5 เรื่องที่ผมเรียนรู้จากโควิด19 (การเงิน ภาษี และแนวคิดชีวิต)

วิกฤตในแต่ละครั้ง มันสอนอะไรเรา?

ผมมักจะตั้งคำถามแบบนี้กับตัวเองในช่วงเวลานี้เสมอ

โดยส่วนตัวแล้ว วิกฤตในช่วงโควิด19นั้น ส่งมีผลกระทบหนักต่อตัวผมหลายด้าน ทั้งเรื่องของการงานที่หดหาย การเงินที่เริ่มฝืดเคือง รวมถึงเรื่องของการให้ความรู้ด้านภาษีที่มีนโยบายใหม่ๆออกมามากมาย

Advertisements

หลังจากที่ผ่านวิกฤตมาได้เกือบๆ 2 เดือน ผมจึงถือโอกาสบันทึกสิ่งที่ผมเรียนรู้จากวิกฤตครั้งนี้ไว้ในมุมมองของตัวเองออกมาจำนวน 5 ข้อ ซึ่งผมเชื่อว่าแนวคิดบางส่วนอาจจะมีประโยชน์ต่อคนที่ได้อ่านมันในการปรับใช้ทั้งเรื่อง การเงิน ภาษี และการใช้ชีวิตหลังจากนี้ครับ

เอาล่ะครับ… เรามาเริ่มกันตั้งแต่ข้อแรกเลยดีกว่า

Advertisements

เงินสำรองฉุกเฉิน ไม่ได้สำคัญตรงจำนวนเงิน
แต่สำคัญตรงนิยามคำว่า “ฉุกเฉิน”

เรามักจะได้ยินกูรูการเงินหลายคนพูดถึงการเก็บเงินสำรองฉุกเฉิน 3-6 เดือน อาจจะไม่เพียงพออีกต่อไป บางคนมองว่าปีนึ่งเต็มๆก้อาจจะยังไม่พอเสียด้วยซ้ำ แต่สำหรับผม ผมมองว่าเราต้องเข้าใจคำว่า “ฉุกเฉิน” ของเราก่อน นั่นคือ เหตุการณ์อะไรบ้างที่เราเรียกว่าฉุกเฉิน นอกเหนือจากการใช้จ่ายทั่วไป

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าปกติเรามีรายจ่ายเดือนละ 2 หมื่นบาท เมื่อก่อนเราก็อาจจะบอกว่าต้องเก็บเงินสัก 120,000 บาท ก็น่าจะเพียงพอกับคำว่าสำรองเผื่อฉุกเฉินตามทีว่ามา

แต่ตอนนี้สิ่งที่ต้องมองเพิ่มเติมคือ นิยามของคำว่า ฉุกเฉิน ที่อาจจะมากกว่านั้น เช่น ในกรณีที่เราขาดรายได้ เราต้องมีการลงทุนเพื่อสร้างรายได้ใหม่ จะเอาเงินตรงไหนมาใช้ดี หรือค่าใช้จ่ายที่อาจจะเพิ่มขึ้นฉับพลันทันทีหลังจากวิกฤตที่เราต้องจ่าย ก็อาจจะมีจำนวนไม่น้อย (ค่าดูแลด้านสุขภาพ เวชภัณฑ์) หรือยิ่งไปกว่านั้นอาจจะเป็นเงินที่เราต้องดูแลคนในครอบครัวเพิ่มขึ้นด้วย (หากเกิดเหตุจำเป็น) ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลที่ว่าเราต้องนิยามคำว่า “ฉุกเฉิน” ให้ชัดเจนก่อน จึงจะสามารถวางแผนเก็บเงินสำรองก้อนนี้ได้ครับ

Advertisements

อย่างไรก็ดี อีกหนึ่งประเด็นสำคัญ นั่นคือ เงินสำรองฉุกเฉิน ไม่ได้มีหน้าที่สร้างผลตอบแทน แต่มีไว้รองรับการใช้จ่ายในวันที่เราต้องการ ดังนั้นอย่าลืมเก็บไว้ในที่ที่สามารถเบิกถอนได้ทันที (เน้นที่สภาพคล่อง) และไม่จำเป็นต้องไปสนใจที่ผลตอบแทนครับ

ความสามารถในการหารายได้เพิ่ม
กลายเป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้อยู่เสมอ

มักจะมีคนพูดว่าการมี รายได้เพียงทางเดียว ไม่ใช่คำตอบในวันที่เจอวิกฤต แต่สำหรับผมแล้ว การมีรายได้หลายทางก็ไม่ใช่คำตอบเช่นเดียวกัน เพราะเราต้องมองหาโอกาสสร้างรายได้เพิ่มในทุกวิกฤตให้ได้ และเราต้องพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่และใช้ทันทีเพื่อปรับตัวให้อยู่รอด

ย่อหน้าข้างบนนี้.. หลายคนอาจจะมองว่าโหดร้ายเกินไป แต่สิ่งนี้คือสิ่งที่ผมเรียนรู้จากชีวิตจริงทีมีรายได้หลายทาง เมื่อมีวิกฤตบางอย่างเกิดขึ้น รายได้ทุกทางที่มีได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน ซึ่งมันส่งผลให้ผมต้องกลับมาทบทวนใหม่ว่า นอกจากการเตรียมพร้อมรับมือปัญหาแล้ว ต้องรู้จักมองหาโอกาสให้เจอด้วย

