ค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คืออะไร? คำนวณแบบไหน? วางแผนอย่างไร?

ค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ไม่ใช่ค่าใช้จ่ายในชีวิตจริง

นี่คือสิ่งสำคัญที่คนทุกคนต้องทำความเข้าใจก่อนวางแผนภาษี

ค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คือ ค่าใช้จ่ายที่กฎหมายกำหนดขึ้นเพื่อให้ผู้มีเงินได้ใช้ในการคำนวณภาษี โดยกำหนดไว้ 2 วิธี ได้แก่ วิธีหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา และ วิธีหักค่าใช้จ่ายตามจำเป็นและสมควร (ตามจริง) ซึ่งมาจากวิธีการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่เรียกว่า “วิธีคำนวณภาษีจากเงินได้สุทธิ” ดังนี้ครับ

Advertisements

(รายได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี

คำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
Advertisements

แต่ก่อนที่จะพูดถึงวิธีคำนวณค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ผมมีความเห็นว่าสิ่งที่เราทุกคนต้องแยกให้ชัดเจนก่อน นั่นคือ ค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษี กับ ค่าใช้จ่ายในชีวิตจริง ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน

ค่าใช้จ่ายภาษีที่เราใช้คำนวณ
ไม่ใช่ค่าใช้จ่ายในชีวิตจริง

ถ้าใครอยากการวางแผนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วยวิธีเพิ่มค่าใช้จ่าย แปลว่า เราต้องหาวิธีทำให้ตัวเองมีค่าใช้จ่ายทางภาษีมากที่สุด เพื่อให้เสียภาษีน้อยลง แต่ต้องไม่ลืมด้วยว่า ค่าใช้จ่ายที่่เราหมายถึงนั้น เป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีที่ไม่ได้สัมพันธ์กับค่าใช้จ่ายในชีวิตแต่อย่างใด

Advertisements

ยกตัวอย่างเช่น นายบักหนอมเป็นมนุษย์เงินเดือนไฟแรง มีรายได้จากการทำงานปีละ 1,500,000 บาท เมื่อคำนวณภาษีแล้วจะเห็นว่าต้องเสียภาษีทั้งหมดเป็นจำนวน 205,000 บาท โดยสามารถหักค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีได้จำนวน 100,000 บาท และค่าลดหย่อนส่วนตัวจำนวน 60,000 บาท

ค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

แต่ถ้ามองในมุมค่าใช้จ่ายชีวิตจริง จะเห็นว่านายบักหนอมมีค่าใช้จ่ายจริง คือ 1,400,000 บาท (สมมติว่าค่าใช้จ่ายนี้รวมภาษีที่ต้องจ่ายเรียบร้อยแล้ว) แปลว่า นายบักหนอมจะเหลือเงิน 100,000 บาทเพื่อใช้วางแผนภาษีในการซื้อหรือเพิ่มค่าลดหย่อนต่างๆ หรือนายบักหนอมอาจจะไม่สนใจวางแผนภาษีแต่เก็บเงินไว้ใช้ก็ได้ สุดแต่นายบักหนอมจะเลือกทางชีวิตแบบไหน

สำหรับคนที่ยังไม่เข้าใจว่า ค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการคำนวณภาษีจำนวน 100,000 บาทมาจากไหน และมันทำไมนายบักหนอมได้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีเพียงแค่นี้ แนะนำให้ลองศึกษาเรื่องภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเบื้องต้นจากคลิป #ภาษี10นาที ที่ผมเคยอธิบายไว้ด้านล่างนี้อีกครั้งครับ

Advertisements
Advertisements

วิธีหักค่าใช้จ่ายในการคำนวณ
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้

จากรูปเราจะเห็นว่า มีทางเลือกในการหักค่าใช้จ่ายอยู่ 4 วิธี สำหรับ เงินได้พึงประเมิน 8 ประเภท ได้แก่ หักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้อย่างเดียว เลือกได้ว่าจะหักค่าใช้จ่ายเหมาหรือจริง หักค่าใช้จ่ายจริงได้อย่างเดียว และ ไม่สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ ซึ่งแต่ละประเภทมีคำอธิบายเพิ่มเติมดังนี้ครับ

