ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย คืออะไร ? หักกี่เปอร์เซนต์ ? มีแบบฟอร์มอะไรบ้าง ?

ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย

พี่ครับ ทำไมเขาถึงหักภาษีผมไว้ ?
แปลว่าผมจ่ายภาษีแล้วใช่ไหมครับ

มิตรสหายผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ท่านหนึ่ง

ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (ภาษาอังกฤษ : Withholding TAX) คือ ภาษีที่กฎหมายกำหนดให้ “ผู้จ่ายเงิน” ต้องหักไว้จากเงินได้ก่อนที่จะจ่ายเงินให้แก่ “ผู้รับเงิน” และถือเป็น “เครดิตภาษี” ของผู้รับเงิน (ผู้มีรายได้) ในการคำนวณภาษีเงินได้ โดยจะมีหลักฐานที่เรียกว่า “หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย” ที่ผู้จ่ายเงินมอบให้แก่ผู้รับเงินไว้เป็นหลักฐาน

Advertisements

ความสัมพันธ์ และ ความหมายที่แท้จริง
ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย

ถ้าให้อธิบายความหมายแบบง่ายที่สุดของ ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ผมคงต้องบอกว่ามันคือการ “จ่ายภาษีล่วงหน้า” ให้กับกรมสรรพากร ซึ่งการทำแบบนั้นจะส่งผลกระทบต่อ วิธีการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ดังนี้ครับ

ความสัมพันธ์ระหว่างภาษีเงินได้สิ้นปี ครึ่งปี และ ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย
Advertisements

จากรูปเราจะเห็นว่า ภาษีเงินได้ที่ต้องจ่ายหรือขอคืน นั้น เกิดจากความสัมพันธ์ระหว่าง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปลายปีที่คำนวณได้ หักออกด้วย ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี และ ภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่ผู้มีเงินได้ถูกหักไว้ในระหว่างปีนั่นเองครับ

Advertisements

ดังนั้นถ้าหากเราถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้มากเท่าไรก็แปลว่าเราได้จ่ายภาษีไว้ล่วงหน้ามากเท่านั้น และทำให้เมื่อคำนวณภาษีเงินได้ประจำปีออกมาแล้ว เราจะเสียภาษีเพิ่มในส่วนที่ชำระล่วงหน้าขาดไป หรือ มีโอกาสได้คืนภาษีที่เราถูกหักไว้มากกว่าที่ต้องเสียจริง

ยกตัวอย่างเช่น ในระหว่างปี นายบักหนอมผู้เป็นเจ้าของแฟนเพจ TAXBugnoms มีรายได้ที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไปทั้งสิ้นจำนวน 15,000 บาท และในปีถัดไป เมื่อนายบักหนอมได้เอารายได้ทั้งหมดมาคำนวณและยื่นแบบแสดงรายการภาษีแล้ว พบว่าต้องเสียภาษีทั้งสิ้นจำนวน 27,000 บาท ย่อมแปลว่า นายบักหนอมสามารถนำภาษีที่ถูกหักไว้จำนวน 15,000 บาทมาหักออกจากภาษีที่คำนวณได้ และจ่ายชำระภาษีเพิ่มเติมจำนวน 12,000 บาทนั่นเองครับ (นี่คือการเสียภาษีเพิ่มในส่วนที่ชำระล่วงหน้าขาดไป)

แต่ถ้าหากนายบักหนอมคำนวณภาษีประจำปีออกมาแล้วมีภาษีที่ต้องเสียทั้งสิ้น 10,000 บาท แบบนี้นายบักหนอมก็สามารถขอเงินคืนภาษีที่ชำระล่วงหน้าไว้เกินจำนวน 5,000 บาท (นี่คือการถูกหักภาษีล่วงหน้าไว้มากกว่าจำนวนที่เราต้องเสียจริง)

