หลังจากใช้ชีวิตมนุษย์เงินเดือนมา 15 ปี มีอะไรที่อยากแนะนำบ้าง?

ชีวิตมนุษย์เงินเดือน การเงิน ภาษี ชีวิต

จบกันซะที ชีวิตมนุษย์เงินเดือน

ผมในวัย 35 ปี บอกกับตัวเองแบบนั้น


ผมตัดสินใจลาออกจากชีวิตมนุษย์เงินเดือนตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2561 มาเป็นฟรีแลนซ์เต็มตัวจนถึงทุกวันนี้ พอมานั่งนึกดูก็ใจหายเหมือนกัน เนื่องจากใช้ชีวิตเป็นมนุษย์เงินเดือนมานานกว่า 15 ปี และได้คลุกคลีในทุกภาคส่วน ตั้งแต่เอกชน ไปจนถึงการเป็นข้าราชการ

Advertisements

บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อตั้งใจเล่ามุมมองการเป็นมนุษย์เงินเดือนของตัวเอง พร้อมกับแนะนำเรื่องของการจัดการการเงิน ภาษี และการตัดสินใจลาออกจากงาน ตั้งแต่เริ่มต้นจนจบ โดยมีความหวังลึก ๆ ว่าจะเป็นประโยชน์ต่อคนที่เป็นมนุษย์เงินเดือนทุกคน โดยเฉพาะ First Jobber ที่ได้อ่านบทความนี้

สำหรับคนที่ไม่มีเวลา สามารถเลือกอ่านเฉพาะหัวข้อที่สนใจได้เลยครับ

โดยอันดับแรกเลย ผมอยากเริ่มต้นแชร์คำแนะนำตั้งแต่จุดเริ่มต้นชีวิตการทำงานให้ฟังกันครับ ว่าเราควรเริ่มต้นจัดการการเงินอย่างไร ?

Advertisements


เริ่มต้นชีวิตมนุษย์เงินเดือน
ควรจัดการการเงินอย่างไร ?


ถ้าหากคุณเป็นคนที่เพิ่งเริ่มต้นชีวิตมนุษย์เงินเดือนใหม่ ๆ หรือทำงานมาไม่เกิน 2-3 ปี ผมมีคำแนะนำว่า คุณควรทำตามขั้นตอนต่อไปนี้ครับ

ตรวจสอบภาระชีวิตของตัวเองให้ชัดเจน

คงปฎิเสธความจริงไม่ได้ว่าแต่ละคนมีต้นทุนชีวิตไม่เท่ากัน บางคนอาจจะต้องใช้ความพยายามหรือดิ้นรนมากกว่าคนอื่น ในขณะที่บางคนแทบจะไม่ต้องดิ้นรนอะไรเลย ถ้าหากคุณพบว่าตัวเองมีภาระชีวิตมากกว่าคนอื่นเขา มันจึงจำเป็นที่เราต้องรีบจัดการให้เรียบร้อยตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะคนเราทุกคนมันจะมีภาระชีวิตเพิ่มเติมมาเรื่อย ๆ

คำว่า “ภาระชีวิต” ที่ผมว่านี้ หมายถึงภาระทั้งทางด้านเวลา (ที่ต้องดูแล) รวมถึง ภาระทางด้านการเงิน (ที่ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ) ซึ่งผมสามารถแนะนำให้ได้เฉพาะประสบการณ์ด้านการเงินเท่านั้น และการทำมันออกมาให้เห็นเป็นตัวเลขที่ชัดเจนที่สุดคือ “การทำบัญชีรายรับรายจ่าย”

Advertisements

เพราะการมีข้อมูลเหล่านี้ จะทำให้คุณรู้เบื้องต้นด้วยว่า ภาระที่เรามีนั้นอันไหนเป็นภาระจริง ๆ และ อันไหนเป็นสิ่งที่เราจัดการลดมันได้ เพื่อที่จะกำหนดในขั้นต่อไปได้ว่าคุณจะต้องมีรายได้เท่าไรเพื่อให้อยู่รอด และควรสำรองไว้เท่าไรเพื่อให้การเงินของคุณไม่ติดขัด

เก็บเงินให้ได้มากที่สุด

ถึงแม้คำพูดนี้ ดูเหมือนว่าจะทำได้ยากในสถานการณ์ตอนนี้ แต่ก็ต้องบอกกันตรง ๆ ว่าในช่วงเริ่มต้นชีวิตการทำงานเป็น First Jobber นั้น ควรจะเป็นช่วงเวลาที่คุณเก็บเงินได้มากที่สุด เพราะหลังจากนั้นภาระในชีวิตที่เพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ อาจจะทำให้คุณเก็บเงินได้ยากขึ้นอีกครับ

หลายคนอาจจะแย้งขึ้นมาว่า “เฮ้ย ตอนนี้ชั้นรายได้น้อยนะเว้ย จะให้เก็บอะไรอีกวะ” ใช่ครับ ถึงแม้ว่าตอนนี้รายได้คุณจะน้อยอยู่ก็ตาม แต่ช่วงนี้ก็น่าจะเป็นช่วงที่คุณมีภาระค่าใช้จ่ายน้อยที่สุดเช่นเดียวกัน (แม้ว่าอาจจะไม่เป็นแบบนั้นในทุกคน แต่ส่วนใหญ่มักจะเป็นแบบนั้น)

