[อัพเดทปี 65] ภาษีคริปโตเสียอย่างไร ? สรุปประเด็นล่าสุดจากกรมสรรพากร

ภาษีคริปโต

ตกลงว่าคริปโตนี่มันเสียภาษียังไงนะ

หลายคนสอบถามผมมาแบบนี้

ท่ามกลางกระแสการลงทุนที่ร้อนแรงในขณะนี้ หลายคนคงมีคำถามว่า คริปโต (Crypto) เสียภาษีอย่างไร ? หรือภาษีคริปโต จะเก็บแบบไหน ผมจึงตั้งใจเขียนบทความนี้ขึ้นมาเพื่ออธิบายสิ่งที่ค้างคาใจใครหลายคนครับ

Advertisements

แต่อย่างไรก็ตาม บางส่วนของบทความชิ้นนี้ เป็นการตีความข้อกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันจากมุมมองของตัวผมเอง ซึ่งอาจจะมีประเด็นบางอย่างที่คลุมเครือและไม่ชัดเจนอยู่บ้าง แต่อย่างไรก็ดี บทความนี้ได้อัพเดทเพิ่มเติมโดยรวบรวมแนวทางจากคู่มือล่าสุดของทางกรมสรรพากรที่ชื่อว่า คำแนะนำการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาคริปโทเคอร์เรนซี่และโทเคนดิจิตอล ที่ใช้สำหรับการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี 2564 ที่พอจะช่วยให้ตอบคำถามที่มีอยู่ในตอนนี้ได้ดีขึ้นครับ

สำหรับคนที่ไม่มีเวลา สามารถเลือกอ่านเฉพาะหัวข้อที่สนใจได้เลยครับ

ข้อกฎหมายที่ใช้จัดเก็บภาษี

ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการจัดเก็บภาษี Cryptocurrency นั้น เริ่มต้นมาจากการออก พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรฉบับที่ 19 เพื่อแก้ไขกฎหมายเพิ่มเติมในมาตรา 40 และมาตรา 50 แห่งประมวลรัษฏากร

Advertisements
Advertisements

สำหรับมาตรา 40 มีการแก้ไขกฎหมายเพิ่มเติม ดังนี้ครับ

(ซ) เงินส่วนแบ่งของกำไร หรือผลประโยชน์อื่นใดในลักษณะเดียวกันที่ได้จากการถือหรือ ครอบครองโทเคนดิจิทัล
(ฌ) ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัล ทั้งนี้ เฉพาะซึ่งตีราคา เป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน

สำหรับข้อกฎหมายข้างบน คือ มาตรา 40(4)(ซ) และ มาตรา 40(ฌ) ที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดประเภท เงินได้ เพิ่มเติมขึ้นมาจากการได้ ส่วนแบ่งกำไรจากการถือหรือครอบครองโทเคนดิจิตอล และ ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลที่เป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน

สำหรับคนที่เริ่มจะงง ๆ ผมขออธิบายสั้น ๆ ว่า กฎหมายที่เพิ่มขึ้นมานี้ กำลังกำหนดว่า ถ้าเรามีกำไรหรือผลประโยชน์ที่ได้รับจากส่วนแบ่งในการถือครองโทเคน (Digital Token) เรามีหน้าที่ต้องถือเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษีครับ

Advertisements

และอีกมาตราหนึ่งก็บอกว่า ถ้าเรามี กำไร (ผลประโยชน์ที่ได้จากการโอน) โทเคน (Digital Token) และ คริปโทเคอร์เรนซี (CryptoCurrency) เราก็มีหน้าที่เสียภาษีเหมือนกัน

โดยทั้งสองตัวนี้ จะถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 4 ตามกฎหมาย (มาตรา 40(4)) ซึ่งในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้นจะไม่สามารถหักค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ในการคำนวณภาษีได้ หรือพูดให้ง่ายที่สุดคือ ส่วนแบ่งกำไร และ กำไรจากการขาย ต้องเอามาคิดภาษีทั้งจำนวนครับ

