ปี 2565 มีอะไรให้ลดหย่อนได้บ้างครับ
สรุปตามนี้เลยครับผม 🙂
อัพเดทรายการลดหย่อนให้ฟังหน่อยครับ
ถ้าหากถามว่า รายการลดหย่อนภาษีปี 2565 มีอะไรบ้าง ? ก่อนที่เราจะตอบคำถามนี้ ผมว่า เราควรรู้จักความหมายของ “ค่าลดหย่อน” และวิธีการวางแผนภาษีกันก่อนครับ
ค่าลดหย่อน คืออะไร
ค่าลดหย่อน คือ “รายการที่กฎหมายกำหนดไว้ให้นำไปหักออกจากเงินได้เพิ่มขึ้นหลังจากที่หักค่าใช้จ่ายแล้ว” ซึ่งมาจากวิธีการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่เรียกว่า “วิธีเงินได้สุทธิ” (อ่านเพิ่มเติมเรื่องนี้ได้ที่บทความ : ค่าลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คืออะไร? ช่วยลดภาษีได้อย่างไร?)

จากวิธีคำนวณที่ว่านี้ หากเราต้องการจะลด “ภาษี” ให้มากที่สุด เราต้องทำตัวเลขเงินได้สุทธิ (เงินได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน) ให้ได้ออกมาน้อยที่สุด เพื่อที่จะได้คูณอัตราภาษีแล้วได้จำนวนเงินภาษีน้อยๆ นั่นเองครับ ซึ่งหลายคนที่มีเงินได้ในประเภทที่ไม่สามารถหักค่าใช้จ่ายเพิ่มได้ เช่น มนุษย์เงินเดือน หรือ ฟรีแลนซ์ สิ่งที่จะช่วยเราได้คือ การเพิ่มขึ้นรายการค่าลดหย่อน นั่นเองครับ

โดยรายการค่าลดหย่อนที่กฎหมายให้เราเลือกใช้เพื่อลดภาษีนั้น มันคือรายการที่ทางรัฐมองว่าเป็นภาระในชีวิต หรือเป็นสิทธิพิเศษที่ต้องการสนับสนุนเพื่อกระตุ้นพฤติกรรมบางอย่างของประชาชน ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงและอัพเดทอยู่ทุก ๆ ปี
ดังนั้นหน้าที่ของผู้เสียภาษีอย่างเรา จึงต้องคอยติดตามให้ดี เพื่อที่จะได้วางแผนภาษีได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมกับกระแสเงินสดในแต่ละปีที่เรามีครับ
ถ้าพร้อมแล้ว เรามาดูสรุป รายการลดหย่อนภาษี 2565 กันเลยดีกว่าครับ

ค่าลดหย่อนภาษี 2565 มีอะไรบ้าง?
เอาล่ะครับ ทีนี้เรามาดูรายละเอียดกันเลยดีกว่าครับว่า มีอะไรที่สามารถใช้ลดหย่อนภาษีในปีนี้ได้บ้าง? และเราจะวางแผนลดหย่อนภาษีได้อย่างไร?
โดยรายการทั้งหมดนี้ สามารถแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้ครับ ภาระติดตัวคุณ กระตุ้นเศรษฐกิจ ประกันและลงทุน คุณรักพรรคการเมือง และเรื่องบริจาคตอบแทนสังคม ซึ่งแต่ละกลุ่มมีรายละเอียดดังนี้ครับ
ค่าลดหย่อนกลุ่มภาระติดตัวคุณ

1. ค่าลดหย่อนส่วนตัวจำนวน 60,000 บาท เป็นค่าลดหย่อนสำหรับคนมีเงินได้ทุกคนที่ยื่นแบบแสดงรายการ แค่เพียงเรายื่นแบบแสดงรายการก็สามารถใช้สิทธิค่าลดหย่อนนี้ได้เลยครับ
2. ค่าลดหย่อนคู่สมรสจำนวน 60,000 บาท เป็นค่าลดหย่อนของคู่สมรส (ตามกฎหมาย) กรณีที่คู่สมรส (สามีหรือภรรยา) ที่จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมายและไม่มีเงินได้ หรือมีเงินได้และเลือกยื่นแบบแสดงรายการรวมกันในการคำนวณภาษี เราจะได้สิทธิค่าลดหย่อนส่วนเพิ่มเติมจากส่วนนี้ทันทีครับ
3. ค่าลดหย่อนบุตรจำนวน 30,000 บาท โดยคำว่า “บุตร” หมายถึง บุตรโดยกฎหมายหรือบุตรบุญธรรม สามารถนำมาหักลดหย่อนได้ คนละ 30,000 บาท ซึ่งในกรณีที่เป็นบุตรโดยกฎหมายสามารถหักได้ไม่จำกัดจำนวนคน แต่ในกรณีที่เป็นบุตรบุญธรรม หรือ มีทั้งบุตรบุญธรรมและบุตรชอบด้วยกฎหมายจะหักได้สูงสุดไม่เกิน 3 คน (นับเฉพาะที่มีชีวิตอยู่) โดยมีเงื่อนไขดังนี้ครับ
