พี่ครับ ผมเพิ่งเปิดบริษัทใหม่ อยากรู้ว่าต้องเสียภาษีอะไรบ้าง?
คำถามนี้ผิดตรงไหนบ้าง รู้ไหมครับ?
เปิดบริษัท เสียภาษีอะไรบ้าง? ยื่นภาษีแบบไหน? หลายคนมักจะเริ่มต้นคำถามแบบนี้ เพื่อไปหาคำตอบที่ดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็น ภาษีที่เจ้าของธุรกิจควรรู้จัก นักบัญชีที่ต้องจ้าง เอกสารที่ต้องจัดการ ฯลฯ
แต่สิ่งที่เราต้องตอบให้ได้ก่อน เริ่มจัดการเรื่องพวกนี้ นั่นคือ คำถามที่ว่า บริษัทเราทำธุรกิจอะไร มีรายได้ และ ค่าใช้จ่ายแบบไหน บ้างครับ
ทำไมต้องเริ่มต้นด้วยคำถามนี้ ?
เหตุผลที่ให้เริ่มจากคำถามเรื่อง รายได้ และ ค่าใช้จ่าย ของธุรกิจ มาจากแนวคิดของการเสียภาษีครับ เพราะว่าถ้าเราเข้าใจเรื่องพวกนี้ มันจะพาเราไปต่อในเรื่องของ ภาษี และ บัญชี ได้ง่ายขึ้นครับ
ยกตัวอย่างเช่น บริษัทของเราทำธุรกิจขายของออนไลน์ในลักษณะของการซื้อมาขายไป เราก็จะเห็นว่า รายได้และค่าใช้จ่ายของเรานั้นมีรายละเอียดต่อไปนี้
- รายได้ : ค่าขายสินค้า (รายได้หลัก) ค่าส่งสินค้า (ถ้ามีการคิดค่าส่งเพิ่ม) และ รายได้อื่นๆ (ถ้ามี)
- ค่าใช้จ่าย : ต้นทุนสินค้า ค่าใช้จ่ายขนส่ง ค่าอุปกรณ์ ค่าจ้างพนักงาน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าโฆษณาเฟสบุ๊คหรือ Platform ต่างๆ ค่าทำบัญชี ค่าใช้จ่ายบริหาร และ ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ
ซึ่งรายได้และค่าใช้จ่ายส่วนนี้อาจจะมีมากกว่าหรือน้อยกว่าที่ผมยกตัวอย่างมาก็ได้ครับ ขึ้นอยู่กับลักษณะของธุรกิจที่เราทำ และ รายละเอียดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งพอเรามองเห็นรายละเอียดพวกนี้ เราจะค่อยๆ ตอบคำถามในเรื่องของภาษีแต่ละประเภทได้ง่ายขึ้นครับ
ทีนี้พอเราตอบได้แล้ว เราจะมาทำความเข้าใจเรื่องของ “ภาษี” แต่ละประเภทกันครับ
เปิดบริษัท เสียภาษียังไง?
ทำความเข้าใจภาษีที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ
ภาษีที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ หรือ ภาษีธุรกิจ นั่น มีมากมายหลากหลายมากครับ แต่สิ่งที่อยากให้โฟกัสสำหรับเจ้าของธุรกิจที่เปิดบริษัท (ในมุมมองของผม) นั่น มีแค่ 3 ประเภทก็เพียงพอแล้วครับ นั่นคือ
ภาษีเงินได้นิติบุคคล
ตัวแรก คือ ภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นภาษีเงินได้ประเภทหนึ่งที่ต้องเสียหลังจากที่เราจดบริษัทครับ โดยมีหลักการคำนวณจาก “กำไรสุทธิ (ทางภาษี)” ปกติแล้วจะต้องยื่นปีละ 2 ครั้ง เรียกว่า ภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปี และ ภาษีเงินได้นิติบุคคลเต็มปี (สิ้นปี)

โดยการยื่นภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปี จะใช้แบบแสดงรายการที่ชื่อว่า แบบ ภ.ง.ด. 51 ซึ่งมีกำหนดยื่นภายใน 2 เดือนนับจากวันครึ่งรอบบัญชี (ปีไหนรอบบัญชีไม่เต็ม 12 เดือนก็ไม่ต้องยื่น) ส่วนแบบสิ้นปี จะเรียกว่า ภ.ง.ด. 50 ยื่นภายใน 150 วันนับจากวันสิ้นรอบบัญชี (ต้องยื่นทุกปีหลังจากที่จดบริษัท)