ถ้าหากคุณสามารถ ประหยัดค่าใช้จ่าย ในตอนแรกของการทำงานได้มากแค่ไหน คุณจะมีชีวิตที่ง่ายขึ้นเท่านั้น และมันส่งผลต่อการสร้างวินัยของตัวคุณในอนาคตด้วย

ตอนที่ผมเริ่มทำงานใหม่ๆ มีรุ่นพี่คนหนึ่งแนะนำผมว่า มนุษย์เรามักจะมีพฤติกรรมใช้จ่ายเพิ่มขึ้นตามรายได้ที่เพิ่มขึ้น ทำให้เราต้องรู้จักกำหนดงบประมาณและวางแผนใช้จ่ายไว้ตั้งแต่แรก

สมมติว่า ถ้าคุณเริ่มต้นทำงานมีเงินเดือน 15,000 บาท โดยที่คุณมีค่าใช้จ่าย 12,000 บาท ในวันที่รายได้คุณเพิ่มขึ้นเป็น 50,000 บาท คุณจะสามารถขยับรายจ่ายเพิ่มขึ้นจาก 12,000 บาทเป็น 40,000 บาทได้โดยไม่ยาก (เผลอๆมากกว่านั้นอีก) ดังนั้นการรักษาสัดส่วนการออมเงินในตอนแรกที่เริ่มทำงานถึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก

ตอนแรกผมฟังก็ไม่รู้สึกว่ามันน่าเชื่อสักเท่าไร แต่หลังจากทำงานมาสิบกว่าปี ทฤษฏีที่ดูเหมือนบ้า ๆ บอ ๆ นี้เป็นความจริงข้อหนึ่งที่ผมเองก็ต้องยอมรับ และมันอาจจะเกิดกับคุณก็ได้เหมือนกันครับ

ถ้าสมมติคุณเริ่มเชื่อในสิ่งที่ผมแนะนำ
คำถามที่คุณกำลังสงสัยน่าจะเป็น แล้วเราควรเก็บเงินแบบไหนยังไงดี?

ผมขอแนะนำต่อว่า ขอให้คุณเริ่มเก็บเงินก้อนแรกของชีวิต นั่นคือ เงินฉุกเฉิน หรือ เงินสำรอง โดยคิดเป็นเงินประมาณ 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน เช่น ถ้าคุณใช้จ่ายเดือนละ 10,000 บาท คุณควรจะมีเงินสำรองฉุกเฉินก้อนนี้ไว้ประมาณ 60,000 บาทเพื่อสะสมไว้ โดยไม่ต้องนำไปลงทุนอะไรใด ๆ ทิ้งไว้เฉย ๆ ในบัญชีธนาคารสักที่ที่พร้อมเบิกมาใช้หากเกิดเรื่องฉุกเฉินในชีวิตคุณขึ้นมาจริง ๆ

การเก็บเงินฉุกเฉินในตอนนี้จะเป็นการสร้างพื้นฐานในการออมและวินัยการเงินของคุณ เพื่อสร้างเกราะกำบังภัย 2-3 ชั้นไว้ล่วงหน้า ทั้งเรื่องการมีวินัย ใส่ใจตัวเองครับ

และถ้าตอนนี้คุณเริ่มสนใจศึกษาการลงทุน คุณสามารถแบ่งเงินก้อนเล็กๆ ไปลองทดสอบได้ (สัก 10-20% ของเงินเก็บ) หรือก็ใช้วิธีศึกษาหาความรู้ไปก่อนได้เหมือนกันครับ

อย่างไรก็ดี คำแนะนำในส่วนนี้ผมขอให้ข้อสังเกตเพิ่มเติมไว้อีก 2 ประเด็น นั่นคือ

  • คุณอาจจะต้องเก็บเงินฉุกเฉินไว้มากกว่านั้น หากเกิดสถานการณ์ที่ไม่ปกติ อย่างเช่น สถานการณ์โรคระบาดที่เกิดขึ้นในปี 2563 – 2564 หรือถ้าหากคุณมีภาระที่ต้องรับผิดชอบที่มองว่าพลาดไม่ได้เลย
  • คุณอาจจะกล้าลงทุนในสัดส่วนมากกว่านี้ก็ได้ ในกรณีที่คุณมีความรู้เรื่องการลงทุนในระดับที่ดีกว่าคนอื่น และประเมินตัวเองได้ชัดเจนว่า ไม่จำเป็นต้องมีเงินสำรองมากนัก จากความมั่นคงในการทำงาน หรือ ภาระที่ตัวเองต้องดูแล

นอกจากนั้น ถ้าหากคุณมีเวลาเหลือจากการทำงาน ควรแบ่งหาทางสร้างประสบการณ์ในช่วงนี้เพื่อสร้างโอกาสให้มีรายได้มากขึ้น เช่น หางานเสริม เพิ่มเติมความรู้ หรือ สร้างโอกาสด้านอื่น ๆ เพื่อสร้างประสบการณ์ในการทำงาน เพราะตอนนี้เป็นช่วงที่ร่างกายยังพร้อมและไหว และตัวคุณในอนาคตจะนึกขอบคุณตัวเองที่ตั้งใจทำเรื่องเหล่านี้อย่างแน่นอนครับ

