ตกลงปีนี้เลื่อนยื่นงบการเงิน แบบ ภ.ง.ด. 50 ไหม?
หลายคนถามคำถามนี้เข้ามามาก ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนเมษายน
ผมเชื่อว่า การเลื่อนยื่นงบการเงิน หรือการเลื่อนยื่นภาษี (แบบ ภ.ง.ด. 50) สำหรับปี 2564 ที่ต้องนำส่งงบการเงินและแบบแสดงรายการภาษีปี 2563 นั้น น่าจะเป็นประเด็นต่อเนื่องมาก ตั้งแต่สถานการณ์โควิด-19 ที่ดูเหมือนจะหนักขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 จนถึงช่วงต้นเดือนพฤษภาคม ที่เราทุกคนได้รับคำตอบจาก กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และ กรมสรรพากร เรียบร้อยแล้ว
โดยบทความนี้ ผมจะมาสรุปสิ่งที่ต้องรู้ทั้งหมดเกี่ยวกับเรื่องนี้ และผมขอแบ่งเนื้อหาเพื่ออธิบายการเลื่อนการนำส่งออกจากกันใน 2 ฝั่ง โดยแยกออกเป็นฝั่งของ งบการเงิน (กรมพัฒนาธุรกิจการค้า) และ แบบ ภ.ง.ด. 50 (กรมสรรพากร) ดังนี้ครับ
สรุปประเด็นเลื่อนส่งงบการเงิน

ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล นิติบุคคลต่างประเทศ กิจการร่วมค้า
เริ่มต้นจากตัวที่เข้าใจง่ายที่สุด อย่าง ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล นั้นจะได้รับการขยายสิทธิ์ในการยื่นงบการเงินที่มีรอบบัญชีสิ้นสุดระหว่างวันที่ 1 – 31 ธันวาคม 2563 ผ่านระบบ DBD e-Filing ไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 เท่านั้นครับโดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ เพิ่มเติมครับ (อ้างอิง : หนังสือขยายเวลายื่นงบการเงินนิติบุคคล 3 ประเภท)
บริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด สมาคม
แต่ในฝั่งของ บริษัท จะมีความซับซ้อนในการนำส่งงบการเงิน เพราะไม่ได้เลื่อนวันที่นำส่งงบการเงินให้ แต่เป็นการเลื่อนวันที่ประชุมให้เพียงเท่านั้นครับ โดยมีรายละเอียดตามรูปด้านล่าง ดังนี้ครับ
จากเนื้อหาของประกาศและคำชี้แจงข้างต้น สามารถสรุปออกมาได้ว่า (อ้างอิง : การจัดประชุมนิติบุคคลภายใต้ประกาศของจังหวัด เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว และ คำชี้แจงเกี่ยวกับการจัดประชุมนิติบุคคลภายใต้ประกาศของจังหวัด เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว)
- หากมีเหตุจากการประกาศ หรือ มาตรการควบคุมการจัดกิจกรรม ที่ทำให้ได้รับผลกระทบจนต้องเลื่อนการประชุมออกไป ไม่สามารถจัดประชุมขึ้นได้ระหว่างวันที่ 26 – 30 เมษายน 2564 (สำหรับรอบปีบัญชีสิ้นสุดระหว่างวันที่ 26 ธันวาคม 2563 – 31 ธันวาคม 2563) ให้สิทธิ์เลื่อนเลื่อนการประชุมครั้งใหม่ไม่เกิน 1 เดือนนับจากวันประชุมที่กำหนดไว้เดิม
- เมื่อมีการเลื่อนการประชุมแล้ว จะต้องจัดทำและ ยื่นหนังสือชี้แจงพร้อมการยื่นงบการเงิน สำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น สำเนารายงานการประชุม ผู้ถือหุ้น หรือรายงานประจำปี แล้วแต่กรณี ผ่านช่องทางออนไลน์ (www.dbd.go.th) ได้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน – 30 มิถุนายน 2564
