ภาษีมรดก คืออะไร คำนวณแบบไหน และเราจะวางแผนอย่างไรดี ?

ภาษีมรดก

มรดกเจ้าคุณปู่ที่ผมได้มา
พี่ว่าต้องเสียภาษีไหม?

คำถามที่ต้องถามต่อ คือ แล้วน้องได้เท่าไรล่ะครับ

ภาษีมรดก หรือ ภาษีการรับมรดก เริ่มบังคับใช้กฎหมายตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 ซึ่งเป็นผลจากการประกาศใช้กฎหมาย พระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 ซึ่งส่งผลให้ผู้ที่ได้รับมรดกมีหน้าที่เสียภาษีหากมีทรัพย์สินและจำนวนเงินที่เข้าเงื่อนไขตามที่กฎหมายกำหนดไว้

Advertisements

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับ
มรดก ทายาท และ พินัยกรรม

องค์ประกอบสำคัญของมรดก ประกอบด้วย มรดก ทายาท พินัยกรรม
Advertisements

ความหมายของคำว่า “มรดก”

คำว่า “มรดก” นั้น หมายถึง ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย รวมตลอดทั้งทรัพย์สินที่เป็น สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบต่างๆ ของผู้ตายด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1600 ที่กล่าวไว้ว่า “กองมรดกของผู้ตายได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ เว้นแต่ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้ว เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้”

นอกจากนั้นในมาตรา 1599 ก็ได้ระบุไว้เช่นกันว่า “เมื่อบุคคลใดตาย มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท” และระบุไว้เพิ่มเติมในมาตรา 1601 ว่า “ทายาทไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตน”

Advertisements

จากคำพูดที่กล่าวมาทั้งหมด สรุปได้ว่า มรดก หมายถึง ทรัพย์สินและหนี้สินทุกชนิดที่อยู่ในความครอบครองของผู้ตาย และจะส่งมอบต่อให้แก่ทายาทต่อไป และถ้าหากมรดกเป็นหนี้สินทายาทก็ไม่ต้องรับผิดชอบเกินกว่าทรัพย์สินที่ตัวเองได้รับ

ความหมายของคำว่า “ทายาท”

ประเภทของทายาท ตามกฎหมาย

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้แบ่ง “ทายาท” ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ทายาทโดยธรรม และ ทายาทโดยพินัยกรรม

โดยทายาทโดยธรรมจะหมายถึง 6 ลำดับขั้นต่อจากเจ้าของมรดกนั่นคือ ผู้สืบสันดาน-บิดามารดา-พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน-พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน-ปูู่ยาตายาย-ลุงป้าน้าอา ซึ่งหลักของการแบ่งมรดกสำหรับทายาทโดยธรรมจะเรียงตามลำดับชั้นของทายาท

Advertisements

ส่วน ทายาทโดยพินัยกรรม หมายถึง ทายาทที่เจ้าของมรดกตกลงจะมอบมรดกให้ตามที่พินัยกรรมระบุไว้ นั่นเองครับ

หน้าที่ของ “พินัยกรรม”

ในกรณีที่เจ้าของมรดกต้องการให้ทรัพย์ของตัวเองถูกส่งมอบไปยังผู้ที่เหมาะสมหลังจากที่เสียชีวิตแล้ว การทำพินัยกรรมซึ่งเป็นเหมือนคำสั่งเสียสุดท้ายจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะมีผลให้เกิดทายาทโดยพินัยกรรมที่มีสิทธิได้รับโดยผลของกฎหมาย แทนที่ทรัพย์ทั้งหมดจะตกทอดสู่ทายาทโดยธรรมแทน ซึ่งปัจจุบัน พินัยกรรมมีทั้งหมด 5 ประเภท ได้แก่

