่าเป็นการให้บริการแก่ประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรืออาจจะรู้ในชื่อของ B2C ก็ได้ครับ
  • กำหนดให้ผู้เสียภาษีกลุ่มนี้ไม่มีหน้าที่ที่ต้องออกใบกำกับภาษี แต่ยังต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภาษีขาย) ให้กับกรมสรรพากร โดยไม่มีสิทธินำภาษีซื้อมาใช้หักจากภาษีขายด้วยครับ
  • ผู้เสียภาษีในส่วนนี้ ต้องมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี และยื่นจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่เวปไซด์กรมสรรพากร

โดยหลักเกณฑ์เพิ่มเติมที่กรมสรรพากรสรุปไว้ มีดังนี้ครับ

ผู้ให้บริการอิเล็กทรอนิกส์มีหน้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่มีรายรับเกิน 1.8 ล้านบาทในรอบระยะเวลาบัญชี (กรณีนิติบุคคล) และ หนึ่งปีปฎิทิน (กรณีบุคคลธรรมดา)

โดยในปี 2564 ที่เป็นปีแรกของการบังคับใช้กฎหมายนั้น จะพิจารณาจากรายรับของรอบบัญชีที่ไม่สิ้นสุดก่อนวันที่ 1 กันยายน 2564 ส่วนบุคคลธรรมดาจะนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 เว้นแต่มีการเริ่มประกอบกิจการหลังจากนั้นครับ

โดยการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มจะไม่ถือว่าเกิดเป็นสถานประกอบการถาวร (Permanent Establishment : PE) ในประเทศไทย ทำให้ไม่เกี่ยวข้องกับการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและอนุสัญญาภาษีซ้อนแต่อย่างใดครับ

และหลังจากที่จดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว ผู้ประกอบการยังมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีและจัดทำรายงานดังต่อไปนี้อีกด้วยครับ

  • ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (P.P. 30.9) พร้อมชำระภาษีเป็นรายเดือนโดยให้ดำเนินการผ่านระบบ SVE (Simplified VAT System for e-Service) ได้ตั้งแต่วันที่ 1-23 ของเดือนถัดไป และชำระเงินด้วยสกุลเงินบาทผ่านระบบเช่นกัน (เข้าบัญชีเงินฝากของกรมสรรพากร หรือ ผ่านบัตรเครดิต)
  • จัดทำรายงานภาษีตามแบบที่กรมสรรพากรกำหนดไว้ และมีหน้าที่ลงรายงงานภาษีขายภายใน 3 วันทำการนับแต่วันที่ได้ให้บริการ พร้อมกับเก็บเอกสารไว้ไม่น้อยกว่า 5 ปี นับแต่วันที่ได้ทำรายงาน (แต่ไม่ต้องส่งรายงานภาษีขายให้กับกรมสรรพากร หากไม่ได้มีการร้องขอเพื่อทำการตรวจสอบ)

สำหรับคนที่สนใจเนื้อหาอย่างละเอียด ลองดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่คลิปด้านล่างนี้ครับ…

การเก็บภาษีตัวนี้มีผลกระทบอย่างไร ?

ถ้าพูดถึงภาระในเรื่องของภาษีมูลค่าเพิ่มนั้นจะอยู่ที่ผู้ให้บริการอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก ที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยการนำส่งยอดภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับกรมสรรพากร เพราะเป็นหน้าที่ที่กำหนดไว้ตามกฎหมายครับ

แต่ประเด็นที่น่าสนใจ คือ การผลักภาระภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับผู้บริโภคโดยการบวกราคาเพิ่มนั้นจะเกิดขึ้นหรือไม่ อันนี้ต้องติดตามกันต่อไปครับว่า หลังจากนี้ผู้บริโภคอย่างเรา ๆ นั้นจะได้รับผลกระทบตรงนี้หรือไม่ เพราะอย่างที่เราทราบกันดีว่าภาษีมูลค่าเพิ่มนั้นผู้ให้บริการสามารถเลือกที่จะผลักภาระให้กับผู้ใช้บริการได้จากการขึ้นราคาค่าบริการนั่นเองครับ

