สรุปครบ! เลื่อนยื่นภาษี (ทุกแบบ) เลื่อนยื่นงบการเงิน (ที่ต้องรู้) ดูที่บทความนี้

ไม่น่าเชื่อเหมือนกันนะว่า
ปีนี้จะเลื่อนทุกอย่างทั้งงบและภาษี

นักบัญชีท่านหนึ่งว่าไว้

ในปี 2563 หลังจากที่เกิดวิกฤตโควิด19 ก็มีการเปลี่ยนแปลงหลายเรื่องมากมาย โดยหนึ่งในนั้น คือ การเปลี่ยนแปลงการยื่นแบบแสดงรายการภาษีที่ต้องนำส่งให้กับกรมสรรพากร และ งบการเงินที่ต้องนำส่งให้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และทั้งหมดคือที่มาของบทความนี้ ที่จะสรุปทุกประเด็นให้อ่านกันครับ

Advertisements

การเลื่อนยื่นภาษี (กรมสรรพากร)

https://www.facebook.com/TaxBugnoms/posts/4422088134483235
Advertisements

จากข้อมูลในเพจ TAXBugnoms จะเห็นว่ามีแบบแสดงรายการภาษีหลากหลายมากที่มีการเลื่อนระยะเวลาการยื่นแบบแสดงรายการ ซึ่งถ้าหากเราแยกตามประเภทของภาษีออกมา จะมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ครับ

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

กรณีของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะมีเรื่องที่ควรรู้อยู่ 2 เรื่องหลักๆครับ นั่นคือ การขยายระยะเวลาการจ่ายภาษี และ การใช้สิทธิผ่อนชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีมียอดชำระตั้งแต่ 3,000 บาทขึ้นไป

Advertisements
เลื่อนยื่นภาษี
  • กรณียื่นภาษีและชำระ สามารถยื่นแบบกระดาษและแบบอินเตอร์เน็ตได้ภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2563
  • สำหรับการผ่อนชำระภาษีที่มียอดตั้งแต่ 3,000 บาทขึ้นไป สามารถผ่อนได้สูงสุด 3 เดือน โดยงวดที่ 1 ต้องจ่ายภายใน 31 สิงหาคม 2563

ภาษีเงินได้นิติบุคคล

กรณีของภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้น เราจะเข้าใจว่าสามารถยื่นแบบแสดงรายการได้ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2563 (สำหรับแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด. 50/55) และ ถึงวันที่ 30 กันยายน 2563 (สำหรับแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด. 51) แต่จริงๆแล้วมันยังมีข้อมูลเพิ่มเติมอีกเล็กน้อยที่จะทำให้นิติบุคคลได้รับสิทธิ์ นั่นคือ

เลื่อนยื่นภาษีเงินได้นิติบุคคล
Advertisements
  • กรณีแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด. 50/55 กำหนดว่าตัองมีรอบบัญชีสิ้นสุดตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2562 ถึง 31 มีนาคม 2563
  • กรณีแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด. 51 กำหนดว่าต้องมีรอบครึ่งปีสิ้นสุดในช่วงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563 ถึง 31 กรกฏาคม 2563

เหตุผลที่เป็นเช่นนี้ เนื่องจากกรมสรรพากรต้องการขยายให้ผู้ประกอบการที่ครบกำหนดยื่นแบบ ภ.ง.ด. 50 ภายในเดือนเมษายน – สิงหาคม 2563 และแบบ ภ.ง.ด. 51 ภายในเดือนเมษายน – กันยายน 2563 ทั้งหมดในคราวเดียวกันครับ

Advertisements

นอกจากนั้น ยังมีเงื่อนไขเพิ่มเติมให้กลุ่มที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.50 ในช่วง 24 – 31 สิงหาคม 2563 และ ภ.ง.ด. 51 ในช่วง 24 – 31 กันยายน 2563 ได้รับสิทธิขยายเวลายื่นผ่านอินเตอร์เน็ตเป็นกรณีพิเศษไปอีก 8 วันด้วยครับ

ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย

กรณีของภาษีเงินได้หัก ณ ทีจ่ายนั้น ล่าสุดประกาศกระทรวงการคลังมีมติให้เลื่อนให้ในทุกกรณี ไม่ใช่เฉพาะธุรกิจที่ได้รับผลกระทบเท่านั้น และมีการขยายระยะเวลาเพิ่มเติมให้อีก โดยทั้งหมดมีรายละเอียดตามนี้ครับ