  • พินัยกรรมแบบธรรมดา ผู้ทำพินัยกรรมจะต้องทำเป็นหนังสือลงวันเดือนปีขณะที่ทำ ระบุคำสั่งเสียให้ชัดเจน แล้วลงลายมือชื่อต่อหน้าพยาน 2 คน
  • พินัยกรรมเขียนเองทั้งฉบับ เป็นพินัยกรรมที่ระบุให้เขียนเองด้วยลายมือทั้งฉบับ โดยกฎหมายไม่ได้บังคับว่าต้องมีพยาน
  • พินัยกรรมทำเป็นเอกสารฝ่ายเมือง สามารถทำได้โดยไปติดต่อที่นายอำเภอให้ช่วยทำพินัยกรรมให้ และลงลายมือชื่อของต่อหน้าพยาน 2 คน นอกจากนั้น นายอำเภอจะต้องรับรองพร้อมประทับตราประจำตำแหน่งด้วย
  • พินัยกรรมทำเป็นเอกสารลับ กรณีนี้ผู้ทำพินัยกรรมต้องทำพินัยกรรมแล้วปิดผนึกลงลายมือชื่อคาบรอยผนึก แล้วนำไปแสดงต่อนายอำเภอพร้อมกับพยาน 2 คน โดยผู้ทำพินัยกรรมและพยานลงลายมือชื่อไว้บนซอง และให้นายอำเภอหรือผู้อำนวยการเขตเก็บรักษาไว้
  • พินัยกรรมทำด้วยวาจา เป็นพินัยกรรมที่เกิดพฤติการณ์พิเศษ เช่น ตกอยู่ในอันตราย โรคระบาด สงคราม โดยให้แสดงเจตนาต่อหน้าพยานอย่างน้อย 2 คน จากนั้นพยานรีบไปแจ้งวันเดือนปีและข้อความที่ผู้ทำพินัยกรรมสั่งไว้ต่อนายอำเภอ และลงลายมือชื่อไว้

ภาษีมรดก คืออะไร

หลังจากที่เข้าใจความสัมพันธ์เบื้องต้นแล้ว ทีนี้เรามาดูกันต่อที่เรื่องของภาษีกันบ้างครับ โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเด็นสำคัญ นั่นคือ ผู้มีหน้าที่เสียภาษี วิธีคำนวณภาษี และ ระยะเวลาในการยื่นแบบแสดงรายการ

ใครมีหน้าที่เสียภาษีมรดก

ภาษีมรดก
Advertisements

ถ้าให้สรุปง่าย ๆ ผู้มีหน้าที่เสียภาษี คือ ผู้รับมรดก นั่นเองครับ แต่กฎหมายกำหนดเงื่อนไขของผู้รับมรดกที่ต้องเสียภาษีไว้ 3 กลุ่มดังนี้ครับ

  • บุคคลที่มีสัญชาติไทย (บุคคลธรรมดา และ นิติบุคคล)
  • บุคคลธรรมดาที่ไม่มีสัญชาติไทย แต่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย
  • บุคคลธรรมดาที่ไม่มีสัญชาติไทย แต่ได้รับทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย

หลังจากที่เรารู้จักหน้าที่ของผู้เสียภาษีกันแล้ว เรามารู้จักกับวิธีการคำนวณภาษีกันต่อครับ

วิธีคำนวณภาษี

สำหรับวิธีการคำนวณนั้น หลักการสำคัญจะอยู่ที่ “มูลค่า” และ “ประเภทของทรัพย์สิน” นั่นเองครับ

โดยคำว่า “มูลค่า” หมายถึง มูลค่าของทรัพย์สินที่ได้รับหักหนี้สินที่ตกทอดมาจากการรับมรดกของเจ้าของมรดกแต่ละราย ไม่ว่าจะรับมาในคราวเดียวกันหรือหลายคราวก็ตาม ซึ่งถ้าหากทรัพย์สินมีมูลค่ารวมกันเกินกว่า 100 ล้านบาท ก็แปลว่าเข้าข่ายที่ต้องเสียภาษีครับ โดยคิดในอัตราที่แตกต่างกัน คือ

