ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ ต้องเอามายื่นภาษีไหม ? | Final TAX

ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ ต้องยื่นภาษีไหม

รายได้ที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้แล้ว
ต้องนำมายื่นภาษีเงินได้หรือเปล่า

คำถามยอดฮิตของมิตรรักผู้ถูกหักภาษีไว้

Final TAX และ การหักภาษี ณ ที่จ่าย เป็นหนึ่งในคำถามที่ได้ยินอยู่บ่อย ๆ ซึ่งเป็นหนึ่งในเรื่องภาษียอดฮิต อย่างภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายที่ใครหลายคนรู้จักกันดี แต่ก่อนที่จะอ่านบทความนี้ต่อไป ผมขออนุญาตย้ำประโยคนี้ให้ฟังกันชัด ๆ อีกทีครับว่า

Advertisements

การถูกหักภาษีหัก ณ ที่จ่าย
ไม่ได้แปลว่าเสียภาษีเรียบร้อยแล้ว

จากประโยคข้างต้น ผมขยายความเพิ่มเติมอีกว่า “ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย คือ การจ่ายภาษีล่วงหน้า” โดยเรายังคงมีหน้าที่ต้อง “ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา” อยู่ดี โดยให้นำภาษีที่ถูกหักไว้ระหว่างปี มา “หักออก” (เครดิต) จากภาษีเงินได้ที่เราคำนวณได้ตอนปลายปี โดยส่วนต่างที่ได้ คือ ภาษีที่ต้องชำระเพิ่มหรือภาษีส่วนเกินที่ต้องขอคืน 

ความสัมพันธ์ของภาษีเงินได้
ภาษีสิ้นปี ครึ่งปี และ หัก ณ ที่จ่าย

Advertisements

จากรูปข้างต้น ภาษีสิ้นปี หรือ ภาษีเงินได้ปลายปี หมายถึง ภาษีบุคคลธรรมดาที่คำนวณจากรายได้ทุกประเภทตั้งแต่เดือน มกราคม – ธันวาคม ของทุกปี และเรามีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษี (ภ.ง.ด. 90 หรือ 91) ภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไป

Advertisements

ส่วนคำว่า ภาษีครึ่งปี หมายถึง ภาษีบุคคลธรรมดาที่คำนวณจากรายได้ประเภทที่ 5 – 8 ตั้งแต่เดือน มกราคม – มิถุนายน ของทุกปี และเรามีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษี (ภ.ง.ด. 94) ภายในเดือนกันยายนของปีเดียวกัน

ส่วน ภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย หมายถึง ภาษีที่ผู้มีเงินได้ถูกคนจ่ายเงินหักล่วงหน้าและนำส่งให้กับสรรพากรไว้ โดยที่ผู้รับเงินมีหน้าที่เก็บหลักฐานการหักภาษี ณ ที่จ่ายที่เกิดขึ้นในแต่ละปีมารวบรวมไว้พร้อมกับยื่นภาษีเงินได้ให้ถูกต้องต่อไปครับ

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจน ของการหักภาษี ณ ที่จ่ายกับความสัมพันธ์ของ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ผมลองยกตัวอย่างเพิ่มเติมเพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น ดังนี้ครับ

Advertisements

สมมติว่า ในระหว่างปี นายบักหนอมผู้เป็นเจ้าของแฟนเพจ TAXBugnoms มีรายได้โดยถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไปทั้งสิ้นจำนวน 5,000 บาท และในปีถัดไป เมื่อนายบักหนอมได้เอารายได้ทั้งหมดมายื่นแบบแสดงรายการภาษีแล้ว พบว่าต้องเสียภาษีทั้งสิ้นจำนวน 12,000 บาท

แบบนี้ย่อมแปลว่า นายบักหนอมสามารถนำภาษีที่ถูกหักไว้จำนวน 5,000 บาทมาหักออกจากภาษีที่คำนวณได้ และจ่ายชำระภาษีเพิ่มเติมจำนวน 7,000 บาทนั่นเองครับ

โดยผมขอเน้นความเข้าใจเรื่องนี้กันชัด ๆ อีกสักที เพราะจากตัวอย่างที่ว่ามานั้น หมายความว่า นายบักหนอมต้องเสียภาษีประจำปีเป็นจำนวน 12,000 บาท ซึ่งการถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ถือเป็นเพียงแค่การจ่ายภาษีล่วงหน้าเท่านั้น

