ขนาดออกจากงานแล้ว
มิตรสหายหลายท่านของผมมักอุทานแบบนี้
ยังต้องเสียภาษีอีกเหรอเนี่ย
ออกจากงาน ยื่นภาษียังไง มีอะไรต้องเอามายื่นภาษีบ้าง เงินชดเชยตามกฎหมาย เงินที่นายจ้างให้พิเศษ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพต่างๆ ทั้งหมดนี้มีหลักการคิดและคำนวณภาษีอย่างไร ประเด็นทั้งหมดที่หลายคนสงสัยจะสรุปไว้ในบทความนี้ครับ
ออกจากงานแล้วไปไหน? ก่อนจะไปยื่นภาษี
แต่ก่อนจะตอบคำถามทั้งหมดนี้ ผมแนะนำให้ทำความเข้าใจในส่วนของ “รายได้ในอดีต” และ “รายได้ในอนาคต” ที่เกิดขึ้นกันก่อนครับ นั่นคือ เราออกจากงานแล้ว เรามีงานทำไหม? ยกตัวอย่างเช่น
ลาออกจากงานเก่า แล้วไปทำงานที่ใหม่
ถ้าหากสถานะของเรายังเป็น “มนุษย์เงินเดือน” อยู่เหมือนเดิม กรณีนี้ในส่วนของรายได้จากการทำงาน เราสามารถ เอารายได้ทั้งหมดมารวมกันแล้วยื่นเป็นเงินได้ประเภทที่ 1 ได้เลยครับ รวมถึง ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ที่ถูกหักจากนายจ้างทุกคนก็สามารถใช้สิทธิ์ได้เช่นเดียวกัน
ยกตัวอย่าง เช่น นายบักหนอมลาออกจากบริษัท A ในเดือนมีนาคม โดยมีรายได้ในช่วงมกราคม – มีนาคมจากบริษัท A จำนวน 150,000 บาท (ถูกหักภาษีไว้ 2,500 บาท) และไปเข้าทำงานบริษัท B ในเดือนมิถุนายน โดยมีรายได้ตั้งแต่เดือนมิถุนายนจนถึงเดือนธันวาคม 250,000 บาท (ถูกหักภาษีไว้ 5,000 บาท) แบบนี้นายบักหนอมจะเอายอดรายได้ทั้งปีคือ 400,000 บาทมายื่นภาษี และนำภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่ถูกหักไว้จำนวน 7,500 บาทมาใช้หักออกจากภาษีที่คำนวณได้นั่นเองครับ

ออกจากงานเก่า แต่เราไปทำอาชีพอื่น
สำหรับกรณีนี้ คือ ลาออกจากการเป็นมนุษย์เงินเดือนเสียเลย และได้งานใหม่เป็นอาชีพอื่นหรือรายได้ประเภทอื่นแทน อันนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงประเภทของเงินได้ที่ได้ระหว่างปีเพิ่มขึ้นครับ
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าปีนี้นายบักหนอมตัดสินใจลาออกจากงานประจำมาทำเป็นฟรีแลนซ์เต็มตัว และดูลู่ทางขายของออนไลน์ไปด้วย เท่ากับว่าในปีนี้ นายบักหนอมจะมีรายได้ 2 ประเภท คือ
- ช่วงก่อนออกจากงาน (ยังเป็นมนุษย์เงินเดือนอยู่) = เงินได้ประเภทที่ 1
- ออกจากงานแล้ว (เริ่มต้นทำงานฟรีแลนซ์) = เงินได้ประเภทที่ 2
ประเด็นสำคัญ คือ เราต้องรู้ว่างานที่เราทำหลังจากออกจากงานเป็น เงินได้ประเภทไหนใน 8 ประเภท ซึ่งจากตัวอย่างที่ยกมาก่อนหน้านี้ หากวันหนึ่งนายบักหนอมตัดสินใจไปขายของออนไลน์เพิ่มเติมเป็นอาชีพเสริมก็ถือว่ามีเงินได้ประเภทที่ 8 อีกประเภทหนึ่งเพิ่มขึ้นมา หลังจากนั้นก็นำรายได้ทั้งหมดมายื่นและ คำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามปกติ
ออกจากงานเก่าไป งานใหม่ก็ไม่มี
กรณีนี้อาจจะดูเศร้าหน่อย แต่เราก็ยื่นเฉพาะรายได้ในอดีตที่ผ่านมา นั่นคือ รายได้ส่วนที่เป็นมนุษย์เงินเดือน (เงินได้ประเภทที่ 1) ที่เราได้จากที่ทำงานเก่าตามปกติครับ
ยกตัวอย่างเช่น ในปีนี้นายบักหนอมทำงานที่บริษัท TAXBugnoms จำกัด เป็นเวลา 3 เดือนแล้วลาออกมานั่งตบยุงเฉย ๆ อยู่บ้าน แบบนี้เงินเดือน 3 เดือนนั้นก็ต้องนำมายื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้ถูกต้องอยู่ดีครับ
