ซื้อ SSF หรือ SSFX ดี?
หนึ่งในคำถามที่ฮอตฮิตช่วงนี้
สำหรับปีนี้ คงต้องบอกเลยว่าในกลุ่มของ ค่าลดหย่อนภาษีปี 2563 ที่คนส่วนใหญ่สนใจ คงจะหนีไม่พ้น กองทุนรวมเพื่อการออม หรือที่รู้จักกันในชื่อย่อว่า “SSF” (SUPER SAVING FUND) ที่ทางรัฐบาลออกนโยบายมาตั้งแต่ปลายปี 2562 มาถึงกลายเป็นกฎหมายและบังคับใช้ลดหย่อนภาษีในปี 2563
แต่เดี๋ยวก่อน!! ปี 2563 นี้ ตัว SSF ไม่ได้มาแค่เพียงตัวเดียว แต่ยังพาเพื่อนใหม่มาพร้อมกันด้วย เพราะหลังจากที่เกิดวิกฤตโควิด19 ทางรัฐบาลมีมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาฝ่าวิกฤต คิดออกกองทุนใหม่ที่ให้สิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษีออกตามมาที่คล้ายคลึงกัน นั่นคือ กองทุนรวมเพื่อการออม (พิเศษ) หรือ SSFX ที่ให้สิทธิประโยชน์ในการลงทุนเพิ่มเติมเป็นพิเศษขึ้นมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและประคับประคองตลาดหุ้นไทย
SSF กับ SSFX
แตกต่างกันอย่างไร?
ถ้าเราลองเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างกองทุนทั้งสองประเภทนี้ แม้ว่าจะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้เหมือนกัน แต่ก็มีความแตกต่างกันดังนี้ครับ

โดยจะเห็นว่าระหว่างกองทุนทั้งสองประเภทนี้ มีความแตกต่างสำคัญอยู่หลายประเด็น ตั้งแต่ % ของการลดหย่อนภาษี แต่ก็มีบางอย่างที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งผมอยากชวนมาลองดูประเด็นที่สำคัญดังต่อไปนี้ครับ
ช่วงระยะเวลาการซื้อที่ไม่เท่ากัน สำหรับคนที่ต้องการซื้อ SSFX จะเห็นว่ามีช่วงเวลาการตัดสินใจที่จำกัดมากๆเพียงแค่ 3 เดือนเท่านั้น (เมษายน – มิถุนายน) ในขณะที่ SSF สามารถซื้อได้ตลอดทั้งปี 2563
นโยบายการลงทุนที่จำกัด SSFX มีการกำหนดนโยบายลงทุนของกองทุนไว้ว่า ต้องลงทุนในหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทยไม่น้อยกว่า 65% (คล้ายกับ LTF) ส่วนทาง SSF นั้นสามารถลงทุนในสินทรัพย์ประเภทใดก็ได้ (คล้ายกับ RMF) แต่ขึ้นกับนโยบายของบลจ.นั้น ๆ ที่จะออกกองทุนประเภทใดบ้าง
จำนวนเงินที่ซื้อเพื่อลดหย่อนภาษี ในฝั่งของ SSFX นั้น มีการกำหนดวงเงินแยกต่างหากในการลดหย่อนภาษี โดยสามารถซื้อได้สูงสุด 200,000 บาท แบบที่ไม่มีเงื่อนไข ในขณะที่ทาง SSF นั้นจะมีทั้งเงื่อนไขของการซื้อที่จำกัดไว้ที่ 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี และสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท
อีกทั้งเมื่อนำจำนวนเงินที่ซื้อมารวมกับ “กลุ่มค่าลดหย่อนเพื่อการเกษียณ” อย่าง กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข) กองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน (PTF) ประกันแบบบำนาญ และกองทุนการออมแห่งชาติแล้ว ต้องมีจำนวนไม่เกิน 500,000 บาทด้วย