- บุตรต้องมีอายุไม่เกิน 20 ปี
- ถ้าอายุอยู่ในระหว่าง 21-25 ปี ต้องศึกษาอยู่ในระดับ ปวส. ขึ้นไป
- บุตรต้องมีเงินได้ในปีไม่ถึง 30,000 บาท (ยกเว้นกรณีเงินปันผล)
สำหรับค่าลดหย่อนบุตรจะมีสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมให้ คนที่มีบุตรคนที่ 2 ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป จะได้รับสิทธิเพิ่มอีก 30,000 บาทต่อคนรวมเป็น 60,000 บาท อีกด้วยครับ
4. ค่าลดหย่อนฝากครรภ์และคลอดบุตรตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 60,000 บาท โดยมีเงื่อนไขดังนี้ครับ
- ต้องจ่ายเป็น “ค่าฝากครรภ์” และ “ค่าคลอดบุตร” ที่จ่ายให้กับสถานพยาบาลของรัฐหรือเอกชน
- จำนวนเงินสูงสุดต่อครรภ์ คือ 60,000 บาท คิดเป็นต่อครรภ์ไม่ใช่คน
- ถ้าจ่ายสำหรับการคลอดบุตรคนเดิม แต่จ่ายมากกว่า 1 ปี (ท้องปีนี้ คลอดปีหน้า) ให้ลดหย่อนตามปีที่ใช้ แต่รวมกันต้องไม่เกิน 60,000 บาท
- กรณีสามีภรรยาต่างฝ่ายต่างยื่นภาษี ให้ถือว่าค่าลดหย่อนตัวนี้เป็นของภรรยา แต่ถ้าภรรยาไม่มีเงินได้จึงสามารถถือเป็นค่าลดหย่อนของสามีได้
- เอกสารหลักฐานที่ใช้ลดหย่อน คือ ใบเสร็จรับเงินและใบรับรองแพทย์จากสถานพยาบาล
5. ค่าเลี้ยงดูพ่อแม่เราและพ่อแม่คู่สมรส คนละ 30,000 บาท ถ้าหากเราหรือคู่สมรสมีคุณพ่อคุณแม่ที่อายุมากกว่า 60 ปี และมีรายได้ทั้งปีไม่เกิน 30,000 บาท เราก็จะมีสิทธิหักลดหย่อนค่าเลี้ยงดูได้คนละ 30,000 บาท นั่นหมายความว่าถ้าเราเลี้ยงดูถึง 4 คนก็จะได้รับสิทธิสูงสุดถึง 120,000 บาทครับ (โดยคำว่าพ่อแม่ = พ่อแม่แท้ๆ ไม่ใช่พ่อแม่บุญธรรมครับ)
แต่ในกรณีที่เราจะนำพ่อแม่ของคู่สมรสมาลดหย่อนนั้น ต้องเริ่มจากเงื่อนไขว่าคู่สมรสของเราต้องไม่มีรายได้ และเรานำคู่สมรสมาลดหย่อนภาษี โดยที่คนในฝั่งครอบครัวของคู่สมรสนั้นไม่ได้ใช้สิทธิลดหย่อนพ่อแม่ด้วยนะครับ
ส่วนเรื่องเอกสารหลักฐานนั้น คุณพ่อคุณแม่จะต้องลงลายมือชื่อในหนังสือรับรอง (แบบ ลย.03) ว่าลูกคนไหนเป็นคนเลี้ยงดู และสิทธิในการเลี้ยงดูนั้นจะสามารถใช้สิทธิได้เพียงครั้งเดียวครับ เช่น พี่น้องสองคน คนโตใช้สิทธิลดหย่อนเลี้ยงดูพ่อ คนเล็กก็ไม่สามารถใช้สิทธิเลี้ยงดูพ่อแล้วครับ สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้เฉพาะแม่ หรือถ้าคนโตใช้สิทธิทั้งคุณพ่อคุณแม่ ลูกคนเล็กก็ไม่มีสิทธิแล้วครับ
6. ค่าลดหย่อนผู้พิการหรือคนทุพพลภาพ จำนวน 60,000 บาท ถ้าหากเราเป็นผู้ดูแลคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ หรือคนทุพพลภาพที่มีใบรับรองแพทย์ เราสามารถนำมาหักลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท โดยมีเงื่อนไขว่าคนพิการหรือคนทุพพลภาพที่นำมาลดหย่อนนั้นต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปีด้วยนะครับ
และในกรณีที่คนพิการหรือคนทุพพลภาพเป็น พ่อแม่ – บุตร – คู่สมรส ของเรา เราสามารถใช้สิทธิได้ทั้งสองส่วนครับ เช่น คู่สมรสไม่มีรายได้และพิการ ก็จะสามารถนำมาลดหย่อนได้สูงสุด 120,000 บาทครับ (คำนวณมาจาก 60,000 + 60,000 บาท)
ค่าลดหย่อนกลุ่มกระตุ้นเศรษฐกิจ
