“มนุษย์เงินเดือน อยากยื่นภาษี
มนุษย์เงินเดือนมือใหม่ท่านหนึ่งกล่าว
ต้องทำยังไงบ้าง?”
วิธียื่นภาษีมนุษย์เงินเดือน อาจจะเป็นคำค้นหายอดฮิตสำหรับใครหลายคน แต่ผมเชื่อว่ายังมีอีกหลายคนตั้งคำถามในใจต่อว่า มนุษย์เงินเดือนมีหน้าที่ต้องยื่นภาษีด้วยหรือเปล่า ?
เหตุผลที่ผมพูดแบบนี้ เป็นเพราะว่าผมได้รับคำถามแนว ๆ นี้ส่งมาที่แฟนเพจ TAXBugnoms เป็นประจำตั้งแต่เริ่มทำเพจจนถึงทุกวันนี้ แถมยังมีจำนวนคำถามเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อีกด้วย แต่อย่างไรก็ดี สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะแสดงว่ามีคนสนใจเรื่องภาษีมากขึ้นนั่นเองครับ
3 ข้อควรรู้ก่อนยื่นภาษี
สำหรับมนุษย์เงินเดือนมือใหม่
สำหรับมนุษย์เงินเดือนที่ไม่เคยยื่นภาษีหรือไม่แน่ใจว่าจะเริ่มต้นอย่างไรดี ? ผมแนะนำให้ทำความเข้าใจ 3 ข้อควรรู้ต่อไปนี้ก่อนครับ
มีรายได้เท่าไรต้องยื่นภาษี ?
ถ้ามนุษย์เงินเดือนคนไหนมีรายได้เกินกว่า 120,000 บาทต่อปี ย่อมมีหน้าที่ต้องยื่นภาษีทุกกรณี แม้ว่าจะไม่เสียภาษีก็ตาม เพราะเป็นหน้าที่ที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย ถ้าใครยังไม่เข้าใจว่าเป็นเพราะอะไร ผมแนะนำให้เริ่มต้นอ่านบทความ วิธีคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพื่อให้เข้าใจวิธีการคำนวณภาษีเสียก่อนครับ
ถึงแม้จะออกจากงาน ก็ยังต้องยื่นภาษี
ถ้าใครออกจากงานระหว่างปีก็ต้องยื่นภาษีด้วยนะ นี่คือภารกิจหลักของมนุษย์เงินเดือนทุกคนครับ โดยไม่ว่าจะมีงานใหม่ กลายเป็นฟรีแลนซ์ ตกงาน หรือหนีไปทำธุรกิจส่วนตัว เราต้องเอารายได้ทั้งหมดมายื่นภาษีให้ถูกต้อง ยกตัวอย่างเช่น ถ้าใครเปลี่ยนงานมากกว่า 2 ที่ใน 1 ปี เรายังต้องเอารายได้ทุกที่มารวมกันแล้วยื่นภาษีให้ถูกต้องครับ
นอกจากนั้น ในกรณีที่มนุษย์เงินเดือนบางคนได้รับเงินได้ที่จ่ายให้กรณีออกจากงานที่ทำอยู่เป็นกรณีพิเศษ ตรงนี้ต้องดูให้ดีๆด้วย เพราะมีบางส่วนที่ไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษี ซึ่งต้องเอาเงินส่วนนี้มายื่นภาษีให้ถูกต้องอีกด้วยครับ (ป.ล. ไว้มีโอกาสผมจะเขียนให้อ่านในบทความ ออกจากงานต้องยื่นภาษียังไง อีกทีนะครับ)
มีรายได้อื่น เอามายื่นภาษีด้วยนะ
อย่าลืมว่า เงินเดือนที่เราได้รับ (รวมโบนัสและอื่นๆที่ได้จากการทำงาน) จะถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 1 ตามกฎหมาย ส่วนคนที่มีงานเสริม งานนอก ฟรีแลนซ์ ขายของออนไลน์ หรือมีรายได้ประเภทอื่นที่ไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษี ก็ยังมีหน้าที่เอามารายได้อื่น ๆ เหล่านี้มายื่นเป็นรายได้ด้วย
โดยเราต้องรู้ว่า รายได้ที่ไม่ใช่เงินเดือนแต่ละตัวนั้น ถือเป็นเงินได้ประเภทไหนที่นอกเหนือจากประเภทที่ 1 ด้วยครับ (อ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความ เงินได้พึงประเมิน 8 ประเภท มีอะไรบ้าง?)
เอกสารที่ใช้ในการยื่นภาษี
ที่มนุษย์เงินเดือนทุกคนต้องมี
นอกจาก 3 ข้อที่ว่ามานี้ ยังมีเรื่องเอกสารที่ใช้ในการยื่นภาษีของมนุษย์เงินเดือนที่เราทุกคนต้องมีด้วยนครับ นั่นคือ หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (สรุปรายปี) ที่บริษัทหรือนายจ้างออกให้
โดยปกติแล้วเราต้องได้รับเอกสารใบนี้ภายใน 15 กุมภาพันธ์ของปีถัดไปครับ เช่น เอกสารของปี 2562 จะต้องได้ภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งถ้าบริษัทไหนให้ก่อนก็ถือเป็นเรื่องราวดีๆที่เขามีความใส่ใจพนักงานครับผม (เย่)
สำหรับคนที่ถามว่า แล้วถ้านายจ้างไม่ออกหลักฐานการหักภาษีให้ล่ะ เราสามารถยื่นภาษีได้ไหม? ผมขออธิบายต่อว่า ต่อให้ไม่มีหลักฐานเราก็ยังสามารถยื่นภาษีได้ครับ เพราะตอนที่เรายื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น เรามีหน้าที่แค่กรอกข้อมูลอย่างเดียวครับ (ไม่ต้องส่งเอกสารตอนยื่นภาษี) ส่วนเรื่องการตรวจสอบเอกสารจะเป็นการขอเพิ่มเติมจากทางพี่สรรพากร ในกรณีที่สงสัยว่าข้อมูลที่เรายื่นภาษีไปนั้นไม่ถูกต้องหรือต้องการตรวจสอบเอกสารก่อนคืนภาษีให้กับเราครับ
แต่อย่างไรก็ดี ผมขอยืนยันว่า นายจ้างมีหน้าที่ออกเอกสารการหักภาษี ณ ที่จ่ายให้กับเราอยู่ดีนะครับ หรือถ้าไม่ได้เอกสารจริง ๆ จะลองไปติดต่อขอคัดเอกสารการหักภาษี ณ ที่จ่ายที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่ที่เราอยู่ก็ได้ครับ

