คนละครึ่ง เสียภาษีไหม? เราชนะ เรารักกัน ฯลฯ ต้องเสียด้วยหรือเปล่า ?

คนละครึ่ง เสียภาษี

พี่ครับ คนละครึ่ง เราชนะ เรารักกัน ฯลฯ
พวกนี้มันต้องเสียภาษีหรือเปล่าครับ ?

คำถามที่มาบ่อย ทุกครั้งที่รัฐมีนโยบายแนวนี้

คนละครึ่ง เสียภาษีไหม ถ้าต้องเสีย เสียภาษีอย่างไร? แบบไหน? มีวิธียังไงบ้าง? นี่เป็นคำถามที่ได้รับกันบ่อย ๆ ในช่วงที่เป็นกระแสฮอตฮิตแบบนี้ (ปี 2563 – 2564) หรือถ้าพูดให้ครบถ้วน เราจะเห็นว่ามีการให้ลงทะเบียนรับสิทธิ์สนับสนุนจากรัฐบาลมากมาย ไม่ว่าจะเป็น คนละครึ่ง เรารักกัน เราชนะ หรือสิทธิ์ต่าง ๆ ที่อาจจะมีให้ต่อจากนี้

Advertisements

เมื่อมีสิทธิ์แบบนี้เกิดขึ้น เชื่อเลยครับว่า หลายคนย่อมให้ความสนใจกับเรื่องนี้ เพราะในมุมของประชาชนมันคือ การรับสิทธิ์ช่วยเหลือในการจับจ่ายใช้สอย ในขณะที่ฝั่งของธุรกิจก็ถือว่าเป็น การเพิ่มโอกาสในการสร้างยอดขายที่เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน

คนละครึ่ง เสียภาษีไหม?
เริ่มจากสิทธิ์ฝั่งประชาชนกันก่อน

สำหรับการจัดการภาระภาษีที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ มักจะเป็นที่ถกเถียงกันค่อนข้างมาก เนื่องจากมีประเด็นที่ชวนสับสนและสงสัยอยู่หลายอย่าง โดยผมอยากจะเริ่มจากชวนคิดว่า สิทธิ์ที่ได้รับจากนโยบายเหล่านี้ สามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วน นั่นคือ

Advertisements
  • สิทธิ์ประโยชน์ฝั่งประชาชน (ผู้บริโภค) ที่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐ
  • สิทธิ์ประโยชน์ฝั่งร้านค้า (ผู้ประกอบการ) ที่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐ

แม้ว่าจะเป็นเงินก้อนเดียวกัน จากการที่ รัฐช่วยจ่ายให้กับผู้บริโภคเพื่อซื้อสินค้าหรือบริการ แต่ในทางกฎหมายภาษีแล้ว เราอาจจะต้องตีความแบ่งออกเป็น 2 ส่วนเช่นกัน โดยเริ่มจากสิทธิ์ประโยชน์ของฝั่งประชาชนที่ได้รับกันก่อนครับว่า มันมีผลกระทบอย่างไร ? 

เงินได้ที่ผู้บริโภคได้จากการรับสิทธิ์
คนละครึ่ง เราชนะ เรารักกัน ฯลฯ
ต้องถือเป็นเงินได้ในการคำนวณภาษีไหม? 

ถ้าให้ตีความโดยอิงหลักการของกฎหมายภาษี (ประมวลรัษฎากร) ที่เกี่ยวข้องกับ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แล้วล่ะก็ ผมมองว่า เงินได้ที่ไม่ต้องนำมาเสียภาษีเงินได้ คือ ต้องไม่ถือเป็นเงินได้ หรือ เป็นเงินได้ที่ได้รับสิทธิ์ยกเว้นภาษี

หากตีความตามอ้างอิงมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ก็ต้องบอกเลยครับว่า เงินที่ได้จากรับสิทธิ์การสนับสนุนต่าง ๆ อย่าง คนละครึ่ง เราชนะ เรารักกัน หรือ นโยบายอื่นๆ ที่อาจจะตามมา ยังถือว่าเข้านิยามของคำว่า เงินได้อยู่ครับ (ทรัพย์สินหรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้รับ ซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน)

Advertisements
มาตรา 39 ในหมวดนี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น