ภาษีมูลค่าเพิ่ม (e-service) กรณีผู้รับบริการไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องถือเป็นต้นทุนของธุรกิจ

แต่อย่างไรก็ดีจากกฎหมายฉบับนี้ ไม่ได้พูดถึงผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในประเทศไทยกับการใช้สิทธิภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นภาษีซื้อ แต่จากแนวทางในปัจจุบัน ค่อนข้างเป็นที่แน่ชัดว่าคงยึดตามหลักการเดิมคือ ผู้ที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในประเทศไทย มีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ประกอบการต่างประเทศด้วยแบบแสดงรายการ ภ.พ. 36 และมานำใช้เป็นภาษีซื้อได้เหมือนเดิมครับ

ภาษีมูลค่าเพิ่ม (e-service) กรณีผู้รับบริการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม สามารถนำมาเป็นภาษีซื้อของธุรกิจได้

การดำเนินการของผู้ให้บริการต่อจากนี้

สำหรับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่างประเทศ จะมีการแจ้งให้ลูกค้าทราบว่า กรณีที่ลูกค้าเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จะต้องทำอย่างไร เพื่อไม่ให้ต้องเสีย 7% จากราคาค่าบริการ แต่ไปนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยตัวเองด้วยแบบ ภ.พ. 36

ยกตัวอย่างล่าสุด Facebook ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษี e-service ตัวนี้ ได้ออกมาพูดถึงแนวทางของการจัดการภาษีของธุรกิจไว้ที่หัวข้อ About Thailand Value Added Tax (VAT)

จากข้อความข้างต้น สรุปประเด็นสำคัญได้ว่า Facebook จะไม่เก็บภาษีมูลค่าเพิ่มธุรกิจที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หากมีการกรอกเลขประจำตัวผู้เสียภาษีไว้ในส่วนของข้อมูลการชำระเงิน และทางธุรกิจที่จด VAT นั้นมีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยตัวเอง (ดังรูปด้านล่างนี้ครับ)

ดังนั้น ในมุมของผู้ใช้งาน Facebook จะเกิดความแตกต่างกันดังนี้ครับ

  1. สำหรับผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (จด VAT) จะต้องกรอกเลขประจำตัวผู้เสียภาษีในส่วนของข้อมูลการชำระเงินของ Facebook และมีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มเหมือนเดิมด้วยแบบ ภ.พ. 36 ซึ่งจะสามารถนำภาษีมูลค่าเพิ่มไปใช้เป็นภาษีซื้อได้หรือสามารถนำมาหักออกจากภาษีขายได้
  2. สำหรับธุรกิจที่ไม่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ไม่จด VAT) ก็ไม่จำเป็นต้องทำอะไร เพียงแต่ว่ารายจ่ายค่าโฆษณาที่ต้องจ่ายจะเพิ่มขึ้นอีก 7% เนื่องจาก Facebook จะเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากเรา และนำส่งให้กับทางกรมสรรพากรตามแนวทางของกฎหมายฉบับนี้

มาถึงตรงนี้ เราจะเห็นภาพชัดเจนแล้วว่า ในกรณีของธุรกิจที่ไม่จด VAT นั้น มีโอกาสที่จะได้ กำไรจะลดลง หากต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม จากเดิมที่ไม่เคยเสียมาก่อน ซึ่งสิ่งที่ต้องตอบให้ชัดและคำนวณให้ได้คือ ผลกระทบจากการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตรงนี้ ยังทำให้ธุรกิจมีกำไรอยู่ไหม? นั่นเองครับ

และสำหรับผู้ใช้งาน Facebook ผมแนะนำให้ลองฟังคลิปนี้อีกครั้งเพื่อความเข้าใจที่มากขึ้นครับ