กลุ่มต่อมา คือ ค่าลดหย่อนกระตุ้นเศรษฐกิจ ในกลุ่มนี้จะเป็นค่าลดหย่อนภาษีที่ให้เพิ่มสำหรับกรณีที่มีการจ่ายเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจบางอย่างหรือเป็นมาตรการของรัฐที่อยากกระตุ้นให้มีการใช้จ่ายมากขึ้นครับ

1. ดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกินจำนวน 100,000 บาท ที่เราจ่ายไปเพื่อซื้อบ้านหรือคอนโดเพื่ออยู่อาศัย โดยสามารถหักได้ตามที่จ่ายไปจริง และในกรณีที่เป็นการกู้ร่วมกันหลายคน ให้แบ่งดอกเบี้ยคนละเท่าๆกัน แต่รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท
ยกตัวอย่างเช่น หากมีการกู้ร่วมกัน 2 คนขึ้นไป จะถือว่าดอกเบี้ยที่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ต่อบ้านคือ 100,000 บาทและแต่ละคนจะใช้สิทธิหักลดหย่อนได้สูงสุดตามสัดส่วนของตัวเองครับ เช่น ถ้ากู้สองคนร่วมกัน ดอกเบี้ยที่ได้สูงสุดต่อหลังคือ 50,000 บาท ดังนั้นอย่าลืมนะครับว่า!! การใช้สิทธิสำหรับกรณีนี้จะบ้านกี่หลังก็ได้ครับ แต่สูงสุดรวมกันแล้วจำนวนเงินต้องไม่เกิน 100,000 บาทนั่นเองครับ
พรี่หนอมสรุปง่ายๆว่า มองภาพรวมต่อบ้าน แล้วค่อยหารต่อคนครับ นั่นคือ บ้าน 1 หลังใช้สิทธิ์ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมตัวนี้ได้ไม่เกิน 100,000 บาท และคน 1 คนก็ใช้สิทธิ์ของตัวเองได้ไม่เกิน 100,000 บาทเช่นเดียวกันครับ
โดยหลักฐานที่ใช้ประกอบรายการนี้ คือ หลักฐานการจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่ทางเจ้าหนี้เป็นผู้ออกให้ครับ
2. ค่าลดหย่อนเงินลงทุนวิสาหกิจเพื่อสังคม จำนวน 100,000 บาท รายการค่าลดหย่อนตัวนี้เป็นรายการที่มีอัพเดทในปี 2564 ช่วงปลายปีเลยครับ โดยให้สิทธิ์ในการลดหย่อนสำหรับคนที่มีการลงทุนในกิจการที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่เป็น “วิสาหกิจเพื่อสังคม” ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสังคมเป็นเป้าหมายหลักของกิจการ และได้รับการจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมอีกด้วยครับ โดยการลงทุนที่ว่าจะต้องเป็นการลงทุนในหุ้นหรือการเป็นหุ้นส่วนเพื่อการจัดตั้งหรือเพิ่มทุน โดยได้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีสูงสุด 100,000 บาทในแต่ละปีที่มีการลงทุนนั่นเองครับ
3. ค่าลดหย่อนช้อปดีมีคืน จำนวน 30,000 บาท เป็นการซื้อสินค้าและบริการในระบบ ภาษีมูลค่าเพิ่ม หนังสือและอีบุ๊ค และ สินค้า OTOP ตามที่กฎหมายกำหนด (ไม่ได้สิทธิ์สำหรับบางรายการ) ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงวันที่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมาครับ โดยหลักฐานที่ใช้ในการลดหย่อนภาษี คือ ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปที่มีชื่อผู้ซื้อระบุไว้ กรณีที่ซื้อจากผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และใบเสร็จรับเงินที่มีชื่อผู้ซื้อระบุไว้ กรณีที่ซื้อจากผู้ประกอบการสินค้า OTOP และหนังสือครับ (อ่านรายละเอียดได้ที่ : ช้อปดีมีคืน 2565 ซื้ออะไรได้บ้าง)
ค่าลดหย่อนกลุ่มประกันและการลงทุน
