ถ้า “มรดก” ให้แล้วต้องเสีย “ภาษี”
มิตรสหายผู้ร่ำรวยทรัพย์สินท่านหนึ่ง
แบบนี้เราทยอยๆแบ่งให้ก่อนดีไหม?
ภาษีการรับให้ เป็นคำตอบของคำถามที่ว่า “ทยอยให้ทรัพย์สินแทนได้ไหม” เพราะทุกทีที่พูดถึงคำว่า “ภาษีมรดก” ซึ่งเป็นภาษีต้องเสียเมื่อเจ้ามรดกเสียชีวิต การทยอยแบ่งให้กับลูกหลานแบบนี้อาจจะเป็นอีกโจทย์หนึ่งที่หลายคนคิดไว้ในใจ ซึ่งกฎหมายไทยก็ไม่พลาดกับเรื่องแบบนี้ จึงเป็นที่มาของภาษีตัวนี้ครับ
ภาษีการรับให้ คืออะไร?
ภาษีการรับให้ คือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ประเภทหนึ่งที่เรียกเก็บจากการให้หรือรับจากการรับตามที่กฎหมายกำหนดไว้ โดยเป็นการให้ก่อนที่ผู้ให้จะเสียชีวิตลง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการหลีกเลี่ยง ภาษีการรับมรดก โดยจะเรียกเก็บภาษีที่ผู้ได้รับจะต้องเสียจากทรัพย์สินที่เข้าเงื่อนไขตามกฎหมาย
ถ้าเราพิจารณาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เราจะพบว่าในส่วนของมาตรา 42 แห่งประมวลรัษฏากรที่เป็นการยกเว้นเงินได้ มีการแก้ไขข้อกฎหมาย 3 มาตราเพิ่มเติมดังนี้ครับ
(26) เงินได้จากการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์โดยไม่มีค่าตอบแทนให้แก่บุตรชอบด้วยกฎหมายซึ่งไม่รวมถึงบุตรบุญธรรม เฉพาะเงินได้จากการโอนให้แก่บุตรชอบด้วยกฎหมายนั้น ในส่วนที่ไม่เกินยี่สิบล้านบาทต่อบุตรหนึ่งคนตลอดปีภาษีนั้น (27) เงินได้ที่ได้รับจากการอุปการะหรือจากการให้โดยเสน่หาจากบุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส เฉพาะเงินได้ในส่วนที่ไม่เกินยี่สิบล้านบาทตลอดปีภาษีนั้น (28) เงินได้ที่ได้รับจากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยาหรือจากการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธี หรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี ทั้งนี้ จากบุคคลซึ่งมิใช่บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส เฉพาะเงินได้ในส่วนที่ไม่เกินสิบล้านบาทตลอดปีภาษีนั้น
ซึ่งการแก้ไขข้อกฎหมาย จะมีการเพิ่มประโยคที่แสดงว่า จำนวนเงินที่สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นั้น ต้องไม่เกินตามจำนวนที่กฎหมายกำหนดไว้ ซึ่งจะเห็นว่ามีเพดานอยู่ที่หลักล้าน คือ ยี่สิบล้านบาท และ สิบล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่ถือว่าสูงระดับหนึ่งสำหรับคนธรรมดาคนหนึ่งจะได้รับในแต่ละปีภาษี
อัตราภาษี
หลังจากที่มีการแก้ไขข้อกฎหมายเรื่องการยกเว้นภาษี ยังมีการแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนของการจัดเก็บภาษีส่วนนี้ โดยมีการเพิ่มประโยคเหล่านี้เข้าไปในข้อกฎหมายคือ มาตรา 48 แห่งประมวลรัษฏากร โดยมีการเพิ่มเติมเข้าไปดังนี้ครับ