เงินได้พึงประเมิน หมายความว่า เงินได้อันเข้าลักษณะพึงเสียภาษีในหมวดนี้ เงินได้ที่กล่าวนี้ให้หมายความรวมตลอดถึงทรัพย์สิน หรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้รับ ซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน เงินค่าภาษีอากรที่ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้สำหรับเงินได้ประเภทต่าง ๆ ตามมาตรา 40 และเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ ด้วย

ดังนั้นในกรอบของกฎหมายที่ไปต่อได้ คือ การทำให้เงินได้ส่วนนี้ เป็น เงินได้ที่ได้รับสิทธิ์ยกเว้นภาษี โดยสิ่งที่รัฐต้องมีให้ คือ การออกกฎหมายมาเพื่อยกเว้นภาษีเงินได้ในส่วนนี้ให้กับประชาชน จึงจะถือว่าเงินได้นี้ไม่ต้องนำมารวมคำนวณภาษีโดยสมบูรณ์ครับ 

นอกจากนั้น ถ้าหากเรายึดตามแนวทางของข้อกฎหมายที่ผ่านมา เช่น กรณีของชิม ช้อป ใช้ ที่ทางรัฐมีการออก กฎกระทรวง ฉบับที่ 362 (พ.ศ.2563) เรื่อง การยกเว้นรัษฎากร การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินสนับสนุนและเงินชดเชยตามมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ และมาตรการส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ “ชิมช้อปใช้” มาให้กับประชาชนก็พอจะเทียบเคียงได้ว่า เงินได้จากคนละครึ่ง เรารักกัน เราชนะ หรือ สิทธิ์ประโยชน์ต่าง ๆ พวกนี้ น่าจะได้รับสิทธิ์ถือเป็นเงินได้ที่ได้รับสิทธิ์ยกเว้นภาษีเช่นเดียวกัน

ชิมช้อปใช้ ยกเว้นภาษี กรณีเดียวกับ คนละครึ่ง เสียภาษี
Advertisements

นอกจากแนวทางของกฎหมายเก่าที่ผมนำอ้างอิงแล้ว เหตุการณ์ที่ยืนยันเพิ่มเติมและทำให้ทุกอย่างดูชัดเจนขึ้น คือ ข่าวประชาสัมพันธ์ของกรมสรรพากรเอง ที่ออกมายืนยันว่า เงินที่ได้รับจากโครงการคนละครึ่งและเราเที่ยวด้วยกัน ได้รับการยกเว้นภาษี อีกทางหนึ่งครับ

คณะรัฐมนตรีและกระทรวงการคลังเห็นชอบให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับประชาชนที่ได้รับเงินจากมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาลมาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว โดยให้กรมสรรพากรยกร่างกฎหมายเสนอต่อไป 

แต่เนื่องจากมีการขยายมาตรการหลายครั้ง จึงต้องประมวลมาตรการทั้งหมดเพื่อร่างกฎหมายเสนอกระทรวงการคลังและคณะรัฐมนตรีในคราวเดียว โดยจะมีการยกเว้นภาษีสำหรับเงินที่ได้รับใน ปีภาษี 2563 ซึ่งต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีในปี 2564 และเงินได้ที่ได้รับในปีภาษี 2564 ซึ่งต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีในปี 2565 ด้วย

เลขที่ข่าว : ปชส. 14/2564
วันที่แถลงข่าว:  4 มกราคม 2564

โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา กฎกระทรวงฉบับที่ 372 ได้ออกมาระบุชัดเจนในข้อ 1 (4) ดังนี้ครับ

(4) ประโยชน์อื่นใดที่ได้รับเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับค่าอาหาร ค่าเครื่องดื่ม หรือค่าซื้อสินค้าอื่น  ที่ได้ใช้จ่ายผ่านระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์โดยภาครัฐ ตามโครงการคนละครึ่ง

ในส่วนแรกนี้ เราจึงสามารถสรุปได้ว่า สำหรับคำถามที่ว่า คนละครึ่ง เสียภาษีไหม ? รวมถึงสิทธิ์อื่น ๆ ที่ได้รับจากรัฐต่าง ๆ เราสามารถตอบได้ชัด ๆ เลยว่า ในฝั่งประชาชนคนที่ได้รับสิทธิ์นั้น ย่อมได้รับการยกเว้นภาษี อย่างแน่นอนครับ

