ค่าลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คืออะไร? ช่วยลดภาษีได้อย่างไร?

ค่าลดหย่อน

ค่าลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
คือตัวช่วยในการลดหย่อนภาษีของคนที่มีเงิน

คำพูดนี้เป็นคำพูดที่มักจะติดปากผมอยู่เสมอ

ค่าลดหย่อนภาษีปีนี้มีอะไรบ้าง? นี่เป็นคำถามที่ผมได้รับเป็นประจำทุกปีในแฟนเพจ TAXBugnoms แต่อย่างไรก็ดี ก่อนที่เราจะตอบคำถามนี้ ผมว่า เราควรรู้จักความหมายของ “ค่าลดหย่อน” หรือ “รายการลดหย่อนภาษี” ที่ถูกต้องกันเสียก่อนครับ

Advertisements

ค่าลดหย่อน คืออะไร

ค่าลดหย่อน คือ “รายการที่กฎหมายกำหนดไว้ให้นำไปหักออกจากเงินได้เพิ่มขึ้นหลังจากที่หักค่าใช้จ่ายแล้ว” ซึ่งมาจากวิธีการคำนวณ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่เรียกว่า “เงินได้สุทธิ” ซึ่งมาจากสมการคำนวณภาษีดังนี้ครับ

(รายได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี

ซึ่งในมุมมองของผมแล้ว การคำนวณภาษีตามวิธีเงินได้สุทธินั้น มีประเด็นสำคัญที่เราต้องรู้อยู่ 3 ข้อ ได้แก่

Advertisements
  1. รายได้เราเป็นรายได้ (เงินได้) ประเภทไหน
  2. รายได้ทั้งหมดที่เรามี หักค่าใช้จ่าย (ตามกฎหมาย) ได้เท่าไร
  3. เรามีค่าลดหย่อนภาษีอะไรบ้าง?
วิธีคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
Advertisements

ตัวอย่างการคำนวณภาษี
แบบไม่มีรายการช่วยลดหย่อน

เพื่อความเข้าใจ ลองมาดูตัวอย่างการคำนวณภาษีกันครับ โดยสมมติให้ปี 2563 นี้ พรี่หนอมได้เงินเดือน (รวมโบนัส) ทั้งปีคือ 660,000 บาท สิ่งที่พรี่หนอมจะต้องถามตัวเอง คือ

  • เงินเดือนเราเป็นเงินได้ประเภทไหน? = ประเภทที่ 1 ตามกฎหมาย
  • เงินเดือนเราหักค่าใช้จ่ายได้เท่าไร? = เงินได้ประเภทที่ 1 กฎหมายให้ค่าใช้จ่ายแบบเหมา 50% ของเงินได้ (รายได้) สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
  • เอ๊ะ… แล้วตัวเรามีค่าลดหย่อนอะไรบ้าง? = นี่คือสิ่งที่เราต้องหาคำตอบในบทความนี้ครับ

ถ้าเราไม่เคยคิดวางแผนภาษี
เรามีสิทธิใช้ค่าลดหย่อนแค่ 60,000 บาท

สำหรับคนปกติทั่วไปที่ไม่สนใจวางแผนลดหย่อนภาษี โดยปกติแล้วสิ่งที่เขาจะได้รับ คือ ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท ซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานของคนทุกคนที่ยื่นภาษี แต่ถ้าหากเรามองหารายการลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมได้ ก็สามารถวางแผนลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมได้อีกแน่นอนครับ

Advertisements

ทีนี้จากตัวอย่างข้างต้นเมื่อกี้… เราจะมาลองคำนวณเงินได้สุทธิและภาษีกันครับ โดยเมื่อเข้าตามสูตร (เงินได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน) ก็ทำให้เราเหลือเงินได้สุทธิที่ต้องมาคูณกับอัตราภาษี คือ 500,000 บาท (660,000 – 100,000 – 60,000) นั่นเองครับ

