เครดิตภาษีเงินปันผล : เงินปันผลจากหุ้นและวิธีการจัดการภาษี

เครดิตภาษีเงินปันผล

พี่ครับ เงินปันผลที่ได้จากหุ้นต้องเสียภาษีไหม?
เพราะมันถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไปแล้ว 10%

มิตรสหายนักลงทุน VI ท่านหนึ่งถามมา

ถ้าพูดถึงเรื่อง “เงินปันผลหุ้น” กับ “ภาษี” เมื่อไร จะต้องมีอีกคำหนึ่งตามมา นั่นคือ “เครดิตภาษีเงินปันผล” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ผมถูกถามบ่อย ๆ ในแฟนเพจ TAXBugnoms ครับ โดยบทความในตอนนี้จะมาพูดคุยกันถึงเรื่องนี้อย่างละเอียดครับ

Advertisements

เครดิตภาษีเงินปันผล
หรือ เครดิตเงินปันผล คืออะไร?

เครดิตภาษีเงินปันผล หรือ เครดิตเงินปันผล หมายถึง ภาษีที่ถูกคำนวณและจ่ายจากกำไรสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนไปแล้วครั้งหนึ่งในรูปแบบของภาษีเงินได้นิติบุคคล และเมื่อบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนั้นนำกำไรสุทธิส่วนที่เหลือมาจ่ายเป็นเงินปันผลหรือส่วนแบ่งกำไรให้กับผู้ถือหุ้นที่เป็นบุคคลธรรมดา หากยังต้องนำเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งกำไรดังกล่าวมาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอีกครั้ง ถือว่าเข้าข่ายเป็นการเสียภาษีซ้ำซ้อนจากกำไรหรือเงินได้ก้อนเดียวกัน

ยกตัวอย่างเช่น บริษัท บ้านกู จำกัด เป็นบริษัทที่มีกำไรจากการประกอบกิจการจำนวน 1,000,000 บาท และต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตรา 20% เป็นจำนวนเงิน 200,000 บาท ทำให้มีกำไรสุทธิหลังจากหักภาษีแล้วจำนวน 800,000 บาท

Advertisements

ลองคิดภาพต่อว่า ถ้าบริษัท บ้านกู จำกัด นำเงิน 800,000 บาทมาจ่ายให้กับผู้ถือหุ้นที่เป็นบุคคลธรรมดา แล้วผู้ถือหุ้นต้องนำมาคำนวณ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา อีกทีหนึ่ง แบบนี้ก็เท่ากับว่าเป็นการเสียภาษีเงินได้ซ้ำซ้อนกัน 2 รอบ ทั้งในส่วนของนิติบุคคล (บริษัท บ้านกู จำกัด) และบุคคลธรรมดา (ผู้ถือหุ้น)

ดังนั้น เครดิตภาษี จึงเกิดมาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเสียภาษีที่ซ้ำซ้อนแบบนี้นั่นเองครับ แต่ก่อนจะไปคุยถึงเรื่องนี้อย่างละเอียด ลองแวะมาดูทางเลือกในการเสียภาษีกันก่อนครับว่า กฎหมายภาษีอย่างประมวลรัษฏากรเขากำหนดทางเลือกไว้อย่างไรบ้าง ?

ทางเลือกในการเสียภาษี เมื่อได้รับเงินปันผล

เมื่อผู้ถือหุ้นที่เป็นบุคคลธรรมดาอย่างเราได้รับเงินปันผลหรือส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น มันจะมีอยู่ 2 ทางเลือกครับ ได้แก่ ยอมถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ 10% แล้วจบ กับ เลือกนำมาคำนวณภาษีโดยใช้เครดิตเงินปันผล

Advertisements

สำหรับ ทางเลือกแรก คือ การยอมหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายแล้วจบ หรือเรียกว่า Final TAX นั้นไม่มีอะไรยากเลยครับ เพราะทางบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนที่จ่ายเงินปันผลหรือส่วนแบ่งกำไรให้เรา เขามีหน้าที่หัก ณ ที่จ่ายเงินปันผลไว้ 10% เมื่อมีการจ่ายเงินก้อนนี้ให้กับเราอยู่แล้วครับ

โดยกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการหักภาษี ณ ที่จ่ายแล้วจบได้ระบุไว้ที่ มาตรา 48(3) วรรคท้ายแห่งประมวลรัษฎากร ดังนี้ครับ

ผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยจะเลือกเสียภาษีในอัตราร้อยละ 10.0 ของเงินได้ โดยไม่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีตาม (1) และ (2) ก็ได้สำหรับเงินได้ตามมาตรา 40 (4) (ข) ที่ได้รับ จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย หรือสถาบันการเงินที่มีกฎหมายโดยเฉพาะ ของประเทศไทยจัดตั้งขึ้นสำหรับให้กู้ยืมเงินเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม พาณิชยกรรม หรืออุตสาหกรรม

จากตัวอย่างข้างบน ถ้าบริษัท บ้านกู จำกัด นำเงิน 800,000 บาทมาจ่ายให้กับผู้ถือหุ้นที่เป็นบุคคลธรรมดา (สมมติว่าเป็นการจ่ายให้นายบักหนอมคนเดียว) ก็จะเกิดการหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ 10% จำนวน 80,000 บาท และนายบักหนอมผู้ถือหุ้นคนดีคนเดียวก็จะได้เงินไปทั้งหมดคือ 720,000 บาท (800,000 – 80,000) อย่างสบายใจ และไม่ต้องทำอะไรกับเงินปันผลก้อนนี้อีก เพราะถือว่าได้เสียภาษีเรียบร้อยแล้ว ผ่านการหักภาษี ณ ที่จ่ายนั่นเองครับ

เครดิตภาษีเงินปันผล การคำนวณภาษีหักไว้ 10% แล้วเลือกไม่รวมคำนวณภาษี
Advertisements

แต่ถ้าลองมองกลับกัน เราจะเห็นว่าจากเงินได้จริง ๆ ที่เป็นกำไรจำนวน 1,000,000 บาทนั้น จะต้องผ่านการเสียภาษีทั้งหมด 280,000 บาท (โดยเสีย 200,000 บาทจากภาษีเงินได้นิติบุคคล และ 80,000 บาทจากภาษีหัก ณ ที่จ่ายของบุคคลธรรมดา) ซึ่งแปลว่าเสียในอัตรา 28% จากเงินได้ก้อนนี้ก้อนเดียวครับ เอ๊ะ แบบนี้มันจะไม่แฟร์ไปหน่อยหรือเปล่านะ

จึงทำให้เกิดทางเลือกที่ 2 นั่นคือ การใช้สิทธิเครดิตภาษีเงินปันผล โดยหลักการคือคิดเสมือนว่ารายได้ก้อนนี้ไม่ได้ผ่านการเสียภาษีมาก่อน และนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทีเดียวเลย ซึ่งถ้าให้อธิบายหลักการง่าย ๆ ก็คือ นำเงินกำไร 1,000,000 บาทของบริษัท บ้านกู จำกัด มาเสียภาษีในรูปแบบบุคคลธรรมดา คิดออกมาได้ภาษีที่เท่าไรก็หักออกด้วยภาษีที่เสียไปทั้งหมดจำนวน 280,000 บาทที่จ่ายไป แล้วมาดูสิว่าผู้ถือหุ้นคนนี้จะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มหรือได้เงินคืนกันแน่

ซึ่งกฎหมายได้เขียนไว้ในมาตรา 47 ทวิแห่งประมวลรัษฎากรในประเด็นที่เกี่ยวข้องดังนี้ครับ

