ผมต้องยื่นภาษีครึ่งปีไหม?
หนึ่งในคำถามยอดฮิตที่ผมได้ยินในช่วงกลางปี
เมื่อพูดถึงคำว่า “ภาษีครึ่งปี” ถ้าใครได้ยินชื่อนี้อาจจะงงๆ สักหน่อยว่ามันคืออะไร ยื่นแบบไหน ทำไมต้องเสียภาษีอีก แค่เสียภาษีเงินได้ประจำปียังไม่พออีกหรอก อ่า…อย่าเพิ่งโมโหกันไปครับ ลองมาดูความหมายของคำว่า ภาษีเงินได้ครึ่งปีกันก่อนว่ามันคืออะไร และมีวัตถุประสงค์แบบไหนในการเก็บกันแน่
ภาษีครึ่งปี คืออะไร?
ภาษีครึ่งปี หรือ ภาษีเงินได้ครึ่งปี คือ ภาษีที่เกี่ยวกับการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล โดยกฎหมายกำหนดหน้าที่ให้ทั้งบุคคลและนิติบุคคลจ่ายภาษีล่วงหน้า ซึ่งคำนวณจากรายได้ที่เกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา
โดยภาษีเงินได้ครึ่งปีที่เราจ่ายไป สามารถนำไปใช้หักออกจากภาษีประจำปีที่คำนวณได้ หรือมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการบรรเทาภาระการจ่ายภาษีของทุกคนให้ไม่ต้องจ่ายทั้งก้อนในคราวเดียวกันนั่นเองครับ
ยกตัวอย่างเช่น นายบักหนอมได้ยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีไปแล้วจำนวน 5,000 บาท พอสิ้นปีนายบักหนอมคำนวณภาษีได้จำนวน 8,000 บาท ก็จ่ายภาษีเพิ่มแค่ 3,000 บาทเท่านั้น (8,000 – 5,000)
หรือ บริษัท แทกซ์บักหนอม (TAXBugnoms) จำกัด ได้ยื่นเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปีไว้จำนวน 20,000 บาท พอสิ้นปีพบว่าบริษัทต้องจ่ายภาษีทั้งหมดเพียงแค่ 15,000 บาท บริษัทก็สามารถขอคืนภาษีเงินได้จำนวน 5,000 บาทที่จ่ายเกินไว้ได้เช่นเดียวกันครับ (แต่จะขอคืนหรือเปล่านั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่ง)
ดังนั้นกฎหมายจึงกำหนดให้ทั้ง บุคคลธรรมดา และ นิติบุคคล มีหน้าที่ยื่นภาษี เพียงแต่มีหลักการคำนวณและช่วงเวลาที่แตกต่างกันครับ ซึ่งถ้าใครชอบดูและฟังคำอธิบายเรื่องนี้ในรูปแบบของวีดีโอคลิป สามารถคลิกดูได้ที่คลิปด้านล่างนี้ครับ
ความสัมพันธ์ระหว่าง
ภาษีสิ้นปี ครึ่งปี และหัก ณ ที่จ่าย
ถ้าขยายความเพิ่มเติมจากตัวอย่างข้างต้น ผมอยากให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของภาษีทั้ง 3 ประเภทนี้ นั่นคือ ภาษีเงินได้สิ้นปี (ภาษีสิ้นปี) ภาษีเงินได้ครึ่งปี และ ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เพิ่มเติมอีกสักหน่อย ดังรูปด้านล่างนี้ครับ

โดยคำว่า ภาษีสิ้นปี หรือ ภาษีเงินได้ปลายปี หมายถึง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่ต้องเสีย โดยคำนวณจากเงินได้สุทธิหรือกำไรสุทธิทั้งปี ส่วน ภาษีครึ่งปี หมายถึง ภาษีที่จ่ายไว้ล่วงหน้าสำหรับรอบครึ่งปีของบุคคลหรือนิติบุคคลนั้น ๆ และสุดท้าย ภาษีหัก ณ ที่จ่าย หมายถึง ภาษีที่ผู้มีเงินได้ถูกคนจ่ายเงินหักล่วงหน้าและนำส่งให้กับสรรพากรไว้ โดยที่เรา (ผู้รับเงิน) มีหน้าที่เก็บหลักฐานการหักภาษี ณ ที่จ่ายที่เกิดขึ้นในแต่ละปีมารวบรวมไว้และนำมายื่นภาษีให้ถูกต้องต่อไปครับ
