ไม่อยากเสียภาษีให้ประเทศนี้ ต้องทำอย่างไร?

ไม่อยากเสียภาษี

ถ้าไม่อยากเสียภาษีให้ประเทศนี้
เราต้องทำอย่างไรบ้าง?

อยู่ ๆ ผมก็คิดเรื่องแบบนี้ขึ้นมาในเช้าที่สดใสวันหนึ่ง

พอพูดถึงคำว่า “ไม่อยากเสียภาษี” หลายคนอาจจะคิดว่านี่เป็นเรื่องของการเมืองใช่ไหมครับ แต่จริง ๆ แล้วผมแค่อยากชวนลองคิดและทำความเข้าใจถึงเรื่องของ “ฐานภาษี” และ “วิธีการคิดภาษี” ผ่านการตั้งคำถามจากภาษีที่เราทุกคนต้องเสียกันอยู่ในทุกวันว่าจะทำอย่างไรดี โดยที่ไม่ต้องหันหลังให้ประเทศนี้และย้ายไปอยู่ประเทศอื่น

Advertisements
Advertisements

และสิ่งที่ผมทวิตลงใน @TAXBugnoms ก็เป็นผลมาจากการตั้งคำถามที่ว่านี่แหละครับ เพราะถ้าตอบแบบง่ายที่สุดก็คือ เราต้องเข้าใจคำว่าฐานภาษีกันเสียก่อนครับ

คำว่า “ฐานภาษี” คืออะไร

โดยปกติแล้วภาษีจะคำนวณจากสิ่งที่เรียกว่า ฐานภาษี และกำหนดอัตราภาษีที่ใช้คำนวณขึ้นมา ซึ่งฐานภาษีถือเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของการคำนวณภาษีตัวหนึ่งที่สำคัญมาก (แนะนำบทความ อยากเข้าใจภาษี ควรรู้จัก 3 องค์ประกอบนี้)

Advertisements

โดยฐานภาษีที่ใช้กันอย่างแพร่หลายมีอยู่ 3 ฐานครับ นั่นคือ รายได้ การบริโภค และ ความมั่งคั่ง (ทรัพย์สิน) ซึ่งแน่นอนว่า ถ้าเรามีฐานพวกนี้มาก เราก็ย่อมเสียภาษีมากเป็นเรื่องธรรมดาครับ

ไม่อยากเสียภาษี ต้องเข้าใจฐานภาษีทั้ง 3 ตัวก่อน ได้แก่ เงินได้ บริโภค และ ทรัพย์สิน

ดังนั้น ถ้าเราจะทำให้ตัวเองไม่ต้องเสียภาษี ย่อมแปลว่า เราต้องไม่มีสิ่งที่เกี่ยวข้องกับทั้ง 3 ฐานทีว่ามานี้ครับ นั่นคือ รายได้ บริโภค และ ทรัพย์สิน ซึ่งการทำได้จริงจะเริ่มยากแล้วใช่ไหมครับ

ถ้าไม่อยากเสียภาษี = ต้องไม่มีฐานภาษี

https://www.facebook.com/TaxBugnoms/posts/4829410843750960/
Advertisements

ทีนี้ ถ้ามาลองคิดกันแบบใกล้เคียงอุดมคติสักหน่อย มันก็น่าจะพอจะมีทางอยู่เหมือนกันครับ แต่เราต้องหนักแน่นและเข้าใจหลักการของภาษีแต่ละฐานให้ดีเสียก่อนครับ

Advertisements

เริ่มจากฐานแรก คือ ฐานรายได้ ซึ่งวิธีการไม่เสียภาษีจากฐานนี้นอกจากการไม่มีรายได้แล้ว มันยังมีวิธีแฝงอยู่ครับ นั่นคือ การทำให้ตัวเองได้รับรายได้ (หรือเงินได้) ที่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีแทนครับ

ถ้าพูดเป็นคำชิก ๆ คูล ๆ ที่กูรูภาษีเขาพูดกัน เขามักจะพูดกันว่า เปลี่ยนรายได้ให้เป็นรายได้ที่ได้รับยกเว้นภาษี ซึ่งถ้าดูตามกฎหมายยกเว้นรายได้ที่ต้องเสียภาษี (มาตรา 42 แห่งประมวลรัษฏากร และกฎกระทรวง 126) พบว่าพอจะมีช่องทางให้เลือกใช้หลายช่องเหมือนกันครับ เช่น เราต้อง…