อย่าลืมจัดการเรื่องภาษี

หลังจากผ่านเรื่องการจัดการการเงินเบื้องต้นไปแล้ว ผมอยากแนะนำให้จัดการเรื่องของภาษี ในฐานะที่ทำงานเรื่องนี้ผ่านแฟนเพจ TAXBugnoms มาเป็นเวลามากกว่าสิบปี ผมจึงมองว่าชีวิตมนุษย์เงินเดือนควรจัดการเรื่องภาษีต่าง ๆ เหล่านี้ได้ด้วยตัวเองตั้งแต่วันแรก ๆ ที่เริ่มต้นทำงาน นั่นคือ การยื่นภาษีให้เป็นทันทีที่ทำงานในปีแรก

เพราะกฎหมายกำหนดให้มนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้เกิน 120,000 บาทต่อปีจะต้องยื่นภาษี แม้ว่าจะไม่เสียภาษีก็ตาม และการรีบยื่นภาษีให้เป็น ทำความเข้าใจเรื่องภาษีในตอนนี้ จะช่วยให้เราเข้าใจเรื่องภาษีได้ดียิ่งขึ้น เพราะมันคือการทดลองทำ โดยที่เรายังไม่ต้องเสียเงินแต่อย่างใด

สามารถอ่านเพิ่มเติมเรื่องนี้ได้ที่บทความ วิธียื่นภาษีมนุษย์เงินเดือน : 3 ข้อควรรู้ และ 10 ขั้นตอนที่ต้องทำ และบทความเรื่อง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือสามารถศึกษาจากคลิปสอนยื่นภาษีด้านล่างนี้ก็ได้ครับ

Advertisements

อย่างน้อยที่สุดการยื่นภาษีด้วยตัวเองจะทำให้คุณเข้าใจความจริงว่า การเป็นมนุษย์เงินเดือนนั้นสามารถหักค่าใช้จ่ายได้สูงสุดเพียงแค่ 100,000 บาท (หลักการของกฎหมายเขียนไว้ 50% ของรายได้แต่สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท ซึ่งนั่นแปลว่าคุณต้องมองเห็นอนาคตข้างหน้าว่า คุณจะต้องเก็บเงินเพื่อวางแผนลดหย่อนภาษีให้เสียน้อยที่สุด ถ้าหากคุณจะใช้ชีวิตเป็นมนุษย์เงินเดือนต่อไป

วางแผนเก็บเงินเพื่อการเกษียณ

หลายคนเมื่อเก็บเงินฉุกเฉินได้ จัดการภาษีเป็น ก็มักจะมีคำถามต่อว่า แล้วเราจะเก็บเงินแบบไหนยังไงดี แบบไหนที่มีผลตอบแทนดี ๆ ทำให้เราสามารถมีชีวิตที่ดีขึ้นได้ เริ่มต้นลงทุนดีไหม กองทุนไหนดี หุ้นตัวไหนโดน คริปโต อสังหาฯ ทองคำ ฯลฯ

โดยส่วนตัวแล้วผมอยากให้เริ่มจากวิธีที่ง่ายที่สุดในการสร้างวินัยและเป็นการเก็บเงินเพื่อเป้าหมายอย่างการเกษียณ นั่นคือ การใช้สวัสดิการที่นายจ้างมีให้อย่างกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) ซึ่งถ้าหากนายจ้างของคุณมีกองทุนนี้ให้กับพนักงาน ผมอยากให้ลองเช็คข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้ดูครับ

  • ตอนนี้ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ที่เราสะสมในทุกๆเดือนๆ มันลงทุนในสินทรัพย์อะไร ประเภทไหนบ้าง? และมีแผนการลงทุน (Employee ‘s choice) แบบไหนให้เราเลือกลงทุนได้บ้าง
  • ทุกวันนี้ที่เราสะสมเข้ากองทุนที่ว่านี้ เราสะสมในอัตรากี่ % และที่ทำงานเราสมทบให้กี่ % ตามเงื่อนไขแบบไหนยังไงบ้าง?

ตรงนี้มันจะเป็นการบอกเบื้องต้นว่า คุณใส่ใจกับการเงินของตัวเองมากแค่ไหน? เพราะการตอบคำถามพวกนี้ได้นั้น มันจะบอกว่าเราได้เลือกประเภทการลงทุนในสินทรัพย์ที่เหมาะสมกับการเก็บเงินเพื่อการเกษียณแล้วหรือยัง

นอกจากนั้นมันยังมีทั้งเรื่องความเสี่ยงและผลตอบแทนที่ต้องการ ประกอบกับรู้ไปถึงเรื่อง % ในการสมทบเงินของนายจ้างนั้น มันเพิ่มขึ้นตาม % การสมทบของเราบ้างหรือเปล่า (หรือเพิ่มเติมตามอายุการทำงานก็ยังดี) เพื่อที่เราจะได้วางแผนจัดการการเงินต่อไปได้ง่ายขึ้นครับ

นอกจากนั้น ข้อดีของการเก็บเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น มันยังมีประโยชน์มากกว่าการเก็บเงินเกษียณเพียงอย่างเดียว เนื่องจาก

  • ถ้านายจ้างเราสมทบให้เยอะขึ้นตามอายุการทำงาน หรือ % การสะสมของเรา มันแปลว่าเราได้ผลตอบแทนจากการเก็บเงินก้อนนี้มาฟรีๆ โดยไม่ต้องลงทุนเพิ่ม
  • ถ้าเราเลือกแผนการลงทุนด้วยตัวเองได้ ในกลุ่มความเสี่ยงที่เหมาะสม กับผลตอบแทนที่ต้องการ เราย่อมมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นแบบทบต้นไปด้วย
  • ถ้าเราต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา การสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ยังให้สิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีอีกทางหนึ่ง