สำหรับอีกกลุ่มหนึ่งที่ฮอตฮิตมาก ๆ สำหรับค่าลดหย่อนภาษีประจำปี คือ กลุ่ม ประกันชีวิตการลงทุน นี่แหละครับ โดยกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่ลดหย่อนภาษีแล้วได้ประโยชน์ 2 ส่วนครับ คือ ส่วนของการออมเงิน หรือ ลงทุน เพื่อสร้างวินัยและผลตอบแทนในการลงทุนให้กับเราส่วนหนึ่ง และใช้สิทธิประโยชน์ในการวางแผนภาษีอีกส่วนหนึ่งครับ ซึ่งการเลือกออมหรือลงทุนในตัวไหนเพื่อลดหย่อนภาษีก็ตาม พรี่หนอมขอแนะนำให้ดูวัตถุประสงค์ในการลงทุนของเราเป็นอันดับแรกก่อน แล้วค่อยคำนึงถึงเรื่องสิทธิประโยชน์การวางแผนภาษีตามมานะครับผม

1. เงินประกันสังคม สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีตามที่จ่ายจริง แต่สูงสุดไม่เกิน 6,300 บาท เนื่องจากในปี 2565 นี้มีการปรับลดอัตราเงินสะสมประกันสังคมสูงสุดจาก 750 บาทต่อเดือนตามรายละเอียดต่อไปนี้ครับ
- ลดอัตราพฤษภาคม – กรกฎาคม 2565
- ม.33 เหลือ 1% ไม่เกิน 150 บาท
- ม.39 เหลือ 91 บาท
- ลดอัตราตุลาคม – ธันวาคม 2565
- ม.33 เหลือ 3% ไม่เกิน 450 บาท
- ม.39 เหลือ 240 บาท
2. เบี้ยประกันชีวิตทั่วไป หรือ เงินฝากแบบมีประกันชีวิตตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกินจำนวน 100,000 บาท และในกรณีที่คู่สมรสไม่มีรายได้ การหักค่าเบี้ยประกันสำหรับคู่สมรสจะหักได้สูงสุด 10,000 บาท แต่ถ้าหากคู่สมรสมีรายได้จะหักสูงสุดได้ถึง 100,000 บาทครับ
สำหรับเงื่อนไขของค่าลดหย่อนประกันชีวิต จะมีเรื่องของระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ต้องทำกับบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทย ได้รับเงินคืนไม่เกิน 20% ของเบี้ยประกันชีวิตรายปี ฯลฯ ตรงนี้ผมแนะนำให้สังเกตจากข้อมูลที่ระบุไว้ในใบเสร็จรับเงินค่าเบี้ยประกัน น่าจะตอบคำถามได้ง่ายที่สุดครับ
หากใครที่กำลังสงสัยว่าประกันชีวิตของตัวเองเป็นแบบไหนกันแน่ ผมแนะนำให้สอบถามจากตัวแทนประกันชีวิต (ที่ไว้ใจได้) ได้เลยครับ หรือจะดูจากใบเสร็จรับเงินค่าประกันที่เราจ่ายไปก็ได้ครับว่าเรามี “เบี้ยประกันชีวิต” ที่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้จำนวนเท่าไหร่ครับ
3. เบี้ยประกันสุขภาพตนเอง ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกินจำนวน 25,000 บาท (ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมในปี 2563) และเมื่อรวมกับประกันชีวิตทั่วไปหรือเงินฝากแบบมีประกันชีวิตแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท โดยเบี้ยประกันสุขภาพนั้นหมายถึงกลุ่มต่อไปนี้ครับ
- ประกันที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล เนื่องจากการเจ็บป่วยและบาดเจ็บ ชดเชยทุพพลภาพและการสูญเสียอวัยวะเนืองจากการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บ
- ประกันอุบัติเหตุเฉพาะที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล การทุพพลภาพ การสูญเสียอวัยวะ และการแตกหักของกระดูก
- การประกันภัยโรคที่ร้ายแรง (Critical Illnesses)
- การประกันภัยการดูแลระยะยาว (Long Term Care)
