พี่หนอมครับ จริงไหมที่สรรพากรรู้รายได้ของเรา?
เป็นคำถามที่หลายคนอยากรู้ แต่ไม่อยากถาม
สรรพากรรู้ได้อย่างไรว่าเรามีรายได้? หลายคนมักจะเริ่มต้นถามด้วยคำถามแบบนี้ ผมจึงตั้งใจเขียนบทความนี้ขึ้นมาในฐานะคนที่มีประสบการณ์ทำงานจริงใน กรมสรรพากร เพื่อชวนคิดและทำความเข้าใจกับเรื่องนี้โดยละเอียดกันครับ
ทำไมสรรพากรต้องรู้รายได้ของเราด้วยล่ะ
“เพราะเขาอยากให้เราเสียภาษียังไงล่ะ” เชื่อว่าบางคนต้องมีคำตอบแบบนี้ผุดขึ้นในใจ แต่ถ้าหากเรากลับไปพิจารณาที่กฎหมายภาษีอย่างประมวลรัษฎากรแล้วล่ะก็ เราจะรู้ว่า จริง ๆ แล้ว การเสียภาษีเป็นหน้าที่ของผู้มีหน้าที่เสียภาษีในส่วนนั้น ๆ ในขณะที่ สรรพากรมีอำนาจการประเมินภาษี หากพบว่าผู้ที่มีหน้าที่ตามกฎหมายนั้นยื่นภาษีไว้ไม่ถูกต้อง
สำหรับข้อกฎหมายนั้น ลองดูตัวอย่างจาก มาตรา 19 แห่งประมวลรัษฏากร ด้านล่างนี้ครับ
มาตรา 19 เว้นแต่จะมีบทบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น กรณีที่เจ้าพนักงานประเมินมีเหตุอันควรเชื่อว่า ผู้ใดแสดงรายการตามแบบที่ยื่นไม่ถูกต้องตามความจริงหรือไม่บริบูรณ์ ให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจออกหมายเรียกผู้ยื่นรายการนั้นมาไต่สวน และออกหมายเรียกพยานกับสั่งให้ผู้ยื่นรายการหรือพยานนั้น นำบัญชีเอกสารหรือหลักฐานอื่นอันควรแก่เรื่องมาแสดงได้ แต่ต้องให้เวลาล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวันนับแต่วันส่งหมาย ทั้งนี้ การออกหมายเรียกดังกล่าว จะต้องกระทำภายในเวลาสองปี นับแต่วันที่ได้ยื่นรายการไม่ว่าการยื่นรายการนั้น จะได้กระทำภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด หรือเวลาที่รัฐมนตรีหรืออธิบดีขยายหรือเลื่อนออกไปหรือไม่ ทั้งนี้ แล้วแต่วันใดจะเป็นวันหลัง เว้นแต่กรณีปรากฏหลักฐานหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ยื่นรายการมีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีอากร หรือเป็นกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการคืนภาษีอากร อธิบดีจะอนุมัติให้ขยายเวลาการออกหมายเรียกดังกล่าวเกินกว่าสองปีก็ได้ แต่ต้องไม่เกินห้าปีนับแต่วันที่ได้ยื่นรายการ แต่กรณีขยายเวลาเพื่อประโยชน์ในการคืนภาษีอากรให้ขยายได้ไม่เกินกำหนดเวลาตามที่มีสิทธิขอคืนภาษีอากร
หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ สรรพากรมีหน้าที่ตรวจสอบการเสียภาษี ถ้าหากเราเสียภาษีหรือยื่นภาษีไว้ไม่ถูกต้อง เจ้าหน้าที่สรรพากรก็มีอำนาจหน้าที่ในการประเมินภาษีเพิ่มเติมนั่นเองครับ
และวิธีการประเมินภาษีนั้น ต้องใช้ข้อมูลรายได้ของเราเป็นหลักฐานในการคำนวณภาษี ไม่ว่าจะเป็น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเป็นภาษีที่ทำให้ใครหลายคนกระอักเวลาที่ต้องจ่าย รวมถึงอาจจะมีโทษต่าง ๆ นอกเหนือจากภาษี เช่น เบี้ยปรับ เงินเพิ่ม ค่าปรับอาญา ต่างๆ ตามมาอีกมากมายด้วยครับ
สรรพากรรู้ได้อย่างไรว่าเรามีรายได้?
