ขายของออนไลน์ เสียภาษียังไง? สรุป เรื่องที่ต้องรู้เกี่ยวกับภาษีขายของออนไลน์

ขายของออนไลน์ เสียภาษียังไง?

พี่ครับ ผมขายของออนไลน์ ต้องเสียภาษียังไงครับ

ว่าแต่น้องขายอะไรครับ?

ขายของออนไลน์ เสียภาษียังไง? เป็นหนึ่งในคำถามยอดฮิตกับการเสียภาษีในยุคนี้ ดังนั้นบทความนี้ผมจะพาทุกคนมาทำความเข้าใจกับเรื่องนี้ในทุกประเด็นที่ควรรู้ เพื่อให้สามารถต่อยอดในการศึกษาหาความรู้ภาษีเพิ่้มเติมได้ด้วยตัวเองต่อไปครับ

Advertisements

โดยบทความนี้จะเน้นความรู้จำเป็นสำหรับ มือใหม่ที่เริ่มต้นขายของออนไลน์ ที่ทำธุรกิจในรูปแบบบุคคลธรรมดาเป็นหลัก โดยไม่ลงรายละเอียดถึงการทำธุรกิจในรูปแบบนิติบุคคลอย่างบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนะครับ

สำหรับคนที่ไม่มีเวลา สามารถเลือกอ่านเฉพาะหัวข้อที่สนใจได้เลยครับ

ก่อนจะไปจัดการเรื่องภาษี
เราควรรู้กำไรของธุรกิจเสียก่อน

อันดับแรกเลย ก่อนที่จะไปปูพื้นฐานเรื่องภาษี ผมขอพาย้อนกลับไปที่คำถามสำคัญก่อนว่า ทุกวันนี้รู้ไหมครับว่า ธุรกิจมีกำไรเท่าไร ? และ เราได้ทำบัญชีรายรับรายจ่ายของธุรกิจไหม ?

Advertisements

คำถามนี้สำคัญมากครับ เพราะว่าถ้าหากเรายังไม่รู้ว่าธุรกิจเรามีกำไรไหม หากต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นไป ก็แปลว่ากำไรที่มีอยู่อาจจะน้อยลง หรือไม่ก็ขาดทุนก็คงจะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

และประเด็นนี้ยังเชื่อมโยงกับภาษีที่เกี่ยวข้องอย่าง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และ ภาษีมูลค่าเพิ่ม เพราะถ้าหากคุณไม่รู้ข้อมูลของตัวเองแล้ว เมื่อถูกสรรพากรเรียกตรวจสอบขึ้นมา เราจะไม่สามารถพิสูจน์หลักฐานและความเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ได้เลยครับ

ดังนั้น ถ้าหากยังไม่รู้กำไรของธุรกิจ ลองค่อยๆ กลับมาเริ่มต้นทำบัญชีรายรับรายจ่ายก่อนนะครับ แต่ถ้าหากใครพร้อมแล้ว ยังครับ ผมยังไม่พาไปถึงเรื่องของภาษี แต่จะขอถามต่อครับว่า

Advertisements

ทุกวันนี้ คุณจัดการบัญชีธนาคาร และ เอกสารหลักฐานการจ่ายเงินต่าง ๆ อย่างไร ?

แยกบัญชีธุรกิจ และ การจัดการเอกสาร
คือจุดเริ่มต้นที่ดีในเรื่องบัญชีและภาษี

ถึงแม้ว่าหลายคนจะทำบัญชีรายรับรายจ่ายแล้ว แต่คำแนะนำเพิ่มเติมของผมยังมีอีก 2 ข้อที่จะช่วยให้การจัดการภาษีขายของออนไลน์ง่ายขึ้น นั่นคือ การแยกบัญชีส่วนตัว กับ การจัดการเอกสารหลักฐาน ครับ

การแยกบัญชีธุรกิจออกจากบัญชีส่วนตัว ทำให้เรารู้ชัดเจนว่าอะไรคือ รายได้และรายจ่ายของธุรกิจ และอะไรคือ รายจ่ายที่เป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัว ซึ่งสำคัญมากต่อการจัดการธุรกิจดังนี้ครับ