ดังนั้นถ้าหากเราเปลี่ยนจำนวนเงินภาษีที่นายบักหนอมถูกหักไว้ระหว่างปีเป็น 14,000 บาท ก็แปลว่านายบักหนอมจะได้เงินคืนภาษีจำนวน 2,000 บาท แต่ยังเสียภาษีในจำนวน 12,000 บาทเท่าเดิมอยู่ดีครับ

เงินได้ที่มีการเสียภาษีสุดท้าย (Final Tax) คืออะไร

แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อความเป็นธรรมของกฎหมาย ประมวลรัษฎากรได้กำหนดรายได้บางประเภทให้สามารถใช้ภาษีหัก ณ ที่จ่ายเป็น “Final TAX” หรือ “เงินได้ที่มีการเสียภาษีสุดท้ายเมื่อถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้แล้ว” และผู้มีเงินได้เองสามารถเลือกที่จะไม่นำมารวมคำนวณในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

หรือพูดง่าย ๆ ว่า “เงินได้ที่มีการเสียภาษีสุดท้าย” หรือ Final TAX คือ สิทธิ์ในการเลือกเสียภาษีโดยถูกหัก ณ ที่จ่ายไว้แล้วจบ แต่ถ้าไม่อยากจบก็เอามายื่นภาษีได้เหมือนกันครับ

โดยข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้จะอยู่ใน มาตรา 48 (3) – (7) แห่งประมวลรัษฎากร โดยผมขอสรุปข้อมูลออกมาเป็นรูปด้านล่างนี้ครับ

Final TAX
Advertisements

หมายเหตุ : ตารางนี้เป็นตารางสรุปเพื่อให้เข้าใจประเภทเงินได้ง่ายขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม อย่าลืมอ่านข้อกฎหมายอย่างละเอียดเพิ่มเติมด้วยนะครับ

จากรูปข้างต้น เราจะเห็นความแตกต่างในสิทธิ์ของ การเลือกเสียภาษี ออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

  1. สิทธิ์ในการเลือกหักภาษี ณ ที่จ่ายแล้วจบ ซึ่งกำหนดอยู่ในมาตรา 48(3) ทั้งหมด ซึ่งได้แก่ เงินได้จากดอกเบี้ย ผลต่างระหว่างราคาไถ่ถอนกับราคาจำหน่าย ผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนตราสาร และ เงินปันผลจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ที่สามารถเลือกเสียภาษีโดยถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ในอัตราที่กฎหมายกำหนด คือ 15% และ 10%
  2. สิทธิ์ในการแยกคำนวณภาษี (โดยวิธีเฉพาะ) ซึ่งกำหนดในมาตรา 48(4) และ 48(5) ซึ่งได้แก่ เงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่ได้มุ่งทางค้าหรือหากำไร และ เงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเนื่องจากเหตุออกจากงาน โดยกลุ่มแรกจะเป็นสิทธิในการแยกเสียภาษีที่สำนักงานเขต อำเภอ หรือสำนักงานที่ดิน แล้วจบไม่ต้องนำมารวมคำนวณภาษีเงินได้ตอนปลายปีอีก ในขณะที่กลุ่มหลังจะเป็นการแยกคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในตอนยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี
  3. สิทธิ์ในการเลือกเสียภาษีแยกต่างหาก ซึ่งกำหนดในมาตรา 48(4/1) 48(6) และ 48(7) ซึ่งเป็นสิทธิ์ในการแยกคำนวณภาษีต่างหากจากการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี โดยสามารถเลือกเสียในอัตราที่ถูกกำหนดไว้เฉพาะ คือ 5% ของเงินได้ส่วนที่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้

โดยคำว่า Final TAX ในบทความนี้ ผมขอเลือกอธิบายในส่วนที่เกี่ยวข้องกับชีวิตเราแบบง่าย ๆ คือ สิทธิ์ในการเลือกถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายแล้วจบ ซึ่งหมายความถึง กรณีที่เราได้รับ ดอกเบี้ย (รวมถึงเงินได้ตามมาตรา 40(4)(ก) ประเภทอื่น ๆ) เงินปันผล (จากหุ้นและกองทุนรวม) เท่านั้นครับ

และมันจึงเป็นที่มาของคำถามที่หลายคนสงสัย นั่นคือ เมื่อไรเราถึงควรยอมให้หัก ณ ที่จ่ายแล้วจบ และ เมื่อไรเราถึงควรนำมารวมคำนวณภาษีกันแน่ ?