กรณีแรก เลือกหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้อย่างเดียว ได้แก่ ค่าใช้จ่ายสำหรับเงินได้ประเภทที่ 1 และ 2 ซึ่งหักเหมาแบบมีเพดานสูงสุดและมีอัตราเดียว คือ 50% แต่ไม่เกิน 100,000 บาท และถ้าหากเรามีเงินได้ทั้งประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 ก็จะสามารถหักรวมกันได้สูงสุด คือ 50% ไม่เกิน 100,000 บาทอยู่ดีครับ

กรณีที่สอง สามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายได้ระหว่างเหมาหรือจริง ได้แก่ ค่าใช้จ่ายประเภทที่ 3, 5 – 8 ต่อไปนี้สามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายตามจริงได้ หรือสามารถเลือกหักเหมาในอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ ดังนี้ครับ

  • ค่าใช้จ่ายประเภทที่ 3 เฉพาะค่ากู้ดวิลล์ ค่าลิขสิทธิ์ หรือ ค่าสิทธิ์อย่างอื่น เช่น ทรัพย์สินทางปัญญา สามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายเหมาในอัตรา 50% แต่สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
  • ค่าใช้จ่ายประเภทที่ 5 สามารถเลือกหักแบบเหมาได้ในอัตรา 10-30% ขึ้นอยู่กับประเภททรัพย์สินที่ให้เช่า โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
    • บ้าน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง แพ ยานพาหนะ หักได้ 30%
    • ที่ดินที่ใช้ในการเกษตร หักได้ 20%
    • ที่ดินที่มิได้ใช้ในการเกษตร หักได้ 15%
    • ทรัพย์สินอื่น หักได้ 10%
  • ค่าใช้จ่ายประเภทที่ 6 สามารถเลือกหักแบบเหมาได้ 30% ยกเว้นกรณีประกอบโรคศิลป์ สามารถหักได้ 60%
  • ค่าใช้จ่ายประเภทที่ 7 สามารถเลือกหักแบบเหมาได้ 60%
  • ค่าใช้จ่ายประเภทที่ 8 สามารถเลือกหักเหมาได้ 60% เฉพาะกลุ่มที่กฎหมายกำหนดไว้ 43 ประเภท เท่านั้น (มาตรา 8 แห่ง พระราชกฤษฎีกาฉบับที่ 11)
ค่าใช้จ่ายเหมา 43 ประเภท

โดยรูปข้างบนนี้เป็นสรุป 42 อาชีพที่มีสิทธิเลือกหักแบบ “เหมา” และ “จริง” ของเงินได้ประเภทที่ 8 โดยมีหนึ่งอาชีพที่ขาดหายไปจากรูปนี้ คือ นักแสดงสาธารณะ ซึ่งมีการหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาแตกต่างจากประเภทอื่น ผมจึงไม่ได้รวมไว้ในกลุ่มนี้ครับ

กรณีที่สาม เลือกหักค่าใช้จ่ายจริงได้อย่างเดียว ได้แก่ ค่าใช้จ่ายประเภทที่ 8 กลุ่มที่ไม่เข้าเงื่อนไข 43 ประเภทที่สามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ แบบนี้ต้องหักค่าใช้จ่ายจริงเพียงอย่างเดียวครับ เช่น ตัวแทนประกันชีวิต การขายของบางอย่างที่มีขั้นตอนการผลิตด้วยตัวเอง

กรณีสุดท้าย ไม่สามารถหักค่าใช้จ่ายได้เลย ได้แก่ เงินได้ประเภทที่ 3 (ส่วนที่นอกเหนือจากค่าสิทธิ์และกู้ดวิลล์) และ เงินได้ประเภทที่ 4 ทุกประเภทครับ

เราควรเลือกหักค่าใช้จ่ายแบบไหน
ระหว่างเหมา หรือ จริง

ถ้าเราต้องการให้ประหยัดภาษีสูงสุด ก็คงต้องตอบว่า เลือกหักค่าใช้จ่ายที่มากกว่า เพราะจะทำให้เราประหยัดภาษีได้มากกว่ แต่ถ้ามองด้านของ “ต้นทุนเวลา” ต่าง ๆ เช่น ต้นทุนในการจัดการเอกสาร เราอาจจะต้องถามตัวเองด้วยว่าแล้วมันคุ้มค่ากับภาษีที่เราประหยัดได้หรือเปล่าครับ

