สรุปรายการค่าลดหย่อนภาษี 2563 : อัพเดทล่าสุด ครบทุกรายการ

พี่ครับ อยากได้สรุปรายการลดหย่อนภาษีครับ
ปี 2563 มีอะไรให้ลดหย่อนได้บ้างครับ

แฟนเพจท่านหนึ่งทักมา

ค่าลดหย่อนภาษี 2563 มีอะไรบ้าง ? ก่อนที่เราจะตอบคำถามนี้ ผมว่า เราควรรู้จักความหมายของ “ค่าลดหย่อน” หรือ “รายการลดหย่อนภาษี” กันก่อนครับ

Advertisements

ค่าลดหย่อน คืออะไร

ค่าลดหย่อน คือ “รายการที่กฎหมายกำหนดไว้ให้นำไปหักออกจากเงินได้เพิ่มขึ้นหลังจากที่หักค่าใช้จ่ายแล้ว” ซึ่งมาจากวิธีการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่เรียกว่า “วิธีเงินได้สุทธิ” (อ่านเพิ่มเติมเรื่องนี้ได้ที่บทความ : ค่าลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คืออะไร? ช่วยลดภาษีได้อย่างไร?)

และจากวิธีคำนวณที่ว่านี้ หากเราต้องการจะลด “ภาษี” ให้มากที่สุด เราต้องทำตัวเลขเงินได้สุทธิ (เงินได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน) ให้ได้ออกมาน้อยที่สุด เพื่อที่จะได้คูณอัตราภาษีแล้วได้จำนวนเงินภาษีน้อยๆ นั่นเองครับ ซึ่งหลายคนที่มีเงินได้ในประเภทที่ไม่สามารถหักค่าใช้จ่ายเพิ่มได้ เช่น มนุษย์เงินเดือน สิ่งที่จะช่วยเราได้คือ การเพิ่มขึ้นของค่าลดหย่อน นั่นเองครับ

Advertisements

โดยรายการค่าลดหย่อนที่กฎหมายให้เราเลือกใช้เพื่อลดภาษีนั้น มันคือรายการที่ทางรัฐมองว่าเป็นภาระในชีวิต หรือเป็นสิทธิพิเศษที่ต้องการสนับสนุนเพื่อกระตุ้นพฤติกรรมบางอย่างของประชาชน ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงและอัพเดทอยู่ทุก ๆ ปี

ดังนั้นหน้าที่ของผู้เสียภาษีอย่างเรา จึงต้องคอยติดตามให้ดี เพื่อที่จะได้วางแผนภาษีได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมกับกระแสเงินสดในแต่ละปีที่เรามีครับ

ถ้าพร้อมแล้ว เรามาดูสรุป รายการลดหย่อนภาษี 2563 กันเลยดีกว่าครับ

Advertisements

ค่าลดหย่อนภาษีปี 2563 มีอะไรบ้าง?

เอาล่ะครับ ทีนี้เรามาดูรายละเอียดของ รายการค่าลดหย่อนภาษี 2563 กันเลยดีกว่าครับว่า มีอะไรที่สามารถใช้ลดหย่อนภาษีในปี 2563 นี้ได้บ้าง? และเราจะวางแผนลดหย่อนภาษีได้อย่างไร?

Advertisements

โดยพรี่หนอมสรุปและแบ่งรายการค่าลดหย่อนภาษี 2563 ออกเป็น 6 กลุ่มใหญ่ๆ คือ ภาระติดตัวคุณ กระตุ้นเศรษฐกิจ ประกันชีวิตและลงทุน คุณรักพรรคการเมือง เรื่องติดค้างจากปีก่อน และบริจาคตอบแทนสังคม ซึ่งแต่ละกลุ่มมีรายละเอียดดังนี้ครับ

ค่าลดหย่อนกลุ่มภาระติดตัวคุณ

1. ค่าลดหย่อนส่วนตัวจำนวน 60,000 บาท เป็นค่าลดหย่อนสำหรับคนมีเงินได้ทุกคนที่ยื่นแบบแสดงรายการ แค่เพียงเรายื่นแบบแสดงรายการก็สามารถใช้สิทธิค่าลดหย่อนนี้ได้เลยครับ

