เงินได้พึงประเมิน 8 ประเภท มีอะไรบ้าง?

เงินได้พึงประเมิน 8 ประเภท

การวางแผนภาษี เริ่มที่เงินได้

มารู้จักกับเงินได้พึงประเมินทั้ง 8 ประเภทกันครับ

เงินได้พึงประเมิน คำนี้ฟังดูแล้วอาจจะรู้สึกหนาว ๆ ร้อน ๆ ในใจ ว่าใครจะมาประเมินอะไรเรา แต่ถ้าพูดให้เข้าใจง่าย มันคือ เงินได้หรือรายได้ที่เราต้องเอามาเสียภาษีนั่นเองครับ (ในบางมุม เงินได้อาจจะหมายถึง สิ่งที่ทำให้เรารวยขึ้น) ซึ่งกฎหมายภาษีอย่างประมวลรัษฏากรได้ให้ความหมายของเงินได้นี้ไว้ 5 อย่าง คือ

Advertisements
  1. เงิน ซึ่งหมายความรวมถึงทุกอย่างที่ใช้แทนเงินได้
  2. ทรัพย์สินซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน เช่น รางวัลต่างๆ
  3. ประโยชน์ซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน เช่น สิ่งที่ไ้ด้รับเพิ่มจากการทำงาน
  4. เงินค่าภาษีอากรที่ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้
  5. เครดิตภาษีตามที่กฎหมายกำหนด (หมายถึง เครดิตภาษีเงินปันผล

รู้จักเงินได้พึงประเมิน 8 ประเภท

นอกจากนิยามแล้ว กฎหมายยังแบ่งเงินได้พึงประเมินออกเป็น 8 ประเภท ตามการประกอบอาชีพที่แตกต่างกัน ซึ่งบางคนอาจจะคุ้นเคยในชื่อมาตรา 40(1) – (8) แห่งประมวลรัษฏากร ดังนี้ครับ

  1. เงินได้ประเภทที่ 1 หรือ มาตรา 40(1) คือ เงินได้จากการจ้างแรงงาน เช่น เงินเดือน โบนัส ต่างๆ
  2. เงินได้ประเภทที่ 2 หรือ มาตรา 40(2) คือ เงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ เช่น ค่านายหน้า งานที่รับจ้างทำตามสัญญาจ้างเป็นครั้งคราวไป
  3. เงินได้ประเภทที่ 3 หรือ มาตรา 40(3) คือ เงินได้ค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ค่าแห่งลิขสิทธิ์หรือสิทธิอย่างอื่น เงินปี หรือเงินได้ที่มีลักษณะ เป็นเงินรายปีอันได้มาจากพินัยกรรม นิติกรรมอย่างอื่น หรือคำพิพากษาของศาล
  4. เงินได้ประเภทที่ 4 หรือ มาตรา 40(4) คือ ดอกเบี้ย เงินปันผล เงินส่วนแบ่งกำไรต่างๆ
  5. เงินได้ประเภทที่ 5 หรือ มาตรา 40(5) คือ เงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สินต่างๆ
  6. เงินได้ประเภทที่ 6 หรือ มาตรา 40(6) คือ เงินได้จากวิชาชีพอิสระต่างๆ เช่น วิชากฎหมาย การประกอบโรคศิลป (แพทย์) วิศวกรรม สถาปัตยกรรม การบัญชี ประณีตศิลปกรรม หรือวิชาชีพอื่นที่กฎหมายกำหนด
  7. เงินได้ประเภทที่ 7 หรือ มาตรา 40(7) คือ เงินได้จากการรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องลงทุนด้วยการจัดหาสัมภาระ ในส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือ เช่น การรับเหมาก่อสร้าง
  8. เงินได้ประเภทที่ 8 หรือ มาตรา 40(8) คือ เงินได้จากการธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง การขายอสังหาริมทรัพย์ หรือเงินได้อื่นๆที่ไม่ได้ระบุไว้ใน 7 ประเภท

ผมเคยสรุปประเด็นเรื่องเงินได้พึงประเมิน 8 ประเภทนี้ไว้ในแฟนเพจ TAXBugnoms ตามรูปดังนี้ครับ

Advertisements
Advertisements

จากรูปข้างต้นจะเห็นว่าเราสามารถแบ่งเงินได้พึงประเมินออกเป็น 3 กลุ่มตามลักษณะของการทำงาน นั่นคือ การใช้แรงงานไปแลกเงิน การมีทรัพย์สินสร้างรายได้ และ การลงทุนทำในรูปแบบของธุรกิจ ซึ่งตรงนี้จะส่งผลต่อการหักค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกันไปตามแต่ละประเภทของเงินได้ที่ว่ามาครับ