ยกตัวอย่างเช่น เราเป็นธุรกิจที่สามารถเลือกหักได้ทั้งเหมาและจริง โดยเราเก็บข้อมูลทั้งหมดแล้วพบว่า ต้นทุนจริงของธุรกิจเราคือ 80% ซึ่งถ้าหากเลือกหักเหมาจะได้แค่ 60% เท่านั้น แต่การได้ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ที่เพิ่มขึ้นมาเพื่อประหยัดภาษี ทำให้เราต้องจ่ายค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมโดยจ้างคนมาเก็บเอกสาร จัดการต่างๆ หรือแม้แต่ต้นทุนเวลา ที่ต้องใช้แรงงานของเรามาใส่ใจเรื่องนี้ แทนที่จะไปหารายได้เพิ่มให้มีกำไรมากขึ้น ดังนั้นสิ่งที่ต้องคิดให้ดีคือต้นทุนพวกนี้ที่เสียไปมันคุ้มหรือไม่กับการใช้เวลาที่มีค่าของเราแลกไป

สรุป คือ เราจะเลือกหักค่าใช้จ่ายแบบไหนก็ได้ครับ แต่ขอให้มั่นใจว่าทางที่เราเลือกให้สิทธิประโยชน์สูงสุดของเราทั้งด้านภาษี ด้านการจัดการค่าใช้จ่าย และด้านเวลาในการใช้ชีวิตครับผม

วิธีหักค่าใช้จ่ายจริง
เพื่อคำนวณภาษีบุคคลธรรมดา

สำหรับคนที่ตัดสินใจแล้วว่า เราจะเลือกใช้วิธีหักค่าใช้จ่ายจริงในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ผมมีคำแนะนำดังต่อไปนี้ให้ลองพิจารณาดูครับ

อันดับแรก เราต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่าเงินได้ของเรานั้นเป็นเงินได้ประเภทไหนตามกฎหมาย (อ่านบทความ เงินได้พึงประเมิน 8 ประเภท) และเงินได้ประเภทนั้นกฎหมายกำหนดไว้ให้เราสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ด้วยวิธีไหนบ้าง

ยกตัวอย่าง เช่น มนุษย์เงินเดือนและฟรีแลนซ์ ถ้าเรามีรายได้ในสองกลุ่มนี้ ยังไงเราก็ไม่สามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายได้มากกว่า 100,000 บาทเพราะมีทางเลือกเพียงเท่านี้ (อ่า .. ขอโทษที่ทำให้มนุษย์เงินเดือนและฟรีแลนซ์ต้องรู้สึกแย่นะครับ แต่มันเป็นแบบนั้นจริงๆ)

แต่ถ้าเราอยู่ในกลุ่มที่มีเงินได้ประเภทที่ 3 , 5 , 6 , 7 , 8 ที่สามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายจริงได้ หรือ ถูกกำหนดให้หักค่าใช้จ่ายจริง (เพราะไม่มีอัตราเหมา) เราต้องพิจารณาตามหลักการของกฎหมายดังนี้ครับ โดยกฎหมายเขียนเอาไว้ในมาตรา 8 วรรท้าย และมาตรา 8 ทวิ แห่ง พระราชกฤษฎีกาฉบับที่ 11 ดังนี้ครับ

เว้นแต่ผู้มีเงินได้จากกิจการตามที่ระบุไว้ในวรรคหนึ่ง แสดงหลักฐานต่อเจ้าพนักงานประเมินและพิสูจน์ได้ว่ามีค่าใช้จ่ายมากกว่านั้น ก็ยอมให้หักค่าใช้จ่ายได้ตามความจำเป็นและสมควร ทั้งนี้ ให้นำมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร มาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่ถ้าตามหลักฐานที่นำมาพิสูจน์นั้นปรากฏว่ามีรายจ่ายที่หักได้ตามกฎหมายน้อยกว่าอัตราค่าใช้จ่ายที่กำหนดไว้ข้างต้นก็ให้ถือว่ามีค่าใช้จ่ายเพียงเท่าหลักฐานที่นำมาพิสูจน์

