เมื่อไรจะช้อปดีมีคืนจะกลับมา
หลายคนมักถามผมแบบนี้ครับ
กลับมาอีกแล้วครับผม กับรายการค่าลดหย่อนสุดฮิตที่หลายคนรอคอยอย่าง ช้อปดีมีคืน 2565 ซึ่งเป็นสิทธิ์ในการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2565 (ที่ใช้ยื่นภาษีเงินได้ในปี 2566) โดยบทความนี้พรี่หนอมจะมาสรุปทุกอย่างที่ควรรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ให้ฟังครับ
ใครใช้สิทธิ์ช้อปดีมีคืนได้บ้าง?
สำหรับผู้ที่มีสิทธิ์ใช้ค่าลดหย่อนภาษี 2565 ตัวนี้ ต้องเป็น บุคคลธรรมดาที่ไม่ใช่ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคล หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ บุคคลธรรมดาอย่างเรา ๆ นี่แหละครับที่มีเงินได้และต้องมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา นั่นเองครับ
โดยในปี 2565 นี้ไม่มีข้อห้ามการใช้สิทธิ์ร่วมกันระหว่าง โครงการคนละครึ่ง หรือผู้ที่มีสิทธิ์สวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรสวัสดิการรัฐ) เหมือนกับค่าลดหย่อนช้อปดีมีคืนในปี 2564 จึงทำให้เราสามารถใช้สิทธิ์ได้ทั้งคู่พร้อมกัน โดยไม่ต้องเลือกตัวใดตัวหนึ่งครับ
โดยแนวทางและสิทธิ์ประโยชน์ในเรื่องนี้ ได้ออกมาเป็นกฎหมาย 2 ฉบับ ได้แก่ กฎกระทรวงฉบับที่ 379 และ ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 418) ซึ่งสามารถสรุปรายละเอียดจากข้อกฎหมายได้ดังนี้ครับ
เงื่อนไขในการลดหย่อนภาษีมีอะไรบ้าง ?
โดยข้อกฎหมายได้กำหนดไว้ว่าเราต้องมีการซื้อสินค้าหรือบริการตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มได้ดังนี้ครับ
(1) ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการจากผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
(2) ค่าซื้อหนังสือหรือค่าบริการหนังสือที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต
(3) ค่าซื้อสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว
หรือสรุปว่า 3 กลุ่มนี้คือ สินค้าและบริการตามภาษีมูลค่าเพิ่ม หนังสือและอีบุ๊ค และ สินค้า OTOP นั่นแหละครับ แต่อย่าเพิ่งดีใจไปนะครับ เพราะเราไม่สามารถใช้สิทธิ์ได้ทุกอย่างครับ เนื่องจากยังมีสินค้าและบริการบางตัวที่กฎหมายไม่ให้สามารถใช้สิทธิ์ดังต่อไปนี้ครับ
- ค่าซื้อสุรา เบียร์ ไวน์ ค่ายาสูบ
- ค่าน้ำมันและก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ
- รถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ
- หนังสือพิมพ์และนิตยสาร (ทั้งกระดาษและอิเล็กทรอนิกส์)
- ค่าบริการจัดนำเที่ยวที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์
- ค่าบริการที่ได้จ่ายเป็นค่าที่พักในโรงแรมให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม
- ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ ค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต และค่าบริการสำหรับบริการที่มีข้อตกลง การให้บริการระยะยาวซึ่งเริ่มต้นก่อนวันที่ 1 ม.ค. 65 หรือสิ้นสุดหลังวันที่ 15 ก.พ. 65 แม้ว่าจะจ่ายค่าบริการระหว่างวันที่ 1 ม.ค. 65 ถึงวันที่ 15 ก.พ. 65
- ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย
โดย จำนวนเงินที่สามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด คือ 30,000 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว – ถ้ามี) และต้องเป็นการซื้อสินค้าหรือรับบริการในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2565