  • ถ้าแยกได้ชัด เราจะรู้ กำไรที่แท้จริง เพื่อใช้ในการประเมินความสามารถของธุรกิจ
  • หากถูกตรวจสอบภาษี เราจะชี้แจงได้ชัดเจนด้วยหลักฐาน รวมถึงตัดโอกาสที่ทางสรรพากรอาจจะใช้อำนาจประเมินเงินที่เข้าในบัญชีเราเป็นรายได้ได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจจะเข้าใจผิดในเรื่องของ ธนาคารส่งข้อมูลให้สรรพากร ที่เกี่ยวกับจำนวนเงินที่โอนเข้าบัญชีตั้งแต่ 3,000 ครั้งขึ้นไป หรือตั้งแต่ 400 ครั้งขึ้นไป และมียอดเงินรวมถึง 2 ล้านบาท ว่า ถ้าหากเราไม่ถูกธนาคารส่งข้อมูลให้สรรพากรก็จะไม่ถูกตรวจสอบและไม่จำเป็นต้องเสียภาษี แต่ความเป็นจริงก็คือ

  • สรรพากรมีอำนาจตรวจสอบผู้ที่เสียภาษีไม่ถูกต้องได้อยู่แล้ว โดยที่ไม่เกี่ยวกับการที่ธนาคารส่งข้อมูลให้กับสรรพากร หรือ พูดง่าย ๆ ว่า สรรพากรมีหนทางตรวจสอบรายได้เราจากวิธีการอื่นครับ (อ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความ สรรพากรรู้ได้อย่างไรว่าเรามีรายได้ ?)
  • ถ้าหากเราถูกสรรพากรตรวจสอบขึ้นมาจริง ๆ จะเห็นถึงพฤติกรรมเลี่ยงภาษีที่ชัดเจนของเราได้อย่างแน่นอน เนื่องจากมีการพยายามกระจายบัญชีเพื่อที่ไม่ให้ธนาคารส่งข้อมูลให้สรรพากร และถ้าหากเราไม่มีข้อมูลรายได้ที่ถูกต้อง โอกาสจะถูกประเมินภาษีและเสียภาษีเพิ่มก็ยิ่งมากขึ้นตามไปด้วยครับ

ดังนั้น ถ้าใครจะจัดการเรื่องภาษีขายของออนไลน์ ผมแนะนำว่าให้เริ่มต้นจากการ แยกบัญชีให้ชัดเจนระหว่างเรื่องส่วนตัวกับธุรกิจ จัดการเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ให้ดี และ ทำบัญชีรายรับรายจ่าย เพื่อที่เราจะได้มีข้อมูลที่ชัดเจนทั้งตัวเลขกำไร และใช้จัดการภาษีได้อย่างถูกต้องต่อไปครับ

โดยสามารถดูตัวอย่างคำอธิบายวิธีการทำบัญชีรายรับรายจ่ายของกรมสรรพากรได้ที่ วิธีการจัดทำรายงานเงินสดรับ – จ่าย หรือ คู่มือภาษีรายงานเงินสดรับ-จ่าย ครับ

ตัวอย่างรายงานเงินสดรับจ่าย สำหรับคนที่สงสัยว่า ขายของออนไลน์ เสียภาษียังไง? และต้องทำบัญชีแบบไหน?
Advertisements

ขายของออนไลน์ เสียภาษียังไง?

อย่างที่เกริ่นไว้ในช่วงแรกของบทความว่า ภาษีที่เกี่ยวข้องกับการขายของออนไลน์นั้น มีอยู่ 2 ประเภทที่ต้องรู้ครับ นั่นคือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และ ภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยเราจะเริ่มกันที่ตัวแรกกันก่อนเลย นั่นคือ

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น มีวิธีคำนวณอยู่ 2 วิธีครับ นั่นคือ …

วิธีคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา  ใช้ประกอบตัวอย่างบทความ ขายของออนไลน์ เสียภาษียังไง?