มาตรา 47 ทวิ ให้ผู้มีเงินได้ตามมาตรา 40 (4)(ข) ซึ่งได้รับจากบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยได้รับเครดิตในการคำนวณภาษี โดยให้นำอัตราภาษีเงินได้ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น ต้องเสียหารด้วยผลต่างของหนึ่งร้อยลบด้วยอัตราภาษีเงินได้ดังกล่าวนั้น ได้ผลลัพธ์เท่าใดให้คูณด้วยจำนวนเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้รับ ผลลัพธ์ที่ได้เป็นเครดิตในการคำนวณภาษี ในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้จ่ายเงินได้ประกอบกิจการที่ต้องเสียภาษีเงินได้หลายอัตรา ผู้จ่ายเงินได้ต้องระบุในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้ชัดเจนว่าเงินได้ที่จ่ายนั้นจำนวนใดได้มาจากกิจการที่ต้องเสียภาษีเงินได้ในอัตราใด

เครดิตภาษีที่คำนวณได้ตามความในวรรคหนึ่ง ให้นำมารวมคำนวณเป็นเงินได้พึงประเมินเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามเกณฑ์ในมาตรา 48 เป็นเงินภาษีทั้งสิ้นเท่าใด ให้นำเครดิตภาษีที่คำนวณได้ดังกล่าวหักออกจากภาษีที่ต้องเสีย ถ้ายังขาดหรือเหลือเท่าใดให้ผู้มีเงินได้เสียภาษีสำหรับจำนวนที่ขาด หรือมีสิทธิได้รับเงินจำนวนที่เหลือนั้นคืน

ความในวรรคหนึ่งและวรรคสองมิให้ใช้บังคับแก่ผู้มีเงินได้ซึ่งมิได้มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย และมิได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย

เห็นไหมครับว่า ในข้อกฎหมายได้พูดถึงวิธีการคำนวณเครดิตภาษีไว้ด้วย ซึ่งถ้าเรานำมาอธิบายเป็นสูตรการคำนวณแบบสำเร็จสั้น ๆ ง่ายๆ จะอธิบายได้ตามนี้ครับ

วิธีการคำนวณ
เครดิตภาษี เงินปันผล

เครดิตเงินปันผล คำนวณโดยการนำเงินปันผลมาบวกเครดิต และภาษีหัก ณ ที่จ่ายมาบวกเครดิต ก่อนจะนำไปคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

สูตรการคำนวณ คือ
เงินปันผล x อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล / 100 -อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล

จากตัวอย่างเดิม เราจะเห็นว่า ถ้าเรานำเงินปันผลจำนวน 800,000 บาทที่นายบักหนอมได้รับจากบริษัท บ้านกู จำกัด ซึ่งเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตรา 20% มาคำนวณเครดิตภาษีเงินปันผลตามสูตรข้างต้น เราจะได้ยอดออกมาดังนี้ครับ

800,000 x 20 / 100 – 20
หรือคิดออกมาได้จำนวน 200,000 บาท

ถ้าหากนายบักหนอมต้องการนำเงินปันผลมายื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี แปลว่า นายบักหนอมต้องนำเครดิตเงินปันผลจำนวน 200,000 บาทมารวมเป็นรายได้ และ ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ตามความสัมพันธ์ดังนี้ คือ

  • เงินปันผล + เครดิตภาษีที่คำนวณได้ = ถือเป็นรายได้ในการคำนวณภาษี
  • ภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่าย + เครดิตภาษีที่คำนวณได้ = ถือเป็นภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย

และจากข้อมูลตัวอย่างที่ว่ามา ย่อมทำให้นายบักหนอมมีรายได้จำนวน 1,000,000 บาท (800,000+200,000) ในการคำนวณภาษี และมีภาษีถูกหัก ณ ที่จ่ายจำนวน 280,000 บาท (80,000+200,000) ที่สามารถนำไปหักออกจากภาษีที่คำนวณได้

เงินปันผลหุ้น
Advertisements

เมื่อเราลองนำเงินปันผลที่รวมเครดิตภาษีที่คำนวณได้จำนวน 1,000,000 บาท มาคำนวณภาษีโดยหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนด้วยวิธีเงินได้สุทธิจะเห็นว่ามีภาษีที่คำนวณได้จำนวน 103,000 บาท ซึ่งถ้าเรานำมาหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายที่ถูกหักไว้และเครดิตเงินปันผลจำนวน 280,000 บาท ทำให้นายบักหนอมได้เงินภาษีคืนทั้งสิ้นจำนวน 177,000 บาทจากการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในครั้งนี้ครับ