Advertisements

แต่จากตัวอย่างในกรณีนี้ เราจะเห็นว่า การได้คืนภาษีหรือจ่ายเพิ่มนั้น ไม่ได้มีผลกระทบโดยตรงกับภาษีประจำปีที่คำนวณได้ เพราะภาษีที่ถูกหักไว้นั้น มันเป็นเพียงภาษีที่เราจ่ายล่วงหน้าไว้ ซึ่งไม่มีผลอะไรกับการคำนวณภาษีประจำปี นอกจากนำไป “เครดิต” (หักออก) จากยอดภาษีที่คำนวณได้

นี่คือหน้าที่หลักของภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ซึ่งมักจะมีความเข้าใจผิดตามมาว่า …

การถูกหักภาษีไว้ ไม่ได้แปลว่า เสียภาษีเรียบร้อยแล้ว

ความเข้าใจผิดที่เจอกันบ่อย ๆ สำหรับเรื่องนี้ คือ “การถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้นั้น ไม่ได้แปลว่าเราได้เสียภาษีเรียบร้อยแล้ว” เพราะมันเป็นแค่การจ่ายล่วงหน้าอย่างที่ว่ามาครับ

ยกเว้นแต่ว่า การหักภาษีนั้นจะเป็นการหักในลักษณะของ Final TAX หรือ เงินได้ที่มีการเสียภาษีสุดท้ายเมื่อถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้แล้ว ซึ่งในกรณีนี้ ผู้มีเงินได้สามารถเลือกที่จะไม่นำมารวมคำนวณในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ครับ (อ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความ ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ ต้องเอามายื่นภาษีไหม ? | Final TAX)

ดังนั้นสรุปแบบง่าย ๆ คือ ในทุกครั้งที่เรามีรายได้และถูกหักภาษีไว้ ถ้าการหักนั้นไม่ได้มีสิทธิเลือกแบบ Final TAX แปลว่า เรามีหน้าที่ต้องเอามายื่นภาษีเงินได้ประจำปีให้ถูกต้อง และนำภาษีที่ถูกหักมาใช้ในการคำนวณยอดภาษีที่ต้องจ่ายเพิ่มหรือขอคืนนั่นแหละครับ

ทีนี้มาดูกันต่อถึงหลักฐานการหักภาษีกันบ้างครับ ว่าทั้งผู้จ่ายและผู้รับต้องมีหลักฐานแบบไหนยังไงบ้าง ? เพื่อให้มั่นใจว่าการหักภาษีนั้นเป็นไปด้วยความถูกต้อง

แบบฟอร์มหัก ณ ที่จ่าย มีอะไรบ้าง?

ถ้าสรุปความสัมพันธ์ทั้งหมดที่อธิบายมา ออกมาเป็นรูปให้เข้าใจง่าย ๆ น่าจะได้รูปความสัมพันธ์ทั้งหมดของผู้จ่ายเงิน และ ผู้รับเงิน ออกมาเป็นแบบนี้ครับ

ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ความสัมพันธ์ของภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ทั้งผู้มีเงินได้ ผู้จ่ายเงิน และ แบบฟอร์มหัก ณ ที่จ่าย

เราจะเห็นว่าหลังจากการหักภาษีแล้ว หน้าที่ของผู้จ่ายเงินได้ และ ผู้รับเงินได้ เป็นดังนี้ครับ

  • ผู้จ่ายเงินได้ มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายแล้วนำส่งให้กับกรมสรรพากร ด้วยแบบฟอร์มตามประเภทการจ่ายเงินได้ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ และมีหน้าที่ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายให้กับผู้รับเงินไว้เป็นหลักฐาน
  • ผู้มีเงินได้ (ผู้รับเงิน) นอกจากรับเงินแล้ว ยังมีหน้าที่เก็บหลักฐานหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายที่ได้รับจากผู้จ่ายเงินไว้เป็นหลักฐานในการคำนวณภาษีเงินได้ประจำปีของตัวเอง

