พระต้องเสียภาษีไหม? วัดต้องจ่ายภาษีหรือเปล่า?
เรามองเห็นอะไรจากคำถามนี้ ?
เวลาได้ยินได้ฟังคำถามอย่าง พระต้องเสียภาษีไหม? หรือ วัดเสียภาษีหรือเปล่า? สำหรับบางท่านอาจจะมองว่าเป็นการลบหลู่ศาสนาหรือไม่สมควร แต่สำหรับตัวผมแล้ว คิดว่าประเด็นเหล่านี้น่าสนใจตรงที่ เราสามารถเรียนรู้ภาษีอะไรจากเรื่องนี้ได้บ้าง ?
หากลองพิจารณาคำถามทั้งสองข้อ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ “พระ” หรือ “วัด” ผมคิดว่าเราควรพิจารณากันที่ประเด็นของการจัดการภาษีเงินได้เป็นหลัก (เพราะถ้ามองจากภาษีมูลค่าเพิ่ม เราก็จะได้คำตอบว่าทั้งสองกรณีนี้น่าจะต้องจ่ายภาษีในฐานะผู้บริโภคหรือผู้ที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม)
ดังนั้นบทความนี้ จะขอพาไปสู่คำถามในเรื่องของ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และ ภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งเราสามารถแยกประเด็นสำคัญในการตอบคำถามนี้ออกเป็น 3 ประเด็นดังนี้
ประเด็นที่ 1 นิยามของ บุคคลธรรมดา และ นิติบุคคล
ถ้าเริ่มต้นจากคำว่า บุคคลธรรมดา ย่อมหมายถึง คนซึ่งมีสิทธิและหน้าที่ได้ตามกฎหมาย ซึ่งการมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายได้นั้น ก็ต้องมี “สภาพบุคคล”
โดย “สภาพบุคคล” ที่ว่านี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 15 ได้ให้ความหมายไว้ว่า “สภาพบุคคลย่อมเริ่มแต่เมื่อคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารกและสิ้นสุดลงเมื่อตาย ทารกในครรภ์มารดาก็สามารถมีสิทธิต่างๆได้ หากว่าภายหลังคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารก”

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ลักษณะ 2 บุคคล หมวด 1 บุคคลธรรมดา ส่วนที่ 1 สภาพบุคคล
ดังนั้น ถ้าหากว่าพระสงฆ์ท่านยังมีชีวิตอยู่ เราย่อมถือว่ายังมี “สภาพบุคคล” ที่ครบถ้วน ต่อจากนี้เราก็ต้องกลับมาดูเรื่องสิทธิและหน้าที่กันต่อว่า พระสงฆ์มีสิทธิตามกฎหมายหรือถูกจำกัดสิทธิอะไรบ้างหรือไม่เกี่ยวกับเรื่องของภาษี ซึ่งจากการค้นหาช้อมูลเพิ่มเติมก็พบว่า มาตรา 106 ในรัฐธรรมนูญ ข้อ (2) ได้กำหนดให้พระภิกษุ สามเณร นักพรตและนักบวช เป็นบุคคลต้องห้าม มิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว แต่ไม่ได้จำกัดถึงเรื่องการเสียภาษีไว้
ลองกลับมาดูทางฝั่งของ “นิติบุคคล” อย่างวัดกันบ้าง หากพิจารณาตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ซึ่งระบุไว้ชัดในหมวด 5 มาตรา 31 ว่า วัดมีฐานะเป็นนิติบุคคล และเจ้าอาวาสเป็นผู้แทนของวัดในกิจการทั่วไป

พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535
หมวด 5 มาตรา 31
แต่สิ่งที่เราต้องตั้งคำถามต่อไปจากคำตอบในประเด็กแรก คือ ทั้ง “พระ” และ “วัด” นั้น ถือเป็นบุคคลที่มีหน้าที่เสียภาษีหรือไม่ ซึ่งต้องไปดูกันต่อที่กฎหมายภาษีอย่างประมวลรัษฎากรครับ
ประเด็นที่ 2 หน้าที่ในการเสียภาษีเงินได้
ในส่วนของบุคคลธรรมดา ประมวลรัษฎากรได้กำหนดว่า ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ได้แก่ ผู้ที่มีเงินได้เกิดขึ้นระหว่างปีที่ผ่านมาโดยมีสถานะ อย่างหนึ่งอย่างใด ต่อไปนี้
