ภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปี คืออะไร คำนวณแบบไหน? (อัพเดทปี 64)

ภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปี

พี่ครับ..บริษัทผม
ต้องยื่นภาษีเงินได้ครึ่งปีหรือเปล่า

อีกหนึ่งคำถามที่ได้ยินบ่อย ๆ ในช่วงครึ่งปีหลังของทุกปี

ภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปี คือ ส่วนประกอบหนึ่งของภาษีเงินได้ของนิติบุคคล (บริษัท หรือ ห้างหุ้นส่วน ที่เสียภาษีจากฐานกำไรสุทธิ) โดยมีวิธีคำนวณภาษีจากยอดเงินได้ครึ่งปี และอาจมีการจ่ายไว้ล่วงหน้า โดยกำหนดให้สามารถนำภาษีเงินได้ครึ่งปีมาหักออกจากภาษีปลายปีที่คำนวณได้

Advertisements

ความสัมพันธ์ระหว่าง
ภาษีสิ้นปี ครึ่งปี และหัก ณ ที่จ่าย

ความสัมพันธ์ระหว่างภาษีเงินได้สิ้นปี ครึ่งปี และ หัก ณ ที่จ่าย
Advertisements

จากรูปจะเห็นว่า ภาษีเงินได้ครึ่งปีที่เราได้เสียไว้นั้น สามารถนำไปหักออกจากภาษีเงินได้สิ้นปีได้ โดยความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ จะรวมถึง เรื่อง ภาษีเงินได้สิ้นปี ภาษีเงินได้ครึ่งปี และภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายครับ

โดยคำว่า ภาษีเงินได้นิติบุคคลสิ้นปีจะคำนวณจากกำไรสุทธิในรอบบัญชี ส่วน ภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปี จะคำนวณสำหรับรอบครึ่งรอบบัญชี และตัวสุดท้าย ภาษีหัก ณ ที่จ่าย หมายถึง ภาษีที่นิติบุคคลถูกหักไว้ล่วงหน้าและนำส่งให้กับสรรพากร โดยที่นิติบุคคล (ผู้รับเงิน) มีหน้าที่เก็บหลักฐานการหักภาษี ณ ที่จ่ายที่เกิดขึ้นในแต่ละปีมารวบรวมใช้เป็นหลักฐานต่อไป

Advertisements

ดังนั้น ความสัมพันธ์ในการจ่ายภาษีเพิ่มหรือขอคืนนั้น จะมาจากการนำยอดภาษีสิ้นปีที่คำนวณได้ หักออกด้วย ภาษีที่เสียล่วงหน้าไปตอนครึ่งปี และ ภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่ถูกหักไว้ระหว่างปี นั่นเองครับ

ถ้าหากใครคิดว่าตัวเองอยากทบทวนหลักการภาษีเงินได้ครึ่งปีของบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ผมแนะนำคลิปนี้ให้ลองศึกษาเพิ่มเติมครับ

ยกตัวอย่างเช่น บริษัทเราได้จ่ายภาษีเงินได้ครึ่งปีไปแล้ว 50,000 บาท พอสิ้นปีคำนวณภาษีได้ 80,000 บาท ก็จ่ายภาษีเพิ่มแค่ 30,000 บาทเท่านั้น (80,000 – 50,000) และถ้าบริษัทเรามีภาษีถูกหัก ณ ที่จ่ายไว้ ก็เอามาหักจากยอดภาษีได้อีกเช่นเดียวกันครับ เช่น ถ้าหากบริษัทเรามีภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายไว้ตลอดทั้งปีจำนวน 20,000 บาท ทัายที่สุดแล้วบริษัทเราก็จะจ่ายภาษีเพิ่มแค่ 10,000 บาทเท่านั้นครับ

Advertisements

ก่อนที่เราจะไปพูดกันต่อถึงเรื่องของ วิธีการคำนวณภาษี เรามาดูกันก่อนว่า แล้ว ใครมีหน้าที่ยื่นภาษี ตัวนี้บ้างครับ

ใครมีหน้าที่ยื่นภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปี?