วิธีแรก คำนวณจากเงินได้สุทธิ หรือ (เงินได้ — ค่าใช้จ่าย — ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี
วิธีที่สอง คำนวณจากเงินได้พึงประเมิน โดยนำ เงินได้ x 0.5 %

โดยทั้งสองวิธีเมื่อคำนวณแล้ว เราจะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากวิธีที่คำนวณได้มากกว่า แต่เราจะใช้วิธีที่สองในการคำนวณภาษีมาเปรียบเทียบกับวิธีแรกเมื่อมีรายได้เกิน 1 ล้านบาทต่อปี

สำหรับรายละเอียดในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ผมแนะนำให้อ่านบทความเรื่อง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา : เคลียร์ชัด! 2 วิธีคิดภาษีให้ถูกต้อง เพื่อทำความเข้าใจกับเรื่องนี้อย่างละเอียดนะครับ หรือดูคลิปวีดีโอด้านล่างนี้ประกอบคำอธิบายเพิ่มเติมได้ครับ

Advertisements

แต่สิ่งที่ผมอยากสรุปเรื่องภาษีเงินได้สำหรับคนที่ขายของออนไลน์ในบทความนี้นั้น มีหลักการตามนี้ครับ

  1. เมื่อเรารู้ข้อมูลรายได้ของเราแล้ว สิ่งที่เราต้องมาวางแผนต่อ คือ เราจะหัก ค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แบบไหน ระหว่าง หักค่าใช้จ่ายเหมาในอัตรา 60% (กรณีซื้อมาขายไป หรือเข้าเกณฑ์ที่สามารถใช้สิทธิ์หักในอัตราเหมาตามที่กฎหมายกำหนด) กับ เลือกหักค่าใช้จ่ายจริงในการคำนวณภาษี (ตามเอกสารหลักฐานที่่เรามีและเกี่ยวข้องกับรายได้)
  2. เราวางแผนลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมจากอะไรได้บ้าง สำหรับ รายการลดหย่อนภาษี ที่เรามีอยู่ในตอนนี้ และกระแสเงินสดที่เรามีอยู่เพื่อใช้สิทธิ์เพิ่มเติมให้ประหยัดภาษีมากขึ้นได้
  3. เมื่อได้จำนวนภาษีที่ต้องเสียแล้ว ในกรณีที่มีเงินได้เกิน 1 ล้านบาทต่อปี เราอาจจะต้องมาเปรียบเทียบกับการคำนวณภาษีตามวิธีเงินได้พึงประเมิน (เงินได้ x 0.5%) ว่าต้องเสียภาษีตามวิธีไหน (เพราะกฎหมายให้เสียจากจำนวนที่คำนวณได้สูงกว่า)

ตัวอย่างการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

เพื่อความเข้าใจที่มากขึ้น ลองมาดูตัวอย่างการคำนวณง่าย ๆ ตามนี้กันครับ

สมมติว่า นายบักหนอมมีรายได้จากการขายของออนไลน์ตลอดทั้งปี จำนวน 2 ล้านบาท โดยมีข้อมูลต่างๆ ดังต่อไปนี้

  • ธุรกิจเป็นการซื้อมาขายไป โดยนายบักหนอมเป็นคนไปซื้อมาและนำมาขายต่อด้วยตัวเอง
  • ธุรกิจมีต้นทุนจริงรวมทั้งหมด (ค่าสินค้า ค่าส่ง ค่าโฆษณาและ อื่นๆ) จำนวน 1,500,000 บาท

จากข้อมูลตรงนี้ เราจะคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาดังนี้ครับ

