พี่ครับ ผมไม่อยากจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคล
คำตอบนี้ไม่ได้กวน แต่อยากชวนให้คิดมากกว่าครับ
อ้อ… ถ้าแบบนั้นก็อย่าจดนิติบุคคลครับ
ภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นภาษีเงินได้อีกประเภทหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับคนทำธุรกิจ ซึ่งคนส่วนใหญ่มักจะมีความเชื่อที่ว่า ถ้าหากจดเป็นนิติบุคคลแล้ว (จดทะเบียนบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน) จะได้รับประโยชน์มากกว่าการเป็นบุคคลธรรมดาที่ต้องเสีย ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพราะเสียภาษีในจำนวนที่ต่ำกว่า
ดังนั้นในบทความนี้ ผมจึงอยากชวนทุกคนมาคิดและทำความเข้าใจกับภาษีตัวนี้กันอีกสักครั้งเพื่อให้คนทำธุรกิจหรือคนที่ต้องการเปลี่ยนจากบุคคลธรรมาเป็นนิติบุคคล สามารถตัดสินใจเลือกทางที่มีประโยชน์ที่สุดให้กับตัวเองครับ
ภาษีเงินได้นิติบุคคล คืออะไร
ภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นภาษีเงินได้ประเภทหนึ่งที่เรียกเก็บจากนิติบุคคลตามที่กฎหมายภาษี (ประมวลรัษฎากร) กำหนดหน้าที่ไว้ให้ โดยมีหลักการคำนวณจากฐานภาษีทั้งหมด 4 ประเภท ดังนี้
- กำไรสุทธิ
- ยอดรายได้ก่อนหักรายจ่าย
- เงินได้ที่จ่ายจากหรือในประเทศไทย
- การจำหน่ายเงินกำไรออกไปจากประเทศไทย
โดยปกติแล้ว ฐานภาษีที่ถูกใช้กันบ่อยที่สุดในการคำนวณภาษีเงินได้ประเภทนี้คือ “กำไรสุทธิ” ซึ่งกำหนดให้นิติบุคคลดังต่อไปนี้มีหน้าที่ต้องเสียและคำนวณภาษีครับ
- บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย
- บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศที่มีการกระทำกิจการในประเทศไทย (ไม่ใช่กิจการขนส่งระหว่างประเทศ) หรือ มีลูกจ้างหรือผู้ทำการแทน หรือผู้ทำการติดต่อในการประกอบกิจการในประเทศไทยที่ทำให้ได้รับเงินได้หรือผลกำไรในประเทศไทย
- กิจการซึ่งดำเนินการเป็นทางการค้าหรือหากำไรโดยรัฐบาลต่างประเทศองค์การของรัฐบาลต่างประเทศ หรือนิติบุคคลอื่นที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ
- กิจการร่วมค้า
จากเนื้อหาทั้งหมดที่เล่ามาถึงตรงนี้ ผมขอสรุปง่าย ๆ ให้คนที่ไม่ได้ทำงานด้านที่เกี่ยวกับภาษีเข้าใจว่า ถ้าหากเรามีจดบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนในประเทศไทยก็ย่อมมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้จากกำไรที่ธุรกิจได้รับ
โดยภาษีเงินได้นิติบุคคลที่เสียจากฐานกำไรสุทธินั้น จะมีลักษณะคล้ายกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตรงที่มีความสัมพันธ์กันระหว่าง ภาษีสิ้นปี ภาษีครึ่งปี และ ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ดังนี้ครับ
ความสัมพันธ์ระหว่าง
ภาษีสิ้นปี ครึ่งปี และหัก ณ ที่จ่าย