โดยความหมายของมาตรา 65 ทวิและ 65 ตรี ที่เขียนไว้นั้น คือ วิธีการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยใช้หลักของกำไรสุทธิ (รายได้ – ค่าใช้จ่าย) ซึ่งจะมีข้อกำหนดต่างๆให้เราสามารถใช้เพิ่มขึ้นได้ เพื่อประโยชน์ของเราส่วนหนึ่ง เช่น ค่าเสื่อมราคาสินทรัพย์ และจะมีข้อจำกัดบางเรื่องที่บังคับให้ไม่สามารถหักค่าใช้จ่ายตามจริงได้ทั้งจำนวนครับ

เพื่อความเข้าใจที่มากขึ้น ผมขอยกตัวอย่างของการคำนวณค่าเสื่อมราคาให้ดูกันครับ สมมติว่า นายบักหนอมซื้อเครื่องจักรมาใช้ในการประกอบธุรกิจรูปแบบบุคคลธรรมดา มูลค่า 1 ล้านบาท โดยคาดว่าเครื่องจักรที่ว่านี้จะมีอายุการใช้งาน 10 ปี แบบนี้นายบักหนอมสามารถนำค่าเสื่อมราคาที่คำนวณด้วยวิธีเส้นตรงเป็นค่าใช้จ่ายได้ปีละ 100,000 บาทครับ

โดยความหมายของค่าเสื่อมราคานั้น หมายถึง การแบ่งส่วนของมูลค่าสินทรัพย์ที่มีอายุใช้งานเกิน 1 ปี เพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในแต่ละปีที่มีการใช้งานครับ และจากตัวอย่างนั้นเป็นการคำนวณค่าเสื่อมราคาที่ไม่ขัดกับมาตรา 65 ทวิ(2) ซึ่งเป็นไปตามแนวทางที่กฎหมายกำหนดไว้ครับ

แต่ประเด็นสำคัญไม่ใช่เรื่องของการหักค่าเสื่อมราคาเพียงอย่างเดียวครับ แต่ยังมีอีกหลายประเด็นที่คนสงสัยว่า แบบไหนถึงจะสามารถใช้ค่าใช้จ่ายจริงในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้บ้าง กรมสรรพากรจึงได้ออกแนวทางคร่าวๆ เกี่ยวกับการหักค่าใช้จ่ายจริงในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไว้ 4 ข้อดังนี้ครับ

1. ค่าใช้จ่ายที่จะมาใช้นั้นต้องเป็นค่าใช้จ่ายตามปกติ และเกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจหรือประเภทเงินได้ที่ได้มา เช่น ถ้าหากทำธุรกิจให้เช่าห้องพัก แต่ขอหักค่าใช้จ่ายในการจ้างพริตตี้ แบบนี้ไม่น่าจะเกี่ยวกันครับผม หรือ ธุรกิจเรามีแต่รายจ่ายส่วนตัว พวกค่าท่องเที่ยว ค่าอาหาร ค่าน้ำมัน ที่ไม่เกี่ยวข้องมาใช้ในการหักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษี แบบนี้จะมีปัญหาในภายหลังได้ครับ

2. มีจำนวนที่สมควรและเหมาะสมกับกิจการ คือ ต้องบอกว่าทำธุรกิจหรือมีรายได้ในกลุ่มนี้ สิ่งที่ทุกคนต้องการคือกำไร ดังนั้นถ้าหากมันมากเกินไปก็จะเป็นปัญหาได้เช่นกัน จึงมีเงื่อนไขข้อนี้มาป้องกันไว้ ไม่ให้มีค่าใช้จ่ายที่มากเกินจำเป็นครับผม