โดยรูปแบบของ หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (ใบ 50 ทวิ) นั้นจะมีหน้าตาดังนี้ครับ

หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย หรือ ใบ 50 ทวิ เป็น แบบฟอร์มสำคัญในการจัดการภาษีหัก ณ ที่จ่าย
Advertisements

สำหรับวิธีการดูหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ว่าจะต้องดูข้อมูลอะไรบ้าง และผู้มีเงินได้หน้าที่กรอกข้อมูลตอนยื่นภาษีอะไรบ้าง ? สามารถดูวิธีการได้ในคลิปด้านล่างนี้เลยครับ

ส่วนทางของผู้จ่ายเงินที่มีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีเงินได้ที่หักไว้ให้กับกรมสรรพากรนั้น จะขึ้นอยู่กับประเภทของเงินได้ (เงินได้พึงประเมิน 8 ประเภท) และ เงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดไว้ โดยสรุปออกมาเป็นรูปได้ดังนี้ครับ

โดยแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ ภ.ง.ด. 1 ภ.ง.ด. 2 และ ภ.ง.ด. 3 จะใช้ในกรณีที่เป็นการหักภาษี ณ ที่จ่ายบุคคลธรรมดา ส่วนแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ ภ.ง.ด. 53 จะใช้ในกรณีที่เป็นการหักภาษี ณ ที่จ่ายนิติบุคคลครับ

ส่วนการยื่นแบบแสดงรายการภาษีหัก ณ ที่จ่ายในกรณีที่ยื่นผ่านอินเตอร์เน็ตนั้น จะได้รับขยายเวลาไปอีก 8 วัน เช่น ถ้าต้องยื่นวันที่ 7 ของเดือนถัดไป ก็จะสามารถยื่นได้ถึงวันที่ 15 ครับ (และอาจมีการขยายเวลาเพิ่มเติมพิเศษให้ตามแต่กรณี เช่น โควิด-19)

หมายเหตุ : รูปข้างต้นเป็นการสรุปสำหรับการหักภาษีตามมาตรา 50 ทวิ และ มาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฏากรเท่านั้น แต่ไม่รวมมาตรา 70 ที่ต้องหักแล้วนำส่งตามแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด. 54 ครับ

ความรับผิดชอบในการหักภาษี ณ ที่จ่าย

ทีนี้หลายคนน่าจะมีคำถามว่า “ถ้าไม่หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ ถือว่าใครมีความผิด?” ถ้าให้ตอบแบบกระชับรวบรัดได้ใจความ ผมอยากบอกว่า ผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย หรือ ผู้จ่ายเงินนี่แหละครับ ต้องเป็นผู้รับผิดชอบหลักอย่างเป็นทางการ เพราะกฎหมายเขียนไว้ชัดเจนว่า

ถ้าผู้จ่ายเงินตามมาตรา 50 และมาตรา 53 มิได้หักและนำเงินส่ง หรือได้หักและนำเงินส่งแล้วแต่ไม่ครบจำนวนที่ถูกต้อง ผู้จ่ายเงินต้องรับผิดร่วมกับผู้มีเงินได้ในการเสียภาษีที่ต้องชำระตามจำนวนเงินภาษีที่มิได้หักและนำส่ง หรือตามจำนวนที่ขาดไปแล้วแต่กรณี
ในกรณีที่ผู้จ่ายเงินได้หักเงินภาษีไว้ตามมาตรา 50 หรือมาตรา 53 แล้ว ให้ผู้มีเงินได้ซึ่งต้องเสียภาษีพ้นความรับผิดที่จะต้องชำระเงินภาษีเท่าจำนวนที่ผู้จ่ายเงินได้หักไว้แล้วนั้น และให้ผู้จ่ายเงินรับผิดชำระเงินภาษีจำนวนนั้นแต่ฝ่ายเดียว