ถ้าใครที่ตอบคำถามได้ถึงตรงนี้ และเข้าใจในเหตุผลในการตัดสินใจลงทุนของตัวเอง ผมคิดว่านี่คือประโยชน์สูงสุดของการจัดการการเงินในช่วงแรกของชีวิตมนุษย์เงินเดือนครับ และการเริ่มต้นตรงนี้จะเป็นประโยชน์มากๆ ในการจัดการชีวิตในขั้นตอนต่อๆไปของคุณครับ

จากประสบการณ์ส่วนตัว ผมเริ่มต้นการทำขั้นตอนต่าง ๆ ที่แนะนำนี้ช้ามาก กว่าจะเริ่มต้นทำเรื่องพวกนี้ก็อยู่ในช่วงอายุ 20 ปลาย ๆ แล้วครับ ดังนั้นถ้าใครเริ่มได้ไวและสะสมไหว ขอให้เริ่มเลยนะครับ เพราะเมื่อเวลาผ่านไปและทุกอย่างเข้าที่ คุณจะได้ระบบการเก็บเงินเกษียณอัตโนมัติที่ดีมากๆ ระบบหนึ่งขึ้นมา นั่นคือ

  • คุณลงทุนโดยเลือกประเภททรัพย์สินได้เอง (เพิ่มผลตอบแทน) ทำให้เงินที่ลงไปนั้นมีโอกาสเติบโตงอกเงยไวขึ้น เหมาะสมกับความเสี่ยงและเป้าหมายที่ต้องการ
  • การเพิ่ม % เงินสะสมในแต่ละเดือน (เพิ่มจำนวนเงิน) ทำให้เงินที่เอาไปลงทุนมีจำนวนที่มากขึ้น และเติบโตขึ้นตามจำนวนเงินเดือนที่เพิ่มขึ้นของคุณ รวมถึงยังเป็นการสร้างวินัยให้กับตัวเองด้วย
  • นายจ้างสมทบให้เพิ่มขึ้นด้วย (เพิ่มเงินเข้าไปอีก) ทำให้ได้รับสิทธิ์ประโยชน์ฟรี ๆ จากสวัสดิการตรงนี้ และเงินก้อนนี้ถ้าลงทุนถูกที่ตามประเภทสินทรัพย์ ผลตอบแทนก็ยิ่งเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
  • ได้สิทธิลดหย่อนภาษีเพิ่มขึ้น (ลดค่าใช้จ่ายภาษี) ทำให้มีกระแสเงินสดเพิ่มขึ้นในแต่ละปีอีกด้วย

หมายเหตุ : สำหรับคนที่ไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ กองทุนที่นายจ้างมีให้ไม่ตอบโจทย์ อาจจะเลือกใช้กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เพื่อสะสมเงินเกษียณแทนได้เหมือนกันครับ แต่ข้อเสียก็คือ มันจะเป็นการสะสมเงินของเราคนเดียว โดยที่นายจ้างไม่ได้สมทบให้ครับ

RMF ทางเลือกวางแผนเกษียณอีกทางหนึ่ง สำหรับชีวิตมนุษย์เงินเดือน

บางคนอาจจะแย้งว่า แต่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพพวกนี้เป็นการเก็บเงินเพื่อการเกษียณเท่านั้นนี่ และคุณไม่อยากเก็บเงินมากขนาดนั้น ขอไปเก็บเงินหรือลงทุนในส่วนอื่นมากขึ้นแทนไม่ได้เหรอ เผื่ออยากใช้ก็จะได้เอามาใช้ได้ หรืออาจจะได้ผลตอบแทนที่มากกว่าก็ได้นะ

คำตอบ คือ คุณต้องรู้ว่าเป้าหมายการเงินของคุณคืออะไรครับ ซึ่งถ้าหากเป้าหมายของคุณชัดเจนว่าต้องการอะไร และเลือกสินทรัพย์ลงทุนได้เหมาะสมด้วยตัวเอง ก็สามารถเลือกตามความเหมาะสมของชีวิตได้เลยครับ เพราะสิ่งที่ผมแนะนำนั้น มันเป็นพื้นฐานง่ายๆ สำหรับมนุษย์เงินเดือนที่อยากเริ่มต้นศึกษาเรื่องการเงินในช่วงแรกเท่านั้นครับ

เพราะในชีวิตต่อจากนี้ คุณต้องมีการลงทุนที่เพิ่มขึ้นตามเป้าหมายที่หลากหลาย เช่น ดาวน์บ้าน ซื้อรถ แต่งงาน มีครอบครัว ฯลฯ รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงต่าง ๆ อย่าง ประกันชีวิตหรือประกันสุขภาพ และเป้าหมายอื่น ๆ อีกมากมายครับ ดังนั้นตรงนี้มันเป็นจุดเริ่มต้นเท่านั้นครับ

