ในวันที่ต้องนำเงินสำรองฉุกเฉินมาใช้ ทำให้ผมรู้ว่า…

เราควรมีเงินสำรองฉุกเฉินเท่าไร?

คำถามนี้อาจจะเป็นคำถามที่ตอบยากที่สุด ณ ตอนนี้

ถ้าขึ้นต้นด้วยคำถามแบบนี้ เชื่อเลยว่าหลายคนคงตอบได้ทันทีว่าต้องมี 3-6 เท่าของรายจ่ายต่อเดือน – อาจจะเพิ่มขึ้นมากกว่าเก่าในช่วงนี้-ช่วงที่เจอวิกฤตโควิด19 – โดยส่วนตัวผมเองก็เชื่อหลักการการเก็บเงินฉุกเฉินแบบนี้มาตลอด จากความคิดที่ว่า การเตรียมพร้อมเป็นเรื่องสำคัญ และ วันหนึ่งคงจะมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นในชีวิตของเราอย่างแน่นอน

Advertisements

แต่ในวันที่เรื่องราวเหล่านี้เกิดขึ้นจริงๆ สิ่งที่ทำให้ผมคิดและตั้งคำถามต่อก็คือ นอกจากคำว่า เงินสำรองฉุกเฉิน แล้ว เราควรจะมองให้ออกด้วยว่า เหตุผลที่เราต้องเก็บเงินสำรองฉุกเฉิน คืออะไร?

เหตุการณ์ไม่คาดฝันที่เราไม่คาดคิด หรือ
เหตุการณ์ที่รู้ว่ามันจะเกิด แต่ไม่ได้คิดเตรียมตัว

เวลาได้ยินคำว่า “เหตุการณ์ไม่คาดฝัน” เรามักจะนึกถึงเหตุการณ์สำคัญๆที่เกิดขึ้นในชีวิตเรา เช่น อุบัติเหตุ ตกงาน หรือความเจ็บป่วยต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามลักษณะของการใช้ชีวิต – แน่นอนว่ายังไม่มีใครคิดถึงโควิด19

Advertisements

ดังนั้น ถ้ามองในกรอบแคบๆของคำว่าเงินฉุกเฉินที่นักวางแผนการเงินหรือทฤษฏีการเงินต่างๆที่คอยบอกว่า เราต้องมี 3–6 เท่าของรายจ่ายต่อเดือน (สำหรับคนทำงานประจำ) หรือน่าจะต้องมีสัก 6–12 เท่าของรายจ่ายต่อเดือน (สำหรับฟรีแลนซ์ อาชีพอิสระต่างๆ) ตรงนีคือสิ่งที่บอกว่า มันคือเกราะกำบังเมื่อเหตุการณ์ไม่คาดฝันและเหตุจำเป็นกับการใช้ชีวิตของเรา

แต่ในอีกมุมหนึ่ง คำว่า “เหตุการณ์” ที่ว่า อาจจะเกิดขึ้นกับคนที่เรารัก คนสำคัญ หรือ คนในครอบครัวก็ได้

ถ้าใครเคยฟังพอสแคสท์ตอนที่ผมพูดถึง เงินเกษียณ การจ่ายภาษี และชีวิตที่มีความหมาย ที่ผมเล่าเรื่องคุณพ่อเข้าโรงพยาบาลให้ฟัง และบอกว่าสิ่งสำคัญ คือ ความหมายของการใช้ชีวิต

Advertisements

แต่หลังจากที่ผมได้เห็นบิลค่ารักษาพยาบาลของคุณพ่อ ร่วมกับค่าใช้จ่ายต่างๆที่ตามมาหลังจากออกจากโรงพยาบาล (หรืออาจจะต้องกลับเข้าไปใหม่อีกหลายครั้ง) มันทำให้ผมตั้งคำถามต่อว่า เงินฉุกเฉินที่เราวางแผนไว้นั้น มันเพียงพอจริงๆ แค่ในมุมของเรา แต่ถ้าหากเรามีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเพื่อคนอื่น เราจะรู้ได้อย่างไรว่า เราต้องเก็บเงินฉุกเฉินไว้เท่าไร และแค่ไหนถึงจะเรียกได้ว่าพอจริงๆ

ก่อนที่จะดึงดราม่า ผมขอเล่าก่อนว่า ตัวผมเองนั้นมีการเก็บเงินฉุกเฉินสำรองไว้ประมาณ 1 ปีล่วงหน้า (ด้วยมองว่าอาชีพฟรีแลนซ์นั้นมีความไม่แน่นอนสูง) โดยเก็บเงินไว้ในเงินฝากออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูงของธนาคารแห่งหนึ่ง นอกจากนั้นผมยังทำประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ ในวงเงินระดับหนึ่งที่คิดว่าป้องกันความเสี่ยงได้ครบถ้วน