โดยเราสามารถแปลประโยคตามข้อกฎหมายข้างต้นเป็นภาษาคนได้ว่า …

  • กรณีไม่หักภาษี ณ ที่จ่าย หรือหักไม่ครบถ้วน ผู้จ่ายเงินและผู้รับเงินรับผิดชอบร่วมกันในจำนวนภาษีที่ต้องชำระหรือต้องหัก
  • ถ้าผู้จ่ายเงินหักภาษีไว้แล้ว แต่นำส่งไม่ครบ หรือไม่นำส่ง ผู้จ่ายเงินมีความผิดแต่เพียงผู้เดียว

นอกจากนั้นยังมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องอีก 2 มาตรา คือ มาตรา 27 และ มาตรา 37 ทวิ ดังนี้ครับ

มาตรา 27 บุคคลใดไม่เสียหรือนำส่งภาษีภายในกำหนดเวลาตามที่บัญญัติไว้ในหมวดต่างๆ แห่งลักษณะนี้เกี่ยวกับภาษีอากรประเมิน ให้เสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องเสีย หรือนำส่งโดยไม่รวมเบี้ยปรับ
มาตรา 37 ทวิ ผู้ใดโดยเจตนาไม่ยื่นรายการที่ต้องยื่นตามลักษณะนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

โดยทั้งสองมาตรานี้อาจจะถูกบังคับใช้ในกรณีต่อไปนี้ครับ

  • ในกรณีที่ผู้จ่ายไม่ได้หักและนำส่งจะต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มในอัตรา 1.5% ต่อเดือนของเงินภาษีที่ชำระไม่ครบอีกด้วย ซึ่งบางความเห็นมองในกรณีนี้ว่า ต่อให้ผู้มีเงินได้ (ผู้รับเงิน) ยื่นภาษีและชำระไปแล้วก็ตาม แต่ผู้จ่ายยังคงต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มได้ หากสรรพากรประเมินอย่างจริงจัง
  • ในกรณีที่หลีกเลี่ยงการยื่นแบบภาษี สามารถโดนโทษตามมาตรา 37 ทวิได้ ซึ่งมีการเพิ่มโทษรุนแรงขึ้นกว่าเก่า คือ จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน สองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากหน้าที่หักและนำส่งแล้ว ข้อกฎหมายยังกำหนดให้ผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายให้กับผู้ถูกหักภาษีจำนวน 2 ฉบับ ภายในระยะเวลาที่กำหนดอีกด้วยครับ

มาตรา 50 ทวิ ให้ผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายที่ได้หักไว้แล้วในปีภาษีให้แก่ผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายสองฉบับ มีข้อความตรงกันในกรณีและตามกำหนดเวลาดังต่อไปนี้

(1) ในกรณีตามมาตรา 3 เตรส ให้ออกในทันทีทุกครั้งที่มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย
(2) ในกรณีตามมาตรา 50(1) ให้ออกภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ของปีถัดจากปีภาษี หรือภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายออกจากงานในระหว่างปีภาษี
(3) ในกรณีตามมาตรา 50(2) (3) หรือ (4) ให้ออกในทันทีทุกครั้งที่มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย

จากข้อกฎหมายที่อ้างอิงมา จะเห็นว่าในฝั่งของผู้รับเงินที่ถูกหักภาษีไว้นั้น สามารถขอหนังสือรับรองการหักภาษีได้ทุกครั้งที่มีการภาษี ณ ที่จ่าย ยกเว้นในกรณีของมนุษย์เงินเดือนที่ทำงานประจำจะได้ภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ปีถัดไป หรือ ภายใน 1 เดือนนับแต่วันที่ออกจากงานครับ

ดังนั้น สิ่งสำคัญที่ผู้จ่ายเงินต้องระวังและจัดการให้ดี คือ การหักภาษี ณ ที่จ่าย และ ส่งมอบหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย แก่ผู้รับอย่างถูกต้อง

อยากหักภาษี ณ ที่จ่ายให้ถูกต้อง
ผู้จ่ายเงินต้องรู้อะไรบ้าง?