อย่างไรก็ดี ตรงนี้อยู่ที่การพิจารณาของแต่ละคนแล้วครับว่า เราเหมาะกับการซื้อกองทุนประเภทไหน และเราต้องการอะไรจากการซื้อกองทุนประเภทนี้ แต่ที่กองทุนทั้งสองประเภทนี้เหมือนกันแน่ๆ คือ ต้องถือครองไว้ไม่น้อยกว่า 10 ปี (นับจากวันที่ซื้อแบบปีชนปี ไม่ใช่ปีปฎิทิน)
5 คำถามช่วยตัดสินใจ
SSF หรือ SSFX
โดยส่วนตัวแล้ว ผมมีข้อสังเกต 5 ข้อให้ลองพิจารณาก่อนตัดสินใจว่า เราควรซื้อกองทุนไหนดี และ ควรซื้อกองทุนกลุ่มนี้เพื่อลดหย่อนภาษีไหม? ซึ่งถ้าใครสามารถตอบคำถามทั้ง 5 ข้อนี้ได้ เชื่อเลยครับว่าคุณจะได้คำตอบให้กับตัวเองอย่างแน่นอน
ข้อแรก ทุกวันนี้เสียภาษีหรือยัง? ลองเช็คตัวเองก่อนว่า เราได้รับสิทธิประโยชน์จากการลดหย่อนภาษีในการซื้อกองทุนเหล่านี้หรือไม่ เพราะว่า ถ้าเรายังไม่ต้องเสียภาษีในปีภาษีนี้ การเลือกซื้อกองทุนรวมทั่วไปอาจจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า เพราะไม่ติดปัญหาเรื่องของการถือครองและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการลดหย่อนภาษี
เหตุผลที่ผมบอกแบบนี้ เพราะว่ากองทุนรวมทั่วไปนั้น ได้รับสิทธิในการยกเว้นภาษีกำไรจากการขายอยู่แล้ว โดยที่ไม่มีเงื่อนไขจำกัดว่าต้องถือครองนานเท่าไร ดังนั้น ถ้าไม่เสียภาษี การเลือกลงทุนในกองทุนแบบนี้อาจจะเป็นทางเลือกที่คล่องตัวกว่าครับ
ข้อสอง ฐานะการเงินเราเป็นอย่างไร? สำหรับคนที่รู้ตัวว่าต้องเสียภาษีแน่ๆ ลองเช็คตัวเองก่อนว่า ในตอนนี้เรามีสภาพคล่องพอเพียงพอที่จะซื้อหรือเปล่า เพราะว่าในสถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจไม่ปกติในตอนนี้ และการที่ไม่รู้ว่าวิกฤตจะอยู่กับเราอีกนานเท่าไร ทำให้เราต้องใส่ใจเรื่องของ “กระแสเงินสด” และ “เงินสำรองฉุกเฉิน” มากกว่าปกติ
เราควรตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่า เราบริหารจัดการการเงินของตัวเองได้ดีเพียงพอหรือยัง เพราะว่าการจ่ายภาษีย่อมเสียเงินน้อยกว่าการซื้อกองทุนเหล่านี้เพือใช้สิทธิลดหย่อนภาษีอยู่แล้วครับ
สมมติว่า ถ้าเราต้องเสียภาษีในอัตรา 10% ของเงินได้สุทธิ การที่เราจะลดเงินที่ต้องจ่ายภาษีลง 10,000 บาท เราต้องใช้เงินมาซื้อกองทุนเหล่านี้ถึง 100,000 บาท ซึ่งบางทีแล้ว การยอมจ่ายภาษีจำนวน 10,000 บาท อาจจะส่งผลดีต่อสภาพคล่องในกระเป๋าของเรามากกว่าครับ

ตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่า
ก่อนที่จะใช้สิทธิลดหย่อนภาษีในแต่ละครั้ง
แบบไหนคุ้มค่ากว่ากัน
ข้อสาม เป้าหมายการเงินของชีวิตเราเป็นอย่างไร? ข้อนี้เป็นอีกข้อหนึ่งที่ต้องตัดสินใจ เพราะเป้าหมายการเงินของแต่ละคนไม่เหมือนกัน และตัวเลือกในการลดหย่อนภาษีก็ไม่ได้มีเพียงแค่กองทุน SSF และ SSFX
ดังนั้นเราอาจจะต้องถามตัวเองก่อนว่า เราต้องการอะไรจากการลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษี และการลงทุนในกองทุนกลุ่มนี้มันตอบโจทย์ที่เราต้องการหรือเปล่า?
