ดอกเบี้ยบ้านลดหย่อนภาษี : 3 สิ่งที่ควรรู้นอกจากสิทธิ 100,000 บาท

ดอกเบี้ยบ้าน ลดหย่อนภาษี

รีบ ๆ มีบ้านสิ
จะได้เอาดอกเบี้ยมาลดภาษี

เป็นคำแนะนำที่ย้อนแย้งที่สุดที่ผมเคยได้ยินมา

ดอกเบี้ยบ้าน ลดหย่อนภาษี นี่อาจจะเป็นสิ่งที่ใครหลายคนใฝ่ฝัน เพราะมันเหมือนมีกำไรทั้งสองต่อ ได้ทั้งบ้าน ได้ทั้งลดหย่อนภาษีสูงสุดถึง 100,000 บาท แต่ความจริงมันมีอะไรหลายอย่างซ่อนอยู่ในเรื่องราวดี ๆ แบบนี้ครับ

Advertisements

ก่อนใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษี
ต้องรู้จัก 3 องค์ประกอบนี้ให้ดีก่อน

องค์ประกอบแรก คือ คำว่า “บ้าน” โดยบ้านที่เราสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้นั้น หมายความรวมถึงที่อยู่อาศัยต่างๆ ตั้งแต่ บ้าน คอนโดหรืออาคารชุด ก็สามารถใช้สิทธิได้หมด เพียงแต่ว่าวัตถุประสงค์ที่สำคัญคือ “ต้องใช้เป็นที่อยู่อาศัย” ครับ

องค์ประกอบที่สอง คือ การ “กู้ยืม” มาเกี่ยวข้องกับการมีบ้านด้วย ซึ่งการกู้ยืมนั้นต้องเป็นการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัย (บนที่ดินของเราเองหรือบนที่ดินที่มีสิทธิครอบครอง) และการกู้ยืมที่ว่าต้องมีการจำนองอาคารที่ซื้อหรือสร้างเป็นประกันในระยะเวลาที่เท่ากับการกู้ยืมไว้อีกด้วย ซึ่งปกติแล้วสัญญากู้ยืมเงินในเรื่องนี้จะระบุไว้ชัดเจนอยู่แล้วครับ

Advertisements

องค์ประกอบสุดท้าย คือ “ผู้ให้กู้” ซึ่งหมายความถึง ธนาคาร บริษัทตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ บริษัทประกันชีวิต สหกรณ์ นายจ้าง ซึ่งมีระเบียบเกี่ยวกับเงินกองทุนที่จัดสรรไว้เพื่อสวัสดิการแก่ลูกจ้าง บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัยตามกฎหมาย ว่าด้วยบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการตามกฎหมาย ว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ

ดังนั้น ถ้าให้สรุปหลักการชัดๆ สำหรับการลดหย่อนภาษีดอกเบี้ยบ้าน นั่นคือ เราต้องมีที่อยู่อาศัย เอาไปกู้และจำนองที่อยู่อาศัยนี้ไว้กับผู้ให้กู้ตามกฎหมาย ถึงจะสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้นั่นเองครับ

อ้อ ทำความเข้าใจไว้สักนิดนะครับว่า การลดหย่อนภาษีดอกเบี้ยบ้าน (ศัพท์ทางการเรียกว่า ดอกเบี้ยเงินกู้ยืม) นั่นไม่ใช่การขอคืนภาษี แต่มันเป็นการใช้สิทธิที่เรียกว่า ค่าลดหย่อน ซึ่งต้องเอามาใช้ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต่างหากครับ

Advertisements

ใครสนใจดูวิธีคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา : เคลียร์ชัด! 2 วิธีคิดภาษีให้ถูกต้อง) หรือดูคลิปสอนคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ด้านล่างนี้ครับ

Advertisements

ดอกเบี้ยบ้านลดหย่อนภาษี
มีเงื่อนไขเพิ่มเติมอะไรบ้าง?