ดังนั้น ข้อสรุปสำหรับการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในกรณีที่ออกจากงานทั้งหมดตามที่ว่ามานี้คือ รายได้ทั้งหมดของเราที่เกิดขึ้นในปี ไม่ว่าจะช่วงเวลาไหนก็ตาม ต้องเอามายื่นและคำนวณภาษีให้ถูกต้อง นั่นเองครับ
โดยหลักฐานที่สำคัญที่สุดในการยื่นภาษี คือ เอกสารหลักฐานการหักภาษี ณ ที่จ่าย ที่เราได้รับจากการทำงาน อย่าลืมขอจากที่ทำงานแต่ละที่มาให้ครบถ้วนนะครับ เพราะเป็นสิ่งที่เราจะใช้อ้างอิงถึงการมีรายได้และยื่นภาษีเงินได้ของเราครับ

นอกจากเงินเดือนที่ต้องยื่นภาษีแล้ว
เราต้องยื่นภาษีอะไรเพิ่มเติมบ้าง?
นอกจากรายได้จากการทำงานที่พูดไปก่อนหน้านี้ สำหรับคนที่ออกจากงาน ไม่ว่าจะออกเองโดยสมัครใจ ถูกเชิญออก ให้ออก หรือ ไล่ออก แล้วได้รับเงินต่างๆนอกเหนือจากรายได้ เราจะใช้หลักการเดียวกันทั้งหมดครับ นั่นคือ พิจารณาว่าเงินที่ได้จากการออกจากงานนั้น มีการยกเว้นภาษีให้ตามกฎหมายหรือไม่ หรือ มีสิทธิในการแยกยื่นคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาออกมาต่างหากหรือเปล่า
โดยกฎหมายภาษีอย่าง “ประมวลรัษฎากร” ให้คำนิยามของเงินได้กลุ่มที่ได้รับสิทธิพิเศษนี้ว่า “เงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน” ครับ
เงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน คืออะไร
ถ้ายึดตามข้อกฎหมายที่ระบุไว้ใน ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45) คำว่าเงินได้เพราะเหตุออกจากงาน หรือ เงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานนั้น จะหมายความถึงเงินได้ต่อไปนี้ครับ
ข้อ 1 เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) และ (2) ซึ่งเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานให้หมายถึงเงินได้ดังนี้ (ก) เงินได้ที่คำนวณตามหลักเกณฑ์ และวิธีการเช่นเดียวกับวิธีการคำนวณบำเหน็จตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ข) เงินที่จ่ายจากกองทุนดังนี้ ๑) เงินที่จ่ายจากกองทุนตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ๒) เงินที่จ่ายจากกองทุนตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ๓) เงินที่จ่ายจากกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเกิดจากการขายหน่วยลงทุนคืนให้แก่กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ โดยหน่วยลงทุนดังกล่าวเป็นหน่วยลงทุนที่ได้จากการโอนหรือเกี่ยวเนื่องจากการโอนมาจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” (ค) เงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน (ง) เงินได้พึงประเมินที่จ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานที่มีวิธีการคำนวณแตกต่างไปจากวิธีการตาม (ก)
หรือสรุปสั้น ๆ ว่า เงินได้เพราะเหตุออกจากงาน สามารถแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้ครับ
- เงินได้ที่คำนวณตามหลักการเดียวกับบำเหน็จข้าราชการ
- เงินที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) หรือ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)
- เงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน
- เงินได้เพราะเหตุออกจากงานที่มีวิธีการคำนวณแบบอื่น ๆ

เงินก้อนพิเศษที่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษี
กรณีจ่ายให้เมื่อออกจากงาน มีอะไรบ้าง?
