วิธียื่นขอคืนภาษีเงินปันผล (ปี 2564) ผ่านระบบ New e-Filing

ขอคืนภาษีเงินปันผล

ได้รับเงินปันผลต้องขอคืนภาษีไหม?

คำถามนี้ถูกถามบ่อยมาก ๆ เวลาเข้าสู่ฤดูกาลยื่นภาษีครับ

สำหรับคนที่ได้รับเงินปันผลจากหุ้นและกองทุน มักจะมีคำถามว่าควร ขอคืนภาษีเงินปันผล ดีไหม? บทความนี้จะมาสรุปทุกอย่างที่ต้องรู้สำหรับคนที่ได้รับเงินปันผลมาฝากกันครับ

Advertisements

หลักการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ก่อนจะไปยื่นแบบแสดงรายการขอคืนภาษีเงินปันผล ขออนุญาตอธิบายหลักการของ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ก่อนครับ โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก คือ ความสัมพันธ์ของภาษี กับ ส่วนที่สอง คือ วิธีการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ความสัมพันธ์ของภาษีเงินได้

ภาษีเงินได้ที่ต้องจ่ายหรือขอคืน ส่วนของความสัมพันธ์ที่เราต้องรู้ในการยื่นภาษีออนไลน์ประจำปี
Advertisements

โดยแต่ละตัวมีความหมายดังนี้ครับ

Advertisements
  • ภาษีสิ้นปี หรือ ภาษีเงินได้ปลายปี หรือ ภาษีเงินได้ประจำปี หมายถึง ภาษีบุคคลธรรมดาที่คำนวณจากรายได้ทุกประเภทตั้งแต่เดือน มกราคม – ธันวาคม ของทุกปี และเรามีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษี (ภ.ง.ด. 90 หรือ 91) ภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไป
  • ภาษีครึ่งปี หมายถึง ภาษีบุคคลธรรมดาที่คำนวณจากรายได้ประเภทที่ 5 – 8 ตั้งแต่เดือน มกราคม – มิถุนายน ของทุกปี และเรามีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษี (ภ.ง.ด. 94) ภายในเดือนกันยายนของปีเดียวกัน
  • ภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย หมายถึง ภาษีที่ผู้มีเงินได้โดนคนจ่ายเงินหักล่วงหน้าและนำส่งให้กับสรรพากรไว้ โดยที่เรา (ผู้รับเงิน) มีหน้าที่เก็บหลักฐานการหักภาษี ณ ที่จ่ายที่เกิดขึ้นในแต่ละปีมารวบรวมไว้พร้อมกับยื่นภาษีเงินได้ให้ถูกต้องต่อไปครับ
วิธีคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

โดยวิธีการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้นจะมี 2 วิธี คือ วิธีเงินได้พึงประเมิน และ วิธีเงินได้สุทธิ ซึ่งเราต้องเสียภาษีจากวิธีที่คำนวณได้มากกว่า ซึ่งโดยปกติแล้ววิธีเงินได้สุทธิจะคำนวณภาษีได้มากกว่าครับ ดังนั้นสิ่งที่เราต้องรู้ในการคำนวณ จะมีอยู่ 3 ประเด็น คือ

โดยกฎหมายได้กำหนดให้เงินปันผลถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 4 ตามมาตรา 40(4)(ข) ดังนี้ครับ

(ข) เงินปันผล เงินส่วนแบ่งของกำไร หรือประโยชน์อื่นใดที่ได้จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือสถาบันการเงินที่มีกฎหมายโดยเฉพาะของประเทศไทยจัดตั้งขึ้นสำหรับให้กู้ยืมเงิน เพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม พาณิชยกรรม หรืออุตสาหกรรม เงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรที่อยู่ในบังคับ ต้องถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่าย ตามกฎหมายว่าด้วยภาษีเงินได้ปิโตรเลียมเฉพาะส่วนที่เหลือจากถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่ายตามกฎหมายดังกล่าว

Advertisements

อย่างไรก็ตาม เงินปันผลที่เราได้รับนั้นจะถูกหักภาษี (ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย) ไว้ในอัตราที่กฎหมายกำหนด คือ 10% ครับ ซึ่งเราสามารถใช้สิทธิ์ที่เรียกว่า Final TAX ได้ครับ

Final TAX คืออะไร?