คำตอบ คือ ตรวจสอบจากหลักฐานที่หามาได้ครับ ซึ่งหลักฐานที่สรรพากรได้นั้น ก็มาจากข้อมูลหลักฐานต่าง ๆ ของผู้เสียภาษีนั่นแหละครับ แต่ คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจผิดว่า ถ้าหากหลบหลักฐานได้ดี พี่สรรพากรหาไม่เจอ เราก็จะอยู่รอดปลอดภัย ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดครับ
ลองคิดดูเล่นๆครับว่า ณ ตอนนี้ เจ้าหน้าที่สรรพากรมีจำนวนกี่คนในประเทศไทย (น่าจะอยู่ที่หลักหมื่นคน) และคนที่ทำหน้าที่ในส่วนตรวจสอบจริง ๆ น่าจะอยู่ที่หลักพันต้นๆ เท่านั้น ดังนั้น การที่สรรพากรแต่ละคนจะมานั่งหาหลักฐานเอง แล้วไปตามหาคนที่ทำผิด แล้วจึงค่อยมาตรวจสอบ มันเป็นไปไม่ได้ครับ
สิ่งที่กรมสรรพากรใช้ในทุกวันนี้ คือ การใช้ระบบตรวจสอบ หรือ เกณฑ์ความเสี่ยงต่าง ๆ ที่มาจากฐานข้อมูลชุดใหญ่ (Big Data) ที่เชื่อมโยงกัน และดึงข้อมูลที่น่าสงสัยว่าน่าจะเสียภาษีไม่ถูกต้องออกมาก่อน
หลังจากนั้น พอได้ฐานข้อมูลตรงนี้ สิ่งที่เจ้าหน้าที่จะดำเนินการต่อ คือ การตรวจสอบจากข้อมูลที่ดึงออกมา แล้วไปเจาะหาหลักฐานที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับเชิญผู้เสียภาษีมาให้ข้อมูลในการตรวจสอบต่อไป
ฐานข้อมูลที่สรรพากรใช้ตรวจสอบมีอะไรบ้าง?
จากประสบการณ์ทำงานของผม ฐานข้อมูลที่ชัดเจนที่สุด ในการตรวจสอบข้อมูลการมีรายได้ คือ ข้อมูลการถูกหัก ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ที่ผู้มีเงินได้ถูกหักไว้ และผู้จ่ายเงินได้นำส่งให้กับทางกรมสรรพากรนี่แหละครับ นี่คือหลักฐานที่บอกว่าผู้รับเงินมีเงินได้แน่ ๆ

จากรูปข้างต้นของการหักภาษี ณ ที่จ่ายจะเห็นว่าข้อมูลรายได้จำนวน 10,000 บาทของนายบักหนอมถูกส่งข้อมูลให้กับทางสรรพากรผ่านทางบริษัทที่เป็นผู้จ่ายเงินได้ที่ได้นำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายไว้นั่นเองครับ
สำหรับข้อกฎหมายที่หลายคนกลัวอย่าง ธนาคารส่งข้อมูลให้สรรพากร นั้น เป็นเพียงแค่ข้อมูลส่วนหนึ่งในการตรวจสอบของระบบ แต่ไม่ใช่หลักฐานในการประเมินรายได้หรือทำให้สรรพากรรู้รายได้ของเราชัดเจน เพราะข้อมูลที่ส่งนั้นเป็นข้อมูลในรูปแบบสรุปและไม่ใช่รายละเอียดทั้งหมดครับ

หรือแม้แต่ที่คนเขาชอบขู่กันว่า สรรพากรไปนับชามก๋วยเตี๋ยว มานั่งดูไลฟ์ หรือ ไปเช็คจากยอดขายในร้านขายของออนไลน์ต่าง ๆ นั้น เราก็ยังไม่สามารถบอกได้ครับว่า สรรพากรจะประเมินรายได้จากจำนวนนั้นได้ 100% มันเป็นเพียงข้อสันนิษฐานว่า สรรพากรมีแนวโน้มจะตรวจสอบรายได้เราได้ แต่ไม่ใช่ประเมินยอดขายง่าย ๆ ได้ทันที หากไม่มีหลักฐานที่พิสูจน์ได้ชัดว่า ผู้เสียภาษีมีเงินได้เช่นนั้นจริง
เรารู้รายได้ตัวเองหรือเปล่า?
