พี่ครับ ตอนนี้ผมทำ XXX อยู่ แบบนี้ต้องเสียภาษีในไทยไหม?
แทนคำว่า XXX ด้วยรายได้ที่ได้รับจากต่างประเทศดูครับ
มีรายได้จากต่างประเทศ เสียภาษีอย่างไร ? หรือคำถามที่ได้ยินบ่อย ๆ ว่า ถ้ามีเงินได้จากต่างประเทศ ต้องเสียภาษีในไทยหรือเปล่า ผมคิดว่าก่อนที่เราจะตอบคำถามนี้ เราควรเริ่มจากการทำความเข้าใจหลักการจัดเก็บภาษีของรัฐกันก่อนครับ
หลักการจัดเก็บภาษีของรัฐ
โดยทั่วไปแล้วหลักการจัดเก็บภาษีเงินได้ที่รัฐหรือรัฐบาลของแต่ละประเทศใช้นั้น จะขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ที่ประชาชนมีต่อรัฐตามกฎหมายในประเทศนั้น ๆ ซึ่งความสัมพันธ์ที่ถูกใช้ในการเก็บภาษีนั้น มักจะพิจารณาจาก 3 หลักการต่อไปนี้ครับ
- หลักแหล่งเงินได้ (Source Rule)
หมายถึง ถ้าหากเรามีเงินได้หรือรายได้ในประเทศไหน เราย่อมมีหน้าที่เสียภาษีให้กับประเทศนั้น - หลักถิ่นที่อยู่ (Residence Rule)
หมายถึง ถ้าหากเราเป็นผู้ที่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศนั้น เราย่อมมีหน้าที่เสียภาษีให้กับประเทศนั้น - หลักสัญชาติ (Nationality Rule) หรือบางทีเรียกว่า หลักพลเมือง (Citizenship rule)
หมายถึง ถ้าหากเรามีสัญชาติของประเทศนั้น ๆ เราย่อมมีหน้าที่เสียภาษีให้กับประเทศนั้น
หลักการจัดเก็บภาษีของประเทศไทย
สำหรับประเทศไทย จะใช้ หลักแหล่งเงินได้ และ หลักถิ่นที่อยู่ โดยระบุไว้ในมาตรา 41 แห่งประมวลรัษฏากร ดังนี้ครับ
มาตรา 41 ผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เนื่องจากหน้าที่งาน หรือกิจการที่ทำในประเทศไทย หรือเนื่องจากกิจการของนายจ้างในประเทศไทย หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย ต้องเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้ไม่ว่าเงินได้นั้นจะจ่ายในหรือนอกประเทศ ผู้อยู่ในประเทศไทยมีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เนื่องจากหน้าที่งานหรือกิจการที่ทำในต่างประเทศ หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ ต้องเสียภาษีเงินได้ตามบทบัญญัติในส่วนนี้เมื่อนำเงินได้พึงประเมินนั้นเข้ามาในประเทศไทย ผู้ใดอยู่ในประเทศไทยชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะ รวมเวลาทั้งหมดถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวันในปีภาษีปีใด ให้ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย
มีรายได้จากต่างประเทศ เสียภาษีอย่างไร
ข้อกฎหมายกำลังบอกอะไรเราบ้าง?
