กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) คืออะไร? ลดหย่อนภาษีได้เท่าไร? ถ้าลาออกต้องทำยังไงบ้าง?

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

พี่ครับ ๆ ทำไมที่ทำงานผมไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

อ่า… น้องทำงานอะไรนะครับ?

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ PVD (ย่อมาจากคำว่า Provident Fund) เป็นกองทุนรวมประเภทหนึ่งที่จัดตั้งขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างนายจ้าง (เจ้าของ) และลูกจ้าง (พนักงาน) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ลูกจ้างมีเงินออมไว้เพื่อใช้จ่ายหลังจากที่ออกจากงาน เกษียณอายุ ทุพลภาพ ไปจนถึงการเป็นหลักประกันให้ครอบครัวหากเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

Advertisements
สำหรับคนที่ไม่มีเวลา สามารถเลือกอ่านเฉพาะหัวข้อที่สนใจได้เลยครับ

นี่คือความหมายอย่างเป็นทางการของเจ้ากองทุน PVD ตัวนี้ครับ แต่ในรายละเอียดของการสะสมเงินต่าง ๆ หรือ การใช้สิทธิ์ประโยชน์ทางภาษี ผมมองว่ายังมีอะไรที่เราควรรู้จักมากกว่านั้น และผมได้รวบรวมทุกอย่างที่มนุษย์เงินเดือนทุกคนควรรู้ทั้งหมดมาไว้ในบทความนี้แล้วครับ

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คืออะไร?

ถ้าให้พูดแบบเรียบง่ายที่สุด ผมคิดว่าเราควรบอกว่า กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ PVD เป็นสวัสดิการที่ลูกจ้างได้รับ อีกทั้งยังเป็นหนึ่งตัวช่วยในการ ลดหย่อนภาษี และสะสมเงิน (ลงทุน) สำหรับวัยเกษียณที่คุ้มค่าตัวหนึ่งที่มนุษย์เงินเดือนทุกคนควรมีไว้ ซึ่งเหตุผลที่ผมกล้าพูดแบบนี้ ก็เพราะว่า กองทุนนี้…

Advertisements

เป็นสวัสดิการที่มีประโยชน์และสร้างวินัย

เนื่องจากกองทุนนี้เป็นการร่วมกันจัดตั้งระหว่าง “นายจ้าง” และ “ลูกจ้าง” ตาม พระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยเงินของกองทุนจะมาจากเงินที่ทั้งสองฝ่ายร่วมกันสะสมเข้ากองทุนในแต่ละเดือน

สำหรับเงินที่จ่ายจากทางฝั่งลูกจ้างจ่ายจะเรียกว่า “เงินสะสม“ ทีหักออกจากเงินเดือน (หรือค่าจ้าง) ในแต่ละเดือนที่ลูกจ้างได้รับ ซึ่งการสะสมแบบนี้เป็นการสร้างวินัยในการเก็บเงินส่วนหนึ่งครับ เพราะมีการหักเป็นประจำในทุก ๆ เดือน แถมยังเป็นการ “เก็บก่อนใช้” อีกต่างหาก

ส่วนเงินที่นายจ้างจ่ายให้นั้น เราจะเรียกว่า “เงินสมทบ”ซึ่งส่วนนี้ก็ถือเป็น “สวัสดิการ” ที่นายจ้างมีให้เพิ่มเติมนอกเหนือจากเงินเดือนที่ลูกจ้างได้รับ ซึ่งจะมากหรือน้อยนั้นย่อมขึ้นอยู่กับ % ของการสะสมที่ลูกจ้างและนายจ้างตกลงกันไว้ โดยมีรายละเอียดดังนี้ครับ

Advertisements
  • ในส่วนของ “เงินสะสม” ที่ลูกจ้างจ่ายนั้น กฎหมายกำหนดไว้ว่าไม่ต่ำกว่า 2% แต่สูงสุดไม่เกิน 15% ของค่าจ้าง (เงินเดือน) ซึ่ง % ตรงนี้เปิดโอกาสให้ลูกจ้างสามารถเลือกสะสมเพิ่มด้วยตัวเองได้ครับ
  • สำหรับส่วนของ “เงินสมทบ” ของนายจ้าง ก็ใช้หลักการเดียวกันครับ นั่นคือ นายจ้างจะสมทบให้ตั้งแต่ 2 -15% ซึ่งจะมีอัตราที่แตกต่างกันไปตามเงื่อนไขต่างๆ เช่น ระยะเวลาการทำงานหรือ ระยะเวลาการเป็นสมาชิกหรือ ตามตำแหน่งหรือ ตามอัตราเงินเดือนของลูกจ้าง ฯลฯ

