พร้อมหรือยัง ? กับระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์และจัดการเอกสารออนไลน์

ภาษีอิเล็กทรอนิกส์

“คุณรู้จักกับพร้อมเพย์ไหมครับ
รู้ไหมว่ามันคือจุดเริ่มต้นของระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์”

ผมมักถามประโยคนี้บ่อยๆ เวลาไปบรรยาย

ถ้าพูดถึงคำว่า “ระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์และจัดการเอกสารออนไลน์” ในตอนนี้ หลายคนคงจะมีคำถามตามมาทันทีว่า “จะใช้เมื่อไร” และ “บังคับใช้ไหม” โดยเฉพาะพวกที่ชื่อขึ้นต้นด้วย e ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น e-withholding Tax, e-Tax invoice และ e-Filing ต่างๆ มากมาย

Advertisements
https://www.facebook.com/142036289155129/posts/4931914620167248/
Advertisements

ระบบต่าง ๆ เหล่านี้จะเริ่มบังคับใช้เมื่อไร?

ถ้าให้ตอบแบบเอาใจทุกคน ผมคงต้องบอกว่า ระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งหมดนี้ ยังเป็นแค่ “ทางเลือก” ไม่ใช่ “ข้อบังคับ” เพราะกฎหมายยังไม่ได้กำหนดชัดว่าต้องใช้เมื่อไร แต่ให้สามารถเลือกใช้ได้ ถ้าหากผู้ประกอบการหรือธุรกิจมีความพร้อมในการเข้าสู่ระบบก็สามารถปรับตัวเพื่อใช้งานได้เลย

อย่างไรก็ดี แม้ว่ากฎหมายจะยังไม่บังคับ แต่ผมกลับเชื่อว่า เราทุกคนควรทำความรู้จักและเข้าใจระบบเหล่านี้ เพราะอาจจะมีสักวันหนึ่งที่กฎหมายกำหนดให้บังคับใช้ หรือ คนตัดสินใจใช้กันเป็นส่วนมากเพราะว่าสะดวกกว่า ถึงแม้ว่ากฎหมายจะไม่บังคับก็ตาม

Advertisements

เอาล่ะครับ เรามาเริ่มต้นทำความรู้จักกับภาพรวมของระบบเหล่านี้กันดีกว่า

ระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ คืออะไร?

ก่อนอื่นต้องขอเล่าย้อนไปยัง โครงการที่ 3 ของยุทธศาสตร์ National E Payment ที่มีชื่อว่า ระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการลดการจัดส่งและจัดเก็บเอกสารแบบกระดาษ และเชื่อมโยงระบบการชำระเงินกับระบบภาษีและการส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว ดังรูปนี้ครับ

ภาษีอิเล็กทรอนิกส์

ซึ่งจากเดิมที่ผ่านมา โครงการนี้ประกอบด้วยโครงการย่อยๆ 3 โครงการ ได้แก่ e-Withholding TAX | e-Tax Invoice & E-Receipt | e-Filing ซึ่งมีรายละเอียดที่แตกต่างกันดังนี้ครับ

Advertisements
e-Withholding TAX
Advertisements

จากข้อมูลสรุปทั้งหมดในตารางนี้ จะเห็นว่าในปัจจุบันมีการเริ่มต้นใช้งานกันไปบ้างแล้ว แต่เราอาจจะยังไม่คุ้นเคยกันสักเท่าไรนัก เนื่องจากยังถูกจำกัดในการใช้งานเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่มีความพร้อมอย่างที่ว่ามา

แต่ถ้าสังเกตให้ดี หลายคนอาจจะเริ่มมองเห็นว่าในช่วงที่ผ่านมานี้มีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ออกมาเรื่อย ๆ เช่น มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์หรือ การดำเนินนโยบายเชิงรุกของกรมสรรพากรเพื่อนำเสนอระบบต่าง ๆ เหล่านี้ รวมถึงการปรับเปลี่ยนด้านเทคโนโลยีต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับภาคธุรกิจมากยิ่งขึ้น

ถ้หากถามความเห็นผมที่มีต่อเรื่องนี้แล้วล่ะก็ ผมเชื่อว่าในอนาคตระบบเหล่านี้จะต้องมา เพียงแต่ว่าจะช้าหรือเร็วนั้นอยู่ที่ความเหมาะสมของเวลาและโอกาสมากกว่า ซึ่งในช่วงโควิดที่ผ่านมาก็พอจะบอกได้อยู่ว่า จริงๆ เทคโนโลยีที่มีนั้นพร้อมแล้ว เพียงแต่รอการปรับตัวที่เหมาะสมเท่านั้น

ทีนี้เรามาทำความรู้จักกับนโยบายต่าง ๆ ในตัวที่น่าสนใจกันก่อนครับ โดยผมขอเริ่มจากตัวแรก นั่นคือ e-Withholding TAX กันก่อนครับ

e-Withholding TAX คืออะไร?