โดยผู้มีหน้าที่ยื่นภาษีตัวนี้ คือ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก “ฐานกำไรสุทธิ” ซึ่งหมายถึงนิติบุคคลที่ จัดตั้งและจดทะเบียนในประเทศไทย และ มีรอบบัญชีครบ 12 เดือน และยังดำเนินกิจการอยู่ในปีนั้น ๆ

ถ้าให้สรุปง่าย ๆ ผมมองว่า ผู้มีหนัาที่เสียภาษีในกรณีนี้ หมายถึง บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนตามกฎหมายไทยที่ปีไหนมีรอบบัญชีครบ 12 เดือนก็ได้ครับ

โดยกฎหมายกำหนดให้ต้อง ยื่นภาษีเงินได้ครึ่งปีภายใน 2 เดือนหลังจากครบรอบบัญชีครึ่งปี ครับ ด้วยแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ตามมาตรา 67 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร หรือเรียกกันสั้นๆว่า แบบ ภ.ง.ด. 51

แบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.51 จากเวปไซด์กรมสรรพากร
Advertisements

ยกตัวอย่างเช่น บริษัท บักหนอม มี รอบบัญชีปกติคือ 1 มกราคม – 31 ธันวาคมของทุกปี ดังนั้นแปลว่าบริษัท บักหนอม มีหน้าที่ยื่นภาษีเงินได้ครึ่งปีภายในวันที่ 31 สิงหาคม (ถ้ายื่นผ่านอินเตอร์เน็ต จะได้ระยะเวลาเพิ่มอีก 8 วัน) นอกเสียจากว่ามีมาตรการภาษีใหม่ อย่างเช่น มาตรการเลื่อนยื่นภาษีช่วงโควิด-19 (ในปี 2563) ก็อาจจะสามารถเลื่อนเวลายื่นแบบออกไปได้ครับ

โดยสำหรับปี 2564 ยังไม่มีการประกาศเลื่อนยื่นแบบแสดงรายการภาษีตัวนี้แต่อย่างใด ซึ่งเราคงต้องติตดามกันต่อไปครับ

วิธีคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปี

โดยปกติแล้ววิธีการคำนวณภาษีเงินได้ครึ่งปีของนิติบุคคลจะมีอยู่ 2 วิธี คือ วิธีประมาณการกำไรสุทธิ กับ วิธีกำไรสุทธิที่เกิดขึ้นจริงในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งธุรกิจทั่วไปที่ไม่ใช่บริษัทที่จดทะเบียน (ในตลาดหลักทรัพย์) ธนาคาร หรือหลักทรัพย์ต่างๆ มักจะใช้ ประมาณการกำไรสุทธิ เป็นหลักครับ

ภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปี

ซึ่งหลักการคำนวณภาษีตามวิธีประมาณการกำไรสุทธินั้น จะใช้วิธีการสั้นๆ คือ คิดออกมาว่าปีนี้น่าจะมีกำไรเท่าไร แล้วหารสองเราจะได้ กำไรครึ่งปี หลังจากนั้นก็เอามาคูณอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลนี่แหละครับ

ประมาณการกำไรสุทธิ คำนวณภาษีเงินได้ครึ่งปี

ถ้าให้อธิบายการคำนวณด้วยวิธี ประมาณการกำไรสุทธิ แบบละเอียด จะสรุปออกมาเป็นข้อ ๆ ได้ดังนี้ครับ

  1. เราต้อง ประมาณการกำไรทั้งปีให้ได้ก่อน โดยอาจจะใช้วิธีประมาณจากตัวเลขรายได้ และ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงในช่วงครึ่งปีแรก แล้วบวกด้วยประมาณการส่วนที่เหลือในครึ่งปีหลัง เมือนำรายได้และค่าใช้จ่ายมาลบกันก็จะได้กำไรประมาณการสำหรับปีนั้นๆ
  2. นำตัวเลขในข้อ 1 มาหักออกด้วย ขาดทุนสุทธิที่มีสิทธิหักตามกฎหมาย หรือ รายได้ที่ยกเว้นภาษี (ถ้ามี)
  3. นำตัวเลขที่ได้ในข้อ 2 มาหารด้วย 2  เพื่อให้รู้ว่าเรามีกำไรครึ่งปีเป็นเท่าไร แล้วนำไปคูณอัตราภาษี โดยปกติ คือ 20% แต่ถ้าเป็น SMEs ตามกฎหมาย คือ ทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วไม่เกิน 5 ล้านบาทและรายได้รวมไม่เกิน 30 ล้านบาทจะได้รับสิทธิลดอัตราภาษีลงไปครับ