ตัวอย่างของส่วนแบ่งกำไร
และกำไรจากการขายที่ต้องเสียภาษี

ส่วนแบ่งกำไร : ตรงนี้ขอเน้นก่อนครับว่าต้องเป็นส่วนแบ่งกำไรที่ได้จาก Token (ยึดตามตัวบทกฎหมาย) เช่น การได้รับส่วนแบ่งกำไรจากการที่เรานำเหรียญไปลงทุน อย่างของไทยก็อาจจะเป็นส่วนแบ่งที่ได้รับจากโปรแกรม Ziplock ของ Zipmex Token (ZMT)

กำไรจากการขาย : กรณีที่เรามีกำไรจากการขายคริปโตโดยตรงเลย เช่น นายบักหนอมเทรดบิตคอยน์แล้วได้กำไรจำนวน 100,000 บาท จำนวนเงินตรงนี้ก็คือรายได้ที่ต้องนำมาเสียภาษีนั่นเองครับ

อย่างไรก็ดี กรณีของสายขุด นั้น ถ้าหากให้ตีความจากข้อกฎหมายที่ว่ามานี้ ผมคิดว่าไม่น่าเข้าข่ายทั้งสองข้อ แต่เป็นเงินได้ประเภทที่ 8 (ประเภทอื่น) โดยรับรู้เป็นเงินได้เมื่อขายเหรียญที่ขุดได้ และต้องคำนวณภาษีโดยหักค่าใช้จ่ายตามจริงเท่านั้นครับ

โดยแนวทางล่าสุดของทางกรมสรรพากร ได้กำหนดให้ผู้มีเงินได้สามารถนำส่วนที่ขาดทุนมาหักออกจากกำไรประเภทใดก็ได้ เพื่อใช้คำนวณกำไรทั้งหมดที่เกิดขึ้นในปี สำหรับธุรกรรมที่มีการเทรดผ่าน Exchange ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กลต. เท่านั้น (รอออกเป็นกฎกระทรวงเพิ่มเติม)

นอกจากนั้น จากแนวทางในปัจจุบันจากคู่มือภาษีคริปโตของทางกรมสรรพากร มีการสรุปประเภทเงินได้ออกมาเป็นกลุ่มต่าง ๆ เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น ดังนี้ครับ

  1. การจำหน่าย จ่าย โอน หรือแลกเปลี่ยนคริปโทเคอร์เรนซี/โทเคนดิจิทัล
  2. การขุดคริปโทเคอร์เรนซี
  3. ได้รับคริปโทเคอร์เรนซีเป็นเงินเดือนหรือค่าจ้าง
  4. ได้รับคริปโทเคอร์เรนซี/โทเคนดิจิทัลจากการให้ หรือได้รับเป็นรางวัล
  5. ได้รับผลประโยชน์หรือผลตอบแทนจากการถือครอง

ซึ่งถ้าหากเราพยายามจัดหมวดหมู่ประเภทเงินได้ของกลุ่มต่างๆ เราจะพบว่าสามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มย่อย นั่นคือ เงินได้ตามมาตรา 40(4) เงินได้ตามมาตรา 40(1) และ เงินได้ตามมาตรา 40(8) ดังนี้ครับ

Advertisements

ซึ่งกรอบในการคิดเงินได้นั้น ผมสังเกตว่ามีหลักสำคัญอยู่ 3 เรื่องที่ควรทำความเข้าใจเพื่อให้เราสามารถบริหารจัดการได้อย่างถูกต้อง นั่นคือ