  • คำนวณตามวิธี เงินได้สุทธิ โดยนำรายได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน ซึ่งสิ่งที่นายบักหนอมต้องพิจารณาก็คือ
    • ทางเลือกในการหักค่าใช้จ่าย เหมา 60% หรือ หักค่าใช้จ่ายจริง โดยในกรณีนี้สามารถเลือกหักวิธีไหนก็ได้ เนื่องจากเป็นการซื้อมาขายไป (หักเหมาได้) แต่ถ้าจะหักค่าใช้จ่ายจริง สิ่งที่นายบักหนอมต้องตอบให้ได้ก็คือ ต้นทุนจริงจำนวน 1,500,000 บาทนั้น มีเอกสารหลักฐานเพียงพอไหม ถ้าไม่มีเอกสารหลักฐาน ก็จะไม่สามารถหักค่าใช้จ่ายจริงได้ครับ
    • รายการค่าลดหย่อนมีอะไรบ้าง? ซึ่งถ้าไม่มีรายกาารใด ๆ นายบักหนอมก็จะมีค่าลดหย่อนส่วนตัวจำนวน 60,000 บาทมาใช้ในการคำนวณภาษีเท่านั้นครับ
  • จากกรณีนี้ สมมติว่านายบักหนอมเลือกหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาและไม่มีค่าลดหย่อนใดๆ เพิ่มเติม เราจะได้เงินได้สุทธิออกมาจำนวน 2,000,000–1,200,000–60,000 = 740,000 บาท เมื่อนำมาคำนวณภาษีก็ต้องเสียภาษีเป็นจำนวน 63,500 บาท (7,500 + 20,000 + 36,000) ซึ่งคำนวณจากอัตราภาษีตามตารางเงินได้สุทธิด้านล่างนี้
อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ใช้ประกอบตัวอย่างการคำนวณภาษีขายของออนไลน์
  • เนื่องจากนายบักหนอมมีรายได้มากกว่า 1 ล้านบาท จึงต้องคำนวณภาษีตามวิธีที่ 2 ด้วย (วิธีเงินได้พึงประเมิน) โดยนำรายได้ 2,000,000 x 0.5 เปอร์เซ็นต์ = 10,000 บาท

เมื่อเปรียบเทียบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจำนวน 10,000 บาทที่คำนวณได้ตามวิธีที่ 2 กับภาษีจำนวน 63,500 บาทที่ได้จากวิธีที่ 1 (วิธีเงินได้สุทธิ) เราจึงสรุปได้ว่า นายบักหนอมจะเสียภาษีทั้งหมด 63,500 บาท ซึ่งคำนวณภาษีได้มากกว่านั่นเองครับ

สิ่งที่ต้องคิดในเรื่องนี้ คือ กำไรที่แท้จริงของธุรกิจหลังจากที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้นเป็นเท่าไร ซึ่งเราต้องใช้ รายได้ – ค่าใช้จ่ายจริง – ภาษี เพื่อคำนวณกำไรที่แท้จริงอีกทีหนึ่งว่าคุ้มค่าไหม ซึ่งจะได้เท่ากับ 2,000,000 – 1,500,000 – 63,500 = 436,500 บาท ซึ่งตัวเลขนี้ คือ กำไรที่แท้จริงของนายบักหนอมนั่นเองครับ

ถ้าหากใครสนใจเรื่องของการยื่นภาษีขายของออนไลน์ หรือ รายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องของการขายของออนไลน์และประเด็นภาษี ผมขอแนะนำคลิปวีดีโอนี้ให้ศึกษาเพิ่มเติมครับ

และนี่คือเรื่องของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครับ แต่เรายังไม่จบเพียงเท่านี้ เพราะยังมีภาษีมูลค่าเพิ่มอีกตัวหนึ่งที่คนขายของออนไลน์จำเป็นต้องรู้ และตัวนี้แหละครับ คือ ประเด็นสำคัญของภาษีขายของออนไลน์เลยล่ะครับ

ภาษีมูลค่าเพิ่ม

นอกจากเรื่องภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแล้ว ยังมีอีกเรื่องภาษีสำหรับคนขายของออนไลน์ที่ต้องรู้ครับ นั่นคือ งภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยหลักการของภาษีตัวนี้ คือ ถ้าปีไหนเราเริ่มมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทและไม่ได้ประกอบธุรกิจที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม เราต้องรีบจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภายใน 30 วัน) ไม่อย่างนั้นจะถือว่ามีความผิดได้ครับ

อ่านชัดๆ เพื่อความเข้าใจอีกทีนะครับว่า …

  • รายได้ = รายได้ ไม่ใช่กำไร
  • รายได้ = รายได้ ไม่ต้องหักค่าใช้จ่าย
  • รายได้ = รายได้ ที่เราได้จากลูกค้านั่นแหละ