2. ค่าลดหย่อนคู่สมรสจำนวน 60,000 บาท เป็นค่าลดหย่อนของคู่สมรส (ตามกฎหมาย) กรณีที่คู่สมรส (สามีหรือภรรยา) ที่จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมายและไม่มีเงินได้ หรือมีเงินได้และเลือกยื่นแบบแสดงรายการรวมกันในการคำนวณภาษี เราจะได้สิทธิค่าลดหย่อนส่วนเพิ่มเติมจากส่วนนี้ทันทีครับ

3. ค่าลดหย่อนบุตรจำนวน 30,000 บาท โดยคำว่า “บุตร” หมายถึง บุตรโดยกฎหมายหรือบุตรบุญธรรม สามารถนำมาหักลดหย่อนได้ คนละ 30,000 บาท ซึ่งในกรณีที่เป็นบุตรโดยกฎหมายสามารถหักได้ไม่จำกัดจำนวนคน แต่ในกรณีที่เป็นบุตรบุญธรรม หรือ มีทั้งบุตรบุญธรรมและบุตรชอบด้วยกฎหมายจะหักได้สูงสุดไม่เกิน 3 คน (นับเฉพาะที่มีชีวิตอยู่) โดยมีเงื่อนไขดังนี้ครับ

  • บุตรต้องมีอายุไม่เกิน 20 ปี
  • ถ้าอายุอยู่ในระหว่าง 21-25 ปี ต้องศึกษาอยู่ในระดับ ปวส. ขึ้นไป
  • บุตรต้องมีเงินได้ในปีไม่ถึง 30,000 บาท (ยกเว้นกรณีเงินปันผล)

สำหรับค่าลดหย่อนบุตรจะมีสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมให้ คนที่มีบุตรคนที่ 2 ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป จะได้รับสิทธิเพิ่มอีก 30,000 บาทต่อคนรวมเป็น 60,000 บาท อีกด้วยครับ

4. ค่าลดหย่อนฝากครรภ์และคลอดบุตรตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 60,000 บาท โดยมีเงื่อนไขดังนี้ครับ

  • ต้องจ่ายเป็น “ค่าฝากครรภ์” และ “ค่าคลอดบุตร” ที่จ่ายให้กับสถานพยาบาลของรัฐหรือเอกชน
  • จำนวนเงินสูงสุดต่อครรภ์ คือ 60,000 บาท คิดเป็นต่อครรภ์ไม่ใช่คน
  • ถ้าจ่ายสำหรับการคลอดบุตรคนเดิม แต่จ่ายมากกว่า 1 ปี (ท้องปีนี้ คลอดปีหน้า) ให้ลดหย่อนตามปีที่ใช้ แต่รวมกันต้องไม่เกิน 60,000 บาท
  • กรณีสามีภรรยาต่างฝ่ายต่างยื่นภาษี ให้ถือว่าค่าลดหย่อนตัวนี้เป็นของภรรยา แต่ถ้าภรรยาไม่มีเงินได้จึงสามารถถือเป็นค่าลดหย่อนของสามีได้
  • เอกสารหลักฐานที่ใช้ลดหย่อน คือ ใบเสร็จรับเงินและใบรับรองแพทย์จากสถานพยาบาล

5. ค่าเลี้ยงดูพ่อแม่เราและพ่อแม่คู่สมรส คนละ 30,000 บาท ถ้าหากเราหรือคู่สมรสมีคุณพ่อคุณแม่ที่อายุมากกว่า 60 ปี และมีรายได้ทั้งปีไม่เกิน 30,000 บาท เราก็จะมีสิทธิหักลดหย่อนค่าเลี้ยงดูได้คนละ 30,000 บาท นั่นหมายความว่าถ้าเราเลี้ยงดูถึง 4 คนก็จะได้รับสิทธิสูงสุดถึง 120,000 บาทครับ (โดยคำว่าพ่อแม่ = พ่อแม่แท้ๆ ไม่ใช่พ่อแม่บุญธรรมครับ)

แต่ในกรณีที่เราจะนำพ่อแม่ของคู่สมรสมาลดหย่อนนั้น ต้องเริ่มจากเงื่อนไขว่าคู่สมรสของเราต้องไม่มีรายได้ และเรานำคู่สมรสมาลดหย่อนภาษี โดยที่คนในฝั่งครอบครัวของคู่สมรสนั้นไม่ได้ใช้สิทธิลดหย่อนพ่อแม่ด้วยนะครับ