สิ่งที่ผมคิดว่าเป็นประเด็นมากกว่าคำถามว่า สรรพากรรู้ได้อย่างไรว่าเรามีรายได้ นั่นคือ เราควรถามตัวเองว่า เรารู้รายได้ตัวเองหรือเปล่า เพราะสิ่งที่สรรพากรจะทำเมื่อพบข้อสงสัยว่า ผู้เสียภาษีได้ยื่นและเสียภาษีไว้ไม่ถูกต้อง ก็คือ การขอเอกสารหลักฐานในการตรวจสอบเพิ่มเติม โดยการออกหนังสือเชิญให้เข้ามาพบ หรือ ขอตรวจสอบข้อมูลการเสียภาษี
ถ้าหากเจ้าหน้าที่สรรพากร เชิญเรามาพบจริงๆ สิ่งที่เราจะนำไปแสดงจะชี้ชัดเจนครับว่า เรามีรายได้เท่าไร เราเสียภาษีอย่างไร และเสียภาษีก่อนหน้านี้ไว้ถูกต้องหรือเปล่า ซึ่งการขอเอกสารหลักฐานนี้ สรรพากรก็มีอำนาจหน้าที่ในการขอตามที่กฎหมายระบุไว้นั่นเองครับ
ดังนั้น การรู้ข้อมูลตัวเองจึงเป็นสิ่งสำคัญมากครับ เพราะเป็นหลักฐานในการป้องกันสรรพากรใช้อำนาจประเมินภาษี (ในกรณีทีมีข้อมูลหลักฐานมากกว่าเรา และเราไม่สามารถพิสูจน์ได้) และเป็นสิ่งที่ยืนยันว่าเรามีข้อเท็จจริงในการยื่นภาษีไว้อย่างถูกต้องเรียบร้อยแล้ว
สำหรับใครที่ไม่เคยทำบัญชีรายรับรายจ่าย ไม่เคยแยกบัญชีธนาคารเพื่อจัดการเรืองเหล่านี้ ผมคิดว่านี่คือสิ่งที่เราต้องทำเป็นอันดับแรก ๆ ถ้าเราไม่ต้องการมีปัญหาเรื่องภาษีในอนาคตครับ
ทีนี้เรามาต่อกันว่า ถ้าได้รับจดหมายจากสรรพากรแล้ว เราควรจะทำยังไงกันดีอีกสักหน่อยนะครับ เพื่อที่จะได้เห็นภาพรวมทั้งหมดของการจัดการเรื่องนี้ครับ
ทำยังไงดี ? เมื่อได้รับจดหมายจากสรรพากร
หลายคนเมื่อได้รับจดหมายจากกรมสรรพากรแล้ว มักจะรู้สึกตกอกตกใจคล้ายจะเป็นลม แต่ผมขอให้ตั้งสติแล้วอ่านข้อความในหนังสือนั้นให้ชัดเจนใน 3 ประเด็นนี้ก่อนครับ นั่นคือ
- เรื่องที่ส่งมาคืออะไร ขอเชิญพบ ขอตรวจสอบ ขอข้อมูล ขอเชิญเป็นพยาน
- วัตถุประสงค์คืออะไร ต้องการอะไรจากเราบ้าง หลักฐานอะไร ?