ตัวอย่างหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย
สำหรับมนุษย์เงินเดือนที่ได้หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายมาแล้ว ผมอยากให้สังเกตให้ดีครับ เพราะมันมีข้อมูลสำคัญอยู่ 3 ส่วนที่จะใช้ยื่นภาษี คือ เงินได้ทั้งปี ประกันสังคม และ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ถ้ามี) โดยแต่ละยอดมีความสำคัญดังนี้ครับ
- เงินได้ทั้งปี คือ ยอดรายได้ที่เราต้องเอามายื่นภาษีนั่นเองครับ โดยตรงนี้จะต้องกรอกข้อมูลเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของนายจ้างคนที่จ่ายเงินได้ให้เยอะที่สุดในปีนั้นไปด้วยครับ
- ประกันสังคม (ถ้ามี) คือ ยอดที่สามารถนำมาใช้ลดหย่อนภาษีได้ครับ โดยเราจะเอามายื่นในรายการลดหย่อนที่ชื่อว่า กองทุนประกันสังคม ครับ
- กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ถ้ามี) คือ ยอดยอดที่เราสะสมนำส่งเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพในแต่ละปี โดยเราสามารถเอามาลดหย่อนภาษีได้เช่นเดียวกันครับ (หมายเหตุ : หลายคนอาจจะคุ้นกันในชื่อของ PVD มากกว่า)
โดยทั้ง 3 รายการนี้เป็นรายการเบื้องต้น สำหรับคนที่ไม่มีรายการค่าลดหย่อนอื่น ๆ เพิ่มเติมนะครับ แต่สำหรับคนที่มีค่าลดหย่อนมากกว่านี้ ผมแนะนำให้เตรียมเอกสารไว้ให้ครบก่อนยื่นภาษีเลยจะดีกว่าครับ (ถ้าสามารถทำได้จะดีมาก ๆ เลยล่ะครับ)
เอาล่ะครับ ดูสรุปกันอีกที ก่อนที่เราจะไปดูวิธียื่นภาษีมนุษย์เงินเดือนกันต่อครับ