ส่วนเรื่องเอกสารหลักฐานนั้น คุณพ่อคุณแม่จะต้องลงลายมือชื่อในหนังสือรับรอง (แบบ ลย.03) ว่าลูกคนไหนเป็นคนเลี้ยงดู และสิทธิในการเลี้ยงดูนั้นจะสามารถใช้สิทธิได้เพียงครั้งเดียวครับ เช่น พี่น้องสองคน คนโตใช้สิทธิลดหย่อนเลี้ยงดูพ่อ คนเล็กก็ไม่สามารถใช้สิทธิเลี้ยงดูพ่อแล้วครับ สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้เฉพาะแม่ หรือถ้าคนโตใช้สิทธิทั้งคุณพ่อคุณแม่ ลูกคนเล็กก็ไม่มีสิทธิแล้วครับ

6. ค่าลดหย่อนผู้พิการหรือคนทุพพลภาพ จำนวน 60,000 บาท ถ้าหากเราเป็นผู้ดูแลคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ หรือคนทุพพลภาพที่มีใบรับรองแพทย์ เราสามารถนำมาหักลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท โดยมีเงื่อนไขว่าคนพิการหรือคนทุพพลภาพที่นำมาลดหย่อนนั้นต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปีด้วยนะครับ

และในกรณีที่คนพิการหรือคนทุพพลภาพเป็น พ่อแม่ – บุตร – คู่สมรส ของเรา เราสามารถใช้สิทธิได้ทั้งสองส่วนครับ เช่น คู่สมรสไม่มีรายได้และพิการ ก็จะสามารถนำมาลดหย่อนได้สูงสุด 120,000 บาทครับ (คำนวณมาจาก 60,000 + 60,000 บาท)

ค่าลดหย่อนกลุ่มกระตุ้นเศรษฐกิจ

สำหรับรายการลดหย่อนภาษีปี 2563 กลุ่มต่อมา คือ ค่าลดหย่อนกระตุ้นเศรษฐกิจ ในกลุ่มนี้จะเป็นค่าลดหย่อนภาษีที่ให้เพิ่มสำหรับกรณีที่มีการจ่ายเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจบางอย่างหรือเป็นมาตรการของรัฐที่อยากกระตุ้นให้มีการใช้จ่ายมากขึ้นครับ โดยในปี 2563 นี้มีรายการลดหย่อนดังต่อไปนี้ครับ

1. ดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกินจำนวน 100,000 บาท ที่เราจ่ายไปเพื่อซื้อบ้านหรือคอนโดเพื่ออยู่อาศัย โดยสามารถหักได้ตามที่จ่ายไปจริง และในกรณีที่เป็นการกู้ร่วมกันหลายคน ให้แบ่งดอกเบี้ยคนละเท่าๆกัน แต่รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท

ยกตัวอย่างเช่น หากมีการกู้ร่วมกัน 2 คนขึ้นไป จะถือว่าดอกเบี้ยที่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ต่อบ้านคือ 100,000 บาทและแต่ละคนจะใช้สิทธิหักลดหย่อนได้สูงสุดตามสัดส่วนของตัวเองครับ เช่น ถ้ากู้สองคนร่วมกัน ดอกเบี้ยที่ได้สูงสุดต่อหลังคือ 50,000 บาท ดังนั้นอย่าลืมนะครับว่า!! การใช้สิทธิสำหรับกรณีนี้จะบ้านกี่หลังก็ได้ครับ แต่สูงสุดรวมกันแล้วจำนวนเงินต้องไม่เกิน 100,000 บาทนั่นเองครับ

พรี่หนอมสรุปง่ายๆว่า มองภาพรวมต่อบ้าน แล้วค่อยหารต่อคนครับ นั่นคือ บ้าน 1 หลังใช้สิทธิ์ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมตัวนี้ได้ไม่เกิน 100,000 บาท และคน 1 คนก็ใช้สิทธิ์ของตัวเองได้ไม่เกิน 100,000 บาทเช่นเดียวกันครับ

โดยหลักฐานที่ใช้ประกอบรายการนี้ คือ หลักฐานการจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่ทางเจ้าหนี้เป็นผู้ออกให้ครับ