จากรูปจะเห็นว่า ภาษีเงินได้ครึ่งปีที่เราได้เสียไว้นั้น สามารถนำไปหักออกจากภาษีเงินได้สิ้นปีได้ โดยความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ จะรวมถึง เรื่อง ภาษีเงินได้สิ้นปี ภาษีเงินได้ครึ่งปี และภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายครับ
โดย ภาษีเงินได้นิติบุคคลสิ้นปีจะคำนวณจากกำไรสุทธิในรอบบัญชี ส่วน ภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปี จะคำนวณสำหรับรอบครึ่งรอบบัญชี และตัวสุดท้าย ภาษีหัก ณ ที่จ่าย หมายถึง ภาษีที่นิติบุคคลถูกหักไว้ล่วงหน้าและนำส่งให้กับสรรพากร โดยที่นิติบุคคล (ผู้รับเงิน) มีหน้าที่เก็บหลักฐานการหักภาษี ณ ที่จ่ายที่เกิดขึ้นในแต่ละปีมารวบรวมใช้เป็นหลักฐานต่อไป
ดังนั้น ความสัมพันธ์ในการจ่ายภาษีเพิ่มหรือขอคืนนั้น จะมาจากการนำยอดภาษีสิ้นปีที่คำนวณได้ หักออกด้วย ภาษีที่เสียล่วงหน้าไปตอนครึ่งปี และ ภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่ถูกหักไว้ระหว่างปี นั่นเองครับ
ยกตัวอย่างเช่น บริษัทเราได้จ่ายภาษีเงินได้ครึ่งปีไปแล้ว 50,000 บาท พอสิ้นปีคำนวณภาษีได้ 80,000 บาท ก็จ่ายภาษีเพิ่มแค่ 30,000 บาทเท่านั้น (80,000 – 50,000) และถ้าบริษัทเรามีภาษีถูกหัก ณ ที่จ่ายไว้ ก็เอามาหักจากยอดภาษีได้อีกเช่นเดียวกันครับ เช่น ถ้าหากบริษัทเรามีภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายไว้ตลอดทั้งปีจำนวน 20,000 บาท ทัายที่สุดแล้วบริษัทเราก็จะจ่ายภาษีเพิ่มแค่ 10,000 บาทเท่านั้นครับ
ถ้าหากใครคิดว่าตัวเองอยากทบทวนหลักการ ภาษีเงินได้ครึ่งปี ผมขอแนะนำคลิปนี้ให้ลองศึกษาเพิ่มเติมครับ
วิธีคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล
ถ้าหากลองเปรียบเทียบกับวิธีการคำนวณ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ผมคงต้องบอกว่านิติบุคคลที่เสียภาษีจากฐานกำไรสุทธินั้น มีหลักการคำนวณภาษีง่ายกว่ามาก เพราะคำนวณจาก กำไรสุทธิ x อัตราภาษี เพียงวิธีเดียว
โดยปกติแล้วอัตราภาษีในปัจจุบันของนิติบุคคลจะอยู่ที่ 20% ของกำไรสุทธิ แต่ถ้าหากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลของเราเป็นธุรกิจที่เข้าข่ายกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด โดยมี 2 องค์ประกอบนี้ คือ ทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วไม่เกิน 5 ล้านบาท และ รายได้รวม (ทางภาษี) ไม่เกิน 30 ล้านบาท ก็จะได้รับสิทธิลดอัตราภาษีลงไปอีกด้วย
ดังนั้น ถ้าหากธุรกิจของเราเป็นธุรกิจที่เข้าเงื่อนไขครบทั้ง 2 ข้อที่ว่านี้ เราก็จะได้รับสิทธิ์เสียภาษีในอัตราที่ต่ำกว่า 20% ลงไปโดยทยอยเสียตามกำไรที่เพิ่มขึ้นในแต่ละขั้น ตามรูปด้านล่างนี้เลยครับ

มาถึงตรงนี้ ถ้าใครลองย้อนไปเปรียบเทียบกับอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาดูก็จะพบว่า การเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นนิติบุคคลนั้นน่าจะประหยัดกว่าในเรื่องของอัตราภาษีที่ต่ำกว่า และมีวิธีการคำนวณที่ง่ายกว่า เพราะสามารถคำนวณจากกำไรของธุรกิจได้ทันทีเลยใช่ไหมครับ