ถ้าหากคุณทำได้ถึงตรงนี้ เท่ากับได้ผ่านพื้นฐานการจัดการเงินพื้นฐานสำหรับชีวิตมนุษย์เงินเดือนแล้วล่ะครับ ซึ่งคุณจะมีเงินอยู่ 2 ก้อนให้อุ่นใจ นั่นคือ เงินฉุกเฉินไว้ใช้ยามเกิดเหตุจำเป็น และ เงินอีกก้อนหนึ่งที่เตรียมรอไว้สำหรับเกษียณ (บางส่วน) หลังจากนั้นก็ขึ้นกับความสามารถในการจัดการเงินส่วนอื่น ๆ ของคุณแล้วล่ะครับ

โดยปกติแล้ว สิ่งที่คุณทำทั้งหมดนี้มันน่าจะทำให้คุณเห็นผลในประมาณ 3-5 ปีต่อจากนี้ และมันอาจจะเป็นช่วงเวลาพอดีที่คุณเริ่มอิ่มตัวกับงานเก่าที่ทำอยู่ จนคิดอยากจะเปลี่ยนงานใหม่ขึ้นมา

คำถามในจุดนี้อาจจะเป็นว่า
เราควรจะลาออกดีไหม ? แล้วเราจะไปทำอะไรดีนะ ?

เราควรลาออกเมื่อไรดี ?
สิ่งที่ต้องคิดมีอะไรบ้าง ?

หลังจากที่เราคุยเรื่องการเงินพื้นฐานสำหรับชีวิตมนุษย์เงินเดือน ไปเรียบร้อยแล้ว ส่วนนี้ผมจะพูดถึงเรื่องการลาออกบ้างครับ ว่าเมื่อไรเราควรจะลาออกจากงาน และควรจัดการเรื่องเงินอย่างไรเมื่อตัดสินใจลาออก

สำหรับคำถามว่า เมื่อไรที่เราควรจะตัดสินใจลาออก ผมขอแชร์แนวคิดส่วนตัวจากประสบการณ์ที่ผ่านมาให้ลองนำไปพิจารณากันครับ

อย่าลาออกเพราะต้องการ “หนีปัญหา”

ผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับลาออกเพื่อหนีปัญหาต่างๆ เช่น งานหนัก ชีวิตติดขัด หรือมีปัจจัยอื่นๆ ที่เราคิดว่าเป็นปัญหาจากการทำงานในทุกวันนี้ เพราะความเป็นจริงแล้ว เมื่อชีวิตเรามีปัญหา เราควรหาสาเหตุของปัญหาที่แท้จริง และพยายามแก้ปัญหานั้นให้ได้ก่อน

อย่างไรก็ตาม แนวคิดข้อนี้มีข้อยกเว้นตรงที่ว่า บางทีแล้วปัญหาในการทำงานนั้นคือตัวเราเอง ซึ่งถ้าหากเป็นแบบนี้ การลาออกคือทางที่ถูกแล้วครับ (เพราะไม่งั้นเขาอาจจะให้เราออกแทน)

หาหนทางไปให้ชัดก่อนจะตัดสินใจลาออก

ผมเชื่อว่าการตัดสินใจลาออกที่ดี ต้องมี “หนทาง” ที่เตรียมพร้อมไว้ล่วงหน้า “ระดับหนึ่ง” ไม่ว่าจะเป็นงานใหม่ที่ได้ ธุรกิจที่เริ่มสร้างมาสักระยะหนึ่ง หรือแม้แต่การจัดสรรเวลาชีวิตไว้ล่วงหน้าว่า “ลาออกแล้วจะมาทำอะไร” เพราะถ้าหากไม่มีเส้นทางอะไรเลย การลาออกครั้งนั้นอาจจะเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดที่สุดในชีวิตก็ได้ครับ

คำว่า “หนทาง” ที่ว่านี้มันจะชัดเจนหรือไม่ อยู่ที่ประสบการณ์ของคุณที่ผ่านมาครับว่า คุณมีการสะสมความสามารถในการทำงานไว้แค่ไหน คุณพัฒนาตัวเองไปในทิศทางไหนบ้าง ซึ่งมันจะเพิ่มความมั่นใจในการตัดสินใจลาออกของคุณได้อีกทางหนึ่งครับ

อย่าลอกความสำเร็จของคนอื่น

หลายครั้งเรามักเห็นเพื่อนร่วมงานที่ตัดสินใจลาออกเขามีชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งงานใหม่ที่ก้าวหน้า การใช้ชีวิตอิสระ ธุรกิจในฝัน ฯลฯ ซึ่งตรงนี้จะทำให้คุณอาจเผลอตัดสินใจแบบเข้าข้างตัวเองว่า สักวันหนึ่งเราก็ต้องเป็นแบบนั้นเหมือนกันนั่นแหละ

แต่ความจริงแล้วเรื่องพวกนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกันแม้แต่น้อยครับ เพราะคนแต่ละคนมีเส้นทางชีวิตของตัวเอง การลาออกของเรานั้นควรอยู่ที่การวางแผนเส้นทางของเรา ไม่ได้เกี่ยวกับชีวิตของคนอื่น

สำหรับคนที่ชอบปรึกษาคนอื่นว่า ลาออกดีไหม? ผมขอแนะนำเพิ่มว่าคุณควรตัดสินใจให้ชัดเสียก่อนว่า เราจะจัดการกับชีวิตอย่างไร แล้วค่อยฟังว่าคนอื่นคิดอย่างไรกับทางเลือกของเรา เพราะนั่นมันจะเป็นสิ่งที่ตอกย้ำว่า เรามั่นใจและเข้าใจตัวเองความต้องการของตัวเองมากแค่ไหน ไม่งั้นสุดท้ายเราอาจจะกลับไปโทษที่ตัวเราฟังคนอื่นก็ได้ครับ