สำหรับคำว่า “รอบบัญชี” มักจะหมายถึง “ครบรอบหนึ่งปี” เช่น วันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม 2564 แบบนี้นับเป็น 1 รอบบัญชีครับ แต่ในบางกรณีรอบบัญชีอาจจะไม่ครบหนึ่งปี (12 เดือน) ก็ได้ สำหรับบริษัทที่เพิ่งจดทะเบียนจัดตั้งใหม่ หรือ บริษัทที่มีการจดทะเบียนเลิกในระหว่างปี
ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย
ตัวที่สอง คือ ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย สำหรับภาษีตัวนี้จะเกี่ยวข้องกับการ “จ่ายเงิน” ของบริษัท โดยเราจะมีหน้าที่ยื่นเมื่อธุรกิจมีการหักภาษีผู้รับเงินไว้ เช่น จ่ายค่าบริการให้บริษัทอื่น ต้องหัก ณ ที่จ่ายในอัตรา 3% เป็นต้น
โดยการหักภาษี ณ ที่จ่ายนั้น จะขึ้นอยู่กับองค์ประกอบสำคัญ 3 ข้อครับ นั่นคือ ผู้จ่ายเงินเป็นใคร จ่ายเงินได้ประไหนตามกฎหมาย และ ผู้รับเงินเป็นใคร ซึ่งถ้าหากเราทำความเข้าใจเรื่องพวกนี้ ก็จะทำให้บริษัทหักได้อย่างถูกต้อง และไม่มีปัญหากับทางสรรพากรครับ
หลังจากหักภาษีไว้แล้วในแต่ละครั้งที่มีการจ่าย บริษัทก็จะมีหน้าที่รวบรวมจำนวนเงินภาษีที่หักไว้ทั้งหมดในแต่ละเดือน นำส่งกรมสรรพากรตามประเภทของเงินได้และผู้รับเงินตามแบบแสดงรายการภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่กฎหมายกำหนดไว้ครับ ซึ่งจะมีหลายแบบแสดงรายการ แต่หลักๆที่ใช้กันจะมีอยู่ 4 แบบ ได้แก่




กรณีหักภาษี ณ ที่จ่าย บุคคลธรรมดา
- ภ.ง.ด. 1 ยื่นกรณีหักเงินได้ประเภทที่ 1-2
- ภ.ง.ด. 2 ยื่นกรณีหักเงินได้ประเภทที่ 3-4
- ภ.ง.ด. 3 ยื่นกรณีหักเงินได้ประเภทที่ 5-8
กรณีหักภาษี ณ ที่จ่าย นิติบุคคล (บริษัทหรือห้างหุ้นส่วน)
- ภ.ง.ด.53 สำหรับเงินได้ทุกประเภทที่มีการหัก ณ ที่จ่าย

สำหรับระยะเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษีหัก ณ ที่จ่าย จะยื่นภายใน 7 วันหลังจากสิ้นเดือนนั้นๆ เช่น เดือนมิถุนายน ก็ต้องยื่นภายในวันที่ 7 กรกฎาคม แต่ก็จะมีบางกรณีที่ยื่นสรุปเป็นรายปี เช่น แบบ ภงด. 1ก และ ภงด. 2ก ครับ
นอกจากนั้น ภาษีหัก ณ ที่จ่ายจะเป็นภาษีที่ยื่นเมื่อมีรายการเกิดขึ้น (มีการหักภาษีไว้) ดังนั้นถ้าเดือนไหนธุรกิจของเราไม่มีการหักภาษีผู้รับเงินไว้ ก็ไม่จำเป็นต้องยื่นแบบแสดงรายการครับ
ภาษีมูลค่าเพิ่ม
สำหรับเรื่อง ภาษีมูลค่าเพิ่ม นั้น เป็นภาษีอีกตัวหนึ่งสำหรับเจ้าของธุรกิจที่มักจะสงสัย โดยคำอธิบายง่าย ๆ ที่ผมให้ได้ทันทีก็คือ เราจะยื่นเมื่อเราเป็นผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ จด VAT แล้วเท่านั้น ถ้าไม่ได้จดก็ไม่ต้องยื่น แต่ถ้าจดก็ต้องยื่นนำส่งภาษีให้ถูกต้อง
สำหรับประเด็นสำคัญของภาษีมูลค่าเพิ่ม คือ ถ้ามีรายได้ถึง 1.8 ล้านบาทต่อปีและไม่ได้ทำธุรกิจที่ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม เราต้องจด VAT ให้ถูกต้องภายใน 30 วัน ไม่งั้นจะมีความผิดนั่นเองครับ
โดยหลักการของภาษีมูลค่าเพิ่มนั้นมาจาก ภาษีขาย – ภาษีซื้อ แล้วนำส่งยอดส่วนต่างที่เกิดขึ้น (ถ้ามี) พร้อมกับยื่นแบบแสดงรายการ ภ.พ. 30 ที่เกิดขึ้นในแต่ละเดือนให้กรมสรรพากร ซึ่งความหมายของคำว่าภาษีขายและภาษีซื้อนั้น หมายถึง รายการต่อไปนี้
- ภาษีขาย = เวลาขายเราต้องบวกเข้าไป (ปกติคือ 7%)
- ภาษีซื้อ = เวลาเราซื้อสินค้า/บริการ เขาจะบวกเพิ่มเข้ามา