คำตอบที่ผมอยากบอกคือ ใช่ครับ แต่ใช่เพียงแค่ครึ่งเดียวเท่านั้น เพราะคำว่ากำไรสุทธิที่ว่านั้น มันต้องเป็นกำไรสุทธิตามหลักการทางภาษีที่กฎหมายอย่างประมวลรัษฏากรกำหนดไว้ครับ ไม่ใช่กำไรสุทธิตามหลักการบัญชี หรือตามใจที่เจ้าของธุรกิจจะกำหนดขึ้นมาได้ง่าย ๆ ครับ
ความแตกต่างของ
กำไรจากธุรกิจตามหลักการบัญชี
กับ กำไรทางภาษีตามหลักกฎหมาย
ถ้านิยามคำว่า “กำไร” แบบง่ายๆ ก็คงบอกกันว่า มันคือ รายได้ หักด้วย ค่าใช้จ่าย ถ้ารายได้มากกว่าก็ถือว่าเป็น “กำไร” แต่ถ้ารายจ่ายมากกว่าก็กลายเป็น “ขาดทุน” หรือจะเขียนเป็นสมการง่ายๆ ออกมาได้ดังนี้ครับ
กำไร(ขาดทุน) = รายได้ – ค่าใช้จ่าย
โดยหลักการทางบัญชีนั้น เราจะใช้ กำไร (ขาดทุน) สุทธิทางบัญชี คือ กำไรขาดทุนที่มาจาก รายได้ทางบัญชีหักด้วยค่าใช้จ่ายทางบัญชี ในขณะที่กำไร (ขาดทุน) สุทธิทางภาษีนั้นจะคำนวณโดยการใช้ รายได้ทางภาษี หัก ด้วยค่าใช้จ่ายทางภาษี เพื่อให้ได้เป็นตัวเลขกำไรหรือขาดทุนทางภาษีนั่นเองครับ
ผมยำ้อีกทีนะครับว่า …
กำไร (ขาดทุน) ทางบัญชี = รายได้ทางบัญชี – ค่าใช้จ่ายทางบัญชี
กำไร (ขาดทุน) ทางภาษี = รายได้ทางภาษี – ค่าใช้จ่ายทางภาษี
ดังนั้น โดยหลักการทั้งสองตัวนี้ไม่ใช่ตัวเดียวกันตั้งแต่แรกนะครับ ซึ่งทำให้เวลาคำนวณภาษีนั้น ต้องมีการปรับปรุงกำไรทางบัญชีให้เป็นกำไรทางภาษีเสียก่อน เนื่องจากธุรกิจบันทึกรายได้และค่าใช้จ่ายตามหลักการของบัญชี แล้วค่อยปรับปรุงให้เป็นกำไรทางภาษีเพื่อคำนวณภาษีเงินได้ออกมาครับ
หรือพูดง่าย ๆ ว่าตัวเลขในงบการเงินที่เราเห็นว่ากำไรหรือขาดทุนนั้น มันคือตัวเลขทางบัญชี แต่เวลาคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล เราจะต้องมีการปรับปรุงรายการนี้ออกมาเพื่อคำนวณภาษีนั่นเองครับ

โดยเราสามารถเขียนวิธีการปรับปรุงที่ว่าออกมาเป็นสมการได้ดังนี้ครับ
กำไร (ขาดทุน) ทางภาษี = กำไร (ขาดทุน) ทางบัญชี + รายได้ที่ให้ถือเป็นรายได้ + รายจ่ายต้องห้าม – รายได้ที่ได้รับสิทธิยกเว้น – รายจ่ายที่หักได้เพิ่มขึ้น
ซึ่งทั้ง 4 ตัวที่มีหน้าที่ปรับปรุงกำไรทางบัญชีนั้น จะมีความแตกต่างกันดังนี้ครับ นั่นคือ
- รายได้ที่ถือเป็นรายได้ทางภาษี คือ รายได้ที่ทางบัญชีไม่ถือเป็นรายได้แต่ต้องถือเป็นรายได้ทางภาษี
- รายได้ที่ได้รับสิทธิยกเว้น คือ รายได้ที่ทางบัญชีถือเป็นรายได้ แต่ไม่ถือเป็นรายได้ทางภาษี
- รายจ่ายต้องห้าม คือ รายจ่ายที่ทางบัญชีถือเป็นรายจ่าย แต่ไม่ถือเป็นรายจ่ายทางหลักภาษี
- รายจ่ายที่หักได้เพิ่มขึ้น คือ รายจ่ายที่ทางภาษีกำหนดให้หักเป็นรายจ่ายได้มากกว่าหลักการบัญชี

ดังนั้น ความเชื่อที่ว่า “ทำธุรกิจให้ขาดทุนสิ จะได้ไม่ต้องเสียภาษี” อาจจะไม่มีประโยชน์อะไรเลยครับ เพราะถ้าหากไม่สามารถทำให้เกิดขาดทุนทางภาษีได้ ธุรกิจของเราก็ต้องเสียภาษีอยู่ดีครับ
รายการปรับปรุงกำไรทางบัญชี
เพื่อให้เป็นกำไรทางภาษี