  • อัตรา 5% ของส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท ในกรณีทีผู้รับมรดกเป็นบุพการีหรือผู้สืบสันดาน
  • อัตรา 10% ของส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท ในกรณีที่ผู้รับมรดกเป็นบุคคลอื่น

ส่วนคำว่า “ทรัพย์สิน” ที่ต้องเสียภาษีนั้น หมายถึง 5 ประเภท ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์ หลักทรัพย์ เงินฝาก ยานพาหนะ และทรัพย์สินทางการเงินอื่นๆตามที่กฎหมายกำหนด (ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดประเภททรัพย์สินเพิ่มเติม) โดยการวัดมูลค่าของทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีนั้น ใช้หลักการดังนี้

  • กรณี “อสังหาริมทรัพย์” จะใช้ราคาประเมินเพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม หักด้วยภาระอื่นๆที่กำหนดโดยกฎกระทรวง
  • กรณี “หลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย” จะใช้ราคาในวันสิ้นสุดเวลาทำการ (ราคาปิด) ที่เกิดขึ้นในวันที่ได้รับมรดก
  • ส่วนกรณีอื่นๆ ที่ไม่อยู่ในข่ายของ 2 กรณีนี้ จะกำหนดโดยใช้หลักเกณฑ์ของ กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณมูลค่าของทรัพย์สิน ที่ต้องเสียภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2559

การยกเว้นภาษี

จากข้อกฎหมายที่ว่ามาทั้งหมด แปลว่าโอกาสในการยกเว้นภาษีนั้นจะมี 3 ข้อ ดังต่อไปนี้ครับ

  1. ทรัพย์สินที่เป็นมรดกนั้นไม่เข้าข่ายตามที่กฎหมายกำหนด (ทรัพย์ที่ไม่มีทะเบียน) หรือ มูลค่ามรดกที่เจ้ามรดกแต่ละรายมอบให้กับผู้รับมรดกไม่ถึง 100 ล้านบาท
  2. บริจาคให้หน่วยงานที่กฎหมายกำหนด เช่น บริจาคเพื่อใช้ในกิจการศาสนา กิจการศึกษา หรือ กิจการสาธารณะประโยชน์ ให้แก่หน่วยงานของรัฐหรือนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์นั้น หรือ บุคคลหรือองค์การต่างประเทศตามที่กฎหมายกำหนด
  3. ส่งมอบมรดกให้แก่คู่สมรสที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย (ไม่อยู่ในบังคับใช้ของกฎหมายฉบับนี้)

เอาล่ะครับ ทีนี้เรามาคุยกันต่อในเรื่องของการยื่นแบบแสดงรายการกันบ้างครับ ว่าถ้าหากเราต้องเสียภาษีแล้ว เรามีหน้าที่ยื่นชำระแบบอย่างไรบ้าง?

วิธีการยื่นแบบและชำระภาษี

การชำระภาษีมรดก

สำหรับวิธีการยื่นแบบและชำระภาษีนั้น กฎหมายกำหนดให้เรายื่นแบบแสดงรายการ ภาษีการรับมรดก หรือ ภ.ม. 60 ภายใน 150 วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับมรดก โดยเสียภาษีพร้อมยื่นแบบแสดงรายการ ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา โดยเจ้าหน้าที่จะส่งให้เจ้าพนักงานประเมินทำการตรวจสอบและประเมินภาษีภายใน 1 ปี หากมีการเสียเพิ่ม ต้องเสียภายใน 30 วันนับจากวันที่ได้รับใบแจ้งครับ

นอกจากนั้นยังสามารถขอผ่อนได้ 2-5 ปี (เกิน 2 ปี อาจจะเสียเงินเพิ่ม) และสามารถอุทธรณ์การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินได้ภายใน 30 วัน (ฟ้องศาลได้ภายใน 180 วัน) รวมถึงยังสามารถขอคืนภาษีที่เสียเกินไปได้ภายใน 5 ปีอีกด้วยครับ

