รายได้ กำไร เงินสด
มิตรสหายนักธุรกิจท่านหนึ่งถามมา
สามอย่างนี้ แตกต่างกันยังไงครับพี่ครับ
รายได้ กำไร และ เงินสด สามเรื่องนี้ที่หลายคนมักสงสัย ว่ามันเป็นเรื่องเดียวกันหรือเปล่า และมักจะเป็นประเด็นที่เข้าใจผิดเสมอสำหรับคนที่ทำธุรกิจ เหตุผลเป็นเพราะอะไรนั้น เราลองมาดูกันครับ
ผมเคยทวิตเตอร์ใน @TAXBugnoms ถึงประเด็นนี้ไว้สั้น ๆ เพราะต้องการอธิบายว่าเรื่องทั้งหมดนี้ แม้ว่ามันเป็นคนละเรื่องแต่มีความเชื่อมโยงกันครับ โดยบทความในตอนนี้เลยอยากชวนทุกคนมาทำความรู้จักกันทีละตัว และ พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่าง 3 ตัวนี้อย่างละเอียด พร้อมกับเชื่อมเนื้อหาไปยังภาษีที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ด้วยครับ
รายได้ กำไร และ เงินสด
สมมติว่า นายบักหนอมอยากทำธุรกิจขายของออนไลน์ อารมณ์แบบซื้อของมาขายไปกันแบบง่าย ๆ โดยรายการแรกที่นายบักหนอมทำคือ ซื้อของมา 100,000 บาท แล้วขายทั้งหมดไปในราคา 150,000 บาท
ถ้าถามว่าจากเหตุการณ์นี้ นายบักหนอมจะมี รายได้ กำไร และ เงินสดเท่าไร เราจะตอบได้ว่า…
- รายได้ คือ 150,000 บาท
- กำไร คือ 150,000 – 100,000 = 50,000 บาท
- ส่วน เงินสด คือเท่าไร อันนี้อาจจะได้คำตอบที่ไม่ตรงกันละครับ

บางคนจะตอบทันทีว่าเหลือเงินสด 50,000 บาท แต่จริง ๆ อาจจะไม่ใช่แบบนั้นก็ได้ครับ เพราะว่า
- เงินสดอาจจะเป็น 150,000 บาท(ถ้าเป็นการซื้อเงินเชื่อ หรือ ซื้อขายคนละวัน)
- เงินสดอาจจะยังไม่มีก็ได้ (ถ้าเป็นการขายลูกค้าแบบให้เครดิต)
- เงินสดอาจจะติดลบ 100,000 บาทก็ได้ (ถ้าซื้อเงินสดและขายในวันเดียวกัน)
มาถึงตรงนี้ หลายคนคงเห็นความสำคัญ ของการจัดการเงินสดแล้วใช่ไหมครับ ว่ามันมีอะไรมากกว่าเรื่องของแค่การหารายได้ และ นอกจากตัวเลขของกำไร แต่ยังไม่จบครับ ผมอยากชวนคุยต่ออีกสักนิด
สมมติว่าเงิน 100,000 บาทที่นายบักหนอมเอาไปซื้อของนั้น จริง ๆ มันเป็นเงินเมีย ที่นายบักหนอมยืมมาเพื่อซื้อของก่อน แล้วค่อยคืนให้เมื่อขายและเก็บเงินจากลูกค้าได้
แบบนี้จะเท่ากับว่าในมุมของเงินสด นายบักหนอมจะยังไม่ได้อะไรที่เป็นเงินของตัวเองเลย จนกว่าจะเก็บเงินจากลูกค้าและจ่ายคืนเจ้าหนี้ (เมีย) จำนวน100,000 บาทเรียบร้อย ถึงจะเหลือเงิน 50,000 บาทไปใช้หมุนเวียนต่อไป
นั่นแปลว่าเงินสดมันจะลามไปถึง การบริหารจัดการหนี้สินอีกด้วยครับ และถ้าหากไม่ใช่การกู้เงินเมีย แต่เป็นการกู้ธนาคาร หรือ สถาบันการเงิน ก็แปลว่าอาจจะต้องจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มเติม (ค่าใช้จ่าย) แม้ว่าจะเก็บเงินยังไม่ได้ก็ตาม
มาถึงตรงนี้ ผมเลยอยากแนะนำว่า ไม่ว่าจะเป็นตัวไหนก็ตาม เราจะเลือกดูตัวใดตัวหนึ่งไม่ได้ครับ แต่เราต้องเชื่อมโยงความเกี่ยวข้องของทุกตัวให้ได้ว่า
- รายได้ (ยอดขาย) ก่อนหักค่าใช้จ่ายว่ามันเป็นเท่าไร