เราควรเลือกหัก ณ ที่จ่ายแล้วจบดี ๆ
หรือว่านำมารวมคำนวณภาษีดีกว่ากัน

ก่อนอื่น (อีกแล้ว) ต้องย้อนไปถึงอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากันเสียก่อนครับ ถ้าหากเราเข้าใจ วิธีการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เราจะรู้ว่าอัตราภาษีนั้นมีตั้งแต่ ยกเว้น-35% ดังรูปด้านล่างนี้

อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเลือกหักภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย แล้วจบดีไหม?

โดยประเด็นในการตัดสินใจว่าเราจะเลือกนำมารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือไม่นั้น จุดตัดสินใจมันจะอยู่ที่ว่า ถ้านำมารวมแล้ว เราจะเสียภาษีเพิ่มขึ้นหรือไม่ ? ซึ่งถ้าเสียภาษีเพิ่มขึ้น ก็แปลว่าไม่ควรรวมคำนวณภาษีแน่ ๆ แต่ถ้าหากนำมารวมคำนวณแล้วปรากฎว่าเราเสียภาษีน้อยลง หรือ ได้คืนภาษี แบบนี้เราก็ควรนำมาคำนวณครับ

หรือพูดง่าย ๆ ว่า ถ้ารวมแล้วเสียภาษีน้อยลงหรือได้คืน ก็ค่อยเอามารวมคำนวณ แต่ถ้าเสียภาษีมากขึ้น ก็ปล่อยให้หักภาษีแล้วจบไปนั่นแหละดีที่สุด !! ซึ่งขั้นตอนในการพิจารณานั้น เป็นดังนี้ครับ

  1. ตรวจสอบก่อนว่า เมื่อรวมเงินได้ทุกประเภทที่เราต้องนำมารวมคำนวณภาษีแล้ว เราเสียภาษีอยู่ในอัตราภาษีเท่าไร ? ตั้งแต่ ยกเว้น – 35% (สำคัญมาก)
  2. ลองเปรียบเทียบอัตราภาษีในฐานที่เราเสียกับอัตราภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายไว้ว่าแตกต่างกันหรือไม่
  3. หากอัตราภาษีที่ถูกหักไว้น้อยกว่า ให้ปล่อยไป ไม่ต้องนำมารวมคำนวณภาษี แต่ถ้าหากมากกว่า อันนี้น่าจะนำมารวมคำนวณดู

ยกตัวอย่างเช่น นายบักหนอมเป็นมนุษย์เงินเดือนที่ได้รับดอกเบี้ยเงินฝากประจำ (จากทรัพย์สมบัติที่เจ้าคุณปู่ มอบให้) จำนวน 100,000 บาท ซึ่งถูกหักภาษีไว้ 15,000 บาท (15%)

เมื่อถึงฤดูกาลยื่นภาษีประจำปี นายบักหนอมลองคำนวณภาษีแล้ว พบว่าเงินได้สุทธิหลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอยู่ที่ 150,000 บาทพอดี ซึ่งแปลว่าไม่ต้องเสียภาษี (อัตรายกเว้น) แบบนี้นายบักหนอมควรจะเลือกนำดอกเบี้ยของเจ้าคุณปู่มารวมคำนวณภาษี ซึ่งจะทำให้นายบักหนอมมีเงินได้สุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 250,000 บาท (150,000 + 100,000) ถึงแม้ว่าจะคำนวณภาษีออกมาแล้วต้องเสียจำนวน 5,000 บาท แต่นายบักหนอมสามารถนำภาษีที่ถูกหัก ณ ทีจ่ายจากดอกเบี้ยจำนวน 15,000 บาทมาหักออกจากภาษีที่ต้องเสียได้ ซึ่งสุดท้ายแล้วนายบักหนอมจะได้เงินคืนจำนวน 10,000 บาท (5,000 – 15,000)