2. ค่าธรรมเนียมจากการรับชำระเงินด้วยบัตรเดบิต (ตามที่จ่ายจริง) เป็นสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ได้เพิ่มสำหรับกรณีคนทำธุรกิจที่มีการจ่ายค่าธรรมเนียมในการรับชำระเงินด้วยบัตรเดบิตครับ โดยได้สิทธิตั้งแต่ช่วง 1 พ.ย. 2559 – 31 ธ.ค. 2564 ซึ่งค่าลดหย่อนตัวนี้จะให้สำหรับกลุ่มที่มีรายได้ประเภทที่ 5-8 นะครับ (ค่าเช่า วิชาชีพอิสระ รับเหมา และ ธุรกิจอื่นๆ) ที่มีรายได้รวมกันไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อปีเท่านั้นครับ

3. ค่าลดหย่อนช้อปดีมีคืน ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 30,000 บาท โดยตัวนี้เป็นสิทธิ์ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับค่าซื้อสินค้าและบริการ ที่จ่ายให้กับผู้ประกอบการจดทะเบียน VAT ไปในช่วง 23 ตุลาคม – 31 ธันวาคม 2563

สำหรับสินค้าและบริการที่ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ คือ สินค้าและบริการที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม สินค้าท้องถิ่น OTOP และ หนังสือ แต่ไม่รวมสินค้าเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ยาสูบ สลากกินแบ่งรัฐบาล น้ำมัน ค่าที่พัก และค่าตั๋วเครื่องบินครับ

สำหรับรายละเอียดของช้อปดีมีคืน สามารถดูเพิ่มเติมได้ที่บทความ ช้อปปิ้งแล้วมาลดหย่อนภาษี นี่คือสิ่งที่ถูกต้องหรือแค่ถูกใจ หรือดูสรุปโพสที่ด้านล่างนี้ก็ได้ครับ

ค่าลดหย่อนกลุ่มประกันชีวิตและการลงทุน

สำหรับรายการค่า ลดหย่อนภาษี 2563 ที่ฮอตฮิตที่สุด คงหนีไม่พ้นกลุ่มนี้ครับ นั่นคือ ประกันชีวิตและการลงทุน โดยกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่ลดหย่อนภาษีแล้วได้ประโยชน์ 2 ส่วนครับ คือ ส่วนของการออมเงิน หรือ ลงทุน เพื่อสร้างวินัยและผลตอบแทนในการลงทุนให้กับเราส่วนหนึ่ง และใช้สิทธิประโยชน์ในการวางแผนภาษีอีกส่วนหนึ่งครับ ซึ่งการเลือกออมหรือลงทุนในตัวไหนเพื่อลดหย่อนภาษีก็ตาม พรี่หนอมขอแนะนำให้ดูวัตถุประสงค์ในการลงทุนของเราเป็นอันดับแรกก่อน แล้วค่อยคำนึงถึงเรื่องสิทธิประโยชน์การวางแผนภาษีตามมาครับ โดยในปี 2563 มีรายการลดหย่อนต่อไปนี้ครับ

1. เงินประกันสังคม สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีตามที่จ่ายจริง แต่สูงสุดไม่เกิน 5,850 บาท เนื่องจากในปีนี้มีการปรับลดอัตราเงินสะสมประกันสังคมสูงสุดจาก 750 บาทต่อเดือน มาเป็น 150 บาทต่อเดือนในช่วงเดือน มีนาคม – พฤษภาคม 2563 และปรับมาเป็น 300 บาทต่อเดือนในช่วงเดือน กันยายน – พฤศจิกายน 2563 จึงทำให้สิทธิประโยชน์สูงสุดที่ได้รับนั้นลดลงกว่าปีก่อนๆครับ

2. เบี้ยประกันชีวิตทั่วไป หรือ เงินฝากแบบมีประกันชีวิตตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกินจำนวน 100,000 บาท และในกรณีที่คู่สมรสไม่มีรายได้ การหักค่าเบี้ยประกันสำหรับคู่สมรสจะหักได้สูงสุด 10,000 บาท แต่ถ้าหากคู่สมรสมีรายได้จะหักสูงสุดได้ถึง 100,000 บาทครับ

สำหรับเงื่อนไขของค่าลดหย่อนประกันชีวิต จะมีเรื่องของระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ต้องทำกับบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทย ได้รับเงินคืนไม่เกิน 20% ของเบี้ยประกันชีวิตรายปี ฯลฯ ตรงนี้ผมแนะนำให้สังเกตจากข้อมูลที่ระบุไว้ในใบเสร็จรับเงินค่าเบี้ยประกัน น่าจะตอบคำถามได้ง่ายที่สุดครับ