- กำไร (หลังคำนวณแล้ว) มันเป็นเท่าไร มันได้เกินทุนที่ลงไป หรือ ขาดทุนไหม
- เงินสดคงเหลือเรามีไหม เราจะบริหารยังไงให้ธุรกิจมีเงินหมุนเวียนพอ
ธุรกิจหลายธุรกิจลืมมองความเชื่อมโยงพวกนี้ ทำให้ลืมคิดถึงเงินสดสำรองไว้สำหรับบริหาร เพราะมุ่งแต่ทำรายได้เพิ่ม ลดค่าใช้จ่ายเพื่อสร้างกำไร แต่ไม่ได้ใส่ใจกระแสเงินสดหมุนเวียนครับ
ยกตัวอย่างเช่น โควิดที่ผ่านมา เราจะเห็นว่า ธุรกิจร้านอาหารหลายร้าน ที่วางแผนเงินสดไม่ดีจะไปก่อนเลย เพราะรายได้ส่วนใหญ่เป็นเงินสด เมื่อเงินสดช็อตจากการไม่มีรายได้ ก็ไม่มีเงินจ่ายค่าใช้จ่ายที่เป็นเงินสดเหมือนกัน และบางทีไม่ใช่ขายไม่ได้นะครับ แต่ไม่สามารถเอาเงินมาหมุนเวียนไปซื้อของหรือจ่ายค่าแรง เพื่อให้ขายต่อได้ก็มี
หรือในทางกลับกัน ฟรีแลนซ์ คนทำธุรกิจบางคนก็จะพังได้เช่นเดียวกัน เพราะทำงานเสร็จแล้วแต่เก็บเงินไม่ได้ พอเก็บเงินไม่ได้ก็ทำงานฟรี ต้นทุนที่เสียไป ถ้าเบาหน่อยก็เวลาของเราที่จะไปหางานอื่นทำ แต่ถ้ามีการลงทุนหนักหน่อยก็ต้องแบกรับเข้าไปอีก
ดังนั้นสิ่งสำคัญพวกนี้มีความสัมพันธ์กันหมด ซึ่งเจ้าของธุรกิจต้องทำความเข้าใจเรื่องเหล่านี้ให้ดีครับ โดยเริ่มจากนิยามที่ถูกต้องเสียก่อน
นิยาม ความหมาย และสิ่งที่สำคัญที่สุด
ในการจัดการทั้ง 3 ตัวนี้
ถ้าให้พูดง่ายที่สุด โดยไม่ยึดติดกับการใช้ภาษาของนักบัญชี ผมอยากอธิบายความหมายของแต่ รายได้ กำไร และ เงินสด ดังนี้ครับ
รายได้ คือ สิ่งที่เราได้รับจากการทำธุรกิจของเราทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งการมีรายได้มาก ทำให้มีโอกาสที่ธุรกิจของเราจะมีกำไรและเงินสดมากยิ่งขึ้น
กำไร คือ รายได้ที่หักออกด้วยค่าใช้จ่าย แล้วยังมีค่าเป็นบวก (รายได้ มากกว่า ค่าใช้จ่าย) ซึ่งตรงข้ามกับ ขาดทุน (รายได้ น้อยกว่า ค่าใช้จ่าย) ซึ่งถ้าธุรกิจไหนมีกำไร ก็เป็นไปได้ค่อนข้างมากกว่าจะมีเงินสดมากขึ้น (หากสามารถเก็บเงินได้)
เงินสด คือ เงินทุนหมุนเวียนในกิจการ การมีเงินสดเยอะ อาจจะเกี่ยวข้องกับการที่เรามีรายได้และกำไรที่มากส่วนหนึ่ง หรือ อาจเกี่ยวกับการจัดการหมุนเวียนที่ดี หรือ การกู้ยืมเงินมาเพื่อใช้ในธุรกิจก็ได้
ดังนั้น สรุปได้ว่า ถ้าธุรกิจมียอดขายดี มีกำไร (จ่ายค่าใช้จ่ายน้อย) เก็บเงินได้ครบ (จากลูกหนี้) เงินสดก็น่าจะเพิ่มขึ้นและหมุนเวียนที่ดีได้ครับ
แต่อย่างกรณีที่ว่ามา มันก็เป็นไปได้ว่า เงินสดที่มีอาจจะไม่ได้มาจากกำไรที่เพิ่มหรือยอดขายที่สูงเพียงอย่างเดียว เพราะ “เงินหมุนเวียน” อาจจะมาจากการขอสินเชื่อ เงินกู้ หรือเพิ่มทุนเพื่อใช้หมุนเวียนธุรกิจก็ได้เหมือนกัน
แต่ความย้อนแย้งมันก็ยังอยู่ตรงนี้ครับว่า ถ้าหากใครสักคนจะขอกู้เงินจากเรา เราจะดูอะไรเพื่อเป็นจุดตัดสินใจให้เขากู้ คำตอบก็น่าจะเป็น ความสามารถในการจ่ายเงินคืนพร้อมดอกเบี้ย ซึ่งก็ต้องย้อนกลับไปดู กำไร รายได้ รวมถึงโอกาสการเติบโตต่าง ๆ ในอนาคตประกอบกันอยู่ดีนั่นแหละครับ