สำหรับส่วนที่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีนั้น ได้แก่ เงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน เงินช่วยเหลือผู้ที่ออกจากราชการ เงินบำเหน็จดำรงชีพ และ เงินผลประโยชน์จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (บางกรณี) ผมขอสรุปรายละเอียดออกมาตามรูปด้านล่างดังนี้ครับ

ข้อควรระวังสำหรับ เงินชดเชยที่ได้รับยกเว้นตามกฎหมายแรงงาน จะต้องเป็นการถูกเลิกจ้างจริงๆเท่านั้นนะครับ (เป็นไปตามมาตรา 118 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน) แต่ส่วนใหญ่แล้ว บริษัทมักจะให้พนักงานเซ็นจดหมายยินยอมออก (เสมือนลาออก) เพื่อป้องกันการฟ้องร้องที่จะเกิดขึ้น ดังนั้นเงินที่ได้รับตามกรณีนี้จะไม่ถือว่าเป็นเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน และไม่ได้รับสิทธิ์ยกเว้นเงินได้ครับ
และข้อควรระวังอีกข้อหนึ่งในการได้รับสิทธิ์ยกเว้นภาษีเงินได้จำนวน 300,000 บาท คือ เราต้องคำนวณเงินได้ที่ได้รับตามสิทธิชดเชยเป็นจำนวนวันเพื่อหาจำนวนเงินที่ได้รับยกเว้นภาษีก่อน ซึ่งบางครั้งอาจจะน้อยกว่า 300,000 บาทก็ได้ครับ

ยกตัวอย่างเช่น นายบักหนอมออกจากงานวันที่ 1 มกราคม 2555 ได้รับเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานจำนวน 300 วัน เนื่องจากทำงานมาเกิน 10 ปี แต่ยังไม่ครบ 20 ปี โดยได้รับเป็นเงินทั้งหมด 270,000 บาท แบบนี้เราจะบอกว่าได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเพราะไม่เกิน 300,000 บาททันทีไม่ได้ครับ เพราะยังต้องคำนวณก่อนว่าเงินชดเชย 300 วันตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้เป็นเท่าไร
สมมติต่อว่าเงินเดือนนายบักหนอม 12 เดือนสุดท้ายคือเดือนละ 25,000 บาท แบบนี้ต้องลองคำนวณค่าจ้างจำนวน 300 วันนับจากวันที่ออกจากงานว่ามีรายได้เท่าไร โดยนับถอยหลังไปตั้งแต่เดือนธันวาคม 2554 ย้อนไปจนถึงเดือนมีนาคม 2554 ซึ่งปรากฎว่า คำนวณค่าจ้าง 300 วัน ออกมาได้เพียง 245,161.29 บาท นั่นแปลว่าสิทธิในการยกเว้นภาษีจะได้เพียงจำนวนเงิน 300 วันที่คำนวณได้เท่านั้น ซึ่งส่วนต่างจำนวน 24.838.71 บาท (270,000 – 245,161.29) ยังต้องนำมารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอยู่ดี เพราะเป็นส่วนเกินที่ไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีกรณีได้รับเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน
ดังนั้น การเช็คเอกสารการรับเงินต่าง ๆ ให้ดี
และสอบถามทางฝ่ายบุคคล (HR) ให้มั่นใจ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากครับ
ส่วนวิธีที่เราจะรู้เพื่อตอบคำถามว่า “ออกจากงาน ยื่นภาษียังไง” ผมแนะนำให้ดูเอกสารการจ่ายเงิน หรือ หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ที่ได้รับจากนายจ้างนี่แหละครับ เพราะจะบอกหมดว่าเราได้เงินประเภทไหน เท่าไร และมีรายละเอียดค่าอะไรบ้าง?