หากใครที่กำลังสงสัยว่าประกันชีวิตของตัวเองเป็นแบบไหนกันแน่ ผมแนะนำให้สอบถามจากตัวแทนประกันชีวิต (ที่ไว้ใจได้) ได้เลยครับ หรือจะดูจากใบเสร็จรับเงินค่าประกันที่เราจ่ายไปก็ได้ครับว่าเรามี “เบี้ยประกันชีวิต” ที่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้จำนวนเท่าไหร่ครับ

3. เบี้ยประกันสุขภาพตนเอง ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกินจำนวน 25,000 บาท (ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมในปี 2563) และเมื่อรวมกับประกันชีวิตทั่วไปหรือเงินฝากแบบมีประกันชีวิตแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท โดยเบี้ยประกันสุขภาพนั้นหมายถึงกลุ่มต่อไปนี้ครับ

  • ประกันที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล เนื่องจากการเจ็บป่วยและบาดเจ็บ ชดเชยทุพพลภาพและการสูญเสียอวัยวะเนืองจากการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บ
  • ประกันอุบัติเหตุเฉพาะที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล การทุพพลภาพ การสูญเสียอวัยวะ และการแตกหักของกระดูก
  • การประกันภัยโรคที่ร้ายแรง (Critical Illnesses)
  • การประกันภัยการดูแลระยะยาว (Long Term Care)

4. เบี้ยประกันสุขภาพพ่อแม่ ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกินจำนวน 15,000 บาท ตรงนี้เน้นว่า ต้องเป็นเบี้ยประกันสุขภาพของคุณพ่อคุณแม่เท่านั้นครับ โดยความหมายของประกันสุขภาพนั้นใช้หลักการเดียวกันกับประกันสุขภาพของเรานั่นเองครับ

โดยเราสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเบี้ยประกันสุขภาพตัวนี้ได้ในกรณีที่คุณพ่อคุณแม่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี (คุณพ่อคุณแม่ไม่จำเป็นต้องมีอายุ 60 ปีขึ้นไป) และค่าเบี้ยประกันสุขภาพนี้สามารถหารแบ่งกันสำหรับลูกหลายๆคนได้ด้วยครับ

5. เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้ ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกินจำนวน 200,000 บาท

สำหรับเงื่อนไขประกันชีวิตแบบบำนาญนั้นจะมีเรื่องของ ระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป  ทำกับบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทย และมีการ จ่ายผลประโยชน์เป็นรายงวดอย่างสม่ำเสมอ และกำหนดช่วงอายุของการจ่ายผลประโยชน์เมื่อเรามีอายุตั้งแต่ 55-85 ปี หรือมากกว่านั้น รวมถึงต้องจ่ายเบี้ยประกันครบก่อนได้รับผลประโยชน์อีกด้วยครับ

แต่ถ้าเอาง่ายๆก็สอบถามตัวแทนประกันชีวิต (ที่ไว้ใจได้) นั่นแหละครับ ง่ายที่สุดและข้อมูลชัดเจนที่สุด จะได้ไม่ต้องมีปัญหาในการจัดการภาษี และที่สำคัญคือ เช็คใบเสร็จรับเงินค่าเบี้ยประกันทุกครั้ง เพราะข้อมูลลดหย่อนภาษีทุกอย่างอยู่ในนั้นนั่นเองครับผม

6. กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) นำมาลดหย่อนได้ 30% (แก้ไขในปี 2563) ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามที่จ่ายจริงและสูงสุดไม่เกินจำนวน 500,000 บาท โดยกองทุน RMF เป็นกองทุนรวมประเภทหนึ่งที่ลงทุนไว้ในสินทรัพย์หลากหลายประเภท ซึ่งมีวัตถุประสงค์ไว้ใช้ในการวางแผนเกษียณของเราครับ ซึ่งมีระบุเงื่อนไขเพิ่มเติมไว้ตามนี้ครับ