- คนที่เชิญเราไปพบเป็นใคร ? ต้องไปพบเมื่อไร ? และพบวันไหน ?
ถ้าตั้งใจอ่านดู เราจะพอรู้ข้อมูลครับว่า เขาต้องการอะไรจากเรา เช่น ขอเชิญพบเพื่อทราบข้อมูลการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยให้นำหลักฐานคือหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ทีจ่ายในปี 2562 เข้ามาทั้งหมด พร้อมกับบัญชีรายรับรายจ่ายตลอดทั้งปี เข้ามาพบภายในวันที่ 30 กันยายน 2562 โดยคนที่ติดต่อมาชื่อ สุมาลี เป็นเจ้าหน้าที่ทีมกำกับดูแลพิเศษ พ012
หรือว่าอาจจะเป็น การขอเชิญพบเพื่อตรวจสอบข้อมูลภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ขอคืนโดยให้นำหลักฐานคือหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ทีจ่ายในปี 2562 เข้ามาทั้งหมด พร้อมกับบัญชีรายรับรายจ่ายตลอดทั้งปี งบการเงิน และรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ. 30) ตลอดทั้งปี โดยให้เข้ามาพบภายในวันที่ 27กันยายน 2562 ซึ่งคนที่ติดต่อมาชื่อ สาวิตรี เป็นเจ้าหน้าที่ทีมกำกับดูแล นต038
ถ้าเราอ่านใจความจนเคลียร์แล้วว่า “ใคร” “ต้องการอะไร” “ที่ไหน” และ “เมื่อไร” สิ่งที่ผมแนะนำต่อคือ เราต้องไปพบครับ เพราะว่าระบบภาษีบ้านเราเป็นการประเมินตัวเอง ถ้าหากเราประเมินยื่นไว้ถูกต้องโอกาสที่จะโดนเรียกพบน้อยมากๆ แต่เมื่อมีประเด็นหรือข้อผิดพลาดใดๆ สรรพากรจะเชิญพบ โทรหา หรือออกหนังสืออื่นๆมา
การจะไปพบนั้น จะต้องมีหนังสือมาเป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้นครับ ซึ่งถ้ามีหนังสือมาถึงบ้านเราเมือ่ไร หน้าที่เราคือ “ต้องไป” หรือ “มอบอำนาจให้คนอื่นไป” ครับ
ที่ผ่านมาผมเคยเจอบางคนแนะนำว่าได้รับหนังสือแล้วให้อยู่เฉยๆ หรือไม่ก็ฉีกทิ้งบ้าง เอ่อ … อันนี้ไม่ควรทำนะครับ มันไม่ได้ช่วยอะไรเลย และถ้ามีปัญหาจริงๆยิ่งจะทำให้โทษหนักขึ้นด้วยครับ
อย่างไรก็ดี ถ้าเราไม่สะดวกไปพบในวันและเวลาที่นัดไว้ เราควรทำอย่างไรดี ตรงนี้วิธีการที่ง่ายที่สุด คือ แจ้งเขาล่วงหน้าครับ โดยการติดต่อเจ้าหน้าที่โดยตรงเลยครับ จะเป็นทางโทรศัพท์ที่เขาให้ไว้ก็ได้ (ข้อมูลตรงนี้จะอยู่ที่มุมซ้ายล่างของหนังสือ)
ถ้าหากเราแจ้งเขาไปดีๆ และนัดวันที่สะดวก เขาก็สามารถเลื่อนให้ได้อยู่แล้วครับ หรือไม่ถ้าหากเขาต้องการข้อมูลลายลักษณ์อักษร เช่น จดหมายแจ้งเลื่อน หรือว่าอยากได้เอกสารหลักฐานบางส่วนก่อน เขาจะแจ้งเราครับ ซึ่งตรงนี้ก็สามารถพูดคุยกันตามสะดวกได้ว่าจะนัดกันแบบไหนยังไง?