โดยหลักฐานที่ใช้ในการลดหย่อนภาษี คือ ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปที่มีชื่อผู้ซื้อระบุไว้ กรณีที่ซื้อจากผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และใบเสร็จรับเงินที่มีชื่อผู้ซื้อระบุไว้ กรณีที่ซื้อจากผู้ประกอบการสินค้า OTOP และหนังสือ
หากใครต้องการข้อมูลแบบละเอียด สามารฟังข้อมูลเพิ่มเติมพร้อมกับการตอบคำถามของผมได้ที่ Live ด้านล่างนี้ได้เลยครับ
ใบกำกับภาษีต้องมีเลขบัตรประชาชนไหม
และ ที่อยู่ในใบกำกับภาษีต้องเป็นที่อยู่ไหน
คำถามแรกที่ถามกันบ่อย ๆ คือ ใบกำกับภาษีเต็มรูปที่ขอจากคนขาย นอกจากให้ระบุชื่อนามสกุลของเราแล้วต้องระบุเลขบัตรประชาชนผู้เสียภาษีไหม

ขอบคุณตัวอย่างใบกำกับภาษี
จากบทความ ใบกำกับภาษี คืออะไร จากทาง FlowAccount
คำตอบ คือ ไม่จำเป็น แต่ถ้าหากระบุได้ก็ดีครับ เนื่องจากการระบุเลขประจำตัวผู้เสียภาษีหรือเลขประจำตัวบัตรประชาชนของเรานั้น มีความจำเป็นจะต้องระบุก็ต่อเมื่อกรณีผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเท่านั้น
โดยอ้างอิงจากข้อ 1 และ ข้อ 3 ตามคำชี้แจงกรมสรรพากร เรื่อง การระบุเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ในใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ไว้ดังนี้ครับ
1. ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มจะต้องระบุเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการไว้ในใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป เฉพาะกรณีผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเท่านั้น ถ้าผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการไม่ได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการก็ไม่จำต้องระบุเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการนั้นไว้ในใบกำกับภาษีแต่อย่างใด</p> 3. กรณีผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการไม่ได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็ไม่จำต้องแจ้งเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของตนเองให้แก่ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการแต่อย่างใด
ดังนั้น ถ้าเราซื้อเพื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษีโดยที่ไม่ได้ต้องการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม แปลว่าไม่ต้องระบุเลขประจำตัวบัตรประชาชนก็ได้ครับ แต่ถ้าหากทางผู้ขายสินค้าหรือให้บริการขอและเราไม่ติดอะไร ก็บอกเลขของเราให้กับเขา เพื่อความชัดเจนและความสะดวกในการออกเอกสาร อันนี้ก็เป็นทางเลือกที่สามารถทำได้เช่นกันครับ
สิ่งที่คนมักเข้าใจผิดเรื่องช้อปดีมีคืน
ประเด็นแรกที่อยากจะฝากไว้ คือ สิทธิ์ประโยชน์ตัวนี้เป็นรายการลดหย่อนภาษี ไม่ใช่ ลดภาษีทั้งจำนวน ดังนั้นเช็คให้ดีถึงความคุ้มค่าครับ ว่าเราเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตราไหน และใช้แล้วจะลดภาษีได้กี่บาท เพราะมันคือการได้เงินคืนบางส่วน แต่ไม่ได้เงินคืนเต็มจำนวนจากการซื้อสินค้าหรือบริการนั่นเองครับ

ประเด็นที่สอง คือ ในกรณีที่ผู้ขายออกใบกำกับภาษีให้ไม่ได้ แม้ว่าจะเป็นการซื้อขายสินค้าที่เข้าเงื่อนไข ก็ไม่สามารถที่จะใช้ลดหย่อนภาษีได้ เพราะถือว่าไม่มีหลักฐานตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ดังนั้นระวังเรื่องเอกสารหลักฐานที่ถูกต้องด้วยนะครับ (ในกรณีของหนังสือ หรือ OTOP อาจจะใช้ใบเสร็จรับเงินแทนครับ)
