ซื้อประกันลดหย่อนภาษีดีไหม ?
หลายคนน่าจะมีคำถามแบบนี้อยู่ในใจ
ประกันลดหย่อนภาษี ตัวไหนดีที่สุด ผมเชื่อว่านี่เป็นคำถามแรกที่ตามมา หลังจากที่หลายคนตัดสินใจได้ว่าจะซื้อประกันเพื่อวางแผนลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ความเป็นจริงแล้ว รายการลดหย่อนภาษี นั้นยังมีอีกหลายรายการ (ยกตัวอย่างเช่น รายการลดหย่อนภาษีปี 2563) และประกันถือเป็นหนึ่งในทางเลือกที่หลายคนเลือกใช้
ประกันลดหย่อนภาษีได้มีอะไรบ้าง?
ในปัจจุบันประกันที่ใช้ลดหย่อนภาษีได้นั้น มีอยู่ทั้งหมด 4 ประเภท ได้แก่ ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ประกันสุขภาพพ่อแม่ และ ประกันบำนาญ ดังนั้นก่อนที่จะตัดสินใจซื้อประกันตัวไหนเพื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษี ผมแนะนำว่าควรเช็คเงื่อนไขของประกันแต่ละตัวให้ดีเสียก่อนครับ
ประกันชีวิต
สำหรับ เบี้ยประกันชีวิตทั่วไป หรือ เงินฝากแบบมีประกันชีวิต กลุ่มนี้สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกินจำนวน 100,000 บาท โดยกลุ่มนี้จะหมายความรวมถึงเบี้ยประกันชีวิตหลายประเภท ได้แก่
ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา คือ ประกันชีวิตที่จะจ่ายให้กับผู้รับผลประโยชน์ทันที เมื่อเราเสียชีวิตภายในระยะเวลาที่กรมธรรม์ให้ความคุ้มครองอยู่ แต่เป็นการคุ้มครองในชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น
ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ คือ ประกันชีวิตที่ให้ความคุ้มครองตลอดชีพ (ตลอดชีวิตของเรา) และถ้าหากเราเสียชีวิตในขณะที่กรมธรรม์มีผลบังคับ บริษัทประกันชีวิตจะจ่ายจำนวนเงินเอาประกันภัยให้แก่ผู้รับประโยชน์
ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ คือ ประกันชีวิตที่มีกำหนดคืนเงินประกันเมื่อครบกำหนดสัญญาเมื่ออายุกรมธรรม์ครบกำหนด โดยเราจะได้รับทั้งเงินคืนพร้อมกับผลตอบแทน ซึ่งเป็นประกันที่นิยมใช้ในเรื่องของการ “สะสมเงิน” มากกว่า “คุ้มครอง” ครับ
สำหรับ เงินฝากแบบมีประกันชีวิต คือ เงินฝากประเภทหนึ่งที่เราฝากกับธนาคาร ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับประกันแบบออมทรัพย์ บางทีจะเรียกว่า เงินฝากสงเคราะห์ชีวิต (ปัจจุบันมีที่ธนาคารออมสิน และ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร) ซึ่งสามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้หากเข้าเงื่อนไขเดียวกันกับประกันชีวิตที่กฎหมายกำหนดครับ
โดย เงื่อนไขของประกันชีวิตที่ใช้ลดหย่อนภาษี นั้น มีดังนี้ครับ
- กรมธรรม์ประกันชีวิตมีกำหนดเวลาตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป
- ต้องทำกับบริษัทรับประกันภัยที่ประกอบกิจการประกันชีวิตในประเทศไทย
- ถ้ามีการจ่ายเงินคืนเงินปันผลหรือผลตอบแทนระหว่างสัญญา จะต้องมีเงื่อนไขดังนี้
- กรณีได้รับเงิน คืนทุกปี ยอดเงินคืนนั้นต้องไม่เกิน 20% ของเบี้ยประกันชีวิตรายปี
- กรณีได้รับเงินคืนตามช่วงระยะเวลาต่าง ๆ เช่น 2 ปี 3 ปี 5 ปี ยอดเงินคืนจะต้องไม่เกิน 20% ของเบี้ยประกันชีวิตสะสมของแต่ละช่วงระยะเวลา และกรณีอื่น ๆ ผลรวมของเงินคืนตั้งแต่ปีแรกถึงปีที่มีการจ่ายเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืนต้องไม่เกินร้อยละ 20 ของเบี้ยประกันสะสมในช่วงนั้น ๆ
ประกันชีวิตเป็นรายการลดหย่อนภาษี
แบบยกเว้นเงินได้และลดหย่อน
โดยปกติแล้วรายการค่าลดหย่อนภาษีที่เราเรียกกัน สามารถแบ่งออกเป็นประเภทย่อย ๆ ได้ 2 ประเภท นั่นคือ ค่าลดหย่อนจริง ๆ กับ ค่าลดหย่อนที่ใช้ยกเว้นจากเงินได้
