แชร์ประสบการณ์ วิธีจัดการการเงินในช่วงวิกฤต

เราว่าครั้งนี้ หนักที่สุดเท่าที่เคยเจอมา

ผมมักพูดประโยคนี้กับคนรอบตัวในช่วงวิกฤต

หลังจากที่อยู่กับภาวะวิกฤตโควิด19 มาได้สักระยะ ผมพบว่านอกจากความหวาดกลัวกับโรคระบาด เรายังต้องฝ่าวิกฤตในอีกด้านหนึ่ง นั่นคือ เราจะจัดการเงินของเราให้ผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้อย่างไร

Advertisements

เชื่อว่าหลายคนในตอนนี้คงรู้สึกเหมือนกันกับผม เพราะเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมานั้น เป็นสิ่งที่พวกเราทุกคนยังไม่เคยพบเจอ แต่อย่างไรก็ดี สิ่งที่เราต้องทำเหมือนๆกันก็คือการรับมือและเตรียมจัดการกับมันครับ

ผมเลยเขียนบทความนี้ขึ้นมา เพื่อแชร์ประสบการณ์และคำแนะนำบางข้อที่น่าจะเป็นประโยชน์ในช่วงนี้ และเตรียมพร้อมสำหรับเหตุการณ์ต่อจากนี้มาฝากกันครับ

Advertisements

กระแสเงินสด คือ สิ่งที่จำเป็นที่สุด

อันดับแรก ผมมองว่าการจัดการเงินที่สำคัญที่สุด คือการมี สภาพคล่อง หรือ กระแสเงินสด เพียงพอต่อการดำรงชีวิต และประคองมันไปจนกว่าวิกฤตจะสงบลง 

โดยกระแสเงินสดที่ว่านี้ เริ่มต้นจากหลักการพืันฐานอย่าง การมีรายได้มากกว่ารายจ่าย (หรืออีกนัยหนึ่งคือ มีเงินเข้ามากกว่าเงินออก) ซึ่งเราต้องกลับมาย้อนดูจากตัวเราก่อนว่า ทุกวันนี้เรามีรายจ่าย (หรือเงินออก) อะไรบ้าง ? โดยเริ่มต้นจาก

รายจ่ายในการดำรงชีวิตต่างๆ เช่น ค่าใช้จ่ายกินอยู่ ค่าน้ำ ค่าไฟ หรือแม้แต่ค่าใช้จ่ายดูแลตัวเองต่าง ๆ ลองตรวจสอบดูว่า ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้มีอะไรที่ลดลงได้บ้าง รวมถึงอาจจะมีค่าใช้จ่ายแฝงอะไรที่เพิ่มขึ้นมาโดยที่ไม่รู้ตัว

Advertisements

ในช่วงวิกฤต เราอาจจะลดรายจ่ายในการกินได้ โดยการทำอาหารกินเอง หรือลดต้นทุนการสังสรรค์ได้แน่ๆ จากการที่ต้องอยู่บ้านและเลียงการพบปะผู้คน แต่อาจจะมีรายจ่ายอื่นเพิ่มขึ้นมา เช่น ค่าไฟ ค่าน้ำ ไปจนถึงต้นทุนดูแลด้านสุขภาพอนามัย เช่น เจลแอลกอฮอล์ การทำความสะอาดต่างๆ เพื่อให้ปลอดภัยต่อโรค หรือสำหรับบางคน อาจจะมีต้นทุนที่ทำให้เราสามารถทำงานที่บ้านได้เพิ่มขึ้นมา อย่างค่าอุปกรณ์ต่างๆ

ดังนั้น ถ้าหากเราตอบตรงนี้ได้ก่อนว่า รายจ่ายขั้นต่ำพื้นฐานในการดำรงชีวิตของเราคืออะไร และมีจำนวนเท่าไร ก็จะช่วยให้เราสามารถประมาณการใช้จ่ายตรงนี้ได้อย่างเหมาะสมมากยิ่งขึ้นครับ

รายจ่ายคงที่ในด้านอื่นๆ อย่างเช่น หนี้สินที่ต้องจ่ายเป็นประจำ ค่าใช้จ่ายประจำบางอย่างที่มาตามกำหนดอย่างค่าเบี้ยประกันภัย หรือค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับครอบครัวที่ต้องดูแลที่ต้องจ่ายรายเดือน ตรงนี้ต้องมองในมุมที่ว่า เราสามารถลดได้หรือไม่ หรือว่าจะขยายเวลาการจ่ายออกไปเพื่อให้เรามีกระแสเงินสดมากขึ้นในช่วงนี้

ยกตัวอย่างเช่น การขยายเวลาผ่อนชำระหนี้ การขอพักชำระเงินต้น (จ่ายแต่ดอกเบี้ย) การขอหยุดชำระหนี้ (ไม่จ่าย แต่ยังคิดดอกเบี้ยอยู่) หรือ การเจรจาพูดคุยกับเจ้าหนี้ (ที่ไม่ใช่ธนาคาร) เรื่องการผัดผ่อนการจ่าย จ่ายขั้นต่ำต่างๆ ไปจนถึงการแจ้งให้คนที่เราต้องดูแลทราบว่า ชีวิตในช่วงนี้จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ต้องมีการลดรายจ่ายที่ดูแลลงไปบ้างเพื่อให้สภาพคล่องยังคงอยู่