e-withholding Tax คือ ระบบที่ออกแบบมาเพื่อเปลี่ยนแปลงการจัดการ ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ การทำหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายของผู้จ่าย การออกหนังสือรับรอง และการนำส่งข้อมูลให้กับกรมสรรพากร ของผู้ประกอบการที่มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย โดยมอบหน้าที่และความรับผิดชอบไปให้กับธนาคารเป็นผู้ดำเนินการแทน

นี่คือนิยามสั้น ๆ ของระบบ e-withholding Tax ซึ่งถ้าเราพิจารณาดูจะเห็นว่าหน้าที่ต่าง ๆ จะมีการเปลี่ยนแปลงออกมาในรูปด้านล่างนี้ครับ

การหักภาษี ณ ที่จ่าย กับระบบ e-Withholding TAX

ถ้าให้พูดง่าย ๆ ก็คือ ระบบ e-withholding Tax มอบอำนาจหน้าที่การจัดทำทุกอย่างตั้งแต่การหักภาษี จัดทำเอกสาร ไปจนถึงการนำส่งภาษีให้สรรพากร รวมถึงรายงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้กับธนาคารเป็นผู้จัดทำทั้งหมด ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการลดภาระ และต้นทุนในการจัดทำเรื่องเหล่านี้ไปได้นั่นเองครับ

ถ้ามาดูทางฝั่งผู้รับเงินกันบ้าง จะเห็นว่าระบบนี้ไม่ได้มีผลกระทบอะไรโดยตรงกับผู้รับเงินเลย นอกเสียจากว่าต้องมีการรับเงินผ่านธนาคารเท่านั้น ส่วนทางด้านภาษีก็ได้รับหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายเหมือนเดิม เพียงแต่รับผ่านธนาคารเท่านั้นเองครับ

จากข้อมูลล่าสุด ณ ปัจจุบัน (วันที่ 8 ตุลาคม 2563) มีธนาคารที่ให้บริการจำนวน 9 รายดังนี้ครับ

ธนาคารที่ให้บริการจำนวน 9 ธนาคาร

และถ้าหากใครสนใจข้อมูลเพิ่มเติม สามารถดูรายละเอียดและสมัครบริการใช้งานได้ที่ epay.rd.go.th ครับ

epay.rd.go.th

หลังจากที่ รู้จักกับตัวแรกกันไปแล้ว เรามาทำความรู้จักกับตัวที่สองกันต่อเลย นั่นคือ e-TAX invoice และ e-Receipt หรือในชื่อภาษาไทยว่า ใบกำกับภาษีและใบรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ ครับ

e-TAX invoice และ e-Receipt คืออะไร?

ถ้าให้นิยามตามข้อกฎหมายเลย คงต้องบอกว่ามันคือ ใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร รวมถึง ใบเพิ่มหนี้ตามมาตรา 86/9 และใบลดหนี้ตามมาตรา 86/10 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งได้มีการจัดทำข้อความขึ้นเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ และลงลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature) หรือได้มีการประทับรับรองเวลา (Time Stamp) ด้วยระบบ e-Tax Invoice by Email และ ใบรับตามมาตรา 105 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ที่ได้มีการจัดทำข้อความขึ้นเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งได้ลงลายมือชื่อดิจิทัลด้วยวิธีการที่กรมสรรพากรกำหนด

แต่ถ้าให้พูดง่าย ๆ สั้น ๆ e-TAX invoice และ e-Receipt คือ ใบกำกับภาษีและใบเสร็จรับเงินประเภทหนึ่ง ที่ผู้ประกอบการสามารถออกในรูปแบบอิเล็กทรอนิคส์และเก็บข้อมูลในรูปแบบออนไลน์ โดยที่ไม่ต้องใช้กระดาษอีกต่อไป เพียงแต่การออกและจัดทำเอกสารเหล่านี้ ต้องเป็นไปตามแนวทางที่กฎหมายกำหนดไว้นั่นเองครับ

นอกจากนั้นยังต้องบอกว่า ระบบ e-TAX invoice และ e-Receipt นั้นเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2555 เพียงแต่ว่าในช่วงที่ผ่านมายังไม่ได้มีการใช้มากสักเท่าไรนัก เนื่องด้วยเทคโนโลยีและต้นทุนในช่วงนั้นที่ไม่เอื้ออำนวย แต่เมื่อเวลาผ่านไป การใช้งานต่าง ๆ ก็เริ่มเข้าที่เข้าทางมากขึ้น จนเกิดมาเป็นระบบในปัจจุบันครับ

ระบบ e-TAX invoice และ e-Receipt

ถ้าดูจากข้อมูลในเวปไซด์ etax.rd.go.th เราจะเห็นว่ามีขั้นตอนสำคัญอยู่ 3 ส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ นั่นคือ