ซึ่งธุรกิจที่ได้รับสิทธิ์ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น สามารถดูรายละเอียดเพิ่มได้ที่ มาตรา 81 แห่งประมวลรัษฏากร ซึ่งจะมีบอกไว้ครับว่าธุรกิจอะไรบ้างได้รับสิทธิ์ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม

สำหรับคนที่ต้องการทำความเข้าใจเรื่องของภาษีมูลค่าเพิ่ม ผมแนะนำบทความเรื่อง ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) คืออะไร? คำนวณแบบไหน? 7% ที่เก็บใครจ่าย? หรือจะดูคลิปวีดีโอที่พูดคุยเรื่องนี้ก็ได้เหมือนกันครับ

โดยหลังจากที่เราจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเรียบร้อยแล้ว เรามีหน้าที่ต้องคำนวณเพื่อส่งยอดให้กับกรมสรรพากรทุกเดือนครับ ซึ่งถ้าหากมีภาษีขายมากกว่าภาษีซื้อ ก็จ่ายให้กรมสรรพากร หากภาษีซื้อมากกว่าภาษีขาย ก็สามารถยกยอดไปได้ในเดือนต่อไป หรือขอคืนได้ในแต่ละเดือนเช่นกันครับ

  • ภาษีขาย คือ ภาษีที่เราเรียกเก็บจากผู้ซื้อสินค้าหรือรับบริการจากเรา (ลูกค้า)
  • ภาษีซื้อ คือ ภาษีที่เราจ่ายให้ผู้ขายหรือผู้ให้บริการ (ผู้ขาย)

ยกตัวอย่างเช่น นายบักหนอมเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้ซื้อของชิ้นหนึ่งมาในราคา 100 บาท โดยมีภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 7 บาท แบบนี้นายบักหนอมจะต้องจ่ายเงิน 107 บาทให้กับผู้ขาย และเราจะเรียกภาษีมูลค่าเพิ่ม 7 บาทนี้ว่า “ภาษีซื้อ” ครับ

หลังจากนั้นถ้านายบักหนอม เอาไปขายต่อให้ลูกค้าในราคา 200 บาท โดยมีภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 14 บาท ลูกค้าจะต้องจ่ายให้นายบักหนอมจำนวน 214 บาท และเราจะเรียกภาษีมูลค่าเพิ่ม 14 บาทนี้ว่า “ภาษีขาย” ครับ

โดยในแต่ละเดือน นายบักหนอมจะต้องนำภาษีขายมาลบภาษีซื้อ (ภาษีขาย – ภาษีซื้อ) เพื่อคำนวณยอดที่ต้องส่งให้กับสรรพากร ซึ่งในกรณีก็คือ 14 – 7 = 7 บาท นั่นเองครับ

แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่คนขายของออนไลน์ต้องทำความเข้าใจกับเรื่องนี้ มีอยู่ 2 ประเด็นใหญ่ ๆ ครับ นั่นคือ การตั้งราคาขาย และ การจัดการเรื่องภาษี โดยผมขอแยกประเด็นอธิบายดังนี้ครับ

การตั้งราคาขาย

สำหรับการตั้งราคาขายนั้น มาจากหลักการที่ว่า ภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นภาษีที่ผลักภาระได้ให้กับผู้ซื้อหรือผู้บริโภคเป็นผู้ชำระแทนได้ ซึ่งจะเป็นคำถามต่อมาก็คือ

สินค้าที่เราขายของออนไลน์อยู่ทุกวันนี้ มันมีการแข่งขันด้านราคาหรือเปล่า และถ้าหากเราจะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มขึ้นมาจริง ๆ เราจะบวกราคาขายเพิ่มอีก 7% ให้กับลูกค้าได้หรือเปล่า เพราะถ้าหากเราบวกไม่ได้ ก็แปลว่าราคาขายของเราจะลดลงไปอีก 7% นั่นเองครับ