มาถึงตรงนี้หลายคนอาจจะมองว่า โหวว แบบนี้เราต้องเสียภาษีเยอะเลยสิ ซึ่งแน่นอนว่า หลักการตามกฎหมายก็มองเห็นประเด็นตรงนี้เหมือนกัน จึงให้สิทธิพิเศษสำหรับ วิธีคำนวณภาษีเมื่อออกจากงาน ในการแยกคำนวณภาษีสำหรับกรณีนี้โดยเฉพาะ ซึ่งมีหลักการดังนี้ครับ
วิธีคำนวณภาษีเมื่อออกจากงาน
กรณีได้รับสิทธิพิเศษ แยกคำนวณภาษี
ดังนั้นสำหรับคำถามว่า ออกจากงาน ยื่นภาษียังไง (ส่วนที่ได้รับจากออกจากงาน) หลักการที่ผมให้เบื้องต้นก่อนคือ เราต้องรู้ว่าเป็นเงินได้ที่กฎหมายยกเว้นภาษีให้หรือเปล่า ถ้าไม่ใช่แปลว่าเราต้องนำมารวมคำนวณภาษี ซึ่งโดยปกติแล้วจะถือว่าเป็นเงินได้ประเภทที่ 1 และคำนวณเหมือนเงินได้จากการได้รับเงินเดือนตามปกติ
แต่สำหรับกรณีพิเศษที่เข้าเงื่อนไขตามกฎหมายเท่านั้น ถึงได้รับสิทธิประโยชน์ในการแยกคำนวณภาษี ซึ่งเงื่อนไขที่สำคัญข้อแรก คือ “เราต้องมีระยะเวลาทำงาน (อายุงาน) ไม่น้อยกว่า 5 ปี”
และกฎหมายจะให้แยกคำนวณภาษีได้เฉพาะ “เงินก้อนที่เราได้รับในปีภาษีแรกที่มีการจ่าย” (ในกรณีที่จ่ายหลายครั้ง จะได้ครั้งแรกครั้งเดียวเท่านั้นครับ) ซึ่งจะมีวิธีการคำนวณที่แตกต่างจาก วิธีคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามปกติ ซึ่งสำหรับคนที่ไม่อยากคำนวณแบบซับซ้อน สามารถศึกษาจากคลิปวีดีโอนี้ได้เลยครับ
แต่สำหรับใครที่สะดวกอ่านพร้อมทำความเข้าใจตามตัวอย่าง เรามาต่อกันที่วิธีการในการคำนวณภาษีกรณีเงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานกันเลยดีกว่าครับ

ถ้าดูข้อมูลในแบบฟอร์ม ใบแนบ ภ.ง.ด. 90, 91 กรณีคำนวณเงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานเฉพาะที่เลือกเสียภาษีโดยไม่นำไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้อื่น ๆ จะพบว่าประเด็นสำคัญที่เราต้องรู้ คือ การคำนวณเงินได้ และ การหักค่าใช้จ่าย ซึ่งแตกต่างจากวิธีคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาโดยทั่วไป
โดยวิธีการคำนวณจะเป็นดังรูปนี้ครับ

หมายเหตุ :
- การนับ จำนวนปีที่ทำงาน ในกรณีมีเศษของปี หากมีวันทำงานตั้งแต่ 183 วันขึ้นไป ให้นับเป็น 1 ปี หากน้อยกว่า 183 วัน ให้ปัดทิ้ง
- หากมีการจ่ายบำเหน็จส่วนหนึ่งและบำนาญอีกส่วนหนึ่งจะใช้ 3,500 บาท x จำนวนปีที่ทำงานแทน
- เงินได้สุทธิหลังหักค่าใช้จ่าย จะไม่ได้สิทธิยกเว้นภาษีของเงินได้สุทธิ 150,000 บาทในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เนื่องจากไม่ใช่วิธีคำนวณตามปกติ หรือ ตามมาตรา 48(1)
