ผมเป็นคนไม่ธรรมดา
มิตรสหายท่านหนึ่งกล่าวถาม
ผมต้องเสียภาษีไหม?
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ถ้าพูดคำนี้ขึ้นมาทีไร หลายคนน่าจะอยากเบือนหน้าหนีไป เพราะมันดูเป็นเรื่องที่วุ่นวาย ซับซ้อนปวดหัว ไปจนถึงไม่รู้ว่าจะคำนวณอย่างไรให้คุ้มค่าที่สุด บทความนี้จึงรวบรวมสิ่งที่ต้องรู้ทั้งหมดในการคำนวณภาษีตัวนี้มาฝากกันครับ
ภาษีเงินได้บุคคลธรรรมดา คืออะไร
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คือ ภาษีที่เรียกเก็บจากบุคคลธรรมดาที่มีเงินได้ โดยเงินได้ที่ว่านั้นต้องไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษี ส่วนบุคคลธรรมดาในทางกฎหมายภาษี (ประมวลรัษฎากร) นั้นหมายถึง บุคคลธรรมดา ผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง ห้างหุ้นส่วนสามัญและคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล
ดังนั้น ถ้าเรารู้ตัวดีว่าเราเข้าข่ายเป็น “บุคคลธรรมดา” ตามกฎหมาย และรู้ว่าเงินได้จากการทำงานของเราไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษี สิ่งที่เราต้องรู้ คือ วิธีคำนวณภาษีที่ถูกต้อง นั่นเองครับ
วิธีคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ก่อนจะอธิบายถึงวิธีการคำนวณอย่างละเอียด ผมอยากให้ทุกคนจำประโยคด้านล่างนี้ไว้ก่อนครับ
วิธีการคำนวณภาษี มี 2 วิธี
คือ วิธีเงินได้พึงประเมิน และ วิธีเงินได้สุทธิ
โดยเราต้องเสียภาษีจากวิธีที่คำนวณได้มากกว่า

หลังจากที่จำประโยคนี้ได้แล้ว ขออธิบายเพิ่มเติมอีกสักนิดครับว่า การคำนวณภาษีกรณีบุคคลธรรมดานั้น จะคิดคำนวณเป็นรายปี (ปีปฎิทิน ตั้งแต่ มกราคม – ธันวาคมของแต่ละปี) โดยมีความสัมพันธ์กับภาษีอีก 2 ตัว นั่นคือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี และ ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ในรูปแบบนี้ครับ
ความสัมพันธ์ของภาษีเงินได้
ภาษีสิ้นปี ครึ่งปี และ หัก ณ ที่จ่าย

โดยคำว่า ภาษีสิ้นปี หรือ ภาษีเงินได้ปลายปี หมายถึง ภาษีบุคคลธรรมดาที่คำนวณจากรายได้ทุกประเภทตั้งแต่เดือน มกราคม – ธันวาคม ของทุกปี และเรามีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษี (ภ.ง.ด. 90 หรือ 91) ภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไป
ส่วนคำว่า ภาษีครึ่งปี หมายถึง ภาษีบุคคลธรรมดาที่คำนวณจากรายได้ประเภทที่ 5 – 8 ตั้งแต่เดือน มกราคม – มิถุนายน ของทุกปี และเรามีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษี (ภ.ง.ด. 94) ภายในเดือนกันยายนของปีเดียวกัน
ดังนั้น สิ่งที่เราควรทำความเข้าใจเพิ่มเติมจากความสัมพันธ์ของภาษีเงินได้สิันปีและครึ่งปี นั่นคือ รายได้เท่าไรต้องเสียภาษี และ เงินได้พึงประเมิน 8 ประเภท มีอะไรบ้าง?
ทีนี้มาถึงตัวสุดท้าย ภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย หมายถึง ภาษีที่ผู้มีเงินได้โดนคนจ่ายเงินหักล่วงหน้าและนำส่งให้กับสรรพากรไว้ โดยที่เรา (ผู้รับเงิน) มีหน้าที่เก็บหลักฐานการหักภาษี ณ ที่จ่ายที่เกิดขึ้นในแต่ละปีมารวบรวมไว้พร้อมกับยื่นภาษีเงินได้ให้ถูกต้องต่อไปครับ
ยกตัวอย่างเช่น นายบักหนอมลองคำนวณภาษีของตัวเองแล้วพบว่า มีภาษีสิ้นปีที่ต้องเสีย คือ 100,000 บาท แต่เขาได้ยื่นภาษีครึ่งปีไว้จำนวน 30,000 บาท และถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ตลอดทั้งปี คือ 20,000 บาท เมื่อนายบักหนอมยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสิ้นปี ก็จะพบว่าตัวเองต้องเสียภาษีเพิ่มอีก 50,000 บาท (100,000 – 30,000 – 20,000) นั่นเองครับ
เอาล่ะครับ… ทีนี้เรากลับมาทำความเข้าใจวิธีการคำนวณภาษีกันต่อ (ยังจำประโยคที่ผมให้จำไว้ได้ใช่ไหมครับ) เนื่องจากวิธีการคำนวณภาษี 2 วิธี คือ วิธีคำนวณภาษีจากเงินได้พึงประเมิน และวิธีคำนวณภาษีจากเงินได้สุทธิ โดยผมขอเริ่มจากวิธีคำนวณภาษีจากเงินได้พึงประเมินก่อนครับ
วิธีคำนวณภาษีจากเงินได้พึงประเมิน
เหตุผลที่ผมขอเริ่มจากวิธีคำนวณภาษีจากเงินได้พึงประเมินก่อนนั้น เพราะมันเป็นวิธีที่ง่ายกว่าและเข้าใจได้ทันที นั่นคือ เอาเงินได้ (รายได้ของเราทั้งหมด) ที่ไม่ใช่เงินเดือน (หรือเงินได้ประเภทที่ 1) คูณด้วย 0.5% และ เราจะใช้วิธีนี้คำนวณภาษีเมื่อเรามีเงินได้ที่ไม่ใช่เงินเดือนรวมกันทั้งปีเกินกว่า 1 ล้านบาทเท่านั้น

