6 เรื่องสำคัญที่ควรรู้ ก่อนยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี

จะยื่นภาษีประจำปี ต้องรู้อะไรบ้าง?

หนึ่งในคำถามที่ถามบ่อยทีสุด ช่วงยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ในช่วงยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี ผมมักจะได้รับคำถามเหล่านี้ทางแฟนเพจ TAXBugnoms อยู่เสมอ เลยถือโอกาสรวบรวมความรู้ 6 เรื่องที่ทุกคนควรรู้เพื่อที่จะได้ยื่นภาษีกันอย่างถูกต้องมาฝากกันครับ

Advertisements

1. รายได้เท่าไรต้อง “ยื่นภาษี” ?

หลายคนมักจะเข้าใจผิดว่า ถ้าเราไม่เสียภาษี หรือ ถ้าเรามีเงินได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาท แปลว่า ไม่ต้องยื่นภาษี แต่ความเป็นจริงแล้ว กฎหมายมีกำหนดไว้ครับว่า “รายได้เท่าไรที่ต้องยื่นภาษี” โดยกำหนดไว้ดังนี้ครับ

ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
Advertisements

โดยเงินได้หรือรายได้ที่ต้องยื่นภาษีนั้น มาจากการคำนวณ เงินได้สุทธิ (รายได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน) ได้เท่ากับ 0 บาทนั่นเองครับ

Advertisements

อย่างไรก็ดี มักจะมีคำถามต่อมาว่า “แล้วถ้าไม่ยื่นภาษีจะผิดไหม?” เพราะยังไงก็ไม่เสียภาษีอยู่แล้ว อันนี้ต้องบอกว่า ในทางปฎิบัติแล้วกรณีไม่ยื่นภาษี จะเสียค่าปรับ 200 บาท (ลดจากค่าปรับเต็มจำนวน คือ 2,000 บาท)

แต่ผมอยากแนะนำว่า ต่อให้ไม่เสียภาษี เราก็ยังควรยื่นภาษีอยู่ดี เพราะนี่คือโอกาสในการศึกษาวิธีการยื่นและคำนวณภาษี รวมถึงทำความเข้าใจไว้แต่เนิ่นๆ ในวันที่เรามีรายได้ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี จะได้วางแผน ลดหย่อนภาษี ได้อย่างถูกต้องครับ

2. ขอคืนภาษี หรือ จ่ายภาษีเพิ่ม ไม่แตกต่างกัน

เนื่องจากหลายคนมักจะพอใจกับการได้คืนภาษี แต่ความเป็นจริงแล้ว ภาษีที่เราได้คืนนั้น มันมาจากการที่เราเสียภาษีเกินไปในระหว่างปีต่างหากครับ ซึ่งการคำนวณภาษีที่ต้องจ่ายเพิ่มหรือได้คืนนั้น จะมาจากการคำนวณตามหลักการดังนี้

Advertisements

ภาษีเงินได้ที่ต้องจ่ายเพิ่ม (ขอคืน) คำนวณจาก
ภาษีเงินได้สิ้นปี – ภาษีเงินได้ครึ่งปี – ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย

โดยภาษีเงินได้สิ้นปี จะเป็นการคำนวณภาษีเงินได้ทั้งปี (12 เดือน) ออกมาเป็นตัวเลขเท่าไร ค่อยเอาไปหักออกจากภาษีเงินได้ครึ่งปี (6 เดือน) ที่เราเคยจ่ายล่วงหน้าไว้เมื่อเดือนกันยายน (เฉพาะคนที่มีเงินได้ประเภทที่ 5-8) และหักออกด้วยภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายที่เราถูกหักไว้ตลอดทั้งปี