  1. แหล่งที่มาของรายได้และข้อกฎหมายที่รองรับ : การพิจารณาที่มาของรายได้จะทำให้แยกประเภทเงินได้ตามกฎหมายได้ง่ายขึ้นครับ ซึ่งต้นตอหรือที่มาของเงินได้หลัก ๆ จะส่งผลกับการตีความเงินได้ ยกตัวอย่างเช่น
    • การได้รับจากการทำงาน แม้ว่าจะได้รับเป็นคริปโตหรือโทเคน แต่พื้นฐานของรายได้หลักก็มาจากการทำงานเพื่อแลกเงินได้ ดังนั้นจะถูกจัดกลุ่มเป็นเงินได้ประเภทที่ 1 หรือ 2 ขึ้นอยู่กับแต่ละกรณี
    • การได้รับจากการขุด เมื่อไม่เข้าข่ายเงินได้ประเภทไหน สิ่งที่กฎหมายมองคือ เงินได้ประเภทอื่น ๆ (ประเภทที่ 8) ซึ่งมองในลักษณะที่คล้ายกับการผลิตสินค้าขึ้นมาขาย และรับรู้เป็นรายได้เมื่อเกิดการขายได้ ไม่ใช่เมื่อผลิตสำเร็จ
    • การได้รับผลประโยชน์ ในกลุ่มนี้จะมองแยกกันเป็น 2 กลุ่มระหว่างเงินได้ประเภทที่ 4 หากเป็นผลประโยชน์หรือส่วนแบ่งกำไรที่ได้รับจาก “โทเคน” ซึ่งมีข้อกฎหมายรองรับชัดจะเข้าเป็นเงินได้ประเภทที่ 4 (มาตรา 40(4)(ซ)) ส่วนที่ได้รับจาก “คริปโต” ซึ่งไม่มีข้อกฎหมายรองรับ จะเป็นเงินได้ประเภทที่ 8 ซึ่งตรงนี้รวมถึงการได้รับมาฟรี ได้เปล่า หรือได้จากการส่งเสริมการขายรวมถึงกิจกรรมต่างๆ ก็จะอยู่ในเงินได้ประเภทที่ 8 เช่นเดียวกันครับ
    • การจำหน่ายจ่ายโอน หรือ การขาย และการแลกเปลี่ยน แบบนี้หากมีกำไร ก็จะถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 4 ซึ่งถือว่าเป็นเงินได้มาตรา 40(4)(ฌ) ทันที
  2. วันที่เกิดเหตุการณ์ = วันที่มีเงินได้ : หากสังเกตจากข้อความในคู่มือของทางกรมสรรพากร เราจะเห็นว่ายึดหลักการตามวันที่เกิดเหตุการณ์เป็นหลัก โดยส่วนใหญ่แล้วจะอ้างอิงตามวันที่ขาย ได้รับ หรือ แลกเปลี่ยน รวมถึงกิจกรรมต่างๆ ที่ทำให้เห็นว่าเกิดเงินได้ในวันนั้น ๆ แม้ว่าจะไม่ต้องมีการขายออกมาเป็นเงินตรา (Fiat Currency) ก็ตาม แต่ถ้าหากเกิดกิจกรรมที่ทำให้เห็นว่ามีเงินได้เกิดขึ้นแล้ว ต้องมีการคิดมูลค่าออกมาเป็นเงินบาท และนำมาเป็นรายได้เพื่อเสียภาษี ตัวอย่างเช่น
    1. กรณีการทำงาน หรือได้รับผลประโยชน์ต่าง ๆ เมื่อถึงวันที่ได้รับ จะต้องถือเป็นเงินได้ที่เกิดขึ้นทันที โดยใช้มูลค่า ณ วันที่ได้มาเป็นราคาอ้างอิง (อาจใช้ราคาที่ Exchange ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกลต.ประกาศ)
    2. กรณีการขาย จำหน่าย จ่าย โอน แลกเปลี่ยน ทั้งเหรียญที่ซื้อและเหรียญที่ขุด ก็ต้องใช้มูลค่า ณ วันที่มีเกิดรายการทั้งสิ้นเช่นเดียวกับกรณีการทำงานหรือได้รับผลประโยชน์ต่าง ๆ
  3. การคิดต้นทุน : สำหรับการคิดต้นทุนนั้นจะใช้วิธีการคำนวณตามวิธีการบัญชีที่รับรองทั่วไป ระหว่าง FIFO (เข้าก่อนออกก่อน) หรือ Moving Average (ถัวเฉลี่ยเคลื่อนที่) ที่ผู้มีเงินได้สามารถเลือกใช้ได้ตามที่ต้องการ เพียงแต่เมื่อเลือกแล้วต้องใช้วิธีนั้นตลอดปีภาษี และให้คำนวณต้นทุนแยกตามประเภทของเหรียญ ซึ่งหลักการของต้นทุนแต่ละเหรียญก็จะยึดตามวันที่ได้มา และนำมาคิดต้นทุนตามวิธีผู้มีเงินได้เลือกใช้