ดังนั้นความสัมพันธ์ในการจ่ายภาษีเพิ่มหรือขอคืน จะมาจากการนำ ภาษีสิ้นปีที่คำนวณได้ หักออกด้วย ภาษีที่เสียล่วงหน้าไปตอนครึ่งปี และ ภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่ถูกหักไว้ระหว่างปี นั่นเองครับ
ใครมีหน้าที่ยื่นภาษี
เมื่อพูดถึงคำว่าภาษีเงินได้ ย่อมหมายถึง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และ ภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยภาษีเงินได้ครึ่งปีจะกำหนดให้ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลมีหน้าที่ต้องยื่นภาษี โดยมีเงื่อนไขที่แตกต่างกันดังนี้
- กรณีบุคคลธรรมดา (คนปกติทั่วไป) ต้องมีรายได้ประเภทที่ 5 – 8 ในช่วงครึ่งแรกของปีปฎิทิน (มกราคม – มิถุนายน) เกิน 60,000 บาท (อ่านบทความเรื่อง เงินได้พึงประเมิน 8 ประเภทมีอะไรบ้าง?) ถึงจะมีหน้าที่ยื่นภาษีประเภทนี้ โดยต้องยื่นภายในวันที่ 30 กันยายน ของทุกปี โดยใช้แบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี (ภ.ง.ด. 94)
- กรณีนิติบุคคล (บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนโดยทั่วไป) มีหน้าที่ยื่นภาษีครึ่งปี เมื่อมีรอบบัญชีตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป โดยกฎหมายกำหนดให้ยื่นภายใน 2 เดือนหลังจากวันครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี ซึ่งถ้าเป็นรอบบัญชีปกติ เช่น มกราคม – ธันวาคม ก็จะยื่นภายในสิ้นเดือนสิงหาคมของทุกปี โดยใช้แบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปี (ภ.ง.ด. 51)
โดยทั้งสองกรณี ถ้ามีการยื่นแบบผ่านอินเตอร์เน็ตจะขยายเวลาเพิ่มให้ไปอีก 8 วัน หรือถ้ามีการเลื่อนเป็นกรณีพิเศษ เช่น โควิด-19 ที่ผ่านมาก็จะได้รับการขยายเวลาเพิ่มเป็นแต่ละกรณีไปครับ (อ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความ มาตรการเลื่อนยื่นภาษีและงบการเงิน ครับ)
วิธีคำนวณภาษีเงินได้ครึ่งปี
แม้ว่าจะเรียกว่า “ครึ่งปี” เหมือนกัน แต่วิธีการคำนวณภาษีของบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลนั้น มีความแตกต่างกันดังนี้ครับ
- บุคคลธรรมดา จะใช้วิธีคำนวณเหมือนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี แต่จะมีข้อแตกต่างตรงที่รายการค่าลดหย่อนบางตัวจะหักได้เพียงแค่ครึ่งเดียวเท่านั้น เช่น ค่าลดหย่อนส่วนตัวเหลือ 30,000 บาท จาก 60,000 บาท
- นิติบุคคล จะมีวิธีคำนวณ 2 วิธี ขึ้นอยู่กับประเภทของนิติบุคคล ซึ่งได้แก่ วิธีประมาณการกำไรสุทธิ กับ วิธีกำไรสุทธิที่เกิดขึ้นจริงในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา แต่โดยปกติแล้ว ธุรกิจส่วนใหญ่จะใช้วิธีประมาณการกำไรสุทธิในการยื่นภาษี โดยประมาณจากกำไรทั้งปีก่อน แล้วค่อยนำมาหารสอง หลังจากนั้นจึงคูณด้วยอัตราภาษี (ตอนนี้ผมกำลังอัพเดทบทความ วิธีคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปี อยู่ครับ ใครสนใจรอติดตามกันได้เลย)
ถ้าไม่ยื่นภาษีตัวนี้ เราจะเจออะไร?