ประเด็นที่สาม คือ กรณีของคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้ ไม่สามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีส่วนนี้ได้ เพราะเป็นสิทธิ์ที่มีให้ผู้มีเงินได้อย่างเดียว แต่ถ้าหากต่างฝ่ายต่างมีเงินได้จะได้รับสิทธิ์สูงสุดคนละ 30,000 บาทครับ
ประเด็นที่สี่ คือ ในกรณีที่ซื้อสินค้าที่มีทั้งภาษีมูลค่าเพิ่มและไม่มีภาษีมูลค่าเพิ่ม สามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนได้เฉพาะสินค้าที่มีภาษีมูลค่าเพิ่มเท่านั้น (ยกเว้นหนังสือ และ OTOP) ดังนั้นอย่าลืมแยกรายการที่เกี่ยวข้องให้ดีด้วยนะครับ
ประเด็นที่ห้า คือ วงเงินใช้สิทธิ์จำนวน 30,000 บาทเป็นจำนวนที่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว และสามารถใช้ร่วมกันหลายรายการได้ แต่ไม่เกิน 30,000 บาท ส่วนในกรณีที่ซื้อเกินก็สามารถใช้สิทธิ์ได้สูงสุด 30,000 บาทเช่นเดียวกัน และในกรณีซื้อสินค้าในลักษณะของการผ่อนชำระก็สามารถใช้สิทธิ์ได้เช่นกันครับ
ประเด็นสุดท้าย คือ สำหรับกรณีที่ใช้เป็นต้นทุนสินค้าหรือบริการในการคำนวณค่าใช้จ่ายทางภาษี หรือใช้เป็นภาษีซื้อของผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว ไม่สามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนส่วนนี้ได้ครับ เพราะสามารถใช้ได้ในกรณีใดกรณีหนึ่งเท่านั้นนั่นเองครับ
รัฐบาลได้อะไรจากการออกนโยบายแบบนี้
เหมือนจะชงไปสู่ความดราม่า แต่ถ้าหากวิเคราะห์กันจริง ๆ รัฐน่าจะคาดหวังที่จะได้รับผลประโยชน์จากการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยในประเทศ แต่คำถามที่ผมยังหาคำตอบไม่ได้จากนโยบายในช่วงที่ผ่านมา นั่นคือ ผลตอบแทนที่รัฐได้รับจริงๆ จากนโยบายนี้เป็นอย่างไร จากการวัดผลแบบไหน และมันเป็นผลดีต่อภาพรวมของการจัดเก็บภาษีในระยะยาวหรือไม่ ซึ่งถ้าใครมีคำตอบส่วนนี้แบบชัด ๆ ก็สามารถส่งให้ผมได้นะครับ
ในมุมของผู้บริโภค สิ่งนี้ทำให้เกิดอะไรบ้าง?
จากประสบการณ์ที่ผ่านมา นโยบายแบบนี้ออกมาย่อมกระตุ้นให้คนที่ต้องการ “ลดภาษี” ใช้จ่ายง่ายขึ้น เพราะการจ่ายเงินออกไปเพื่อใช้จ่ายในช่วงเวลาจำกัดแบบนี้ ย่อมเป็นตัวเร่งให้เกิดการ “ซื้อ” เพื่อที่จะคาดหวังสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีกลับมา
มีข้อเท็จจริงหนึ่งที่ผมพบมาโดยตลอดเกี่ยวกับนโยบายนี้ บางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองเสียภาษีเท่าไร หรือเสียภาษีในอัตราสูงสุดกี่ % และตอบไม่ได้ด้วยซ้ำว่า นโยบายนี้ทำให้ประหยัดภาษีได้กี่บาท คุ้มค่าหรือไม่ แต่ต้องการรีบตัดสินใจใช้ในช่วงเวลาที่จำกัดทันทีที่นโยบายนี้ออกมา เพียงเพราะคำว่า “ประหยัดภาษี” คำเดียว ซึ่งอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ผิดหรอกครับ เพียงแต่เราต้องตั้งคำถามในการใช้จ่ายกับตัวเองด้วยครับว่า …
สิ่งสำคัญคือ การตั้งคำถามในการใช้จ่ายของตัวเอง
คำแนะนำของผมที่มีต่อนโยบายเหล่านี้ คงจะเป็นคำถามว่า ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการใด ๆ เพื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษีนั้น เราควรตรวจสอบตัวเองง่ายๆก่อนว่า “เราจำเป็นไหม” และ “เรามีเงินไหม”
เราจำเป็นไหม ?