หลายคนอาจจะสงสัยว่าตัวเลข 1 ล้านบาทมาจากไหน เพราะถ้าเปิดกฎหมายเทียบเคียงดูจะพบว่า วิธีการคำนวณจากเงินได้พึงประเมินนั้น กำหนดให้คำนวณเมื่อมีเงินได้ตั้งแต่ 120,000 บาทต่างหาก อย่างที่กฎหมายด้านล่างนี้ว่าไว้
มาตรา 48 (2) สำหรับผู้มีเงินได้พึงประเมินตั้งแต่ 120,000 บาทขึ้นไป การคำนวณภาษีตาม (1) ให้เสียไม่น้อยกว่าร้อยละ 0.5 ของยอดเงินได้พึงประเมิน
นั่นเป็นเพราะว่า มีกฎหมายอีกหนึ่งฉบับ คือ พระราชกฤษฎีกาฉบับที่ 480 กำหนดยกเว้นให้ไม่ต้องเสียภาษีจากการคำนวณตามวิธีเงินได้พึงประเมิน ถ้าหากคำนวณภาษีแล้วได้ไม่เกิน 5,000 บาท ดังนี้ครับ
มาตรา 3 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 2 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่ผู้มีเงินได้สำหรับภาษีที่ต้องเสียตามมาตรา 48(2) เฉพาะกรณีผู้มีเงินได้มีภาษีที่ต้องเสียทั้งสิ้นจำนวนไม่เกินห้าพันบาทในปีภาษีนั้น ทั้งนี้ สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2552 เป็นต้นไป
จึงสรุปได้ว่า ถ้าเรามีเงินได้อื่นที่ไม่ใช่เงินเดือน (เงินได้ประเภทที่ 1) ที่รวมกันแล้วไม่ถึง 1 ล้านบาท เราก็ไม่ต้องใช้วิธีเงินได้พึงประเมินนี้ในการคำนวณภาษีของเรานั่นเองครับ
ยกตัวอย่างเช่น นายบักหนอมมีรายได้ 2 ทาง โดยได้รับจากการทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือนจำนวน 1,000,000 บาท และได้รับจากการเป็นฟรีแลนซ์รับจ้างทำงาน (ไม่ใช่เงินเดือน) จำนวน 1,500,000 บาท
แปลว่า นายบักหนอมต้องคำนวณภาษีตามวิธีเงินได้พึงประเมิน เพราะมีเงินได้ฟรีแลนซ์เกิน 1 ล้านบาท โดยคำนวณแล้วพบว่าต้องเสียภาษีจำนวน 7,500 บาท (1,500,000 x 0.5%) แล้วจึงนำไปเปรียบเทียบกับวิธีคำนวณภาษีจากเงินได้สุทธิ และถ้าวิธีไหนได้จำนวนเงินที่มากกว่า ก็ให้ใช้ยอดนั้นเป็นยอดที่ต้องเสียภาษีครับ
รู้สึกใช่ไหมครับว่า วิธีนี้คำนวณภาษีจากเงินได้พึงประเมินคำนวณง่ายมากเลย ทีนี้เรามาดูกันอีกวิธีหนึ่ง นั่นคือ วิธีคำนวณภาษีจากเงินได้สุทธิ ครับ
วิธีคำนวณภาษีจากเงินได้สุทธิ