ซึ่งจากข้อมูลของประกาศทางกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กำหนดแนวทางไว้ดังนี้ครับ
- เลือกบริการออนไลน์ เมนูการจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ (DBD e-Registration)
- คลิก เมนูเข้าสู่ระบบโดยนิติบุคคล
- กรอกรหัสผู้ใช้งานและรหัสผ่านของนิติบุคคลหรือรหัสที่ใช้งานระบบ DBD e-Filing
- คลิกเข้าสู่ระบบ
- กรอกข้อมูลชี้แจงเหตุผล
- คลิกบันทึกข้อมูล
โดย ณ ตอนนี้ยังไม่มีหน้าตาหรือวิธีการยื่นนำส่งข้อมูลตรงส่วนนี้นะครับ คงต้องรอระบบเปิดก่อน และถ้าหากไม่มีอะไรผิดพลาด ผมจะมาอัพเดทหน้าตาการทำงานในส่วนนี้ให้อีกครั้งหนึ่งครับ
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าบริษัท บักหนอม จำกัด เดิมกำหนดวันประชุมไว้ 30 เมษายน 2564 แต่ไม่สามารถประชุมได้ ก็จะสามารถเลื่อนวันประชุมใหม่ได้ภายใน 1 เดือน (ภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2564) ซึ่งถ้าหากบริษัทบักหนอมเลือกที่จะเลื่อนวันประชุมเป็นวันดังกล่าวแล้ว ก็จะต้องนำส่งรายละเอียดให้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าผ่านระบบ DBD e-Filing ดังต่อไปนี้ครับ
- บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น ภายในวันที่ 14 มิถุนายน 2564
- งบการเงิน ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2564
โดยประเด็นที่ผมมองว่าต้องระวังนั้น คือ วันที่ในรายงานผู้สอบบัญชีรับอนุญาต ต้องไม่เกินวันที่ประชุมเดิม เนื่องจากเราต้องการเลื่อนประชุม ไม่ใช่เลื่อนงบการเงิน (แปลว่างบการเงินเสร็จทันตามกำหนด) ดังนั้นสำหรับนักบัญชีต้องระวังตรงนี้ครับ
บริษัทเลื่อนประชุมได้ทุกจังหวัดไหม?
นอกจากเรื่องนี้แล้ว ยังมีอีกหนึ่งคำถามที่ถามกันบ่อย ๆ สำหรับการยื่นงบการเงินครับ นั่นคือ สิทธิ์ในการเลื่อนประชุมนั้น ได้ครบทุกจังหวัดหรือเปล่า เพราะ ดูเหมือนว่าจะต้องอ้างอิงจากประกาศของทางราชการซึ่งต้องมีการกำหนดควบคุมการเปิดหรือปิดสถานที่เป็น การชั่วคราว หรือ มีมาตรการในการควบคุมการจัดกิจกรรมในพื้นที่
จากปัญหาในข้อนี้ ผมขอให้ความเห็นไว้ 2 ประเด็นตามนี้ครับ
- ในช่วงวันที่ 26-30 เมษายน 2564 (ช่วงที่จัดประชุม) ประเทศไทยจะมีมาตรการอยู่ 2 แบบ คือ พื้นที่ควบคุมสูงสุด 18 จังหวัด กับ พื้นที่ควบคุม 59 จังหวัด ดังนั้น ถ้ามองว่าเป็นการได้รับผลกระทบจริง ๆ ทุกจังหวัดควรสามารถใช้สิทธิ์ตรงนี้ได้ครับ จากข้อความในประกาศที่วา “เป็นเหตุให้ต้องเลื่อนการประชุมออกไป” ดังนั้นถ้าหากเป็นการได้รับผลกระทบแล้วล่ะก็ ควรได้สิทธิ์เดียวกันทั้งหมดครับ
- จากประกาศล่าสุดของห้างหุ้นส่วน เราจะเห็นว่าทางฝั่งห้างฯนั้น ได้รับสิทธิ์เลื่อนนำส่งงบการเงินหมดทุกพื้นที่แล้ว ดังนั้นการจำกัดสิทธิ์แค่เฉพาะบริษัทมันจะดูขัดแย้งและไม่เป็นธรรมสักเท่าไรครับ