วิธียื่นภาษีมนุษย์เงินเดือน
หลังจากที่เข้าใจหลักการเบื้องต้นของการยื่นภาษีและเอกสารที่เกี่ยวข้องแล้ว เรามาเตรียมตัวยื่นภาษีกันต่อเลยดีกว่าครับ โดยเริ่มจากขั้นตอนแรก นั่นคือ การลงทะเบียนเพื่อยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ลงทะเบียนยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
สำหรับคนที่ไม่เคยยื่นภาษีมาก่อน เราต้องเริ่มต้นจากการลงทะเบียนยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาก่อน โดยเลือกที่เมนูการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาผ่านอินเตอร์เน็ตที่เวปไซด์กรมสรรพากร (หัวข้อ ยื่นผ่านอินเตอร์เน็ต) แล้วกรอกข้อมูลของเราเข้าไปเพื่อลงทะเบียนการใช้งานครับ

เมื่อเข้าสู่หน้านี้ ให้เลือก “ลงทะเบียน”

เข้าสู่ระบบยื่นภาษีผ่านอินเตอร์เน็ต
หลังจากที่ลงทะเบียนยื่นแบบผ่านอินเตอร์เน็ตเสร็จเรียบร้อย เราก็สามารถยื่นภาษีเงินได้ได้ทันทีเลยครับ โดยจะกดเข้าสู่ระบบการยื่นภาษี หรือ เข้าสู่ระบบผ่านทางเวปไซด์ของกรมสรรพากรด้วยตัวเองอีกทีหนึ่งก็ได้เหมือนกันครับผม

ตรวจสอบข้อมูลส่วนตัวให้ดีเสียก่อน
เมื่อเข้าสู่ระบบแล้ว ผมแนะนำให้ตรวจสอบข้อมูลส่วนตัวของเราให้เรียบร้อยครับ ตรงนี้สำคัญมาก เพราะมีผลต่อการขอคืนภาษี ยื่นเอกสารหลักฐานต่าง ๆ เพิ่มเติม ไปจนถึงการติดต่อจากทางกรมสรรพากรอีกด้วยครับ

เลือกสถานะ โสด-สมรส-หม้าย
เมื่อตรวจสอบข้อมูลเรียบร้อยแล้ว จะเป็นการเลือกสถานภาพของเรา (โสด สมรส หรือ หม้าย) โดยคำว่า สมรส หมายถึง การจดทะเบียนสมรสที่ถูกต้องตามกฎหมายนะครับ ไม่ใช่สถานภาพทางพฤติกรรม (ฮ่าๆ) และกรณีคนทีมีคู่สมรสแล้ว ก็ต้องมากรอกข้อมูลการยื่นแบบของคู่สมรสทางด้านขวาให้ถูกต้องอีกด้วยครับ (ไว้จะเขียนบทความการยื่นภาษีสำหรับคนมีคู่อย่างละเอียดอีกทีหนึ่งครับ)

เลือกประเภทเงินได้ และค่าลดหย่อน
มาถึงจุดสำคัญแล้วครับ นั่นคือการเลือกประเภทของเงินได้ที่เรามี แนะนำว่าเลือกให้ครบครับว่าเรามีเงินได้ประเภทไหนบ้าง โดยกรณีรายได้ในส่วนที่เป็นมนุษย์เงินเดือนนั้นให้เลือกข้อ มาตรา 40(1) เงินได้จากการจ้างแรงงาน เช่น เงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง บำนาญ โบนัสฯ หลังจากนั้น ให้ลองตรวจสอบดูด้วยครับว่า เรามีค่าลดหย่อนอะไรบ้าง ซึ่งสามารถกดดูจากเครื่องหมาย ? ทางด้านขวาของแต่ละรายการขึ้นมาเพื่ออธิบายความหมายเพิ่มเติมได้ครับ หรือจะอ่านจากบทความเรื่อง เงินได้พึงประเมิน 8 ประเภท หรือ ค่าลดหย่อนภาษีปี 2563 ก็ได้ครับ