ผมเคยเขียนเรื่องนี้ไว้ที่เฟสบุ๊กส่วนตัว ของตัวเองในวันที่ลาออกจากงาน เผื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อคนที่คิดว่าตัวเองควรลาออกจากงานหรือไม่? และบางทีมันอาจจะช่วยให้คุณตัดสินใจได้ง่ายขึ้นครับ

ตั้งแต่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา ผมลาออกจากข้าราชการแล้วนะครับ ตอนนี้เป็นฟรีแลนซ์เต็มตัว 100% คิดอยู่สักพักว่าจะเขียนดีไหมแต่คิดไปคิดมาก็เขียนเล่าให้ฟังดีกว่า ถือว่าบันทึกเอาไว้เผื่อเป็นประโยชน์กับใครหลายคนในช่วงที่กำลังเปลี่ยนผ่านของชีวิต

เดิมผมตั้งใจไว้ตั้งแต่แรกว่า ผมจะลาเรียนต่อปริญญาเอกเป็นเวลา 5 ปีครับ วางแผนสอบไว้ตั้งแต่ปีที่แล้ว และได้ผ่านสัมภาษณ์เรียบร้อยแล้ว เหตุผลที่อยากเรียนต่อ คือ อยากจะมีเวลา + พัฒนาความรู้ตัวเองด้วย แต่สิ่งหนึ่งที่ผมลืมคิดไป และเป็นข้อเสียที่ใหญ่สุดของผมก็คือ ผมมักจะเป็นคนที่จัดการปัญหาที่มีโดยใช้วิธีสร้างปัญหาใหม่เสมอ

ในวันที่เติบโตถึงจุดนึง เราจะไม่พร้อมเปิดรับทุกโอกาสที่เข้าหา แต่เราต้องใช้ประสบการณ์ที่ผ่านมา เลือกและเฟ้นหาสิ่งที่เข้ามามีผลต่อชีวิตเรา เหตุผลที่ผมอยากมีเวลานั้น มันมาจากความชราของพ่อแม่ และการดูแลลูกที่เพิ่งเติบโตขึ้นมาไม่นาน เรามีเวลาอยู่ด้วยกันไม่มากนัก พ่อแม่ต้องจากเราไปในสักวันหนึ่ง ส่วนลูกก็ต้องไปจากเราเพื่อมีชีวิตของเขาเช่นกัน เวลาที่เหลืออยู่มันจึงสำคัญมากสำหรับผม

หลังจากที่ไปลองเรียนปรับพื้นฐานปริญญาเอกมาไม่ถึงอาทิตย์ ผมตั้งคำถามกับตัวเองว่า เรากำลังแก้ปัญหาด้วยอะไร อยากมีเวลา แต่เลือกไปเรียนต่อปริญญาเอก ที่เราต้องอุทิศเวลาเพิ่มขึ้นให้กับความรู้ที่ได้มา 

ถ้าอยากมีเวลา ต้องหาเวลา ไม่ใช่แค่เปลี่ยนสถานที่ที่เราใช้เวลากับมัน และมันอาจจะกระทบกับการงานที่ทำอยู่อีกต่างหาก ดังนั้นผมตัดสินใจยุติการเรียนต่อ แล้วถอยมาดูถึงสาเหตุของปัญหาที่แท้จริง

เมื่อย้อนกลับมามองชีวิตที่เป็นอยู่ งานการหน้าที่ที่นอกเหนืองานราชการ มันกระทบต่อการทำงานของผมเช่นกัน วันลาพักร้อนประจำปีถูกใช้กับการลาเพื่อทำงานนอก มันเป็นแบบนี้มาเกือบๆ 2 ปีแล้ว และถ้าเป็นแบบนี้ต่อไป มันอาจจะไม่เหมาะสมต่อการทำงานในฐานะข้าราชการ และการลาออกคือคำตอบที่ดีที่สุด เพื่อไม่ให้กระทบกับหน้าที่การงานในอนาคต 

บางคนอาจจะบอกว่าก็ทำไปด้วยกันได้นี่นา หลายคนก็ทำ บางคนก็ทำอยู่ แต่สิ่งที่ผมรู้คือ ผมไม่อยากให้ใครมาต่อว่างานราชการ มันอาจจะดูเหมือนตัดโอกาสหลายๆอย่าง  แต่ผมคิดว่าโอกาสในชีวิตอยู่ที่การสร้างของเรา 

ทั้งหมดที่เขียนขึ้นมานี้ ไม่ได้บอกว่างานประจำไม่ดี งานไม่ประจำดีกว่า เหมือนที่ใครหลายคนชอบเอามาเปรียบเทียบกัน แต่จะบอกคนในวัยทำงานทั้งหลายว่า สิ่งที่คุณทำในวันนี้ มันคือเส้นทางที่คุณเลือกเดิน และมันจะมีผลกับชีวิตของคุณในตลอดไป

คุณเป็นคนแบบไหน มันวัดจากแนวคิดที่คุณใช้ในชีวิต 
อย่าเลือกทาง ที่จะทำให้ตัวคุณในอนาคตรังเกียจคุณ
อย่าเลือกทาง ที่จะทำให้ตัวคุณเสียใจในภายหลัง
และไม่ว่าคุณจะเลือกทางไหน ทางนั้นคือทางที่ดีที่สุดสำหรับคุณแล้ว

