พี่ครับ VAT คืออะไร ? ใช่การส่งเสียงดัง ๆ หรือเปล่า
อ่า.. นั่นมันเรียกว่าแว๊ดครับน้อง
เมื่อพูดถึง ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added TAX : VAT) ขี้นมาทีไร หลายคนมักจะเริ่มกลัวขึ้นมาทันที เพราะรู้สึกว่าเป็นภาษีที่เข้าแล้วออกยาก และดูเหมือนจะลำบากสำหรับผู้ประกอบการเสียจริง ๆ
แต่อย่าเพิ่งกลัวกันไปเลยครับ เพราะบทความนี้ผมจะชวนทุกคนมาทำความเข้าใจภาษีตัวนี้อย่างชัดเจน เพื่อให้ทุกคนรู้ตัวเองว่า เราต้องกลายเป็นผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ และถ้าคำตอบคือใช่ เราต้องจัดการแบบไหนยังไงดี
ภาษีมูลค่าเพิ่ม คืออะไร?
ถ้าให้พูดแบบง่ายที่สุด ภาษีมูลค่าเพิ่ม คือ ภาษีประเภทหนึ่งที่เก็บจากการขายสินค้าหรือบริการที่เข้าเงื่อนไข โดยปัจจุบันเก็บในอัตรา 7% ของราคาขายสินค้าหรือให้บริการ (ในประเทศ) และ 0% ในกรณีที่เป็นการส่งออก (ต่างประเทศ) นั่นเองครับ
ถ้าหากใครลองสังเกตรายจ่ายในทุกๆ วันของตัวเอง คงจะเคยเห็นคำว่า “ใบกำกับภาษี” อยู่ในเอกสารหรือหลักฐานที่ทางร้านค้าต่างๆ ส่งให้เมื่อเราจ่ายชำระเงิน และเจ้าใบกำกับภาษีที่ว่านี้จะมีตัวเลขบอกว่าเงินที่เราจ่ายไปนั้น มี “VAT” อยู่ในนั้นเป็นจำนวนเท่าไร (หมายเหตุ : แต่ในบางกรณีจะเป็นตัวเลขที่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว อันนี้จะเรียกว่า “ใบกำกับภาษีอย่างย่อ” นะครับ)

ตัวอย่างใบกำกับภาษี จาก FlowAccount.com
ยกตัวอย่างเช่น ซื้อสินค้าในราคา 1,000 บาท เราจะเห็นตัวเลขค่าสินค้าราคา 1,000 บาทและค่าภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 70 บาท รวมทั้งสิ้นที่ต้องจ่ายเป็น 1,070 บาทนั่นเองครับ
ใครเป็นผู้มีหน้าที่จ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม
ก่อนจะตอบคำถามนี้ได้ ต้องอธิบายด้วยคำว่า ภาษีทางอ้อม ครับ เนื่องจากภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นภาษีทางอ้อม ที่ทางผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม สามารถเลือกที่จะผลักภาระให้กับผู้บริโภคอย่างเราได้ จึงทำให้ผู้บริโภคมีหน้าที่ที่ต้องจ่าย ค่าสินค้าหรือบริการที่รวมภาษีไว้แล้ว
จากตัวอย่างข้างต้น จะเห็นว่าในกรณีของสินค้าราคา 1,000 บาท และมี VAT อีก 70 บาทนั้น ผู้บริโภคมีหน้าที่จ่ายทั้งหมด คือ 1,070 บาทครับ โดยผู้ขายหรือผู้ประกอบการนี่แหละครับที่มีหน้าที่เก็บแล้วนำไปส่งให้กับกรมสรรพากร
แต่อย่างไรก็ดี ถ้ามองในอีกมุมหนึ่ง กรณีที่เรียกเก็บภาษีได้ไม่ครบถ้วน หรือ มีข้อผิดพลาดในการจัดเก็บภาษีใด ๆ ก็ตาม ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบ คือ ผู้ประกอบการที่จด VAT นี่แหละครับ เพราะถือว่ามีหน้าที่เรียกเก็บแล้วแต่ไม่สามารถเก็บได้นั่นเองครับ
วิธีคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม
วิธีการคำนวณภาษีนั้น ใช้สูตรดังนี้ครับ
ภาษีที่ต้องชำระ (ขอคืน) = ภาษีขาย – ภาษีซื้อ