ประเด็นสำคัญในการหักภาษีของผู้จ่ายเงินที่ผมอยากแนะนำให้พิจารณากันให้ดี คือ การทำความเข้าใจใน 3 ประเด็นสำคัญต่อไปนี้ครับ ได้แก่

  1. ผู้จ่ายเงินเป็นใคร ระหว่าง “บุคคลธรรมดา” หรือ “นิติบุคคล”
  2. เงินที่เราจ่ายไปนั้น คือ เงินได้ประเภทไหนตามหมาย
  3. กฎหมายกำหนดให้ต้องหักภาษีหรือไม่

ผู้จ่ายเงินเป็นใคร

สำหรับประเด็นนี้ จะทำให้ผู้จ่ายเงินรู้ว่าตัวเองมีหน้าที่หักภาษีหรือไม่ ซึ่งโดยปกติแล้วผู้ที่มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายส่วนใหญ่มักจะเป็นนิติบุคคล (บริษัทหรือห้างหุ้นส่วน) มากกว่าบุคคลธรรมดาครับ

เงินที่จ่ายไป เป็นเงินได้ประเภทไหน

สำหรับประเด็นนี้สิ่งที่อยากจะเน้นคือ เราต้องเข้าใจประเภทของเงินได้พึงประเมินทั้ง 8 ประเภทก่อนครับว่า การจ่ายเงินนั้นเป็นเงินได้ประเภทไหนบ้าง ซึ่งถ้าหากเราแยกออกแล้วจะทำให้เราสามารถเชื่อมโยงกับประเด็นสุดท้ายได้ง่ายขึ้นครับ

กฎหมายกำหนดให้หักภาษีไว้หรือไม่

เมื่อเรารู้ว่า เราเป็นใคร (ผู้จ่าย) จ่ายอะไร (เงินได้ประเภทไหน) หลังจากนั้นเราก็ต้องมาดูกันต่อครับว่า แล้วกฎหมายสั่งให้หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้หรือไม่ ? ซึ่งถ้าหากกฎหมายไม่สั่ง ก็ไม่ต้องหักครับ โดยในปัจจุบันกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการหักภาษี ณ ที่จ่ายที่ใช้กันหลัก ๆ นั้นมีอยู่ 2 มาตรา คือ มาตรา 50 ทวิ และ มาตรา 3 เตรส (ทป. 4/2528)

แต่สิ่งที่ผมอยากแนะนำ คือ เราไม่ต้องจำทุกมาตราหรือทำความเข้าใจทั้งหมดก็ได้ครับ เพียงแต่เราเลือกจำเฉพาะมาตราที่จำเป็น หรือ จำรูปแบบการจ่ายเงินที่ต้องหักภาษีจ่ายไว้ เพียงแค่นี้ก็เพียงพอแล้วล่ะครับ

เพื่อความเข้าใจที่มากขึ้น ลองมาดูตัวอย่างและวิธีการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายกันครับ

ตัวอย่างการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย

สมมติว่าบริษัท A มีการจ่ายค่าเช่าให้กับนายบักหนอมจำนวน 10,000 บาท แล้วเราอยากรู้ว่าต้องมีการหักภาษี ณ ที่จ่ายหรือไม่ เราก็ต้องมาพิจารณาก่อนครับว่า การจ่ายค่าเช่าที่ว่านี้ ใครเป็นคนจ่ายเงิน เงินได้ที่จ่ายเป็นเงินได้ประเภทไหน และกฎหมายมีข้อกำหนดให้หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้หรือไม่ ?