ถ้าหากใครไม่เข้าใจวิธีการคำนวณภาษีบุคคลธรรมดาและการหักค่าใช้จ่าย ผมแนะนำให้อ่านบทความเพิ่มเติม คือ วิธีคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และ การหักค่าใช้จ่ายบุคคลธรรมดาในการคำนวณภาษี ครับ

วิธีลับในการคำนวณเครดิตเงินปันผล
กรณีหุ้นในตลาดหลักทรัพย์

สำหรับคนที่มีเงินปันผลจากหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เป็นหลัก ผมอยากแนะนำตัวช่วยในการจัดการเครดิตภาษีเงินปันผลแบบง่ายๆ ที่สามารถจัดการได้โดยการดาวน์โหลดไฟล์เพียงไม่กี่นาที ผ่านทาง Investor Portal ของเวปไซด์ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

Investor Portal

หลังจากที่สมัครสมาชิกและล็อกอินเข้าสู่ระบบ Investor Portal แล้ว (ถ้าใครยังไม่มี Username และ Password) ผมแนะนำให้สมัครใช้งานก่อนนะครับ) เราจะสามารถเข้ามาดาวน์โหลดไฟล์ที่ใช้ในการคำนวณได้ที่หน้าจอนี้ครับ

ขอคืนเงินปันผลหุ้น

หลังจากที่ดาวน์โหลดแล้ว เราสามารถนำไฟล์นี้ไปอัพโหลดที่เวปไซด์กรมสรรพากรตอนยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีผ่านอินเตอร์เน็ตได้ทันที โดยเราจะได้ไฟล์นามสกุล enc (.enc) มาใช้ได้ในแต่ละปี ดังนั้นในทุก ๆ ปี อย่าลืมเข้ามาดาวน์โหลดไฟล์นี้กันนะครับ

แต่อย่าลืมนะครับว่า การยื่นเครดิตเงินปันผลนี้ใช้ได้เฉพาะกับเงินปันผลที่ได้จากหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เท่านั้น ถ้าหากใครมีเงินปันผลจากหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์ ต้องนำส่วนนี้มากรอกข้อมูลเองนะครับ เพราะระบบไม่มีให้ครับ

สำหรับทั้งหมดที่อธิบายมานี้ ผมสรุปไว้ในคลิปสอนยื่นภาษีประจำปี 2562 ที่ผ่านมาครับ ถ้าหากใครมีข้อสงสัยหรืออยากเข้าใจหลักการทั้งหมด ก็สามารถทบทวนข้อมูลเพิ่มเติมได้ในคลิปนี้อีกทีครับ

https://youtu.be/ebcVeNl9cdU

ทางเลือกสำหรับนักลงทุน
ที่ได้รับเงินปันผลจากหุ้นและกองทุนรวม

จากการบังคับใช้กฎหมาย พระราชบัญญัติแก้ไขประมวลรัษฏากรฉบับที่ 52 ทำให้เงินปันผลจากหุ้นและกองทุนรวมถือเป็นเงินได้ประเภทเดียวกัน หรือ เงินได้ตามมาตรา 40(4)(ข) ดังนั้นเราจึงไม่สามารถเลือกยื่นเงินปันผลประเภทใดประเภทหนึ่งได้เหมือนเมื่อก่อน

ยกตัวอย่างเช่น บางคนอาจจะได้รับคำแนะนำว่าเลือกยื่นเฉพาะเงินปันผลที่เราได้รับจากหุ้นเพียงอย่างเดียว เพราะได้รับสิทธิ เครดิตภาษีเงินปันผล แต่เมื่อมีกฎหมายใหม่ฉบับนี้ จะกลายเป็นว่าถ้าเราเลือกยื่นเงินปันผลจากหุ้น เราต้องนำเงินปันผลจากกองทุนรวมมาถือเป็นรายได้เพื่อยื่นภาษีรวมกันด้วย ซึ่งเงินปันผลกองทุนรวมจะไม่ได้รับสิทธิเครดิตภาษีเงินปันผลเหมือนกับเงินปันผลจากหุ้นครับ (อ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความ ภาษีที่เกี่ยวข้องกับกองทุนรวม | เงินปันผลและกำไรจากการขาย)

https://www.facebook.com/TaxBugnoms/posts/4013461888679197

เราควรเลือกใช้
เครดิตภาษีเงินปันผลหรือไม่?

