เจ้าของธุรกิจไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายอีกต่อไป เพราะคนที่ทำให้คือธนาคาร
ประโยคนี้กลายเป็นความจริงในที่สุด
ระบบ e-Withholding Tax หรือชื่อภาษาไทย คือ ระบบภาษีหัก ณ ที่จ่าย อิเล็กทรอนิกส์ นั้น ถือเป็นส่วนหนึ่งใน โครงการยุทธศาสตร์ National e-Payment โครงการที่ 3 ที่มีชื่อว่า ระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงระบบการหักภาษี ณ ที่จ่ายเดิม ที่เป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการให้กลายเป็นหน้าที่ของธนาคารหรือสถาบันการเงินแทน

โดยระบบนี้เป็นอีกระบบหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงจากการจัดการ ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย แบบเดิม ให้เป็นระบบใหม่ที่ช่วยให้ลดภาระ หน้าที่ และต้นทุนของผู้ประกอบการลงไป แต่จะเป็นอย่างไรนั้น เรามาดูรายละเอียดกันเลยดีกว่าครับ
e-Withholding TAX คืออะไร?
e-Withholding Tax หรือ ระบบภาษีหัก ณ ที่จ่าย อิเล็กทรอนิกส์ (ชื่อย่อ e-WHT) คือ ระบบการหักภาษี ณ ที่จ่ายที่มีการดำเนินการหักและนำส่งผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคารโดยตรง เพื่อลดภาระของผู้ประกอบการในการหักภาษี ณ ที่จ่ายลง
โดยกำหนดให้ ผู้จ่ายเงินได้ ที่ต้องหักภาษีนั้นทำหน้าที่แจ้งธนาคารให้ทราบ เพื่อให้ธนาคารทำหน้าที่หักภาษี นำส่ง และจัดทำเอกสารที่เกี่ยวข้องแทนทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย หรือ แบบแสดงรายการภาษีที่ต้องนำส่งให้กับกรมสรรพากร ซึ่งเป็นวิธีที่ได้รับมาตรฐานความปลอดภัยในระบบสากล

เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้นถึงความแตกต่างระหว่างระบบใหม่กับระบบเดิม ลองมาดูตัวอย่างกันครับ
สมมติว่า บริษัท TAXBugnoms จำกัด ได้ทำการจ่ายค่าเช่าให้กับนายบักหนอมเป็นจำนวนเงิน 10,000 บาท จากรายการทั้งหมดที่เกิดขึ้นนี้ หากเป็นการหักภาษี ณ ที่จ่ายในระบบเดิมทางฝั่งผู้ประกอบการที่เป็นผู้จ่ายเงิน (บริษัท TAXBugnoms) จะต้องทำหน้าที่ดังต่อไปนี้
- ทำเอกสารประกอบการจ่ายค่าเช่าจำนวน 10,000 บาท
- ตรวจสอบดูว่าต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ในอัตราที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ ซึ่งกฎหมายกำหนดไว้ในข้อ 6 ของ ทป. 4/2528 ว่า ต้องหักในอัตรา 5% ดังนี้
กรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น ซึ่งเป็นผู้จ่ายค่าเช่าหรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้เนื่องจากการให้เช่าทรัพย์สิน ตามมาตรา 40(5)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร แต่ไม่รวมถึงค่าแห่งอาคารหรือโรงเรือนที่ได้รับกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้รับซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย โดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 5.0
- จัดทำเอกสารหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย
- โอนเงิน จ่ายเงินสด หรือเช็ค ให้กับนายบักหนอมจำนวน 9,500 บาท
- จัดทำแบบแสดงรายการนำส่งภาษีเงินได้หักภาษี ณ ที่จ่าย (ภ.ง.ด. 3)
- นำส่งแบบ พร้อมชำระภาษีจำนวน 500 บาทให้กับกรมสรรพากร
แต่ถ้าหากเปลี่ยนมาใช้ระบบ e-WHT สิ่งที่ผู้จ่ายเงินอย่างบริษัท TAXBugnoms ต้องทำจะมีดังนี้ครับ
- ทำเอกสารประกอบการจ่ายค่าเช่าจำนวน 10,000 บาท
- แจ้งธนาคารที่ให้บริการระบบนี้ ทำหน้าที่ หักภาษี ณ ที่จ่ายแทน นำส่งเอกสารหลักฐาน โอนเงินให้กับนายบักหนอม พร้อมกับนำส่งแบบแสดงรายการภาษีให้กับสรรพากร