มาถึงตรงนี้ หลายคนคงนึกสงสัยขึ้นมาว่า แล้วมันเกี่ยวกับเรื่อง ภาษี ตรงไหน คำตอบที่ผมให้ได้คือ มันเกี่ยวมากครับ โดยเริ่มต้นจากแนวคิดในการทำธุรกิจของเราครับ
ประเด็นภาษีที่เกี่ยวข้อง
เพื่อตัดสินใจในการจัดการการเงิน
คำถามแรกที่ผมอยากจะชวนคิดก็คือ ทุกวันนี้เราทำธุรกิจโดยการหวังผลให้ธุรกิจของเราเสีย ภาษีน้อยที่สุด หรือ มีกำไรมากที่สุด กันแน่
ถ้าหากเราเริ่มต้นด้วย การเสียภาษีที่น้อย สิ่งที่สัมพันธ์กับเรื่องนี้ อย่าง ภาษีเงินได้นิติบุคคล ก็อาจจะมีผลกระทบครับ เพราะหลักการคิดมาจากกำไรสุทธิ (ทางภาษี) ซึ่งแปลว่าธุรกิจจะต้องพยายามให้มีกำไรที่น้อย เพื่อที่จะได้เสียภาษีน้อย หรือหาสิทธิ์ประโยชน์ที่ช่วยให้ประหยัดภาษีมากที่สุด ไปจนถึงการเลือกที่จะหลบเลี่ยงภาษีหรือหากลเม็ดวิธีการต่าง ๆ
แต่คำถามคือ ถ้าเราเลือกแบบนี้ มันจะทำให้เรารู้ รายได้ และกำไร ที่เป็นตัวเลขที่แท้จริงของธุรกิจไหม ? ไปจนถึงถ้าหากพลาดมีโอกาสที่สรรพากรจะประเมินภาษีเราขึ้นมา เราจะรู้หรือไม่ว่าต้องจ่ายเงินสดเท่าไร และมันจะกระทบต่อเงินหมุนเวียนของธุรกิจมากแค่ไหน ซึ่งเป็นคำตอบที่ตอบได้ค่อนข้างยากครับ
ในขณะเดียวกัน ถ้าเรายอมเลือกที่จะวางโครงสร้างธุรกิจให้ชัดเจนไปเลย เพื่อใช้ตัวเลขในการประเมินและวางแผนในระยะยาว เพื่อเพิ่มรายได้ กำไร และ เงินสดให้มั่นคง แบบไหนจะดีกว่ากัน
ผมคิดว่าทางเลือกตรงนี้คือจุดที่เราต้องเอากลับมาตอบคำถามให้ดี เพื่อที่เราจะได้เลือกทางเดินอย่างถูกต้องครับ ซึ่งถ้าหากเราเลือกที่จะใช้ข้อมูลธุรกิจโดยเริ่มต้นฐานแบบนี้ เราจะจัดการประเด็นภาษีต่าง ๆ ได้ดังนี้ึครับ

ภาษีมูลค่าเพิ่ม กับ การตั้งราคาขาย
ย้อนกลับไปที่ตัวอย่างเดิมตอนแรกครับ ในกรณีที่เราซื้อของมา 100,000 บาท และขายทั้งหมดไปจำนวน 150,000 บาท นอกจากเรื่องรายได้แล้ว เราจะต้องพิจารณาเรื่องการตั้งราคาขายที่เกี่ยวข้องกับ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ด้วยครับ นั่นคือ
- ธุรกิจเราต้องจด VAT ไหม เพราะมีผลต่อการตั้งราคา เพราะการบวก 7% ในราคาขายนัันเป็นเรื่องที่จำเป็นมาก (ผลักภาระให้กับผู้บริโภค) เพราะมันจะไม่ทำให้กำไรเราลดลง เช่น จริงๆ เราต้องขาย 150,000 + 7% คิดเป็๋นราคารวม VAT คือ 160,500 บาท
- ถ้าหากการตั้งราคาแบบนี้ ลูกค้าไม่ยอม (มีการแข่งขันทางด้านราคา) เราก็ต้องกลับมาถามต่อว่า แล้วเราจะยอมขายในราคานี้ได้ไหม โดยให้ราคา 150,000 บาทคือราคารวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว ซึ่งก็จะมีผลทำให้ราคาสินค้าของเราที่ได้จริงเหลือเพียงแค่ 140,186.92 บาท (ราคาไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม – คำนวณโดยนำ 150,000 x 100/107)
