จดบริษัท เมื่อไรดี ? สรุปสิ่งที่เจ้าของธุรกิจควรรู้ก่อนตัดสินใจ

จดบริษัทดีไหม?

“ถ้าผมมีกำไรเท่านี้ ผมควรจดบริษัทเลยไหม”
ถ้าตอบว่าใช่ จะเชื่อเลยหรือเปล่าครับ ?

ผมมักจะถามกลับไปแบบนั้นเพราะสงสัย

จดบริษัท เมื่อไรดี? หรือ มีรายได้เท่าไรควรเปลี่ยนเป็นนิติบุคคล? เป็นคำถามที่เราได้ยินบ่อย ๆ ในทุกครั้งที่พูดถึงเรื่องการวางแผนภาษี และถือเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ใช้ในการตัดสินใจของเจ้าของธุรกิจในการขยายกิจการ ซึ่งบทความนี้จะมาอธิบายทุกแง่ในมุมการตัดสินใจแบบครบถ้วนในการตัดสินใจให้พิจารณากันครับ

Advertisements
สำหรับคนที่ไม่มีเวลา สามารถเลือกอ่านเฉพาะหัวข้อที่สนใจได้เลยครับ

เราควรตัดสินใจจดบริษัทจากอะไร ?

ก่อนที่จะไปถึงมุมของประเด็นด้านภาษี ผมอยากชวนคิดถึงประเด็นสำคัญในเรื่องต่อไปนี้ก่อน เพื่อที่จะชวนให้ตัดสินใจได้อย่างถูกต้องครับ ซึ่งได้แก่ 5 ประเด็นสำคัญดังต่อไปนี้ครับ

รายได้ธุรกิจในปัจจุบันเรามากแค่ไหน?

ยิ่งรายได้เยอะ ยิ่งควรจะจดบริษัทหรือเป็นนิติบุคคล เพราะมันมีผลกระทบทั้งในเรื่องการบริหารจัดการ ความน่าเชื่อถือ และจำเป็นที่เราจะต้องมีข้อมูลบัญชีที่ถูกต้องในการตัดสินใจ ซึ่งคำว่าเยอะที่ว่านี้อาจจะมองในหลักหลายล้านขึ้นไป รวมถึงความสม่ำเสมอของรายได้ที่ได้รับก็เป็นอะไรที่ต้องเอามาพิจารณาด้วยครับ

Advertisements

ค่าใช้จ่ายทั้งหมดมีหลักฐานไหม?

ถ้าการทำธุรกิจของเราไม่มีหลักฐานค่าใช้จ่ายต่างๆ เนื่องจากธุรกิจเราทำกับรายย่อยหรือบุคคลธรรมดาที่ไม่ได้มีข้อมูลเอกสารหลักฐานครบ และเราอาจจะมองว่าไม่คิดจะเติบโตสร้างระบบมากกว่านีเพื่อให้มีเอกสารหลักฐานให้ยุ่งยาก แบบนี้จะเห็นว่าการเป็นบุคคลธรรมดาเหมือนเดิมอาจจะเป็นคำตอบที่ตามหาก็ได้ครับ เพราะอย่างน้อยในทางภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เราอาจจะสามารถเลือกหักค่าใช้จ่าย 60% แบบเหมาในการคำนวณภาษีได้ ซึ่งจะสะดวกและง่ายในการจัดการมากกว่าครับ

อนาคตธุรกิจเติบโตแค่ไหน?