จาก 3 ข้อที่ว่ามา ผมมองว่าสิ่งที่ทำให้นักลงทุนกังวลที่สุดในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี คือ แนวทางการคิดต้นทุน ซึ่งเราจะมาขยายความเพิ่มเติมในเรื่องนี้กันอีกสักหน่อยครับ

การคิดต้นทุนตามหลักการบัญชี
FIFO หรือ Moving Average ต่างกันอย่างไร?

เพื่อความเข้าใจที่ง่ายขึ้นในการจัดการภาษีคริปโต ผมขอแยกออกเป็น 3 กรณีได้แก่ การคำนวณต้นทุนของสายซื้อขาย (Trading) สายขุด (Mining) และ สายถือ (Staking) หรือได้รับผลประโยชน์จากการลงทุนครับ

การคำนวณต้นทุนในการซื้อขาย

ภาษีคริปโต ตัวอย่างการคำนวณต้นทุน

จากตัวอย่างข้างต้นในคู่มือกรมสรรพากร เราจะเห็นว่า การคิดต้นทุนแบบ FIFO หรือเข้าก่อนออกก่อนนั้น จะพิจารณาจากตัวที่ซื้อก่อนว่าเป็นต้นทุนที่ขายออกไปก่อน เช่น การขายในวันที่ 10 กรกฎาคม 2564 จำนวน 10 หน่วย จะถือว่าต้นทุนมาจากการซื้อในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 จึงทำให้เกิดกำไรจำนวน 100 บาท ซึ่งมาจาก (30-20) x 10 นั่นเองครับ

และจากวิธี FIFO เราจะพบกว่าต้นทุนคงเหลือ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 อยู่ที่จำนวน 4 หน่วยในมูลค่าหน่วยละ 9 บาท ซึ่งมาจากต้นทุนคงเหลือ ณ วันที่ 15 ตุลาคม 2564 ซึ่งทางผู้มีเงินได้ก็จะนำต้นทุนที่ว่านี้ไปเป็นต้นทุนในปี 2565 เพื่อใช้ในการคำนวณกำไรหรือขาดทุนที่เกิดขึ้นต่อไปครับ

ภาษีคริปโต ตัวอย่างการคำนวณต้นทุน

แต่ในทางกลับกัน หากเลือกใช้วิธีคิดต้นทุนแบบถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักหรือ Moving Average การคำนวณต้นทุนการขายในวันที่ 10 กรกฎาคม 2564 จะได้ต้นทุนเท่ากับ 16 บาท ซึ่งมาจาก จำนวนเงินที่ซื้อหารด้วยปริมาณที่ได้รับของทั้งวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 และ 5 มิถุนายน 2564 หรือเท่ากับ (200+40) / 15 = 16 บาท และทำให้การขายในวันดังกล่าวเกิดกำไรขึ้นทั้งหมด 140 บาท ซึ่งมาจาก (30-16) x 10 นั่นเองครับ

และจากวิธี Moving Average เราจะพบกว่าต้นทุนคงเหลือ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 อยู่ที่จำนวน 4 หน่วยในมูลค่าหน่วยละ 10.75 บาท ซึ่งมาจากต้นทุนเฉลี่ยต่อเนื่องที่สะสมมาเรื่อย ๆ ซึ่งทางผู้มีเงินได้ก็จะนำต้นทุนที่ว่านี้ไปเป็นต้นทุนในปี 2565 เพื่อใช้ในการคำนวณกำไรหรือขาดทุนที่เกิดขึ้นต่อไปครับ

