ในปี 2564 วิกฤตโควิด19 ยังคงอยู่ต่อในประเทศไทยแบบไม่ไปไหน ทำให้ทางภาครัฐมีความจำเป็นที่ต้องออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ สำหรับทางด้านกระทรวงการคลังและกรมสรรพากรเอง ก็ได้ออกมาตรการขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการทางภาษี รวมถึงมาตรการงดหรือลดเบี้ยปรับทางด้านภาษีอากรสำหรับปี 2564 ออกมาอีกหนึ่งฉบับ หลังจากที่เคยออก มาตรการเลื่อนยื่นภาษีในปี 2563 มาแล้ว ซึ่งบทความนี้จะมาสรุปประเด็นสำคัญที่ควรรู้ให้ทุกคนได้อ่านกันครับ
หลักการสำคัญของมาตรการขยายเวลายื่นภาษี
หรือเลื่อนยื่นภาษี 2564 ของกรมสรรพากร
ก่อนอื่นผมขอพูดให้ชัดเจนว่า มาตรการขยายเวลายื่นภาษีทั้งหมดที่ออกมานั้น ไม่ใช่เป็นมาตรการลดภาษี แต่เป็นการเลื่อนเวลาในการยื่นแบบแสดงรายการภาษี และให้เฉพาะกรณีที่ยื่นแบบผ่านอินเตอร์เน็ตเท่านั้น (กรณียื่นแบบกระดาษจะไม่ได้รับสิทธิ์ขยายเวลา)
แต่อย่างไรก็ดี มาตรการเลื่อนยื่นภาษีปี 2564 นั้น มีการงดและลดเบี้ยปรับ รวมถึงค่าปรับอาญาให้เป็นบางกรณีครับ และนั่นย่อมแปลว่าผู้เสียภาษีอย่างเราทุกคนต้องเตรียมตัวไว้ก็คือ “การบริหารจัดการเงิน” เพื่อจ่ายภาษีที่ต้องจ่ายในอนาคตอยู่ดีครับ
โดยมาตรการทั้งหมดนี้ ผมสรุปจาก แถลงข่าวกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 165/2564 ลงวันที่ 24 สิงหาคม 2564 ซึ่งจากแถลงข่าวฉบับนี้ มีมาตรการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ โดยแบ่งออกเป็น 4 ประเด็นที่สำคัญได้ดังนี้ครับ
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี 2564
กรณีของ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี มีเรื่องที่ควรรู้ 2 เรื่องหลักๆ ได้แก่ การขยายระยะเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษี (ทางอินเตอร์เน็ต) ไปจนถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2564 และการใช้สิทธิผ่อนชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีมียอดชำระตั้งแต่ 3,000 บาทขึ้นไป ซึ่งการขยายระยะเวลาแบบนี้ คาดว่าจะมีผลทำให้ผู้เสียภาษีสามารถผ่อนชำระได้ในช่วงเดือน ธันวาคม 2564 – กุมภาพันธ์ 2565 ครับ

โดยในปี 2564 นี้ ระบบการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี 2564 ของกรมสรรพากรมีการเปลี่ยนแปลงใหม่ ซึ่งสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมของระบบนี้ได้ที่ อัพเดท! วิธียื่น ภ.ง.ด. 94 ปี 2564 (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี) ผ่านอินเตอร์ด้วยตัวเอง หรือดูคลิปสอนยื่นภาษีด้านล่างนี้ได้เลยครับ
ภาษีเงินได้นิติบุคคลปี 2563 และภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปี 2564
สำหรับแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด. 50) สำหรับรอบบัญชีปี 2563 และ แบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปี (ภ.ง.ด. 51) สำหรับรอบบัญชีปี 2564 ที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีภายในวันที่ 3 สิงหาคม ถึงวันที่ 22 กันยายน 2564 จะได้รับสิทธิ์ขยายระยะเวลายื่นแบบจนถึงวันที่ 23 กันยายน 2564 ครับ