ถ้ามั่นใจว่าธุรกิจเราเติบโตและยิ่งใหญ่ รายได้หลักสิบล้าน ร้อยล้านมาแน่ ๆ ในอนาคต แบบนี้ก็จดนิติบุคคลไปเลยก็ได้ เพราะยังไงก็ต้องจดอยู่ดีในสักวันหนึ่ง จดวันนี้เลยดีกว่าไม่เสียเวลา และข้อดีของการจดนิติบุคคลไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ จะทำให้เราเห็นภาพรวมตั้งแต่การเริ่มต้นจนเติบโต ซึ่งจะช่วยให้เราเข้าใจภาพรวมของภาษีที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจได้ดีขึ้นตั้งแต่เนิ่น ๆ ครับ

มีหุ้นส่วนไหมหรือตั้งใจจะมีหุ้นส่วนในอนาคต

ถ้าหากว่าเรามีหุ้นส่วนที่ช่วยกันทำมา การทำธุรกิจในรูปแบบบุคคลธรรมดาน่าจะมีปัญหาในอนาคตอยู่ดี เพราะมันแบ่งสรรกันลำบาก กระจายรายได้ก็อาจจะโดนสรรพากรตรวจสอบได้ ถ้าจะเลือกเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญแบบบุคคลธรรมดา อาจจะมีปัญหาเรื่องแบ่งกำไรเสียภาษีซ้ำซ้อนด้วย ดังนั้นการเลือกเป็นนิติบุคคลน่าจะดีกว่าสำหรับกรณีนี้ครับ

Advertisements

ต้องการสินเชื่อ ผู้ร่วมทุน หรือ กระแสเงินสดไหม?

หากลองมองในมุมของการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน การเป็นบริษัท หรือ นิติบุคคลนั้นมีประโยชน์มากกว่า เพราะมีทั้งเรื่องของความน่าเชื่อถือ ข้อมูลต่างๆ เช่น งบการเงิน โครงการ แผนธุรกิจ หรือโอกาสได้รับกระแสเงินสดในอนาคต สามารถทำให้ผู้ให้สินเชื่อ หรือ คนที่จะมาร่วมทุนใช้ข้อมูลเหล่านี้ในการวิเคราะห์และตัดสินใจได้ง่ายขึ้นครับ

รวมถึงกรณีที่เป็นบริษัท อาจจะสะดวกในการขอสินเชื่อและการค้ำประกันต่างๆ สำหรับธุรกิจโดยตรง และมแนวโน้มที่จะเสียดอกเบี้ยในอัตราที่ต่ำกว่าสินเชื่อส่วนบุคคลครับ

เห็นไหมครับว่า สิ่งที่สำคัญจริงๆ นั้นไม่ใช่แค่เรื่องของ “ภาษี” แต่มันคือการเข้าใจภาพรวมของธุรกิจ การจัดการชีวิตและ เป้าหมายของแต่ละคนที่มีมุมมองแตกต่างกันออกไป ซึ่งคำตอบทีดีที่สุดของแต่ละคนไม่เหมือนกัน และมันอยู่ที่การตอบคำถามของเรานั่นแหละครับว่า เรารู้จักธุรกิจของตัวเองดีแค่ไหน ?

ถ้าอยากจะเปรียบเทียบในมุมของการจัดการภาษี
ควรพิจารณาดูประเด็นอะไรบ้าง?

ทีนี้ถ้าหากอยากจะมองในมุมของการจัดการภาษีกับการจดบริษัทบ้าง ผมขออนุญาตอธิบายผ่านตัวอย่างต่อไปนี้ครับ

สมมติว่า นายบักหนอมทำธุรกิจขายของออนไลน์แบบซื้อมาขายไป และมีข้อสงสัยว่าควรจะเสียภาษีรูปแบบไหนดี ระหว่าง การเปลี่ยนเป็นบริษัท (นิติบุคคล) หรือ อยู่ในฐานะบุคคลธรรมดาแบบเดิมดี

โดยนายบักหนอมมีข้อเท็จจริงดังต่อไปนี้

  • รายได้ที่ได้รับทั้งปี คือ 10 ล้านบาท
  • ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง คือ 8 ล้านบาท (มีหลักฐาน)

ถ้าลองคำนวณ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และ ภาษีเงินได้นิติบุคคล เปรียบเทียบกัน จะได้ข้อมูลทั้งหมดออกมาดังนี้ครับ