- บุคคลธรรมดา
- ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
- ผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี
- กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง
- วิสาหกิจชุมชน ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน
ถ้าเชื่อมโยงระหว่าง ประเด็นแรก และ ประเด็นที่สอง ในส่วนของ “พระ” ที่เป็น “บุคคลธรรมดา” เราย่อมได้ข้อสรุปว่า พระเป็นผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หากมีเงินได้เกิดขึ้นในระหว่างปี

วิธีคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
สำหรับบุคคลธรรมดาทุกคนที่มีหน้าที่เสียภาษี
แต่ถ้าหากเรามาดูข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ “ผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล” กันบ้างเราจะเห็นชัดเจนว่าไม่มีนิติบุคคลที่เรียกว่า “วัด” รวมอยู่ในนั้น แต่มีเพียงแค่กลุ่มต่อไปนี้ครับ
- บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย
- บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ
- กิจการซึ่งดำเนินการเป็นทางค้าหรือหากำไร
- กิจการร่วมค้า (Joint Venture)
- มูลนิธิหรือสมาคมที่ไม่ใช่องค์การหรือสถานสาธารณกุศล
- นิติบุคคลอื่น (เช่น ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย)
สำหรับกรณีของวัด เมื่อไม่ใช่นิติบุคคลตามกฎหมายภาษีอย่างประมวลรัษฏากร ก็แปลได้เลยว่า วัดไม่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล แม้ว่าจะมีรายได้มากแค่ไหนก็ตาม
ส่วนเรื่องของการรายงานข้อมูลต่าง ๆ นั้น ผมพบว่ามีเพียงแต่การทำบัญชีรายรับรายจ่ายของวัดส่งถึงสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดทุกๆ 1 ปีเท่านั้น (อ้างอิง มติมหาเถรสมาคม มติที่ ๔๐๗/๒๕๕๘) ซึ่งตรงนี้ย่อมไม่อยู่ในอำนาจและขอบเขตของกรมสรรพากรที่จะไปเก็บภาษีจากวัดได้
นอกจากนั้น วัดยังเป็นนิติบุคคลที่ไม่จำเป็นต้องมีผู้ตรวจสอบบัญชี แต่วัดจะอยู่ในการกำกับดูแลของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม และกรมการศาสนา ที่ทำหน้าที่ดูแลและจัดการหากมีปัญหาใด ๆ เกิดขึ้น
ดังนั้นในประเด็นที่สอง เราจะได้ข้อสรุปว่า พระถือเป็นบุคคลธรรมดาที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (หากมีเงินได้) ในขณะที่วัดไม่ใช่นิติบุคคลที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล
แต่เชื่อว่าคำตอบนี้ก็ยังค้านสายตาใครหลายคนที่ตั้งคำถามในใจขึ้นมาว่า แต่เราไม่เคยเห็นพระเสียภาษีเลยนะ ซึ่งจะมาตอบกันต่อในประเด็นที่สามกันต่อครับ นั่นคือ ประเภทของเงินได้และการยกเว้นตามกฎหมาย
ประเด็นที่ 3 ที่มาของเงินได้ และการคำนวณภาษีตามกฎหมาย
ทุกคนคงทราบกันดีว่า รายได้หลักของพระสงฆ์นั้น มักจะมาจากรายได้จากการทำบุญตามศรัทธาของญาติโยมทั้งหลาย ทั้งในรูปแบบของสิ่งของและปัจจัย (เงิน) ผ่านทางการบิณฑบาตร กิจนิมนต์ และอื่นๆตามโอกาสและพิธีทางศาสนา