4. เบี้ยประกันสุขภาพพ่อแม่ ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกินจำนวน 15,000 บาท ตรงนี้เน้นว่า ต้องเป็นเบี้ยประกันสุขภาพของคุณพ่อคุณแม่เท่านั้นครับ โดยความหมายของประกันสุขภาพนั้นใช้หลักการเดียวกันกับประกันสุขภาพของเรานั่นเองครับ
โดยเราสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเบี้ยประกันสุขภาพตัวนี้ได้ในกรณีที่คุณพ่อคุณแม่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี (คุณพ่อคุณแม่ไม่จำเป็นต้องมีอายุ 60 ปีขึ้นไป) และค่าเบี้ยประกันสุขภาพนี้สามารถหารแบ่งกันสำหรับลูกหลายๆคนได้ด้วยครับ
5. เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้ ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกินจำนวน 200,000 บาท
สำหรับเงื่อนไขประกันชีวิตแบบบำนาญนั้นจะมีเรื่องของ ระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ทำกับบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทย และมีการ จ่ายผลประโยชน์เป็นรายงวดอย่างสม่ำเสมอ และกำหนดช่วงอายุของการจ่ายผลประโยชน์เมื่อเรามีอายุตั้งแต่ 55-85 ปี หรือมากกว่านั้น รวมถึงต้องจ่ายเบี้ยประกันครบก่อนได้รับผลประโยชน์อีกด้วยครับ
แต่ถ้าเอาง่ายๆก็สอบถามตัวแทนประกันชีวิต (ที่ไว้ใจได้) นั่นแหละครับ ง่ายที่สุดและข้อมูลชัดเจนที่สุด จะได้ไม่ต้องมีปัญหาในการจัดการภาษี และที่สำคัญคือ เช็คใบเสร็จรับเงินค่าเบี้ยประกันทุกครั้ง เพราะข้อมูลลดหย่อนภาษีทุกอย่างอยู่ในนั้นนั่นเองครับผม
สำหรับคนที่สนใจเรื่องประกันกับการลดหย่อนภาษี ผมขอแนะนำบทความ ประกันอะไรลดหย่อนภาษีได้บ้าง เพื่ออ่านประกอบเพิ่มเติมครับ
6. กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) นำมาลดหย่อนได้ 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามที่จ่ายจริงและสูงสุดไม่เกินจำนวน 500,000 บาท โดยกองทุน RMF เป็นกองทุนรวมประเภทหนึ่งที่ลงทุนไว้ในสินทรัพย์หลากหลายประเภท ซึ่งมีวัตถุประสงค์ไว้ใช้ในการวางแผนเกษียณของเราครับ ซึ่งมีระบุเงื่อนไขเพิ่มเติมไว้ตามนี้ครับ
- ต้องซื้อติดต่อกันทุกปี (แต่ถ้าผิดเงื่อนไขสามารถผิดได้ 1 ปี)
- ต้องถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมไว้ไม่น้อยกว่า 5 ปี และอายุครบ 55 ปี จึงจะสามารถขายได้
7. กองทุนสํารองเลี้ยงชีพ / กบข. /กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง โดยมีจำนวนสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท ซึ่งเราสามารถสะสมเพิ่มได้โดยขอเปลี่ยน % ที่กำหนดกับนายจ้างไว้รวมถึงเลือกแผนการลงทุนได้ตามใจของเราที่ต้องการ (ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละกองทุน)
8. กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ตามที่จ่ายจริงแต่สูงสุดไม่เกินจำนวน 13,200 บาท อันนี้เป็นกองทุนอีกรูปแบบหนึ่งที่ภาครัฐกำหนดให้เพื่อเป็นช่องทางการออมขั้นพื้นฐานให้กับคนที่ยังไม่ได้มีการวางแผนจัดการเรื่องนี้ ให้ได้รับผลประโยชน์ในรูปแบบของบำนาญ ซึ่งปัจจุบันกำหนดให้ผู้มีเงินได้สามารถหักลดหย่อนเงินสะสมเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ในการคำนวณภาษีตามจำนวนที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 13,200 บาทครับ
9. กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) นำมาลดหย่อนได้ 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามที่จ่ายจริงและสูงสุดไม่เกินจำนวน 200,000 บาท โดยกองทุน SSF เป็นกองทุนรวมประเภทหนึ่งที่ลงทุนไว้ในสินทรัพย์หลากหลายประเภท ซึ่งมีวัตถุประสงค์ไว้ใช้ในการวางแผนลงทุนระยะยาวของเราครับ โดยกำหนดเงื่อนไขในการถือครองหลังจากซื้อไม่น้อยกว่า 10 ปี (เต็ม) และสามารถซื้อได้ตั้งแต่ปี 2563 – 2567
อย่าลืม!! อ่านตรงนี้ด้วยนะครับ เพราะสำคัญมาก สำหรับกลุ่มค่าลดหย่อน ประกันชีวิตและการลงทุน จะมีเงื่อนไขเพิ่มเติมสำหรับค่าลดหย่อนภาษีที่เป็นการวางแผนเกษียณครับ คือ ยอดรวมของ RMF + กบข./กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ/กองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน + กองทุนการออมแห่งชาติ + ประกันชีวิตแบบบำนาญ และ กองทุนรวม SSF (ปกติ) เมื่อรวมกันทั้งหมดแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาทด้วยครับ
ค่าลดหย่อนกลุ่มคุณรักพรรคการเมือง
สำหรับค่าลดหย่อนตัวนี้ พรี่หนอมขอแยกเขียนขึ้นมาเป็นรายการพิเศษละกันครับ เนื่องจากไม่รู้ว่าจะเอาไว้ในส่วนไหนดี ฮ่าๆ นั่นคือ เงินบริจาคให้แก่พรรคการเมืองครับผม
โดยเงินบริจาคตัวนี้มีที่มาจากมาตรา 70 ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ซึ่งกำหนดไว้ว่า ผู้บริจาคเงินแก่พรรคการเมืองมีสิทธินำจำนวนเงินที่บริจาคไปหักเป็นค่าลดหย่อนหรือรายจ่ายเพื่อการบริจาคตามที่กำหนดในประมวลรัษฎากรได้ตามจำนวนที่บริจาคแต่ไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทสำหรับบุคคลธรรมดา
นั่นแปลว่าต่อจากนี้ บุคคลธรรมดาที่มีการสนับสนุนพรรคการเมือง จะได้สิทธิเอามาใช้เป็นค่าลดหย่อนภาษี หรือ มาใช้เป็นรายจ่ายของธุรกิจได้ตามกฎหมาย นั่นเองครับ โดยนำมาลดหย่อนภาษีได้สูงสุดตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10,000 บาท
ดังนั้นใครที่มีพรรคการเมืองที่โดนใจ อยากสนับสนุนให้เขาไปต่อได้ ก็สามารถช่วยเหลือได้ผ่านช่องทางนี้ และได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมเช่นเดียวกันครับ
ค่าลดหย่อนกลุ่มเรื่องบริจาคตอบแทนสังคม
ตอนนี้มาอยู่กับค่าลดหย่อนกลุ่มสุดท้ายกันแล้วครับ นั่นคือ ค่าลดหย่อนเรื่องบริจาคตอบแทนสังคม หรือ เงินบริจาค โดยได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีผ่านมุมมองของการเป็นผู้ให้นั่นเองครับ พรี่หนอมมองว่าเรื่องนี้เป็นอีกมุมหนึ่งที่ดีสำหรับผู้ที่มีจิตเป็นกุศล อยากจะส่งผ่านสิ่งที่เรามีไปให้คนอื่น และการที่เราบริจาคแบบนี้ ภาครัฐเลยให้สิทธิในการลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมครับ

โดยกลุ่มนี้จะมีวิธีคำนวณการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีแตกต่างกันออกไปครับ เพราะเป็นกลุ่มสุดท้ายที่นำมาหักหลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนตัวอื่นๆแล้วครับ โดยจะได้สิทธิหักได้สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้สุทธิหลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนตัวอื่นๆทั้งหมดแล้วครับ