จดบริษัท
Advertisements

จากตารางจะเห็นว่า กรณี บุคคลธรรมดา ถ้าเลือกหักค่าใช้จ่ายเหมา 60% และไม่วางแผนภาษีใดๆเลย จะเสียภาษีทั้งหมด 947,000 บาท และหากเลือกหักค่าใช้จ่ายจริง จะเสียภาษีทั้งหมด 350,000 บาท (ทั้งสองกรณีจะเสียจากวิธีเงินได้สุทธิ เนื่องจากได้จำนวนเงินภาษีที่มากกว่าวิธีเงินได้พึงประเมิน)

 ในขณะที่นิติบุคคลจะเสียภาษีจำนวน 400,000 บาท (อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล คือ 20%) แต่ถ้าหากเป็นธุรกิจที่เข้าข่าย SMEs ได้รับสิทธิ์ยกเว้นภาษีในส่วนของกำไรที่ไม่เกิน 300,000 บาทแรก และลดภาษีเหลือ 15% ในช่วงของกำไรตั้งแต่ 300,001 – 3,000,000 บาทแล้วละก็ กิจการนี้จะเหลือภาษีที่ต้องเสียเพียงแค่ 255,000 บาทเท่านั้นครับ

สำหรับคนที่ไม่เข้าใจเรื่องของการคำนวณ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และ ภาษีเงินได้นิติบุคคล ผมแนะนำศึกษาเพิ่มเติมจากบทความ วิธีคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และ วิธีคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล ก่อนนะครับ หรือจะดูคลิปด้านล่างนี้ประกอบกันก็ได้เช่นกันครับ

Advertisements

ถ้าหากพิจารณาจากตัวเลขภาษีเงินได้ที่คำนวณตามตัวอย่างข้างต้นนี้ หลายคนจะตอบคำถามได้ทันทีว่า เราควรเลือกทำธุรกิจในรูปแบบบริษัทดีกว่าเพราะว่าเสียภาษีน้อยกว่า ไม่ว่าจะเป็น SMEs หรือไม่ก็ตาม

แต่ความเป็นจริงแล้วมันมีอะไรซ่อนอยู่มากกว่านั้น ซึ่งมันคือเรื่องของข้อเท็จจริงในการวางแผนจัดการภาษีที่หลายคนอาจจะยังไม่ทราบดังต่อไปนี้ครับ

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ปัญหาของการหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน

ในกรณีของการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น เรามีข้อเท็จจริงที่ยังไม่ทราบ และมีผลต่อการตัดสินใจในการเลือกรูปแบบและคำนวณภาษี อีก 2 ประเด็น คือ

การหักค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษี

โดยปกติแล้วธุรกิจนี้สามารถใช้ ค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษี จาก “ค่าใช้จ่ายจริง” ได้หรือไม่ (มีหลักฐานเพียงพอที่จะยืนยันว่าเป็นรายจ่ายจริง และมีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจหรือไม่) หรือว่าจำเป็นต้องคำนวณภาษีตามวิธีหัก “ค่าใช้จ่ายเหมา 60%” ซึ่งถ้าหากเป็นแบบนั้น กำไรที่แท้จริงของธุรกิจที่ว่ามา อาจจะไม่มีผลกับการคำนวณภาษี เพราะสุดท้ายแล้วเราคำนวณจากการหักค่าใช้จ่ายเหมาแทน ซึ่งต้องเสียภาษีในจำนวนที่สูงกว่ามาก

การหักค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้บุคคลค

การหักค่าลดหย่อนในการคำนวณภาษี

ตัวบุคคลธรรมดาเอง มี “ค่าลดหย่อน” อะไรบ้าง ที่ทำให้สามารถใช้สิทธิได้มากกว่าค่าลดหย่อนส่วนตัวจำนวน 60,000 บาท เพื่อที่จะช่วยลดจำนวนภาษีเงินได้ที่คำนวณได้ลง เพราะถ้าหากมีค่าลดหย่อนมาก ภาษีก็จะเสียน้อยกว่าตัวเลขที่คำนวณได้ครับ