สมมติว่า สินค้าของเราราคา 100 บาท ถ้าหากเราบวก 7% เข้าไปได้ในราคา ก็เท่ากับว่า ภาษีขายจำนวน 7 บาท ลูกค้าเป็นคนจ่าย ส่วนเราก็ยังมีรายได้ 100 บาทเท่าเดิม แต่ถ้าหากบวกไม่ได้แล้วล่ะก็ ราคา 100 บาทจะถือเป็นราคารวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งแปลว่าเราจะมีภาษีขายจำนวน 6.54 บาท และยอดขายจะเหลือเพียง 93.46 บาทเท่านั้นครับ

ดังนั้น ถ้าหากการขายของออนไลน์ของเราในวันนี้ ยังไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม อย่าลืมคิดเผื่อในวันที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปีและต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยนะครับ ว่าเราจะสามารถเพิ่มราคาสินค้าได้หรือไม่ และถ้าเพิ่มไม่ได้แล้ว เราจะยังมีกำไรอยู่หรือเปล่า …

การจัดการเรื่องภาษี

สำหรับการจัดการเรื่องภาษีหลังจากที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว คนขายของออนไลน์มีหน้าที่ต้องยื่นเป็นรายเดือน โดยคำนวณยอดทุกเดือนมาเพื่อนำส่งกรมสรรพากรภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป อย่างที่เล่าไปคร่าวๆ ก่อนหน้านี้นั่นเองครับ

แบบภ.พ.30 สำหรับยื่นภาษี กรณีขายของออนไลน์

โดยแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มที่ใช้ยื่นเราจะเรียกว่า แบบ ภ.พ.30 ซึ่งเวลายื่นเราสามารถกรอกข้อมูลต่างๆ ไปได้เลย โดยที่ไม่ต้องแนบเอกสารประกอบ แต่ต้องมีการทำรายงานเพิ่มเติมครับ นั่นคือ รายงานภาษีซื้อ รายงานภาษีขาย และ รายงานสินค้าและวัตถุดิบ รวมถึงยังมีหน้าที่ออก ใบกำกับภาษี ให้ถูกต้องอีกด้วยครับ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องศึกษาเพิ่มเติมให้เข้าใจและออกเอกสารให้ถูกต้องครับ

ข้อแนะนำเพิ่มเติมแบบสั้น ๆ สำหรับเรื่องนี้ คือ ในกรณีขายของให้กับบุคคลทั่วไปจำนวนมากที่ไม่ต้องการใบกำกับภาษี ธุรกิจของเราสามารถเลือกที่จะออก ใบกำกับภาษีอย่างย่อ แทน ใบกำกับภาษีเต็มรูป ได้ครับ (ลองศึกษาเรื่องนี้ดูก่อนนะครับ ถ้ามีโอกาสจะเขียนเรื่องนี้แยกเป็นอีกบทความให้ครับ)

มาถึงตรงนี้ คงจะพอเห็นภาพแล้วใช่ไหมครับว่า สำหรับคำถามว่า ขายของออนไลน์ ต้องเสียภาษียังไง เราจะพอตอบได้ว่า มันต้องเสียภาษีสองตัว นั่นคือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และ ภาษีมูลค่าเพิ่ม นั่นเองครับ

แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีหลายคนเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องของการขายของออนไลน์กับการเสียภาษีในหลายประเด็น ซึ่งผมขอยกประเด็นสำคัญ ๆ มาเล่าให้ฟัง ดังนี้ครับ

สิ่งที่คนมักเข้าใจผิดเรื่องภาษีขายของออนไลน์

จากประสบการณ์ทำแฟนเพจ TAXBugnoms มากว่า 10 ปี ผมพบว่ามีหลายคนเข้าใจผิดเรื่องของการขายของออนไลน์กับการเสียภาษีมาอย่างต่อเนื่องครับ ซึ่งมี 3 ประเด็นสำคัญ ที่ผมอยากจะนำมาอธิบายย้ำอีกทีเพื่อให้ทุกคนที่ได้อ่านบทความนี้เข้าใจชัดเจนมากยิ่งขึ้นครับ นั่นคือ …