สำหรับ ฝั่งของเงินได้นั้น ในแบบฟอร์มใบแนบของกรมสรรพากร จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม จาก 4 ประเภท โดยรวมในกลุ่มของ เงินได้ที่คำนวณตามหลักการเดียวกับบำเหน็จข้าราชการ (ข้อ 1) เงินที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) หรือ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) (ข้อ 2) และ เงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานส่วนที่ต้องเสียภาษี (ข้อ 3) ไว้ในกลุ่มเดียวกัน แต่แยกส่วนของ เงินได้เพราะเหตุออกจากงานที่มีวิธีการคำนวณแบบอื่น ๆ ออกมา (ข้อ 5)
ดังนั้นประเด็นสำคัญ เราต้องรู้ก่อนว่า การออกจากงานของเรานั้นได้เงินได้ประเภทไหน ซึ่งถ้าหากได้ในกลุ่มแรก (ข้อ 1-3) ก็จะมีวิธีการคำนวณที่ง่าย แต่ถ้าหากได้กลุ่มในข้อ 5 ก็บอกเลยครับว่าจะมีผลต่อ การคำนวณค่าใช้จ่ายในขั้นตอนต่อไป เนื่องจากต้องมีการเปรียบเทียบตามหลักการดังนี้ครับ

- ในกรณีที่ได้เงินได้ในกลุ่มแรก (3 ประเภท) เราสามารถนำมาเป็น ฐานในการคำนวณค่าใช้จ่าย ได้ทั้งจำนวน โดยที่ไม่ต้องคิดอะไรเยอะ เพราะกฎหมายให้สิทธิไว้เต็มที่แล้วครับ
- ในกรณีที่ได้เงินได้ในกลุ่มหลัง (เงินได้พิเศษที่มีวิธีคำนวณแตกต่างไป) ตรงนี้เราต้องพิจารณาโดยเอาเงินได้มาเปรียบเทียบกับฐานเงินเดือน x จำนวนปีที่ทำงาน โดยคำนวณจากฐานเงินเดือนมีจำนวนน้อยกว่า ระหว่าง
- เงินเดือนสุดท้าย กับ
- เงินเดือนเฉลี่ย 12 เดือนสุดท้าย + ร้อยละ 10 ของเงินเดือนถัวเฉลี่ย หรือจะใช้สูตรง่าย ๆ คือ เงินเดือนเฉลี่ย 12 เดือน x 1.1 ก็ได้เหมือนกันครับ
ดังนั้นในกรณีที่ได้เงินได้ในกลุ่มหลัง เราอาจจะไม่สามารถใช้เป็นฐานในการคำนวณค่าใช้จ่ายได้ทั้งจำนวนเนื่องจากสาเหตุที่ต้องมีการคำนวณเปรียบเทียบจากฐานเงินเดือน
เพื่อไม่ให้ปวดหัวไปมากกว่านี้ ผมมีตัวอย่างวิธีการคิดและคำนวณมาฝากกันครับ
ตัวอย่างแรก นายศานิต ปัจจุบันอายุ 42 ปี ทำงานมาแล้ว 20 ปี เงินเดือนเดือนสุดท้าย คือ 100,000 บาท โดยนายศานิตได้รับผลประโยชน์ของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทั้งหมดคิดรวมกันได้ 5,000,000 บาท
จากตัวอย่าง จะเห็นว่านายศานิตมีเงินได้ในกลุ่มแรก คือ เงินที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จำนวน 5,000,000 บาท ในกรณีนี้แปลว่า รายได้จำนวน 5,000,000 บาทนี้ สามารถใช้เป็นฐานในการคำนวณค่าใช้จ่ายในการเสียภาษีกรณีเงินได้เพราะเหตุออกจากงานได้ทั้งจำนวนครับ
ตัวอย่างสอง นายสาธิต ทำงานมา 10 ปี ตัดสินใจลาออกจากงานเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม โดยได้รับเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานจำนวนหนึ่งซึ่งจ่ายตามหลักเกณฑ์ของนายจ้างเป็นจำนวน 150,000 บาท และนายสาธิตได้รับเงินเดือนตั้งแต่เดือนมกราคม – มิถุนายน เดือนละ 12,000 บาท และตั้งแต่เดือนกรกฎาคม – ธันวาคมปีนั้น เดือนละ 15,000 บาท
จากตัวอย่าง จะเห็นว่ากรณีของนายสาธิตได้รับเงินได้ในกลุ่มที่สอง คือ เงินที่จ่ายโดยมีวิธีการคำนวณตามหลักเกณฑ์ของนายจ้างซึ่งถือเป็นเงินได้จำนวน 150,000 บาท แต่เงินได้ก้อนนี้จะไม่สามารถคำนวณเป็นฐานค่าใช้จ่ายได้ ซึ่งเราต้องคำนวณเปรียบเทียบกันดังนี้ครับ