คำตอบตรงนี้จะมีผลต่อเนื่องไปยังการคิดกำไร เพราะเมื่อรายได้เปลี่ยนไป กำไรของเราอาจจะลดลง แบบนี้เรารับได้หรือไม่ หรือเราควรจะพิจารณาไม่ขายสินค้านี้ดี เพราะว่าขายไปแล้วได้กำไรไม่คุ้ม หรือ ต้องมาคิดเรื่องการขายโปรโมชั่น ยอมขายสินค้าตัวนี้ได้กำไรน้อยหรือขาดทุน เพื่อขายสินค้าอื่นที่เรามีอำนาจในการขึ้นราคา ซึ่งเป็นเรื่องของกลยุทธ์ธุรกิจต่อไปครับ
ใครสนใจเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่ม สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่คลิปนี้ครับ
ภาษีเงินได้ กับ กำไร
นอกจากได้จากการตั้งราคาขาย (รายได้) แล้ว ค่าใช้จ่ายภาษีก็ต้องเอามาคิดต่อด้วยว่า ถ้าเราทำถูกต้องเราจะวางแผนภาษีอย่างไร ? เมื่อจ่ายภาษีเงินได้เรียบร้อยแล้วยังมีกำไรเหลืออยู่หรือเปล่า (กำไรหลังภาษีเงินได้) โดยคิดต่อไปว่า
- เราจะประหยัดค่าใช้จ่ายอะไรได้บ้างเพื่อให้กำไรธุรกิจมากขึ้น
- เราจะวางแผนภาษีโดยให้ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ไม่เพิ่มขึ้น (เช่น ต้นทุนในการวางแผนภาษี) ได้หรือไม่?
จากตัวอย่างเดิม สมมติว่า ถ้ายังสามารถรักษากำไรที่จำนวน 50,000 บาทได้อยู่ เราอาจจะต้องลองคิดต่อว่า ถ้าเสียภาษีเงินได้จากกำไรส่วนนี้ต้องเสียประมาณเท่าไรถึงจะยังพอใจกับตัวเลขอยู่ แล้วจึงค่อยวางแผนหาทางว่า สามารถลดภาษีจากสิทธิ์ประโยชน์อะไรได้บ้าง แบบนี้ก็เป็นอีกทางหนึ่งครับ
ใครสนใจเรื่องภาษีเงินได้นิติบุคคล สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่คลิปนี้ครับ
สำรองเงินไว้จ่ายภาษี กับ เงินสด
สำหรับการสำรองเงินสด ก็ต้องคิดถึงประเด็นของภาษีด้วยครับ แต่เป็นในมุมของการจ่ายเงินออกไป เช่น ขายของไปแล้ว ต้องออกใบกำกับภาษีที่มียอดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) แล้ว แต่ยังไม่สามารถเก็บเงินได้ ในเดือนต่อมา เราอาจจะต้องมีเงินในส่วนนี้ไปนำส่งให้สรรพากรก่อนนะ หรืออย่างภาษีเงินได้ก็เช่นเดียวกันครับ ธุรกิจมีหน้าที่ต้องสำรองเงินส่วนนี้เพิ่มเติม ทั้งในเรื่องของภาษีเงินได้ประจำปี และ ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เพื่อที่จะได้จ่ายภาษีให้ถูกต้องตามเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ครับ
บทสรุป
สุดท้ายแล้ว จะเห็นว่าความสัมพันธ์ทั้งหมดนี้มีตัวแปรที่เกี่ยวข้องกันหมด นั่นคือ การบริหารจัดการในมุมของการเงินและผลการดำเนินการของธุรกิจ โดยสิ่งที่เจ้าของธุรกิจหรือคนที่เสียภาษีอย่างเราควรทำ คือ ทำความเข้าใจมันอย่างถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นที่มาของรายได้ ผลตอบแทนจากกำไร และการบริหารเงินสดหมุนเวียนให้ดี
ถ้าเรามีข้อมูลในการตัดสินใจที่ดีแล้ว
TAXBugnoms
มันจะทำให้เราวางแผนภาษีได้ง่ายขึ้นครับ