  • ต้องซื้อติดต่อกันทุกปี (แต่ถ้าผิดเงื่อนไขสามารถผิดได้ 1 ปี)
  • ต้องซื้อเป็นจำนวนขั้นต่ำ 3% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี หรือ 5,000 บาท (เงื่อนไขนี้ยกเลิกในปี 2563)
  • ต้องถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมไว้ไม่น้อยกว่า 5 ปี และอายุครบ 55 ปี จึงจะสามารถขายได้

7. กองทุนสํารองเลี้ยงชีพ / กบข. /กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง โดยมีจำนวนสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท ซึ่งเราสามารถสะสมเพิ่มได้โดยขอเปลี่ยน % ที่กำหนดกับนายจ้างไว้รวมถึงเลือกแผนการลงทุนได้ตามใจของเราที่ต้องการ (ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละกองทุน)

8. กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ตามที่จ่ายจริงแต่สูงสุดไม่เกินจำนวน 13,200 บาท อันนี้เป็นกองทุนอีกรูปแบบหนึ่งที่ภาครัฐกำหนดให้เพื่อเป็นช่องทางการออมขั้นพื้นฐานให้กับคนที่ยังไม่ได้มีการวางแผนจัดการเรื่องนี้ ให้ได้รับผลประโยชน์ในรูปแบบของบำนาญ ซึ่งปัจจุบันกำหนดให้ผู้มีเงินได้สามารถหักลดหย่อนเงินสะสมเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ในการคำนวณภาษีตามจำนวนที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 13,200 บาทครับ

9. กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) นำมาลดหย่อนได้ 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามที่จ่ายจริงและสูงสุดไม่เกินจำนวน 200,000 บาท โดยกองทุน SSF เป็นกองทุนรวมประเภทหนึ่งที่ลงทุนไว้ในสินทรัพย์หลากหลายประเภท ซึ่งมีวัตถุประสงค์ไว้ใช้ในการวางแผนลงทุนระยะยาวของเราครับ โดยกำหนดเงื่อนไขในการถือครองหลังจากซื้อไม่น้อยกว่า 10 ปี (เต็ม) และสามารถซื้อได้ตั้งแต่ปี 2563 – 2567

10. กองทุนรวมเพื่อการออมพิเศษ (SSFX) ลดหย่อนได้สูงสุด 200,000 บาท โดยเป็นกองทุนรวมอีกประเภทหนึ่งที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับตลาดหุ้นไทย โดยกำหนดให้มีการลงทุนในหลักทรัพย์จดทะเบียนไม่น้อยกว่า 65% ของสินทรัพย์สุทธิ โดยกำหนดเงื่อนไขในการถือครองหลังจากซื้อไม่น้อยกว่า 10 ปี (เต็ม) เหมือนกับ SSF ปกติ แต่สามารถซื้อได้ในช่วงเวลาสั้นๆ ตั้งแต่ 1 เมษายน – 30 มิถุนายน 2563 เท่านั้นครับ

สำหรับกองทุน SSF และ SSFX เป็นรายการค่าลดหย่อนภาษี 2563 ตัวใหม่ที่เพิ่มเข้ามาในปีนี้ครับ ซึ่งถ้าหากอยากทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้ แนะนำอ่านบทความ ซื้ออะไรดี? SSF หรือ SSFX เพิ่มเติมครับ

Advertisements

อย่าลืม!! อ่านตรงนี้ด้วยนะครับ เพราะสำคัญมาก สำหรับกลุ่มค่าลดหย่อน ประกันชีวิตและการลงทุน จะมีเงื่อนไขเพิ่มเติมสำหรับค่าลดหย่อนภาษีที่เป็นการวางแผนเกษียณครับ คือ ยอดรวมของ RMF + กบข./กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ/กองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน + กองทุนการออมแห่งชาติ + ประกันชีวิตแบบบำนาญ และ กองทุนรวม SSF (ปกติ) เมื่อรวมกันทั้งหมดแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาทด้วยครับ

ค่าลดหย่อนกลุ่มคุณรักพรรคการเมือง

สำหรับค่าลดหย่อนตัวนี้ พรี่หนอมขอแยกเขียนขึ้นมาเป็นรายการพิเศษละกันครับ เนื่องจากไม่รู้ว่าจะเอาไว้ในส่วนไหนดี ฮ่าๆ นั่นคือ เงินบริจาคให้แก่พรรคการเมืองครับผม