- เปรียบเทียบเงินเดือน เดือนสุดท้าย 15,000 บาท กับ เงินเดือนถัวเฉลี่ย 12 เดือนสุดท้าย โดยคำนวณจาก
- เงินเดือน 12 เดือนทั้งหมด = (12,000 x 6) + (15,000 x 6) = 162,000 บาท
- เงินเดือนเฉลี่ย 12 เดือน + ส่วนที่เพิ่มขึ้น 10% = 162,000 x 1.1 / 12 = 14,850 บาท
จากการเปรียบเทียบจะเห็นว่าเราต้องใช้เงินเดือนเฉลี่ย 12 เดือน + ส่วนที่เพิ่มขึ้น 10% เป็นฐานในการคำนวณค่าใช้จ่าย นั่นคือ 14,850 บาท และนำมาคูณด้วยจำนวนปีทำงาน (10 ปี) = 148,500 บาท
นี่คือส่วนของ เงินได้ และ ฐานในการคำนวณค่าใช้จ่ายที่เราต้องรู้ครับ ซึ่งพอรู้แล้ว เราจะมาคำนวณภาษีเงินได้กันต่อเลย โดยจากตัวอย่างทั้งสองที่ว่ามา เมื่อนำมาเข้าสู่สูตรการคำนวณจะได้ภาษีออกมาดังนี้

โดยจากรูปด้านบน เราจะเห็นว่า
- เงินได้ที่ใช้คำนวณภาษีนั้น คือ เงินได้ที่แต่ละคนได้รับเมื่อออกจากงาน
- ค่าใช้จ่าย (1) มาจาก 7,000 x จำนวนปีที่ทำงาน นั่นคือ 20 ปี และ 10 ปี ตามลำดับ
- ค่าใช้จ่าย (2) มาจาก เงินได้ที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณค่าใช้จ่าย – ค่าใช้จ่าย (1) x 50% โดยกรณีของตัวอย่างนายศานิต คือ (5,000,000 – 140,000) x 50% = 2,430,000 บาท ส่วนของนายสาธิตจะเท่ากับ (148,500 – 70,000) x 50% = 39,250 บาท
- ภาษีที่คำนวณจากเงินได้สุทธิ จะไม่ได้รับสิทธิยกเว้น 150,000 บาท จึงทำให้นายศานิตเสียภาษีทั้งสิ้นจำนวน 501,500 บาท และ นายสาธิตเสียภาษีจำนวน 2,037.50 บาท
ตัวอย่างการคำนวณเงินได้เพราะเหตุออกจากงาน
แบบชีวิตจริง เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง
สมมติว่า นายบักหนอมทำงานมาแล้ว 10 ปี ออกจากงานเมื่อเดือนธันวาคม 2560 โดยได้เงินเดือนเดือนละ 60,000 บาท (ใน 12 เดือนที่ผ่านมาไม่มีการปรับเงินเดือนเพิ่ม) โดยบริษัทมีจ่ายเงินได้เมื่อออกจากงานให้นายบักหนอม ดังนี้
- เงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานจำนวน 400,000 บาท
- เงินจ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ส่วนนายจ้างสมทบ+ผลประโยชน์) จำนวน 1,000,000 บาท
- เงินตอบแทนพิเศษจำนวน 500,000 บาท
เราจะเห็นว่านายบักหนอมได้เงินได้ทั้งหมด 3 ประเภท คือ
- เงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน ซึ่งคำนวณแล้วพบว่าได้มากกว่าสิทธิที่ยกเว้นภาษีอยู่ 100,000 บาท จึงต้องนำเงินส่วนนี้มาคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
- เงินจ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจำนวน 1,000,000 บาท
- เงินตอบแทนพิเศษ (คิดจากหลักเกณฑ์ของนายจ้าง) จำนวน 500,000 บาท
หากเราแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มที่ใช้คำนวณเพื่อเป็นฐานค่าใช้จ่าย จะเห็นว่าเงินได้ในส่วนของเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานและเงินที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สามารถนำมาใช้เป็นฐานได้เต็มจำนวน คือ 1,100,000 บาท
ส่วนเงินตอบแทนพิเศษที่คิดตามหลักเกณฑ์ของนายจ้างนั้น เราต้องมาเปรียบเทียบกันระหว่าง เงินที่ได้รับจำนวน 500,000 บาท กับ เงินเดือนเดือนสุดท้าย x จำนวนปีที่ทำงาน = 600,000 บาท (60,000 x 10) และเลือกตัวที่น้อยกว่าเป็นฐานในการคำนวณ ซึ่งในกรณีนี้คือ 500,000 บาท
ดังนั้นจำนวนเงินที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณค่าใช้จ่าย คือ 1,600,000 บาท

จากรูปจะเห็นว่าค่าใช้จ่ายในส่วนที่ 2 มาจาก (1,600,000 – 70,000) x 50% = 765,000 บาท และเมื่อคำนวณออกมาแล้วทำให้นายบักหนอมต้องเสียภาษีทั้งสิ้นเป็นจำนวน 75,500 บาท ซึ่งเป็นการแยกคำนวณภาษีออกจากวิธีคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามปกตินั่นเองครับ
ถ้าไม่อยากเสียภาษีส่วนนี้ ต้องทำยังไงดี ?
เอาจริง ๆ คงต้องบอกว่า การไม่เสียภาษีในส่วนนี้ค่อนข้างยากถ้าหากไม่ใช่เงินได้ที่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีตามที่ว่ามาครับ และอีกอย่างคงต้องบอกว่าการได้รับสิทธิแยกคำนวณภาษีเมื่ออายุงานไม่น้อยกว่า 5 ปี ถือว่าเป็นทางเลือกที่ช่วยทำให้เราเสียภาษีน้อยลง เมื่อเปรียบเทียบกับการนำไปรวมคำนวณภาษีเงินได้ตามปกติ
อย่างไรก็ดี สิ่งที่พอจะช่วยบรรเทาภาระภาษีให้กับเราบ้าง คือ ส่วนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) หรือ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ที่สามารถเลือกใช้สิทธิ ขอคงเงินไว้ที่ทำงานเก่า (มีค่าธรรมเนียมรายปี) ซึ่งถือว่าไม่นำเงินออกมาจากกองทุน ทำให้ไม่ต้องเสียภาษี
หรือ ขอโอนเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจากกองทุนเก่า ไปยังกองทุนใหม่ของที่ทำงานแห่งใหม่ครับ เพราะจะถือว่าเป็นการโอนย้ายและได้สิทธิไม่ต้องนำมาคำนวณภาษีเงินได้ครับ
หรืออีกทางเลือกหนึ่งสำหรับคนที่ไม่อยากโอนไปที่ทำงานใหม่ คือ เลือกย้ายไปกองทุนรวม RMF แทน (RMF For PVD หรือ PVD to RMF) ไปลงทุนต่อในกองทุน RMF ของบลจ.แห่งใดแห่งหนึ่ง
สำหรับคนที่คิดว่าตัวเองยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงินก้อนนี้ หรือมีทางเลือกอื่นที่ดีกว่า ผมมักจะแนะนำให้เลือก คงเงินไว้ หรือ ย้ายไปที่กองทุนของทำงานใหม่ หรือ โอนไป RMF แทนครับ เพราะทำให้เงินเก็บเพื่อเกษียณของเรายังคงอยู่ต่อไป ยิ่งถ้าใครมีความรู้เรื่องการลงทุนแล้วก็สามารถบริหารพอร์ตการลงทุนต่อได้อีกด้วยครับ