แต่อย่างไรก็ดี นี่เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผมนะครับ ยังไงโปรดใช้วิจารณญานในการพิจารณาด้วยครับ
สรุปประเด็นเลื่อนยื่นภ.ง.ด. 50
สำหรับการยื่นแบบแสดงรายการภ.ง.ด. 50 นั้น ทางกรมสรรพากรได้ออกมาประกาศชัดเจนว่า ทั้งห้างหุ้นส่วนและบริษัทนิติบุคคล ได้รับสิทธิ์ขยายเวลายื่นภ.ง.ด.50 เพื่อชำระ ภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับรอบบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 แต่ให้เฉพาะการยื่นแบบผ่านอินเตอร์เน็ตเท่านั้น (รวมถึงแบบ ภ.ง.ด. 55 และ แบบ Disclosure Form ด้วยครับ)

อย่างไรก็ตาม ทางกรมสรรพากรมีการกำหนดข้อจำกัดสำหรับ นิติบุคคลที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ที่ไม่สามารถประชุมได้ในช่วงวันที่ 26 – 30 เมษายน 2564 นั้น ต้องมีการยื่นคำร้องเลื่อนการประชุมด้วยภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 ทีเวปกรมสรรพากรเพิ่มเติมด้วยครับ ถึงจะสามารถใช้สิทธิ์ยื่นแบบภ.ง.ด. 50 ผ่านอินเตอร์เน็ตได้ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564
จากเรื่องราวทั้งหมด ผมสรุปเนื้อหาการเลื่อนยื่นงบการเงินและแบบแสดงรายการภาษี (ภ.ง.ด. 50) ออกมาในรูปแบบคลิปวีดีโดได้ดังนี้ครับ
บทสรุปทั้งหมด
เรามองเห็นอะไรจากเรื่องนี้ ?
มาถึงตรงนี้ ผมคิดว่ามีอยู่ 3 ข้อที่เราบริหารจัดการให้ดีตั้งแต่ตอนนี้เป็นต้นไป ไม่ว่าจะมีประกาศให้สามารถเลื่อนยื่นงบการเงินหรือแบบแสดงรายการภาษี นั่นคือ
- เลื่อนไม่ใช่ลดภาษี การเลื่อนยื่นภาษีเป็นการขยายระยะเวลาออกไปเท่านั้น แต่ไม่ได้แปลว่าเราจะได้รับสิทธิ์ลดยอดภาษีในการชำระ ดังนั้นต้องเตรียมสำรองเงินไว้ให้ดีด้วยนะครับ
- ถ้ามีเวลาเพียงพอ เราควรยื่นตามกำหนดเวลาเดิม สำหรับคนที่สามารถยื่นงบการเงินได้ภายในกำหนดเวลา (สามารถจัดประชุมได้) ผมคิดว่าก็ไม่มีเหตุจำเป็นที่ต้องเลื่อนยื่นงบการเงินออกไป เพราะเราสามารถเลือกเลื่อนเฉพาะการยื่นภ.ง.ด.50 เพียงอย่างเดียวเพื่อใช้สิทธิประโยชน์ส่วนนี้ก็สามารถทำได้เหมือนกันครับ
- แนวทางในอนาคตของกรมสรรพากรจะอ้างอิงจากการยื่นผ่านอินเตอร์เน็ต จากแนวทางใน 1-2 ปีที่ผ่านมา เราจะเห็นว่าผู้ประกอบการที่ยื่นแบบผ่านอินเตอร์เน็ตจะได้รับโอกาสในการขยายเวลามากกว่าการยื่นแบบกระดาษ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงแนวทางของมาตรการต่าง ๆ ในอนาคตต่อจากนี้ว่าจะมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เป็นหลักครับ

สุดท้ายนี้ ผมหวังว่าบทความทั้งหมดนี้ จะช่วยให้ทุกคนสามารถยื่นงบการเงินปี 2564 ได้อย่างเข้าใจและทันเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้นะครับผม
เพราะสิ่งที่น่ากลัวกว่าการยื่นไม่ทันนั้น
มันคือเวลาและเงินที่เราต้องเสียไป