โดย ฐานภาษี คือ มูลค่าที่ได้รับจากการขายสินค้าหรือให้บริการ x อัตราภาษี (7%) ส่วน ภาษีซื้อ คือ ภาษีที่ผู้ประกอบการได้จ่ายให้กับผู้ขายสินค้า หรือผู้ให้บริการที่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน และ ภาษีขาย คือ ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการเรียกเก็บจากผู้ซื้อสินค้า เมื่อขายสินค้าหรือให้บริการ
ซึ่งทาง ผู้ประกอบการจดทะเบียน VAT มีหน้าที่รวบรวมภาษีขายที่เกิดขึ้นในแต่ละเดือน มาหักออกด้วยภาษีซื้อที่จ่ายไปในแต่ละเดือน แล้วนำส่งยอดให้กับกรมสรรพากรภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป ด้วยแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ. 30) โดยในกรณีที่เป็นการยื่นผ่านอินเตอร์เน็ต จะได้ขยายระยะเวลาไปอีก 8 วันครับ

ยกตัวอย่างเช่น บริษัท บักหนอมน้อย จำกัด ได้ซื้อวัตถุดิบและอุปกรณ์มาจำนวน 107 บาท โดยมีราคาสินค้าจำนวน 100 บาทและภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 7 บาทจาก Supplier เจ้าหนึ่ง หลังจากนั้นมาขายต่อให้บริษัท บักหนอมใหญ่ จำกัด ในราคา 200 บาท โดยในกรณีนี้ ถ้าบริษัทบักหนอมน้อยเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็มีหน้าที่ต้องเรียกเก็บภาษีขายจำนวน 14 บาท ทำให้มูลค่าสินค้าทั้งสิ้นกลายเป็น 214 บาท
สิ่งแรกที่ต้องทำความเข้าใจ คือ กำไรที่เกิดขึ้นจากการขายครั้งนี้ คือ 100 บาท (200-100) และส่วนต่างภาษีมูลค่าเพิ่มระหว่างภาษีขายและภาษีซื้อที่บริษัทบักหนอมน้อยต้องนำส่งให้แก่กรมสรรพากรในเดือนนี้คือ 14-7 = 7 บาท
จำได้ใช่ไหมครับว่า ภาษี 7 บาทที่บริษัทบักหนอมน้อยจ่ายไปตอนซื้อจะเรียกว่า “ภาษีซื้อ” และภาษี 14 บาทที่บริษัทบักหนอมน้อยเรียกเก็บจากบริษัทบักหนอมใหญ่จะเรียกว่า “ภาษีขาย” นั่นเองครับ
ถ้าเรามองกันจริงๆ จะเห็นว่า บริษัทบักหนอมน้อย ไม่ได้มีหน้าที่จ่ายภาษีจำนวน 14 บาทด้วยตัวเอง แต่ทำหน้าที่ผลักภาระและเรียกเก็บจากคนอื่นแทนต่างหาก ซึ่งในที่นี้ก็คือ บริษัทบักหนอมใหญ่ และมีการจ่ายภาษีซื้อให้กับ Supplier จำนวน 7 บาท ใช่ไหมล่ะครับ
ซึ่งตรงนี้จะไม่เกี่ยวกับกำไรจำนวน 100 บาทที่ได้รับนะครับ เพราะบริษัทบักหนอมน้อยก็จะต้องนำมาคำนวณภาษีเงินได้สำหรับรอบบัญชีนั้นๆ อีกทีหนึ่ง
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ภาษีตัวนี้กำลังบอกเราก็คือ การตั้งราคาขายสินค้าหรือบริการ สำหรับธุรกิจนั้น ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก ๆ ครับ เพราะถ้าหากตั้งราคาไม่ดีหรือไม่ถูกต้อง ย่อมมีผลทำให้กิจการขาดทุนได้เลยครับ
การตั้งราคาขายสินค้า
กับประเด็นทางด้านภาษีที่เกี่ยวข้อง
เพราะในโลกความเป็นจริง การบวกเพิ่มราคา 7% ด้วยอัตราภาษี ทันทีคงจะเป็นไปได้ยาก เพราะคนซื้ออาจจะบอกว่าขอบายไปซื้อร้านอื่นดีกว่า หรือถ้ามีร้านอื่นที่ขายในราคาที่ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็จะกลายเป็นจุดได้เปรียบด้านการแข่งขันทันที เพราะมีราคาที่ดึงดูดใจคนซื้อที่ไม่ได้ต้องการบวกภาระส่วนนี้เพิ่มเข้าไปใช่ไหมครับ