เพียงแต่สิ่งที่ต้องระวังเพิ่มเติม ยังมีอีกเรื่องดังนี้ครับ ซึ่งเกี่ยวกับสิทธิ์ในการลดหย่อนภาษีประจำปี 2563 ที่ผ่านมาอย่าง ช้อปดีมีคืน นั่นคือ เราไม่สามารถใช้สิทธิ์ได้ทั้งคู่ ต้องเลือกตัวใดตัวหนึ่งเท่านั้น

คนละครึ่ง กับ ช้อปดีมีคืน
สิทธิ์ที่ต้องเลือกให้เหมาะสม

ข้อ 4 ผู้มีเงินได้ที่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามกฎกระทรวงนี้ ต้อง

 (1) ไม่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
 (2) ไม่เป็นผู้ที่ได้ใช้สิทธิตามโครงการคนละครึ่งตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2563
 (3) ไม่เป็นผู้ที่ได้รับสิทธิตามโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ  ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2563

เมื่ออ้างอิงตามกฎกระทรวงฉบับที่ 368 ข้อ 4(2) ที่ระบุไว้ว่า “ผู้มีเงินได้ที่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามกฎกระทรวงนี้ ต้องไม่เป็นผู้ที่ได้ใช้สิทธิตามโครงการคนละครึ่งตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2563”

จากข้อความทั้งหมดนี้ ย่อมแปลว่า หากเลือกใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีช้อปดีมีคืน ต้องไม่ใช้คนละครึ่งตามนโยบายรัฐ (ที่อนุมัติ) แม้ว่าจะเป็นเฟสไหน หรือ คนละปีภาษีก็ตาม เพราะทุกอย่างเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2563

ส่วนคนที่ลงทะเบียนหรือใช้สิทธิ์คนละครึ่งไปแล้ว จะเห็นว่าตอนที่ยื่นภาษีประจำปี 2563 จะไม่สามารถเลือกช่องช้อปดีมีคืนได้เช่นเดียวกันครับ 

แต่อย่างไรก็ดี ในกรณีของคนละครึ่งเฟส 3 ยังไม่ปรากฎข้อความที่แน่ชัดว่า สามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนช้อปดีมีคืนได้หรือไม่ ? เนื่องจากเป็นช่วงที่ออกมาในเดือนมิถุนายน 2564 และเป็นไปได้ว่าจะเป็นมติคณะรัฐมนตรีอีกนโยบายหนึ่ง ซึ่งตรงนี้หากมีอะไรอัพเดทเพิ่มเติมจะมาอัพเดทในส่วนนี้ให้ครับ

เปรียบเทียบสิทธิ์ของผู้เสียภาษี ระหว่าง คนละครึ่ง กับ ช้อปดีมีคืน ว่าควรใช้แบบไหนยังไงดี ?
Advertisements

ทีนี้มาถึงฝั่งของร้านค้าที่ลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมสิทธิ์ต่างๆ เหล่านี้ เพื่อใช้รับเงินส่วนที่ผู้บริโภคจ่ายให้กับเรา รวมถึงเงินที่ได้รับจากรัฐผ่านแอปเป๋าตังค์กันบ้าง ว่าต้องเสียภาษีอย่างไร

ร้านค้าที่ลงทะเบียนรับสิทธิ์เหล่านี้
ต้องเสียภาษีไหม ? จัดการภาษีอย่างไร? 

สำหรับร้านค้าที่ลงทะเบียนเพื่อรับเงินจากโครงการ คนละครึ่ง เราชนะ หรือ เรารักกัน รวมถึงสิทธิ์ต่าง ๆ ที่อาจจะมีขึ้นมาในอนาคตนั้น ต้องมีการวางแผนจัดการภาษีด้วยเช่นกันครับ ซึ่งร้านค้าทั้งหลายควรทำความเข้าใจในประเด็นสำคัญทั้ง 3 ข้อดังนี้ครับ

คนละครึ่งกับการเสียภาษีเงินได้

1. มีรายได้ ต้องเสียภาษีให้ถูกต้อง

ข้อแรกนี้ เขียนขึ้นมาเพื่อบอกหลายคนที่เข้าใจผิดว่า รายได้ที่ได้รับจากสิทธิ์เหล่านี้ไม่ต้องเสียภาษี หรือ รายได้จากการทำธุรกิจที่ผ่านมาไม่ต้องเสียภาษี แต่ที่จริงแล้ว ร้านค้าต้องนำ รายได้ทั้งหมดที่ได้รับมาเสียภาษี ไม่ว่าจะเป็นรายได้จากไหน ทั้งที่อยู่ในแอปเป๋าตังค์ หรือ รับจากการซื้อขายสินค้าตามปกติ ทุกอย่างต้องถือเป็นรายได้เพื่อคำนวณภาษีทั้งหมดครับ 