ดังนั้น ถ้าเราคำนวณภาษีเิงินได้บุคคลธรรมดาทั้งปีได้น้อยกว่าที่เราจ่ายล่วงหน้าหรือถูกหักไว้ ก็แปลว่า เราจ่ายภาษีไว้เกิน เราจึงมีสิทธิได้คืนภาษี แต่ประเด็นคือ ไม่ว่าเราจะได้คืนหรือจ่ายภาษีเพิ่ม เรายังเสียภาษีเท่าเดิม ถ้าหากเรายังไม่รู้จักการวางแผนภาษีครับ

ผมเคยทวิตความคิดเห็นนี้ไว้ที่ทวิตเตอร์ @TAXBugnoms ก็พบว่ามีการถกเถียงในมุมนี้กันอย่างกว้างขวางเลยล่ะครับ ดังนั้นลองถามตัวเองดูนะครับว่าชอบแบบไหน ระหว่าง ขอคืนภาษี กับ ต้องจ่ายภาษีเพิ่ม

3. ระยะเวลาในการยื่นภาษี

สำหรับเรื่องระยะเวลาในการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ก็เป็นอีกเรื่องทีหลายคนสับสนกันมากๆครับ เพราะมักจะสับสนระหว่างช่วงเวลาที่ต้องยื่นภาษี กับช่วงเวลาในการคำนวณภาษี ซึ่งสรุปออกมาได้แบบนี้ครับ

ระยะเวลาในการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
คือ ภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไป

ยกตัวอย่างเช่น การยื่นภาษีประจำปี 2564 ย่อมแปลว่าเราต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ของปี 2564 ภายในเดือนมีนาคม 2565 นั่นเองครับ

แต่อย่างไรก็ดี การยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาผ่านอินเตอร์เน็ตจะได้รับสิทธิขยายเวลาออกไปอีก 8 วันทำการ ทำให้วันที่ยื่นภาษีวันสุดท้ายจะอยู่ที่ประมาณวันที่ 8 เมษายนของทุกปี หรืออาจจะมีเหตุการณ์บางอย่าง เช่น วิกฤตไวรัสโคโรนา ที่ทำให้การยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2562 ถูกขยายเป็นกรณีพิเศษให้ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2563 ครับ หรืออย่างเช่น การยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2563 ที่ขยายให้เฉพาะการยื่นแบบผ่านอินเตอร์เน็ตไปถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ครับ

4. การส่งเอกสารเพื่อขอคืนภาษี

โดยปกติแล้ว เราสามารถยื่นภาษีได้เลย แม้ว่าจะไม่มีหลักฐานก็ตาม เพราะการยื่นภาษีนั้นมันใช้แค่การกรอกรายการตัวเลขลงไปเฉยๆ แต่ถ้าหากถูกสรรพากรตรวจสอบภาษี อันนี้ก็จะมีเหตุให้ต้องถูกตรวจสอบเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมได้ครับ

แต่ในกรณีที่เรา ขอคืนภาษี เมื่อยื่นภาษีเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะมีปุ่ม “นำส่งเอกสารขอคืนภาษี” ให้กดแล้วอัพโหลดเอกสารได้ทันที เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียเวลารอตอนที่พี่ๆสรรพากรแจ้งขอเอกสารเพิ่มเติมครับ

ยื่นภาษี
Advertisements

คำแนะนำเพิ่มเติมของเรื่องนี้ คือ ถ้าเราเคยยื่นภาษีหลายครั้งแล้ว หรือในกรณีที่เอกสารขอคืนภาษีมีจำนวนมาก เราอาจจะเลือกอัพโหลดเฉพาะเอกสารใหม่ๆที่เกิดขึ้นในปี ให้กับทางกรมสรรพากรก่อนก็ได้ครับ แล้วถ้าหากมีขอเพิ่ม จึงเลือกอัพโหลดเอกสารเพิ่มเติมอีกทีหนึ่ง เพื่อความสะดวกและประหยัดเวลาไปในตัวครับ