จากตัวอย่างข้างต้น ถ้าหาก บริษัทบักหนอมน้อยขึ้นราคาสินค้าไม่ได้เป็น 214 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ราคา 200 บาท ก็ต้องจะกลายเป็นราคารวมภาษีมูลค่าเพิ่มทันที ทำให้กลายเป็นว่าบริษัทบักหนอมน้อยมีภาษีขายอยู่ในนั้น 13.08 บาท และมียอดขายกลายเป็น 186.92 บาท หรือแปลได้ง่ายๆว่า ถ้ายังขายราคา 200 บาทเท่าเดิม กำไรจะลดลงไปทันที เพราะมีบางส่วนเป็นยอดภาษีซ่อนอยู่ในนั้น
เมื่อเป็นแบบนี้ ทางเลือกของบริษัทบักหนอมน้อย คือ จะยอมขาดทุนต่อไป หรือ ตัดสินใจหนีภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยขายในราคา 200 บาทแต่ไม่นำส่งภาษี และเก็บเงินเข้ากระเป๋าทันที ไม่เอาเข้ามาใช้ในกิจการ (อันนี้คือวิธีการที่ผิดกฎหมาย หากบริษัทบักหนอมน้อยเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม)
ดังนั้น การตั้งราคาจะมีผลตรงนี้ครับ โดยธุรกิจควรจะต้องประเมินทั้ง 2 ด้าน นั่นคือ ราคาขายที่ควรจะเป็นหากมีเรื่องของภาษีขายมาเกี่ยวข้อง และ กำไรที่ธุรกิจได้รับจากการตั้งราคาขายนั้น ว่าเหมาะสมหรือไม่ ?
พอมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะสงสัยขึ้นมาว่า ทำไมเสียภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว ยังต้องเสียภาษีเงินได้อีก หรือ ทำไมเราต้องเสียภาษีทั้งสองตัวด้วยนะ ?
ทำไมเสียภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว
เรายังต้องเสียภาษีเงินได้อีก
คำถามนี้ผมขอตอบแบบง่าย ๆ เลยครับว่า เพราะมันเป็นคนละฐานภาษีกัน นั่นคือ ภาษีเงินได้ เป็นการจัดเก็บภาษีจากฐานรายได้ (Income Base) ส่วน ภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นการจัดเก็บภาษีจากการบริโภค (Consumption Base) ซึ่งแนวคิดในการจัดเก็บก็จะแตกต่างกันไป
หรือพูดแบบสรุปสุด ๆ คือ ทำใจครับ
แล้วเราก็เสียกันต่อไป เพราะยังไงก็เก็บอยู่ดี (ฮา)
แต่สิ่งหนึ่งที่เราได้เรียนรู้จากตัวอย่างข้างต้นนี้ นั่นคือ ภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นคนละเรื่องกับกำไรที่เกิดขึ้น ตราบใดก็ตามที่สามารถผลักภาระภาษีให้กับผู้บริโภคหรือผู้ซื้อสินค้าได้ แต่มันจะกลายเป็นเรื่องเดียวกันก็ต่อเมื่อ บริษัทบักหนอมน้อยไม่สามารถขึ้นราคาสินค้าได้ (ผลักภาระต่อไม่ได้ เพราะคนซื้อสินค้าไม่ยอมรับต่อราคาที่เพิ่มขึ้น) เช่น ถ้าหากต้องขายในราคา 200 บาทเท่าเดิม แต่เป็นราคาที่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มไปแล้ว นั่นจะมีผลกระทบทันทีให้กำไรของบริษัทบักหนอมน้อยลดลงทันทีครับ
อย่างไรก็ดี มักจะมีความเข้าใจผิดในเรื่องของผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่ม ว่าต้องเป็น บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเพียงเท่านั้น แต่ความเป็นจริงแล้ว บุคคลธรรมดาอย่างเรา ๆ ก็สามารถเป็นผู้ประกอบการได้เหมือนกันครับ เพียงแค่เข้าเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด และนั่นก็หมายความว่า มีบางคนที่ต้องเสียทั้ง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และ ภาษีมูลค่าเพิ่ม นั่นแหละครับ
ใครบ้างที่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม?