สำหรับ เดือนมีนาคม และ เดือนเมษายน สำหรับแบบแสดงรายการภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่เป็นกระดาษสามารถยื่นได้ถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 แต่ถ้าเป็นการยื่นแบบแสดงรายการภาษีผ่านอินเตอร์เน็ต สามารถยื่นได้ถึงวันที่ 1 มิถุนายน 2563

ส่วนเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2563 ถ้าเป็นการยื่นแบบผ่านอินเตอร์เน็ตสามารถยื่นได้ภายในสิ้นเดือนของเดือนถัดไปได้เลยครับ เช่น แบบแสดงรายการภาษีหัก ณ ที่จ่ายเดือนพฤษภาคม สามารถยื่นได้ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ครับ

ภาษีมูลค่าเพิ่ม

กรณีของภาษีมูลค่าเพิ่ม (แบบแสดงรายการ ภ.พ. 30) จะได้รับสิทธิ์ขยายคล้ายกับภาษีหัก ณ ที่จ่ายครับ โดยขยายให้สำหรับเดือนมีนาคมและเมษายน 2563 ตามรูปที่ระบุไว้ เพียงแต่ว่าได้รับขยายวันที่เพิ่มเนื่องจากวันกำหนดยื่นแบบแสดงรายการที่ต่างกัน

โดยกรณียื่นแบบกระดาษสามารถขยายระยะเวลาได้ถึงวันที่ 25 พฤษภาคม 2563 (เนื่องจากวันที่ 23 พฤษภาคมเป็นวันหยุดราชการ) แต่ถ้าเป็นการยื่นแบบแสดงรายการภาษีผ่านอินเตอร์เน็ต สามารถยื่นได้ถึงวันที่ 1 มิถุนายน 2563 เลยครับ

ส่วนกรณีของแบบแสดงรายการ ภ.พ. 36 (กรณีกิจการต่างประเทศต้องมีการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในประเทศไทย) ก็จะได้รับสิทธิเท่ากับกรณีของภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายครับ เนื่องจากวันกำหนดยื่นแบบแสดงรายการเป็นวันเดียวกัน

ส่วนเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2563 ถ้าเป็นการยื่นแบบผ่านอินเตอร์เน็ตสามารถยื่นได้ภายในสิ้นเดือนของเดือนถัดไปได้เลยครับ เช่น แบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มของเดือนพฤษภาคม สามารถยื่นได้ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ครับ

ภาษีธุรกิจเฉพาะ

สำหรับภาษีธุรกิจเฉพาะ จะได้รับสิทธิขยายระยะเช่นเดียวกันกับภาษีมูลค่าเพิ่มครับ (เนื่องจากวันกำหนดยื่นแบบแสดงรายการเป็นวันเดียวกัน) เพียงแต่จะไม่ให้สิทธิกิจการค้าอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นการค้าหรือหากำไรตามมาตรา 91/2(6) ครับ

อากรแสตมป์

เลื่อนยื่นภาษี
  • สำหรับอากรแสดมป์ มีการขยายเฉพาะให้กรณีที่ต้องยื่นชำระเป็นตัวเงินตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน – 15 พฤษภาคม 2563 เท่านั้น
  • โดยการยื่นชำระอากรแสตมป์วันสุดท้าย จะเป็นวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 ครับ

ข้อมูลมาตรการเลื่อนยื่นแบบแสดงรายการภาษีทั้งหมดนั้น ผมใ้ช้ข้อมูลอ้างอิงตามประกาศกระทรวงการคลัง จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่

  • ขยายกำหนดเวลาการยื่นรายการและการชำระภาษีอากรให้แก่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้พึงประเมินประจำปีภาษี พ.ศ. 2562 (ฉบับที่ 2)
  • ขยายกำหนดเวลาการยื่นรายการและการชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 2)
  • ขยายกำหนดเวลาการยื่นรายการ การนำส่งหรือการชำระภาษีอากรให้แก่ผู้มีหน้าที่นำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ผู้มีหน้าที่นำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคล การนำส่งหรือการชาระภาษีมูลค่าเพิ่มการชำระภาษีธุรกิจเฉพาะ และการเสียอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 2)

และนอกจากประกาศทั้ง 3 ฉบับแล้ว ยังใช้ข้อมูลจากกรมสรรพากรเกี่ยวกับการเลื่อนยื่นภาษีล่าสุด (เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2563) สำหรับกรณียื่นผ่านอินเตอร์เน็ต (ยังไม่ประกาศเป็นกฎหมาย) โดยได้แก้ไขข้อมูลเพิ่มเติมเข้าไปในบทความแล้วครับ