ไม่ใช่แค่เจอหนทางลดรายจ่าย
แต่ต้องพร้อมลดรายจ่ายเสมอ

การลดรายจ่าย เป็นเรื่องที่ควรทำ โดยเฉพาะการหาทางลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นลง แต่สิ่งที่ผมค้นพบเพิ่มเติมคือ ไม่ใช่แค่ลดรายจ่าย แต่ต้องพร้อมลดรายจ่ายได้ทันที (เพราะรายจ่ายจำเป็นบางตัวก็ต้องลดลงด้วย) ซึ่งพื้นฐานตรงนี้มาจากการที่เรารู้ก่อนว่า รายจ่ายก้อนไหนจำเป็นหรือไม่จำเป็นสำหรับตัวเราเอง

คำว่า พร้อมลดรายจ่าย ที่ผมพูดถึงนั้น มันเชือมโยงกับการบริหารเงินแบบยืดหยุ่นในจำนวนเงินที่จำกัด บางทีเราต้องนำเงินบางส่วนไปจ่าย หรือ ลงทุนในสิ่งที่เราไม่คาดคิดเมื่อเกิดวิกฤต (ยกตัวอย่างเช่น วิทยากรอย่างผมที่ต้องปรับตัวมาสอนออนไลน์ หรือ การลงทุนกับอุปกรณ์หรือเครื่องมือเพื่อให้ประกอบอาชีพได้) – ซี่งในอีกแง่มุมหนึ่ง มันคือ รายจ่ายจำเป็นที่ต้องจ่ายเพื่อลงทุนครับ

ดังนั้น รายจ่ายที่จำเป็นสำหรับผม แปลสั้นๆได้ว่า มันคือการจ่ายเงินที่สามารถสร้างประโยชน์ที่คุ้มค่าให้กับชีวิตเราได้ทั้งในตอนนี้และอนาคต

การจัดการภาษีในปัจจุบัน
ขึ้นอยู่กับสิ่งที่คุณให้ความสำคัญในอดีต

เราไม่ควรยอมจ่ายค่าใช้จ่ายอื่นที่แพงกว่าเพื่อประหยัดภาษี เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดคือกำไร” ผมมักพูดประโยคนี้เสมอๆเวลาที่มีโอกาสสอนเรื่องภาษี แต่ในวันนี้ผมคงต้องเพิ่มเติมไปว่า “นอกจากนั้น ยังต้องระวังผลของมันในช่วงที่วิกฤตด้วย

เพราะว่าหลายธุรกิจที่ตั้งใจตกแต่งงบการเงิน หลีกเลี่ยงภาษี หรือจัดการกันแบบผิดๆ ในช่วงวิกฤตนี้จะเป็นการปิดโอกาสหลายด้าน ทั้งการขอสินเชื่อ การหานักลงทุน ไปจนถึงปิดโอกาสการตัดสินใจ เพราะไม่มีข้อมูลใดๆมาให้คุณใช้เพื่อช่วยพิจารณา

ในยุคต่อจากนี้ ยุคที่เทคโนโลยีกำลังพัฒนาแบบไม่หยุดยั้ง การรู้ข้อมูลของตัวเองเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะถ้าเมื่อไรที่คนอื่นรู้ข้อมูลของคุณมากกว่าคุณ นั่นแปลว่าคุณหมดโอกาสในการตัดสินใจทุกเรื่องอย่างแน่นอนครับ

ความสามารถที่ซ่อนอยู่ของคุณ
มาจากสิ่งที่คุณสั่งสมร่วมกับความตั้งใจ

เราทุกคนมีความสามารถซ่อนอยู่ และเราเอามาใช้ได้เมื่อมันเกิดเหตุการณ์ไม่ปกติ” ฟังดูอาจจะเหมือนข้อความนี้เอามาจากหนังซุปเปอร์ฮ๊โร่สักเรื่องหนึ่ง แต่จากระยะเวลาเดือนกว่าๆในช่วง WFH ผลักดันให้ผมทำเสร็จงานหลายอย่างแบบไม่คาดคิด เรียกได้ว่ามากกว่าความสามารถในยามปกติของผมหลายเท่าตัว

ประโยคทั้งหมดนี้ไม่ได้ต้องการบอกว่าตัวเองเก่ง หรือคิดว่าผ่านวิกฤตไปได้หรอกนะครับ เนื่องจากผมเองก็มองว่าหนทางที่เหลือยังอีกยาวไกลเพียงแต่ว่าอยากให้ลองมองหาสิ่งที่เราพัฒนาตัวเองได้ในช่วงนี้ (สำหรับคนที่ยังมีโอกาสหรือเวลาในพัฒนา) และหมั่นให้กำลังใจตัวเองแม้แต่เรื่องเล็กๆน้อยๆ (สำหรับคนที่เจอปัญหาและภาระถาโถม) เพราะนี่คือสิ่งที่ดีที่สุดในการเยียวยาชีวิตทีเครียดในสถานการณ์แบบนี้

ในแง่มุมหนึ่งหลังจากเกิดวิกฤต ทำให้ผมรู้ว่า ตัวเราต้องพยายามมากขึ้นกว่าเก่า ถ้าอยากจะอยู่รอดต่อไป และพยายามบอกตัวเองเสมอว่า ถ้าเรารอดแล้ว เราต้องหาทางให้คนอื่นรอดไปกับเราด้วย เพราะการเอาตัวรอดเพียงคนเดียวนั้น คงไม่มีความหมายใดๆ

สุดท้ายนี้ ถ้าคุณคือคนที่รู้สึกท้อแท้แล้วบังเอิญมาเจอบทความนี้ ผมอยากบอกคุณว่าไม่ได้สู้อยู่เพียงลำพัง แต่เราทุกคนกำลังพยายามสู้ไปด้วยกันครับ

ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนครับ

TAXBugnoms

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Allow