ถ้าให้พูดกันตรง ๆ โดยปกติแล้วผู้บริโภคอย่างเราๆ มักจะไม่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหรอกครับ แต่มันก็มีบางกรณีเหมือนกันที่เราอาจจะต้องจดโดยที่ไม่รู้ตัว ดังนั้น เพื่อความสะดวกในการทำความเข้าใจว่าเราต้องจดทะเบียน VAT ไหม ผมอยากให้เริ่มจากคำตอบตามนี้ครับ
1. กิจการที่เราทำได้รับสิทธิยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่
คำถามแรกที่เราต้องหาคำตอบ คือ กิจการหรือธุรกิจที่เราทำนั้นได้รับสิทธิยกเวันภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ ถ้าได้รับสิทธิยกเว้นก็แปลว่าไม่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มครับ ซึ่งโดยส่วนใหญ่ คนทำธุรกิจมักจะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มครับ เว้นแต่คนที่อยู่ในกลุ่มต่อไปนี้
กลุ่มที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (แต่สามารถเลือกเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มได้)
1. ผู้ประกอบกิจการขายสินค้าพืชผลทางการเกษตร สัตว์ ไม่ว่ามีชีวิตหรือไม่มีชีวิต ปุ๋ย ปลาป่นอาหารสัตว์ ยาหรือเคมีภัณฑ์ที่ใช้สำหรับพืชหรือสัตว์ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือตำราเรียน
2. ผู้ประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการ ซึ่งไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมายและมีรายรับไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี
3. การให้บริการขนส่งในราชอาณาจักรโดยท่าอากาศยาน
4. การส่งออกของผู้ประกอบการในเขตอุตสาหกรรมส่งออกตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
5. การให้บริการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงทางท่อในราชอาณาจักร
กลุ่มที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม และไม่สามารถเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มได้
1. การให้บริการการศึกษาของสถานศึกษาของทางราชการ สถานศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน หรือโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน 2. การให้บริการที่เป็นงานทางศิลปะและวัฒนธรรมในสาขา และลักษณะการประกอบกิจการที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี 3. การให้บริการการประกอบโรคศิลปะ การสอบบัญชี การว่าความ หรือการประกอบวิชาชีพอิสระอื่น 4. การให้บริการรักษาพยาบาลของสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล 5. การให้บริการวิจัย หรือการให้บริการทางวิชาการ ทั้งนี้ ในสาขาและลักษณะการประกอบกิจการที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี 6. การให้บริการห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ สวนสัตว์ 7. การให้บริการตามสัญญาจ้างแรงงาน 8. การให้บริการจัดแข่งขันกีฬาสมัครเล่น 9. การให้บริการของนักแสดงสาธารณะ 10. การให้บริการขนส่งในราชอาณาจักร 11. การให้บริการขนส่งระหว่างประเทศ ซึ่งมิใช่เป็นการขนส่งโดยอากาศยาน หรือเรือเดินทะเล 12. การให้บริการเช่าอสังหาริมทรัพย์ 