จะเห็นว่าพอพูดแบบนี้แล้ว ตัวเลขภาษีที่เราคำนวณเพื่อเปรียบเทียบกันนั้น มันอาจจะไม่ใช่จำนวนภาษีที่ธุรกิจจ่ายไปจริงๆ แต่เป็นตัวเลขที่สมมติจากการประมาณการข้อมูลที่มีอยู่เพียงเท่านั้น

ดังนั้น ถ้าหากไม่รู้ตัวเลขข้อมูลจริง ๆ ของธุรกิจ การประมาณการแบบนี้ก็เป็นแนวคิดลอย ๆ เพื่อความสบายใจและให้เหตุผลว่าเราควรเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นบริษัท โดยที่ไม่มีประโยชน์ในการพิจารณาจริงครับ

ทีนี้เรามาว่ากันต่อในประเด็นของภาษีเงินได้นิติบุคคลกันบ้างครับ..

ภาษีเงินได้นิติบุคคล
ปัญหาเรื่องกำไรทางภาษี และ SMEs ตามกฎหมาย

อย่างที่บอกไปแล้วในตอนแรกว่า กรณีที่เป็นนิติบุคคลเราจะเสียภาษีในอัตรา 20% ของกำไรสุทธิทางภาษี และถ้าหากเข้าเงื่อนไขเป็น SMEs ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดโดยกฎหมาย นั่นคือ ทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วไม่เกิน 5 ล้านบาท และ รายได้รวมไม่เกิน 30 ล้านบาท จะได้รับสิทธิเสียภาษีในอัตราที่ต่ำกว่า 

อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล

ดังนั้นถ้ามองเผิน ๆ การเป็นนิติบุคคลก็น่าจะดีกว่าใช่ไหมครับ แต่ข้อสันนิษฐานที่ว่านี้ อาจจะไม่ใช่ข้อเท็จจริงอยู่ดีครับ เพราะสิ่งที่เรายังไม่รู้นั้นอาจจะเป็นเรื่องดังต่อไปนี้  นั่นคือ

กำไรที่ใช้คำนวณภาษี คือ กำไรสุทธิทางภาษี

ก่อนอื่นเราต้องตอบให้ได้ว่า กำไร 2 ล้านบาทที่ว่านี้ เป็นกำไรสุทธิทางบัญชี หรือ กำไรสุทธิทางภาษีกันแน่ ? เพราะรายจ่ายบางตัวที่นำมาใช้เป็นค่าใช้จ่ายนั้น กฎหมายอาจจะไม่ได้ให้สิทธิใช้เป็นรายจ่ายทางภาษีได้ หรือมีรายได้ตัวไหนที่ยังไม่ได้ปรับปรุงเข้าไปหรือเปล่า ซึ่งตรงนี้จะมีผลทำให้กำไร 2 ล้านบาทนั้นไม่ใช่ตัวเลขที่ถูกต้องที่ใช้ในการคำนวณภาษีครับ (หมายเหตุ : สำหรับบุคคลธรรมดาที่หักค่าใช้จ่ายจริง ก็ต้องใช้หลักการนี้ด้วยเช่นเดียวกันครับ)

สิทธิ์ประโยชน์ SMEs อาจจะไม่ได้ใช้จริง

เรายังไม่รู้ว่าได้รับสิทธิประโยชน์ในการคำนวณภาษีแบบ SMEs จริงไหม เพราะจากข้อมูลนั้นยังไม่ได้บอกถึงเรื่องของทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้ว หากเกินกว่า 5 ล้านบาทก็อาจจะไม่สามารถใช้สิทธิ์นี้ได้ครับ และหากในอนาคตรายได้มากกว่า 30 ล้านบาท ประเด็นนี้ก็อาจจะไม่ใช่เหตุผลในการพิจารณาในอนาคตเหมือนกันครับ