การจดทะเบียนพาณิชย์ คือ การเสียภาษีเรียบร้อยแล้ว

การจดทะเบียนพาณิชย์ คือ การจดทะเบียนกับทางกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อยืนยันว่าธุรกิจเรามีตัวตน ถูกต้องตามกฎหมาย น่าเชื่อถือได้ เป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้ซื้อ ซึ่งมีทั้งการจดทะเบียนพาณิชย์ธรรมดา (ออฟไลน์) กับ การจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (ขายของออนไลน์)

แต่ถ้าเรื่องของ ภาษี การจดทะเบียนพาณิชย์ ไม่ได้เกี่ยวกับการเสียภาษีเลยครับ เพราะต่อให้เราจะจดหรือไม่จด ถ้าหากมีรายได้ตามที่ว่ามาทั้งหมดนี้ เราก็มีหน้าที่ต้องเสียภาษีอยู่ดีครับ

เสียภาษีที่ดิน ภาษีโรงเรือน ภาษีป้าย คือ เสียภาษีแล้ว

สำหรับคนที่มีหน้าที่เสีย ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หรือภาษีโรงเรือน (เมื่อก่อน) หรือ ภาษีป้าย คงต้องอธิบายว่า มันเป็นภาษีที่เกิดขึ้นคนละฐานภาษีกันครับ โดยภาษีเหล่านี้จะเก็บจากการมีทรัพย์สิน แต่ไม่ได้เกี่ยวกับการมีรายได้ของเราที่ต้องเสียภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่มนั่นเองครับ

บุคคลธรรมดา ไม่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)

บุคคลธรรมดามีหน้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ถ้ามีรายได้จากการขายสินค้าหรือให้บริการเกินกว่า 1.8 ล้านบาทในปีนั้น เนื่องจากภาษีมูลค่าเพิ่มพิจารณาจากการมีรายได้ที่ไม่ใช่ธุรกิจที่ได้รับสิทธิ์ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยที่ไม่ได้สนใจรูปแบบของธุรกิจว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล

ขายโดยได้รับเงินสด ไม่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ไม่ต้องเสียภาษี

หลักการของการเสียภาษีจะอยู่ที่ว่า รายได้นั้นเป็นรายได้ที่ยกเว้นภาษีหรือเปล่าครับ ดังนั้น ไม่ว่าจะรับเป็นอะไร ถูกหัก ณ ที่จ่ายหรือไม่ ถ้ารายได้นั้นไม่ได้รับสิทธิ์ยกเว้นภาษี เราก็มีหน้าที่ต้องเสียภาษีให้ถูกต้องทั้งหมดครับ ซึ่งรายได้จากการขายของออนไลน์นั้น ถือเป็นรายได้ที่ไม่ได้รับสิทธิ์ยกเว้นภาษีครับ

สรรพากรไม่รู้หรอก เราคงไม่ซวยขนาดนั้น ฯลฯ

สำหรับคนที่จะหลบเลี่ยงภาษี ผมคงไม่มีสิทธิ์ไปบอกว่าสิ่งที่เลือกทำนั้นมันถูกหรือผิดในแง่ของศีลธรรม ความรู้สึกส่วนบุคคลต่าง ๆ ครับ แต่ผมบอกได้ว่ามันคือการทำผิดกฎหมายภาษี ซึ่งถ้าหากถูกตรวจสอบพบก็ถือว่ามีโทษที่เราต้องเสียอย่างอื่นเพิ่มเติมนอกเหนือจากภาษี เช่น ค่าปรับ เบี้ยปรับ เงินเพิ่ม (ดอกเบี้ย)

เอาจริง ๆ ผมก็บอกว่าบอกไม่ได้หรอกครับว่าจะถูกตรวจสอบไหม จะโดนอะไรแบบไหนยังไงบ้าง แต่ถ้าหากโดนขึ้นมา ก็รับรองได้ว่าโทษของมันหนักและต้องเสียเงินเยอะแน่ ๆ ครับ ดังนั้นนี่คือความเสี่ยงที่ต้องรับกันครับ หากเลือกเส้นทางนี้แล้ว เพราะโดยปกติแล้ว คนที่โดนมักจะไม่เคยได้มีโอกาสกลับมาเตือนใครครับ