13. การให้บริการของราชการส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้ ไม่รวมถึงบริการที่เป็นการพาณิชย์ของราชการส่วนท้องถิ่น หรือเป็นการหารายได้หรือผลประโยชน์ไม่ว่าจะเป็น กิจการสาธารณูปโภคหรือไม่ก็ตาม 14. การขายสินค้าหรือการให้บริการของกระทรวง ทบวง กรม ซึ่งส่งรายรับทั้งสิ้นให้แก่รัฐโดยไม่หักรายจ่าย 15. การขายสินค้าหรือการให้บริการเพื่อประโยชน์แก่การศาสนา หรือการสาธารณกุศลภายในประเทศ ซึ่งไม่นำผลกำไรไปจ่ายในทางอื่น 16. การขายสินค้าหรือการให้บริการตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกาอื่นๆ
โดยกรอบแรกด้านบนที่ประกอบด้วย 5 กลุ่มแรกนั้น เป็นกลุ่มที่สามารถจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ครับ แม้ว่าจะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มก็ตาม แต่ถ้าต้องการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มก็สามารถทำได้
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าหากผมทำธุรกิจที่ขายพืชผลการเกษตรที่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ผมยังสามารถเลือกจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ครับ
แต่ถ้าหากตัวผมเป็นคนกลุ่มในกรอบด้านล่างอย่าง การให้บริการตามสัญญาจ้างแรงงาน หรือมนุษย์เงินเดือน แบบนี้ต่อให้ผมอยากจดก็จดไม่ได้ครับ เพราะกฎหมายไม่ให้สิทธิในการจดไว้นั่นเองครับ
2. ธุรกิจเรามีรายได้เกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปีหรือไม่
คำถามต่อมาก็คือ ถ้าหากเราไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษี แล้วธุรกิจการงานของเรานั้นมีรายได้ถึงเกณฑ์ที่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วหรือยัง ซึ่งถ้าหากถึงเกณฑ์แล้วสิ่งทีต้องรีบปฎิบัติคือ การขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30 วัน และเริ่มเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับรายได้ส่วนที่เกิน 1.8 ล้านบาทเป็นต้นไปครับ
ดังนั้นเราจะเห็นว่า ฟรีแลนซ์บางคนอาจจะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อมีรายได้มากกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี ซึ่งผมเน้นอีกทีว่า รายได้ที่ว่านี้คือ รายได้ก่อนหักค่าใช้จ่าย ไม่ใช่กำไร (รายได้หลังหักค่าใช้จ่าย) นะครับ
นอกจากนั้นยังมีเรื่องของการนำเข้าและส่งออกสินค้าอีกด้วยนะครับ แต่ตรงนี้ขออนุญาตไม่พูดถึงละกันครับ เพราะว่าอาจจะทำให้หลายคนสับสนได้ ซึ่งถ้ามีโอกาสผมจะเขียนบทความใหม่ขึ้นมาเพื่ออธิบายตรงส่วนนี้อีกทีครับ
นอกจากยื่นภาษีแล้ว
ยังมีหน้าที่สำคัญตามมาอีกด้วย
หลังจากที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเรียบร้อยแล้ว ผู้ประกอบการยังมีหน้าที่อื่นนอกจากการยื่นภาษีในแต่ละเดือนอีกด้วยครับ ซึ่งหน้าที่ที่เพิ่มเติมนั้น ประกอบด้วย การออกใบกำกับภาษี และ จัดทำรายงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีรายละเอียดตามนี้ครับ
1. หน้าที่ออกใบกำกับภาษี