รายจ่ายที่เกี่ยวข้องของนิติบุคคล

ทางฝั่งนิติบุคคลเองจะมีโอกาสเลือกใช้วิธีการวางแผนและลดหย่อนภาษีมากกว่าบุคคลธรรมดา ทั้งการจ่ายเงินเดือนของกรรมการเพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการลดภาษีลง (แต่อาจจะมีภาระภาษีเพิ่มจากการนำมายื่นรายได้ของกรรมการ) หรือ การใช้แนวทางใช้รายจ่ายทางภาษีที่สามารถหักได้เพิ่มเติมกว่ารายจ่ายตามปกติ ซึ่งตรงนี้ก็เป็นอีกปัจจัยที่ต้องนำมาพิจารณาเช่นเดียวกันครับ

จะเห็นว่ามาถึงตรงนี้ สิ่งที่เราต้องตระหนักจริงๆ คือ ข้อมูลที่เราใช้เปรียบเทียบกันเพื่อตัดสินใจนั้น มันยังไม่ครบถ้วน 100% จนทำให้สามารถเลือกได้อย่างปราศจากอคติ และประเด็นที่สำคัญที่สุด นั่นคือ ถ้ามองในเชิงการตัดสินใจ การใช้ 5 ข้อข้างต้นนั้นอาจจะตอบคำถามเราได้ง่ายกว่าด้วยซ้ำว่า เราควรจดบริษัทดีไหม ?

ถ้าลองตั้งคำถามง่ายๆว่า สมมติเรารู้ว่าปีหน้ายอดขายจะเพิ่มเป็น 50 ล้านบาทและจะเติบโตกว่านี้ไปเรื่อยๆ เราควรทำอย่างไรกับธุรกิจนี้ดี เปลี่ยนเป็นบริษัททันทีหรือว่าจะเสียภาษีในฐานะบุคคลธรรมดาต่อไป

ถ้าคำตอบที่ได้ทันที คือ จดเลยสิ!! จะรออะไรอยู่ นั่นคือการสะท้อนเลยว่า ข้อมูลทั้งหมดและบทวิเคราะห์ที่เราพูดมาล้วนไม่มีความหมาย เพราะสุดท้ายแล้วการตัดสินใจนั้นมันไปอยู่ที่มุมมองที่มีต่ออนาคตของบริษัท โดยที่ไม่ต้องใส่ใจตัวเลขทางภาษีเสียด้วยซ้ำ

อะไรคือสิ่งที่ตารางคำนวณภาษีไม่เคยบอก?
ต้นทุนบริหารจัดการ และ หน้าที่ในการทำบัญชี

นอกจากประเด็นเรื่องต่าง ๆ ที่พูดไปแล้ว สิ่งที่อยากให้พิจารณาเพิ่มเติมมีอะไรบ้าง ผมลองชวนคิดเพิ่มเติมจากประเด็นต่อไปนี้ ที่ควรใช้ในการพิจารณาครับ

ประเด็นแรก คือ ต้นทุนในการบริหารจัดการ เราควรมองเพิ่มเติมในมุมของการประหยัดค่าใช้จ่ายโดยรวมมากกว่าการประหยัดภาษี นั่นคือ มันมีต้นทุนอื่น ๆ อะไรที่เพิ่มเข้ามาหรือไม่ในการตัดสินใจ ไม่ว่าจะเป็น ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ ค่าใช้จ่ายด้านบัญชี ต้นทุนด้านเอกสาร ไปจนถึงด้านแรงงานต่าง ๆ ที่เจ้าของธุรกิจต้องลงมือลงแรงเพิ่มขึ้น

ซึ่งต้นทุนบางอย่างอาจจะวัดออกมาเป็นตัวเลขได้ชัด และบางอย่างอาจจะเป็นเรื่องของต้นทุนด้านเวลา ดังนั้นเจ้าของธุรกิจควรชั่งใจให้ชัดว่า การจดบริษัทจะทำให้เราสามารถลดค่าใช้จ่ายในภาพรวมได้จริง ๆ หรือ ธุรกิจมีกำไรที่เพิ่มขึ้นจริงหรือไม่ รวมถึงสามารถจัดการบริหารเวลาเพื่อให้สามารถสร้างโอกาสในอนาคตได้จริงหรือเปล่า ?