จากเหตุการณ์สมมติข้างต้น เราจะสรุปได้ว่า

1. ผู้จ่ายเงิน เป็น นิติบุคคล (บริษัท A)
2. ผู้รับเงิน เป็น บุคคลธรรมดา
 (นายบักหนอม)
3. เงินได้ที่จ่ายคือ เงินได้ประเภทที่ 5 (ค่าเช่าอาคาร)

เมื่อรู้แบบนี้แล้ว สิ่งที่เราต้องตั้งคำถามต่อคือ แล้วข้อกฎหมายกำหนดไว้อย่างไร? ซึ่งถ้าหากเราลองไปดูข้อมูลเพิ่มเติมในกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือ ทป.4/2528 ข้อ 6 (1) ซึ่งระบุไว้ว่า

ข้อ 6 ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น ซึ่งเป็นผู้จ่ายค่าเช่าหรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้เนื่องจากการให้เช่าทรัพย์สิน ตามมาตรา 40(5)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร แต่ไม่รวมถึงค่าแห่งอาคารหรือโรงเรือนที่ได้รับกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้รับซึ่งเป็น

(1) ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หักภาษี ณ ที่จ่าย โดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 5.0

จากข้อกฎหมายนี้ เราจะได้คำตอบว่า กรณีนี้ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ในอัตรา 5% เมื่อเป็นการจ่ายค่าเช่าให้กับบุคคลธรรมดานั่นเอง ซึ่งจะเกิดเหตุการณ์ต่อไปนี้ตามมาครับ

  • บริษัท A มีการจ่ายค่าเช่าจำนวน 10,000 บาท และต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้จำนวน 500 บาท ซึ่ง
    • ถือว่าเป็นการจ่ายค่าใช้จ่ายของธุรกิจ (ค่าเช่าจำนวน) 10,000 บาท แม้จะจ่ายเงิน 9,500 บาท
    • เงินจำนวน 500 บาท ถูกรวบรวมในเดือนนั้น ๆ และนำส่งกรมสรรพากรด้วยแบบ ภ.ง.ด. 3 (เนื่องจากเป็นการหักภาษีบุคคลธรรมดา)
    • บริษัท A จัดทำหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ทีจ่ายส่งมอบให้นายบักหนอมเป็นหลักฐานพร้อมกับการจ่ายเงินค่าเช่า
  • นายบักหนอมได้รับรายได้ค่าเช่าจำนวน 10,000 บาท โดยถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้จำนวน 500 บาท ซึ่ง
    • ถึงแม้จะได้รับเงินจำนวน 9,500 บาทแต่ถือว่ามีเงินได้จำนวน 10,000 บาท
    • นายบักหนอมเก็บหลักฐานการหักภาษี ณ ที่จ่ายของบริษัท A ไว้เป็นหลักฐานในการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี

เห็นไหมครับว่า จริงๆ แล้วการหักภาษี ณ ที่จ่ายนั้นไม่ได้ยากอย่างที่คิด เพียงแค่เรารู้สิ่งที่เกี่ยวข้องว่า ผู้จ่ายเป็นใคร เงินได้เป็นประเภทไหน และ กฎหมายกำหนดให้หักภาษีไว้หรือไม่ เพียงแค่นี้เราก็สามารถรู้แล้วครับว่า การจ่ายเงินครั้งนี้ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้หรือไม่ ?

ปัญหามันอยู่ที่ว่า หลายคนไม่รู้อัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายของเงินได้แต่ละประเภทที่กฎหมายกำหนดไว้ต่างกัน ซึ่งผมมีคำแนะนำสั้น ๆ ให้ลองทำตามครับ คือ

  1. ลองลิสต์รายการค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายบ่อย ๆ ออกมาครับ ว่ามีรายการอะไรบ้าง ?
  2. ลองปรึกษาบัญชีที่ดูแลเรา เพื่อให้เขาอธิบาย หรือ ศึกษาเองจาก ตารางสรุปภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (กรณีบุคคลธรรมดา) และ ตารางสรุปภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (กรณีนิติบุคคล) ที่กรมสรรพากรและคลินิกภาษีกระทรวงการคลังทำสรุปไว้ ก็พอจะช่วยได้คร่าว ๆ ครับ (แม้ว่าจะมีบางตัวไม่อัพเดทก็ตาม)
หักภาษี ณ ที่จ่าย ค่าเช่า อัตรา 5%