คำแนะนำในส่วนนี้อย่างจริงใจจากผม คือ พูดคุยอย่างสันติ เจรจากันตามหน้าที่ พูดจากันดีๆ ว่าจะเลื่อนวันไหนยังไง? เอกสารอะไรจำเป็นบ้าง ? หรือพูดง่ายๆ คือ ต่างคนต่างทำงานกันครับ ถ้าหากเขาคุยกับเราอย่างสุภาพ เราก็ควรคุยกับเขาอย่างสุภาพเช่นกัน ผมมองว่าตรงนี้คือประเด็นสำคัญในการพูดคุยที่ควรใส่ใจกันไว้ครับ
หลายคนมักจะแนะนำให้แกล้งดึงเรื่องให้ช้า หรือทำให้เสียเวลามากๆ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ร้อนรนใจ (ในบางครั้ง) แต่โดยส่วนตัวผมว่าประเด็นพวกนี้ไม่จำเป็นครับ เราควรจัดการกันตามข้อเท็จจริงมากกว่า ปัญหาต่างๆจะได้จบเร็วขึ้นครับ
หลังจากที่ทำความเข้าใจแล้ว นัดแนะกับพี่สรรพากรผู้เชิญเราเรียบร้อย สิ่งที่เราต้องกลับมาตั้งคำถามระหว่างที่รอไปพบสรรพากรก็คือ เรามีความผิดประเด็นไหน และอะไรที่ทำให้เราได้รับหนังสือฉบับนี้
- ถ้าเรามั่นใจว่าเราไม่ผิด ไม่มีประเด็นปัญหา เราก็เตรียมเอกสารให้พร้อมครับ หลังจากนั้นก็ไปชี้แจงตามระเบียบให้ถูกต้อง (เห็นไหมครับว่าความพร้อมสำคัญมาก)
- ถ้าเราไม่แน่ใจว่าเรามีประเด็นไหน ตรงนี้ผมแนะนำให้สอบถามเจ้าหน้าที่ไปเลยว่ามีประเด็นอะไรหรือเปล่า จะได้เตรียมตัวได้อย่างถูกต้อง (เขาอาจจะบอกไม่หมด แต่อย่างน้อยเราจะได้รู้ประเด็นคร่าวๆครับ)
อย่างไรก็ดี ถ้าหากไม่รู้และไม่เข้าใจเรื่องภาษี หรือติดต่อพูดคุยแล้วฟังเจ้าหน้าที่สรรพากรไม่เข้าใจเลย สิ่งที่ควรหาเพิ่มคือคนที่สามารถช่วยเหลือคุณได้ครับ เช่น นักบัญชี ทนาย ผู้เชี่ยวชาญกฎหมาย หรือผู้ที่รับผิดชอบในการเคลียร์กับกรมสรรพากรครับและคุณควรไปกับเขาด้วย และควรเรียนรู้และทำความเข้าใจในประเด็นต่างๆ เพือที่ว่าจะได้แก้ปัญหานี้ไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต
ถ้าโดนประเมินภาษี จะต้องทำอย่างไรต่อ?
หลังจากที่มีการพูดคุยกันแล้ว (อาจจะครั้งเดียว หรือหลายครั้ง) ซึ่งถ้าหากทางพี่สรรพากรประเมินมาแล้วว่าเรามีความผิดในประเด็นนั้นนี้ สิ่งที่เราควรเช็คคือ
1. เราทำถูกต้องจริงไหม? หรือผิดตามที่ว่ามา
2. เราพร้อมจะเสียเวลาโต้แย้งหรือเปล่า
ถ้าหากเราทำถูกต้องจริงๆ และมั่นใจว่าโต้แย้งได้ สิ่งที่ต้องมองคือเราจะยอมเสียเวลาไหม และการโต้แย้ง หาเอกสารหลักฐานเพิ่มต่างๆพวกนี้ต้องใช้เวลา ซึ่งเราโอเคหรือเปล่า?