  1. เบี้ยประชุมกรรมาธิการหรือกรรมการ หรือค่าสอน ค่าสอบที่ทางราชการหรือสถานศึกษาของทางราชการจ่ายให้ แบบนี้ถ้าเราประกอบอาชีพเป็นอาจารย์พิเศษให้กับทางราชการหรือหน่วยงานศึกษาของทางราชการ อันนี้ก็พอจะไหวนะครับ
  2. มีรายได้จากการลงทุนที่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษี เช่น ดอกเบียเงินฝากที่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษี เช่น ดอกเบี้ยเงินฝากเผื่อเรียกของธนาคารออมสิน สลากออมสิน หรือ สลากธ.ก.ส. ไปจนถึงการลงทุนซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ เพราะกำไรจากการขายหุ้นไม่ต้องเสียภาษี (แต่ต้องไม่ได้เงินปันผลนะครับ เพราะจะถูกหักภาษี ณ ทีจ่าย 10%) หรือการลงทุนในกองทุนรวมที่ไม่ต้องเสียภาษีกำไรจากการขาย แบบนี้ก็พอจะได้อยู่เหมือนกันครับ
  3. แต่งงานจดทะเบียนสมรสแล้วให้คู่สมรสดูแล หรือมีคนในครอบครัวดูแล อันนี้ถ้าเขาให้เงินเราไม่ถึง 20 ล้านบาทต่อปี ก็ไม่ต้องเสียภาษี หรือแม้แต่มีคนดูแลเฉยๆที่ไม่ใช่คู่สมรสแล้วเขาให้เงินเราไม่ถึง 10 ล้านบาทต่อปี แบบนี้ก็พอไหวเหมือนกัน เพราะจะได้ไม่ต้องเสีย ภาษีการรับให้

ถ้าสรุปในขั้นตอนของฐานรายได้หรือเงินได้นั้น แปลว่า เราต้องมีเงินทุนในระดับหนึ่งที่พอจะเลือกปฎิบัติอาชีพได้ หรือไม่ก็ต้องมีคนเลี้ยงดูเรานั่นเองครับ

มาต่อกันที่ฐานที่ 2 อย่าง ฐานบริโภค กันบ้าง บอกตรง ๆ ว่าฐานนี้ค่อนข้างจะยากหน่อยครับ เพราะว่ามันเป็นภาษีที่เกิดจากการจับจ่ายใช้สอย ที่ทุกคนมักจะรู้สึกว่าตัวเองต้องเสียอยู่แล้ว โดยถูกผู้ขายหรือผู้ให้บริการผลักภาระมาให้ นั่นคือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT นั่นเองครับ

แต่วิธีการซื้อของไม่ให้เสีย VAT นั้นก็พอมีอยู่ครับ โดยเราจะใช้วิธีต่อไปนี้

  1. ซื้อของที่ไม่ได้อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือได้รับสิทธิยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น พวกผักสด เนื้อสัตว์ต่างๆ ที่ไม่ผ่านการแปรรูป (เอามากิน) หนังสือ นิตยสารตำราเรียน (เอามาอ่านหาความรู้)
  2. ซึ้อของจากผู้ที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ได้รับยกเว้น หรือ หนีภาษี) เช่น ซื้อจากเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กที่มีรายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาท (หรือพวกที่เกินแล้วไม่เสียภาษีก็พอจะไหวอยู่ แต่อันนี้ไม่ค่อยดีเท่าไร เพราะเขากำลังทำผิดกฎหมายอยู่นั่นเองครับ)
  3. บอกให้คนที่ดูแลเลี้ยงดูเราซื้อให้ ซึ่งตรงนี้ถ้าหากใครมีผลพวงจากภาษีเงินได้ที่ไม่ต้องเสียโดยให้คนดูแล ก็บอกให้เขาซื้อให้แทนครับ แม้ว่าเขาจะเสีย VAT แต่มันก็เป็นเงินของเขาไม่ใช่เงินเรา (ถือว่าเป็นการเลี่ยงบาลีแบบเนียน ๆ)

สำหรับขั้นตอนของฐานการบริโภคนั้น วิธีการที่สำคัญคือ เราต้องไม่จ่ายเอง หรือซื้อสินค้าหรือบริการจากผู้ประกอบการที่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มนั่นเองครับ

แต่ถ้าเป็นแบบนี้ ย่อมแปลว่าพวกร้านอาหาร ห้างร้านแบรนด์ดัง ร้านสะดวกซื้อหรือห้างสรรพสินค้าทั้งหลาย เราไปซื้อหรือรับบริการจากเขาไม่ได้เหมือนกันนะครับ เพราะมันมี VAT อยู่ในนั้นหมด ไปจนถึงท่องเที่ยวที่พักต่างๆด้วย เพราะเราก็ต้องช่วยจ่าย VAT อีกต่อหนึ่งเหมือนกัน