โดยเงินบริจาคตัวนี้มีที่มาจากมาตรา 70 ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ซึ่งกำหนดไว้ว่า ผู้บริจาคเงินแก่พรรคการเมืองมีสิทธินำจำนวนเงินที่บริจาคไปหักเป็นค่าลดหย่อนหรือรายจ่ายเพื่อการบริจาคตามที่กำหนดในประมวลรัษฎากรได้ตามจำนวนที่บริจาคแต่ไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทสำหรับบุคคลธรรมดา

นั่นแปลว่าต่อจากนี้ บุคคลธรรมดาที่มีการสนับสนุนพรรคการเมือง จะได้สิทธิเอามาใช้เป็นค่าลดหย่อนภาษี หรือ มาใช้เป็นรายจ่ายของธุรกิจได้ตามกฎหมาย นั่นเองครับ โดยนำมาลดหย่อนภาษีได้สูงสุดตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10,000 บาท

ดังนั้นใครที่มีพรรคการเมืองที่โดนใจ อยากสนับสนุนให้เขาไปต่อได้ ก็สามารถช่วยเหลือได้ผ่านช่องทางนี้ และได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมเช่นเดียวกันครับ

ค่าลดหย่อนกลุ่มเรื่องติดค้างจากปีก่อน

สำหรับกลุ่มนี้เป็นกลุ่มค่าลดหย่อนที่ติดค้างมาจากปีก่อนๆ หรือสำหรับคนที่เคยใช้ค่าลดหย่อนนี้ในปี 2558 -2559 นั่นคือ ค่าลดหย่อนจากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์สูงสุด 120,000 บาท (เน้นว่า…ค่าลดหย่อนตัวนี้เป็นสิทธิต่อเนื่องจากการซื้อบ้านหลังแรกภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2559 เท่านั้นนะครับ) ให้สิทธิสำหรับผู้ที่ซื้ออสังหาริมทรัพย์ในราคาไม่เกิน 3,000,000 บาท ให้สิทธิพิเศษสามารถนำเงินค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวไปลดภาษีได้โดยมีเงื่อนไขดังนี้ครับ

  • ต้องเป็นบ้านหลังแรกที่ มูลค่าไม่เกิน 3 ล้านบาท และต้องซื้อภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2559
  • ใช้สิทธิตั้งแต่ปีภาษี 2558 – 2559 เป็นต้นไป ต่อเนื่องเป็นเวลา 5 ปี
  • ห้ามโอนหรือขายต่อภายในเวลา 5 ปี และต้องมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิในบ้านหลังนั้นด้วย

ค่าลดหย่อนกลุ่มบริจาคตอบแทนสังคม

ตอนนี้มาอยู่กับค่าลดหย่อนกลุ่มสุดท้ายกันแล้วครับ นั่นคือ ค่าลดหย่อนบริจาคตอบแทนสังคม หรือ เงินบริจาค โดยได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีผ่านมุมมองของการเป็นผู้ให้นั่นเองครับ พรี่หนอมมองว่าเรื่องนี้เป็นอีกมุมหนึ่งที่ดีสำหรับผู้ที่มีจิตเป็นกุศล อยากจะส่งผ่านสิ่งที่เรามีไปให้คนอื่น และการที่เราเป็นคนดีแบบนี้ ภาครัฐเลยให้สิทธิในการลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมครับ

โดยรายการลดหย่อนภาษีปี 2563 สำหรับกลุ่มนี้ จะมีวิธีคำนวณการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีแตกต่างกันออกไปครับ เพราะเป็นกลุ่มสุดท้ายที่นำมาหักหลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนตัวอื่นๆแล้วครับ โดยจะได้สิทธิหักได้สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้สุทธิหลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนตัวอื่นๆทั้งหมดแล้วนั่นเองครับ

ดังนั้นจากที่เราเคยคำนวณภาษีแบบนี้
(รายได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี

เมื่อมีเงินบริจาคจะเปลี่ยนเป็นแบบนี้ครับ
[(รายได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน) – เงินบริจาค] x อัตราภาษี

ถ้าอ้างอิงตามเงินได้สุทธิของพรี่หนอมตอนต้นบทความ ที่บอกว่าเหลือเงินได้สุทธิ 500,000 บาท ดังนั้นพรี่หนอมก็จะใช้สิทธิลดหย่อนเงินบริจาคได้สูงสุดจำนวน 50,000 บาท (10% ของเงินได้สุทธิหลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนตัวอื่นหมดแล้วนั่นเอง)