(5/1) ผู้มีเงินได้จะเลือกเสียภาษีในอัตราร้อยละ 5 ของเงินได้ส่วนที่เกินยี่สิบล้านบาท โดยไม่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีตาม (1) และ (2) ก็ได้ สำหรับเงินได้ตามมาตรา 40 (8) ที่เป็นเงินได้จากการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์โดยไม่มีค่าตอบแทนให้แก่บุตรชอบด้วยกฎหมายซึ่งไม่รวมถึงบุตรบุญธรรม ที่ไม่ได้รับยกเว้นตามมาตรา 42 (26) (6) ผู้มีเงินได้จะเลือกเสียภาษีในอัตราร้อยละ 5 ของเงินได้ส่วนที่เกินยี่สิบล้านบาท โดยไม่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีตาม (1) และ (2) ก็ได้ สำหรับเงินได้ตามมาตรา 40 (8) ที่ได้รับจากการอุปการะ หรือจากการให้โดยเสน่หาจากบุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส ที่ไม่ได้รับยกเว้นตามมาตรา 42 (27) (7) ผู้มีเงินได้จะเลือกเสียภาษีในอัตราร้อยละ 5 ของเงินได้ส่วนที่เกินสิบล้านบาท โดยไม่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีตาม (1) และ (2) ก็ได้ สำหรับเงินได้ตามมาตรา 40 (8) ที่ได้รับจากการอุปการะ โดยหน้าที่ธรรมจรรยาหรือจากการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธีหรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณีทั้งนี้ จากบุคคลซึ่งมิใช่บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส ที่ไม่ได้รับยกเว้นตามมาตรา 42 (28)
ดังนั้นจะเห็นว่ามีความสอดคล้องกันของการแก้ไขข้อกฎหมายเงินได้ที่ได้รับยกเว้นที่ไม่ต้องเสียภาษีตามมาตรา 42 กับ เงินได้ส่วนที่เกินที่ต้องเสียภาษีตามกฎหมายในอัตราตามมาตรา 48 แห่งประมวลรัษฏากร ซึ่งถ้าหากเราประมวลข้อกฎหมายทั้งหมดออกมาเป็นข้อสรุป จะได้รูปดังนี้ครับ

โดยในแต่ละกรณี เราพิจารณาจากหลักการคือ ทรัพย์สินคืออะไร และ ผู้รับคือใคร โดยแยกออกมาเป็นประเด็นสำคัญดังนี้ครับ
- กรณี สังหาริมทรัพย์ทุกประเภทที่คำนวณเป็นเงินได้ เช่น เงินสด ทองคำ ทรัพย์สินต่างๆ ถูกกำหนดให้เสียในอัตรา 5% ของมูลค่าส่วนที่เกิน แต่จะต้องพิจารณาด้วยว่า ผู้ให้และผู้รับเป็นใคร ดังนี้ครับ
- กรณีที่เราเป็นผู้ได้รับจาก บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส จะต้องเสียภาษีในกรณีที่ได้รับเกินกว่า 20 ล้านบาทในแต่ละปี
- กรณีที่เราได้รับจากบุคคลอื่นนอกเหนือจาก บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส จะต้องเสียภาษีในกรณีที่ได้รับเกินกว่า 10 ล้านบาทต่อปี
- กรณี อสังหาริมทรัพย์ทุกประเภท เช่น บ้าน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง ที่ดิน สำหรับกรณีปกติแล้วจะต้องเสียภาษีเมื่อมีการโอนกรรมสิทธิ์ให้ผู้รับอยู่แล้วครับ แต่เนื่องจากกฎหมายมีข้อยกเว้นให้ในกรณีที่่บิดาหรือมารดาผู้โอนกรรมสิทธิ์ให้บุตรชอบด้วยกฎหมายในมูลค่าที่ไม่เกิน 20 ล้านบาท ดังนั้นถ้าหากกรณีบุตรได้รับอสังหาริมทรัพย์จากบิดาหรือมารดาเกินกว่า 20 ล้านบาทเมื่อไร ก็ต้องจะเสียภาษีในอัตรา 5% ของมูลค่าส่วนที่เกินนั่นเองครับ