โดยทางเลือกที่ผู้มีเงินได้จะเลือกใช้ในการคำนวณต้นทุนของคริปโตหรือโทเคนนั้นขึ้นอยู่กับความสมัครใจ สามารถใช้วิธีไหนก็ได้แต่หากเลือกใช้วิธีไหนแล้วต้องใช้วิธีนั้นไปตลอดปีภาษี และสามารถเปลี่ยนแปลงได้ในปีถัดไปครับ

การคำนวณต้นทุนในการขุด

สำหรับกรณีของสายขุด เรามาดูตัวอย่างจากคู่มือกันต่อเลยครับ โดยข้อมูลทั้งหมดมีดังนี้

ภาษีคริปโต ตัวอย่างการคำนวณต้นทุน

จากข้อมูลจะเห็นว่ากรณีของการขุดนั้นจะแยกเป็น 2 ส่วน คือ

  • ส่วนแรก “ราคาขาย” จะใช้เงินได้ที่เกิดขึ้นในการขายเป็นเงินได้เลย ซึ่งในที่นี้ คือ ขายที่ 40 เหรียญ ในมูลค่าเหรียญละ 30,000 บาท เป็นเงินได้ทั้งหมด 1,200,000 บาท
  • ส่วนที่สอง “ต้นทุน” จะคำนวณจากต้นทุนที่ลงทุนไปทั้งหมด ซึ่งต้องมีการคิดเรื่องของค่าเสื่อมราคา ค่าซ่อมแซม ค่าไฟฟ้า ค่าอินเตอร์เน็ต (ต้นทุนที่ทำให้ได้เหรียญมา) โดยจะเห็นว่าต้นทุนในการลงทุนทั้งหมดคือ 510,000 บาทได้จำนวนมาทั้งหมดคือ 60 เหรียญ และคิดเป็นต้นทุน 40 เหรียญในจำนวน 340,000 บาท หรือจะคิดออกมาเป็นต้นทุนเหรียญละ 8,500 บาทก็ได้ (510,000/60)

ถ้าแบบนี้จะเกิดกำไรทั้งหมด คือ 860,000 บาท โดย 1,200,000 บาท คือรายได้ที่ได้รับ และ 340,000 คือค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง ที่ต้องใช้ยื่นภาษีต่อไปครับ ส่วนจำนวนต้นทุนเหรียญละ 8,500 บาทอีก 20 เหรียญที่เหลือก็จะยกยอดไปเป็นต้นทุนของปีต่อไปครับ ซึ่งหากมีการขุดได้เพิ่มเติมในปีหน้า ก็ต้องมาเลือกว่าจะใช้ต้นทุนแบบเข้าก่อนออกก่อน หรือ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก ในการคำนวณต้นทุนสำหรับปีต่อไปเช่นเดียวกันกับกรณีของการซื้อขายนั่นเองครับ

การคำนวณต้นทุนกรณีได้รับผลประโยชน์

ในกรณีได้รับผลประโยชน์จากการลงทุน จากกรณีตัวอย่างนี้ เราจะเห็นว่า ได้รับผลตอบแทนจากการซื้อคริปโตเคอร์เรนซี่จำนวน 2 ครั้ง ในวันที่ 30 มิถุนายน และ 15 สิงหาคม 2564 เป็นจำนวนมูลค่าเหรียญละ 10 บาท และ 8 บาท และขายไปในวันที่ 1 ตุลาคม 2564 ซึ่งจะเกิดผลตอบแทนทั้งหมดดังนี้ครับ