แต่พอย้อนมองถึงคนในครอบครัวที่เกี่ยวข้อง ณ วันที่เกิดปัญหา ผมพบความจริงข้อหนึ่งว่า คนอื่นอาจจะไม่ได้เตรียมพร้อมไว้เหมือนกันกับเรา ยกตัวอย่างเช่น คุณพ่อ คุณแม่ของผมไม่มีประกันสุขภาพ (แน่นอนว่าถ้าทำตอนนี้ก็ไม่คุ้มค่ากับเบี้ยที่จะต้องจ่าย ด้วยอายุและความเสี่ยงต่างๆ) แต่ทั้งสองท่านมีเงินเก็บประมาณหนึ่งที่พอจะดูแลรักษาตัวเองได้

แต่ถ้าหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นมาจริงๆ และหากพวกท่านใช้เงินที่สะสมหมดลง คำถามคือ ในส่วนของผมนั้น ผมควรจะทำอย่างไรดี? ระหว่าง ทำให้เต็มที่ทุกวิถีทางเพราะว่านั่นคือผู้มีพระคุณให้เราเกิดมา หรือ ทำได้แค่ไหนก็แค่นั้นเพราะเรายังต้องมีชีวิตต่อไป

ถ้าใครอ่านมาถึงตรงนี้ ผมอยากให้ลองตอบคำถามนี้กับตัวเองดูก็ได้นะครับว่า ระหว่าง 2 ทางเลือกนี้ เราควรจะเลือกทางไหน เพราะบางทีคำตอบที่เราตั้งใจอาจจะเปลี่ยนไปเมื่อเกิดเหตุการณ์จริงก็ได้ครับ

ทั้งหมดที่เล่ามา ผมกำลังจะบอกว่า เรื่องราวที่เกิดขึ้นในชีวิตผมตั้งแต่ตอนนั้น มันทำให้ผมกลับมาย้อนมองดูตัวเองอีกทีว่า “เงินสำรองฉุกเฉิน” สำหรับ “เหตุการณ์ไม่คาดฝัน” ของเรานั้นมันน้อยเกินไปหรือเปล่า หรือเราควรจะเผื่อสำหรับเรื่องพวกนี้ไว้บ้างไหม? ไม่ว่าจะเป็น

  1. เงินสำรองฉุกเฉินเพื่อรักษาคนในครอบครัว เช่น หากคนในครอบครัวเจ็บป่วยขึ้นมา แล้วเขาไม่มีเงินที่จะรักษา หรือมีไม่เพียงพอ เราจะต้องช่วยเหลือแค่ไหน และทำอะไรยังไงดีถึงจะเรียกได้เต็มปากว่าเราจะไม่เสียใจภายหลัง
  2. เงินสำรองฉุกเฉินเพื่อเตรียมตัวจ่ายล่วงหน้าสำหรับคนที่คุณรัก เช่น ถ้าคุณมีครอบครัว มีลูก คุณวางแผนกับลูกไว้แบบไหนยังไง ค่าใช้จ่ายในการศึกษา ค่ารักษาเมื่อยามเจ็บป่วย ไปจนถึงเงินมรดกที่อยากจะส่งต่อไว้ให้

แน่นอนว่า 2 ข้อที่ผมพูดมา อาจจะไม่ต้องเรียกว่าเงินสำรองฉุกเฉินก็ได้ครับ เพราะยังมีระยะเวลาในการเก็บสะสมไปเรื่อยๆ ตามช่วงอายุ เวลา และความเสี่ยงของคนรอบตัวเรา เพียงแต่ผมจะบอกว่า มันจำเป็นและต้องนึกถึงมันไว้ด้วย เพราะเราไม่รู้เลยว่าเหตุการณ์พวกนี้จะเกิดขึ้นเมื่อไร และถ้ามันเกิดขึ้นแล้วมาเบียดบังเงินฉุกเฉินที่เราสะสมไว้ มันจะส่งผลอะไรยังไงต่อไปอีก

สิ่งสำคัญ คือ
การหารายได้เพิ่ม และ การประหยัดค่าใช้จ่าย

นอกจากการสะสมเงินสำรองฉุกเฉินสำหรับเรื่องพวกนี้แล้ว สิ่งทีทำให้ผมต้องกลับมาคิดต่อจากเหตุการณ์นี้ คือ เรื่องของการหารายได้เพิ่มและการประหยัดรายจ่ายครับ โดยผมได้ข้อคิดตามมาอีก 2 ข้อว่า