กรอกรายได้แต่ละประเภท และภาษีหัก ณ ที่จ่าย
ถ้าเป็นรายได้ของมนุษย์เงินเดือน เราสามารถเอาข้อมูลมาจาก หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50 ทวิ ที่บอกไว้ชัดเจนครับว่า เรามีรายได้เท่าไร เงินที่จ่ายเข้าประกันสังคม และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ถ้ามี) เป็นยังไงบ้าง เอาตัวเลขทั้งหมดมากรอกให้ถูกต้องได้เลยครับ

นอกจากนั้น เรายังต้องกรอกข้อมูล เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้จ่ายเงินได้ ด้วยครับ ซึ่งก็คือเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร 13 หลังของผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายนั่นเองครับ

อ้อ สำหรับคนที่ออกจากงานระหว่างปี ผมแนะนำให้ติดตามขอเอกสารของที่ทำงานเก่าและที่ทำงานใหม่ เสร็จแล้วก็เอายอดทั้งหมดมาบวกเข้าด้วยกันและยื่นภาษีให้ถูกต้องได้เลยครับ
กรอกข้อมูลค่าลดหย่อนภาษีในปีนั้น ๆ
เนื่องจากเงินได้ประเภทที่ 1 ของมนุษย์เงินเดือนนั้น จะมีการคำนวณค่าใช้จ่ายทางภาษีให้อัตโนมัติครับ (โดยกฎหมายกำหนดให้สามารถหักได้สูงสุดจำนวน 100,000 บาท) แต่ในส่วนของค่าลดหย่อนก็แล้วแต่ว่า ตัวเรามีอะไรบ้างนั่นเองครับ อันนี้ก็แล้วแต่ว่าใครมีอะไรที่สะสมมาในปีนั้น ๆ ก็เอามากรอกให้ครบถ้วนเลยครับผม

อ้อ ในส่วนของเงินบริจาค ต้องกรอกในอีกหน้าหนึ่งนะครับผมเนื่องจากเงินบริจาคทั้งหลายจะนำมาหักในขั้นตอนคำนวณภาษีเป็นตอนสุดท้ายก่อนที่จะได้จำนวนเงินได้สุทธิที่ต้องเสียภาษีครับ

ตรวจสอบข้อมูลการคำนวณภาษี
เมื่อกรอกทุกอย่างเสร็จแล้ว จะมาอยู่ที่หน้าคำนวณภาษีครับ ตรงนี้ระบบยื่นแบบผ่านอินเตอร์เน็ตของกรมสรรพากรจะคำนวณให้เราอัตโนมัติ โดยเรามีหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องอีกทีว่า มีรายการไหนที่ยังไม่ได้กรอกไหม หรือว่าคำนวณภาษีออกมามีตัวเลขผิดปกติหรือเปล่า ?