3. ไม่เป็นรายจ่ายที่กฎหมายห้ามมิให้หักเป็นรายจ่าย การเลือกหักค่าใช้จ่ายตามจริง หรือที่กฎหมายเรียกว่าตามจำเป็นและสมควรนั้น ยังคงต้องอ้างอิงค่าใช้จ่ายตามมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี ไว้อยู่ ดังนั้นเราต้องรู้ข้อมูลส่วนนี้ และไม่ทำผิดหลักการของกฎหมายส่วนนี้ด้วยครับ

4. ต้องมีหลักฐานให้ตรวจสอบได้ หลักฐานเกี่ยวกับการหักค่าใช้จ่ายจริงต้องเตรียมให้พร้อม เพราะเมื่อไรก็ตามพี่สรรพากรสงสัยข้อมูล เขาสามารถมาตรวจสอบเราได้ ดังนั้นอย่าเอามาใช้เป็นค่าใช้จ่ายโดยที่ไม่มีหลักฐานเพราะจะมีปัญหาตามมาได้ครับ

ถ้าใครสนใจลองฟังข้อมูลส่วนนี้เพิ่มเติมได้ครับผม

จากประเด็นทั้ง 4 ข้อที่ว่ามา ข้อที่เป็นปัญหามากที่สุดคือ ข้อ 4 ครับ นั่นคือ เราจะจัดการหลักฐานอย่างไร เพื่อให้สามารถหักค่าใช้จ่ายจริงได้ โดยที่ไม่มีปัญหากับพี่สรรพากรครับ

หลักฐานที่ใช้พิสูจน์
ในการหักค่าใช้จ่ายจริง

บอกตรง ๆ เลยครับว่า การทำธุรกิจในรูปแบบบุคคลธรรมดา ปัจจุบันนี้มีปัญหาเรื่องของ “หลักฐาน” เป็นจำนวนมาก ทั้งความยุ่งยาก รวมถึงแนวทางปฎิบัติต่างๆที่ยังไม่ชัดเจน ทำให้เกิดช่องว่างและปัญหาตามมาครับ

แต่ถ้าหากเราเลือกจะใช้วิธีการหักค่าใช้จ่ายตามจริงแล้ว ผมมองว่าเราควรอ้างอิงตามแนวทางของกรมสรรพากรที่เคยระบุไว้ในเอกสาร “การจัดทำเอกสารประกอบการลงบัญชีที่สามารถเป็นรายจ่ายได้“ ซึ่งให้แนวทางในการจัดทำหลักฐานพิสูจน์การจ่ายไว้ โดยสรุปใจความสำคัญออกมาได้ว่า เอกสารทีสามารถใช้เป็นหลักฐานการจ่ายเงินได้ ควรเป็นเอกสารต่อไปนี้ครับ

1. เอกสารการรับเงินของผู้รับเงิน หรือ ใบรับเงิน เอกสารนี้ถือว่าเป็นเอกสารที่มีความน่าเชื่อถือที่สุดครับ เพราะว่าเป็นหลักฐานที่ได้รับจากบุคคลภายนอก ไม่ได้จัดทำขึ้นเองจากภายในธุรกิจ

ใบรับเงิน หรือ ใบเสร็จรับเงิน

2. เอกสารที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเราเป็นผู้จ่ายเงินจริง เช่น ใบสำคัญรับเงินที่มีหลักฐานลายเซ็นผู้รับเงิน โดยควรแนบสำเนาบัตรประชาชนที่ถูกต้องของผู้รับเงิน ตรงนี้เป็นเอกสารอีกฉบับที่กรมสรรพากรรองรับว่าเป็นหลักฐานค่าใช้จ่ายได้ เพียงแต่ว่าต้องมีหลักฐานที่ระบุได้ชัดเจนว่าผู้รับเงินคือใคร (ลายเซ็นและบัตรประชาชน)

ใบสำคัญรับเงิน ค่าใช้จ่ายบุคคลธรรมดา

3. หลักฐานการจ่ายเงินที่เชื่อถือได้ หากไม่สามารถพิสูจน์ด้วยเอกสารจากบุคคลภายนอก หรือ พิสูจน์การรับเงินได้ ผมมองว่าสิ่งที่ต้องมีเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือควรจะเป็น “หลักฐานการจ่ายเงินที่พิสูจน์ผู้รับเงินได้” เช่น สำเนาเช็คระบุชื่อผู้รับเงิน ซึ่งขีดฆ่าผู้ถือและขีดคร่อม A/C Payee only ที่มีหลักฐานว่า ได้ตัดบัญชี Bank statement ของเราแล้ว หรือ สำเนาใบโอนเงินธนาคารหรือช่องทางอิเล็กทรอนิกส์อื่น (สลิปโอนเงิน)