สำหรับกรณีที่โอนไป RMF นั้น ข้อกำหนดคือไม่จำเป็นต้องซื้อ RMF ต่อเนื่องเหมือน RMF ปกติ เพราะถือว่าเป็นการสับเปลี่ยนมาจาก PVD แต่เราจะสามารถขายได้ตอนอายุครบ 55 ปี ซึ่งเหมือนกับ RMF หรือ PVD ตามปกติและได้รับสิทธิไม่ต้องเสียภาษีครับ
แต่สำหรับคนที่จำเป็นต้องนำเงินออกมาจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ก็อาจจะสบายใจได้นิดนึงครับ เพราะว่าจำนวนเงินที่นำมาคำนวณภาษีนั้นไม่ใช่ทั้งหมด แต่เป็นเฉพาะ เงินได้ส่วนที่เป็นผลประโยชน์ + เงินส่วนที่บริษัทสมทบ เท่านั้น ซึ่งตรงนี้ผมแนะนำให้ดูจากใบหักภาษี ณ ที่จ่ายที่แนบมาตอนได้รับเงินจากกองทุนครับ จะบอกว่ายอดที่นำมาคำนวณภาษีนั้นเป็นเท่าไร และโดยหักภาษี ณ ที่จ่ายไปกี่บาทครับ และถ้าในระหว่างปีนั้น เรายังมีสะสมเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่ ก็ยังสามารถนำส่วนที่สะสมมาลดหย่อนภาษีได้ตามปกติครับ

บทสรุป
โดยสรุปแล้ว คำถามที่ถามกันว่า ออกจากงาน ยื่นภาษียังไง ? นั้นเป็นคำตอบที่ตอบไม่ได้แบบสั้น ๆ เพราะมันมีปัจจัยมากมายที่มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ แต่สิ่งที่ผมคิดว่าเป็นประเด็นสำคัญที่เราต้องตอบให้ได้ เพื่อที่จะได้คำนวณภาษีอย่างถูกต้องนั้น มันคือ
- ออกจากงานแล้ว ยังต้องเอารายได้มายื่นภาษีอยู่ ไม่ว่าเราจะทำอะไรต่อไป หรือไม่ทำอะไรก็ตาม รายได้ที่เกิดขึ้นในระหว่างปีนั้น ยังต้องถูกนำมายื่นภาษีให้ถูกต้อง ซึ่งขึ้นอยู่กับประเภทเงินได้ที่เราได้รับในระหว่างปี
- ออกจากงานแล้ว เราเอาเงินอะไรออกมาบ้าง เงินได้ที่ได้รับหลังจากออกจากงานมีก้อนไหน สิ่งที่เราต้องรู้เพือที่จะได้ยื่นและเลือกวิธีการจัดการภาษีอย่างถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็น เงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้พิเศษ เงินชดเชยแบบต่าง ๆ หรือ เงินที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พวกนี้ต้องจัดการทำความเข้าใจและเตรียมเอกสารหลักฐานให้พร้อม เพื่อที่จะได้เลือกยื่นภาษีแบบที่มีประโยชน์กับเราที่สุดครับ
- ออกจากงานแล้ว บริหารเงินอย่างไรต่อ ถ้าหากเราเข้าใจวิธีการจัดการภาษี จะเห็นว่ามีทางเลือกในการบริหารจัดการเงิน เพื่อประหยัดภาษีได้ ไม่ว่าจะเป็นการคงเงินไว้หรือย้ายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ไปจนถึงการวางแผนจัดการการเงินด้านอื่น ๆ ประกอบกัน รวมถึงการเตรียมเงินไว้สำหรับการเสียภาษีด้วย (ถ้ามี)
สุดท้ายนี้ หากเป็นไปได้แล้ว ผมอยากให้การออกจากงานนั้นเป็นการออกโดยสมัครใจของพนักงาน หรือ สามารถตกลงกันได้อย่างดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างมากกว่า เพราะเรื่องพวกนี้มันมีผลกระทบต่อหน้าที่การงานและชีวิตต่อไปในอนาคตของคนทำงานอย่างเรา ๆ
และบางครั้ง มันเจ็บปวดมากกว่าการภาษีเสียอีกครับ
TAXBugnoms