เราจำเป็นไหม หมายถึง การซื้อสินค้าหรือบริการต่าง ๆ นั้น มันคือสิ่งที่จำเป็นในชีวิตเราไหม เพราะถ้าหากไม่จำเป็น มันคือการสิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์ เพราะเงินที่เราเสียไปนั้นย่อมมากกว่าภาษีที่เราสามารถประหยัดได้อยู่ดี
ผมอยากให้ลองมองว่าการซื้อสินค้าหรือบริการเหล่านี้คือการได้รับส่วนลดกลับมาแทน (ในอัตรา 5-35% ขึ้นอยู่กับอัตราภาษีสูงสุดที่เราเสีย) แล้วคิดให้ดีว่า ถ้าซื้อมาแล้วไม่ได้ใช้ หรือใช้ไม่คุ้ม มันก็ไม่มีประโยชน์อะไรเลย ครับ ดังนั้นไม่ใช่แค่ของมันต้องมี แต่ของมันต้องมีและใช้ให้คุ้ม!
เรามีเงินไหม ?
ถ้าจำเป็นแล้ว สิ่งที่ต้องมองคือประเด็นต่อมา นั่นคือคำว่า “เรามีเงินไหม” นี่อาจจะเป็นคำพูดที่แทงใจมากกว่าเรื่องภาษีและความจำเป็นอีกนะครับ เพราะถ้าหากเราไม่มีเงิน เราจะวางแผนภาษีไม่ได้เลย เพราะมันต้องใช้เงินซื้อเพื่อแลกมา ดังนั้นถ้าไม่มีเงิน รักษาเงินในกระเป๋าไว้ดีกว่า เผื่อว่าต้องใช้ในสักวันหนึ่งข้างหน้า โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่วิกฤตโรคระบาดยังไม่คลี่คลายไป
จากที่ผ่านมาในช่วง 2 ปีนี้ ผมสังเกตเห็นหลายคนมีรายได้ลดลง ส่วนค่าใช้จ่ายยังคงที่ และถ้าหากไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าในปี 2565 ชีวิตเราจะกลับมามีเงินใช้จ่าย สภาพคล่องได้เหมือนเดิม การเก็บเงินไว้ก็เป็นทางเลือกที่ต้องพิจารณาเหมือนกันครับ
แต่สำหรับคนที่อยากใช้ แต่ไม่รู้จะใช้อะไร หรือคิดไม่ออก ผมฝากคำแนะนำให้ทั้งหมด 3 ข้อดังนี้ครับ
คำแนะนำในการใช้สิทธิ์ช้อปดีมีคืน
ซื้อสินค้าและบริการเพื่อลดหย่อนภาษี
มาถึงตรงนี้ ถ้าใครมองว่าตัวเองมีสภาพคล่องดี เสียภาษีในอัตราที่สูง และมองว่าต้องซื้อของที่จำเป็น ผมอยากให้พิจารณาหลักการสั้น ๆ 3 ข้อตามนี้ครับ นั่นคือ
ข้อแรก ของที่เราควรซื้อ คือ ของที่เราได้ใช้
หลักการคิดง่าย ๆ คือ สินค้าที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน หรือ สินค้าที่มีการเปลี่ยนแทนตัวเก่าที่เราใช้อยู่ เพื่อให้มันเกิดประโยชน์สูงสุด หรืออีกนัยหนึ่ง สินค้าหรือบริการที่เราซื้อมาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างรายได้ในอนาคตก็เป็นอีกตัวเลือกที่ดีไม่แพ้กัน
ยกตัวอย่างเช่น ผมอาจจะเลือกซื้อสินค้าสิ้นเปลืองอย่างเครื่องใช้ในบ้าน น้ำยาซักผ้า ถูบ้าน ล้างจาน หรือของต่างๆ ที่ได้ใช้แน่ๆในช่วงเวลาต่อจากนี้ หรือ ของที่เราคิดว่าซื้อมาแล้วสามารถช่วยให้เราพัฒนาตัวเองหรือ สร้างรายได้มากขึ้นได้ในอนาคต
ข้อสอง เงินที่เราจ่ายไป ต้องไม่กระทบสภาพคล่อง