เพราะคุณไม่มีวันรู้หรอกว่า ทางที่คุณไม่ได้เลือกมันจะเป็นยังไง 
อย่าไปเชื่อคำแนะนำใคร อย่าไปมองหาไอดอล
คุณมีหน้าที่แค่ทำทางที่คุณเลือกให้ดีที่สุด

และเรื่องทั้งหมดนี้ มันจะวัดได้จากความสุขของคนที่คุณรัก
มากกว่าการยอมรับจากคนที่คุณไม่เคยรู้จัก

หวังว่ามาถึงตรงนี้ คุณจะได้ข้อคิดและทิศทางในการตัดสินใจลาออกที่ง่ายขึ้นนะครับ ทีนี้เรามาต่อกันในเรื่องของการจัดการการเงินและภาษี ในกรณีที่คุณตัดสินใจจะลาออกกันบ้างครับ

การจัดการการเงินและภาษีที่ต้องมี
ก่อนที่จะยื่นใบลาออก

อันดับแรกเลย ผมแนะนำให้เริ่มตรวจสอบตัวเองว่า เรามี 2 ข้อนี้มากแค่ไหน ? นั่นคือ เงินฉุกเฉิน/เงินสำรอง และ เงินที่ได้รับตอนที่ลาออกจากงานครับ

เงินฉุกเฉิน หรือ เงินสำรอง

ผมยังคงเน้นย้ำว่า เงินฉุกเฉิน และ เงินสำรองยังเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก ๆ ครับ ถึงแม้ว่าคุณจะลาออกโดยมีหนทางไปแน่นอนก็ตาม เช่น ที่ทำงานใหม่ หรือ ธุรกิจใหม่ที่กำลังทำอยู่ แต่เราก็ไม่มีทางรู้อนาคตต่อจากนี้ว่า เราจะอยู่รอดได้ดีไหม จะมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นหรือเปล่า

มาถึงตรงนี้จะเห็นว่า ถ้าหากเราเริ่มวางแผนตั้งแต่เริ่มทำงานไว้ดี ๆ โดยการเก็บเงินฉุกเฉินหรือเงินสำรองไว้บ้างตั้งแต่แรก ๆ เราจะไม่ค่อยต้องกังวลในข้อนี้ครับ

แต่สำหรับคนที่ตัดสินใจลาออกไปทำธุรกิจ (หรือฟรีแลนซ์) แบบตัดสินใจจบชีวิตมนุษย์เงินเดือนไปเลย ผมแนะนำว่าควรเตรียมเงินหมุนเวียนสำหรับธุรกิจแยกต่างหากจากเงินสำรองก้อนนี้ เพื่อที่จะได้ไม่กระทบชีวิตส่วนตัวของเรามากนักครับ (หากสามารถทำได้)

เงินที่ได้ตอนที่ลาออกจากงานมีอะไรบ้าง?

นอกจากเงินที่เราเตรียมเองไว้ส่วนหนึ่งแล้ว ลองเช็คให้ชัวร์ว่าเงินที่เราได้รับเนื่องจากออกจากงานนั้นมีอะไรบ้าง ทั้งเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินชดเชย หรือเงินโบนัสพิเศษต่าง ๆ ที่จะได้จากการทำงานที่ผ่านมา เพื่อที่เราจะได้บริหารจัดการเงินได้อย่างเหมาะสมต่อไป แต่อย่างไรก็ดี เงินก้อนนี้จะมีเรื่องภาษีมาเกี่ยวข้องด้วยครับ ซึ่งคำแนะนำของผมเพิ่มเติมมีดังนี้

รายได้ที่เกิดขึ้นในปีนั้นต้องนำมายื่นภาษีทั้งหมด

การเปลี่ยนงาน การออกจากงานระหว่างปี ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในปีนั้น เราต้องนำข้อมูลมายื่นภาษีให้ถูกต้องครับ โดยการลาออกระหว่างปี และทำงานที่ใหม่ ก็ต้องนำรายทั้งหมดมารวมกันเพื่อยื่นภาษีให้ถูกต้องครับ
ดังนั้น เมื่อเราออกจากงานแล้ว นอกจากการจัดการเรื่องเงิน อย่าลืมขอเอกสารหลักฐานการหักภาษี ณ ที่จ่ายของปีนั้นๆ จากที่ทำงานเก่ามาให้ครบถ้วนด้วยนะครับ

จัดการเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ถ้ามี) ให้เหมาะสม

ในกรณีที่ที่ทำงานของคุณมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้กับพนักงาน คุณจะมีเงินอีกก้อนหนึ่งที่ได้รับจากกองทุนนี้ ซึ่งผมสรุปทางเลือกสั้น ๆ ไว้ 2 ทางครับ นั่นคือ เก็บต่อจนกว่าจะเกษียณ กับ การนำเงินออกมาจากกองทุน

ถ้าหากเราไม่จำเป็นต้องใช้เงินก้อนนี้ และสามารถเก็บต่อจนถึงเกษียณได้ ผมแนะนำทางเลือก 3 ทางสั้น ๆ คือ ขอคงเงินไว้ในกองทุนเดิมโดยไม่นำออกมา, โอนไปกองทุนใหม่ของที่ทำงานใหม่ (ถ้ามี) และ โอนย้ายไปกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยง (RMF For PVD) แล้วค่อยนำเงินออกมาเมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ครับ ซึ่งจะทำให้เงินก้อนจะได้รับสิทธิ์ยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีนั่นเองครับ