มาถึงตรงนี้ เชื่อว่าหลายคนคงอยากรู้แนวทางในการพิจารณาว่า เราควรจะเลือกใช้สิทธิ์ Final TAX ในการคำนวณภาษี หรือ นำมายื่นรวมเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปลายปี แบบไหนดีกว่ากัน อันนี้ต้องบอกตรง ๆ เลยครับว่า คำแนะนำของผม คือ เราทำอะไรไม่ได้นอกจากลองคำนวณดูก่อนว่าแบบไหนคุ้มค่าครับ

โดยเฉพาะตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป เมื่อเงินปันผลจากหุ้นและกองทุนรวมกลายเป็นเงินได้ประเภทเดียวกันโดยสมบูรณ์ ยิ่งทำให้ตัดสินใจยากขึ้นสำหรับคนที่มีเงินปันผลจากทั้งสองที่ หรือได้เงินปันผลจากกิจการที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่เสียภาษีในอัตราที่แตกต่างกัน ทำให้การตัดสินใจเรื่องนี้ยากขึ้นกว่าเก่าครับ

ดังนั้น ผมอยากให้ลองกรอกรายการให้ครบถ้วน (เลือกใช้สิทธิคำนวณภาษี) แล้วดูว่ายอดภาษีที่เสียมันลดลงไหมหรือว่าได้คืนหรือเปล่า และกลับมาเปรียบเทียบกับการใช้สิทธิหัก ณ ที่จ่ายแล้วจบอย่าง Final TAX ถ้าเราพบคำตอบว่าแบบไหนที่ได้รับสิทธิคุ้มค่ากว่า ก็ให้เลือกแบบนั้นครับ

อาจจะเป็นคำตอบที่ดูไม่ได้อะไร แต่ผมอยากให้ลองก่อนจริง ๆ นะครับ เพื่อประโยชน์สูงสุดในการคำนวณภาษีของเราทุกคน

ข้อควรระวัง และสิ่งที่อยากแนะนำเพิ่มเติม

ข้อแรก ผมแนะนำว่า เราควรพิจารณาประเภทของเงินปันผลด้วยว่า สามารถใช้สิทธิเครดิตภาษีได้ทั้งหมดหรือไม่ เพราะเอกสารที่ส่งมาแจ้งเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น จะมีการแยกไว้ชัดเจนเลยว่า เงินปันผลส่วนไหนที่เสียภาษี และเงินปันผลส่วนไหนที่ไม่เสียภาษี (ยกเว้นภาษี หรือ ไม่สามารถใช้สิทธิได้) ซึ่งตรงนี้ต้องเช็คใ้ห้ละเอียดครับ จะได้กรอกข้อมูลเงินปันผลของเราไม่ผิดพลาด

ข้อสอง ถ้าตัดสินใจใช้สิทธิเครดิตภาษีเงินปันผลแล้ว เราต้องนำเงินปันผลทุกตัวมารวมคำนวณ ห้ามเลือกเฉพาะบางรายการ เช่น ถ้าเรามีรายได้เงินปันผลจากหุ้น 3 ตัว เราก็ต้องนำรายการเงินปันผล ทั้ง 3 รายการนั้นมาคิดทั้งหมด ไม่สามารถเลือกปฎิบัติเฉพาะตัวที่เป็นประโยชน์ทางด้านภาษี หรือ ถ้าเราได้เงินปันผลจากหุ้นและกองทุนรวม ก็ต้องนำทั้งหมดมาคำนวณภาษีรวมกันเช่นเดียวกันครับ เพราะถือว่าเป็นเงินได้ประเภทเดียวกัน ถ้าอยากจะยื่นต้องยื่นทั้งหมด จะเลือกยื่นเฉพาะที่เราอยากยื่นไม่ได้