สิ่งที่คนมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมิน

คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินอยู่ 3 ประเด็น นั่นคือ เงินได้พึงประเมินบางประเภทไม่ต้องเสียภาษี กับเราสามารถเลือกเสียภาษีจากเงินได้แค่บางประเภท ซึ่งความเป็นจริงแล้ว เงินได้พึงประเมินทุกประเภทต้องนำมาเสียภาษีให้ถูกต้อง และ ถ้าเรามีเงินได้พึงประเมินหลายประเภท เราก็ต้องเอาทุกประเภทมาเสียภาษีให้ถูกต้องด้วยครับ

และประเด็นสุดท้ายที่คนมักเข้าใจผิดมากที่สุด นั่นคือ เข้าใจประเภทของเงินได้ตัวเองผิด และนี่คือสิ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาหลายอย่างตามมาครับ ยกตัวอย่างเช่น

Advertisements

1. เงินเดือนที่ไม่ใช่แค่การจ่ายเงินเท่ากันทุกเดือน

การจะเรียกว่าเป็น “เงินเดือน” หรือ “เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 1” ต้องเป็นลักษณะของ “การจ้างแรงงาน” โดยมีสัญญาจ้างตามกฎหมายแรงงาน แบบนี้ถึงจะฟันธงได้ชัดเจนว่าเป็นเงินได้ประเภทที่ 1 ซึ่งถ้าหากบางครั้ง มีการจ่ายเงินเดือนตรงทุกเดือน แต่ลักษณะของการทำงานเป็นการว่าจ้างในรูปแบบอื่น แต่ตกลงกันแค่ว่าจะจ่ายทุกเดือน แบบนี้ก็อาจจะถือว่าไม่ใช่เงินเดือนตามกฎหมายครับ

2. ฟรีแลนซ์ที่ไม่ใช่วิชาชีพอิสระ และไม่ใช่การรับเหมา

หลายคนมักจะเข้าใจผิดว่า ฟรีแลนซ์แปลว่าวิชาชีพอิสระ และถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 6 ตามกฎหมาย แต่ความจริง คือ ฟรีแลนซ์เป็นอาชีพอิสระและถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 2 ตามกฎหมายต่างหากครับ

เพราะคำว่าวิชาชีพอิสระ คือ อาชีพที่มีใบประกอบวิชาชีพเฉพาะทาง โดยกฎหมายกำหนดไว้ทั้งหมด 6 วิชาชีพ แพทย์ (ผู้มีใบประกอบโรคศิลป์) ทนายความ นักบัญชี วิศวกรรม สถาปนิก และประณีตศิลป์ แบบนี้ถึงจะเรียกว่าเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 6 ได้

หรือบางคนเข้าใจผิดว่างานที่ทำอยู่มันคือ การรับเหมา ซึ่งถ้าจะถือว่าเป็นการรับเหมา (เงินได้ประเภทที่ 7) ประเด็นสำคัญมันอยู่ที่เราต้องเป็นผู้จัดหาอุปกรณ์ทุกอย่าง มีการลงทุนทั้งค่าแรงงานและค่าของต่างๆด้วยตัวเอง ถึงจะเข้าข่ายงานรับเหมา (เหมือนรับเหมาก่อสร้างที่ต้องมีการซื้อของและจ้างคนมา) ไม่งั้นก็จะถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 2 เหมือนกันครับ

ดังนั้นฟรีแลนซ์ส่วนใหญ่ที่ใช้แรงงานแลกเงินมา จึงมักจะถูกพี่สรรพากรบอกว่าเป็นเงินได้ประเภทที่ 2 ตามกฎหมายมากกว่าประเภทอื่นๆ เพราะไม่ได้เป็นวิชาชีพอิสระ ไมได้รับเหมา และไม่สามารถพิสูจน์ต้นทุนได้ชัดเจนนั่นเองครับ

3. เงินได้ไม่เกี่ยวกับการประกอบอาชีพ

เมื่อมีคำว่าเงินได้และผูกกับอาชีพ หลายคนจึงคิดว่าการมีวิชาชีพอิสระจะได้รับประโยชน์สูงสุด แต่ความเป็นจริงแล้ว การมีอาชีพกับการมีรายได้มันแตกต่างกันครับ เช่น คุณหมอที่มีใบประกอบโรคศิลป์ท่านหนึ่ง จะถือว่าตัวเองมีเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 6 ได้ ก็ต้องมีการประกอบวิชาชีพชัดเจน เช่น เปิดคลินิกเป็นของตัวเอง แต่ถ้าหากคุณหมอท่านนั้นเป็นแพทย์รับเงินเดือนที่โรงพยาบาล ก็จะถือว่ามีเงินได้ประเภทที่ 1 ตามกฎหมาย หรือ ถ้าคุณหมอท่านนี้มีรายได้จากการปล่อยเช่าทรัพย์สิน ก็จะเป็นเงินได้ประเภทที่ 5 นั่นเองครับ