อย่างไรก็ดี สำหรับธุรกิจอื่น ๆ ที่เข้าข่ายต้องเสียภาษี e-service นั้น เราคงต้องรอติดตามแนวทางกันต่อไปครับว่าจะใช้วิธีเดียวกันกับ Facebook หรือจะมีเงื่อนไขอะไรเพิ่มเติมมากกว่านี้

นอกจากสิ่งที่ผมเล่ามาทั้งหมดแล้ว เมื่อช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2564 ผมได้มีโอกาสสัมภาษณ์อธิบดีกรมสรรพากร ดร. เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ถึงทิศทางของภาษีตัวนี้ และสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทย ซึ่งได้รับข้อมูลเพิ่มขึ้นดังนี้ครับ

  • การเก็บภาษีตัวนี้อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการเก็บภาษีเงินได้จากธุรกิจต่างประเทศในอนาคต ซึ่งประเทศไทยเอง ถือเป็นหนึ่งในสมาชิกของโครงการ BEPS (Base Erosion and Profit Shifting) ที่ก่อตั้งขึ้นโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-Operation and Development หรือ OECD) ที่มีเป้าหมายจะนำกำไรบางส่วนจากบริษัทข้ามชาติที่ประกอบธุรกิจดิจิทัล (Automated Digital Business and Customer Facing Business)  มาจัดสรรให้กับประเทศที่บริษัทได้ให้บริการแก่ลูกค้าในประเทศนั้น และเสียภาษีในประเทศแหล่งเงินได้ ซึ่งหากประเทศไทยมีข้อมูลรายได้ของบริษัทเหล่านี้จากการเก็บภาษี e-service ก็มีโอกาสที่จะเป็นไปได้ว่าในอนาคตจะใช้ข้อมูลนี้เป็นฐานในการจัดเก็บภาษีต่อไป
  • การเข้ามาจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในประเทศไทยของบริษัทเหล่านี้ ทำให้สรรพากรมีอำนาจในการใช้กลไกเพื่อตรวจสอบภาษีต่อไปได้ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการออกหมายเรียกอิเล็กทรอนิกส์ หรืออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษีในประเทศไทยต่อไป

สำหรับคนที่สนใจรับฟังเต็ม ๆ สามารถฟังได้ที่คลิปวีดีโอด้านล่างนี้ครับ

สรุป

โดยสรุปแล้ว ผลกระทบของการจัดเก็บภาษี e-service นั้น สามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเด็นสำคัญได้ดังนี้ครับ

1. ธุรกิจต่างประเทศที่ให้ บริการอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม กับผู้บริโภคที่ไม่ใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จะมีหน้าที่เพิ่มเติมที่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มจากการให้บริการแก่กรมสรรพากร โดยไม่ต้องออกใบกำกับภาษี และไม่สามารถใช้ภาษีซื้อได้

2. ผู้บริโภคหรือลูกค้าสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ไม่ได้มีหน้าที่ใดๆ เพิ่มขึ้นมา แต่อาจมีผลกระทบที่เป็นไปได้ว่าจะถูกบวกเพิ่มราคาบริการส่วนนี้อีก 7% (ขึ้นอยู่กับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่างประเทศ)

3. ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่มีการรับบริการในส่วนนี้จากผู้ให้บริการต่างประเทศ ยังมีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับกรมสรรพากรตามแบบแสดงรายการ ภ.พ. 36 ตามปกติ และสามารถนำยอดนี้มาเป็นภาษีซื้อในการหักออกจากยอดภาษีขายได้เหมือนเดิมครับ

สุดท้ายนี้ ผลกระทบที่มีต่อประเทศไทยจะได้ภาษีเพิ่มแน่นอนจากกฎหมายฉบับนี้ โดยคาดว่าจะได้เงินภาษีเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอนครับ

แต่อย่างไรก็ดี คงตอบได้ยากว่า
ใครเป็นผู้จ่ายเงินก้อนนี้ที่แท้จริง

TAXBugnoms

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Allow