ข้อสาม ส่วนของเงินปันผลที่ได้จากหุ้นหรือกองทุนรวม แม้ว่าเราจะเลือกใช้สิทธิ Final TAX ก็ตาม แต่เราสามารถนำไปกรอกในหัวข้อ เงินได้พึงประเมินที่ได้ใช้สิทธิเลือกเสียภาษีโดยไม่ต้องนำมารวมคำนวณภาษีกับเงินได้อื่น ซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นฐานในการคำนวณสิทธิในการลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมได้ครับ ดังนั้นถ้าหากเราเลือกที่จะไม่เสียแล้วอยากได้สิทธิในการซื้อพวกกองทุนลดหย่อนภาษี หรือ ประกันชีวิตแบบบำนาญเพิ่มขึ้น ก็อย่าลืมกรอกข้อมูลส่วนนี้ด้วยนะครับ

บทสรุป

มาถึงตรงนี้แล้ว ผมขอสรุปสิ่งที่ต้องรู้และพิจารณาสั้น ๆ เมื่อเราได้รับเงินปันผลจากหุ้น และตัดสินใจว่าจะใช้สิทธิเครดิตภาษีดีไหม? ดังนี้ครับ

  1. รายได้หลักเราเสียภาษีในอัตราไหน (ยกเว้น – 35%) ? ถ้าหากรายได้หลักของเรามีจำนวนที่สูง และเสียภาษีในอัตราที่ค่อนข้างสูงอยู่แล้ว (ประมาณ 30% ขึ้นไป) มักจะไม่คุ้มในการใช้สิทธิเครดิตภาษี ดังนั้นเลือก Final TAX จะดีกว่าครับ (แต่อย่างไรก็อย่าลืมลองคำนวณดูนะครับ) แต่ถ้าหากใครมีรายได้จากการลงทุนในหุ้นเป็นรายได้หลัก ผมแนะนำให้ลองคำนวณดูครับ เพราะมักจะคุ้มค่ากว่า
  2. เรามีข้อมูลที่พร้อมไหม? เงินปันผลที่เราได้รับส่วนใหญ่มาจากไหน? ในมุมของคนที่ลงทุนหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เป็นหลัก ผมแนะนำว่าควรสมัคร Investor Portal ไว้เลยครับ เพราะจะได้รับข้อมูลอย่างละเอียด แต่ถ้าหากไม่ได้ลงทุนหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ หรือมีเงินปันผลจากกองทุนรวมด้วย อย่าลืมเก็บเอกสารหลักฐานให้ดีนะครับ ถ้าหากจะใช้สิทธิ์ เพราะถ้าหากกรอกไม่ครบถ้วนจะมีปัญหาได้
  3. เป้าหมายในการลงทุนของเราคืออะไร? อันนี้อาจจะไม่เกี่ยวกับเรื่องภาษี แต่ผมมักจะได้ยินหลายคนบอกว่าลงทุนในหุ้นสิ ได้รับเครดิตภาษีด้วยนะ ซึ่งเป็นคำพูดที่ไม่ถูกต้องสักเท่าไร เพราะการลงทุนที่ดีนั้นไม่ใช่การลงทุนเพื่อให้ได้เครดิตภาษีหรือประหยัดภาษี แต่เป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่เหมาะสมในสินทรัพย์ที่เราเข้าใจมันครับ

ท้ายที่สุดนี้ เครดิตภาษีเงินปันผล เป็นเพียงทางเลือกของการเสียและยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาวิธีหนึ่ง แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือ เราเข้าใจหลักการใช้สิทธิที่ถูกต้อง เพื่อประโยชน์ที่เราได้รับอย่างครบถ้วน และไม่ผิดเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดไว้นั่นเองครับ

เพราะเครดิตในชีวิต
ย่อมสำคัญกว่าเครดิตภาษี

TAXBugnoms

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Allow