อะไรนะ ผ้าอนามัยจะต้องเสียภาษีเพิ่ม
อ่า.. ไม่น่าใช่มั้งครับผม
เรื่องของภาษีผ้าอนามัยมักเป็นคำถามที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทั้งความสงสัยในเรื่องของการขึ้นอัตราภาษี การเข้ามาของผ้าอนามัยแบบสอด จนส่งผลไปถึงการถกเถียงต่อในมุมของการที่ผ้าอนามัยกลายเป็นต้นทุนที่ผู้หญิงต้องรับภาระ
ผมจึงอยากชวนมาสรุปประเด็น 7 ข้อสั้น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผ้าอนามัยและภาษีที่เราทุกคนควรรู้กันครับ
ข้อแรก ผ้าอนามัย ถือเป็น เครื่องสำอางตามกฎหมาย
ผ้าอนามัยถูกจัดเป็นเครื่องสำอาง พ.ร.บ. เครื่องสำอางปี 2558 โดยนิยามของเครื่องสำอางตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้ หมายความถึงวัตถุดังต่อไปนี้ครับ
- วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้ทา ถู นวด โรย พ่น หยอด ใส่ อบ หรือกระทำด้วยวิธีอื่นใดกับส่วนภายนอกของร่างกายมนุษย์ และให้หมายความรวมถึงการใช้กับฟันและเยื่อบุในช่องปาก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อความสะอาด ความสวยงาม หรือเปลี่ยนแปลงลักษณะที่ปรากฏ หรือระงับกลิ่นกาย หรือปกป้องดูแลส่วนต่าง ๆ นั้น ให้อยู่ในสภาพดี และรวมตลอดทั้งเครื่องประทิ่นต่าง ๆ สำหรับผิวด้วย แต่ไม่รวมถึงเครื่องประดับและเครื่องแต่งตัวซึ่งเป็นอุปกรณ์ภายนอกร่างกาย
- วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอางโดยเฉพาะ
- วัตถุอื่นที่กำหนดโดยกฎกระทรวงให้เป็นเครื่องสำอาง
ข้อสอง ผ้าอนามัยแบบสอด ต้องถูกกำหนดเป็นเครื่องสำอาง
ในปี 2561 ที่ผ่านมา ทางคณะรัฐมนตรีเคยมีมติระบุเพิ่มเติมให้ “ผ้าอนามัยแบบสอด” ถูกกำหนดให้เป็นเครื่องสำอาง เนื่องจากต้องมีการกำหนดเพิ่มเติม เพราะนิยามในข้อ 1 นั้นยังไม่ควบคุม จึงต้องใช้อำนาจตามข้อ 3 เพื่อกำหนดให้ผ้าอนามัยแบบสอดถือเป็นเครื่องสำอางตามกฎหมายฉบับนี้
โดยราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ ประกาศกฎกระทรวงกำหนดวัตถุอื่นเป็นเครื่องสำอาง พ.ศ. 2564 เพิ่มเติมตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวในวันที่ 19 กรกฎาคม 2564

ซึ่งเหตุผลที่ต้องให้ผ้าอนามัยแบบสอดเป็นเครื่องสำอางเพิ่มเติมตามข้อ 3 นั้น เพราะนิยามเครื่องสำอางตามข้อ 1 ระบุไว้ว่า ใช้ภายนอกร่างกายมนุษย์ แต่ผ้าอนามัยแบบสอดใช้ภายใน (เข้าไปในช่องคลอดเพื่อซับประจำเดือน-ตามนิยามของกฎหมาย) จึงต้องมีการออกกฎหมายเพิ่มเติมให้ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้
ข้อสาม ประเด็นเรื่องภาษีสรรพสามิตกับผ้าอนามัย
ถ้าหากเราไปดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ พ.ร.บ. สรรพสามิต จะเห็นข้อกำหนดสินค้าฟุ่มเฟือยไว้ว่ามี สินค้าผลิตภัณฑ์เครื่องหอมและเครื่องสำอาง ซึ่งปัจจุบันมีแค่การเก็บภาษีสรรพสามิตในส่วนของผลิตภัณฑ์น้ำหอม หัวน้ำหอม แต่ไม่มีการเก็บพิกัดภาษีผ้าอนามัย ในส่วนนี้ครับ