โดยข้อกฎหมายที่ระบุไว้นั้น หากลองนำมาสรุปให้เข้าใจง่ายขึ้น โดยอ้างอิงจากที่มาของเงินได้แล้ว จะสรุปได้ว่าหลักการของกฎหมายกำลังบอกเราประเด็นแรกว่า
รายได้ที่เกิดขึ้นจากประเทศไทย
ย่อมต้องเสียภาษีให้ประเทศไทย
คำว่า รายได้ที่เกิดขึ้นจากประเทศไทย ถ้าพิจารณาตามหลัก แหล่งเงินได้ และข้อกฎหมายที่ระบุไว้ จะหมายความถึง เงินได้ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยโดยมีที่มาจากรายการต่อไปนี้ครับ
- หน้าที่งานที่ทำในประเทศไทย
- กิจการที่ทำในประเทศไทย
- กิจการของนายจ้างในประเทศไทย
- ทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย (ดอกเบี้ย, เงินปันผล, ค่าเช่า ฯลฯ)
ดังนั้น ถ้าหากเรามี เงินได้ หรือ รายได้ เกิดขึ้นตามรายการที่ว่ามานี้ เราย่อมมีหน้าที่นำเงินได้นั้นมาคำนวณเพื่อเสียภาษีในประเทศไทยทันที โดยไม่ต้องสนใจว่าการจ่ายเงินนี้จะเกิดขึ้นที่ไหน ผู้รับจะเป็นคนชาติอะไร และ ตัวของผู้รับจะอยู่ไหนก็ตาม เพราะมันมาจากหลักการของการมีแหล่งเงินได้ในประเทศไทยนั่นเองครับ
รายได้ที่เกิดขึ้นนอกประเทศไทย
อาจต้องเสียภาษีให้ประเทศไทย (ถ้าเข้าเงื่อนไข)
ในทางกลับกัน หากรายได้นั้นไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศไทย หลักการจัดเก็บภาษีแบบ ถิ่นที่อยู่ ก็จะถูกนำมาใช้พิจารณาแทน โดยกฎหมายก็บอกไว้เช่นกันว่า ถ้าหากเรามีเงินได้จากต่างประเทศ โดยมาจากช่องทางต่อไปนี้ ได้แก่
- หน้าที่งานที่ทำในต่างประเทศ
- กิจการที่ทำในต่างประเทศ
- ทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ
โดยรายได้จากต่างประเทศทั้งหมดที่ว่ามานี้ ผู้มีเงินได้จะต้องเสียภาษีเงินได้ให้ประเทศไทย เมื่อเข้าองค์ประกอบทั้ง 2 ข้อ ที่กฎหมายกำหนดไว้ นั่นคือ
- เป็นผู้อยู่ในประเทศไทยในปีภาษีนั้น (นับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงธันวาคม) รวมทั้งหมดถึง 180 วัน
- นำเงินได้นั้นเข้ามาในประเทศไทยไม่ว่าจะปีไหนก็ตาม (อัพเดทล่าสุดตามคำสั่ง ป.161/2566)

ไม่ใช่เงินได้เข้ามาในปีเดียวกัน
แต่นำเงินเข้ามาปีไหนแปลว่าเสียภาษีปีนั้น
โดยในช่วงที่ผ่านมา คำว่า “นำเงินได้พึงประเมินเข้ามาในประเทศไทย” ตามมาตรา 41 แห่งประมวลรัษฏากร ถูกตีความโดยใช้หลักการว่า “นำเงินได้นั้นเข้ามาในประเทศไทยในปีภาษีนั้นด้วย” หรือ “นำเงินได้ที่เกิดขึ้นเข้ามาในปีเดียวกัน”
แนวทางตีความนี้มีที่มาจากหนังสือที่ กค.0802/696 ลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2530 เพื่อเป็นประโยชน์กับผู้เสียภาษีที่มีเงินได้จากต่างประเทศ และถ้าพิจารณาจากแนวทางข้อหารือของกรมสรรพากรที่ตอบคำถามเรื่องนี้ไว้ เราจะเห็นความหมายในทิศทางเดียวกัน นั่นคือ หากอยู่ในประเทศไทยรวมกันถึง 180 วัน และ ต้องนำเงินได้ที่เกิดขึ้นในปีเดียวกันเข้าประเทศไทย ถึงจะเสียภาษีตามกฎหมาย
และจากการตีความกฎหมายในแนวทางนี้ จึงทำให้หลายคนที่อยู๋ในประเทศไทยถึง 180 วันในปีภาษีนั้นๆ แต่มีเงินได้จากต่างประเทศ สามารถวางแผนจัดการภาษีเงินได้ส่วนนี้แบบง่าย ๆ โดยการนำเงินได้ที่เกิดขึ้นเข้าในปีถัดไป ซึ่งถ้าหากทำแบบนี้ได้ ก็แปลว่า ไม่มีหน้าต้องเสียภาษีในประเทศไทยแล้วนั่นเองครับ
แต่ต่อจากนี้ทุกอย่างจะไม่เหมือนเดิม ! เนื่องจากวันที่ 15 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา กรมสรรพากรได้มีคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.161/2566 เปลี่ยนแปลงการตีความใหม่เป็นว่า สำหรับคนที่อยู่ในไทยตั้งแต่ 180 วันขึ้นไป และมีเงินได้จากต่างประเทศ ไม่ว่าจะนำเงินได้มาเข้าปีไหน ให้เอามาคำนวณเพื่อเสียภาษีในปีนั้น และ เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป

ยกตัวอย่างเช่น ในปี 2567 นายบักหนอมมีเงินได้จากการทำงานในต่างประเทศ สิ่งที่นายบักหนอมจะต้องนำมาพิจารณาเพื่อเสียภาษีเงินได้จากต่างประเทศในส่วนนี้ คือ
- ในปีภาษีใดก็ตาม (ตั้งแต่ปี 2567) นายบักหนอมอยู่ในประเทศรวมกันถึง 180 วันหรือไม่?