ซึ่งประเด็นนี้หากตีความตามข้อกฎหมายที่ยกเว้นเงินได้ (แปลว่า ต่อให้มีรายได้แต่ก็ไม่ต้องเอารายได้ส่วนนี้มาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา) พบว่าน่าจะมีข้อกฎหมายที่เข้าเงื่อนไขอยู่ 2 ข้อคือ
(๒๘) เงินได้ที่ได้รับจากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยาหรือจากการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธี หรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี ทั้งนี้ จากบุคคลซึ่งมิใช่บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรสเฉพาะเงินได้ในส่วนที่ไม่เกินสิบล้านบาทตลอดปีภาษีนั้น
(๒๙) เงินได้ที่ได้รับจากการให้โดยเสน่หาที่ผู้ให้แสดงเจตนาหรือเห็นได้ว่ามีความประสงค์ให้ใช้ เพื่อประโยชน์ในกิจการศาสนา กิจการศึกษา หรือกิจการสาธารณประโยชน์ ตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
จากข้อกฎหมายข้างต้นคงพอจะสรุปได้ว่า ถ้าหากเป็นการให้โดยธรรมเนียมประเพณี หรือ เพื่อประโยชน์ในกิจการศาสนา ก็จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีโดยบริสุทธิ์ใจ ดังนั้น จึงเป็นคำตอบที่สรุปได้ว่า เหตุผลที่พระไม่เสียภาษีนั้น ไม่ใช่เพราะพระเป็นพระ ไม่ใช่เพราะพระไม่มีเงินได้ แต่เป็นเพราะว่าเงินได้ที่พระได้รับนั้น ได้รับสิทธิ์ยกเว้นตามกฎหมาย จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ดังนั้นหากคิดต่อไปว่า หากพระมีรายได้ในลักษณะที่เป็น “เงินเดือน” หรือ รายได้จากหน้าที่การงานที่ทำ (ตรงนี้ไม่ได้พิจารณาประเด็นเรื่องผิดวินัยหรือไม่ แต่มองในมุมของภาษี) นั่นย่อมแปลว่า เงินได้ส่วนนี้ต้องนำมารวมเพื่อคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามปกติ เพราะไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีนั่นเองครับ
พระภิกษุสงฆ์ได้รับเงินเดือนจากมหาวิทยาลัยฯ ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว ซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร และไม่มีกฎหมายใดยกเว้นภาษีเงินได้ให้ดังนั้น พระภิกษุสงฆ์จึงต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 56 วรรคแรก แห่งประมวลรัษฎากร อ้างอิงหนังสือที่ กค 0811/9414 วันที่ 26 กันยายน 2544 เรื่อง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีพระสงฆ์ได้รับเงินเดือน
บทสรุป เป็นพระต้องเสียภาษีไหม?
และทำไมสรรพากรถึงไม่เก็บภาษีวัด?
มาถึงตรงนี้ เราจึงได้บทสรุปทั้งหมดว่า พระถือเป็นบุคคลธรรมดาที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ และจะเสียเมื่อมีเงินได้ที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีถึงเกณฑ์เหมือนกับบุคคลธรรมดาทั่วไปอย่างเรา ๆ ในขณะที่วัดนั้นไม่ใช่นิติบุคคลที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ตั้งแต่แรก จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล
และเรื่องราวทั้งหมดนี้ก็คือประเด็นเกี่ยวกับเรื่องของพระสงฆ์กับการเสียภาษีที่หลายคนมักจะสงสัย ซึ่งผมมองว่าถ้าเราตัดความรู้สึกที่มีต่อบุคคล และพฤติกรรมออกไป จะทำให้เราสามารถเรียนรู้และทำความเข้าใจเรื่องภาษีได้อีกทางหนึ่งครับ
อย่างไรก็ตาม
TAXBugnoms
การบริจาคให้วัดสามารถลดหย่อนภาษีได้นะครับ