ยกตัวอย่างเช่น บริษัท บักหนอม จำกัด มีทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้ว 1 ล้านบาท ประมาณการรายได้ทั้งปีไว้จำนวน 10 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายทั้งปีจำนวน 8 ล้านบาท และมีขาดทุนทางภาษียกมาจากปีที่แล้วจำนวน 1 ล้านบาท เมื่อนำมาคำนวณก็จะได้ตามตารางด้านล่างนี้ครับ

ภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปี วิธีคำนวณตามประมาณการกำไรสุทธิ

เมื่อคำนวณเสร็จแล้ว จะเห็นว่า บริษัท บักหนอม จำกัด เข้าเงื่อนไขของการเป็น SMEs ที่ได้รับสิทธิลดอัตราภาษี (ทุนจดทะเบียนที่ชำระไม่เกิน 5 ล้าน และรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาท เมื่อคำนวณภาษีแล้วจะได้ตามนี้ครับ

สรุปได้ว่า บริษัท บักหนอม จำกัด จะเสียภาษีครึ่งปีเป็นจำนวน 30,000 บาท นั่นเองครับ หรือถ้าหากใครอ่านบทความนี้แล้วยังสงสัยในวิธีการคำนวณภาษี สามารถดูในรูปแบบคลิปวีดีโอที่นี่ได้ครับ

ข้อควรระวังในการคำนวณภาษีครึ่งปี คือ
ประมาณการขาดเกินกว่า 25%

จากตัวอย่าง จะเห็นว่าการคำนวณภาษีครึ่งปีสำหรับนิติบุคคลไม่ใช่เรื่องยากใช่ไหมครับ แต่หนึ่งในปัญหาภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปีที่ชวนให้ปวดหัว นั่นคือ เรื่องการประมาณกำไรไว้น้อยกว่ากำไรที่เกิดขึ้นจริงมากกว่า 25% โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ซึ่งเรื่องนี้จะส่งผลให้กิจการของเราต้องเสียเงินเพิ่มอีก 20% ของภาษีที่ชำระขาดไปทันทีครับ

ภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปี การคำนวณประมาณการขาดเกินทางภาษี

ถ้าย้อนกลับไปดูตัวอย่างที่ยกมา พบว่า บริษัท บักหนอม จำกัด ประมาณการกำไรสุทธิทั้งปีไว้ 1,000,000 บาท ปรากฎว่าตอนสิ้นปี มีกำไรเกิดขึ้นจริงจำนวน 3,000,000 บาท แบบนี้จะเห็นว่ากำไรที่ประมาณการไว้น้อยกว่ากำไรจริงถึง 2,000,000 บาท หรือคิดเป็น 66.67% ซึ่งมากกว่า 25% ของกำไรที่เกิดขึ้นจริง

ประมาณการขาดเกิน

ผลตรงนี้จะส่งผลให้ บริษัท บักหนอม จำกัด ต้องเสียเงินเพิ่ม 20% ของภาษีที่ชำระขาดไปทันที รวมเป็นเงินทั้งหมด 30,000 บาท ถ้าหากไม่มีเหตุอันสมควรมาชี้แจงกับสรรพากรว่าเป็นเพราะอะไรถึงประมาณกำไรขาดไปแบบนี้ (อ้างอิง : มาตรา 67 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร)

แต่อย่างไรก็ดี กฎหมายให้แนวทางที่เรียกว่า เหตุอันสมควร ไว้ครับ …

เหตุอันสมควร คืออะไร?