- เงินได้จากการทำงานดังกล่าว นายบักหนอมได้นำเงินเข้ามาในประเทศไทยหรือไม่?
ถ้าหากปีไหนนายบักหนอม อยู่ในประเทศไทยรวมกันถึง 180 วัน และนำเงินได้ที่เกิดขึ้นจากต่างประเทศ (ไม่ว่าจะปีไหน) นายบักหนอมมีหน้าที่เสียภาษีให้ประเทศไทย เพราะถือว่าครบเงื่อนไขทั้งสองข้อนั่นเองครับ
แต่ถ้าหากนายบักหนอมไม่ต้องการเสียภาษีในประเทศไทยในกรณีที่มีเงินได้ต่างประเทศ สิ่งที่นายบักหนอมต้องทำคือ
- อาศัยอยู่ในประเทศไทยรวมกันแล้วไม่ถึง 180 วันในปีภาษี (มกราคม – ธันวาคม)
- ไม่นำเงินได้จากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทย “โดยเด็ดขาด”
เงินได้ดังต่อไปนี้
ถือว่าเกิดขึ้นในไทยหรือต่างประเทศ
เพื่อความเข้าใจเรื่องของหลักการจัดเก็บภาษี ผมขอยกตัวอย่างของการพิจารณาความหมายของเงินได้ในประเทศไทยหรือเงินได้จากต่างประเทศในกรณี ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา มาเล่าให้ฟัง เพื่อความชัดเจนในการตีความที่มากขึ้นครับ
ตัวอย่างที่ 1 : นายบักหนอม ได้รับเงินเดือนจากนายจ้างในประเทศไทย แต่นายบักหนอมอาศัยอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา ต้องเสียภาษีในประเทศไทยหรือไม่ ?
คำตอบ : ถือว่าเป็นเงินได้จากประเทศไทย เนื่องจากเป็นเงินได้ของกิจการของนายจ้างในประเทศไทย
ตัวอย่างที่ 2 : นายบักหนอมได้รับเงินเดือนจากนายจ้างในต่างประเทศ ให้มาทำงานที่บริษัทในเครือที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย โดยบริษัทในเครือที่ประเทศไทยก็มีการจ่ายเงินได้ให้อีกส่วนหนึ่ง แบบนี้นายบักหนอมต้องเสียภาษีในประเทศไทยบางส่วน ใช่หรือไม่ ?
คำตอบ : ถือว่าเป็นเงินได้จากหน้าที่งานที่ทำในประเทศไทย จึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทย ไม่ว่าเงินได้นั้นจะจ่ายในหรือนอกประเทศก็ตาม โดยเสียจากเงินได้ทั้งหมดที่ได้รับจากในและต่างประเทศ
ตัวอย่างที่ 3 : นายบักหนอมได้รับเงินเดือนจากนายจ้างในต่างประเทศ ให้มาทำภารกิจประเทศไทย (ไม่ใช่บริษัทในเครือ ไม่ขึ้นตรงกับใคร) โดยนายบักหนอมอยู่ในประเทศไทยไม่ถึง 180 วันในปีนั้น แต่มีการนำเงินได้เข้ามาในประเทศไทย ต้องเสียภาษีในประเทศไทยหรือไม่ ?
คำตอบ : ถือว่าเป็นเงินได้จากต่างประเทศ แต่ไม่ต้องเสียภาษีในประเทศไทยตามหลักถิ่นที่อยู่ เนื่องจากเป็นเงินได้ของกิจการของนายจ้างในต่างประเทศ แต่นายบักหนอมอยู่ไทยไม่ถึง 180 วัน แม้ว่าจะนำเงินเข้ามาในปีใดก็ตาม แต่ก็ไม่มีหน้าที่เสียภาษีในประเทศไทย
ตัวอย่างที่ 4 : นายบักหนอมอาศัยอยู่ในประเทศไทย ทำงานเป็นยูทูปเบอร์เปิดช่อง TAXBugnoms มีรายได้จากส่วนแบ่งค่าโฆษณาที่ได้รับจาก Google ที่โอนเข้าบัญชีมาทุกเดือน แบบนี้ต้องเสียภาษีในประเทศไทยหรือไม่ ?