ถ้าให้พูดง่าย ๆ Final TAX คือ “เงินได้ที่มีการเสียภาษีสุดท้าย” โดยเรามีสิทธิ์ในการเลือกเสียภาษีโดยถูกหัก ณ ที่จ่ายไว้แล้วจบ แต่ถ้าไม่อยากจบก็เอามายื่นภาษีได้เหมือนกันครับ (ผู้เสียภาษีสามารถเลือกทางใดทางหนึ่ง) ซึ่งถ้าหากในมุมของนักลงทุนแล้ว รายได้ที่สามารถเลือกได้จะมีอยู่ 2 ตัวครับ คือ ดอกเบี้ย และ เงินปันผล

และเมื่อ ดอกเบี้ย และ เงินปันผล ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ตามที่ว่ามาแล้ว ผู้เสียภาษีอย่างเราจะมีทางเลือกทั้งหมด 4 ทางดังนี้ครับ

  • เลือกหัก ณ ที่จ่ายแล้วจบทั้ง 2 ประเภท ไม่นำมายื่นภาษีท้้งคู่
  • เลือกยื่นรายได้ ดอกเบี้ย (นำมารวมคำนวณภาษี) แต่ไม่ยื่น เงินปันผล (หัก ณ ที่จ่าย)
  • เลือกยื่นรายได้ เงินปันผล (นำมารวมคำนวณภาษี) แต่ไม่ยื่นดอกเบี้ย (หัก ณ ที่จ่าย)
  • นำทั้งคู่มาเลือกยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (รวมคำนวณภาษี)

สำหรับใครที่สนใจรายละเอียดเรื่องนี้ ทั้งในส่วนของดอกเบี้ยและเงินปันผล สามารถดูคลิปที่ผมพูดถึงเรื่องทางเลือกในการยื่นภาษีเพิ่มเติมได้ที่คลิปนี้ครับ

Advertisements

ข้อควรระวังในการยื่นขอคืนภาษี

หากจะเลือกยื่นรายได้ตัวไหน ต้องเอามายื่นทั้งหมด

หลักการสำคัญก็คือถ้าจะยื่นรายได้ตัวไหน ต้องเอารายได้ประเภทเดียวกันทั้งหมดมายื่น โดยไม่สามารถเลือกยื่นเฉพาะที่เราได้ประโยชน์ เช่น ดอกเบี้ย ก็ต้องไปเอามาให้ครบทุกประเภท (ที่เสียภาษี) หรือ เงินปันผล ก็ต้องนำมารวมทั้งหมดไม่ว่าจะหุ้นหรือกองทุนรวมครับ

เงินปันผลที่เครดิตภาษีได้มีแต่หุ้นเท่านั้น

สำหรับการขอคืนภาษีเงินปันผล นั้น จะใช้สิทธิที่เรียกว่า เครดิตภาษีเงินปันผล ได้เฉพาะหุ้นเท่านั้นครับ โดยเงินปันผลในส่วนของกองทุน ไม่สามารถใช้สิทธิ์เครดิตภาษีเงินปันผลได้ครับ เนื่องจากกองทุนรวมไม่ได้เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรสุทธินั่นเองครับ

สำหรับคนที่ไม่เข้าใจเรื่องเครดิตภาษีเงินปันผล สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่บทความ เครดิตภาษีเงินปันผล : เงินปันผลจากหุ้นและวิธีการจัดการภาษี หรือดูคลิปสรุปที่ด้านล่างนี้ได้เลยครับ

เอาล่ะครับ มาถึงตรงนี้ ขอสรุปอีกทีว่า สำหรับกรณีได้เงินปันผลหุ้น หรือ กองทุนรวม ถ้าหากจะนำมายื่นภาษี เราต้องนำมายื่นทั้งคู่ ไม่สามารถเลือกที่จะยื่นตัวใดตัวหนึ่งได้ ดังที่สรุปไว้ในรูปด้านล่างนี้ครับ

ขอคืนภาษีเงินปันผล และความแตกต่างระหว่างเงินปันผลหุ้นกับเงินปันผลกองทุนรวม

และถ้าเข้าใจทั้งหมดนี้แล้ว เราจะมาดูวิธีการยื่นภาษีเงินได้เพื่อขอคืนภาษีเงินปันผลกันครับ

วิธียื่นภาษีเงินปันผล

สำหรับใครที่ยังไม่เคย ยื่นภาษี ผมแนะนำให้อ่านบทความ สรุปครบ! วิธียื่นภาษีออนไลน์ (ภ.ง.ด.90 / 91) ปี 2564 (ยื่นในปี 2565) ผ่านระบบ New e-filing เสียก่อนครับ แล้วหลังจากนั้นให้เข้ามาที่ระบบการยื่นภาษีของกรมสรรพากรที่หน้า “รายได้” ดังนี้ครับ

วาร์ปมาที่หน้ารายได้จากการลงทุน ให้เลือก เงินปันผล ส่วนแบ่งกำไรจากหุ้น/กองทุนตามมาตรา 40(4)(ข) แล้วกดปุ่ม ระบุข้อมูล เข้าไปอีกทีเพื่อเข้าสู่หน้าจอการกรอกรายการครับ