ทีนี้เรามาลงรายละเอียด 4 รายการปรับปรุงทางภาษีกันอีกสักหน่อย เพื่อความเข้าใจที่มากขึ้นครับว่า รายการพวกนี้มีผลอะไรกับกำไรทางบัญชีของเราบ้าง และมีประเด็นอะไรที่ควรระวังเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลกันครับ
รายได้ที่ถือเป็นรายได้ทางภาษี
หรือจะเรียกอีกชื่อว่า รายได้ที่ทางบัญชี “ไม่ถือ” เป็นรายได้ แต่ทางภาษี “ถือ” เป็นรายได้ ก็ได้เหมือนกันครับ ซึ่งหลักการของตัวนี้ คือ การกำหนดให้ธุรกิจต้องมีรายได้ทางภาษีเพิ่มขึ้นเพื่อให้มีกำไรมากขึ้นนั่นเองครับ
ยกตัวอย่างเช่น โดยหลักการทางบัญชีนั้น เราสามารถบันทึกรายการให้กรรมการของบริษัทกู้ยืมเงินโดยไม่มีดอกเบี้ย แต่ทางกฎหมายจะถือว่าการให้กู้โดยไม่มีดอกเบี้ยเป็นไปไม่ได้ เพราะตามประมวลรัษฎากรกำหนดไว้ในมาตรา 65 ทวิ (4) เลยว่า
(4) ในกรณีโอนทรัพย์สิน ให้บริการ หรือให้กู้ยืมเงิน โดยไม่มีค่าตอบแทน ค่าบริการ หรือดอกเบี้ย หรือมีค่าตอบแทน ค่าบริการ หรือดอกเบี้ยต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควร เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินค่าตอบแทน ค่าบริการ หรือดอกเบี้ยนั้น ตามราคาตลาดในวันที่โอน ให้บริการหรือให้กู้ยืมเงิน
จะเห็นว่ากฎหมายเขียนไว้ชัดเจนเลยว่า การให้กู้ยืมเงินโดยไม่คิดดอกเบี้ย หรือคิดดอกเบี้ยต่ำกว่าตลาดนั้นไม่สามารถทำได้ และเจ้าพนักงาน (สรรพากร) สามารถประเมินรายได้ของธุรกิจเพิ่มขึ้นได้ด้วยอีกต่างหาก รวมถึงการขายหรือให้บริการที่ไม่มีค่าตอบแทนหรือค่าตอบแทนต่ำกว่าราคาตลาดก็ไม่ได้เช่นเดียวกันครับ
ดังนั้นรายการ รายได้ที่ถือเป็นรายได้ทางภาษี นี้จะทำให้รายได้ทางภาษีของเราสูงกว่าทางบัญชี หรือถ้ามีการปรับปรุงรายการนี้เราจะเสียภาษีเพิ่มขึ้นเพราะกำไรทางภาษีนั้นสูงขึ้นครับ
รายได้ที่ได้รับสิทธิยกเว้น หรือ ไม่ใช่รายได้ทางภาษี
หรือจะเรียกอีกชื่อว่า รายได้ที่ทางบัญชี “ถือ” เป็นรายได้ แต่ทางภาษี “ไม่ถือ” เป็นรายได้ ก็ได้เหมือนกันครับ โดยรายการนี้เป็นรายการที่บัญชีจะรับรู้เป็นรายได้ตามหลักการบัญชี แต่ทางภาษีจะไม่ถือว่ารายการนี้เป็นรายได้ครับ
ยกตัวอย่างเช่น เงินปันผลบางประเภทที่เข้าเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดไว้ในมาตรา 65 ทวิ (10) ทางภาษีจะให้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ หรือไม่ต้องนำมารวมคำนวณเป็นรายได้ของธุรกิจนั่นเองครับ
(10) สำหรับบริษัทจำกัดที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ให้นำเงินปันผลที่ได้จากบริษัทจำกัดที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย หรือสถาบันการเงินที่มีกฎหมายโดยเฉพาะของประเทศไทยจัดตั้งขึ้นสำหรับให้กู้ยืมเงิน เพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม พาณิชยกรรม หรืออุตสาหกรรม และเงินส่วนแบ่งกำไรที่ได้จากกิจการร่วมค้า มารวมคำนวณเป็นรายได้เพียงกึ่งหนึ่งของจำนวนที่ได้ เว้นแต่บริษัทจำกัดที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ดังต่อไปนี้ ไม่ต้องนำเงินปันผลที่ได้จากบริษัทจำกัดที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย หรือสถาบันการเงินที่มีกฎหมาย โดยเฉพาะของประเทศไทยจัดตั้งขึ้นสำหรับให้กู้ยืมเงินเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม พาณิชยกรรม หรือ อุตสาหกรรม และเงินส่วนแบ่งกำไรที่ได้จากกิจการร่วมค้า มารวมคำนวณเป็นรายได้ (ก) บริษัทจดทะเบียน (ข) บริษัทจำกัดนอกจาก (ก) ซึ่งถือหุ้นในบริษัทจำกัดผู้จ่ายเงินปันผลไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียงในบริษัทจำกัดผู้จ่ายเงินปันผลและบริษัทจำกัดผู้จ่าย เงินปันผลไม่ได้ถือหุ้นในบริษัทจำกัดผู้รับเงินปันผลไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับในกรณีที่บริษัทจำกัดหรือบริษัทจดทะเบียนมีเงินได้ที่เป็นเงินปันผล และเงินส่วนแบ่งกำไรดังกล่าวโดยถือหุ้นที่ก่อให้เกิดเงินปันผลและเงินส่วนแบ่งกำไรนั้นไว้ไม่ถึงสามเดือน นับแต่วันที่ได้หุ้นนั้นมาถึงวันมีเงินได้ดังกล่าว หรือได้โอนหุ้นนั้นไปก่อนสามเดือนนับแต่วันที่มีเงินได้ เงินปันผลที่ได้จากการลงทุนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามมาตรา 65 ตรี (2) ไม่ให้ถือเป็น เงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งกำไรตามความในวรรคสอง
ดังนั้นรายการ รายได้ที่ได้รับสิทธิยกเว้น หรือ ไม่ใช่รายได้ทางภาษี จะทำให้รายได้ทางภาษีของเราต่ำกว่าทางบัญชี หรือถ้ามีการปรับปรุงรายการนี้เราจะเสียภาษีลดลงเพราะกำไรทางภาษีนั้นลดลงครับ
รายจ่ายต้องห้าม หรือ ค่าใช้จ่ายต้องห้าม
หรือจะเรียกอีกชื่อว่า รายจ่ายที่ทางบัญชี “ถือ” เป็นรายจ่าย แต่ทางภาษี “ไม่ถือ” เป็นรายจ่าย ก็ได้เหมือนกันครับ โดยรายการนี้จะเป็นรายการที่บัญชีลงเป็นค่าใช้จ่ายไว้ แต่ภาษีบอกว่าไม่ให้ใช้เป็นรายจ่ายทางภาษี ด้วยสาเหตุหลายๆ อย่างที่กฎหมายกำหนดไว้
ยกตัวอย่างเช่น ค่าใช้จ่ายตัวนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการหากำไรธุรกิจ มีจำนวนเงินที่จ่ายไปมากเกินไป พิสูจน์คนรับเงินไม่ได้ ซึ่งเงื่อนไขของรายจ่ายทั้งหมดที่กฎหมายไม่ให้ใช้เป็นรายจ่ายนั้น จะอยู่ในมาตรา 65 ตรี ครับ
มาตรา 65 ตรี รายการต่อไปนี้ ไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ (3) รายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการส่วนตัว การให้โดยเสน่หา หรือการกุศล เว้นแต่ (ก) รายจ่ายซึ่งเป็นเงินที่บริจาคแก่พรรคการเมืองตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง ให้หักได้ไม่เกินห้าหมื่นบาท ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด (ข) รายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ตามที่อธิบดี ประกาศกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี ให้หักได้ในส่วนที่ไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬาตามที่อธิบดีประกาศกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรีให้หักได้อีกในส่วนที่ไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ --- (8) เงินเดือนของผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนเฉพาะส่วนที่จ่ายเกินสมควร (9) รายจ่ายซึ่งกำหนดขึ้นเองโดยไม่มีการจ่ายจริง หรือรายจ่ายซึ่งควรจะได้จ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีอื่น เว้นแต่ในกรณีที่ไม่สามารถจะลงจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีใดก็อาจลงจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีที่ถัดไปได้ (10) ค่าตอบแทนแก่ทรัพย์สินซึ่งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเป็นเจ้าของเองและใช้เอง (11) ดอกเบี้ยที่คิดให้สำหรับเงินทุน เงินสำรองต่างๆ หรือเงินกองทุนของตนเอง --- (18) รายจ่ายซึ่งผู้จ่ายพิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับ (19) รายจ่ายใดๆ ที่กำหนดจ่ายจากผลกำไรที่ได้เมื่อสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชีแล้ว (20) รายจ่ายที่มีลักษณะทำนองเดียวกับที่ระบุไว้ใน (1)ถึง (19) ตามที่จะได้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา
หมายเหตุ : โดยข้อกฎหมายข้างต้น ยังไม่ใช่ข้อกฎหมายทั้งหมดของมาตรา 65 ตรีนะครับ ผมหยิบมาแค่บางข้อให้เห็นตัวอย่างเท่านั้นครับ ถ้าใครอยากได้รายละเอียดกฎหมายเพิ่มเติม แนะนำดูได้ที่ เวปไซด์กรมสรรพากร ครับ
ดังนั้นรายการ รายจ่ายต้องห้าม หรือ ค่าใช้จ่ายต้องห้าม จะทำให้ค่าใช้จ่ายทางภาษีของเราต่ำกว่าทางบัญชี หรือถ้ามีการปรับปรุงรายการนี้เราจะเสียภาษีเพิ่มขึ้นเพราะกำไรทางภาษีนั้นเพิ่มขึ้นครับ
รายจ่ายที่หักได้เพิ่มขึ้น
หรือจะเรียกอีกชื่อว่า รายจ่ายที่ทางบัญชีถือเป็นรายจ่าย แต่ทางภาษี “ถือ” เป็นรายจ่ายได้มากขึ้น ก็ได้เหมือนกันครับ โดยรายการนี้เป็นรายการที่ทางกฎหมายให้สิทธิในการใช้เป็นรายจ่ายของธุรกิจได้เพิ่มขึ้นครับ
โดยส่วนใหญ่แล้ว จะเป็นรายจ่ายที่เกี่ยวกับการบริจาคบางประเภทให้แก่องค์กรต่างๆ หรือการทำตามนโยบายบางอย่างของภาครัฐ เช่น การอบรมพนักงาน การจ้างงานผู้สูงอายุ การจ้างเด็กฝึกงานบัญชี การลงทุนในเครื่องจักรต่าง ๆ ฯลฯ
ซึ่งทางกฎหมายภาษีจะให้สิทธิหักเป็นค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมากกว่าทางบัญชี ตั้งแต่ 0.5 เท่าขึ้นไป (มักจะคุ้นกับในกลุ่มรายจ่ายที่หักได้ 2 เท่า) ครับ โดยรายการเหล่านี้จะมีการอัพเดททุกปี และมีการเปลี่ยนแปลงบ่อย ๆ ในลักษณะที่คล้ายกับ รายการค่าลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ครับ
ดังนั้นรายการ รายจ่ายที่หักได้เพิ่มขึ้น จะทำให้ค่าใช้จ่ายทางภาษีของเราสูงกว่าทางบัญชี หรือถ้ามีการปรับปรุงรายการนี้เราจะเสียภาษีลงลง เพราะกำไรทางภาษีนั้นลดลงครับ
หลักการการวางแผนภาษีที่ถูกต้อง
เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี
อย่างไรก็ดี ผมมองว่าวิธีการประหยัดภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้น จะไม่เหมือนกับการประหยัดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่สามารถวางแผนโดยการใช้สิทธิประโยชน์ในการลดเงินได้สุทธิลง เช่น เพิ่มค่าลดหย่อนประเภทต่าง ๆ ตามที่กฎหมายให้สิทธิ์ประโยชน์มา
โดยเหตุผลข้อแรก คือ การหาวิธีการลดรายได้ทางภาษี หรือ เพิ่มค่าใช้จ่ายที่หักได้เพิ่มขึ้นนั้น ดูแล้วค่อนข้างไม่สอดคล้องกับการทำธุรกิจสักเท่าไร ด้วยวิธีการที่เป็นลักษณะเฉพาะ เช่น มีรายได้จากเงินปันผล (อาจใช้ได้สำหรับธุรกิจบางประเภท) หรือ การลงทุนในสิทธิประโยชน์บางอย่างที่อาจจะไม่ได้ต้องการลงทุนอย่างแท้จริง
เพราะการจ่ายที่ไม่ได้ให้ประโยชน์กับธุรกิจโดยตรงนั้น แม้ว่าจะประหยัดภาษีได้ก็ตาม แต่มันก็ทำให้ธุรกิจเสียค่าใช้จ่ายโดยรวมมากกว่าอยู่ดีนั่นแหละครับ
ส่วนเหตุผลข้อที่สอง คือ ธุรกิจส่วนใหญ่มักจะมีปัญหากับสรรพากรในเรื่องของการรับรู้รายได้ไม่ครบถ้วนตามหลักการของภาษี เช่น การพยายามขายสินค้าหรือให้บริการในอัตราต่ำกว่าตลาด ไม่บันทึกยอดขายครบถ้วน จนทำให้ต้องถูกปรับปรุงเป็นรายได้เพิ่มเติม (กรณี รายได้ที่ถือเป็นรายได้ทางภาษี)
หรืออีกทางหนึ่ง คือ การพยายามสร้างรายจ่ายเพื่อลดภาษี โดยที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหรือไม่เกิดขึ้นจริง ซึ่งตรงนี้จะไปขัดกับหลักการของรายจ่ายต้องห้าม ทำให้ต้องถูกสรรพากรปรับปรุงและบวกกลับเพื่อไม่ให้เป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีอยู่ดี (กรณีรายจ่ายต้องห้าม หรือ ค่าใช้จ่ายต้องห้าม)
ดังนั้น การวางแผนที่ภาษีถูกต้องนั้น ผมมองว่าธุรกิจควรจะเน้นไปในเรื่องของการทำให้ถูกต้องตามหลักการของกฎหมายดีกว่า โดยผมอยากให้เริ่มต้นเน้นความสำคัญไปที่การป้องกันเรื่องของรายจ่ายต้องห้ามเป็นหลัก และปรับปรุงรายได้ให้ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด เพื่อคำนวณภาษีให้ถูกต้องมากกว่าครับ เพราะการไม่มีปัญหาถูกตรวจสอบภาษี บางทีมันช่วยประหยัดต้นทุนทั้งด้านเวลาและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ตามมาอีกเพียบเลยล่ะครับ
เอาล่ะครับ เพื่อความเข้าใจมากยิ่งขึ้นในเรื่องนี้ เรามาดูตัวอย่างในการปรับปรุงกำไรและคำนวณภาษีกันอีกสักหน่อยครับ
ตัวอย่างการปรับปรุงกำไรทางภาษี
เพื่อคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล
ยกตัวอย่าง บริษัท บักหนอม จำกัด เป็นบริษัทนิติบุคคลตามกฎหมายไทย ที่มีทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วจำนวน 5 ล้านบาท และมีรายได้รวมที่เกิดขึ้นในรอบบัญชีจำนวน 20 ล้านบาท จากข้อมูลทางบัญชี พบว่าบริษัทมีขาดทุนทางบัญชีจำนวน 200,000 บาท แต่มีรายการต่อไปนี้เกิดขึ้นในระหว่างปี (ลงบัญชีไว้แล้ว)
- มีการนำสินค้าที่มีไว้ขายไปใช้ส่วนตัว จำนวน 100,000 บาท โดยไม่มีการจ่ายเงิน
- ค่าใช้จ่ายส่วนตัวของนายถนอม ที่นำมาเบิกบริษัท จำนวน 500,000 บาท
จากตัวอย่างตรงนี้ จะเห็นว่าในมุมของบัญชี มีขาดทุนเกิดขึ้นจำนวน 200,000 บาท ซึ่งมีการบันทึกรายการที่ไม่ถูกต้องตามหลักการของภาษีไว้ ดังนั้น ถ้าหากเราจะคำนวณกำไรทางภาษีของบริษัทนี้ เราต้องปรับปรุงรายการให้ถูกต้องก่อน โดย