โดยเงินทั้งหมดที่ลูกจ้างและนายจ้างร่วมกันส่งเข้าไปในกองทุนนี้ จะถูกนำไปบริหารให้เกิดดอกผลงอกเงยโดยผู้บริหารมืออาชีพอีกทีหนึ่งครับ หรือพูดง่าย ๆ ก็มีลักษณะคล้ายกับกองทุนรวมที่เรารู้จักกันดีนี่แหละครับ

นอกจากนั้น กองทุน PVD ที่ว่านี้เป็นกองทุนที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการเกษียณ ดังนั้นจะไม่มีการจ่ายดอกเบี้ยหรือเงินปันผลในระหว่างที่อยู่ในกองทุนนี้นะครับ แต่จะจ่ายเงินทั้งหมดออกมาเป็นเงินก้อนเมื่อสิ้นสุดการเป็นสมาชิกกองทุน เช่น ลาออกกองทุน ลาออกจากงาน เกษียณอายุ ฯลฯ

สิทธิ์ในการลดหย่อนภาษีและยกเว้นภาษีเงินได้

นอกจากสิทธิประโยชน์เรื่องการออมเงินและการสร้างวินัยแล้ว ทางฝั่งลูกจ้างยังได้รับสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย โดยในส่วน สิทธิ์ประโยชน์ในการลดหย่อนภาษี มีเงื่อนไขดังนี้ครับ

(ช) เงินสะสมที่จ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดโดยกฎกระทรวงตามมาตรา 65 ตรี (2) ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10,000 บาท

(35) เงินได้เท่าที่ลูกจ้างจ่ายเป็นเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในอัตราไม่เกินร้อยละสิบห้าของค่าจ้างเฉพาะส่วนที่เกินหนึ่งหมื่นบาท แต่ไม่เกินสี่แสนเก้าหมื่นบาท สำหรับปีภาษีนั้น ทั้งนี้ สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2551 เป็นต้นไป
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ อีกหนึ่งตัวช่วยสำหรับมนุษย์เงินเดือนในการเก็บเงินเพื่อเกษียณ มักถูกเรียกกันในชื่อของ PVD หรือ Provident Fund
Advertisements

เงินสะสมที่สมาชิกจ่ายเข้ากองทุน สามารถนำมาใช้เป็นค่าลดหย่อนในการคำนวณ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยหักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินปีละ 500,000 บาท โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ

  • ส่วนแรก 10,000 บาท สามารถนำไปลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในส่วนของค่าลดหย่อน
  • ส่วนที่สอง ส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 15% ของค่าจ้าง และไม่เกิน 490,000 บาท จะได้รับสิทธิ์ยกเว้นไม่ต้องนำไปรวมกับเงินได้ที่เสียภาษี 

อ่านเงื่อนไขการลดหย่อนภาษีเรียบร้อยแล้วอย่าพึ่งงงนะครับ ลองมาดูตัวอย่างกันดีกว่า…

สมมติว่า นายบักหนอมมีเงินเดือนรวมตลอดทั้งปี คือ 500,000 บาท แต่มีการสะสมเข้ากองทุนในอัตรา 5% ของเงินเดือน แบบนี้นายบักหนอมจะได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีทั้งสิ้น 25,000 บาท เวลากรอกข้อมูลจะเป็นตามรูปด้านล่างนี้ครับ

ซึ่งเราสามารถกรอกข้อมูลค่าลดหย่อนภาษีจำนวน 25,000 บาทได้เลยครับ โดยระบบจะมีการปรับยอดให้ โดยให้จำนวนเงิน 10,000 บาทแรกไปปรากฎอยู่ที่รายการค่าลดหย่อน และส่วนที่เกินจำนวน 15,000 บาทนั้นอยู่ในยอดที่หักออกจากเงินได้ของเราอีกหน้าหนึ่งครับ