ย้ำอีกทีนะครับว่า คนที่สามารถออกใบกำกับภาษีได้นั้น ต้องเป็นผู้ที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วเท่านั้น ดังนั้นถ้าหากใครยังไม่ได้จดทะเบียนแล้วก็ล่ะก็ ย่อมไม่มีสิทธิออกใบกำกับภาษี และถ้าออกมาจริง ๆ จะถือว่าเป็นการทำผิดกฎหมายเสียด้วยครับ
โดยหลักการสำคัญของการออกใบกำกับภาษีนั้น มีรายละเอียดดังนี้ครับ
ประเด็นแรก ใบกำกับภาษี ต้องครบถ้วนและถูกต้อง
คำว่า ใบกำกับภาษีที่ครบถ้วนและถูกต้องนั้น หมายถึงเป็นใบกำกับภาษีที่มี รายการครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด และใบกำกับภาษีที่ผู้ประกอบการสามารถออกได้นั้น มีอยู่ 2 ประเภท คือ ใบกำกับภาษีเต็มรูป และ ใบกำกับภาษีอย่างย่อ ครับ

โดยปกติแล้ว กิจการทั่วไปจะต้องออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปให้กับผู้ซื้อหรือผู้รับบริการครับ แต่สำหรับกิจการที่เป็นกิจการค้าปลีก ที่เป็นการขายให้กับผู้บริโภคโดยตรง หรือ บริการในลักษณะบริการรายย่อยแก่บุคคลจำนวนมาก ยกตัวอย่างเช่น ร้านสะดวกซื้อ โรงแรม ภัตตาคาร ห้างสรรพสินค้าต่างๆ เป็นต้น นั้น จะสามารถออก ใบกำกับภาษีอย่างย่อ ได้ครับ

ขอบคุณตัวอย่างใบกำกับภาษีเต็มรูปและอย่างย่อ
จากโปรแกรมบัญชี FlowAccount.com ไว้ ณ ที่นี้ครับ
โดยความแตกต่างระหว่างใบกำกับภาษีทั้ง 2 แบบคือ ใบกำกับภาษีอย่างย่อ ไม่สามารถนำภาษีซื้อไปขอคืนหรือหักออกจากภาษีขายได้ ต้องเป็นใบกำกับภาษีซื้อแบบเต็มรูปเท่านั้นถึงจะสามารถทำได้ครับ
ดังนั้นหากเราเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว ให้จำเอาไว้ขึ้นใจเลยครับว่า ถ้าหากใบกำกับภาษีของเราไม่ถูกต้องแล้วล่ะก็ ปัญหาจะตกไปยังผู้รับครับ นั่นคืใบกำกับภาษีฉบับนั้นจะไม่สามารถใช้หักออกจากภาษีขายได้ (หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ภาษีซื้อต้องห้าม นั่นเองครับ)
ประเด็นที่สอง ใบกำกับภาษี ต้องออกถูกต้องตามเวลา
โดยกฎหมายแล้ว การออกใบกำกับภาษีนั้นกำหนดให้ออกเมื่อเกิด “ความรับผิด” หรือแปลเป็นภาษาคนก็คือ ออกเมื่อมีหน้าที่ต้องออกนั่นเองครับ โดยกฎหมายได้กำหนดความแตกต่างของความรับผิดในกรณีซื้อสินค้าและให้บริการไว้ดังนี้ครับ

อย่างไรก็ดี กฎหมายไม่ได้กำหนดเพียงแค่ความรับผิดในการซื้อและบริการเพียงเท่านั้นนะครับ กฎหมายยังกำหนดเรื่องของความรับผิดในกรณีต่างๆ อีกมากมายไว้ให้ครับ เพียงแต่ผมยกตัวอย่างที่ใช้กันบ่อยมาให้ดูเท่านั้นครับผม
ทีนี้หมดหน้าที่แรกไปแล้ว เรามาต่อกันที่อีกหน้าที่หนึ่งของผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่มกันดีกว่าครับ นั่นคือ การจัดทำรายงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
2. หน้าที่ในการจัดทำรายงานต่าง ๆ
อีกหน้าที่หนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ หน้าที่ในการจัดทำรายงานที่เกี่ยวข้องครับ โดยผู้ประกอบการอย่างเรายังต้องทำรายงานทั้งหมด 3 ฉบับ ดังนี้ครับ
รายงานภาษีซื้อ
สำหรับ รายงานภาษีซื้อ เป็นรายงานที่ต้องจัดทำเพื่อบันทึกรายละเอียดของยอดซื้อและจำนวนภาษีซื้อที่ถูกผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มรายอื่นเรียกเก็บในการซื้อสินค้าหรือบริการในแต่ละเดือนครับ หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ การสรุปยอดภาษีซื้อที่เกิดขึ้นในแต่ละเดือน เพื่อทำไปยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ. 30)