เหตุอันสมควร เป็นแนวทางในการพิจารณาผ่อนปรนเรื่องของการประมาณการกำไรสุทธิเพื่อคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปีนั่นเองครับ โดยแบ่งออกเป็น 2 กรณี ดังนี้ครับ

  1. กรณีที่คำนวณออกมาแล้วพบว่า ภาษีครึ่งปีที่คำนวณได้ไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของภาษีสิ้นปีที่คำนวณได้ของปีที่แล้ว ยกตัวอย่างเช่น ภาษีปี 2562 คำนวณได้ 1,000,000 บาท ภาษีเงินได้ครึ่งปีของปี 2563 ก็ต้องคำนวณได้ไม่น้อยกว่า 500,000 บาท
  2. กรณีที่นิติบุคคลได้รับสิทธิลดอัตราภาษีในปีนี้ หากมีการประมาณการกำไรสุทธิของปีนี้ไว้ไม่น้อยกว่ากำไรสุทธิปีที่แล้ว ก็จะถือว่าเป็นเหตุอันสมควรเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น กำไรสุทธิจริงในปี 2562 คำนวณได้จำนวน 5,000.000 บาท หากปี 2563 บริษัท บักหนอมเป็น SMEs ที่ได้สิทธิลดอัตราภาษี ก็ต้องประมาณการกำไรในปี 2563 ทั้งปีไว้ไม่น้อย 5,000,000 บาท (แล้วค่อยนำมาคำนวณตามวิธีการประมาณการกำไรสุทธิอีกทีหนึ่งครับ)

สำหรับกรณีนี้ สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จาก ป.50/2537 และ ป.152/2558 ครับ แต่ผมอยากจะแนะนำเพิ่มเติม ว่าให้ ลองประมาณการกำไรปีนี้ออกมาก่อน แล้วลองคำนวณภาษีดู ถ้าพบว่าภาษีที่คำนวณได้เกินครึ่งหนึ่งของภาษีสิ้นของปีที่แล้วที่คำนวณได้ แบบนี้ย่อมถือว่าเข้าเงื่อนไขเหตุอันสมควรแล้วครับ

แต่ถ้ามุมมองโดยส่วนตัวของผม ผมมองว่าสิ่งที่เราต้องรู้และต้องทำมี 2 เรื่องสำคัญดังนี้ครับ

  • กำไรสุทธิของปีที่ผ่านมา
  • ภาษีเงินได้ของสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีที่แล้ว (ภาษีที่คำนวณได้นะครับ ไม่ใช่ภาษีที่ชำระ)

ยกต้วอย่างเช่น ปีที่ผ่านมา บริษัท บักหนอม จำกัด มีกำไรสุทธิจริงที่ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 50 ประจำปี ไว้จำนวน 5,000,000 บาท และมีภาษีที่คำนวณได้จำนวน 1,000,000 บาท สิ่งที่บริษัทบักหนอมควรทำในปีปัจจุบัน เพื่อให้ปลอดภัยกับการเสียเงินเพิ่มตามมาตรา 67 ตรี คือ

  • คำนวณภาษีครึ่งปีไว้ให้ไม่ต่ำกว่า 500,000 บาท
  • ประมาณการกำไรของทั้งปีไว้ไม่ต่ำกว่า 5,000,000 บาท

ข้อแรก ทำเพื่อให้เข้าเหตุอันสมควรตามข้อ 1 นั่นคือ การคำนวณภาษีไว้ไม่ต่ำกว่ากึ่งหนึ่งของภาษีในรอบบัญชีปีที่แล้ว ส่วนข้อสองนั้นทำเพื่อให้เข้าเงื่อนไขข้อที่ 2 คือ ประมาณการกำไรทั้งปีไว้ไม่น้อยกว่าปีที่แล้ว

ทีนี้ประเด็นปัญหาจริงๆ คือ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลส่วนใหญ่มักจะไม่ได้ทำกันตามนี้แต่แรก ส่งผลให้เกิดปัญหาตามมาอีกมากมายและเป็นที่ถกเถียงกันครับ ซึ่งในกรณีการพิจารณาเหตุอันสมควรนั้น ผมแนะนำว่าขอให้ยึดตามหลักการต่อไปนี้ครับ

จำนวนภาษี คือ ภาษีที่คำนวณได้ ไม่ใช่ภาษีที่ชำระ

ย้ำตรงนี้ให้ชัดอีกทีนะครับว่า หลักการสำคัญ คือ กึ่งหนึ่งของภาษีที่คำนวณได้ ไม่ใช่กึ่งหนึ่งของภาษีที่ต้องจ่ายชำระ และอีกประเด็นสำคัญคือ ถ้าหากกิจการขาดทุนในปีก่อนแล้ว จะถือว่าไม่เข้าข่ายเหตุอันสมควร ครับ