แต่ในกรณีที่ตัดสินใจ นำเงินออกมาจากกองทุน เราจะมีภาระภาษีเกิดขึ้นครับ โดยการเสียภาษีจะมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับอายุการทำงาน ดังนี้ครับ

  • ถ้าอายุงานไม่เกิน 5 ปี เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ได้คืนนั้น ต้องนำมารวมคำนวณภาษีโดยคิดเหมือนว่าเป็นรายได้จากเงินเดือนครับ (ถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 1 ตามกฎหมาย)
  • ถ้าอายุงานเกิน 5 ปี เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ได้คืนนั้น จะได้รับสิทธิแยกในการคำนวณภาษีเงินได้ โดยสามารถแยกคำนวณต่างหากจากเงินเดือนในรายการ “เงินได้ที่จ่ายครั้งเดียวเนื่องจากออกจากงาน”

โดยคำว่า อายุงาน 5 ปีนั้น จำนวนวันที่นับต้องเป็นปีเต็ม ๆ ที่ทำงานนะครับ (นับแบบวันชนวันเลย) ดังนั้นนับให้ดีนะครับ เพราะจะทำให้เราสามารถแยกคำนวณภาษีได้นั่นเองครับ

อย่างไรก็ตาม กรณีของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น เราจะเสียภาษีแค่ส่วนที่ เงินได้ส่วนที่เป็นผลประโยชน์ที่ได้รับจากการลงทุน และ เงินส่วนที่บริษัทสมทบ เท่านั้น ซึ่งตรงนี้ผมแนะนำให้ดูที่เอกสารการหักภาษี ณ ที่จ่ายที่เราได้รับประกอบนะครับ เพราะจะมีข้อมูลบอกไว้ครบถ้วนครับ

แนะนำบทความเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้อีกทีครับ นั่นคือ ออกจากงาน ยื่นภาษียังไง? หรือดูคลิปสอนยื่นภาษีที่กรณีลาออกจากงานที่ผมเคยทำไว้ก็ได้ครับ น่าจะพอทำให้เข้าใจเรื่องนี้มากยิ่งขึ้นครับ

Advertisements

มาถึงตรงนี้น่าจะพอเห็นภาพกันแล้วใช่ไหมครับว่า เราควรจัดการการเงินและภาษีในวันที่ตัดสินใจลาออกอย่างไร ดังนั้น ผมขอสรุปประเด็นทั้งหมดอีกทีหนึ่งให้เห็นภาพกันชัด ๆ นะครับว่า ตลอดการใช้ชีวิตเป็นมนุษย์เงินเดือนมาทั้งหมดนั้น มันบอกอะไรผมบ้าง ?

การเป็นมนุษย์เงินเดือนมาตลอด 15 ปี
มันบอกอะไรผมบ้าง?

หลายคนคงจะสังเกตเห็นถึงการเชื่อมโยงประเด็นหนึ่งที่ผมพยายามสื่อตั้งแต่แรกจนถึงตรงนี้ นั่นคือ สิ่งสำคัญที่สุดในการเป็นมนุษย์เงินเดือน คือการสร้างระบบการจัดการ และทำตามระบบที่เราสร้างไว้อย่างเคร่งครัด ทั้งเรื่องของการเก็บเงิน การทำความเข้าใจเรื่องภาษี และจุดประสงค์ในการมีชีวิตของเราว่าจะไปอยู่ตรงจุดไหน?

  • การเงิน เงินที่เราต้องมีพื้นฐานอย่างเงินฉุกเฉิน ตามมาด้วยแผนเกษียณ และไปจนถึงการจัดการเงินด้านอื่น ๆ ตามเป้าหมายของชีวิตที่มี
  • ภาษี เป็นสิ่งที่เราทุกคนต้องเสีย แต่เราสามารถประหยัดได้ ด้วยการวางแผนและศึกษาหาความรู้ เพื่อให้เราจ่ายเงินส่วนนี้น้อยที่สุดด้วยวิธีที่ถูกต้องตามกฎหมาย
  • ชีวิต เป็นสิ่งที่เราต้องตอบตัวเองให้ได้ว่าเราต้องการอะไร และเราจะเดินไปในเส้นทางไหน ซึ่งสิ่งสำคัญมันคือ ต้องเป็นทางที่เราตัดสินใจเลือกมันจริง ๆ

เพราะว่า อนาคตเป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจุดประสงค์ชีวิตที่เปลี่ยนไป การจัดการการเงิน หรือภาระต่าง ๆ ทีแต่ละคนมี แต่สิ่งที่ทุกคนทำได้คือการเตรียมพร้อมรับมือมันให้ดีที่สุดครับ

ท้ายที่สุดแล้ว ผมหวังว่าบทความนี้จะเป็นอีกหนึ่งประสบการณ์ที่ช่วยให้หลายๆ คนใช้ชีวิตในเส้นทางชีวิตมนุษย์เงินเดือนได้ดีขึ้นไม่มากก็น้อยนะครับ

เพราะเราทุกคนล้วนเป็นมนุษย์เงินเดือนที่มีชีวิต
และมันควรเป็นชีวิตที่เราเลือกและวางแผนไว้

TAXBugnoms

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Allow