คำถามนี้เป็นคำถามที่ได้ยินกันบ่อยๆครับ นั่นคือ ไม่ยื่นภาษีครึ่งปีได้ไหม เราจะโดนอะไรบ้าง? หรือบางคนอาจจะบ่น ๆ เซ็ง ๆ ว่าที่ผ่านมาไม่เคยยื่นภาษีก็ไม่เห็นมีอะไรเลย ลองมาดูกันครับว่า แต่ละประเภทเราจะโดนอะไรบ้าง ?
กรณีบุคคลธรรมดาไม่ยื่นภาษี
สำหรับ บุคคลธรรมดา สิ่งที่โดนแน่ๆ คือ ค่าปรับอาญากรณีไม่ยื่นแบบจำนวน 2,000 บาท และเงินเพิ่ม (ดอกเบี้ย) จากภาษีทีต้องจ่ายในอัตรา 1.5% ต่อเดือน (เศษของเดือนคิดเป็น 1 เดือน) โดยนับตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน เป็นต้นไป แต่อย่างไรก็ดี จะมีการลดค่าปรับให้ตามนี้ครับ
- กรณีที่ยื่นแบบแสดงรายการล่าช้า ไม่เกิน 7 วัน ลดลงเหลือ 100 บาท
- กรณียื่นแบบล่าช้า เกินกว่า 7 วัน ลดลงเหลือ 200 บาท
กรณีนิติบุคคลไม่ยื่นภาษี
ส่วนกรณีของนิติบุคคล จะโดนคล้าย ๆ กับบุคคลธรรมดาครับ นั่นคือ ค่าปรับอาญากรณีไม่ยื่นแบบจำนวน 2,000 บาท และเงินเพิ่ม (ดอกเบี้ย) แต่ในฝั่งของนิติบุคคลจะมีรายละเอียดมากกว่าบุคคลธรรมดา ดังนี้ครับ
- กรณีที่ยื่นแบบแสดงรายการล่าช้า ไม่เกิน 7 วัน ลดลงเหลือ 1,000 บาท
- กรณียื่นเลยกำหนดเกิน 7 วัน ค่าปรับแบบเต็มจำนวนคือ 2,000 บาท
ส่วน เงินเพิ่ม (ดอกเบี้ย) ที่ต้องจ่ายนั้น จะมีการคิดแตกต่างกันตามช่วงเวลาในการยื่นแบบที่ช้ากว่ากฎหมายกำหนดไว้ ดังนี้ครับ
- กรณียื่นแบบภายใน 2 วัน หลังจากวันที่ต้องยื่นแบบ เสียเงินเพิ่มในอัตรา 0.1% ของภาษีทีต้องชำระ
- กรณียื่นแบบเกินกว่า 2 วัน แต่ไม่เกิน 7 วัน เสียเงินเพิ่มในอัตรา 0.5% ของภาษีทีต้องชำระ
- กรณียื่นแบบช้าเกินกว่า 7 วัน นับแต่วัน ให้เสียเงินเพิ่มในอัตรา 1.5% ต่อเดือนและสูงสุดไม่เกิน 20 % ของเงินภาษีที่ต้องชำระครับ
สรุป

โดยสรุปแล้ว สิ่งที่เราทุกคนต้องรู้ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะของบุคคลธรรมดาหรือประกอบธุรกิจในรูปแบบนิติบุคคลก็ตาม นั่นคือ การยื่น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี และ ภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปี ให้เรียบร้อยภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ รวมทั้งอาจต้องศึกษาวิธีการคำนวณภาษีเพิ่มเติมเพื่อให้การยื่นภาษีนั้นถูกต้องที่สุดครับ
ท้ายที่สุดแล้ว ผมอยากให้มองว่าการยื่นภาษีกลุ่มนี้ไม่ใช่ภาระ แต่เป็นหน้าที่และสิ่งที่เราทุกคนควรรู้และทำความเข้าใจเพื่อที่จะได้ยื่นและเสียภาษีได้อย่างถูกต้อง
เพราะมันคือ หน้าที่ของเรา
TAXBugnoms
ในฐานะผู้เสียภาษีนั่นเองครับ