เพราะถ้ามองจริงๆ หากเราได้รับเอกสารในข้อ 1 ถือว่าเป็นเอกสารที่สมบูรณ์แล้วครับ เช่น จ่ายค่าของไปแล้วได้รับใบรับเงิน ใบเสร็จรับเงิน หรือ ใบกำกับภาษี ที่ออกโดยผู้รับเงินจริง แต่ชีวิตจริงนั้นมันไม่ได้ง่ายเหมือนในทฤษฏี เพราะกรณีที่ “ผู้รับเงิน” ไม่ยอมออกหลักฐานการรับเงินให้กับเรา สิ่งที่เราต้องทำ คือ พยายามหาวิธีพิสูจน์ให้ได้โดยใช้ข้อ 2 หรือ 3 ควบคู่กันไปเพื่อให้การจ่ายของเรานั้นน่าเชื่อถือมากที่สุดครับ

ดังนั้นถ้าเป็นไปได้ หลักฐานแรกที่ควรมี คือ หลักฐานจากฝั่งผู้รับ ซึ่งจะยืนยันความน่าเชื่อถือของการได้รับเงินมากยิ่งขึ้นเพราะเป็นหลักฐานจากภายนอก แต่หากหาไม่ได้ก็อาจจะใช้หลักฐานที่เราจัดทำขึ้น เช่น ใบสำคัญการรับเงิน พร้อมเอกสารหลักฐานประกอบอย่างสำเนาบัตรประชาชนที่เซ็นรับรอง รวมถึงเพิ่มเติมหลักฐานการจ่ายเงินที่เชื่อถือได้ การจ่ายเงินเป็นเช็ค การจ่ายเงินแบบโอนเงิน แบบนี้ก็จะทำให้ปัญหาในการหักค่าใช้จ่ายตามจริงของบุคคลธรรมดาน้อยลงไปครับ

จากประสบการณ์ส่วนตัวของผม พบว่าองค์ประกอบที่จะช่วยให้สามารถเป็นรายจ่ายที่สรรพากรยอมรับได้นั้น มีอยู่ 3 ข้อ ดังนี้ครับ

  • ชี้แจงได้ว่า จ่ายให้ใคร (ผู้รับ) และใช้วิธีไหน (การจ่ายผ่านธนาคาร โอนเงิน หรือ เช็คจะน่าเชื่อถือกว่าเงินสด)
  • จ่ายถูกต้อง คือ เงินที่จ่ายครบถ้วนถูกต้องตามข้อเท็จจริง
  • หลักฐานพิสูจน์การจ่าย ต้องหามาให้ได้ เพื่อพิสูจน์การได้รับเงินและจ่ายเงินจริงครับ

มาถึงตรงนี้ หลายคนน่าจะมองเห็นทางออกของปัญหาการหักค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ชัดเจนขึ้นครับ แต่ยังไม่จบเพียงแค่นี้ครับ เพราะมีข้อควรระวังทางกฎหมายที่เราควรรู้เพิ่มเติมด้วยครับ นั่นคือ

ข้อควรระวัง
เมื่อเลือกวิธีหักค่าใช้จ่ายจริง

1. ปีไหนเลือกค่าใช้จ่ายจริงแล้ว ไม่สามารถเปลี่ยนกลับมาเหมาได้ ถ้าเราตัดสินใจเลือกหักค่าใช้จ่ายจริงในการคำนวณภาษีไปแล้ว เมื่อถูกสรรพากรตรวจสอบกลับพบว่าค่าใช้จ่ายจริงมีน้อยกว่ากรณีที่เลือกหักเหมา เราไม่สามารถขอกลับใจไปใช้แบบเหมาได้อีกต่อไป เพราะว่าการเลือกหักค่าใช้จ่ายแต่ละแบบนั้นใช้ปีต่อปีครับ ปีไหนเลือกแบบไหนก็ต้องใช้วิธีนั้นไปครับ