รายงานภาษีขาย
สำหรับ รายงานภาษีขาย นั้น จะตรงข้ามกับรายงานภาษีซื้อเลยครับ นั่นคือ บันทึกรายละเอียดของยอดขายและจำนวนภาษีขายที่ธุรกิจของเราเรียกเก็บจากการขายสินค้าหรือบริการในแต่ละเดือนนั่นเองครับ หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ การสรุปยอดภาษีขายที่เกิดขึ้นในแต่ละเดือน เพื่อทำไปยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ. 30)

ขอบคุณตัวอย่าง รายงานภาษีซื้อ และ รายงานภาษีขาย จาก FlowAccount.com
รายงานสินค้าและวัตถุดิบ (ถ้ามี)
สำหรับ รายงานสินค้าคงเหลือและวัตถุดิบ นั้นจะมีรายละเอียดเฉพาะ นั่นคือ กฎหมายกำหนดให้ผู้ประกอบการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มที่ประกอบกิจการขายสินค้าเท่านั้นที่มีหน้าที่จัดทำ ซึ่งมีการกำหนดรูปแบบให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ตามรูปดังนี้ครับ

อย่างไรก็ดีบางธุรกิจอาจจะใช้โปรแกรมบัญชีที่มีการจัดทำระบบสินค้าคงเหลือนี้ในตัวได้เลย ช่วยให้จัดการสต็อกถูกต้อง ตั้งแต่สินค้าจริง ยอดขาย สต็อกการ์ด รายงานต่างๆ ไปพร้อมกันครับ (ขอบคุณตัวอย่าง รายงานสรุปสินค้าคงเหลือ จากทาง FlowAccount ไว้อีกครั้งหนึ่งครับ)

และทั้งหมดนี้ คือหน้าที่ที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนทุกคนต้องทำให้ถูกต้องครับ เพื่อสุดท้ายแล้วจะได้นำยอดทั้งหมดที่เกิดขึ้นไปยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ. 30) ได้อย่างถูกต้องครับ

และทั้งหมดนี้ คือ หน้าที่หลัก ๆ ที่ผู้ประกอบการทุกคนต้องทำในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มครับ แต่อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่ายังมีบางคนสับสนความสัมพันธ์ระหว่างภาษีมูลค่าเพิ่มกับภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายอยู่บ้างไม่มากก็น้อย ดังนั้นผมขออธิบายในจุดนี้เพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องมากยิ่งขึ้นครับ
ความสัมพันธ์ระหว่างภาษีมูลค่าเพิ่ม
และภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย
หลายครั้ง มักจะมีคนเข้าใจผิดในเรื่องของการออกใบกำกับภาษี กับ การหักภาษี ณ ที่จ่าย ว่าเป็นเรื่องเดียวกัน แต่ความเป็นจริง ใบกำกับภาษีนั้นเป็นเรื่องของภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยคิดในอัตรา 7% ของยอดขายหรือบริการ ส่วนการหักภาษี ณ ที่จ่ายนั้น เป็นเรื่องของ ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และเป็นหน้าที่ของผู้ที่จ่ายเงินที่ต้องหักภาษีไว้ทุกครั้ง ตามอัตราที่กฎหมายกำหนด และออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายให้กับผู้รับเงินครับ

ตัวอย่างหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายจากกรมสรรพากร
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าหากบริษัท บักหนอมน้อย จำกัด คิดค่าบริการจากจากบริษัท บักหนอมใหญ่ จำกัด ในราคา 100,000 บาท พร้อมกับระบุว่าให้หักภาษี ณ ที่จ่าย 3% สิ่งที่เกิดขึ้นจะเป็นดังนี้ครับ