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเรายอมรับความเสี่ยงของการลงทุนในหุ้นไทยเป็นหลักของ SSFX ไม่ได้ เห็นแล้วหัวใจจะวายถ้าตัวเลขสีแดงขึ้นมาโชว์ในพอร์ตการลงทุน บางทีเราอาจจะพิจารณาลดหย่อนภาษีด้วยตัวอื่นแทน อาจจะเป็น SSF หรือตัวช่วยลดหย่อนภาษีประเภทอื่นที่ตอบโจทย์มากกว่า
สำหรับคนที่อยากรู้รายการลดหย่อนภาษีของปี 2563 ผมแนะนำให้อ่านบทความ สรุปรายการลดหย่อนภาษีปี 2563 และเทคนิคต่างๆที่ใช้ในการลดหย่อนภาษี ได้เลยครับ

อย่างไรก็ดี ถ้ามองในมุมของการวางแผนภาษี ผมมองว่าสิ่งที่เราต้องคิดคือ โควต้าลดหย่อนภาษีจำนวน 400,000 บาท โดยแยกเป็นจาก SSFX จำนวน 200,000 บาท และ SSF 30% ของเงินได้สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท (รวมกับกลุ่มเกษียณไม่เกิน 500,000 บาท) ตรงนี้ เราควรจะเลือกใช้แบบไหน ผมลองยกตัวอย่าง 3 สถานการณ์ที่แตกต่างกันให้ดูเพื่อช่วยให้เห็นภาพในการตัดสินใจครับ
1. เรามีกลุ่มลดหย่อนการออมเพื่อการเกษียณ 500,000 บาท เต็มวงเงินหรือยัง? ถ้ามากหรือเกือบเต็มวงเงินแล้ว การซื้อ SSF ก็ไม่ได้ตอบโจทย์มากนัก เพราะมันติดเพดานรวมกันสูงสุด 500,000 บาท การเลือก SSFX อาจจะตอบโจทย์มากกว่า เพราะว่าได้เพิ่มอีก 200,000 บาท (แต่ต้องอย่าลืมศึกษาเรื่องความเสี่ยงการลงทุน)
2. เรามีเป้าหมายในการลงทุนมากกว่า 10 ปีใช่ไหม และวงเงิน 500,000 บาทก็ยังพอมีเหลือ แบบนี้เราอาจจะเลือกทั้งคู่ควบคู่กันไปก็ได้ โดยให้ SSF และ SSFX เป็นการลงทุนในกลุ่มสินทรัพย์ที่แตกต่างกันเพื่อกระจายความเสี่ยง (ขึ้นอยู่กับการการจัดพอร์ทการลงทุนของเรา)
3. เรามองว่าเราใกล้เกษียณและต้องการใช้เงิน แบบนี้ SSF และ SSFX อาจจะไม่เหมาะกับเรา แต่อาจจะต้องเป็น RMF แทน เพราะเราสามารถขายได้เมื่ออายุ 55 ปีขึ้นไป ไม่ต้องรอถึง 10 ปีเต็ม แบบนี้ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง
ดังนั้นจะเห็นว่าแนวคิดในการเลือกวิธีการลดหย่อนภาษีด้วยตัวช่วยเหล่านี้ ไม่ได้มีหลักการที่ตายตัว มีเพียงแต่สิ่งที่เราต้องรู้ก่อน นั่นคือ เราต้องการอะไร เป้าหมายเป็นแบบไหน และเราจะเลือกใช้เครื่องมือประเภทไหนมาเป็นตัวช่วยลดหย่อนภาษีของเราครับ
ข้อสี่ เราสามารถเลือกกองทุนที่ตรงใจได้หรือเปล่า? ท่ามกลางตัวเลือกมากมายแบบนี้ กองทุนแบบไหนที่เราต้องการเลือกลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษี กองทุนนั้นมีนโยบายการลงทุนเป็นอย่างไร เราต้องการเงินปันผลจากการลงทุนไหม แล้วเราเข้าใจนโยบายการลงทุนของกองทุนนั้นๆดีเพียงพอหรือเปล่า
สาเหตุที่บอกแบบนี้ เพราะผมมองว่า กองทุนรวมแต่ละแบบก็มีความแตกต่างกันไป และแต่ละ บลจ. ก็มีกองทุนออกมามากมายหลายประเภทให้เราเลือก ซึ่งตรงนี้คนที่มีความรู้และความเข้าใจในการลงทุนจะได้เปรียบกว่า
ยกตัวอย่างเช่น กองทุนทั้งหมดที่ออกมาในตอนนี้ มีทั้งนโยบายที่เป็น Passive และ Active มีทั้งนโยบายลงทุนในหุ้นที่แตกต่างกัน ทั้งหุ้นขนาดใหญ่ หุ้นขนาดเติบโต หุ้นคุณค่า หุ้นขนาดเล็ก และยังมีทั้งแบบจ่ายปันผลและไม่จ่ายปันผลอีกต่างหาก โดยผมสรุปแนวทางในการตัดสินใจออกมาดังนี้ครับ
1. สไตล์การลงทุนของกองทุนแต่ละประเภท ตรงนี้คือคำตอบของการเลือกกองทุนอันดับแรกครับ นั่นคือ นโยบาย เราชอบแบบไหนเพราะมีหลากสาย ตั้งแต่
- กลุ่ม Passive ค่าธรรมเนียมต่ำ เน้นลงตามดัชนีตลาดหลักทรัพย์ เช่น SET100 SET50 หรือ SET ทั้งตลาด หรือเน้นหุ้นที่เป็นแบบ ESG (Environment Social and Governance) แบบนี้จะมีข้อดี คือ เป็นไปตามตลาดและดัชนี ถ้าตลาดดีเราก็ไปด้วย
- กลุ่ม Active ที่มีการลงทุนในหุ้น 100% (อันนี้สายลุ้นว่าหุ้นไทยแข็งแกร่ง) หรือ ลงทุนหุ้นกับตราสารหนี้ควบคู่แบบผสม หรือ ลงทุนในหุ้น + ตราสารหนี้ + อสังหา + โครงสร้างพื้นฐาน เพื่อกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์ประเภทอื่น (ซึ่งสามารถทำได้เนื่องจาก SSFX มีนโยบายลงทุนในหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทย
2. ค่าธรรมเนียม ตัวค่าธรรมเนียมเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ทำให้ผลตอบแทนในการลงทุนของเราลดลง เพราะยิ่งค่าธรรมเนียมมากก็เหมือนเป็นการลดอัตราผลตอบแทนที่เราได้รับครับ แต่อย่างไรก็ดี ค่าธรรมเนียมมาก แต่บริหารเก่งจนผลตอบแทนดี ก็เป็นเรืองที่คุ้มค่า ตรงนี้ก็ต้องพิจารณาด้วยครับว่าชอบแบบไหนอย่างไร?