อีกส่วนหนึ่งคือ สิทธิ์ในการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินที่สมาชิกได้รับจากกองทุนเมื่อสิ้นสุดสมาชิกภาพในกรณีที่ทำงานจนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ (โดยเป็นสมาชิกมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี) หรือ เสียชีวิต หรือ ทุพพลภาพ ส่วนของเงินทั้งหมดที่ได้รับจากกองทุนนั้น จะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

หรือ พูดง่าย ๆ ว่า ถ้าออกจากงานตอนอายุ 55 ปีบริบูรณ์ (โดยเป็นสมาชิกมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี) หรือ เสียชีวิต หรือ ทุพพลภาพ เงินทั้งหมดที่เราได้จากกองทุน ไม่ต้องเสียภาษีนั่นเองครับ

และสำหรับนายจ้างเอง การมีสวัสดิการส่วนนี้ให้กับพนักงาน ก็สามารถถือเป็นรายจ่ายของธุรกิจในการคำนวณ ภาษีเงินได้นิติบุคคล ได้เช่นเดียวกันครับ

ฟังมาถึงตรงนี้แล้ว เริ่มจะน่าสนใจแล้วใช่ไหมล่ะครับ แต่ยังครับ ยังไม่จบ เพราะเรายังสามารถเพิ่มผลตอบแทนจากกองทุนได้มากกว่านี้อีกครับ จากวิธีการดังต่อไปนี้ …

วิธีเพิ่มผลตอบแทนให้กับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

วิธีที่ง่ายที่สุดในการเพิ่มผลตอบแทนนั้น มีอยู่ 2 ทาง โดยทางแรกมาจาก การที่ลูกจ้างเลือกเพิ่ม % เงินสะสมในแต่ละเดือนให้มากขึ้น เนื่องจากสามารถสะสมได้สูงสุดถึง 15% ของเงินเดือนในแต่ละเดือน และเมื่อเงินสะสมเพิ่มขึ้น ผลตอบแทนที่ได้รับจากการสะสมเงินก็ย่อมจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

หรืออีกทางหนึ่ง คือ การเปลี่ยนแปลงแผนการลงทุน โดยใช้วิธีการ เลือกแผนการลงทุนให้เหมาะกับเป้าหมายและความเสี่ยงของเรา ครับ หลายคนอาจจะเคยได้ยินคำว่า Employee Choice หรือการที่สมาชิกกองทุนสามารถเลือกนโยบายการลงทุนได้ด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเสี่ยงสูง เสี่ยงกลาง เสี่ยงต่ำ

โดยสมาชิกกองทุนอย่างเราๆ สามารถเลือกที่จะแบ่งสัดส่วนกองทุนของตัวเอง ไปลงทุนเพียงนโยบายเดียว หรือหลายนโยบายก็ได้ ตามที่ต้องการ เพียงแต่ว่า ตัวกองทุนเองต้องมี นโยบายการลงทุนที่หลากหลาย เพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกสามารถเลือกแผนการลงทุนได้

Advertisements

ยกตัวอย่างเช่น บริษัท บักหนอมน้อย จำกัด จัดตั้งกองทุน PVD ขึ้นมาให้กับพนักงาน โดยมีนโยบายการลงทุนให้เลือกทั้งหมด 4 นโยบายจากความเสี่ยงมากไปหาน้อย ซึ่งความแตกต่างในการเลือกของพนักงานอาจจะเป็นดังนี้

  • พนักงานแต่ละคนสามารถเลือกได้นโยบายใดนโยบายหนึ่งเพียงอย่างเดียว
  • พนักงานแต่ละคนสามารถเลือกสัดส่วนการลงทุนในแต่ละนโยบายได้ตามที่ต้องการ (DIY)

มาถึงตรงนี้ คำถามที่ผมอยากจะชวนทุกคนคิดก็คือ ทุกวันนี้ เราเลือกแผนการลงทุนแบบไหนอยู่? และมีนโยบายการลงทุนอย่างไรบ้าง