แต่อย่างไรก็ดี อย่าลืมนะครับว่า มาตรการตรงนี้ช่วยในการ “ยืดระยะเวลา” การจ่ายเงินออกไป แต่ไม่ได้ “ลดยอด” ภาษีที่ต้องชำระลง ดังนั้นผู้ที่ได้รับสิทธิ์ทั้งหมดนี้ ควรจะมีการเตรียมเงินสำรองไว้สำหรับจ่ายภาษีด้วย ไม่งั้นอาจจะมีปัญหาได้ครับ

หากใครอยากศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมแบบละเอียด สามารถฟังได้ที่ Podcast หัวข้อ สรุปมาตรการเลื่อนยื่นภาษี ด้านล่างนี้ครับ

เลื่อนยื่นงบการเงิน
(กรมพัฒนาธุรกิจการค้า)

https://www.facebook.com/TaxBugnoms/posts/4244904842201566

หลายคนอาจจะสับสนว่า สรุปแล้วกรณีของกรมพัฒนาธุรกิจการค้านั้นเลื่อนส่งงบการเงินหรือไม่ คำตอบ คือ ได้สิทธิเลื่อนเหมือนกันกับแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด. 50 ครับ เพียงแต่กรณีของบริษัทต้องมีการทำตามเงื่อนไขสักเล็กน้อย นั่นคือ การทำหนังสือชี้แจงเหตุผลที่ไม่สามารถดำเนินการประชุมได้ทันเวลาที่กฎหมายกำหนด

จากข้อมูลของฝั่งสรรพากร เราจะเห็นว่า แบบแสดงรายการ ภ.ง.ด. 50 ในรอบบัญชีสิ้นสุดในวันที่กำหนด คือ 2 พฤศจิกายน 62 – 31 มีนาคม 2563 มีประกาศเลื่อนให้ส่งได้ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2563 ในขณะทางที่ฝั่งของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าให้สิทธิห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล มีสิทธิยื่นงบการเงินได้ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2563 แต่ในฝั่งบริษัทต้องมีการทำหนังสือชี้แจงเหตุผลที่ไม่สามารถประชุมได้ เนื่องจากกฎหมายกำหนดไว้ว่า หลังจากที่มีการประชุมแล้ว บริษัทต้องนำส่ง บอจ. 5 ภายใน 14 วัน และต้องนำส่งงบการเงินภายใน 1 เดือน นับแต่วันประชุมสามัญผู้ถือหุ้น

โดยการนำส่งมี 3 วิธี ได้แก่ นำส่งที่กรมพัฒน์ด้วยตัวเอง ส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน และส่งผ่านเวป dbd.go.th (แนะนำนำส่งตามวิธีนี้) ซึ่งสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ผมอ้างอิงทั้งหมดได้ที่ มาตรการรองรับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

ทำไมกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
จึงไม่ยอมขยายเวลานำส่งงบการเงินให้บริษัท

ผมลองวิเคราะห์เหตุผลเรื่องนี้ดู จึงพบว่ามีกฎหมาย 2 ฉบับที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยฉบ้บแรก คือ ประมวลกฎหมายแพ่ง ซึ่งมาตรา 1197 ระบุไว้ว่า งบดุลนั้นต้องจัดให้มีผู้สอบบัญชีคนหนึ่งหรือหลายคนตรวจสอบแล้วนำเสนอเพื่ออนุมัติในที่ประชุมใหญ่ภายในสี่เดือนนับแต่วันที่ลงในงบดุลนั้น หรือพูดแบบสรุปว่า กำหนดให้ประชุมภายใน 4 เดือน หลังจากวันที่ลงในงบดุลฉบับนั้น

ส่วนกฎหมายอีกฉบับ คือ พ.ร.บ. การบัญชี พ.ศ. 2543 ในมาตรา 11 กำหนดไว้ว่า ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีซึ่งเป็นห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย นิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศและกิจการร่วมค้าตามประมวลรัษฎากร ต้องจัดทำงบการเงินและยื่นงบการเงินดังกล่าวต่อสำนักงานกลางบัญชีหรือสำนักงานบัญชีประจำท้องที่ภายในห้าเดือนนับแต่วันปิดบัญชีตามมาตรา 10

สำหรับกรณีของบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยให้ยื่นภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่งบการเงินนั้นได้รับอนุมัติในที่ประชุมใหญ่ ทั้งนี้ เว้นแต่มีเหตุจำเป็นทำให้ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีไม่สามารถจะปฏิบัติตามกำหนดเวลาดังกล่าวได้ อธิบดีอาจพิจารณาสั่งให้ขยายหรือเลื่อนกำหนดเวลาออกไปอีกตามความจำเป็นแก่กรณีได้