ก่อนจะเริ่มคำนวณตามวิธีเงินได้สุทธิ ผมขอแนะนำให้รู้จักกับ ตัวแปรในการคำนวณทั้ง 3 ตัวก่อนครับ นั่นคือ เงินได้ ค่าใช้จ่าย ค่าลดหย่อน โดยทั้งสามตัวนี้รวมกันเป็นสมการคำนวณภาษี ที่เรียกว่า เงินได้สุทธิ x อัตราภาษี
โดยวิธีคำนวณจะเริ่มจากนำ รายได้ (เงินได้) ที่เราได้รับตลอดทั้งปี มาหักออกด้วยค่าใช้จ่ายตามที่กฎหมายกำหนด และหักลบสุดท้ายด้วยรายการค่าลดหย่อน ก่อนจะไปคูณด้วยอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ดังนี้ครับ
ดังนั้นสิ่งที่เราต้องรู้ในการคำนวณ จะมีอยู่ 3 ประเด็น คือ
- รู้ว่าเงินได้เราทั้งปีมีเท่าไร และเป็นเงินได้ประเภทไหนบ้าง ในเงินได้พึงประเมินทั้งหมด 8 ประเภท
- รู้ว่ารายได้แต่ละประเภทของเรา หักค่าใช้จ่ายได้เท่าไร
- รู้ว่ารายการค่าลดหย่อนของเรามีอะไรบ้าง เพราะในแต่ละปีมีไม่เหมือนกัน เช่น รายการลดหย่อนภาษีปี 2563
หลังจากนั้นนำสิ่งที่เรารู้ทั้งหมด มาคำนวณตามสูตรที่กำหนดไว้ โดยเราจะเรียกตัวเลขหลังจากหักลบกันเสร็จว่า ‘เงินได้สุทธิ’ แล้วจึงค่อยนำไปคูณกับอัตราภาษีอีกทีหนึ่งครับ

หลักการสำคัญในการคำนวณภาษีด้วยวิธีเงินได้สุทธิ
คือ ค่าใช้จ่าย และ ค่าลดหย่อน
เพราะว่าการคำนวณภาษีด้วยวิธีเงินได้สุทธินั้น กฎหมายได้กำหนดให้เราสามารถหัก ‘ค่าใช้จ่าย’ โดยอ้างอิงจากประเภทเงินได้ โดยเงินได้แต่ละประเภทสามารถหักค่าใช้จ่ายได้มากน้อยแตกต่างกันไป บางประเภทหักได้มาก บางประเภทหักได้น้อยแบบสุดๆ ตามรูปนี้ครับ