เพราะถ้าหากเราไม่สามารถเลือกลงทุนในนโยบายที่เหมาะสมได้ หรือ กำลังเลือกลงทุนผิดนโยบายอยู่โดยที่ไม่รู้ตัว นั่นแปลว่าเราย่อมเสียโอกาสในการรับผลตอบแทนที่มากขึ้นตามไปด้วยครับ เช่น บางคนลงทุนในนโยบายการลงทุนพวกตลาดเงิน ตราสารหนี้ โดยอัดเงินเข้าไปเต็มที่ 15% ตั้งแต่อายุน้อย ๆ ซึ่งกลายเป็นว่าเสียโอกาสที่เราจะไปลงทุนในสินทรัพย์ที่รับความเสี่ยงได้มากกว่า อย่าง หุ้น อสังหาริมทรัพย์ เพื่อเพิ่มโอกาสการได้รับผลตอบแทนจากกองทุนไปด้วยครับ

ดังนั้นเช็คให้ดีก่อนว่าทุกวันนี้ นโยบายการลงทุนในกองทุนนั้นเป็นแบบไหน และมีอะไรให้เลือกบ้าง เพื่อที่เราจะได้เลือกลงทุนได้อย่างเหมาะสมกับช่วงเวลาของชีวิต เป้าหมายที่ต้องการ ความเข้าใจในสินทรัพย์ และ ความเสี่ยงที่รับได้ครับ

โดยวิธีการเปลี่ยนแผนการลงทุนที่ง่ายที่สุดนั้น ผมแนะนำให้ลองติดต่อทางฝ่ายบุคคลของบริษัทครับ โดยอาจจะต้องมีการกรอกเอกสารเพือเปลี่ยนแผนการลงทุน หรือ บางทีสามารถเปลี่ยนด้วยตัวเองได้ง่าย ๆ ผ่านแอพพลิเคชั่นหรือระบบของบริษัทบริหารจัดการกองทุนที่ใช้อยู่ครับ

อย่างไรก็ดี ความจริงที่น่าเศร้าอีกข้อหนึ่งก็คือ นโยบายการลงทุนในกองทุนของนายจ้างบางแห่ง อาจจะไม่มีนโยบาย Employee Choice แต่กลับมีเพียงแค่กองทุนที่ลงทุนในนโยบายเดียว (และมักจะเป็นตลาดเงินหรือตราสารหนี้ที่ผลตอบแทนไม่สูงมาก) ซึ่งไม่ตรงกับความตัองการของคนทำงานอย่างเราครับ

หรือซ้ำร้ายไปกว่านั้น บางบริษัทอาจจะไม่มีนโยบายจัดตั้งกองทุน PVD ให้กับพนักงานด้วยซ้ำ แต่อย่างไรก็ตาม ผมขอแนะนำเพิ่มเติมดังนี้ครับ

ทางเลือกอื่นในการสะสมเงิน
หากบริษัทไม่มี PVD ให้ หรือ นโยบายไม่โดนใจ

สำหรับมนุษย์เงินเดือนที่นายจ้างไม่มี PVD ให้หรือ มีให้แต่นโยบายการลงทุนของการลงทุนยังไม่โดนใจ เราอาจจะหันมามองที่ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) แทนครับ โดยสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามที่จ่ายจริงและสูงสุดไม่เกินจำนวน 500,000 บาท

โดยกองทุน RMF เป็นกองทุนรวมประเภทหนึ่งที่ลงทุนไว้ในสินทรัพย์หลากหลายประเภท ซึ่งมีวัตถุประสงค์ไว้ใช้ในการวางแผนเกษียณได้เหมือนกันกับ PVD (เพียงแต่ไม่มีนายจ้างสมทบให้) ซึ่ง RMF มีระบุเงื่อนไขในการลดหย่อนภาษีไว้ดังนี้ครับ

  • ต้องซื้อติดต่อกันทุกปี (แต่ถ้าผิดเงื่อนไขสามารถผิดได้ 1 ปี)
  • ต้องซื้อเป็นจำนวนขั้นต่ำ 3% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี หรือ 5,000 บาท (เงื่อนไขนี้ถูกยกเลิกในปี 2563)
  • ต้องถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมไว้ไม่น้อยกว่า 5 ปี และอายุครบ 55 ปี จึงจะสามารถขายได้
RMF อีกหนึ่งทางเลือกนอกเหนือจาก กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ Provident Fund หรือ PVD ที่