สรุป

และทั้งหมดนี้คือ เรื่องราวที่ผมอยากบอกเกี่ยวกับภาษีขายของออนไลน์ครับ โดยขอสรุปประเด็นสำคัญทิ้งท้ายเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้จำนวน 3 ข้อ ดังนี้ครับ

ข้อแรก แยกบัญชีก่อนเลย ผมแนะนำให้เริ่มต้นจากการแยกบัญชี “ส่วนตัว” กับ “ธุรกิจ” และไม่ควรคิดเอามาปนกันตั้งแต่เริ่มต้นเลยครับ แยกให้ชัดอันไหนทำธุรกิจ รายได้ ค่าใช้จ่าย โดยผมอยากให้จำไว้ว่า ยิ่งแยกได้ เราจะเสียภาษีน้อยลง ไม่ใช่เพราะรายได้เราน้อยลง แต่เราสามารถรู้ข้อมูลที่แท้จริงของตัวเราและยื่นภาษีให้ถูกต้อง และป้องกันโอกาสถูกประเมินย้อนหลังจากสรรพากรครับ

ยิ่งใครที่มีวินัยในเรื่องนี้มาก ลงรายละเอียดในการจัดการข้อมูลต่าง ๆ ได้มาก ยิ่งจัดการได้ง่ายขึ้น เช่น อาจจะเลือกใช้บัญชีธนาคารไม่มากจนเกินไป เพื่อไม่ให้งงกับการจัดการ หรือ แยกเป็นเรื่องให้ชัดเจนว่าอันไหนทำธุรกรรมแบบไหน ขายผ่าน Platform เจ้าใด รวมถึงใช้ข้อมูลจาก Platform ต่าง ๆ ให้เป็นประโยชน์ครับ อันไหนที่เขามี Report ให้ เราก็เช็คและใช้ข้อมูลให้ถูกต้องครับ

ข้อสอง ทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายให้ชัด ไหนๆ จะทำให้ถูกต้องแล้ว เงินที่เข้าบัญชีทุกอย่างในบัญชีธนาคารธุรกิจ ทำให้มันเป็นชัดเลยว่า เงินเข้า = รายได้ ส่วนเงินออกนั้น = ค่าใช้จ่าย เพื่อที่เราจะได้รู้และควบคุมข้อมูลได้ รวมถึงเก็บเอกสารหลักฐานทั้งหมดที่เกี่ยวข้องไว้ เพื่อให้เราสามารถตรวจสอบได้ง่ายขึ้น

ในกรณีที่คำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยสามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ อาจจะไม่ต้องซีเรียสเรื่องเก็บเอกสารมากนัก (แต่ยังต้องทำบัญชีให้ถูกต้องนะครับ) แต่สำหรับคนที่วางแผนหักค่าใช้จ่ายตามจริง แนะนำให้เก็บหลักฐานที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วนด้วย เพราะมันสำคัญมาก ๆ ครับ

ข้อสุดท้าย ศึกษาเรื่องภาษี คงปฎิเสธไม่ได้ว่าต้องสนใจเรื่องภาษีและทำความเข้าใจเรื่องนี้ให้ดีขึ้นครับ ถ้าไม่รู้จะเริ่มที่ไหน ผมเชื่อว่าบทความนี้และลิงค์ต่างๆ ที่มีอยู่ในนี้ทั้งหมด น่าจะพอช่วยเป็นแนวทางให้เบื้องต้นได้ แต่อย่างไรก็ดี ยังมีหลายอย่างที่ต้องศึกษาต่อและทำความเข้าใจให้มากขึ้นครับ

หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่เริ่มต้นขายของออนไลน์และอยากเสียภาษีให้ถูกต้องทุกคนนะครับ เพราะสุดท้ายแล้ว …

การเสียภาษีกับการทำธุรกิจ
มันเป็นสิ่งที่อยู่คู่กันไปตลอดทั้งชีวิตครับ

TAXBugnoms

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Allow