- บวกเพิ่มรายการขายที่ต่ำกว่าราคาตลาด (ไม่คิดเงิน) จำนวน 100,000 บาท โดยรายการนี้เป็นรายได้ที่ต้องถือเป็นรายได้ทางภาษี
- บวกกลับค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับธุรกิจ (ค่าใช้จ่ายส่วนตัว) จำนวน 500,000 บาท โดยรายการนี้เป็นรายการค่าใช้จ่ายต้องห้าม
เมื่อปรับปรุงรายการทั้งหมดแล้ว จะออกมาเป็นดังรูปด้านล่างนี้ครับ …

จากรูปจะเห็นว่าขาดทุนทางบัญชีกลายเป็นกำไรทางภาษีทันที เมื่อมีการปรับปรุงทั้ง 2 รายการเข้าไป (รายได้เพิ่ม และ ลดค่าใช้จ่าย) ซึ่งกำไรทางภาษีจำนวน 400,000 บาทนั้น เมื่อนำมาคำนวณภาษีแล้วจะเสียในอัตราที่ต่ำกว่า เนื่องจากได้รับสิทธิ์ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งกำไร 400,000 บาทจะถูกแบ่งออกเป็น
- 300,000 บาทแรก ได้รับสิทธิ์ยกเว้นภาษี
- 100,000 บาทต่อมาได้รับสิทธิ์เสียในอัตรา 15% คิดเป็น 15,000 บาท
ดังนั้น ธุรกิจนี้จะมีขาดทุนทางบัญชีทั้งสิ้นคือ 215,000 บาท โดยมาจากขาดทุนทางบัญชี 200,000 บาท และต้องเสียภาษีเพิ่มอีก 15,000 บาทนั่นเองครับ
บทสรุป
โดยสรุปทั้งหมดที่เราต้องทำความเข้าใจเรื่องภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้น มีอยู่ 3 ข้อครับ นั่นคือ
- กำไรที่นำมาคำนวณภาษี คือ กำไรสุทธิทางภาษี ซึ่งต้องมีการปรับปรุงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ใน 2 กลุ่ม ดังนี้ คือ
- กลุ่มเพิ่มกำไร ได้แก่ รายการเพิ่มรายได้ทางภาษี กับ ค่าใช้จ่ายต้องห้าม
- กลุ่มลดกำไร ได้แก่ รายการรายได้ที่ได้รับยกเว้น กับ ค่าใช้จ่ายที่หักได้เพิ่ม
- เมื่อปรับปรุงกำไรเรียบร้อยแล้ว จึงค่อยนำมา x อัตราภาษี ซึ่งอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลปกติจะอยู่ที่ 20% แต่ถ้าเป็น SMEs ตามกฎหมาย นั่นคือ มีทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วไม่เกิน 5 ล้านบาทและมีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาท กรณีนี้จะได้ลดอัตราภาษีลง
- กำไรทางภาษีที่ปรับปรุงนั้น ไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อกำไรทางบัญชี แต่เป็นการปรับปรุงเพื่อคำนวณภาษีเงินได้เท่านั้น การคำนวณกำไรของธุรกิจยังยึดตามหลักการบัญชีเหมือนอย่างเดิม
หากใครอยากทบทวนข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมแนะนำลองดูคลิปนี้อีกครั้งหนึ่งครับ เพื่อที่จะได้เข้าใจหลักการคำนวณภาษีอย่างถูกต้องและไม่เป็นปัญหากับสรรพากรในภายหลังครับ
สำหรับเรื่องของ ภาษีเงินได้นิติบุคคล ทั้งหมดที่พูดนั้น มีหลักการสำคัญพื้นฐานเพียงเท่านี้ครับ แต่สิ่งที่อยากฝากไว้สำหรับเจ้าของธุรกิจก็คือ การเข้าใจวิธีการคำนวณภาษีที่ถูกต้อง เพื่อให้สามารถจัดการและวางแผนธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
ซึ่งมันสำคัญกว่าการประหยัดภาษีเสียอีกครับ
TAXBugnoms