ดังนั้นในส่วนของภาษีสรรพสามิต เราจึงสามารถสรุปได้ว่า ผ้าอนามัยไม่ใช่สินค้าที่ต้องเสียภาษีตามพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ครับ
ข้อสี่ ประเด็นเรื่องภาษีศุลกากรกับผ้าอนามัย
ในส่วนของภาษีศุลกากร (ภาษีนำเข้า) ซึ่งอาจจะจัดเก็บได้ในกรณีที่มีการนำเข้าผ้าอนามัย (ทั้งแบบปกติและแบบสอด) จากต่างประเทศ นั้นกำหนดไว้ว่าต้องเสียภาษีสูงสุดในอัตรา 40% ซึ่งอัตรานี้เป็นอัตราสูงสุดเรื่องของการนำเข้าเท่านั้น แต่ไม่ได้เกี่ยวกับการบริโภคในประเทศ
อย่างไรก็ดี การจัดเก็บภาษีในส่วนนี้ก็มีการลดอัตราภาษีสูงสุดเหลือ 10% รวมถึงมีการยกเว้นอากรขาเข้าให้ในกรณีที่เป็นประเทศในกลุ่มอาเซียนและญี่ปุ่น (พิกัด 96.19) ดังรูปด้านล่างนี้ครับ


ข้อห้า ผ้าอนามัยถือเป็นสินค้าควบคุมราคา
นอกจากนั้น ทางภาครัฐยังมีการควบคุมราคาผ้าอนามัย ตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 18 พ.ศ. 2563 ด้วย อยู่ในหมวด สินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งแปลว่าเป็นสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพ ไม่สามารถขายเกินราคาได้ (ข้อ 31) ซึ่งประกาศฉบับนี้จะมีการต่ออายุปีต่อปีอีกด้วยครับ ซึ่งโดยปกติจะมีการต่ออายุมาโดยตลอด (ณ วันที่เขียนบทความนี้ยังไม่เห็นฉบับต่ออายุของปี 2564)
ข้อหก ผ้าอนามัยถือเป็นสินค้าควบคุมราคา
สำหรับเรื่องของ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ถือว่าผ้าอนามัยเป็นสินค้าที่ไม่ได้รับสิทธิ์ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยจะเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 7% เหมือนกับสินค้าหรือบริการที่มีการบริโภคในประเทศตามปกติครับ
สำหรับใครที่สนใจศึกษาเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่ม สามารถดูได้ที่คลิปด้านล่างนี้ครับ
ข้อเจ็ด ผ้าอนามัยกับประเด็นที่เราควรตั้งคำถามกับรัฐ
ทีนี้ประเด็นสำคัญที่ควรใส่ใจในมุมมองส่วนตัวของผมนั้น อาจจะย้อนกลับมาที่การตั้งคำถามนอกจากเรื่องของภาษีว่า ทำไมต้นทุนค่าใช้จ่ายผ้าอนามัย (ไม่ว่าจะแบบไหนก็ตาม) ถึงถูกผลักเป็นต้นทุนให้ผู้หญิงต้องรับผิดชอบมาโดยตลอด
ซึ่งจากคำถามนี้จะทำให้เราสามารถตั้งคำถามต่อไปว่า ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ภาครัฐมีวิธีสนับสนุนได้อย่างไรบ้าง หรือมีหนทางมากกว่านี้ไหม เพื่อให้ภาระส่วนนี้ลดน้อยลงหรือไม่มีเลย และสร้างความเท่าเทียมในส่วนนี้ได้เพิ่มขึ้นบ้าง ?
ยกตัวอย่างเช่น นโยบายยกเลิกภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับผ้าอนามัย หรือ แนวทางอื่น ๆ เช่น สนับสนุนให้ฟรีกับประชาชน จากตัวอย่างที่ยกมาไม่ได้บอกว่าควรทำหรือไม่ แต่เป็นเพียงตัวอย่างให้ดูว่ารัฐมีทางช่วยได้หลากหลายวิธี ซึ่งต้องพิจารณาความเหมาะสมในเรื่องนี้อีกทีหนึ่งครับ
สรุป
- ผ้าอนามัยถูกจัดประเภทเป็นเครื่องสำอางมานานแล้ว
- เครื่องสำอางถูกจัดในกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยของกรมสรรพสามิต
- ถ้านำเข้าจากต่างประเทศ (ในกรณีที่ไม่ได้รับยกเว้น) จะเสียอากรขาเข้าสูงสุด 10%
- มีการกำหนดให้ผ้าอนามัยเป็นสินค้าควบคุมราคา เนื่องจากมีความจำเป็นต่อการบริโภค
- สำหรับภาษีมูลค่าเพิ่ม ผ้าอนามัยถือเป็นสินค้าที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องเสียในอัตรา 7% ของราคาสินค้า
สุดท้ายนี้ ผมมองว่าสิ่งที่สังคมถกเถียงกันจริง ๆ นั้น อาจจะไม่ใช่เรื่องของภาษีผ้าอนามัย
แต่เป็นคำถามถึงความเท่าเทียมในสังคมต่างหาก
TAXBugnoms