ประเด็นสำคัญของเรื่องนี้ จะดูที่จำนวนเงินที่ผู้รับได้รับเป็นหลักในแต่ละปีภาษี ไม่ใช่จากผู้ให้ทรัพย์สิน เนื่องจากกฎหมายจะจัดเก็บภาษีจากตัวผู้ที่ได้รับ ซึ่งแตกต่างจากภาษีมรดกที่ดูจากทรัพย์สินของเจ้าของมรดกส่งมอบนั่นเองครับ
การยื่นและชำระภาษี
การยื่นและชำระภาษีนั้นจะใช้ในลักษณะเดียวกันกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยผู้มีหน้าที่ต้องเสียภาษี จะต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด. 90) ภายในกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภายใน 31 มีนาคม ของทุกปี) และสามารถมีทางเลือกแยกเสียภาษีในอัตราร้อยละ 5 หรือจะนำไปรวมคำนวณกับเงินได้ประเภทอื่นก็ได้ โดยจะถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 8 ตามกฎหมายครับ

สรุป
จากทั้งหมดที่ว่ามา เราจะเห็นว่า ภาษีการรับให้ จะเรียกเก็บเมื่อผู้รับนั้นได้รับทรัพย์สินที่มีมูลค่าตามที่กฎหมายกำหนด ดังนั้นทางเลือกในการส่งมอบทรัพย์สินจะมองที่เรื่องของ “มูลค่าที่ได้รับ” และ “ผู้ที่ได้รับ” เป็นหลัก ซึ่งโดยส่วนตัวแล้ว ผมมองว่าเป็นหน้าที่ของทั้งผู้ให้และผู้รับที่ต้องวางแผนภาษีร่วมกัน (เนื่องจากเป็นการส่งมอบ) ซึ่งประกอบด้วยองค์ประกอบหลัก ๆ 3 ข้อ คือ

- รู้ทรัพย์สินว่าเรามีทรัพย์สินอะไรบ้าง เพื่อให้เห็นถึงรายละเอียด ประเภททรัพย์สินต่างๆ และทางเลือกในการส่งมอบที่ผู้ให้จะมอบให้แต่ละคนด้วยวิธีการที่แตกต่างกัน
- รู้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ผมมักจะเน้นในเพจ TAXBugnoms เสมอว่า สิ่งสำคัญของการจัดการวางแผนภาษีทุกประเภท คือ ความเข้าใจในข้อกฎหมายก่อนว่า จะเสียภาษีอย่างไร เสียในกรณีแบบไหนยังไงบ้าง? ซึ่งกฎหมายทั้งหมดของเรื่องนี้ก็ระบุไว้ค่อนข้างชัดเจนระดับหนึ่งครับ
- วางแผนจัดการ เมื่อเราทราบทั้ง 2 ข้อแล้ว เราจึงมาวางแผนจัดการภาษีแบบองค์รวมทั้ง กองมรดก และ วิธีการให้ ที่จะทำให้เราเลือกการส่งมอบทรัพย์สินเพื่อให้ได้รับอย่างคุ้มค่าที่สุด โดยมองถึงความเหมาะสมของค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องในการวางแผนและจัดการภาษีไปด้วยกันครับ
สุดท้ายแล้ว อย่างที่เคยบอกไว้ในบทความก่อนหน้านี้ นั่นคือ สิ่งที่สำคัญที่สุดแม้ว่าเราจะไม่ต้องเสียภาษีการรับให้ หรือชีวิตนีจะไม่เคยมีใครให้เราจนต้องเสียภาษีก็ตาม แต่เรายังควรจัดการข้อมูลทรัพย์สินที่เรามีให้ชัดเจนในระหว่างที่เรามีชีวิตอยู่ และวางแผนส่งมอบให้ผู้ที่เหมาะสมจะได้รับมัน
เพราะนั่นคือสิ่งสำคัญ
TAXBugnoms
มากยิ่งกว่าภาษีเสียอีก