อย่างไรก็ดี สำหรับคนที่ลงทุนทั้งในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) รวมถึงตัวช่วยลดหย่อนภาษีในการเกษียณต่างๆนั้น จะมีเงื่อนไขร่วมกันอีกข้อหนึ่ง นั่นคือ

ยอดรวมทั้งหมดของ RMF + กบข./PVD/กองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน + กองทุนการออมแห่งชาติ + ประกันชีวิตแบบบำนาญ และ กองทุนรวม SSF จะสามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 500,000 บาทครับ

รายการลดหย่อนภาษีปี 2564 ที่แสดงให้เห็นว่ายอดรวมทั้งหมดของ RMF + กบข./PVD/กองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน + กองทุนการออมแห่งชาติ + ประกันชีวิตแบบบำนาญ และ กองทุนรวม SSF จะสามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 500,000 บาทครับ

ถ้าจะออกจากกองทุน
ต้องทำอย่างไรและวางแผนภาษีแบบไหน?

อย่างที่ผมเขียนไว้ในตอนต้นของบทความนี้ว่า ถ้าออกจากงานตอนอายุ 55 ปีบริบูรณ์ (โดยเป็นสมาชิกมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี) หรือ เสียชีวิต หรือ ทุพพลภาพ เงินทั้งหมดที่เราได้จากกองทุนนั้น จะไม่ต้องนำมาเสียภาษี

แต่ชีวิตการทำงานของเราทุกคนอาจจะไม่ได้เริ่มต้นและจบสวยงามแบบนั้นใช่ไหมครับ? เนื่องจากหลายคนคงต้องมีการเปลี่ยนงานใหม่ เติบโตไปตามหน้าที่และสถานการณ์ หรือ ตัดสินใจลาออกจากงานไปทำตามความฝัน หรือ มีทั้งการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เกิดขึ้นในชีวิต ซึ่งเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นมีผลต่อการจัดการภาษีแตกต่างกันไปครับ

แต่ก่อนจะไปดูในแต่ละสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ผมขอทวนอีกทีให้เห็นภาพก่อนครับว่า เงินที่เราได้รับเมื่อตัดสินใจออกจากกองทุนนั้น ประกอบด้วยเงิน 3 ส่วนดังนี้ครับ

  • เงินสะสม (เงินต้นส่วนที่เรานำส่ง) หรือ เงินที่หักจากเงินเดือนของเราในทุก ๆ เดือน ซึ่งเงินส่วนนี้เราจะใช้สิทธิ์ในการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และเราจะได้รับเงินส่วนนี้ทั้งจำนวนเมื่อตัดสินใจออกจากกองทุน
  • เงินสมทบ (เงินต้นส่วนที่นายจ้างให้) เงินส่วนนี้จะเป็นเงินที่นายจ้างสมทบเพิ่มให้ในทุก ๆ เดือน แต่เมื่อเราตัดสินใจออกจากกองทุนแล้ว เงินส่วนนี้อาจจะได้รับไม่เต็มทั้งจำนวน ซึ่งขึ้นอยู่กับนโยบายของกองทุนที่กำหนดไว้ครับ (โดยปกติการได้รับเงินก้อนนี้เต็มจำนวน มักจะได้ในกรณีที่ออกจากงานตอนอายุ 55 ปีบริบูรณ์ หรือ เสียชีวิต หรือ ทุพพลภาพ ครับ)
  • ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการลงทุน (ผลตอบแทนจากเงินต้นที่สะสมและสมทบ) เงินส่วนนี้จะได้รับจากผลตอบแทนในการลงทุนที่เราเลือกไว้ โดยจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับแผนการลงทุนที่เราเลือกนั่นเองครับ

โดย เงินส่วนที่เราสะสมเองนั้น จะไม่มีผลต่อการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพราะเป็นส่วนที่เราได้สะสมเองจากรายได้ (เงินเดือน) ที่เรานำไปเสียภาษีแล้ว ดังนั้น ตรงส่วนนี้จะไม่ถูกนำมาคิดภาษีอีกครั้งหนึ่ง เมื่อเราออกจากกองทุนไม่ว่าจะกรณีใดก็ตาม

