ในช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน 2563 มีมาตรการออกมามากมายเพื่อช่วยเหลือและเยียวยาเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด19 ซึ่งพรี่หนอมเชื่อว่าหลายคนคงมึนงงและสับสนว่า ทำไมถึงเยอะแบบนี้? วันนี้เลยตัดสินใจหยิบเฉพาะมาตรการที่เกี่ยวข้องด้านภาษี (เฉพาะสรรพากร) มาเล่าให้ฟังกันครับ เพื่อที่จะได้เห็นภาพของมาตรการต่างๆมากขึ้น
โดยจะแบ่งมาตรการออกเป็น 3 ส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ มาตรการเลื่อนยื่นแบบแสดงรายการภาษี มาตรการเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ธุรกิจ และ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งมีรายละเอียดทั้งหมดดังนี้ครับ
มาตรการภาษี
เลื่อนยื่นแบบแสดงรายการ
สำหรับมาตรการเลื่อนยื่นแบบแสดงรายการภาษีนั้น เราจะเห็นว่าตอนนี้ภาครัฐได้ให้สิทธิประโยชน์ทุกแบบแสดงรายการและทุกประเภทภาษี โดยออกมาเป็น ประกาศกระทรวงการคลัง จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่
- ขยายกำหนดเวลาการยื่นรายการและการชำระภาษีอากรให้แก่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้พึงประเมินประจำปีภาษี พ.ศ. 2562 (ฉบับที่ 2)
- ขยายกำหนดเวลาการยื่นรายการและการชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 2)
- ขยายกำหนดเวลาการยื่นรายการ การนำส่งหรือการชำระภาษีอากรให้แก่ผู้มีหน้าที่นำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ผู้มีหน้าที่นำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคล การนำส่งหรือการชาระภาษีมูลค่าเพิ่มการชำระภาษีธุรกิจเฉพาะ และการเสียอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 2)
ซึ่งการออกประกาศทั้งหมดนี้มานั้น ถือว่าเป็นส่วนช่วยในการยืดระยะเวลาการจ่ายเงินออกไป แต่สิ่งหนึ่งที่อยากเน้นให้เข้าใจ คือ นี่เป็นมาตรการ “เลื่อน” ไม่ใช่ มาตรการ “ลด” ดังนั้นเราต้องวางแผนการจ่ายชำระภาษีเมื่อถึงเวลาที่กำหนดให้ถูกต้อง ส่วนคนที่ต้องการขอคืนภาษีสามารถยื่นขอคืนได้ก่อนวันที่ครบกำหนดได่เลยครับ
สำหรับคนที่สนใจศึกษาข้อมูลเรื่องนี้แบบละเอียด ผมแนะนำให้รับฟังคลิปในรายการ TAXBugnoms Podcast ด้านบนที่พูดคุยถึงเรื่องนี้ไว้ในประเด็นสำคัญหลายๆเรื่องอีกทีหนึ่งครับ
มาตรการภาษี
เพิ่มสภาพคล่องให้แก่ธุรกิจ
โดยสรุปแล้ว การลดอัตราภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่ายจากอัตรา 3% จะแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่
- ลดเหลือ 1.5% ตั้งแต่ 1 เมษายน 2563 – 30 กันยายน 2563 (ทุกกรณี)
- ลดเหลือ 2% ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2563 – 31 ธันวาคม 2564 (เฉพาะการนำส่งตามวิธี E-Witholding TAX)
ซึ่งกรณีลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายนั้น จะลดในกรณีการจ่ายให้กับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามประเภทเงินได้ต่อไปนี้ครับ
- เงินได้ตามมาตรา 40(2)
- เงินได้ตามมาตรา 40(3) เฉพาะค่าสิทธิ์
- เงินได้ตามมาตรา 40(6) และ 40(7)
- เงินได้ตามมาตรา 40(8) ในส่วนจ้างทำของ รางวัล ส่วนลด ส่งเสริมการขาย
นอกจากนั้น จะลดให้ในกรณีจ่ายให้กับบุคคลธรรมดาตามประเภทเงินได้ต่อไปนี้ครับ
- เงินได้ตามมาตรา 40(6) และ 40(7)
- เงินได้ตามมาตรา 40(8) ในส่วนจ้างทำของ รางวัล ส่วนลด ส่งเสริมการขาย
โดยการลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายนี้ ได้ประกาศเป็นกฎหมายตาม กฎกระทรวงฉบับที่ 361 เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมาครับ ซึ่งมาตรการที่ว่านี้จะช่วยเหลือในฝั่งของผู้มีรายได้ให้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้น้อยลง และส่งผลให้มีผู้ที่มีเงินได้นั้น มีเงินหมุนเวียนมากขึ้นนั่นเองครับ
สำหรับคนที่สนใจข้อมูลเรื่องนี้แบบละเอียด ผมแนะนำให้เปิดดูคลิปข้างบนนี้เพื่อศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้ครับ เพื่อที่จะได้เข้าใจหลักการของภาษีหัก ณ ที่จ่ายและมาตรการตัวนี้ได้ดียิ่งขึ้นครับ
มาตรการภาษี
กระตุ้นเศรษฐกิจของประเภท
สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจนี้จะแบ่งออกเป็นส่วนที่น่าสนใจอยู่ 2 กลุ่มย่อย ได้แก่ สำหรับบุคคลธรรมดา และ นิติบุคคล โดยทั้งสองกลุ่มนี้จะได้รับสิทธิประโยชน์ที่แตกต่างกันออกไปดังนี้ครับ

สำหรับบุคคลธรรมดา มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในส่วนที่เพิ่มค่าลดหย่อนดังนี้ครับ
1) สิทธิประโยชน์ SSF พิเศษ หรือ SSFX โดยให้สิทธิลดหย่อนภาษีสูงสุด 200,000 บาท สำหรับการซื้อกองทุน SSFX ที่เข้าเงื่อนไขตามที่กฎหมายกำหนด โดยไม่รวมกับฐาน SSF ปกติ และต้องซื้อภายในวันที่ 1 เมษายน – 30 มิถุนายน 2563 เท่านั้น
2) สิทธิประโยชน์ประกันสุขภาพ เพิ่มเติมเป็น 25,000 บาท แต่ยังมีเงื่อนไขรวมกับประกันชีวิตแล้วไม่เกิน 100,000 บาท โดยให้สิทธิตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป

สำหรับนิติบุคคล มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในส่วนที่เพิ่มรายจ่ายทางภาษีดังต่อไปนี้ครับ
1) รายจ่ายดอกเบี้ยที่จ่ายตั้งแต่ 1 เมษายน – 31 ธันวาคม 2563 สามารถนำมาหักรายจ่ายเพิ่มได้ 1.5 เท่า โดยผู้ประกอบการที่ได้รับสิทธิต้องเข้าเงื่อนไขตามที่กฎหมายกำหนด เช่น รายได้ 12 เดือนไม่เกิน 500 ล้านบาท มีการจ้างงานไม่เกิน 200 คน และต้องเป็นผู้ประกอบการบัญชีชุดเดียวตามที่สรรพากรกำหนด
2) รายจ่ายค่าจ้างแรงงานที่จ่ายตั้งแต่ 1 เมษายน – 31 กรกฎาคม 2563 สามารถนำมาหักรายจ่ายเพิ่มได้ 3 เท่า โดยผู้ประกอบการที่ได้รับสิทธิต้องเข้าเงื่อนไขตามที่กฎหมายกำหนด เช่น รายได้ 12 เดือนไม่เกิน 500 ล้านบาท มีการจ้างงานไม่เกิน 200 คน นอกจากนั้น และยังต้องมีการจ้างงานพนักงานที่เป็นผู้ประกันตน ตามระบบของประกันสังคมที่มีค่าจ้างไม่เกิน 15,000 บาท/เดือน โดยไม่ลดจำนวนพนักงานลง เมื่อเปรียบเทียบกับสิ้นเดือน ธ.ค. 2562
สรุป
เราจะเห็นว่ามาตรการภาษี (ของกรมสรรพากร) ที่ออกมาในช่วงนี้ มีทั้งช่วยเหลือโดยขยายระยะเวลาการยื่นภาษีออกไป (ทำให้จ่ายช้าลง) รวมถึงด้านสภาพคล่อง (ให้สิทธิหัก ณ ที่จ่ายลดลง) ไปจนถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจสำหรับผู้ที่มีกระแสเงินสดเหลือเพียงพอที่จะลงทุนหรือช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจด้านต่างๆ และยังมีมาตรการอื่นๆที่เกี่ยวข้องเฉพาะด้าน (ที่ไม่ได้กล่าวถึงในบทความนี้) อย่างเช่น การยกเว้นภาษีเงินได้ให้กับบุคลากรทางการแพทย์อีกด้วย
อย่างไรก็ดี สำหรับตัวผมเอง มองว่ามาตรการภาษีที่รัฐพยายามส่งเสริมเพิ่มเติมเพื่อเยียวยานั้น ก็ถือว่าเป็นมาตรการที่เราไม่สามารถมองเห็นได้ในช่วงภาวะปกติ แต่ว่าจะช่วยให้เราก้าวพ้นวิกฤตได้หรือไม่นั้น
คงต้องวัดผลลัพธ์กันอีกครั้ง
TAXBugnoms
หลังจากที่วิกฤตผ่านพ้นไปครับ