อ้อ เมื่อพูดถึงฐานนี้ ผมแนะนำว่าอย่าลืมพวกภาษีอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการบริโภคด้วย เช่น ภาษีสรรพสามิต ดังนั้นพวกเครื่องดื่มมึนเมาต่างๆ บุหรี่ เราก็ต้องเลิกเหมือนกันครับ ไม่งั้นจะต้องเสียภาษี ไปจนถึงภาษีนำเข้าส่งออก ดังนั้นถ้าใครเคร่งมากๆ ก็อย่าไปซื้อของที่ต้องผ่านพิธีศุลกากรนะครับ เพราะมันต้องเสียภาษีมาแล้วต่อหนึ่ง (ดูเหนื่อยเหมือนกันแฮะ)

ส่วนสุดท้าย เรื่องของฐานภาษีจากความมั่งคั่ง หรือจริง ๆ คือการเก็บภาษีจากทรัพย์สินนั่นแหละครับ สำหรับกลุ่มนี้คำแนะนำดูเหมือนจะง่ายที่สุด นั่นคือ อย่ามีทรัพย์สินเลย (ใช้ของหรืออาศัยคนอื่นแทน) และถ้าหากเช่าทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีในส่วนนี้ ก็ต้องให้ผู้ให้เช่าเป็นผู้รับผิดชอบแทน และไม่ยอมให้ผลักภาระให้เราได้ เช่น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ก็จะทำให้จัดการได้ไม่ยากนัก

เราพยายามมากเกินไปหรือเปล่า ?

ถึงแม้ว่า หากเราพยายามก็พอจะทำได้อยู่เหมือนกันนะครับ เพราะว่ามันก็มีช่องทางของมันอยู่ แต่ถ้าเราทำแล้วรู้สึกดีจริง ผมว่ามันเป็นเรื่องแปลกๆนะครับสำหรับคนที่คิดแบบนี้แล้วสบายใจ และมันดูเหมือนว่าเราพยายามมากเกินไปหรือเปล่า

ดังนั้น ผมอยากให้ลองย้อนกลับมาถามตัวเองดีกว่าว่า เราต้องการไม่จ่ายภาษี หรือ ต้องการประหยัดภาษี เพราะถ้าหากเป้าหมายของเรา คือ การไม่จ่ายภาษีเลย มันคงจะเป็นไปไม่ได้หรอกครับ เพราะการใช้ชีวิตแบบนั้นมันคงไม่มีความสุขสักเท่าไร คนอะไรจะไม่สามารถใช้ชีวิตของตัวเองได้อย่างที่ต้องการ เพียงเพราะว่าไม่อยากจ่ายภาษี แต่ยอมแลกมาด้วยการกระทำที่แปลกประหลาดในหลายรูปแบบ และถ้ามองดูกันจริง ๆ ก็จะเห็นว่า การไม่จ่ายภาษีมันเป็นแค่ส่วนของเรา แต่คนอื่นเขาก็ยังต้องจ่ายอยู่ดี และบางทีมันก็มีบางส่วนที่เขาแอบผลักมาให้เรา เช่น กำไรที่เขาเอาไปเสียภาษีเงินได้ ก็เก็บมาจากราคาขายที่ขายให้เรานี่แหละ

ดังนั้นสิ่งที่ผมต้องการสื่อในบทความนี้ ไม่ใช่การบอกว่าไม่เสียภาษีคือวิธีที่ถูกต้องหรือสนับสนุนให้คนหลีกเลี่ยงภาษีหรอกนะครับ แต่ต้องการให้มองเห็นถึงความสำคัญเรื่องความรู้ความเข้าใจในเรื่องภาษี เพื่อให้เห็นว่าจริง ๆ แล้ว เราต้องทำความเข้าใจในเรื่องของฐานภาษีให้ดี และจ่ายภาษีตามจำนวนที่ถูกต้องตามกฎหมาย

ถ้าใครอยากฟังความเห็นเพิ่มเติมของผมในเรื่องนี้ สามารถฟังได้ที่นี่ครับ

และท้ายที่สุดนี้ ขอฝากไว้สักนิดนะครับว่า ไม่ว่าเราจะเสียดายภาษีที่ต้องจ่ายมากแค่ไหน หรือไม่ต้องการจ่ายภาษีมากเท่าไร สิ่งที่เราทำได้ คือ จ่ายภาษีไปอย่างถูกต้องและวางแผนประหยัดภาษีให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของเราที่สุดนั่นแหละครับ

เพราะนั่นคือวิธีที่ดีที่สุดที่เราควรทำ

TAXBugnoms

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Allow