อย่างไรก็ดี อีกประเด็นที่เจ้าของธุรกิจควรใส่ใจให้ชัด ๆ นั่นคือ หน้าที่ในการจัดทำบัญชี ครับ เพราะการจัดทำบัญชีของธุรกิจทั้งสองประเภทนี้ มีเงื่อนไขคนละส่วนกัน โดยทางฝั่งสรรพากรกำหนดให้คนที่ทำธุรกิจ (เงินได้ประเภทที่ 5-8) ต้องทำบัญชีรายรับรายจ่ายในกรณีที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ตาม ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฉบับที่ 161) และในกรณีของนิติบุคคลนั้นต้องทำตาม พรบ.การบัญชี 2543 อยู่แล้ว

นอกจากนั้น ยังมีเรื่องของหน้าที่ในการยื่นและนำส่งงบการเงินและภาษีบางเรื่องที่เหมือนและแตกต่างกันดังต่อไปนี้ครับ

  1. การนำส่งงบการเงินนั้น เป็นหน้าที่เพิ่มเติมของธุรกิจที่เป็นนิติบุคคลเท่านั้น ส่วนบุคคลธรรมดาไม่ต้องทำ
  2. หน้าที่การยื่นภาษีรายเดือน หลักๆจะขึ้นอยู่กับประเภทของภาษี ซึ่งประกอบด้วยภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีหัก ณ ทีจ่าย ตามหลักเกณฑ์และหลักการที่กฎหมายกำหนด
  3. หน้าที่การยื่นภาษีรายปี ต้องยื่นภาษีครึ่งปีและเต็มปีเหมือนกัน โดยบุคคลธรรมดามีหน้าที่ยื่นภาษีครึ่งปีภายในเดือนกันยายนของทุกปี และยื่นภาษีเต็มปีภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไป ในขณะที่นิติบุคคลมีหน้าที่ยื่นภาษีครึ่งปีภายใน 2 เดือนหลังจากวันคร่ึงรอบบัญชี และมีหน้าที่ยื่นภาษีเงินได้เต็มปีภายใน 150 วันหลังจากปิดรอบบัญชีนั้น เช่น รอบบัญชี 1 มกราคม – 31 ธันวาคม ต้องยื่นภาษีครึ่งปีภายในสิ้นเดือนสิงหาคม และยื่นภาษีเต็มปีภายใน 30 พฤษภาคมของปีถัดไป (ในกรณีที่เดือนกุมภาพันธ์มี 28 วัน)

แต่อย่างไรก็ดี ความสัมพันธ์ของภาษีเงินได้ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล จะใช้หลักการเดียวกัน นั่นคือ คำนวณภาษีได้เท่าไร ให้เอามาหัก ภาษีเงินได้ครึ่งปี และ ภาษีที่ถูกหัก ณ ทีจ่าย ไว้ตลอดทั้งปี หลังจากนั้นก็ชำระเพิ่มหรือขอคืนตามที่คำนวณออกมาได้ครับ

ความสัมพันธ์ระหว่างภาษีเงินได้สิ้นปี ครึ่งปี และ หัก ณ ที่จ่าย

ประเด็นเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่ม
กับ การตัดสินใจจดบริษัท

โดยปกติแล้ว รายได้ของธุรกิจจะเชื่อมโยงไปที่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ก่อน โดยเงื่อนไข คือ เรามีหน้าที่ต้องจดทะเบียนทันทีเมื่อรายได้ต่อปีมากกว่า 1.8 ล้านบาท ในกรณีที่ธุรกิจเราไม่ได้สิทธิยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม 

หลังจากจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว มันจะเชื่อมโยงต่อไปว่า เมื่อจดแล้วต้องออกใบกำกับภาษี มีการจัดทำรายงานภาษีขาย และรายงานภาษีซื้อ เพื่อให้รู้ว่าในแต่ละเดือนต้องนำส่งสรรพากรเท่าไร และมีรายงานอื่นๆต้องประกอบให้ถูกต้องด้วย เช่น รายงานสินค้าและวัตถุดิบ (กรณีธุรกิจขายสินค้า)