เพราะบางคนเลือกที่จะเสียเวลา บางคนก็เลือกที่จะจ่ายไปเพราะคิดว่าไม่อยากจะเสียเวลา จ่ายๆไปก็จบจะได้ไปทำมาหากิน อันนี้ก็แล้วแต่ทางที่เลือกครับ
แต่ถ้า “ผิดจริง” ก็ต้องจ่ายครับ และควรเจรจาขอลดในบางประเด็นที่ทำได้ตามกฎหมาย เช่น เบี้ยปรับ เงินเพิ่ม ตรงนี้แนะนำให้หาข้อมูลเพิ่มเติมหรือสอบถามเจ้าหน้าที่ดูครับว่ามีแนวทางไหนที่ทำได้บ้าง ?
ดังนั้น ประเด็นสำคัญในการที่ถูกสรรพากรส่งจดหมายมานั้น มันอาจจะเป็นเรื่องที่เราต้องกลับไปเช็คดูว่า เรามีประเด็นความผิดอะไรแบบไหน? เรามีความเสี่ยงอะไรในการทำธุรกิจที่มีผลกับภาษีหรือเปล่า? และที่สำคัญที่สุด เราต้องรู้ด้วยครับว่า ทำอย่างไรถึงจะไม่เจอจดหมายแบบนี้อีก เพื่อไม่ให้เสียเวลาและเสียภาษี (เพิ่มเติม) ในอนาคตครับ
บทสรุป
จากคำถามว่า สรรพากรรู้ได้อย่างไรว่าเรามีรายได้ มาถึงตรงจุดนี้ ผมสรุปประเด็นสำคัญไว้ทั้งหมด 3 เรื่องตามนี้ครับ
- เจ้าหน้าที่สรรพากร มีอำนาจในการประเมินภาษีตามกฎหมายกำหนดไว้ โดยไม่สามารถประเมินได้ง่าย ๆ ถ้าหากเขาไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนเพียงพอ ดังนั้น ต่อให้เขารู้ว่าเรามีรายได้ เขาต้องให้เราพิสูจน์ก่อนว่า เรายอมรับว่าเรามีรายได้และยื่นภาษีไม่ถูกต้องไหม ?
- ตัวของเราที่เป้นผู้เสียภาษี ต้องทำความเข้าใจว่า เราเองมีรายได้เท่าไร และ เราเสียภาษีถูกต้องไหม โดยเก็บหลักฐานการมีรายได้ ทำบัญชีรายรับรายจ่าย หลักฐานเอกสารการจ่ายภาษีและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ไว้อย่างครบถ้วนถูกต้อง
- หากมีประเด็นความผิดจริง สิ่งที่เราต้องจัดการคือ พูดคุยอย่างถูกต้องตามหลักของกฎหมาย และใช้ข้อมูลและเหตุผลในการต่อสู้ประเด็นต่าง ๆ เพื่อพิสูจน์ว่าเราทำถูกต้องมากแค่ไหน และหาช่องทางที่ถูกต้องตามกฎหมาย เช่น การลดเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม เพื่อให้เราเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมน้อยที่สุด
ซึ่งการทำแบบนี้ ผมมองว่ามันคือวางแผนจัดการภาษีอย่างถูกต้อง เพื่อไม่ต้องนั่งถามตัวเองว่า สรรพากรจะรู้รายได้เราไหม สรรพากรรู้ได้อย่างไรว่าเรามีรายได้ และท้ายที่สุดแล้ว
เราจะได้เสียภาษีอย่างถูกต้องและถูกใจ
TAXBugnoms
และไม่ต้องกลัวว่าจะต้องไปเจอสรรพากร