หรือพูดแบบสรุปได้ว่า ห้างหุ้นส่วนฯ ให้นำส่งงบการเงินภายใน 5 เดือน หลังจากวันปิดบัญชีที่กำหนดไว้ ส่วนบริษัทจำกัดให้นำส่งงบการเงินภายใน 1 เดือนหลังจากที่ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมใหญ่ แต่ถ้าหากมีเหตุให้ไม่สามารถปฎิบัติได้ ให้อธิบดีพิจารณาสั่งให้ขยายเวลาไปได้

จากกฎหมายทั้งสองฉบับ เราจะเห็นว่า ในส่วนของห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนอธิบดีสามารถใช้อำนาจเลื่อนได้ทันที แต่ในส่วนของบริษัทจำกัดถ้าใช้อำนาจเลื่อนวันที่ส่งงบการเงิน อาจจะทำให้ขัดแย้งกับ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ต้องนำเสนองบการเงินภายใน 4 เดือนต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้น ตามมาตรา 1197 และลำพังอำนาจของอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าคงไม่มีสิทธิแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งได้ (ตามศักดิ์ของกฎหมาย)

ดังนั้น สิ่งที่ทำได้ คือ ให้เลื่อนวันที่ประชุมใหญ่แทนโดยจัดทำหนังสือชี้แจงขึ้นมาว่ามีผลกระทบตามแนวทางในประกาศที่ได้ระบุหลักเกณฑ์ไว้ นั่นคือ เหตุผลว่าทำไมบริษัท ถึงต้องเลื่อนวันประชุมและต้องชี้แจงเป็นหนังสือนั่นเองครับ

สำหรับใครที่ยังงง ๆ เรื่องการยื่นงบการเงิน ผมมีขั้นตอนและรายละเอียดต่าง ๆ ให้อ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความ ยื่นงบการเงิน 2563 : สรุปทุกประเด็นและปัญหาที่ควรรู้ เพื่อให้ทำความเข้าใจเรื่องนีได้ดียิ่งขึ้นครับ

หรือถ้าใครสนใจข้อมูลเพิ่มเติมในรูปแบบวีดีโอคลิป ผมสรุปข้อมูลการนำส่งงบการเงินและแบบแสดงรายภาษีเงินได้ ภ.ง.ด. 50 ทั้งหมดของนิติบุคคลไว้ที่นี่ครับ ลองดูคลิปนี้ได้เลยครับ

บทสรุปเลื่อนยื่นภาษีและงบการเงิน

หลายคนอาจจะรู้สึกว่า กฎหมายในช่วงนี้รวมถึงแนวปฎิบัติต่างๆมีความวุ่นวาย รวมถึงรู้สึกยุ่งยากที่ต้องตามมาอัพเดทหลายต่อหลายครั้ง แต่ในมุมของผมแล้ว ผมมองว่าวิกฤตครั้งนี้เป็นเรื่องใหม่ที่เราทุกคนต้องประสบพบเจอ รวมถึงหน่วยงานของรัฐที่ดูแลเรื่องนี้ด้วย ซึ่งไม่แปลกที่จะเกิดการติดขัด ผลัดเปลี่ยน แก้ไขอยู่บ่อยๆ ประกอบกับความซับซ้อนในการแก้ไขกฎหมายจึงทำให้ทั้งหมดกลายเป็นเรื่องที่ลำบากไม่ใช่น้อย

แต่อย่างไรก็ดี ถ้าเรามองที่ผลลัพธ์ของมัน การที่เรายังได้สิทธิ์เลื่อนยื่นแบบแสดงรายการภาษี และ งบการเงิน ไปได้อีกสักหน่อย พักหายใจให้ความวุ่นวายในช่วงนี้ได้ถูกปลดเปลื้องลงบ้าง และสุดท้ายเรายังทำงานได้ต่อไปแบบไม่ติดขัดปัญหา ก็ถือว่าข้อกฎหมายและแนวทางต่างๆที่ออกมา มีส่วนช่วยบรรเทาได้บ้างไม่มากก็น้อยเหมือนกันครับ

สุดท้ายผมหวังว่า เรื่องราวที่ผมสรุปทั้งหมดนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานด้านบัญชีและภาษีของทุกคนได้บ้าง และเชื่อว่าความรู้เรื่องพวกนี้ยังจำเป็นต้องเรียนรู้อยู่ต่อไป

เพราะหลังจากนี้ไป
ต้องมีเรื่องใหม่ๆเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

TAXBugnoms

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Allow