อย่างตัวอย่างของการหักภาษีกรณีเงินได้ค่าเช่าที่ผมยกตัวอย่างมา หากดูในตารางนี้ (ช่องกลาง) ก็จะเห็นว่าตารางนี้สรุปให้เลยว่า กรณีให้เช่าที่บุคคลธรรมดาเป็นผู้ถูกหักภาษี จะต้องหักในอัตรา 5% และนำส่งด้วยแบบ ภ.ง.ด. 3 ครับ

บอกตรง ๆ ว่าแรก ๆ อาจจะเหนื่อยหน่อย เพื่อที่สร้างความคุ้นเคยและความเข้าใจในประเภทของเงินได้และอัตราภาษี แต่ต่อไปถ้าเริ่มคุ้นเคยแล้ว เวลาเราจ่ายค่าใช้จ่ายแบบไหนก็จะนึกขึ้นมาได้เลยทันทีว่าต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายหรือเปล่าครับ

ได้รับเงินยอดเต็ม ไม่ได้แปลว่าไม่ถูกหักภาษี

หลังจากที่พูดถึงฝั่งของผู้จ่ายไปแล้ว ขอกลับมาพูดถึงผู้รับเงินกันบ้างครับ มีหลายคนเข้าใจผิดว่า การจ่ายเงินครบเต็มจำนวนที่ตกลงกันไว้ คือ การไม่ได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย แต่ความเป็นจริงแล้วเราอาจจะกำลังเข้าใจผิดก็ได้ครับ

เหตุผลที่หยิบยกเรื่องนี้มาเล่าให้ฟัง เพราะว่าผมเคยได้รับคำถามหลายครั้งว่า ถ้าได้รับยอดเต็มมาแปลว่าไม่ถูกหักภาษีใช่ไหม และผมมักจะตอบกลับไปว่า ไม่แน่หรอกครับ เพราะจริง ๆ มันอาจจะเป็นการบวกยอดเพิ่มเข้าไปให้เรามีรายได้เพิ่มขึ้นต่างหาก

เพื่อให้เข้าใจกันง่ายขึ้น เราลองมาดูจากตัวอย่างเดิมของนายบักหนอมกับบริษัท A กันอีกทีครับ สมมติว่าถ้าบริษัท A จ่ายเงินให้นายบักหนอมจำนวน 10,000 บาท (จากที่ควรจ่าย 9,500 บาท) นายบักหนอมควรตั้งข้อสันนิษฐานว่า หรือว่ายอด 10,000 บาทที่ว่าจะเป็นยอดที่หักภาษี ณ ที่จ่ายไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งสามารถสังเกตได้จากหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายนี่แหละครับว่าเป็นยอดเท่าไร ซึ่งโดยปกติแล้ววิธีการคำนวณในกรณีนี้จะเป็นดังนี้ครับ

ยอดรายได้ก่อนหักภาษี ณ ที่จ่าย
= ยอดหลังหักภาษี ณ ที่จ่าย x 100 / 100 – อัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย

จากตัวอย่างก็จะเป็น 10,000 x 100 / 95 หรือคิดออกมาเป็นจำนวน 10,526.31 บาท เมื่อคูณด้วย 5% (อัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายค่าเช่า) ก็จะได้เท่ากับ 526.31 บาท เมื่อนำมาลบกันก็จะได้ยอด 10,000 บาทสุทธิพอดีครับ

ซึ่งจากเหตุการณ์ที่ออกภาษีแทนให้แบบนี้ แปลว่านายบักหนอมจะมีเงินได้เพิ่มขึ้นจาก 10,000 บาทเดิม เป็น 10,526.31 บาทแทนนะครับ เพราะภาษีที่ออกให้นั้นต้องถือเป็นรายได้ของนายบักหนอมด้วยนั่นเองครับ