โดยในปี 2563 นี้ค่าลดหย่อนที่เกี่ยวกับการบริจาคจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ ส่วนที่ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า กับ 1 เท่า ครับ โดยมีรายละเอียดตามนี้ครับ

กลุ่มบริจาคแล้วลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า

สำหรับกลุ่มนี้จะประกอบด้วย เงินบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษา การกีฬา (รออัพเดทกฎหมาย) สถานพยาบาลรัฐ สถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และช่วยเหลือสังคม รวมถึงการบริจาคให้กับสภากาชาดไทย (ผ่านระบบ E-Donation – รอประกาศเป็นกฎหมาย)

โดยทั้งหมดนี้สามารถหักลดหย่อนได้ 2 เท่าของเงินที่ได้จ่ายไปจริง แต่ต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่นๆ อย่างที่ว่าไว้ตามหลักการข้างต้นครับ

อย่างไรก็ดี สำหรับกรณีการบริจาคให้แก่สถานศึกษานั้น จะต้องเป็นการบริจาคผ่านระบบ e – Donation (รออัพเดทกฎหมายในส่วนนี้ เนื่องจากหมดอายุในปี 2562 ที่ผ่านมา) หรือ บริจาคเข้าเงื่อนไขตาม พระราชกฤษฏีกา 420 (จัดสร้างอาคาร จัดหาอุปกรณ์ จัดหาครู หรือ ทุนการศึกษา) ถึงจะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ครับ

ส่วนสถานพยาบาลรัฐนั้น หมายความรวมถึง ทั้งที่เป็นสถาบันศึกษา องค์กรมหาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานต่างๆของรัฐ รวมถึงสถานพยาบาลของสภากาชาดไทย (เน้นว่าสถานพยาบาลนะครับ)

โดยสามารถตรวจสอบได้ที่เวปไซด์กรมสรรพากร โดยตรวจสอบรายชื่อ สถานศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการประกาศกำหนด หรือ รายชื่อสถานพยาบาลที่มีสิทธิหักลดหย่อนได้ และ รายชื่อหน่วยงานกีฬาที่เกี่ยวข้อง ครับ

กลุ่มบริจาคลดหย่อนภาษีตามปกติ

สำหรับกลุ่มเงินบริจาคทั่วไปสามารถหักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้พึงประเมินที่เหลือหลังหักค่าใช้จ่ายค่าลดหย่อนและเงินบริจาคในกลุ่มที่เป็น 2 เท่าแล้วครับ

โดยคำว่าเงินบริจาคทั่วไป จะเป็นเงินที่เราบริจาคให้แก่วัดวาอาราม สภากาชาดไทย สถานพยาบาล สถานศึกษา ต่างๆ รวมถึงมูลนิธิที่เป็นองค์กรสาธารณกุศล ซึ่งสามารถตรวจสอบรายชื่อได้จากรายชื่อ องค์กรสาธารณกุศล ที่เวปไซด์กรมสรรพากรได้เลยครับ

บทสรุป

ทั้งหมดนี้คือรายการค่าลดหย่อนในปี 2563 ที่เราทุกคนควรรู้ครับ แต่อย่างไรก็ดีตามพรี่หนอมมองว่าในการวางแผนและจัดการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ดีนั้น เราควรถามวัตถุประสงค์ของการใช้ชีวิตก่อนว่า จริงๆ แล้วเราต้องการอะไรในชีวิตกันแน่ หลังจากนั้นค่อยแนะนำไล่เรียงไปตามความสำคัญของสิ่งที่เราต้องการ แล้วค่อยมองหาสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่จะช่วยเราได้อีกทอดหนึ่งครับ

เพราะไม่ว่าเราจะเลือกรายการลดหย่อนภาษีแบบไหน มันก็สามารถช่วยลดภาษีได้เหมือนกัน แต่สิ่งที่ทำให้ต่างมันคือวัตถุประสงค์ที่เราได้รับนอกเหนือจากการลดหย่อนภาษีมากกว่า

เพราะนั่นคือสิ่งที่กำลังบอกว่า
เราเข้าใจวิธีการบริหารจัดการเงินและภาษีอย่างแท้จริง

TAXBugnoms

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Allow