ดังนั้น ถ้าหากนายบักหนอมมีเงินได้สุทธิก่อนรวมรายได้ในส่วนดอกเบี้ยเป็นจำนวน 1,000,000 บาท ซึ่งต้องเสียภาษีในอัตราสูงสุดคือ 20% แบบนี้ก็ไม่ควรนำรายได้จากดอกเบี้ยส่วนนี้มารวมคำนวณภาษี เพราะอัตราภาษีที่ต้องเสียนั้น (20%) สูงกว่าอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่ถูกหักไว้ (15%) แบบนี้นายบักหนอมควรยอมให้หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้แล้วไม่นำมารวมคำนวณภาษี เนื่องจากจะประหยัดภาษีได้มากกว่า

ระวัง! เครดิตภาษีเงินปันผล

แต่เรื่องนี้ก็มีข้อยกเว้นสำหรับเงินปันผลหรือส่วนแบ่งกำไรที่เราได้รับจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนที่จดทะเบียนในประเทศไทย ซึ่งจะมีสิทธิเลือกใช้ เครดิตภาษีเงินปันผล ในการรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งจะมีความซับซ้อนในการคำนวณมากกว่า และไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้เหมือนกับ ดอกเบี้ย หรือ เงินปันผลจากกองทุนตามวิธีที่ว่ามา ซึ่งถ้าหากใครสนใจสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่คลิปด้านล่างนี้ครับ

https://youtu.be/ebcVeNl9cdU

บทสรุปของ Final TAX

จากทั้งหมดที่เล่ามาในบทความ ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ ต้องนำมายื่นภาษีไหม ? ผมขอสรุปประเด็นสำคัญทั้งหมดเป็นข้อ ๆ เพื่อให้ทุกคนที่อ่านบทความนี้เห็นภาพที่ชัดเจน ดังนี้ครับ

  1. โดยปกติแล้ว การถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ ถือเป็นการจ่ายภาษีล่วงหน้า โดยผู้มีเงินได้อย่างเรามีหน้าที่ต้องนำมายื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีตามปกติ และนำภาษีที่ถูกหักไว้มาใช้หัก (เครดิต) ออกจากภาษีที่คำนวณได้ เพื่อให้รู้ว่าจะต้องชำระเพิ่มหรือได้คืนเท่าไร
  2. แต่มีการถูกหักภาษี ณ ทีจ่ายบางประเภท ให้สิทธิในการเลือกที่จะ “ถูกหักภาษีไว้แล้วจบได้” เช่น ดอกเบี้ย (15%) เงินปันผล (10%) และตัวผู้มีเงินได้เองก็มีสิทธิเลือกที่จะไม่จบโดยนำมายื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีก็ได้ หากคิดว่าการนำมายื่นนั้นเป็นประโยชน์มากกว่า เช่น ได้ภาษีคืน หรือ เสียภาษีน้อยลง (อ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความ ภาษีที่เกี่ยวข้องกับกองทุนรวม | เงินปันผลและกำไรจากการขาย)
  3. โดยผู้เสียภาษีอย่างเรา ต้องมีความเข้าใจในเรื่องของการคำนวณภาษี และพิจารณาความคุ้มค่าจากอัตราภาษีที่เราเสียในปัจจุบัน (5-35%) และนอกจากนั้น ในกรณีของเงินปันผลส่วนแบ่งกำไรที่ได้รับจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ผู้เสียภาษีควรจะมีความเข้าใจในเรื่องของการคำนวณ “เครดิตภาษีเงินปันผล” เพิ่มเติมด้วยครับ (อ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความ เครดิตภาษีเงินปันผล : เงินปันผลจากหุ้นและวิธีการจัดการภาษี)

และทั้งหมดนี้ คือ สิ่งที่เราต้องทำความเข้าใจกับเรื่องของ การหักภาษี ณ ที่จ่ายกับการคำนวณภาษี และเราต้องทำความเข้าใจให้มากขึ้น ในกรณีที่เรามีรายได้ที่สามารถเลือกจะเลือกเสียภาษีสุดท้ายอย่าง Final TAX ได้อย่างคุ้มค่าที่สุดครับ

ถึงแม้ภาษีจะมี Final TAX
แต่ความรู้เรื่องภาษีไม่มีวัน Final ครับ

TAXBugnoms

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Allow