แต่เงินส่วนที่เป็น เงินสมทบ และ ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการลงทุน จะถูกนำมาถือเป็นรายได้ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเมื่อเราตัดสินใจออกจากกองทุน โดยหลักการในการคำนวณภาษีนั้น จะแตกต่างกันไปตามวิธีการออกจากกองทุน ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็นแต่กรณีได้ดังนี้ครับ

กรณีลาออกจาก PVD แต่ไม่ได้ลาออกจากงาน

กรณีนี้อาจจะเกิดขึ้นได้ ในกรณีที่บางคนต้องการเงินก้อนที่สะสมไว้มาใช้ประโยชน์อะไรสักอย่าง ซึ่งตรงนี้จะมีปัญหาอยู่ 2 ประเด็นตามมา นั่นคือ เงินของเราที่สำรองไว้เพื่อเกษียณอาจจะไม่เพียงพอ และ ต้องเสียภาษีด้วย

โดยกรณีนี้จะถือว่าเป็น เงินเดือน หรือ เงินได้ประเภทที่ 1 ตามกฎหมาย ซึ่งเรามีหน้าที่นำมารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามปกติ โดยนำมารวมกับเงินเดือนที่ได้รับได้เลยครับ

กรณีลาออกจาก PVD และลาออกจากงาน

กรณีที่ลาออกจาก PVD และ ลาออกจากงาน นั้น จะมีการพิจารณาเรื่องของอายุการทำงานประกอบ เพื่อให้ได้รับสิทธิ์ในแยกการคำนวณภาษี ที่เรียกว่า เงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน ซึ่งถ้าหากเรามีระยะเวลาทำงานตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป จะสามารถใช้สิทธิ์แยกคำนวณภาษีได้ครับ (ศึกษาเรื่องนี้เพิ่มเติมได้ที่บทความ ออกจากงาน ยื่นภาษียังไง) ซึ่งวิธีนี้จะทำให้เราเสียภาษีน้อยกว่าการนำไปรวมคำนวณกับเงินเดือน (เงินได้ประเภทที่ 1) เพราะเป็นการแยกคำนวณเงินออกมาต่างหาก

แต่ถ้าหากเรามีระยะเวลาการทำงานที่ไม่ถึง 5 ปีแล้วล่ะก็ เงินส่วนนี้จะต้องถูกนำมาคำนวณรวมกับเงินเดือน หรือ ถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 1 ทั้งจำนวนเพื่อเสียภาษีเหมือนกันกับกรณีที่เราออกจากกองทุนโดยที่ไม่ออกจากงานนั่นเองครับ

เพื่อให้เห็นภาพทั้งหมดที่อธิบายมาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมอยากให้ดูตัวอย่างด้านล่างนี้ครับ

สมมติว่า นายบักหนอมมีรายได้ทั้งปี 1,500,000 บาท เมื่อตัดสินใจลาออกจากงาน ปรากฎว่านายบักหนอมมีเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสะสมไว้จำนวน 2,000,000 บาท (แบ่งเป็นเงินสะสม 800,000 บาท เงินสมทบและผลประโยชน์จากเงินสะสมและเงินสมทบรวมทั้งหมด 1,200,000 บาท) โดยวันที่ลาออก นายบักหนอมมีอายุงานทั้งหมด 10 ปีเต็มพอดี

ในกรณีนี้ นายบักหนอมสามารถคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยนำส่วนของเงินสมทบและผลประโยชน์จำนวน 1,200,000 บาท มาแยกคำนวณจากเงินเดือน 1,500,000 บาท เพราะถือว่าเป็นเงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน

แต่ถ้าหากข้อมูลข้างต้น เปลี่ยนเป็นว่านายบักหนอมมีอายุการทำงาน 3 ปี แบบนี้นายบักหนอมจะต้องนำส่วนของเงินสมทบและผลประโยชน์จำนวน 1,200,000 บาท มารวมคำนวณกับเงินเดือนจำนวน 1,500,000 บาท โดยถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 1 จำนวน 2,700,000 บาทในการคำนวณภาษีนั่นเองครับ

หรือถ้าหากนายบักหนอมไม่ได้ออกจากงาน แต่ตัดสินใจออกจากกองทุนเพียงอย่างเดียว เงินจำนวน 1,200,000 บาทที่ได้รับ จะต้องนำมารวมคำนวณกับเงินเดือนทันที แม้ว่านายบักหนอมจะมีอายุการทำงานมากกว่า 5 ปีก็ตาม เพราะกรณีนี้จะไม่ถือว่าเป็น เงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน นั่นเองครับ