เพื่อความเข้าใจที่ง่ายขึ้น ผมอยากให้มองย้อนกลับไปจากคำว่า “สำหรับที่ต้องยื่นแบบภายในวันที่ 3 สิงหาคม ถึงวันที่ 22 กันยายน 2564” ไปเป็นวันที่สิ้นสุดของรอบระยะเวลาบัญชีแทนครับ โดยอาศัยหลักการดังต่อไปนี้
- แบบแสดงรายการ ภ.ง.ด. 50 ปี 2563 จะต้องยื่นภายใน 158 วัน โดยนับจากวันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี (150 วันกระดาษ + 8 วันยื่นผ่านอินเตอร์เน็ต)
- แบบแสดงรายการ ภ.ง.ด. 51 ปี 2564 จะต้องยื่นภายใน 2 เดือน + 8 วัน โดยนับจากวันครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี (2 เดือน + 8 วันยื่นผ่านอินเตอร์เน็ต)
ซึ่งถ้าหากเรานับแบบนี้ได้แล้ว เราจะได้รอบระยะเวลาบัญชีที่สิ้นสุดภายในวันที่ดังต่อไปนี้ครับ

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าหากรอบระยะเวลาบัญชีปี 2563 ของเราสิ้นสุด 31 มีนาคม 2564 (1 เมษายน 2563 – 31 มีนาคม 2564) กรณีนี้แปลว่าจะได้ขยายเวลายื่น ภ.ง.ด. 50 รอบดังกล่าวไปถึงวันที่ 23 กันยายน 2564 ครับ
หรือหากว่ารอบระยะเวลาบัญชีของธุรกิจเรา คือ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคมของทุกปี แบบนี้แปลว่า เราจะต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด 51 ภายในวันที่ 8 กันยายน 2564 กรณีนี้ก็จะได้รับสิทธิ์ขยายเวลาได้จนถึงวันที่ 23 กันยายน 2564 เช่นกันครับ
สำหรับคนที่สนใจวิธีการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปี และ การยื่นแบบ ภ.ง.ด. 51 ผ่านอินเตอร์เน็ตสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากคลิปสอนการคำนวณและยื่นภาษีด้านล่างนี้ครับ
ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ภาษีมูลค่าเพิ่มและ ภาษีธุรกิจเฉพาะ
กรณีของ ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ภาษีมูลค่าเพิ่ม และ ภาษีธุรกิจเฉพาะนั้น จะได้รับสิทธิ์ขยายเวลาสำหรับเดือนภาษีสิงหาคม – พฤศจิกายน ปี 2564 สำหรับการยื่นแบบผ่านอินเตอร์เน็ตให้เป็นภายในวันทำการสุดท้ายของเดือนถัดไปครับ
เพื่อความเข้าใจที่ง่ายขึ้น ผมขออนุญาตสรุปวันสุดท้ายของการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (ภ.ง.ด. 1/2/3/53/54) แบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30/36) และ แบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะ (ภ.ธ.40) สำหรับเดือนภาษีแต่ละเดือนไว้ดังนี้ครับ
- เดือนภาษีสิงหาคม 2564 ให้ยื่นแบบแสดงรายการภายในวันที่ 30 กันยายน 2564
- เดือนภาษีกันยายน 2564 ให้ยื่นแบบแสดงรายการภายในวันที่ 29 ตุลาคม 2564
- เดือนภาษีตุลาคม 2564 ให้ยื่นแบบแสดงรายการภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564
- เดือนภาษีพฤศจิกายน 2564 ให้ยื่นแบบแสดงรายการภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2564
กรณีลดหรืองดเบี้ยปรับ และค่าปรับอาญา