บริษัท บักหนอมน้อย จำกัด จะมีรายได้จากการให้บริการจำนวน 100,000 บาท โดยต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 7% คือ 7,000 บาท รวมทั้งสิ้นคือ 107,000 บาท และมีหน้าที่ออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปให้กับบริษัท บักหนอมใหญ่ จำกัด
เมื่อมีการจ่ายเงิน บริษัท บักหนอมใหญ่ จำกัดจะหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 3% จากยอดค่าบริการจำนวน 100,000 บาท คิดเป็นจำนวนเงิน 3,000 บาท พร้อมกับออกหลักฐานคือ หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ทีจ่าย ให้กับบริษัท บักหนอมน้อย จำกัด และจ่ายชำระเงินทั้งสิ้นคือ 104,000 บาท (100,000 + 7,000 – 3,000)
นี่คือความสัมพันธ์ของ ภาษีมูลค่าเพิ่ม และ ภาษีหัก ณ ทีจ่ายครับ ซึ่งถ้าใครยังสับสนหรือไม่เข้าใจเรื่องนี้ ผมเคยทำคลิปพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นทั้งหมดนี้ลงที่ Youtube Channel TAXBugnoms ไว้ครับ สามารถลองดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในคลิปด้านล่างนี้เลยครับ
สรุป
สุดท้ายแล้ว เรื่องของภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น มีประเด็นสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจอยู่ 3 เรื่องดังนี้ครับ
- สิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาลำดับแรก คือ การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด จากหลักการง่าย ๆ คือ เราได้รับสิทธิยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มไหม และ เรามีรายได้เกินกว่าจำนวนที่กฎหมายกำหนดหรือเปล่า (1.8 ล้านบาทต่อปี) ถ้าหากธุรกิจของเรามีหน้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว แต่เรายังไม่จดให้ถูกต้อง นั่นแปลว่าธุรกิจกำลังมีความเสี่ยงอยู่
- ภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นภาษีที่ผู้ประกอบการต้องรับผิดชอบ แต่สามารถผลักภาระให้กับผู้บริโภคหรือผู้ซื้อสินค้าและบริการได้ สิ่งที่ผู้ประกอบการทุกคนต้องถามตัวเอง คือ เราจะตั้งราคาขายอย่างไร ให้ธุรกิจยังได้กำไรอย่างคุ้มค่า และสามารถจ่ายภาษีได้อย่างถูกต้องไปด้วย
- หน้าที่ต่าง ๆ ที่ต้องทำ อย่าลืมจัดการให้ครบหลังจากจดทะเบียนแล้ว ตั้งแต่ การออกใบกำกับภาษีที่ถูกต้อง การจัดทำรายงานประเภทต่าง (รายงานภาษีซื้อ รายงานภาษีขาย รายงานสินค้าคงเหลือและวัตถุดิบ) ซึ่งตรงนี้จะเป็นหน้าที่ที่เพิ่มเข้ามา และมีผลต่อการจัดการข้อมูลต่าง ๆ เพื่อบริหารจัดการภาษีมูลค่าเพิ่มของเราให้ถูกต้องด้วยเช่นกัน
ก่อนจะจากกันไป ผมขอฝากคลิปนี้ให้ทุกคนไว้ทบทวนอีกที เกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาษีมูลค่าเพิ่มที่ควรรู้ เพื่อที่จะได้ทำความเข้าใจหลักการต่างๆ อย่างถูกต้อง และไม่ทำผิดเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดไว้
เพราะถ้าหากเจ้าของธุรกิจคนไหนไม่ใส่ใจแล้วล่ะก็ …
ระวังมูลค่าของภาษีที่ต้องจ่าย
TAXBugnoms
มันจะเพิ่มตามชื่อนะครับ