คำตอบ : ถือว่าเป็นเงินได้จากต่างประเทศ แต่ถ้าหากเราอยู่ในประเทศไทยถึง 180 วันในปีภาษี และมีการนำเงินส่วนแบ่งค่าโฆษณาเข้าประเทศไทย ก็ถือว่าต้องเสียภาษีในประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม มีหลายคนเคยแย้งว่า มีบางส่วนควรถือเป็นเงินได้ในประเทศไทย โดยเข้านิยามของกิจการที่ทำในประเทศไทย (เพราะเราทำยูทูปในประเทศไทยและรับส่วนแบ่งโฆษณาจากแบรนด์ไทยด้วย) ซึ่งตรงนี้ผมยังไม่เห็นแนวทางกฎหมายแน่ชัดในการตีความนะครับว่าเป็นเงินได้ประเทศไหน
ถ้าให้สรุปง่าย ๆ สั้น ๆ ที่สุด ผมอยากให้มองว่า เราจะใช้หลักแหล่งเงินได้ในการเก็บภาษี เมื่อมีรายได้ที่เกิดในไทย จึงทำให้มีหน้าที่ต้องเสียภาษีในประเทศไทย ส่วนเราจะใช้หลักถิ่นที่อยู่กับรายได้ที่ไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศไทย และต้องเข้าองค์ประกอบย่อยอีก 2 ข้อที่ว่ามา ถึงจะมีหน้าที่เสียภาษีในประเทศไทยนั่นเองครับ
เอ๊ะ ถ้าหากมองกลับกัน บางทีแล้วการมีเงินได้จากต่างประเทศ เราเองต้องเสียภาษีในประเทศที่มีเงินได้ (ตามหลักการของแหล่งเงินได้) แต่พอเอาเงินเข้ามาในประเทศไทยก็ต้องเสียในกรณีถิ่นที่อยู่อีกทีหนึ่ง แบบนี้มันก็ไม่แฟร์กันนี่หว่า
ดังนั้นจึงเป็นที่มาของกฎหมายที่เรียกว่า อนุสัญญาภาษีซ้อน นั่นเองครับ
อนุสัญญาภาษีซ้อน คืออะไร
อนุสัญญาภาษีซ้อน เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศ 2 ประเทศที่เจรจากันเพื่อขจัดการเก็บภาษีเงินได้ซ้ำซ้อนที่อาจเกิดขึ้นระหว่างประเทศ รวมถึงอาจจะมีการกำหนดความร่วมมือด้านภาษีระหว่างกันด้วย ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยได้ทำข้อตกลงกับทางประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกถึง 61 ประเทศ
โดยหลักการในการเก็บภาษีตามอนุสัญญาภาษีซ้อนจะมีหลักการตามแต่ละข้อตกลงของแต่ละประเทศแตกต่างกันไป แต่อย่างไรก็ดี สามารถสรุปหลักการเบื้องต้นได้ดังนี้ครับ
- ยกเว้นภาษี โดยให้รัฐที่เก็บตามหลักถิ่นที่อยู่ยกเว้นภาษีให้เลย โดยที่ไม่ต้องนำเงินได้ส่วนนี้มาคำนวณภาษีอีก (จัดเก็บในรัฐที่ใช้หลักแหล่งเงินได้)
- บรรเทาภาระภาษี โดยรัฐที่เก็บตามหลักของถิ่นที่อยู่อนุญาตให้นำภาษีที่เสียในรัฐที่เก็บตามหลักแหล่งเงินได้มาใช้เป็นเครดิตภาษีเพื่อหักออกจากภาษีที่คำนวณได้ (คิดภาษีแต่ให้เอามาหักออกจากภาษีที่ต้องเสียได้)
โดยปกติแล้ว อนุสัญญาจะไม่กำหนดอัตราภาษีไว้ทั้งหมด แต่จะบอกแค่ว่ากรณีนี้ รัฐที่เก็บตามแหล่งเงินได้หรือรัฐถิ่นที่อยู่จะได้รับสิทธิในการเก็บภาษี ถ้ารัฐใดได้รับสิทธิแล้วก็ยึดตามหลักการกฎหมายของรัฐนั้นๆ แต่ในบางครั้งถ้ามีอนุสัญญามีการกำหนดเพดานภาษีไว้ รัฐที่ได้สิทธิในการจัดเก็บภาษีก็จะเก็บภาษีได้ไม่เกินเพดานอัตราภาษีที่อนุสัญญากำหนดไว้ครับ