  • กำไรที่เกิดขึ้นจากการ Staking และจากกิจกรรม 2 ครั้ง รวมทั้งหมดคือ 44 บาท ถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 8 (ผลตอบแทนจากการได้รับคริปโต)
  • กำไรจากการขายจำนวน 56 บาท เกิดจาก 300 – 244 หรือคำนวณต้นทุนแบบถัวเฉลี่ยได้ต้นทุนออกมาเป็นเหรียญละ 16.27 บาท และขายไปในมูลค่า 20 บาทต่อเหรียญ

จากตัวอย่างทั้ง 3 ที่ว่ามานี้ หวังว่าจะทำให้เข้าใจเรื่องของการคิดต้นทุนมากขึ้นนะครับ แต่ยังไม่จบครับเพราะเรามีอีกกรณีหนึ่งที่ต้องรู้ไว้ในการเสียภาษี นั่นคือ การแลกเหรียญคนละสกุล ซึ่งจะมีวิธีการคิดต้นทุนและกำไรแตกต่างกันออกไปดังนี้ครับ

การแลกเปลี่ยนเหรียญกับการเสียภาษี

จากตัวอย่างจะเห็นว่าหากมีการแลกเปลี่ยนเหรียญคนละประเภทกันระหว่าง 2 คน สิ่งที่ต้องทำคือคำนวณราคาที่ใช้แลกเปลี่ยนหักด้วยราคาทุนที่เรามี (ซึ่งราคาทุนที่ว่านี้ต้องรู้จากการใช้วิธีตีราคาแบบ FIFO หรือ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก) และนำส่วนต่างที่เกิดขึ้นจากการแลกเปลี่ยนไปเสียภาษี ซึ่งในที่นี้จะเห็นว่า

  • นายเอ เกิดกำไรจำนวน 48 บาท โดยถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 40(4)(ฌ)
  • นายบี เกิดกำไรจำนวน 52 บาท โดยถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 40(4)(ฌ)

ดังนั้นสิ่งที่สำคัญของกรณีการแลกเปลี่ยนเหรียญคนละประเภทหรือคนละสกุลกันนั้น อยู่ที่การคำนวณต้นทุนซึ่งจะใช้หลักการเดียวกันกับการซื้อและขายตามปกติ นั่นเองครับ

ข้อกฎหมายที่ใช้หักภาษี ณ ที่จ่าย

สำหรับเรื่องของภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และ ข้อจำกัดต่างๆ ที่หลายคนมีคำถามอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมอยากชวนทุกคนลองมาทำความเข้าใจเพิ่มเติมเกี่ยวกับกฎหมายอีกตัวครับ นั่นคือ ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ซึ่ง พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรฉบับที่ 19 ก็ได้แก้ไขเพิ่มเติมในมาตรา 50 ดังนี้ครับ

(ฉ) ในกรณีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (ซ) และ (ฌ) ให้คำนวณหักในอัตราร้อยละ 15.0 ของเงินได้  

นั่นคือ กำหนดให้ผู้จ่ายเงินมีการหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ในอัตรา 15% เมื่อมีการจ่ายส่วนแบ่งกำไร หรือ เกิดกำไรจากการขาย และมีหน้าที่นำส่งภาษีที่หักไว้ตัวนี้ให้กับกรมสรรพากรครับ

อ้อ ต้องบอกไว้ก่อนว่า การหักภาษี 15% นี้ไม่ได้ถือว่าเป็น Final TAX (หักแล้วเลือกไม่ยื่นภาษีได้) นะครับ ซึ่งแปลว่าเรายังมีหน้าที่ต้องเอาส่วนแบ่งกำไรหรือกำไรจากการขายที่เกิดขึ้นมายื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทั้งจำนวนอยู่ดี แค่สามารถนำภาษี 15% ที่ถูกหักไว้ มาหักออกจากภาษีที่คำนวณได้เท่านั้นครับ

ซึ่งในปัจจุบัน กรมสรรพากรได้ชี้แจงว่าการหักภาษี ณ ที่จ่ายที่ว่านี้มีการผ่อนปรนให้ นั่นคือ หากไม่สามารถหักได้ หรือ ไม่ทราบว่าผู้รับเงินได้เป็นใคร ก็ไม่ต้องหักตามกฎหมายฉบับนี้ และอยู่ในระหว่างการแก้ไขข้อกฎหมายเพิ่มเติมในเรื่องนี้ต่อไปครับ

เอาล่ะครับ… เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ ผมเชื่อว่าหลายคนคงจะมีคำถามสำคัญขึ้นมา นั่นคือ แบบนี้ย้ายไปเทรดที่เมืองนอกแทน จะดีกว่าไหม กฎหมายไทยบังคับได้แค่ในไทยหรือเปล่า ?