ดังนั้นสำหรับธุรกิจที่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตรงนี้คือจุดที่เราต้องเริ่มจัดการเอกสารอย่างเป็นระบบมากขึ้น ซึ่งมีผลต่อการทำงานในเรื่องของเอกสารต่าง ๆ เพราะยอดซื้อที่ใช้หักภาษีซื้อในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น ก็จะเป็นต้นทุนในการหักค่าใช้จ่ายจริงของเรา ซึ่งทำให้เราต้องจัดการเอกสารเหล่านี้ให้ถูกต้องด้วย ซึ่งก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่บุคคลธรรมดาใช้ตัดสินใจเป็นนิติบุคคลได้เช่นกัน เพราะไหน ๆ ก็ต้องทำเอกสารเพิ่มระดับหนึ่งแล้ว บวกกับยอดขายที่อาจจะเพิ่มขึ้น ทำให้การเปลี่ยนมาเป็นบริษัทเลยอาจจะสะดวกมากกว่า ทั้งในมุมของการจัดการเอกสารที่ว่ามา รวมถึงอาจจะช่วยประหยัดภาษีเงินได้ได้อีกด้วย

เห็นไหมครับว่า ในทุกประเด็นทั้งหมด ตั้งแต่ต้นบทความมาถึงตรงนี้ ผมมองว่าเป็นเป็นประเด็นที่ควรใส่ใจและให้ความสำคัญในทุกประเด็นเพื่อการตัดสินใจได้อย่างถูกต้องของเจ้าของธุรกิจครับ

บทสรุป จดบริษัทดีไหม?

จากประเด็นทั้งหมดที่เล่ามาถึงตรงนี้ ผมขอสรุปแนวทางตัดสินใจให้ตามนี้ครับ

1. ในตอนที่อยู่ในรูปแบบของบุคคลธรรมดา เราสามารถหักค่าใช้จ่ายจริงได้ไหม เพราะรูปแบบหลักการคิดหักค่าใช้จ่ายจะเหมือนกับนิติบุคคล (บริษัท) ดังนั้นถ้าเริ่มต้นตรงนี้ได้ เรามีโอกาสที่จะไปสู่การเป็นนิติบุคคลได้ง่ายขึ้นครับ

2. เรามีความจำเป็นอะไรบ้างที่ต้องถูกผลักให้เป็นนิติบุคคล เช่น หุ้นส่วน ผู้ร่วมทุน สินเชื่อ หรือ คู่ค้า ที่เขามีเงื่อนไขว่าจะต้องการรูปแบบการดำเนินงานในรูปแบบของนิติบุคคล (บริษัทหรือห้างหุ้นส่วน) ไปจนถึง โอกาสทางธุรกิจต่าง ๆ ที่เข้ามานั้น มันเหมาะสมกับการทำธุรกิจในรูปแบบของบริษัทมากกว่าหรือเปล่า ?

3. เช็คประเด็นเรื่องของบัญชีและภาษีด้านอื่น ๆ ในเรื่องของต้นทุนการจ้างงานที่ต้องเพิ่มขึ้น (ค่าทำบัญชี ค่าจ้างพนักงาน ค่าใช้จ่ายบริหารอื่นๆ) คุ้มค่ากับภาษีที่ประหยัดได้หรือไม่ รวมถึงการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่อาจจะช่วยเร่งให้เราอยากเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นนิติบุคคลไวยิ่งขึ้น

และท้ายที่สุด สิ่งที่อยากให้ถามจริง ๆ ก็คือ การเปลี่ยนเป็นนิติบุคคล หรือ การตัดสินใจจดบริษัทนั้น มันทำให้ธุรกิจเรามี “กำไร” เพิ่มขึ้นจริงหรือเปล่า ซึ่งเราควรตอบด้วยตัวเลขที่วัดผลได้ มากกว่าความรู้สึกที่ได้จ่ายภาษีลดลงครับ

ถ้าตอบคำถามเหล่านีได้หมด เราถึงควรตัดสินใจจดบริษัทครับ

TAXBugnoms

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Allow