จากตัวอย่างตรงนี้ น่าจะพอทำให้เราเห็นความแตกต่างมากขึ้นว่า ระบบนี้สามารถช่วยเหลืออะไรผู้ประกอบการได้บ้าง ? ซึ่งในปัจจุบันมีสถาบันการเงินหรือธนาคารต่อไปนี้เป็นผู้ให้บริการระบบนี้ คือ …
ผู้ให้บริการระบบ e-Withholding TAX มีใครบ้าง
จากข้อมูล ณ วันที่ 27 ตุลาคม 2563 ที่กรมสรรพากรได้จัดงานเปิดตัวระบบ e-Withholding Tax ที่เดียวครบจบทุกขั้นตอน พบว่าสถาบันการเงินที่พร้อมให้บริการแล้ว 9 แห่งดังนี้ครับ
- ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาช้น)
- ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
- ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารมิซูโฮ จำกัด สาขากรุงเทพ
- ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น
- ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด
และยังมีสถาบันการเงินที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบระบบ 2 แห่ง (ที่จะพร้อมใช้งานในเร็ว ๆ นี้)
- ธนาคารทหารไทยและธนาคารธนชาต
- ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาขน)

โดยการขอรับบริการนั้น สามารถติดต่อกับทางธนาคารได้โดยตรงเลยครับว่า เราต้องการใช้บริการอะไรบ้าง ซึ่งแต่ละธนาคารก็จะมีค่าธรรมเนียมในการให้บริการแตกต่างกันออกไป โดยเงื่อนไขการให้บริการและค่าธรรมเนียมนั้นจะขึ้นอยู่กับการกำหนดของแต่ละธนาคาร ไม่เกี่ยวข้องกับกรมสรรพากรแต่อย่างใดครับ
และต้องขอย้ำอีกทีว่า การเปลี่ยนมาใช้ระบบนี้ ยังสามารถหักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่งได้ตามระบบเดิมได้ตามปกติครับ ซึ่งผมอยากให้มองว่านี่เป็นอีกช่องทางในการนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่สามารถใช้เป็นทางเลือกมากกว่าครับ
อย่างไรก็ดี ผมคงต้องบอกตรง ๆ ว่าการเริ่มใช้งานระบบหักภาษี ณ ที่จ่ายแบบอิเล็กทรอนิกส์นี้ อาจไม่จำเป็นต้องมีการลงทุนหรือพัฒนาระบบเหมือนกับระบบ E-TAX Invoice เพียงแค่ถ้าใครต้องการใช้ ก็สามารถติดต่อธนาคารผู้ให้บริการได้เลยครับ โดยเมื่อตัดสินใจใช้ระบบแล้ว ต้องมีการดำเนินการดังต่อไปนี้ครับ
- ทางฝั่งของผู้จ่ายเงินจะส่งข้อมูลและเงินให้กับทางธนาคาร
- เมื่อธนาคารได้รับเงินแล้ว จะออกหลักฐานเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่ผู้จ่ายเงินและผู้รับเงิน
- หลังจากนั้น ธนาคารโอนเงินหลังหักภาษีให้แก่ผู้รับเงิน และนำส่งข้อมูลพร้อมกับภาษีที่หักไว้ให้กรมสรรพากรภายใน 4 วันทำการถัดจากวันที่สถาบันการเงินได้รับเงิน
- กรมสรรพากรจะออกใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่ผู้จ่ายเงิน และถือว่าการเสียภาษีนั้นสมบูรณ์ ซึ่งผู้จ่ายเงินสามารถตรวจสอบข้อมูลรายการหัก ณ ที่จ่ายได้ที่เว็บไซต์ของกรมสรรพากร (www.rd.go.th) ภายใน 4 วันทำการ หลังจากที่สถาบันการเงินได้รับเงินจากผู้จ่ายเงิน
จากข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า ทุกครั้งที่มีการทำธุรกรรมกับธนาคารผู้ให้บริการ ผู้จ่ายเงินและผู้รับเงินจะได้รับหลักฐานการทำรายการจากธนาคาร ซึ่งจะระบุเลขอ้างอิงไว้ โดยสามารถนำเลขอ้างอิงมาตรวจสอบในเว็บไซต์ระบบ e-Withholding Tax ได้ โดยใช้รหัสผู้ใช้และรหัสผ่าน e-Filing (ระยะเวลาการตรวจสอบจะเป็น T+ 6)
หากใครต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้ สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ epay.rd.go.th ครับ