เมื่อเข้ามาที่หน้าระบุข้อมูลเงินปันผล เราจะมีทางเลือกสองวิธี คือ

  1. อัพโหลดไฟล์จากทาง TSD เข้าไปที่ระบบของกรมสรรพากรเพื่อให้เราไม่ต้องกรอกรายการเอง
  2. กรอกเองแบบทั้งหมด โดยรวบรวมมาจากใบหักภาษี ณ ที่จ่ายเงินปันผลที่เราได้รับมาตลอดทั้งปี

ถ้าอยากได้ทางลัดแบบง่าย ๆ ให้เลือกทางเลือกแรกครับ โดยผมแนะนำให้เข้าไปที่ www.set.or.th แล้วเข้า เมนู มุมนักลงทุน และเลือกเมนู Investor Portal ได้เลยครับ ซึ่งถ้าหากใครเคยสมัครแล้วให้เข้าสู่ระบบ แต่ถ้ายังไม่เคย แนะนำสมัครสมาชิกใหม่ก่อนนะครับ หลังจากนั้นให้เข้าสู่เมนูและเลือก ไฟล์ยื่นภาษี

ตรงนี้จะมีทางเลือกให้เราสองทาง ระหว่าง ส่งไฟล์ข้อมูลหาที่กรมสรรพากรได้เลย หรือ ดาวน์โหลดไฟล์ยื่นภาษี (.enc) มาเพื่ออัพโหลดในระบบ New e-filing ครับ

ถ้าใครเลือกยิงตรง กลับมาดูที่กรอกข้อมูลในระบบยื่นภาษี จะเห็นว่ามีเมนูนี้โผล่ขึ้นมา (รูปด้านซ้าย) เราสามารถเชื่อมโยงข้อมูลได้เลยโดยไม่ต้องอัพโหลดไฟล์ด้วยตัวเอง เพราะจะลิงค์มาโดยตรงเลยครับ แต่ถ้าใครดาวน์โหลดไฟล์มาจาก TSD ก็จะมีเมนูอัพโหลดไฟล์ขึ้นมาให้เราสามารถเลือกไฟล์ที่เราได้มา (.enc) แล้วเลือกอัพโหลดเข้าที่ระบบได้เหมือนกันครับ


ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด ไฟล์ยื่นภาษีจะทำหน้าที่ของมันโดยสมบูรณ์ โดยขึ้นข้อมูลเงินปันผลทั้งหมดมาให้กับเราทันทีครับ แต่อย่างไรก็ตาม เงินปันผลที่มาในระบบนี้ จะมาแค่จาก หุ้น หรือ กองทุนที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์เท่านั้น สำหรับคนที่ได้เงินปันผลจากกองทุนรวมตาม บลจ. หรือเงินปันผลจากหุ้นนอกตลาดต้องกรอกข้อมูลเพิ่มเข้าไปเองนะครับ

ถ้ากรอกข้อมูลส่วนของเงินปันผลเสร็จแล้ว ก็ตรวจสอบข้อมูลทั้งหมดให้ครบ รวมถึงกรอกข้อมูลรายได้อื่น (ถ้ามี) และค่าลดหย่อนทั้งหมดให้ถูกต้องตามเงื่อนไขครับ ก็เป็นอันจบการยื่นแบบแล้วล่ะครับ

สรุป

สำหรับคนที่ดูตัวอย่างแล้วยังงง ๆ ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไรดี ผมยังมีคลิปที่ทำขึ้นมาเป็นขั้นตอนในการยื่นเพื่อขอคืนภาษีดอกเบี้ยและเงินปันผลด้วยตัวเองมาฝากกันครับ เลยขอแนะนำเพิ่มเติมไว้ตรงนี้ เผื่อว่าจะมีประโยชน์ในการยื่นภาษีประจำปีนี้ครับผม

สุดท้ายสิ่งที่อยากฝากไว้ คือ การเลือกใช้สิทธิ์ขอคืนภาษีเงินปันผล ต้องคิดและคำนวณให้ดี โดยลองตรวจสอบให้ชัดเจนก่อนว่า เมื่อรวมเงินได้ทุกประเภทที่เราต้องนำมารวมคำนวณภาษีแล้ว การใช้สิทธิ์เครดิตภาษีเงินปันผลและภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่ว่านี้ยังคุ้มค่าหรือเปล่า เพราะถ้าหากไม่คุ้มค่า บางทีแล้วการเลือกให้หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้แล้วจบอย่าง Final TAX นั้น…

อาจจะเป็นทางเลือกที่สะดวกและประหยัดเวลามากกว่าครับ

TAXBugnoms

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Allow