สำหรับการจัดการรายจ่ายจะจบลงที่ตรงนี้ โดยมีปัจจัยสำคัญ คือ การลดจำนวนเงินที่ออกจากกระเป๋าเราลงให้มากที่สุดเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้มากที่สุดพอที่จะอยู่รอดได้ หลังจากนั้นก็กลับมามองที่รายได้ (หรือเงินเข้า)กันบ้างครับว่าเราสามารถใช้สิทธิหรือเพิ่มกระแสเงินสดอะไรได้บ้าง

นอกจากลดรายจ่ายแล้ว
การจัดการรายได้ก็สำคัญไม่แพ้กัน

รายได้ทุกวันนี้ลดลงหรือไม่ โดยเฉพาะรายได้หลักจากการทำงานของเรา ลองเช็คทั้งหมดโดยมองจากข้อเท็จจริงว่า เราได้รับผลกระทบอะไรจากสถานการณ์นี้บ้างหรือเปล่า เช่น การลดเงินเดือนลง หรือ การขอให้หยุดงานบางวัน ไปจนถึงการให้ออกจากงานกลางคัน ซึ่งตรงนี้แต่ละคนจะประสบกับปัญหาแตกต่างกันไปครับ (สำหรับคนที่ไม่กระทบในตอนนี้ ถือว่าโชคดีมากครับ)

คำแนะนำจากประสบการณ์ตรงของผม คือ พยายามหากระแสเงินสดเข้าให้มากที่สุด และปรับสภาพให้เหมาะสมกับสิ่งที่เราทำ บางทีเราต้องยินดีทำงานหนักแม้ว่าจะได้เงินน้อยลง (เพื่อรักษาสถานะและการอยู่รอดในช่วงนี้ก่อน) หรือ อาจจะต้องยอมเสียสละเวลาส่วนตัวมากขึ้นเพื่อให้ได้เงินมากขึ้น (เพื่อรักษาสภาพคล่อง) ซึ่งตรงนี้ต้องบอกกันตรง ๆ ครับว่า ไม่ใช่ทุกคนที่ทำได้ แต่ทำได้เฉพาะคนที่มีงานและความสามารถในการจัดการตัวเองอยู่ระดับหนึ่งครับ

สำหรับคนที่ต้องออกจากงานในช่วงนี้ หรือถูกพักงาน (กรณีทำงานประจำและอยู่ในระบบประกันสังคม) คงต้องมองหาหนทางการขอรับเงินช่วยเหลือจากทางประกันสังคมเพิ่มเติมแทนครับ

Advertisements

นอกจากนั้นอาจจะต้องถามตัวเองต่อว่า ตอนนี้พอมีอะไรสร้างกระแสเงินสดให้เราได้บ้าง ซึ่งผมคิดว่านี่เป็นคำถามที่เราทุกคนต้องถามเผื่อเอาไว้ครับ โดยสำหรับตัวผมเอง ได้รับคำตอบอยู่ 2 ด้าน นั่นคือ ด้านที่เราสามารถขอคืนเงินบางส่วนที่เราควรได้ เช่น การขอคืนภาษี การขอเงินประกันค่าน้ำ ค่าไฟฟ้าต่างๆ ที่สามารถได้รับกลับคืนมาจากภาครัฐ 

ส่วนอีกด้านหนึ่ง คือ การกำจัดของที่ไม่จำเป็นออกจากชีวิตครับ หรือพูดง่าย ๆ ว่า มีทรัพย์สินอะไรที่เราสามารถขายได้เพื่อมาจุนเจือกระแสเงินสดของเราในช่วงนี้ ของที่เราไม่ได้ใช้ หรือของที่ไม่จำเป็นในตอนนี้ ถ้าหากมันจำเป็นต้องเปลี่ยนมาเป็นเงินสดเพิ่มเติมได้ ผมมองว่าควรทำครับ 

นี่คือทางฝั่งของรายได้และกระแสเงินเข้าที่ผมอยากฝากไว้ให้ลองพิจารณากันครับ จะเห็นว่าถ้าหากเราสามารถรักษาระดับรายได้ไว้ได้ และลดรายจ่ายลง ก็เป็นหนทางที่พอจะผ่านวิกฤตนี้ไปได้ครับ ซึ่งสิ่งที่เราควรมีเพิ่มเติม คือ บัญชีรายรับรายจ่าย เพื่อให้เรามีข้อมูลต่างๆในการวิเคราะห์และทำความเข้าใจข้อมูลเหล่านี้ได้อย่างถูกต้องนั่นเองครับ

อย่างไรก็ดี ผมเชื่อว่านี่คือสิ่งที่หลายๆคนรู้กันดีอยู่แล้ว เพียงแต่สิ่งที่จะช่วยให้เราผ่านไปได้คือ หลักการและความแน่วแน่ทางด้านการเงินที่เรามี และที่สำคัญอีกเรื่องคือกำลังใจที่เราต้องพยายามสร้างให้กับตัวเองเผื่อผ่านวิกฤตในช่วงนี้

เพราะนี่คือสิ่งที่ดีที่สุดที่เราทำได้ครับ

TAXBugnoms

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Allow