5. รายการลดหย่อนภาษีใช้เป็นรายปี

คำถามข้อนี้มักจะเล่นเอาผมสับสนมึนงงไปพักใหญ่ นั่นคือ รายการลดหย่อนภาษีประจำปี มีการเปลี่ยนแปลงไหม ปีนี้มีอะไรใหม่บ้าง ซึ่งความเข้าใจผิดบางทีทีเกิดขึ้น คือ เข้าใจว่ารายการลดหย่อนภาษีของปีปัจจุบันใช้สำหรับคำนวณภาษีปีที่แล้ว

ยกตัวอย่างเช่น ผมเขียนบทความ ค่าลดหย่อนปี2563 ขึ้นมา ก็มักจะมีคนเข้าใจผิดว่า มันเป็นรายการลดหย่อนภาษีที่ใช้ของปี 2562 (เพราะปี 2562 ต้องมายื่นแบบในปี 2563) หรือเข้าใจว่า ซื้อประกันชีวิตปี 2563 เอามาใช้ลดหย่อนภาษีของปี 2562 ได้ เพราะยังไม่ได้ยื่นภาษี

ดังนั้นจำให้ดีครับว่า ค่าลดหย่อนของปีไหน ก็ใช้สำหรับยื่นภาษีในปีนั้น และมันไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีข้ามปีได้ อย่างเช่น ช้อปดีไม่งั้นจะเป็นปัญหาครับผม

6. เราสามารถขอคืนภาษีย้อนหลังได้สูงสุด 3 ปี

สำหรับคนที่ลืมขอคืนภาษีย้อนหลัง ก็มักจะมีคำถามว่า เราสามารถขอคืนภาษีย้อนหลังได้สูงสุดกี่ปี ซึ่ง กฎหมายภาษี (มาตรา 27 ตรี แห่งประมวลรัษฏากร) กำหนดไว้ว่าเราสามารถยื่นขอคืนภาษีย้อนหลังได้สูงสุดถึง 3 ปีนับจากวันสุดท้ายของกำหนดเวลายื่นรายการภาษี

ตัวอย่างเช่น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยปกติกฎหมายกำหนดว่าต้องยื่นภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไป ดังนั้นในเดือนมีนาคม 2563 เราสามารถยื่นขอคืนภาษี สำหรับปี 2559 ได้อยู่ เพราะปี 2559 นั้น เรามีสิทธิยื่นภาษีวันสุดท้าย คือ วันที่ 31 มีนาคม 2560 นั่นเองครับ

แต่การยื่นขอคืนภาษีแบบนี้ จะยื่นแบบผ่านอินเทอร์เน็ตไม่ได้นะต้องไปยื่นกระดาษที่สรรพากรสาขาแทนครับ ส่วนเอกสารรายได้ ค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อนต่างๆ ก็เตรียมตามปกติให้สรรพากรตรวจสอบ (ถ้าขอดู) ซึ่งเราจะต้องเสียค่าปรับแบบ 200 บาท (ในกรณีที่ไม่เคยยื่นภาษีในปีนั้นมาก่อนด้วย)

และทั้งหมดนี้ คือ 6 เรื่องสำคัญที่ควรรู้เพื่อที่จะได้ยื่นภาษีอย่างถูกต้อง ไม่มีปัญหาในการขอคืนภาษี และตัดโอกาสการตรวจสอบย้อนหลังนั่นเองครับ

สุดท้ายนี้ ผมขอฝากเอาไว้ว่า ความรู้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เป็นเรื่องที่ค่อนข้างซับซ้อน และเราต้องใช้เวลาเพื่อทำการศึกษา แต่อย่างไรก็ดี ผมเชื่อว่าเราสามารถเลือกเรียนรู้ในสิ่งที่เกี่ยวข้องกับเราได้ก่อน แล้วค่อยขยายขอบเขตความรู้เพิ่มเติมในภายหลังอีกทีหนึ่ง

เพราะความรู้ภาษี
เป็นเรื่องที่เราต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต

TAXBugnoms

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Allow