หลังจากนั้นเราต้องมาดูกันต่อว่า แล้วเงินได้สุทธิจำนวน 500,000 บาท เมื่อเอามาเข้าตารางคำนวณภาษีแล้ว จะต้องเสียภาษีเท่าไร

อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ค่าลดหย่อน

จากรูปตารางอัตราภาษีข้างต้น เราจะเห็นว่า เงินได้สุทธิจำนวน 500,000 บาท เมื่อคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาออกมา จะเสียภาษีทั้งหมด 27,500 บาทครับ (คำนวณมาจาก 7,500 + 20,000 บาท) หลังจากที่รู้ยอดภาษีที่คำนวณได้แล้วทีนี้ก็มาดูต่อกันว่า เราต้องจ่ายภาษีเพิ่ม หรือได้ภาษีคืนกันแน่ จาก ภาษีครึ่งปี และ ภาษีหัก ณ ที่จ่ายครับ

จากตัวอย่างที่ยกมา สมมติต่อว่าในระหว่างปี พรี่หนอมโดนหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ทุกเดือน เดือนละ 2,000 บาท คิดเป็นเงินทั้งหมด 24,000 บาท และพรี่หนอมไม่มีการจ่ายภาษีครึ่งปีไว้ล่วงหน้า (เนื่องจากมนุษย์เงินเดือนไม่มีหน้าที่ต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี)

ทีนี้ เมื่อนำภาษีที่คิดได้จำนวน 27,500 บาทมาหักด้วยภาษีที่ถูกหักไว้ 24,000 บาท ก็จะเหลือภาษีที่พรี่หนอมต้องเสียเพิ่มเติมจำนวน 3,500 บาทนั่นเองครับ หรือถ้าเกิดถูกหักภาษี ณ ทีจ่่ายทั้งปีไว้เกินกว่า 27,500 บาท ก็สามารถขอคืนภาษีได้เช่นเดียวกันครับ

จะเห็นว่า ถ้าพรี่หนอมมีรายการค่าลดหย่อนภาษีมากกว่านี้ ก็จะสามารถลดยอดภาษีที่เสียลงได้เพิ่มเติม แต่อย่างไรก็ดี มักจะมีคนเข้าใจผิดเกี่ยวกับรายการค่าลดหย่อนดังนี้ครับ

ความเข้าใจผิดเรื่องค่าลดหย่อน

เรื่องแรก คือ หลายคนมักเข้าใจผิดว่า จ่ายเท่าไรลดหย่อนภาษีเท่านั้น แต่จริงๆแล้วไม่ใช่ครับ เพราะค่าลดหย่อนภาษีที่มากขึ้นจะทำให้เสียภาษีน้อยลง เนื่องจากมันทำให้เงินได้สุทธิน้อยลงต่างหากครับ

อย่างกรณีตัวอย่างที่ว่ามา ถ้าหากพรี่หนอมวางแผนซื้อประกันชีวิต เพิ่มอีก 100,000 บาท จะทำให้เสียภาษีลดลงไปจำนวน 10,000 บาท เพราะฐานภาษีตอนนี้อยู่ที่ 10% เท่านั้น (หรือคิดจากการคำนวณภาษีใหม่ จะทำให้เงินได้สุทธิเหลือ 400,000 บาท ซึ่งเสียภาษี 17,500 บาท) และไม่ว่าจะเป็นค่าลดหย่อนตัวไหนประเภทไหนก็ตาม มันจะทำให้เราประหยัดภาษีสูงสุดได้แค่ 10% จากฐานภาษีสูงสุดที่เราเสียนั่นเองครับ

เรื่องต่อมาคือ ความแตกต่างระหว่างค่าใช้จ่ายกับค่าลดหย่อน หลายคนมักเข้าใจผิดว่า ค่าใช้จ่ายของมนุษย์เงินเดือนจำนวน 100,000 บาท (ที่ใช้หักจากเงินได้ประเภทที่ 1) คือ ค่าลดหย่อนส่วนตัวที่ใช้ลดหย่อนภาษี แต่จริงๆแล้วค่าลดหย่อนส่วนตัวที่เรามีสิทธิมันคือ ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาทเท่านั้นครับ