เพราะการขาดทุนนั้นจะทำให้กรณีเหตุอันสมควรถูกยกเว้นไปทันที โดยยึดหลักการตีความอย่างเคร่งครัดว่า “ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของภาษีเงินได้สิ้นรอบระยะเวลาบัญชี” ซึ่งถ้าหากปีที่แล้วไม่ได้เสียภาษี ก็แปลว่าไม่สามารถที่จะหายอดกึ่งหนึ่งได้นั่นเองครับ

ยกตัวอย่างเช่น ปีที่ผ่านมา (อีกแล้ว) บริษัท บักหนอม จำกัด มีขาดทุนไม่ต้องเสียภาษี แปลว่าในปีนี้ บริษัท บักหนอม จำกัด ต้องประมาณการด้วยความระมัดระวัง โดยใช้หลักการข้อสองนำทาง คือ กำไรไม่ต่ำกว่ากำไรปีที่แล้ว (กรณีนี้ใช้ได้เฉพาะที่มีการลดอัตราภาษีเท่านั้น) หรืออย่างน้อย ควรประมาณการให้ไม่ขาดเกินกว่าร้อยละ 25 ตามที่กฎหมายกำหนด

เงินเพิ่มจะคิดหลังจากหักยอดภาษีหัก ณ ที่จ่าย

สำหรับการพิจารณาเหตุอันสมควรนั้น หากต้องมีการเสียเงินเพิ่มตามที่กำหนด จะคิดจากยอดหลังจากหักภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ไม่ใช่คิดจากภาษีที่คำนวณได้ทันที ดังนั้น เมื่อคำนวณประมาณการแล้วพบว่าต้องเสียภาษีเพิ่ม ถ้าหากมีภาษีหัก ณ ที่จ่าย ก็สามารถนำมาใช้หักออกจากยอดภาษีที่ต้องชำระได้ แล้วจึงค่อยคิดเงินเพิ่มครับ (อ้างอิง : คำพิพากษาฎีกาที่ 7055/2544)

ภ.ง.ด. 51

สำหรับคนที่ต้องการยื่นภาษี (ภ.ง.ด. 51) ผ่านอินเตอร์เน็ตทางเวปไซด์กรมสรรพากร สามารถศึกษาวิธีการกรอกข้อมูลแบบแสดงรายการภาษีเพิ่มเติมสำหรับปี 2564 ได้ที่คลิปวิดีโอด้านล่างนี้ครับ

สรุป

โดยสรุปแล้ว ภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปี ไม่ใช่เรื่องยากอย่างทีคิดครับ โดยผมแนะนำว่าสำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลทั่วไปนั้น เราควรรู้ประเด็นสำคัญ 2 ข้อดังนี้ครับ

  1. เข้าใจเทคนิคและวิธีการในการคำนวณภาษี หลังจากนั้นคำนวณตามหลักการที่กฎหมายกำหนด เช่น เราเป็นนิติบุคคลที่ต้องคำนวณด้วยวิธีประมาณการกำไรสุทธิ หรือ คำนวณตามหลักการของกำไรสุทธิที่เกิดขึ้นจริงในรอบครึ่งปี
  2. ในกรณีที่เราใช้วิธี ประมาณกำไรสุทธิ เราได้ประมาณการตัวเลขไว้ได้อย่างเหมาะสมหรือเปล่า ไม่ว่าจะใช้วิธีประมาณตัวเลขตามข้อเท็จจริง หรือ เหตุอันสมควร ก็ตาม แต่เราต้องประมาณไว้เพื่อไม่ให้มีปัญหาเรื่องประมาณการขาดเกินในภายหลัง เพราะตรงนี้คือจุดสำคัญในการจัดการภาษีครึ่งปีครับ

สุดท้ายนี้ อย่าลืมยื่นภาษีเงินได้ครึ่งปีภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดด้วยนะครับ นั่นคือ ภายใน 2 เดือนหลังจากครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี ซึ่งถ้าหากนิติบุคคลไหนไม่ยื่นไว้ก็ถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย ต้องเสียค่าปรับและเงินเพิ่มตามมาครับ

ซึ่งเราจะปฎิเสธว่า
ไม่รู้กฎหมายไม่ไ้ด้ครับ

TAXBugnoms

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Allow