สำหรับแบบแสดงรายการภาษีที่ต้องยื่นภายในเดือนกันยายน – ธันวาคม 2564 หากไม่สามารถยื่นแบบได้ภายในเวลาที่กำหนด หรือยื่นภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดแล้ว แต่เกิดยื่นแบบไว้ผิดพลาด จะได้รับสิทธิ์งด หรือลด เบี้ยปรับ รวมถึงค่าปรับอาญา ในกรณีที่ยื่นแบบภายใน 3 เดือนหลังจากที่พ้นกำหนดเวลาเท่านั้นครับ

โดยสิทธิ์ที่ได้รับจะแยกออกมาตามแต่ละกรณีดังนี้ครับ
- งดเบี้ยปรับ กรณีชำระภาษีเต็มจำนวน
- ลดเบี้ยปรับ ในอัตราต่ำสุดเหลือ 2% เมื่อชำระภาษีไม่ต่ำกว่า 25%
- ลดค่าปรับอาญา ในกรณีที่ไม่เกิน 2,000 บาท ลดเหลือ 1 บาท และในกรณีไม่เกิน 5,000 บาท ลดเหลือ 2 บาท
สิ่งที่ต้องระวังในกรณีนี้ คือ ไม่มีการลด “เงินเพิ่ม” ให้นะครับ ดังนั้นยังต้องมีการเสียเงินเพิ่มในอัตรา 1.5% ต่อเดือนอยู่ดีครับ
และทั้งหมดนี้ คือ สรุปข้อมูลการเลื่อนยื่นภาษี 2564 ตามมาตรการช่วยเหลือของกระทรวงการคลังและกรมสรรพากรที่ผมสรุปมาทั้งหมดครับ โดยหวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการจัดการภาษีและวางแผนกระแสเงินสดไม่มากก็น้อยครับ
และถ้าหากใครอยากรับฟังข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้ สามารถดูคลิปด้านล่างนี้เพิ่มเติมได้เลยครับ
สรุป
ก่อนที่มาตรการขยายระยะเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษีจากภาครัฐทั้งหมดนี้จะออกมา ผมเคยตัดสินใจโพสความคิดเห็นที่มีต่อเรื่องนี้ของผมไว้ในแฟนเพจ TAXBugnoms ว่า
เมื่อสถานการณ์มาถึงจุดนี้ นโยบายภาษีที่ควรออกอย่างเร่งด่วน อาจจะไม่ใช่แค่การ "เลื่อน" เสียภาษีครับ ผมมองว่าสิ่งที่เป็นปัญหาที่สุดสำหรับผู้ประกอบการหรือคนที่ไม่เสียภาษี คือ ค่าปรับ เบี้ยปรับ และ เงินเพิ่ม (ดอกเบี้ย) ซึ่งเป็นตัวที่ทำให้ประชาชนต้องเสียเงินมากขึ้น ดังนั้น การ "งด" คิดค่าปรับ เบี้ยปรับ เงินเพิ่ม ภายในช่วงระยะเวลาหนึ่ง น่าจะช่วยผู้เสียภาษี ได้มากกว่าการขยายเวลายื่นแบบเพียงอย่างเดียว (ป.ล. ไม่ได้บอกว่าไม่ต้องขยายนะครับแต่คิดว่าแค่ขยายเวลาอาจจะไม่พออีกต่อไป) เหตุผลที่ออกมาพูดแบบนี้ เพราะว่า ผมได้ข่าวนักบัญชีติดโควิด สำนักงานปิด ผู้ประกอบการโดนปิดกิจการ ขาดสภาพคล่อง เงินเยียวยาที่ขอยังไม่ได้รับ ต้องรออีกสักพัก ฯลฯ และที่พูดมาไม่ใช่เพิ่งได้ยินได้ฟังมาแค่ตอนนี้ แต่มันมีผลกระทบต่อเนื่องมาสักพักแล้วครับ นอกจากนั้น การคืนภาษีให้ไวขึ้นเพื่อสร้างสภาพคล่องก็เป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างจำเป็นและเร่งด่วนครับ อย่างไรก็ดี ข้อความตรงนี้ ไม่ใช่ต้องการส่งไปให้กรมสรรพากรนะครับ เพราะการกำหนดกฎหมายที่ผมเสนอมานี้ ลำพังอำนาจของกรมคงจะไม่เพียงพอครับ จึงขอส่งข้อความถึงรัฐบาลและผู้มีอำนาจทุกท่าน ให้พิจารณานโยบายภาษีในมุมนี้ด้วยนะครับ เพราะประชาชนหลายคนรอพวกท่านอยู่ครับ
สุดท้ายนี้ ในฐานะคนที่ทำงานอัพเดทข่าวสารภาษี ให้ความรู้เรื่องภาษี มักจะมีหลายคนมาถามว่า คิดเห็นยังไงกับมาตรการทั้งหมดที่ออกมานี้ ช่วยได้หรือเปล่า ช่วยได้มากแค่ไหน คำตอบของผมมักจะเป็น ไม่ว่าจะเป็นยังไงก็ตาม สิทธิ์ประโยชน์ที่รัฐให้มา หากมีโอกาสใช้ ควรเลือกใช้ให้คุ้มค่ามากที่สุด
เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่เราทำได้ดีที่สุด ณ ตอนนี้ครับ
TAXBugnoms