ในหน้าสุดท้ายนี้ มีประเด็นที่อยากให้รู้เพิ่มเติมอีก 3 เรื่องครับ ได้แก่
- กรณีมีการบริจาคภาษีที่ชำระให้พรรคการเมือง สามารถบริจาคได้สูงสุด 500 บาท (พรรคเดียว) ถ้าเราต้องการบริจาคให้พรรคการเมืองไหนก็เลือกได้เลยครับ แต่ ถ้าไม่ต้องการก็กดไม่ประสงค์บริจาคแล้วผ่านไปครับ
- ถ้ามีจำนวนภาษีที่ต้องชำระเกินกว่า 3,000 บาท เราสามารถเลือกผ่อนได้ 3 งวดครับ โดยปกติเราจะต้องจ่ายในเดือนเมษายน พฤษภาคม และมิถุนายน (แต่ในบางกรณีจะมีการเลื่อนยื่นภาษี เช่น ปี 2563 ให้จ่ายได้เดือนสิงหาคม กันยายน ตุลาคม) และถ้าเรามีบัตรเครดิตก็สามารถเลือกจ่ายภาษีผ่านบัตรเครดิตได้อีกต่อหนึ่งครับ
- ถ้าใครคำนวณภาษีออกมาแล้ว พบว่าตัวเองได้ภาษีคืนและต้องการขอคืนภาษี อย่าลืมเลือกช่องที่เขียนว่า ข้าพเจ้ามีความประสงค์จะขอคืนเงินภาษี ด้วยนะครับ ไม่งั้นจะไม่ได้สิทธิ
โดยในปัจจุบัน กรมสรรพากรมีนโยบายคืนภาษีผ่านพร้อมเพย์ (ที่ผูกกับเลขบัตรประจำตัวประชาชน) ซึ่งถ้าใครต้องการขอคืนภาษีก็อย่าลืมผูกเลขบัตรประชาชนกับเลขบัญชีธนาคารในระบบพร้อมเพย์ให้เรียบร้อยด้วยนะครับ
ยืนยันการยื่นแบบแสดงรายการภาษีประจำปี
ถ้าทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว จะเข้าสู่หน้าสรุปข้อมูลการยื่นภาษีอีกทีครับ ถ้าดูแล้วไม่ติดขัดอะไร ให้กดปุ่ม “ยืนยัน” ได้เลยครับผม

พิมพ์หลักฐาน จ่ายเงิน หรือ รอภาษีที่ได้รับคืน
มาถึงขั้นตอนสุดท้ายแล้วครับ เมื่อยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเรียบร้อยแล้ว ให้พิมพ์แบบแสดงรายการภาษีออกมาก่อนครับ และถ้าใครต้องจ่ายภาษีเพิ่มเติม ทางระบบจะมีหน้าจอให้เลือกวิธีการจ่ายหลากหลายช่องทางครับ ตั้งแต่ ธนาคารออนไลน์ ATM บัตรเครดิต จ่ายชำระที่หน่วยรับชำระ หรือวิธีอื่นๆ ตามที่สะดวกได้เลยครับ
ส่วนคนที่ได้คืนภาษีก็รอต่อไปครับ หรือจะไปตรวจสอบการคืนภาษีที่เวปไซด์กรมสรรพากรก็ได้ครับที่ สอบถามข้อมูลการขอคืนภาษี โดยเราสามารถอัพโหลดข้อมูลเอกสารประกอบการขอคืนภาษีไว้ล่วงหน้าได้เลยครับ

และทั้งหมดนี้ คือ วิธีการยื่นภาษีมนุษย์เงินเดือนที่ทุกคนควรรู้ ซึ่งถ้าใครอยากรับชมในรูปแบบวีดีโอ สามารถดูได้เพิ่มเติมที่คลิป ยื่นภาษีปี 2562 : Ep.2 วิธียื่นภาษีด้วยตัวเอง : ยื่นภาษีมนุษย์เงินเดือน ด้านล่างนี้ได้เลยครับ
สรุป
สุดท้ายแล้ว สิ่งที่เราทุกคนต้องทำความเข้าใจมากกว่าวิธียื่นภาษีมนุษย์เงินเดือน คือ หน้าที่การยื่นภาษีประจำปีของตัวเอง และวิธีการคำนวณภาษีเบื้องต้นอย่างถูกต้อง โดยผมอยากแนะนำให้ทุกคนเริ่มต้นยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของตัวเองให้เป็นตั้งแต่ยังไม่ต้องเสียภาษี เพื่อที่เราจะได้เข้าใจระบบและวิธีการยื่นภาษีได้อย่างถูกต้องตั้งแต่แรก และในวันที่เราต้องเสียภาษีขึ้นมาจริง ๆ เราจะเข้าใจวิธีการยื่นและวิธีการวางแผนภาษีที่ถูกต้อง
เพื่อให้เราบริหารจัดการภาษี
TAXBugnoms
ได้อย่างเหมาะสมที่สุด