e-WHT ไม่ใช่แค่หักภาษี ณ ที่จ่ายเพียงอย่างเดียว
เมื่อพูดถึงบริการ e-Withholding Tax หลายคนอาจจะนึกถึงว่าเป็นการบริการหักภาษี ณ ที่จ่ายสำหรับในประเทศเพียงอย่างเดียว แต่จริงๆ แล้วระบบนี้สามารถนำส่งได้ทั้งการจ่ายเงินให้กับผู้รับเงินทั้งในและต่างประเทศ และยังรวมถึงภาษีมูลค่าเพิ่มอีกด้วยครับ โดยในปัจจุบันบริการที่มีนั้น จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
- ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เมื่อมีการจ่ายเงินได้ให้แก่ผู้รับเงินทั้งในประเทศและต่างประเทศ (ตามมาตรา 52 มาตรา 70 และมาตรา 70 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร)
- ภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อมีการชำระค่าสินค้าหรือบริการให้แก่ผู้ประกอบการในต่างประเทศ (ตามมาตรา 83/5 และมาตรา 83/6 แห่งประมวลรัษฎากร)
มาถึงตรงนี้แล้ว หลายคนคงจะเริ่มสนใจระบบนี้แล้วใช่ไหมครับ และผมเชื่อว่าคงจะเกิดคำถามตามมาด้วยว่า เราควรจะเลือกใช้บริการแบบไหนยังไงดี ดังนั้นสิ่งที่ผมอยากชวนให้พิจารณาต่อคือ ต้นทุนและความคุ้มค่าในการใช้งาน ซึ่งพิจารณาจากหลักการ 3 ข้อดังนี้ครับ
เมื่อไรควรเปลี่ยนจากระบบเดิมมาใช้ระบบนี้
สิ่งที่เราใช้พิจารณานั้น คงจะหนีไม่พ้นเรื่องของต้นทุนที่เสียไป กับ ประโยชน์ที่ได้รับ ซึ่งลำดับของการตั้งคำถามในเรื่องนี้ โดยส่วนตัวแล้วผมจะไล่เรียงตามแนวทางดังนี้ครับ
ต้นทุนในการใช้บริการที่เพิ่มขึ้น เปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายที่เราประหยัดได้
เราคงปฎิเสธไม่ได้ครับว่า ระบบแบบใหม่นั้นอำนวยความสะดวกได้มากกว่าการหักภาษี ณ ทีจ่ายแบบเดิม เพียงแต่ว่ามันย่อมมีค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นในการใช้บริการที่ธนาคารเรียกเก็บจากผู้จ่ายเงิน
อย่างไรก็ดี ตรงนี้ต้องประเมินความคุ้มค่าให้ดีครับว่า ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นกับต้นทุนที่ลดลง แบบไหนคุ้มค่ากว่า ซึ่งอย่าลืมคิดถึงต้นทุนด้านเวลาที่ต้องเสียไป ค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บเอกสารต่าง ๆ ด้วยนะครับ
ผลประโยชน์ทางภาษีที่ได้รับเพิ่มเติมจากการใช้ระบบนี้
อย่างที่ทราบกันดีกว่า หากมีการเปลี่ยนมาใช้ระบบ e-WHT แล้วจะได้รับสิทธิ์ในการลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายให้กับผู้รับเงินในกรณีที่ต้องหัก 3% เหลือ 2% จนถึงสิ้นปี 2564 ซึ่งมองเป็นแง่ดีของโอกาสการสร้างธุรกิจกับผู้รับเงินกับเราอีกทางหนึ่ง รวมถึงเป็นการแสดงให้เห็นถึงการปรับตัวเปลี่ยนแปลงเข้าระบบ ซึ่งอาจจะมีผลต่อการประเมินเกณฑ์ความเสี่ยงต่างๆ ของกรมสรรพากรในอนาคตได้เช่นเดียวกันครับ
แนวทางและเทรนด์ในระยะยาวของธุรกิจ
สิ่งที่เราต้องมองกันจริง ๆ คือ เรามองภาพธุรกิจกับเทคโนโลยีแบบไหน ธุรกิจของเราจะก้าวเข้าสู่ของเทคโนโลยีได้มากเท่าไร และในแนวโน้มมันสร้างโอกาสและปัจจัยอื่น ๆ ให้กับเราได้หรือเปล่า ซึ่งถ้าหากคำตอบข้อสุดท้ายนี้คือ “ใช่” ผมคิดว่านี่เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ควรนำมาพิจารณาเช่นเดียวกันครับ เพราะมันจะเป็นตัวเร่งให้เราก้าวเข้าสู่ระบบใหม่ๆ ได้ง่ายขึ้นเช่นเดียวกัน
สรุป
มาถึงตรงนี้ หากเราตั้งคำถามว่า ระบบ e-Withholding Tax ดีกว่าระบบเดิมอย่างไร หากพูดในมุมของการใช้งานแล้ว เราจะเห็นว่ามันคือการลดขั้นตอนในการจัดทำเอกสารและการยื่นแบบแสดงรายการ รวมถึงช่วยลดต้นทุนในการจัดเก็บเอกสารและส่งเอกสารไปพร้อมๆกัน และสามารถตรวจสอบได้ผ่านระบบอินเตอร์เน็ตของกรมสรรพากรโดยตรง
แต่อย่างไรก็ดี ผมมองว่า สิ่งที่ผู้ประกอบการ หรือ ผู้จ่ายที่เงินได้ทุกคน ควรกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองก่อนที่จะตัดสินใจว่าจะใช้ระบบดีหรือไม่นั้น อาจจะเป็นคำถามสั้น ๆ ที่ต้องตอบได้อย่างชัดเจนว่า
“การเปลี่ยนแปลงมาใช้ระบบนี้
TAXBugnoms
ทำให้กำไรและโอกาสของธุรกิจเราเพิ่มขึ้นหรือลดลง”