2. ถ้าเลือกหักค่าใช้จ่ายจริงสำหรับรายได้กลุ่มไหนจะต้องใช้ทั้งหมด เช่น รายได้จากการขายของออนไลน์แบบซื้อมาขายไป (ประเภทที่ 8) เลือกหักค่าใช้จ่ายแบบตามจริง ดังนั้นการขายของในลักษณะนี้ก็ต้องตามจริงทั้งหมด แต่ถ้าเป็นเงินได้คนละกลุ่มกันหรือคนละประเภทกัน อันนี้สามารถเลือกใช้แยกกันได้ครับ

3. การตีความของเจ้าพนักงาน และความชัดเจนของเอกสารหลักฐาน ตรงนี้ถือเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญ นั่นคือการพิสูจน์ความถูกต้องของการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครับ ดังนั้นตรงนี้ต้องชี้แจงให้ชัด หลักฐานครบ รวมถึงหากมีข้อสงสัย ควรสอบถามสรรพากรเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถหักได้อย่างถูกต้องที่สุด เพื่อที่จะได้ไม่มีปัญหาในอนาคตครับ

บทสรุป
ค่าใช้จ่ายภาษีบุคคลธรรมดา

ก่อนจะจบบทความนี้ไป ผมมีบทสรุปทั้งหมด 3 ข้อ ในการคำนวณค่าใช้จ่ายภาษีบุคคลธรรมดามาให้ทุกคนทบทวนกันอีกทีหนึ่งครับว่า เราควรทำอย่างไรกับค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเพื่อให้วางแผนและจัดการภาษีได้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด

1. แยกประเด็นระหว่างค่าใช้จ่ายทางภาษีกับค่าใช้จ่ายในชีวิตจริง สิ่งสำคัญที่สุดที่เราต้องทำความเข้าใจ คือ ค่าใช้จ่ายทางภาษีมีไว้ใช้คำนวณภาษี แต่หน้าที่เราคือการประหยัดค่าใช้จ่ายในชีวิตจริง รวมถึงประหยัดภาษีให้คุ้มค่าที่สุดในมุมมองของเรา

2. การเลือกหักค่าใช้จ่ายแบบไหน อยู่ที่ประเภทของรายได้ตามกฎหมาย การเลือกหักค่าใช้จ่ายทางภาษีมีข้อจำกัดที่ประเภทเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งทำให้รายได้บางประเภทไม่สามารถวางแผนหักค่าใช้จ่ายเพิ่มได้ ดังนั้นเราควรวางแผนลดหย่อนภาษีควบคู่กันไปด้วย จึงจะได้ประโยชน์สูงสุด

3. เมื่อเลือกหักค่าใช้จ่ายจริงแล้ว ควรมองถึงความคุ้มค่าระยะยาว การเลือกหักค่าใช้จ่ายจริงในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา อาจจะต้องมองล่วงหน้าไปถึงเรื่องของการขยายกิจการในอนาคต เช่น การจดทะเบียนบริษัท หรือ จดทะเบียนห้างหุ้นส่วน เพื่อทำธุรกิจในรูปแบบนิติบุคคลด้วยหรือไม่ เพราะการหักค่าใช้จ่ายจริงจะทำให้เราต้องมีต้นทุนในการเก็บเอกสารและจัดการมากขึ้น ซึ่งถ้าหากรายได้มากเพียงพอ การจดทะเบียนในรูปแบบนิติบุคคลอาจจะคุ้มค่ากว่าครับ

ท้ายที่สุดแล้ว เรื่องของการคำนวณค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น เป็นเรื่องที่ต้องศึกษาและทำความเข้าใจให้ดี และเหมาะสมกับการวางแผนภาษีของแต่ละคนมากที่สุด และผมแนะนำให้มองไปถึงการใช้ชีวิตและความคุ้มค่าในหลายแง่มุมประกอบกันไป

เพื่อให้เราประหยัดภาษีอย่างมีความสุข

TAXBugnoms

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Allow