ดังนั้น อาชีพที่ทำอยู่ ไม่ได้เกี่ยวกับประเภทของเงินได้ แต่เราจะรู้ได้ว่าเงินได้ประเภทไหน ก็ขึ้นอยู่กับการทำงานนั้นๆ ไม่ใช่กำหนดมันจากอาชีพที่กระทำนั่นเองครับ

จากรูปข้างต้น ผมอยากให้ลองทำความเข้าใจกับประเภทของเงินได้ดูกันครับ ซึ่งจะเห็นว่าเราสามารถคัดกรองคร่าวๆ จาก 3 แนวทางที่แบ่งไว้ข้างต้น นั่นคือ การใช้แรงงานไปแลกเงิน การมีทรัพย์สินสร้างรายได้ และ การลงทุนทำในรูปแบบของธุรกิจ นั่นเองครับ

4. เงินได้พึงประเมินเปลี่ยนแปลงประเภทได้

ข้อนี้หลายคนอ่านแล้วน่าจะรู้สึกแปลก ๆ ใช่ไหมครับ แต่มันคือความจริงครับ ยกตัวอย่างเช่น เงินปันผลจากกองทุนรวม และ เงินได้จากการขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวม ซึ่งจากเดิมเราจะคุ้นเคยกับการเป็นเงินได้ประเภทที่ 8 ตามกฎหมาย แต่เมื่อมีกฎหมายใหม่ออกมาเปลี่ยนแปลงนิยามของกองทุนรวมใหม่ (พรบ.แก้ไขประมวลรัษฏากรฉบับที่ 52) ก็ทำให้เงินได้พึงประเมินทั้งสองตัวนี้ กลายเป็นเงินได้ประเภทที่ 4 (มาตรา 40(4)(ข)) ในกรณีเงินปันผล และเงินได้ตามมาตรา 40(4)(ช) กรณีเงินได้จากการขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวม ดังนั้นไม่แน่นะครับว่าในอนาคต เราอาจจะเห็นการเปลี่ยนแปลงเงินได้พึงประเมินประเภทอื่นตามมาอีกก็ได้ครับ

ถ้าไม่รู้ว่ามีเงินได้ประเภทไหน
ลองดูหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย

สำหรับคนที่ไม่รู้ว่าตัวเองมีเงินได้ประเภทไหน หรือมีเงินได้พึงประเมิน 8 ประเภทตัวไหน อีกทางหนึ่งที่ผมแนะนำได้ คือ สังเกตจาก “หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย” จะมีระบุว่าเป็นเงินได้ประเภทไหนตามกฎหมายไว้ให้เราพอเดาประเภทเงินได้ของเราออกครับ แต่ในบางกรณีหนังสือรับรองที่ว่านี้ อาจจะเขียนว่า “ค่าจ้างทำของ” “ค่าบริการ” หรือ “ค่าจ้าง” เฉย ๆ โดยที่ไม่ได้ใส่ประเภทมาด้วย

ถ้าเกิดเจอกรณีแบบนี้ ผมแนะนำให้พิจารณาจากลักษณะของการทำงานครับ เช่น กรณีที่เป็นวิชาชีพอิสระต่างๆ ระบุชัดเจน อันนี้จะถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 6 แต่ถ้าเป็นงาน “รับเหมาก่อสร้าง” หรืองานที่ผู้มีเงินได้ต้องจัดหาวัสดุอุปกรณ์มาทำ อันนี้จะถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 7 แต่ถ้าเกิดตัวผู้มีเงินได้มีการประกอบในรูปแบบที่เป็น “พาณิชยกรรม” ที่ชัดเจน เช่น มีหน้าร้าน หรือจัดทำเป็นรูปแบบธุรกิจแล้ว ส่วนนี้จะเป็นเงินได้ประเภทที่ 8 แต่ถ้าเช็คดูแล้วไม่เข้าข่ายที่ว่ามานี้ ผมคิดว่ามักจะถูกตีความเป็นเงินได้ประเภทที่ 2 ในท้ายที่สุดครับ

หวังว่าบทความนี้จะทำให้เข้าใจเรื่องของเงินได้พึงประเมิน 8 ประเภทได้ชัดเจนยิ่งขึ้นนะครับ ซึ่งการรู้ประเภทของเงินได้นี้จะสัมพันธ์กับการหักค่าใช้จ่าย และการวางแผนในเรื่องของค่าลดหย่อนเพื่อประหยัดภาษี ซึ่งถ้ามีโอกาสจะมาเล่าเรื่องนี้ให้ฟังต่อในตอนต่อ ๆ ไปครับ สุดท้ายนี้ขอฝากข้อคิดดี ๆ ไว้ครับว่า

ต่อให้ไม่รู้ว่ามีเงินได้ประเภทไหน
ก็ยังดีกว่าไม่มีเงินได้อะไรเลย

TAXBugnoms

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Allow