สำหรับเงื่อนไขในการใช้ลดหย่อนภาษีได้ตามกฎหมายนั้น ผมอ้างอิงข้อมูลจาก ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 165) (ฉบับที่ 166) และ (ฉบับที่ 167) ซึ่งโดยสรุปแล้วจะมีเงื่อนไขดังต่อไปนี้ครับ

1. ต้องใช้บ้าน อาคาร ห้องชุด อาคารชุด เป็นที่อยู่อาศัยในปีที่ใช้สิทธิลดหย่อนภาษี เว้นแต่มีเหตุจำเป็น เช่น ไปต่างประเทศ หรือเกิดภัยธรรมชาติที่ไม่สามารถอยู่ได้

2. ใช้สิทธิได้สูงสุดต่อคนคือ 100,000 บาท ถ้าหากมีการกู้ร่วมหลายคนต่อบ้านหนึ่งหลังให้หารตามจำนวนเงินดอกเบี้ย แต่สูงสุดไม่เกินคนละ 50,000 บาท

สำหรับเงื่อนไขข้อแรกไม่น่าจะซับซ้อน ขอแค่เราใช้เป็นที่อยู่อาศัยก็พอใจแล้ว แต่สำหรับเงื่อนไขที่สองหลายคนอาจจะงง ลองมาดูตัวอย่างเพื่อความเข้าใจที่ง่ายขึ้นครับ

ยกตัวอย่างเช่น นายบักหนอม (คนเดียว) สามารถใช้สิทธิได้สูงสุด 100,000 บาทต่อคน จะกู้เพื่อซื้อบ้านกี่หลังก็ได้ จะเป็นบ้านหลังแรก หลังที่สอง สาม สี่ อันนี้ตามใจเลยครับ

แต่ถ้ามีการกู้ร่วมกันระหว่าง นายบักหนอมและคนอื่น ต้องกลับมาดูด้วยว่าดอกเบี้ยของบ้านหลังที่กู้ร่วมกันนั้นต้องไม่เกิน 100,000 บาทก่อน แล้วค่อยมาหารตามจำนวนคน เช่น นายบักหนอมและน้องชายจ่ายดอกเบี้ยบ้านจริงไป 150,000 บาทในกรณีกู้ร่วมกัน 2 คน สิทธิ์หักลดหย่อนรวมที่ใช้ได้คือ 100,000 บาท ดังนั้นนายบักหนอมกับน้องจะใช้สิทธิหักลดหย่อนได้เพียงคนละ 50,000 บาทเท่านั้น

อ้อ… เน้นตรงนี้ไว้ด้วยนะครับว่า สิทธิลดหย่อนภาษีของการกู้ร่วมตรงนี้ไม่สามารถโอนให้ผู้อื่นได้นะครับ ต้องเฉลี่ยตามจำนวนผู้กู้เท่านั้น ดังนั้น ถ้าคนกู้ร่วมกับเราไม่มีเงินได้และไม่ได้ต้องการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี ก็ไม่สามารถที่จะโอนสิทธินี้มาให้กับเราได้

อย่างไรก็ดี มีข้อยกเว้นในกรณีเดียวคือการกู้ร่วมของสามีภรรยาที่จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย กรณีที่ฝ่ายไหนไม่มีเงินได้สามารถโอนสิทธิ์ให้กับอีกฝ่ายได้ครับ

สิทธิลดหย่อนภาษี ดอกเบี้ยบ้าน รายละเอียดการใช้ระหว่างสามีและภรรยา

เอกสารที่ใช้เป็นหลักฐาน
ลดหย่อนภาษีดอกเบี้ยบ้าน

สำหรับเอกสารที่ใช้เป็นหลักฐานในการลดหย่อนภาษี คือ หนังสือรับรองดอกเบี้ยเงินกู้ยืม (ล.ย.02) ที่ทางผู้ให้กู้ออกให้กับเราครับ โดยในนั้นจะมีข้อความระบุไว้ชัดว่าเราจ่ายดอกเบี้ยประจำปีไปเท่าไร เพื่อให้เราสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้อย่างถูกต้องครับ ซึ่งเอกสารที่ได้มานี้เรามีหน้าที่เก็บไว้ และให้ดูเมื่อทางพี่ๆ สรรพากรเขาตรวจสอบครับ