กฎหมายบังคับได้เฉพาะประเทศไทยจริงหรือเปล่า?
ถ้าเทรดในต่างประเทศจะต้องเสียภาษีใไหม?

ก่อนอื่นขออ้างอิงมาตรา 41 วรรคสอง และวรรคท้าย ที่พูดถึงเรื่องรายได้จากต่างประเทศไว้ดังนี้ครับ

ผู้อยู่ในประเทศไทยมีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เนื่องจากหน้าที่งานหรือกิจการที่ทำในต่างประเทศ หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ ต้องเสียภาษีเงินได้ตามบทบัญญัติในส่วนนี้เมื่อนำเงินได้พึงประเมินนั้นเข้ามาในประเทศไทย

ผู้ใดอยู่ในประเทศไทยชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะ รวมเวลาทั้งหมดถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวันในปีภาษีปีใด ให้ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย  

ถ้าอ่านแต่ข้อความกฎหมายอาจจะงงหน่อย แต่ผมขอสรุปให้ว่า ถ้าหากเราเข้าเงื่อนไข 2 ข้อดังนี้ นั่นคือ ในปีไหนถ้าอยู่ในประเทศไทยรวมกันถึง 180 วัน และ ได้นำเงินได้ที่เกิดขึ้นในปีเดียวกันจากต่างประเทศเข้ามาที่ประเทศไทย เรามีหน้าที่ต้องเสียภาษีในประเทศไทยครับ

ยกตัวอย่างเช่น ในปี 2564 นายบักหนอมอยู่ในประเทศไทย แต่ไปเทรดคริปโตที่ Binance มีกำไรทั้งหมด 1,000,000 บาท แต่นำเงินกำไรกลับเข้ามาในประเทศไทยในปี 2565 แบบนี้ก็จะไม่เข้าข่ายที่ต้องเสียภาษีในไทยครับ เพราะเงินได้เข้ามาคนละปีกับที่อยู่ในประเทศไทยนั่นเองครับ

นอกจากเรื่องนี้แล้ว ยังมีอีกประเด็นสำคัญที่หลายคนค้างคาใจครับ นั่นคือ ภาษีคริปโตที่ว่านี้ นอกจากภาษีเงินได้แล้ว ยังต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยหรือเปล่า ?

คริปโตเสียภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยไหม?

สำหรับคำถามนี้ เราต้องกลับไปดูนิยามของคำว่า สินค้า ตามมาตรา 77/1 (9) และ บริการ ตามมาตรา (10/1) แห่งประมวลรัษฏากรดังนี้ครับ

สินค้า” หมายความว่า ทรัพย์สินที่มีรูปร่างและไม่มีรูปร่างที่อาจมีราคาและถือเอาได้ไม่ว่าจะมีไว้เพื่อขาย เพื่อใช้ หรือเพื่อการใด ๆ และให้หมายความรวมถึงสิ่งของทุกชนิดที่นำเข้า แต่ทั้งนี้ไม่รวมถึงทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่างที่ส่งมอบโดยผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตหรือเครือข่ายทางอิเล็กทรอนิกส์อื่นใด

“บริการทางอิเล็กทรอนิกส์” หมายความว่า บริการซึ่งรวมถึงทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่างที่ส่งมอบโดยผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตหรือเครือข่ายทางอิเล็กทรอนิกส์อื่นใด ซึ่งลักษณะของบริการเป็นไปโดยอัตโนมัติในสาระสำคัญ โดยบริการดังกล่าวไม่สามารถกระทำได้หากปราศจากเทคโนโลยีสารสนเทศ