ดังนั้น ถ้าเรารู้ว่าเงินได้ของเรานั้นเป็นประเภทไหน จะทำให้เราสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ถูกต้อง และอาจจะสามารถเปลี่ยนประเภทของเงินได้ให้สามารถหักค่าใช้จ่ายได้มากขึ้นอีกด้วยครับ ถ้าใครสนใจสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความ ค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ครับ
และหลังจากนั้น สิ่งที่ทุกคนควรศึกษาเพิ่มเติม คือ รายการลดหย่อนภาษีครับ โดยในแต่ละปีจะมีรายการลดหย่อนภาษีที่แตกต่างกันออกไป ยกตัวอย่างเช่น บทความ รายการลดหย่อนภาษีปี 2563 ที่ผมเขียนไว้นั้น จะเห็นว่าปีนี้มีรายการลดหย่อนพิเศษอย่าง SSF หรือ SSFX เพิ่มขึ้นมาครับ
ดังนั้นจากตัวอย่างเดิมที่ว่ามา ถ้านายบักหนอมมีรายได้ 2 ทาง โดยได้รับจากการทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือนจำนวน 1,000,000 บาท และได้รับจากการเป็นฟรีแลนซ์รับจ้างทำงาน (ไม่ใช่เงินเดือน) จำนวน 1,500,000 บาท กรณีของวิธีเงินได้สุทธิ จะต้องพิจารณาหลักการตามนี้ครับ คือ
- รายได้แต่ละทางของนายบักหนอมเป็นเงินได้ประเภทไหนตามกฎหมาย
- เงินได้ประเภทที่ 1 คือ มนุษย์เงินเดือน จำนวน 1,000,000 บาท
- เงินได้ประเภทที่ 2 คือ ฟรีแลนซ์ จำนวน 1,500,000 บาท
- ค่าใช้จ่ายแต่ละทางของนายบักหนอม หักได้เท่าไร
- ค่าใช้จ่ายของเงินได้ประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 กฎหมายกำหนดให้หักได้รวมกันสูงสุด 50% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 100,000 บาท ดังนั้นนายบักหนอมจะหักค่าใช้จ่ายได้สูงสุด คือ 100,000 บาทครับ
- นายบักหนอมมีค่าลดหย่อนอะไรบ้าง
- เนื่องจากข้อมูลที่ให้มายังไม่มีค่าลดหย่อนใดๆ ดังนั้นนายบักหนอมจะมีค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาทที่สามารถใช้สิทธิได้ตัวเดียวครับ
ดังนั้น เงินได้สุทธิของนายบักหนอมที่ใช้คำนวณภาษีจะเท่ากับ (2,500,000 – 100,000 – 60,000) = 2,340,000 บาทนั่นเองครับ ซึ่งถ้าเราเอามาคำนวณในตารางอัตราภาษีเงินได้ จะได้เท่ากับ 467,000 บาท (ดูวิธีคำนวณตัวเลขได้จากรูปด้านล่าง) ซึ่งเป็นยอดเงินที่จำนวนสูงมากกกกก เนื่องจากนายบักหนอมยังไม่มีการวางแผนภาษีใด ๆ นั่นเองครับ
เมื่อคำนวณภาษีทั้ง 2 วิธีมาเปรียบเทียบกันเรียบร้อยแล้ว เราจะได้รับคำตอบว่า นายบักหนอมต้องเสียภาษีตามวิธีเงินได้สุทธิ เนื่องจากมีจำนวนที่มากกว่านั่นเองครับ (วิธีเงินได้สุทธิ 467,000 บาท ส่วนวิธีเงินได้พึงประเมิน 7,500 บาท)

สรุป
โดยสรุปแล้ว ผมมองว่าสิ่งที่เราควรรู้ก่อนจะคำนวณและวางแผนภาษีนั้น มี 5 ข้อ ดังนี้ครับ
- รู้ข้อมูลรายได้ของตัวเองก่อน เพราะไม่ว่าจะคำนวณตามวิธีไหน สิ่งสำคัญ คือ รายได้ที่แท้จริงของเรา เพราะรายได้ คือตัวกำหนดในการคำนวณภาษีทั้ง 2 วิธี ไม่ว่าจะเป็นวิธีเงินได้พึงประเมินหรือวิธีเงินได้สุทธิก็ตาม
- เข้าใจประเภทของเงินได้ที่ตัวเองมีตามกฎหมาย ว่าเป็นเงินได้ประเภทไหนบ้างใน เงินได้พึงประเมิน 8 ประเภท เพราะมีผลต่อการหักค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษี
- เลือกหักค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีอย่างเหมาะสม ตามแนวทางที่สามารถให้หักได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
- วางแผนจัดการลดหย่อนภาษีให้เหมาะสมกับตัวเอง และ กระแสเงินสดที่มีอยู่
- ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง รวมถึงคอยอัพเดทกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างสม่ำเสมอ
หากใครสนใจรับฟังข้อมูลเพิ่มเติมในรูปแบบคลิปวีดีโอ สามารถดูได้ช่อง Youtube Channel TAXBugnoms ด้านล่างนี้ครับ
ท้ายที่สุดแล้ว ผมเชื่อว่าการจัดการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เป็นเรื่องที่เราทุกคนควรรู้ เพราะภาษีตัวนี้เป็นภาษีที่เกี่ยวข้องกับชีวิตเราทั้งหมดตั้งแต่วันที่เราเริ่มมีรายได้ที่ต้องเสียภาษี และมันจะอยู่กับเราไปจนกว่าเราจะไม่มีรายได้
หรือวันที่เราไม่ได้เป็น
TAXBugnoms
บุคคลธรรมดาอีกต่อไป