  1. เราควรหาช่องทางที่หารายได้ให้ได้มากที่สุด โดยใช้เวลาน้อยที่สุด หรือพูดง่ายๆคือ เราควรทำงานที่ได้รับค่าตอบแทนสูงขึ้นเรื่อยๆ เพื่อช่วยให้เรามีเงินที่มากขึ้น และมีเวลาที่มากขึ้นเมื่อเรามีเงินในจุดที่เราคิดว่าพอ แต่ต้องระวังเรื่องของกับดักความคิดชีวิต เพราะถ้าหากเราต้องสละเวลาที่อยู่กับคนที่เรารักเพื่อไปหาเงินตลอดเวลา หรือ เราเอาแต่ใช้เวลากับคนที่เรารักแต่กลับมีรายได้ไม่เพียงพอกับการดำรงชีวิต แบบนี้ก็จะส่งผลกระทบต่อปัญหาด้านอื่นตามมา
  2. จ่ายเพื่อตัวเองให้น้อยลง แต่จ่ายให้ได้ประสบการณ์กับคนที่เรารักมากขึ้น หลักการใช้เงินของผมที่เปลี่ยนไปสำหรับเรื่องนี้ ไม่ใช่การประหยัด แต่จะเป็นการเลือกจ่ายในสิ่งที่ทำให้ผมได้ประสบการณ์ดีๆที่มีร่วมกับคนที่ผมรัก มากกว่าจะเป็นความสุขจากการมีทรัพย์สมบัติหรือตอบสนองความต้องการของตัวเองเพียงอย่างเดียว เพราะคำว่า ตายไปก็เอาอะไรไปไม่ได้เป็นเรื่องจริง แต่อย่างน้อยระหว่างที่อยู่ในโลกนี้ สิ่งที่ผมคิดว่ามีค่าที่สุดคือความทรงจำดีๆระหว่างกันครับ

เอาเป็นว่า บทสรุปของเรื่องทั้งหมดนี้ในชีวิตผมจะเป็นอย่างไรต่อไปก็ไม่รู้หรอกครับ แต่สึ่งหนึ่งที่ผมเรียนรู้คือ บทเรียนต่างๆที่ผ่านมาเข้ามาในชีวิต แม้ว่ามันจะเป็นเรื่องที่แย่ เรื่องที่ไม่ดี แต่สิ่งที่ดีที่สุดที่เราทำได้คือ การเตรียมตัวให้พร้อมรับมือกับมัน และไม่ผิดพลาดซ้ำๆในเรื่องเดิมๆ อีกต่อไป

เงินสำรองฉุกเฉิน
ผลกระทบจากโควิด19

บทความทั้งหมดที่ทุกคนได้อ่านมาถึงตรงนี้ ถูกเขียนไว้ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2562 ซึ่งยังไม่มีเหตุการณ์วิกฤตโควิด19 มากระทบต่อการใช้เงินของผมและครอบครัวสักเท่าไร แต่มันคือการเริ่มเตือนสติบางอย่างในการใช้จ่ายและการจัดการการเงินในอีกรูปแบบหนึ่งของผม ว่าต้องระวังและไม่ประมาท

แต่แล้วเมื่อเข้าสู่ปี 2563 ผลกระทบของโควิด19 ทำให้ผมเรียนรู้ว่า สิ่งที่เราเตรียมพร้อมยังไว้ไม่เพียงพอ เพราะมันมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน – แบบที่ไม่คาดฝันจริงๆ – เกิดขึ้นได้เสมอ และมันคือสิ่งที่บอกว่าชีวิตไม่มีแน่นอนจริงๆ แม้ว่าเราจะเตรียมการไว้ได้ดีแค่ไหน เราก็พลาดได้เสมอ

สิ่งที่เกิดขึ้น ณ ตอนนี้ คือ รายได้หลายทางที่เคยมีและสร้างไว้หดหาย ในขณะที่รายจ่ายคงที่บางตัว เช่น ค่าใช้จ่ายของคนในครอบครัวยังเท่าเดิม (ในส่วนที่ไม่สามารถลดลงได้ เช่น ค่ายา ค่ารักษาพยาบาล) เงินเก็บที่มีไว้สำรองต้องทยอยออกมาใช้ และเปลี่ยนวิธีการจัดสรรเงินใหม่ให้ดีขึ้น แน่นอนว่าทางที่ผมทำได้ตอนนี้คือลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นลงให้มากที่สุด ประหยัดให้อยู่ได้ และดิ้นรนทุกทางเพื่อหาทางสร้างรายได้ให้กลับมาไวที่สุด แต่ต้องไม่ลืมสิ่งที่สำคัญที่สุด นั่นคือ การพยายามมีความสุขกับชีวิตที่มีปัญหา และบอกตัวเองว่ามันจะผ่านไป

อย่างไรก็ดี ผมคงไม่สามารถบอกได้ว่า ทำอย่างไรถึงจะเอาตัวรอดในวิกฤตครั้งนี้ เพราะแต่ละคนล้วนมีวิธีการจัดการเงินที่แตกต่างกันออกไป แต่บอกได้แค่เพียงว่า ผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่พยายามเอาตัวรอดอยู่ และหวังว่าทุกคนจะรอดไปด้วยเมื่อวิกฤตสิ้นสุดลงครับ

ท้ายที่สุดแล้ว สิ่งที่ผมอยากฝากบอกไว้ คือ …

การจัดการการเงินที่ดี
ควรเริ่มต้นจากสิ่งที่จำเป็น

เพราะมันทำให้เราเห็นว่าชีวิตต้องการอะไร?

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Allow