จากตัวอย่างข้างต้น ยอดภาษีซื้อคือ 7 บาท และ ภาษีขาย คือ 14 บาท โดยบริษัทบักหนอมน้อย จะมีหน้าที่นำส่งให้กับกรมสรรพากรจำนวน 7 บาท (หากทั้งเดือนมีรายการเกิดขึ้นรายการนี้เพียงรายการเดียว)
สำหรับหน้าที่ของธุรกิจ คือ การเก็บยอดสรุป ภาษีขายทั้งหมดที่ออกในแต่ละเดือน มาลบด้วยภาษีซื้อที่เราจ่ายไป ส่วนต่างยื่นแบบ ภ.พ. 30 ให้กรมสรรพากร พร้อมนำส่งเงินส่วนต่างให้กับกรมสรรพากรอย่างที่ว่ามา

แต่ถ้าหากภาษีขายมากกว่าภาษีซื้อ แต่ถ้าภาษีซื้อมากกว่าภาษีขายจะขอคืน หรือ ขอยกยอดส่วนที่เกินไปหักต่อในเดือนถัดไปก็ได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องยื่นภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป
กรณีของภาษีมูลค่าเพิ่มจะแตกต่างจากภาษีหัก ณ ที่จ่ายตรงที่ว่า ต่อให้เดือนไหนไม่มียอดซื้อขายหรือภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น ธุรกิจยังต้องมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการ ภ.พ. 30 อยู่ดี เนื่องจากเป็นหน้าที่ในการนำส่งตามกฎหมายครับ
บทสรุป
มาถึงตรงนี้ ผมขอสรุปอีกทีว่า นี่เป็นหลักการเบื้องต้นทีเจ้าของต้องทำความเข้าใจในเรื่องภาษีธุรกิจ อย่างที่บอกว่าตั้งแต่แรกว่า ไม่ได้มีแค่ภาษี 3 ประเภทนี้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ แต่ถือว่าครอบคลุมถึง 70-80% ของเรื่องภาษีที่เกี่ยวข้องกับการเริ่มต้นทำธุรกิจ และเพียงพอที่จะตอบคำถามที่ว่า เปิดบริษัท เสียภาษียังไง? ในระดับหนึ่งแล้วล่ะครับ

อย่างไรก็ดี การยื่นแบบแสดงรายการภาษีต่าง ๆ นั้น อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลา รวมถึงกรณีที่ยื่นแบบผ่านอินเตอร์เน็ตที่เวปไซด์กรมสรรพากร จะได้รับสิทธิ์ขยายเวลาเพิ่มเติมออกไปอีก 8 วัน ดังนั้นเรืองนี้ถือเป็นประโยชน์ต่อเจ้าของธุรกิจที่ต้องการบริหารและจัดการเงินสดที่ควรเรียนรู้ไว้เช่นกันครับ
สุดท้ายนี้ หวังว่าจะช่วยให้เจ้าของธุรกิจเข้าใจภาพรวมของภาษีได้ง่ายขึ้น และสามารถเชื่อมโยงกับรายได้ ค่าใช้จ่าย และการจัดการภาษีของธุรกิจได้เป็นประโยชน์มากยิ่งขึ้นนะครับ
เรื่องภาษีธุรกิจ ต้องเริ่มที่เจ้าของธุรกิจ
TAXBugnoms
มากกว่าคิดจะพึ่งพึงใครให้จัดการให้เราครับ