จุดที่ต้องระวังคือ หลังจากที่ใช้จ่ายแล้ว เราต้องดูด้วยว่าเงินที่เราต้องใช้จ่ายหลังจากนี้เพียงพอไหม (สภาพคล่อง) บางคนอาจจะทำงบรายรับรายจ่ายล่วงหน้าไว้ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งครับ โดยเฉพาะคนที่เลือกการซื้อแบบผ่อน ผมอยากให้ประมาณตรงนี้ไว้ดีๆ เลยครับ เพื่อที่จะได้ไม่กระทบกับการใช้จ่ายในอนาคต
ข้อสาม ทำถูกต้องตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด
เนื่องจากสิทธิประโยชน์ตรงนี้มีเรื่องของภาษีมาเกี่ยวข้องดังนั้นการใช้สิทธิต่าง ๆ ต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดไว้ เพราะถ้าหากทำผิดเงื่อนไขขึ้นมา และถูกตรวจสอบพบ เราจะต้องเสียภาษีเพิ่มเติม และอาจจะถูกให้เสียเงินเพิ่มได้อีกด้วยครับ
สรุป
สุดท้ายแล้ว ผมสรุปเงื่อนไขสั้น ๆ ที่ทุกคนต้องรู้เกี่ยวกับ ช้อปดีมีคืน ไว้ทั้งหมดตามนี้ครับ
- ลองเช็คดูก่อนว่า สินค้า/บริการต่างๆ ที่เราต้องการซื้อนั้น เป็นสินค้าหรือบริการที่มีภาษีมูลค่าเพิ่มไหม ถ้าหากไม่ใช่ก็ไม่สามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้ครับ (ยกเว้นหนังสือกับ OTOP ที่ไม่ต้องเป็นผู้ประกอบการจด VAT)
- ลองสอบถามผู้ขายว่า ออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปให้ได้หรือเปล่า ถ้าหากไม่สามารถออกให้ได้ ก็ไม่สามารถใช้ได้เช่นเดียวกันครับ (ยกเว้นหนังสือกับ OTOP ใช้ใบเสร็จรับเงินแทนได้)
- กรณีการซื้อสินค้าหรือบริการ ต้องไม่ใช่สินค้าหรือบริการที่กฎหมายไม่ให้สิทธิ์ และมีวงเงินลดหย่อนภาษีสูงสุดจำนวน 30,000 บาท ซึ่งต้องเป็นการซื้อสินค้าหรือบริการในช่วงเวลา 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2565
- ในกรณีที่เป็นการรับบริการ ระวังเรื่องระยะเวลาของบริการที่ต้องเกิดขึ้นและสิ้นสุดระหว่างวันที 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2565 โดยไม่มีบริการครอบคลุมในระยะเวลาก่อนหน้าหรือหลังจากนั้น
อย่างไรก็ดี ขอออกตัวไว้นะครับว่า เนื้อหาบางส่วนของบทความนี้ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการบอกว่านโยบายไม่ดี หรือ มาสกัดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแต่อย่างใดนะครับ แต่อยากให้กลับมาย้อนมองที่เศรษฐกิจของตัวเราเองด้วยว่า ตอนนี้มันเป็นอย่างไร เพราะถ้าหากเรามีปัญหาเรื่องการเงินขึ้นมาจากการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีโดยที่ไม่จำเป็น มันอาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่ดีสักเท่าไร
หวังว่าจะทำให้เข้าใจข้อกฎหมายทั้งหมดได้ดีขึ้น
TAXBugnoms
และวางแผนลดหย่อนภาษีได้อย่างคุ้มค่าครับ