และประเด็นสุดท้าย นั่นคือ ค่าใช้จ่ายสัมพันธ์กับประเภทเงินได้ ส่วน ค่าลดหย่อนคิดเป็นรายบุคคล ซึ่งแปลว่า คนหนึ่งคนสามารถมีรายได้หลายประเภท และหักค่าใช้จ่ายได้หลายรูปแบบตามแต่ละประเภทของรายได้ที่มี แต่อย่างไรก็ดี คนๆนั้นสามารถหักค่าลดหย่อนแต่ละประเภทได้แค่ครั้งเดียวครับ

ยกตัวอย่างเช่น พรี่หนอมมีรายได้จากเงินเดือนและขายของออนไลน์ แปลว่าพรี่หนอมจะหักค่าใช้จ่ายตามแต่ละประเภทเงินได้ที่มี (ทั้งเงินเดือน และ ขายของออนไลน์) แต่สามารถหักค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาทได้แค่ครั้งเดียวเท่านั้น ไม่สามารถเพิ่มขึ้นตามประเภทของเงินได้ครับ

Advertisements

สรุปแนวคิดวางแผนภาษีด้วยค่าลดหย่อน

จากประสบการณ์จริงของพรี่หนอม พบว่าหลักการวางแผนภาษีที่ดีที่สุด คือ การเริ่มต้นจากกระแสเงินสดที่เรามี โดยเราจะรู้ว่าเรามีกระแสเงินสดเท่าไรนั้น อยู่ที่การทำบัญชีรายรับรายจ่ายและวางแผนไว้ล่วงหน้าครับ

เหตุผลที่บอกว่ากระแสเงินสดเป็นเรื่องสำคัญนั้น เพราะรายการค่าลดหย่อนทั้งหมดที่ว่ามาล้วนแต่มีเงินเป็นองค์ประกอบทั้งหมดครับ (นอกจากกลุ่มภาระครอบครัวที่ติดตัวเรามาตั้งแต่แรก) เพราะไม่ว่าคุณอยากจะลดหย่อนภาษีโดยวิธีการไหน ล้วนต้องมีการนำเงินออกไปเท่านั้น (จ่าย – ออม – บริจาค) ดังนั้น เงินจึงเป็นสิ่งสำคัญในการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครับ

หลังจากที่คุณมีเงินเพียงพอจะลดหย่อนภาษีแล้ว คุณควรเริ่มต้นพิจารณาจากการคำนวณภาษีตัวเองให้เป็นก่อน รู้ว่ารายได้เราเป็นประเภทไหนตามกฎหมาย การหักค่าใช้จ่ายมีวิธีการไหนบ้าง และสุดท้ายจะเลือกใช้ค่าลดหย่อนอะไรบ้าง

เรื่องของรายได้และค่าใช้จ่ายนั้น เราใช้หลักความรู้ในการยื่นรายได้ให้ถูกประเภท และหักค่าใช้จ่ายให้ถูกต้องตามกฎหมาย แต่เรื่องของค่าลดหย่อนนั้นเราควรจะใช้ ความต้องการ หรือ วัตถุประสงค์ในอนาคตของตัวเราเป็นตัวกำหนด แทนครับ

ยกตัวอย่าเช่น เราวางแผนซื้อ RMF เพื่อเกษียณและใช้สิทธิลดหย่อนภาษีไปด้วยกัน หรือ เราซื้อประกันเพื่อต้องการจะป้องกันความเสี่ยง และเก็บเงินตามเป้าหมายที่วางไว้ แบบนี้จะทำให้ภาพในการวางแผนลดหย่อนภาษีตรงกับไลฟ์สไตล์ในการใช้ชีวิตของเรามากที่สุดครับ

การวางแผนลดหย่อนภาษีที่ดีที่สุด คือ
การได้รับทั้งความสุขและเป้าหมาย
เพื่อที่เราจะได้สบายใจที่จะทำมันไปตลอดชีวิต

TAXBugnoms

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Allow