หลักการตรงนี้ใช้หลักการเดียวกันกับกรณีของผู้บริโภคเลยครับ นั่นคือ รายได้หรือเงินได้ที่ได้รับจะไม่เสียภาษีก็ต่อเมื่อ ไม่ถือเป็นเงินได้ทางกฎหมาย หรือ มีกฎหมายประกาศยกเว้นว่าไม่ถือเป็นเงินได้

บางคนอาจจะนึกแย้งว่า เอ้า.. ไหนบอกว่าเงินได้ตรงนี้ยกเว้นให้อยู่แล้ว ผมอยากให้เข้าใจแบบนี้ครับว่า เงินได้นี้ยกเว้นในส่วนที่ยกให้กับประชาชนผู้บริโภคเท่านั้น แต่เมื่อเขานำมาใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าหรือบริการจากร้านค้า ตรงนี้ก็ถือว่าเป็นรายได้ของร้านค้าเพื่อเสียภาษีอยู่ดีนั่นแหละครับ

ถ้ายังงงอยู่ ลองคิดแบบนี้ก็ได้ครับว่า ถ้านายบักหนอมได้รับเงินช่วยเหลือจากโครงการคนละครึ่งจำนวน 3,000 บาท เงินส่วนนี้จะเป็นส่วนที่ได้รับสิทธิ์ยกเว้นภาษี (ตามแนวทางที่ว่าไว้ตอนแรก)

เมื่อนายบักหนอมเอาเงินจำนวนนี้ไปซื้ออาหารราคา 200 บาทกับทางร้าน ซึ่งจะจ่ายจากเงินนายบักหนอม 100 บาท และรัฐสมทบให้ 100 บาท แบบนี้ทางร้านค้าก็ต้องถือว่ามีรายได้ 200 บาทจากค่าอาหารที่ขายให้นายบักหนอมอยู่ดี เพราะนี่คือส่วนที่เป็นรายได้ของร้านที่นายบักหนอมจ่ายให้ (ร่วมกับเงินของรัฐ) ไม่ได้เกี่ยวกับสิทธิ์ที่นายบักหนอมได้รับยกเว้นในตอนแรก

ดังนั้นทางร้านค้า (ผู้ที่มีเงินได้) ต้องทำความเข้าใจให้ดีก่อนว่า ร้านของเรามีรายได้เท่าไรในแต่ละปี (ที่ได้รับทั้งหมดไม่ว่าจะผ่านโครงการไหนก็ตาม) และผมขอเน้นย้ำอีกทีนะครับว่า คำว่า รายได้ หมายถึง เงินที่เราได้รับจากการขายสินค้าหรือบริการ ที่ยังไม่ได้หักต้นทุนใด ๆ ครับ

2. ภาษีตัวแรกที่เกี่ยวข้อง คือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 

เนื่องจากร้านค้าที่ลงทะเบียนโครงการนี้ได้ มักจะเป็นร้านค้าที่ประกอบธุรกิจในรูปแบบบุคคลธรรมดา ดังนั้น การเสียภาษี ต้องเข้าใจเรื่องของ วิธีการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา อย่างถูกต้อง ดังนี้ครับ

1) รู้ว่าตัวเองมีเงินได้ประเภทไหนบ้าง?

สำหรับเงินได้ของร้านค้าจากการขายสินค้าหรือบริการจะถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 8 ตามกฎหมาย (อ่านบทความ เงินได้พึงประเมิน 8 ประเภทมีอะไรบ้าง) แต่ถ้าหากตัวบุคคลที่ยื่นภาษีมีรายได้นอกเหนือจากร้านค้า ก็ต้องเอามายื่นและคำนวณภาษีให้ถูกต้องด้วยเช่นกันครับ

2) รู้ว่าเงินได้ประเภทหักค่าใช้จ่ายได้แบบไหน?