3. เงินปันผล สำหรับคนที่ลงทุนแล้วชอบกระแสเงินสด หรือ มีการจ่ายผลตอบแทนคืนเป็นระยะๆ แบบนี้อาจจะเหมาะกับกองทุนที่มีการจ่ายเงินปันผล (แต่ต้องเสียภาษี ณ ที่จ่าย 10%) แต่คนที่มองว่าไม่ชอบเสียภาษีรวมถึงเวลาในการลงทุนซ้ำ การปล่อยให้กองทุนทำหน้าที่บริหารไปเลย อันนี้จะเหมาะกับกองทุนที่ไม่มีการจ่ายเงินปันผลครับ
ถ้าอ่านตรงนี้แล้วยังไม่แน่ใจว่าเราเหมาะกับการลงทุนแบบไหน? ผมขอแนะนำให้ลองศึกษาเพิ่มเติมเรื่องการลงทุนในกองทุนรวมดูก่อนครับ หรือจะลองฟังใน TAXBugnoms Podcast ที่พูดคุยกับ หมอนัท คลินิกกองทุน เกี่ยวกับเรื่องนี้ในคลิปวีดีโอด้านล่างนีก็ได้ครับ
ข้อสุดท้าย ถือยาว 10 ปี รอได้ไหม? เนื่องจากเงื่อนไขของการลงทุนทั้ง 2 กองทุนนี้จำกัดที่ระยะเวลาการถือครองกองทุนสูงถึง 10 ปี (ไม่ใช่ปีปฎิทิน) แต่เป็นถือจริงตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ (ปีชนปี)
ดังนั้นเช็คให้ดีก่อนว่า เงินที่เราใช้ลงทุนนั้น มันต้องนำไปใช้อะไรอื่นในช่วง 10 ปีนี้หรือเปล่า มัหรือว่ามันเป็นเงินชั่วคราวที่เราเอามาใช้ลงทุนตอนนี้ แบบนั้นอาจจะมีปัญหาได้ครับ
อย่าลืมนะครับว่า การลงทุนที่ทำผิดเงื่อนไขทางภาษี จะทำให้คุณต้องมีปัญหาตามมาอีกมากมาย ทั้งการคืนเงินภาษีที่ใช้สิทธิลดหย่อนไป ร่วมกับกำไรจากการขายหน่วยลงทุนที่ต้องนำกลับมาเสียภาษี (ถ้าขายก่อนครบกำหนดแล้วมีกำไร) และเงินเพิ่ม (ดอกเบี้ย) ที่คิดในอัตรา 1.5% ต่อเดือน (นับตั้งแต่วันที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเพื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษี ไปจนถึงวันที่แก้ไข)
สุดท้ายนี้ ผมมองว่า 5 คำถามนี้ น่าจะช่วยให้ใครหลายคนตัดสินใจได้ว่า เราควรตัดสินใจซื้อกองทุน SSF หรือ SSF-EXTRA ดีไหม แต่อย่างไรก็ดีสิ่งที่เราต้องระวังและจัดการให้ได้ คือ การบริหารการเงินส่วนบุคคลของเรานี่แหละครับ เพราะเป้าหมายในชีวิตของคนทุกคนแตกต่างกัน
และเรานั้นควรรับผิดชอบ
TAXBugnoms
ชีวิตของตัวเองให้ดีที่สุด