และถ้าหากเราหลีกเลี่ยงไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีภายใน 150 วันนับแต่วันที่รับมรดกจะมีโทษปรับไม่เกิน 500,000 บาท และสามารถถูกประเมินได้ภายใน 10 ปี รวมถึงยังต้องเสียเบี้ยปรับ 1 เท่าและเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนอีกด้วยครับ อย่างไรก็ตามถ้าหากยื่นแบบไว้ไม่ครบถ้วน เบี้ยประจำเสียเพียง 0.5 เท่าของเงินภาษีที่ต้องเสียเพิ่มเท่านั้นครับ

วิธีวางแผนภาษี

สำหรับวิธีการวางแผนภาษีนั้น แบ่งออกเป็น 3 ข้อ คือ เปลี่ยนประเภททรัพย์สิน วางแผนส่งมอบหลังจากที่เสียชีวิต และ กระจายหรือทยอยแบ่งทรัพย์สินที่มีอยู่ โดยแต่ละวิธีมีรายละเอียดดังนี้ครับ

  1. เปลี่ยนประเภททรัพย์สิน คือ โอนถ่ายไปยังทรัพย์สินที่ไม่จดทะเบียน เช่น รูปภาพ พระเครื่อง ทองคำ เพื่อให้ไม่มีทรัพย์ที่เข้าข่ายในการเสียภาษีมรดก อันนี้เป็นวิธีการที่หลายคนนิยมทำกันเพราะสะดวกและง่าย
  2. จัดการข้อจำกัด โดยใช้วิธีการกระจายทรัพย์สินหรือมูลค่าการให้ระหว่างที่เจ้าของมรดกมีชีวิตอยู่ แต่อาจจะต้องระวังเรื่องของภาษีการรับให้ที่เป็นตัวป้องกันอีกต่อหนึ่งครับ (อยู่ในระหว่างเขียนบทความ)
  3. ส่งมอบทรัพย์สินหลังจากเสียชีวิตแทน เช่น เงินชดเชยจาก ประกันชีวิต ที่ได้รับหลังจากที่เจ้ามรดกเสียชีวิต จะไม่ถือเป็นทรัพย์มรดก แต่ต้องระบุชื่อผู้รับผลประโยชน์ให้ชัดเจนครับ

สรุป

อย่างที่บอกไว้แต่ต้นว่า หลักการสำคัญของภาษีตัวนี้ คือ การเรียกเก็บจากทรัพย์สินที่มีมูลค่าที่กำหนดไว้ ซึ่งถ้าหากเราได้รับทรัพย์สินที่กฎหมายไม่ได้กำหนด หรือว่ามีมูลค่าไม่ถึง 100 ล้านบาท ก็แปลว่าเราไม่มีโอกาสได้เสียภาษีตัวนี้อย่างแน่นอน

แต่อย่างไรก็ดี สิ่งที่สำคัญที่สุดในการจัดการ ภาษีมรดก ที่ผู้มีทรัพย์ต้องคำนึงนอกเหนือจากประเด็นเรื่องของภาษี นั่นคือ ต้นทุนในการบริหารจัดการภาษี เช่น ค่าจ้างต่าง ๆ ที่อาจจะแพงกว่าภาษีที่ประหยัดได้ ซึ่งอาจจะไม่คุ้มค่ากับการลงทุนนั่นเอง ดังนั้นอย่าลืมพิจารณาในประเด็นเหล่านี้ด้วยนะครับ

สุดท้ายแล้ว ผมมองว่าสิ่งสำคัญที่สุดในการจัดการภาษี คือ การรู้ข้อมูลทรัพย์สินและรายละเอียดที่เรามี ซึ่งเป็นสิ่งที่เราทุกคนควรทำไว้ให้เรียบร้อยในระหว่างที่มีชีวิตอยู่

โดยที่ไม่จำเป็นต้องสนใจว่า
เราจะเสียภาษีมรดกหรือไม่

TAXBugnoms

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Allow