มาถึงตรงนี้ จะเห็นว่าถ้าเราตัดสินใจออกจากกองทุนไม่ว่าจะกรณีใดก็ตาม เรายังมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอยู่ดี เพียงแต่จะเสียมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับอายุงานที่เราทำ และ วิธีการที่เราตัดสินใจออกจากกองทุน

แต่ความเป็นจริงแล้ว เราสามารถเลือกวิธีที่จะไม่เสียภาษีส่วนนี้ได้เหมือนกันครับ เพียงแค่เราเข้าใจหลักการของมัน นั่นคือ …

ถ้าไม่อยากเสียภาษี ต้องทำอย่างไร?

ต้องบอกก่อนว่า ทางเลือกในการไม่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น จะใช้ได้เฉพาะกรณีที่เราออกจากงานเท่านั้นนะครับ โดยมีทางเลือกดังต่อไปนี้

1. ทำเรื่องขอคงเงินไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของที่ทำงานเดิม โดยไม่นำออกมา (กรณีนี้มักจะมีค่าธรรมเนียมรายปี) เพื่อให้เงินก้อนนี้ทำหน้าที่สร้างผลตอบแทนต่อไป และออกจากกองทุนเมื่อครบกำหนดตามเงื่อนไขของกฎหมาย นั่นคือ เรามีอายุ 55 ปีบริบูรณ์

2. ทำเรื่องขอย้ายไป PVD ของที่ทำงานแห่งใหม่ (ถ้ามี) โดยแจ้งความประสงค์ทางฝ่ายบุคคลของบริษัทเดิม หรือ ติดต่อทางฝั่งที่ดูแลกองทุน เพื่อขอสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนในกองทุน PVD ที่ทำงานเดิม ให้โยกย้ายไปเป็นหน่วยลงทุนของกองทุน PVD ของที่ทำงานใหม่ เพื่อให้สะสมเงินลงทุนต่อเนื่องไปจนถึงวันเกษียณของเรา

โดยทางเลือกเพิ่มเติมตรงนี้ อาจจะพิจารณาระหว่างแผนการลงทุนระหว่างกองทุนเดิมกับกองทุนใหม่ ว่ากองทุนแบบไหนเหมาะสมกับความต้องการและเป้าหมายเกษียณของเรามากกว่ากัน ทั้งในเรื่องของความเสี่ยงและผลตอบแทน เนื่องจากนโยบายการลงทุนของที่เก่าและที่ใหม่อาจจะมีทางเลือกในการลงทุนที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นต้องพิจารณาตรงนี้ให้ดีด้วยครับ

3. ย้ายไป RMF For PVD หรือ โอนจาก PVD ไปลงทุนต่อในกองทุน RMF (หรือบางครั้งอาจจะเรียกว่า PVD to RMF) ที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนต่าง ๆ เพื่อให้แผนเกษียณของเรายังทำงานต่อ โดยสามารถเลือกลงทุนในประเภทของกองทุนที่เราต้องการตามนโยบายที่มีให้เลือกแตกต่างกันไปครับ

ซึ่งกรณีนี้ จะไม่ได้เกี่ยวข้องกับสิทธิ์ลดหย่อนภาษีในการซื้อ RMF ตามปกติของเรา (ไม่ถือเป็นการซื้อ RMF) และเราไม่จำเป็นต้องซื้อ RMF ที่สับเปลี่ยนมาจาก PVD นี้ต่อเนื่องด้วย โดยเงินลงทุนส่วนนี้ เราจะสามารถขายได้เมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์เช่นเดียวกับ PVD ตามปกติครับ

หากใครสนใจเรื่องการสับเปลี่ยนเป็น RMF สามารถศึกษาเงื่อนไขในการโอนเพิ่มเติมที่กองทุนที่เราถืออยู่ พร้อมกับติดต่อบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ที่มีกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF For PVD) โดยตรงได้เลยครับ