ดังนั้น ถ้าหากรายได้ของเราต้องเสียภาษีในประเทศที่จัดเก็บตามหลักของแหล่งเงินได้แล้ว (เช่น เงินได้จากต่างประเทศ) เราต้องมาพิจารณาต่อว่าในประเทศที่เป็นถิ่นที่อยู่นั้น (เช่น ประเทศไทย) ยังมีการจัดเก็บภาษีได้ตามกฎหมายหรือไม่ และมีอนุสัญญาภาษีซ้อนระหว่างประเทศที่ช่วยบรรเทาภาระภาษีในเรื่องนี้หรือไม่ครับ
ยกตัวอย่าง กรณีครีเอเตอร์ที่มีเงินได้จากการขายสติกเกอร์ไลน์ ต้องเสียภาษีที่ประเทศญี่ปุ่น (รัฐแหล่งเงินได้) เมื่อเสียเรียบร้อยแล้วก็มาพิจารณาว่าอนุสัญญาภาษีซ้อนระบุให้ประเทศไทยสามารถเก็บภาษีได้หรือไม่ ซึ่งจากอนุสัญญาภาษีไทย-ญี่ปุ่น กำหนดว่ากรณีลักษณะของค่าสิทธิ์อาจสามารถเก็บในรัฐที่มีแหล่งเงินได้ (ข้อ 12.2) ก็แปลว่าไม่ต้องเสียภาษีที่ประเทศไทยอีกทีแล้วครับ
ข้อ 12 1. ค่าสิทธิที่เกิดขึ้นในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งและจ่ายให้แก่ผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งอาจเก็บภาษีได้ในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งนั้น 2. อย่างไรก็ตาม ค่าสิทธิเช่นว่านั้นอาจเก็บภาษีได้ในรัฐผู้ทำสัญญาซึ่งค่าสิทธินั้นเกิดขึ้นและตามกฎหมายของรัฐผู้ทำสัญญารัฐนั้น แต่ถ้าผู้รับเป็นเจ้าของผู้รับประโยชน์จากค่าสิทธิภาษีเรียกเก็บจะต้องไม่เกินร้อยละ 15 ของจำนวนค่าสิทธิทั้งสิ้น 3. คำว่า "ค่าสิทธิ" ที่ใช้ในข้อนี้ หมายถึงการจ่ายไม่ว่าชนิดใดๆ ที่ได้รับเป็นค่าตอบแทนเพื่อการใช้หรือสิทธิในการใช้ลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรม ศิลปหรืองานวิทยาศาสตร์ใดๆ รวมทั้งฟิล์มภาพยนตร์และฟิล์มหรือเทปที่ใช้สำหรับการกระจายเสียงทางวิทยุหรือทางโทรทัศน์ สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า แบบหรือหุ่นจำลอง แผนผัง สูตร หรือกรรมวิธีลับใดๆ หรือเพื่อข้อสนเทศที่เกี่ยวกับประสบการณ์ทางอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือทางวิทยาศาสตร์
แต่สำหรับประเทศที่ไม่มีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับไทย ก็แปลว่า เรามีโอกาสเสียภาษีทั้งสองฝั่ง ในกรณีที่มีรายได้จากต่างประเทศอย่างที่ว่ามาครับ ซึ่งก็ต้องกลับมาพิจารณาต่อว่า เรามีการอยู่ในประเทศไทยถึง 180 วันในปีนั้น และมีการนำเงินได้เข้ามาหรือเปล่านั่นเองครับ
บทสรุป
สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการเสียภาษีของเงินได้ที่ได้รับจากต่างประเทศนั้น ผมมองว่ามันคือเรื่องของการทำความเข้าใจเรื่องวิธีการจัดเก็บภาษี ซึ่งถ้าหากพบว่าต้องเสียแล้ว เราจึงมาคำนวณภาษีที่เกิดขึ้น และพิจารณาต่อว่ามีข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการลดภาระภาษีให้กับเราหรือเปล่านั่นเองครับ
และนั่นจะทำให้เราวางแผนภาษีได้อย่างถูกต้อง
TAXBugnoms
ไม่ว่าเราจะมีเงินได้จากไหนก็ตามครับ