  • การลงทะเบียน หรือ เริ่มใช้งาน โดยจะมีเนื้อหาเรื่องการยื่นคำขอ จัดทำ รายชื่อของผู้ให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการระบบใบรับรองอิเล็กทรอนิคส์ ไปจนถึงโปรแกรมต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการใช้งาน
  • การนำส่งข้อมูลต่าง ๆ เนื่องจากระบบทั้งหมดนั้นต้องมีการเชื่อมโยงหรือนำส่งข้อมูลให้กับกรมสรรพากร ซึ่งปัจจุบันมีทางเลือกในการนำส่งข้อมูลอยู่ 3 ทางได้แก่ Upload XML, Service Provider และ Host to Host (ซึ่งรายละเอียดในเรื่องการนำส่งต่าง ๆ เหล่านี้ ผมกำลังเขียนบทความเพิ่มเติมเพื่ออธิบายอยู่ครับ หากเสร็จแล้วคงได้อ่านเพิ่มเติมกัน)
  • ข้อมูลอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ข้อกฎหมาย แหล่งความรู้ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบ

ดังนั้นหากใครสนใจเริ่มใช้งานระบบนี้ ก็ลองดูรายละเอียดเพิ่มเติมจากเวปไซด์ข้างต้น หรือ ติดต่อสอบถาม Service Provider ที่ได้รับอนุมัติจากกรมสรรพากรได้เหมือนกันครับ

อย่างไรก็ดี สำหรับคนที่ไม่พร้อมใช้ระบบ e-Tax Invoice และ e-Receipt กรมสรรพากรยังมีอีกทางหนึ่งให้ใช้ นั่นคือ e-Tax invoice by email ซึ่งเป็นระบบที่สร้างขึ้นมาสำหรับธุรกิจขนาดเล็กที่มีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาทให้สามารถจัดทำใบกำกับภาษีในรูปแบบ File ทั่วไปอย่าง Word, Excel หรือ PDF และใช้วิธีการประทับรับรองเวลา หรือ Time Stamp เข้ามาตรวจสอบการส่งข้อมูลใบกำกับภาษี เพื่อยืนยันและพิสูจน์ความถูกต้องของข้อมูล โดยส่งสำเนา (CC) ผ่านระบบของตัวกลางอย่างสพธอ หรือ ETDA เพื่อให้รับรองเวลาในการส่งได้อย่างถูกต้องนั่นเองครับ (สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมในส่วนนี้ ผมกำลังเขียนบทความเพิ่มเติมเพื่ออธิบายเช่นกันครับ)

ทีนี้เรามาถึงตัวสุดท้ายที่อยากแนะนำกันบ้าง แม้ว่าจะเป็นตัวที่อยู่กับเรามานานแล้ว แต่คาดว่าจะมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเรื่อย ๆ นั่นคือ e-Filing หรือระบบการนำส่งภาษีแบบออนไลน์

e-Filing คืออะไร?

e-Filing คือ การยื่นแบบแสดงรายการภาษีทั้งหมดในรูปแบบออนไลน์ เพื่อเปลี่ยนจากระบบเดิมที่เป็นระบบการยื่นโดยส่งเอกสารด้วยตนเองในรูปแบบกระดาษที่ต้องเสียเวลาทั้งการเดินทาง ต้นทุนเอกสารต่างๆ และใช้ระยะเวลานานในการจัดการเรื่องการจัดเก็บข้อมูล

เราจะเห็นว่าทางกรมสรรพากรเองมีแนวโน้มผลักดันเรื่องนี้มาโดยตลอด และถูกกระตุ้นให้พัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ ตามระดับของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมา เชื่อว่าหลายคนคงได้เห็นนโยบายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เช่น TAX From Home ไปจนถึงสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ในการยื่นแบบผ่านอินเตอร์เน็ตที่ได้รับ ไม่ว่าจะเป็นการขยายระยะเวลาต่าง ๆ หรือโอกาสในการได้รับเงินคืนภาษีที่รวดเร็วขึ้น ซึ่งตรงนี้เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ต้องติดตามกันไป และผมเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่จะตามมาต่อจากนี้ ย่อมมีผลกระทบต่อระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ในอนาคตอย่างแน่นอนครับ

e-filing

สรุป

ผมอยากสรุปสั้น ๆ สำหรับเรื่อง ระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์และจัดการเอกสารออนไลน์ ว่า ณ ตอนนี้สิ่งที่เราทุกคนต้องคิดให้ดี คือ การเตรียมตัว มากกว่าครับ เพราะผู้ประกอบการทุกคน คงไม่สามารถมองแค่เรื่องของการจัดการภาษี หรือวางแผนภาษีเพื่อประหยัดภาษีเหมือนในช่วงที่ผ่านมา แต่มันคือการปรับตัวสู่การบริหารจัดการด้านค่าใช้จ่าย ต้นทุนที่มีผลกระทบต่อการบริหารจัดการภาษีไปพร้อม ๆ กัน

ดังนั้น เราควรเปลี่ยนมุมมองว่า เรื่องเหล่านี้มันเป็นการปรับตัวสู่โลกยุคใหม่ ที่ใครปรับตัวได้ก่อนนั้น ก็ย่อมที่จะเป็นผู้ชนะในเกมส์นี้ครับ และนี่คือเหตุผลที่ผมตั้งชื่อบทความไว้แบบนี้ เพราะอยากให้ทุกคนถามตัวเองอีกสักทีว่า …

วันนี้เราเตรียมตัวให้พร้อมหรือยัง ?
กับระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์และจัดการเอกสารออนไลน์

TAXBugnoms

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Allow