โดยวิธีการทั้งหมดที่แนะนำมานี้ จะถือว่ายังไม่ใช่เงินได้ที่ต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษี (เพราะเงินยังไม่ได้ออกมา) แปลว่าเราไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีจากผลประโยชน์ทั้งหมดที่ได้รับนั่นเองครับ

นอกจากนั้น วิธีการทั้งหมดนี้ ยังทำให้เงินเกษียณของเรายังอยู่ครบถ้วนอีกด้วยครับ

แนวทางการจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หากต้องออกจากงาน สามารถทำอย่างไรได้บ้างเพื่อไม่ให้มีปัญหาทางด้านภาษี

สรุปสิ่งที่มนุษย์เงินเดือนทุกคนควรทำ
ในการวางแผนจัดการ PVD ของตัวเอง

มาถึงตรงนี้ จะเห็นว่าถ้าหากมนุษย์เงินเดือนหรือลูกจ้างอย่างเรา มีความเข้าใจเรื่องกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รวมถึงการบริหารจัดการภาษีแล้วล่ะก็ ย่อมทำให้เราได้รับประโยชน์หลายต่อ ไม่ว่าจะเป็นการเก็บเงินเพื่อเกษียณ วางแผนภาษี ไปจนถึงลงทุนเพื่อเพิ่มผลตอบแทนให้ดีขึ้นอีกด้วยครับ

โดยผมมีข้อแนะนำสั้น ๆ 3 ข้อสำหรับการจัดการเรื่องนี้ จากประสบการณ์ส่วนตัวมาฝากกันครับ นั่นคือ

  1. วางแผนเกษียณให้ชัดตั้งแต่แรก สำหรับคนที่เริ่มทำงานส่วนใหญ่ มักจะยังไม่ใส่ใจวางแผนการเกษียณโดยมองว่าเป็นเวลาอีกนาน แต่จริงๆ แล้วถ้าหากเราเริ่มต้นวางแผนตั้งแต่แรกๆ จะมีประโยชน์มากเพราะว่าเราสามารถเริ่มต้นที่จำนวนจากเงินน้อย ๆ และลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง เพื่อคาดหวังผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวได้อีกด้วยครับ
  2. เลือกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่เหมาะสม ตรวจสอบ จัดสรรการลงทุนที่ถูกใจ ถ้าเราสามารถเลือกใช้ PVD เป็นตัวช่วยได้ก็ควรทำ เพราะมันเป็นสิทธิประโยชน์ที่เราได้รับจากนายจ้างฟรี ๆ (ส่วนที่สมทบให้) และถ้าหากมีนโยบายการลงทุนที่เหมาะสม เราก็จะยิ่งได้รับประโยชน์ส่วนนี้มากยิ่งขึ้นตามไปด้วย รวมถึงต้องมีการตรวจสอบและติดตามผลการลงทุนเพื่อปรับปรุงให้เหมาะสมในแต่ละช่วงเวลา เพื่อให้เงินที่เราลงทุนอยู่ทำงานได้อย่างคุ้มค่ามากที่สุดครับ
  3. วางแผนภาษีควบคู่ไปด้วยกัน และใช้สิทธิ์ประโยชน์ภาษีให้คุ้มค่า นอกจากวางแผนลดหย่อนภาษีแล้ว เราอาจจะต้องวางแผนจัดการเงินในกองทุน PVD ให้เหมาะสมด้วยครับ เช่น การวางแผนเก็บยาวจนถึงอายุ 55 ปีโดยไม่นำเงินออกมาจากกองทุน สับเปลี่ยนไปยังกองทุนใหม่ หรือ หาทางเปลี่ยนไปเป็น RMF เพื่อช่วยให้เราไม่ต้องเสียภาษีเมือมีการเปลี่ยนงาน หรือมีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นในชีวิต ตรงนี้ก็จะช่วยให้เงินที่เราเก็บเพื่อเป้าหมายนั้นไม่หายไป และไม่ต้องเสียภาษีเพิ่มอีกด้วย

ท้ายที่สุดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการงาน การเงิน ชีวิต ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องเดียวกัน และสิ่งที่เราต้องพยายามจัดการมันก็คือ การบริหารจัดการทุกเรื่องนั้นให้สมบูรณ์ที่สุด

และพยายามมีความสุขในการเรียนรู้มัน

TAXBugnoms

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Allow