ดังนั้นจากที่เราเคยคำนวณภาษีแบบนี้
(รายได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี
เมื่อมีเงินบริจาคจะเปลี่ยนเป็นแบบนี้ครับ
[(รายได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน) – เงินบริจาค] x อัตราภาษี
โดยค่าลดหย่อนเกี่ยวกับการบริจาคนี้ จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ ส่วนที่ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า กับ 1 เท่า ครับ โดยมีรายละเอียดตามนี้ครับ
กลุ่มบริจาคแล้วลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า
สำหรับกลุ่มนี้จะประกอบด้วย เงินบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษา การกีฬา สถานพยาบาลรัฐ สถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และช่วยเหลือสังคม รวมถึงการบริจาคให้กับสภากาชาดไทย (ตรงนี้ต้องคอยอัพเดทกฎหมายนะครับ เพราะอาจจะมีวิธีการใหม่ ๆ ที่ให้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีเพิ่มเติม เช่น ผ่านระบบ e- donation ของทางสรรพากร หรือรายชื่อผู้บริจาคใหม่ ๆ เกิดขึ้นได้)
โดยทั้งหมดนี้สามารถหักลดหย่อนได้ 2 เท่าของเงินที่ได้จ่ายไปจริง แต่ต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่นๆ อย่างที่ว่าไว้ตามหลักการข้างต้นครับ
โดยสามารถตรวจสอบได้ที่เวปไซด์กรมสรรพากร จากรายชื่อ สถานศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการประกาศกำหนด หรือ รายชื่อสถานพยาบาลที่มีสิทธิหักลดหย่อนได้ และ รายชื่อหน่วยงานกีฬาที่เกี่ยวข้อง ครับ
กลุ่มบริจาคลดหย่อนภาษีตามปกติ
สำหรับกลุ่มเงินบริจาคทั่วไปสามารถหักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้พึงประเมินที่เหลือหลังหักค่าใช้จ่ายค่าลดหย่อนและเงินบริจาคในกลุ่มที่เป็น 2 เท่าแล้วครับ
โดยคำว่าเงินบริจาคทั่วไป จะเป็นเงินที่เราบริจาคให้แก่วัดวาอาราม สภากาชาดไทย สถานพยาบาล สถานศึกษา ต่างๆ รวมถึงมูลนิธิที่เป็นองค์กรสาธารณกุศล ซึ่งสามารถตรวจสอบรายชื่อได้จากรายชื่อ องค์กรสาธารณกุศล ที่เวปไซด์กรมสรรพากรได้เลยครับ
บทสรุป
ทั้งหมดนี้คือรายการค่าลดหย่อนภาษี 2565 ที่เราทุกคนควรรู้ครับ แต่อย่างไรก็ดีตามพรี่หนอมมองว่าในการวางแผนและจัดการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ดีนั้น เราควรถามวัตถุประสงค์ของการใช้ชีวิตก่อนว่า จริงๆ แล้วเราต้องการอะไรในชีวิตกันแน่ หลังจากนั้นค่อยแนะนำไล่เรียงไปตามความสำคัญของสิ่งที่เราต้องการ แล้วค่อยมองหาสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่จะช่วยเราได้อีกทอดหนึ่งครับ
เพราะไม่ว่าเราจะเลือกรายการลดหย่อนภาษีแบบไหน มันก็สามารถช่วยลดภาษีได้เหมือนกัน แต่สิ่งที่ทำให้ต่างมันคือวัตถุประสงค์ที่เราได้รับนอกเหนือจากการลดหย่อนภาษีมากกว่าครับ
สุดท้ายแล้ว หวังว่ารายการค่าลดหย่อนทั้งหมดนี้ที่พรี่หนอมสรุปมานี้จะเป็นประโยชน์กับทุกคนในการวางแผนจัดการภาษีประจำปี เพื่อให้จำนวนเงินภาษีที่เราจ่ายลดลง พร้อมกับความมั่นคงของเงินในกระเป๋าที่มีเพิ่มขึ้นไปพร้อมกันครับ
เพราะนั่นคือสิ่งที่กำลังบอกว่า
TAXBugnoms
เราเข้าใจวิธีการบริหารจัดการเงินและภาษีอย่างแท้จริง