ถ้าพิจารณาข้อกฎหมาย กรมสรรพากรได้ตีความออกมาว่ากรณีของคริปโตน่าจะเข้าข่าย “บริการ” ดังนั้นหากมีการขายเหรียญคริปโตเกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปีจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย แต่ตอนนี้กำลังอยู่ในระหว่างร่างกฎหมายยกเว้นในกรณีที่มีการขายเหรียญคริปโตผ่าน Exchange ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กลต. เท่านั้น (รอออกเป็นพระราชกฤษฏีกาเพิ่มเติม)

ถ้าอยากเสียภาษีให้ถูกต้อง ควรทำอย่างไร

สำหรับคนที่อยากเสียภาษี ไม่ว่าจะเทรดในไทย หรือ ต่างประเทศ สิ่งที่ต้องทำมี 3 ข้อสั้น ๆ ตามนี้ครับ นั่นคือ

  1. เก็บข้อมูลต้นทุนให้ชัด วัดผลกำไรให้ชัดเจน เพื่อให้เห็นตัวเลขกำไรที่แท้จริงที่เราได้รับ เพราะต่อให้จะไม่ถูกหักภาษี ณ ทีจ่าย แต่เรายังมีหน้าที่ยื่นภาษีให้ถูกต้องอยู่ดี เพราะถือเป็นเงินได้ที่ต้องเสียภาษีตามกฎหมายครับ
  2. หากมีการโอนข้าม Exchange/Broker ก็ต้องบันทึกต้นทุนเดิมไว้ ผมคงไม่สามารถบอกได้ว่าให้เทรดหรือลงทุนอยู่แค่ที่เดียว แต่สิ่งที่เราต้องรู้คือ หากเรามีการย้าย / เปลี่ยน หรือโอนไปที่ใหม่ Platform ใหม่ เราก็ต้องเก็บต้นทุนเดิมไว้ให้ถูกต้อง เพื่อที่จะได้วัดผลต้นทุนและกำไรตามแนวทางล่าสุดที่กฎหมายกำหนดครับ
  3. กรณีที่เป็นการเทรดหรือลงทุนในต่างประเทศ ต้องระวังเงื่อนไขของการนำเงินกลับเข้าประเทศไทยตามที่กฎหมายกำหนดไว้ แต่ถ้าหากเราบันทึกหรือมีข้อมูลในข้อ 1 และ 2 แล้ว เราก็น่าจะมียอดที่ยื่นภาษีได้อย่างถูกต้องครับ

บทสรุป

แนวทางทั้งหมด ณ ตอนนี้น่าจะช่วยให้เราค่อนข้างเคลียร์ในระดับหนึ่งเกี่ยวกับการเสียภาษีคริปโต แต่อย่างไรก็ตามผมขอสรุปสั้น ๆ ว่า ณ ตอนนี้หลักการจัดเก็บภาษีตามกฎหมายนั้น ยังมีแนวทางและข้อปฎิบัติต่างๆ ที่ต้องปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงต่อไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของทางรัฐว่าในอนาคตจะหาทางจัดเก็บภาษีส่วนนี้อย่างไรให้ถูกต้องและเป็นธรรมมากที่สุดครับ

แต่ในแง่ของผู้เสียภาษีแล้ว ถ้าหากเราอยากปฎิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายด้วยความบริสุทธิ์ใจ เราก็สามารถทำได้โดยการเก็บข้อมูลหลักฐานการซื้อขาย ลงทุน รวมถึงอื่นๆ ทั้งหมดไว้ และนำมายื่นภาษีให้ถูกต้องได้เช่นเดียวกันครับ

แต่สำหรับคนที่ขาดทุนอยู่อันนี้สบายใจได้
เพราะว่าเราไม่ต้องเสียภาษีอยู่แล้วครับ

TAXBugnoms

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Allow