ลองดูตัวอย่างหนังสือรับรองดอกเบี้ยเงินกู้ยืมจากทางกรมสรรพากรได้ที่รูปด้านล่างนี้ครับ

ดอกเบี้ยบ้าน ลดหย่อนภาษี
Advertisements

คำถามถามบ่อย
การใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษี

สำหรับคนที่อ่านบทความนี้แล้วมีคำถาม ผมได้รวบรวมคำถามที่ถามกันบ่อย ๆ เกี่ยวกับเรื่องการใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีมาสรุปให้อ่านเพิ่มเติมในส่วนนี้ครับ

1. ทำสัญญากู้ยืมคนเดียว คู่สมรส (สามีภรรยา) แต่ไม่มีเงินได้อีกคนเอามาลดหย่อนภาษีได้ไหม

ตอบ : ในกรณีที่มีการทำสัญญาคนเดียว หลักการสำคัญให้จำไว้นะครับว่า ใครทำคนนั้นได้ ดังนั้น ถ้าคนทำสัญญาไม่มีเงินได้ อีกคนก็ไม่สามารถเอามาใช้สิทธิ์ได้ครับ จะเอามาใช้สิทธิได้ต่อเมื่อสามีภรรยามีการทำสัญญากู้เงินร่วมกันครับ

2. ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจ่ายดอกเบี้ยมากกว่า ใช้สิทธิได้มากกว่าไหม

ตอบ : ถ้าเป็นการกู้ร่วม ใช้สิทธิกันแบบหารเท่าตามสัดส่วนเท่านั้น ถ้ากู้ร่วมกันก็ได้สิทธิคนละ 50/50 ครับ

3. ขายบ้านระหว่างปี ยังใช้สิทธิได้ไหม

ตอบ : ใช้ได้เลยเท่าที่จ่ายไปในปีนั้น แต่หลังจากขายแล้วใช้ไม่ได้นะ

4. ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมมาเพื่อปรับปรุงบ้านก่อนเข้าอยู่หักลดหย่อนได้ไหม

ตอบ : ไม่ได้จ้า ต้องเป็นกู้มาเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างเท่านั้น

5. ดอกเบี้ย กยศ. ผ่อนรถ ดอกเบี้ยอื่น ๆ ใช้แทนได้ไหม

ตอบ : ไม่ได้ ต้องเป็นดอกเบี้ยกรณีบ้านเท่านั้นครับ

6. ดอกเบี้ยกรณีรีไฟแนนซ์ ใช้ลดหย่อนภาษีได้ต่อหรือเปล่า

ตอบ : สามารถนำดอกเบี้ยจ่ายในส่วนของเงินกู้เดิมไปใช้ได้ แต่ส่วนที่กู้เพิ่มใช้ไม่ได้

7. เอาบ้านไปค้ำประกันแล้วกู้ยืม ดอกเบี้ยลดหย่อนได้ไหม

ตอบ : ไม่ได้จ้า ต้องกู้เพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือ สร้างเท่านั้น

สรุป

สำหรับ ดอกเบี้ยเงินกู้ยืม ประเด็นสำคัญที่ผมอยากให้ทำความเข้าใจ คือ ต้องเป็นการกู้ที่ตรงวัตถุประสงค์ และมีเอกสารครบถ้วนในการลดหย่อนภาษี ถึงจะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้อย่างถูกต้องนั่นเองครับ

ดังนั้นก่อนตัดสินใจยื่นภาษีและใช้สิทธิลดหย่อนภาษีในส่วนนี้ อย่าลืมตรวจสอบข้อมูลจากดอกเบี้ยบ้านของเราให้ถูกต้องซะก่อน จะได้วางแผนลดหย่อนภาษีได้อย่างถูกต้องและสบายใจนั่นเองครับ

อย่าลืมว่าลดหย่อนได้เฉพาะดอกเบี้ย
แต่ไม่รวมเงินต้นที่ผ่อนนะครับ

TAXBugnoms

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Allow