สำหรับผู้รับเงินที่เจอกรณีแบบนี้บ่อย ๆ ผมแนะนำว่า สิ่งที่ควรทำ คือ ตกลงกันให้ชัดเจนว่าจะหักไม่หักแบบไหนยังไงบ้าง ซึ่งโดยส่วนตัวผมจะไม่ขอร้องให้ผู้ว่าจ้างช่วยออกภาษีให้เท่าไรนัก จะหักก็หักไปตามปกตินี่แหละครับ ง่ายและสะดวกสุดแล้ว แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่สำคัญคือ หลักฐานการหักภาษี ณ ที่จ่าย (ใบ 50 ทวิ) นี่แหละครับ คือ สิ่งที่ยืนยันชัดเจนที่สุดแล้วว่า เรามีรายได้เท่าไร และ ถูกหักภาษีไว้ทั้งหมดกี่บาท

สรุป

ถ้าใครอยากดูข้อมูลแบบสรุปทั้งหมด สามารถดูได้ที่คลิปด้านล่างนี้ครับ ผมได้สรุปประเด็นสำคัญที่ต้องรู้เกี่ยวกับเรื่องภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายไว้ในคลิปรายการ #ภาษี10นาท เพื่อให้สามารถทำความเข้าใจแบบสรุป และทบทวนสิ่งที่อ่านมาทั้งหมดอีกครั้งหนึ่งครับ

ก่อนจากกัน ผมอยากฝากถึงหลักการ 3 ข้อนี้ไว้ สำหรับผู้ที่มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย และผู้มีเงินได้ที่ต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายทุกคนไว้ครับว่า

  1. ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายเป็นการจ่ายล่วงหน้า ดังนั้นสิ่งที่ต้องใส่ใจในฐานะผู้รับเงินคือการจัดการวางแผนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีเพื่อลดจำนวนภาษีที่เราต้องเสียจากการคำนวณได้ ไม่ใช่การใส่ใจของยอดเงินที่ได้คืนภาษี
  2. ผู้จ่ายเงินมีหน้าที่รับผิดชอบในการหักภาษี ณ ที่จ่าย ดังนั้นผู้จ่ายเงินจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจกับผู้รับเงินว่า การหักภาษี คือ หน้าที่ที่ต้องปฎิบัติและทำตามกฎหมายอย่างถูกต้อง เพื่อป้องกันปัญหาในการเสียภาษีเพิ่มหากถูกตรวจสอบจากกรมสรรพากร
  3. อกสารประกอบการหักภาษี ณ ที่จ่าย หรือ หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย เป็นเอกสารที่สำคัญมาก สำหรับผู้มีเงินได้ ดังนั้นต้องเรียกเอกสารนี้ทุกครั้งที่ได้รับเงิน เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันในการจ่ายภาษีล่วงหน้าของเรา และใช้ประกอบในการตรวจสอบการยื่นแบบแสดงรายการภาษี (หากมีการขอเอกสารเพิ่มเติมจากกรมสรรพากร)

ท้ายที่สุดแล้ว ผมอยากให้ทุกคนทำความเข้าใจกับเรื่องนี้ให้ดี เพื่อที่จะได้วางแผนและจัดการภาษีได้อย่างถูกต้อง ทั้งทางฝั่งของผู้จ่ายเงิน และ ผู้รับเงิน เพื่อที่จะป้องกันปัญหาด้านภาษีอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในอนาคตครับ

สำหรับคนที่รู้สึกไม่ดีเวลาถูกหักภาษีไว้ ผมอยากให้กำลังสั้น ๆ ด้วยข้อความทิ้งท้ายนี้ครับว่า …

การถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย
มันแปลว่าเรายังมีรายได้ครับ

TAXBugnoms

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Allow