เนื่องจากเงินได้แต่ละประเภทหักค่าใช้จ่ายได้แตกต่างกัน ดังนั้นต้องทำความเข้าใจว่า เงินได้ที่ร้านค้าได้รับนั้นสามารถหักค่าใช้จ่ายแบบไหนได้บ้าง ซึ่งร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ หากเป็นการขายอาหารจะสามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา 60% หรือ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงได้ ซึ่งหากมีการวางแผนที่ถูกต้อง ก็สามารถทำให้ภาษีที่เราต้องเสียนั้นน้อยลงไปได้เช่นกันครับ (อ่านบทความ ค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คำนวณอย่างไร?)

3) วางแผนลดหย่อนภาษีอย่างถูกต้อง

ถ้าหากเข้าใจวิธีการคำนวณภาษี ไปจนถึงการจัดการค่าใช้จ่ายแล้ว สิ่งที่ร้านค้าที่ได้รับสิทธิ์สามารถทำได้ในฐานะบุคคลธรรมดา คือ การวางแผนลดหย่อนภาษี โดยใช้สิทธิ์ประโยชน์ที่มีอยู่ให้คุ้มค่าที่สุดเช่นเดียวกันครับ

3. ระวังภาษีมูลค่าเพิ่ม หากมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี

โดยปกติแล้ว ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการนั้น จะได้รับรายได้จากการขายสินค้าหรือบริการที่ไม่ได้รับสิทธิ์ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนั้นจะมีหน้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อมีรายได้มากกว่า 1.8 ล้านบาทในปีภาษีนั้น ๆ

ผมขอย้ำอีกทีนะครับว่า รายได้ ไม่ใช่ กำไร โดยคำว่ารายได้ที่ว่านี้ แปลว่ายังไม่หักค่าใช้จ่ายใด ๆ เลย ซึ่งถ้าหากเรามีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ต้องระวังให้ดี เพราะจะมีเรื่องของ VAT 7% มาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งจะเกี่ยวกับการตั้งราคาขายสินค้าและบริการอีกด้วยครับ 

สำหรับคนที่สนใจเรื่องของ ภาษีมูลค่าเพิ่ม สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

บทสรุป

มาถึงตรงนี้ ผมอยากจะสรุปสั้น ๆ ว่า สำหรับคนที่มีคำถามว่า คนละครึ่ง เสียภาษีไหม หรือ โครงการต่าง ๆ ที่รัฐสนับสนุนเหล่านี้ต้องเสียภาษีไหม อาจจะต้องกลับไปตั้งคำถามว่า เราคือใคร (ผู้บริโภค หรือ ร้านค้า) และ ทำความเข้าใจเรื่องของการเสียและคำนวณภาษีให้ถูกต้องกันอีกสักครั้งหนึ่งก่อนที่จะตอบคำถามนี้ครับ

สำหรับคนที่เป็นผู้บริโภค ผมเชื่อว่าสิ่งทีต้องระวัง คือ การเลือกใช้สิทธิ์ประโยชน์เหล่านี้ให้คุ้มค่า และอย่าปล่อยให้มันเป็นค่าใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยด้วยความเชื่อที่ว่าเงินก้อนนี้เป็นของฟรี เพราะมันมาจากภาษีที่ประชาชนทุกคนร่วมกันจ่าย (ทั้งในอดีต วันนี้ และอนาคต)

สำหรับคนที่เป็นร้านค้าหรือผู้ประกอบการ ผมมองว่าเราควรตั้งคำถามเรื่องการจัดการภาษีให้เป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจ มากกว่าคิดหลบเลี่ยงเพื่อให้ตัวเองหลุดรอด เพราะถ้าเรามีรายได้ ก็ย่อมต้องเสียภาษี เพื่อไม่เอาเปรียบกลุ่มคนอื่น ๆ ที่มีรายได้เหมือนกันกับเรา

ถ้าหากไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร อาจจะเริ่มต้นจากการทำบัญชีรายรับรายจ่ายให้ดี มีข้อมูลตัวเองให้ครบถ้วน (เผื่อถูกตรวจสอบ) และหาความรู้ด้านภาษีเพิ่มเติมต่อไป เพื่อให้เราเข้าใจและวางแผนจัดการได้อย่างถูกต้อง

ก่อนที่สรรพากรจะมาสอนให้เราเข้าใจภาษี
ด้วยการคิดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มครับ

TAXBugnoms

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Allow