- ค่าลดหย่อนจริง ๆ คือ ค่าลดหย่อนที่เราสามารถนำมาหักได้ทั้งจำนวนโดยที่ไม่มีเงื่อนไขใดๆ เช่น ค่าลดหย่อนส่วนตัว หรือค่าลดหย่อนคู่สมรส หักได้ 60,000 บาท ค่าลดหย่อนบุตรหรือบิดามารดาคนละ 30,000 บาท หรือ บุตรคนที่สองหักได้เป็น 60,000 บาท
- ค่าลดหย่อนที่ใช้ยกเว้นจากเงินได้ คือ ค่าลดหย่อนที่กฎหมายกำหนดให้ยกเว้นเพื่อหักออกจากเงินได้ ตัวอย่างเช่น RMF ลดหย่อนได้ 30% ของเงินได้แต่ไม่เกิน 500,000 บาท (อัพเดทเพิ่มเติม จากรายการลดหย่อนภาษีปี 2563) เมื่อรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กบข. ฯลฯ (กลุ่มเกษียณ) ซึ่งค่าลดหย่อนส่วนนี้ ถ้าเรามีรายได้น้อย เราจะหักได้แค่รายได้ที่เรามีเท่านั้น
สำหรับ ประกันชีวิต ถือว่าเป็นรายการลดหย่อนภาษีที่มีทั้ง 2 ประเภทนี้ปนกันอยู่ครับ ซึ่งปกติคนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจว่า ค่าลดหย่อนตัวนี้คือ 100,000 บาท แต่จริง ๆ แล้วรายการนี้มีส่วนประกอบ 2 ส่วน คือ ส่วนที่หักเป็นค่าลดหย่อนจริง ๆ 10,000 บาท และส่วนที่ยกเว้นเงินได้อีก 90,000 บาท
ดังนั้น ข้อควรระวังของประกันลดหย่อนภาษีกลุ่มนี้ คือ เมื่อเราใช้สิทธิลดหย่อนในกรณีที่คู่สมรสไม่มีรายได้และนำมาลดหย่อนภาษี การหักค่าเบี้ยประกันชีวิตสำหรับคู่สมรสในกรณีนี้จะหักได้สูงสุด 10,000 บาทเท่านั้นครับ (อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก หมวดค่าลดหย่อนประกันชีวิต/ประกันชีวิตแบบบำนาญ/ประกันสุขภาพ จากเวปไซด์กรมสรรพากรครับ)
ประกันสุขภาพของตัวเราเอง
สำหรับ ประกันสุขภาพของตัวเรา เราสามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกินจำนวน 25,000 บาท โดยมีการเปลี่ยนแปลงสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา (ตามมาตรการด้านภาษีหลังจากมีโควิด-19) และยังมีเงื่อนไขเพิ่มเติมด้วยว่าเมื่อรวมกับประกันชีวิตทั่วไปหรือเงินฝากแบบมีประกันชีวิตแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท
โดย ประกันสุขภาพ ที่สามารถลดหย่อนภาษีได้นั้น หมายถึงการทำประกันที่มีความคุ้มครองในเรื่องต่อไปนี้ครับ
- ประกันที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล เนื่องจากการเจ็บป่วยและบาดเจ็บ ชดเชยทุพพลภาพและการสูญเสียอวัยวะเนืองจากการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บ
- ประกันอุบัติเหตุเฉพาะที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล การทุพพลภาพ การสูญเสียอวัยวะ และการแตกหักของกระดูก
- การประกันภัยโรคที่ร้ายแรง (Critical Illnesses)
- การประกันภัยการดูแลระยะยาว (Long Term Care)
ประกัน COVID-19 ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ไหม?
สำหรับประกัน COVID-19 ที่หลายคนตัดสินใจทำเพื่อป้องกันความเสี่ยงเพิ่มเติม สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ครับ หากเข้าเงื่อนไขของประกันสุขภาพที่ว่ามาข้างต้น ซึ่งถือเป็นประกันลดหย่อนภาษีอีกตัวหนึ่งเช่นเดียวกัน
แต่ข้อควรพิจารณาในส่วนนี้ คือ ประกันสุขภาพที่เรามีอยู่ครอบคลุมเพียงพอแล้วหรือยัง และเราต้องการความคุ้มครองในส่วนนี้เพิ่มเติมไหม รวมถึงการพิจารณาว่า ถ้าเลือกทำประกันสุขภาพทั้งหมดก่อนทำประกันโควิด-19 อาจจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า เพราะในกรณีที่เกิดเป็นขึ้นมาจริง ๆ เราอาจจะมีโอกาสทำประกันสุขภาพยากขึ้นกว่าเก่า เพราะบริษัทประกันอาจจะปฎิเสธในกรณีที่เรามีโรคร้ายแรงมาก่อนครับ
ประกันชีวิตแบบบำนาญ หรือ ประกันบำนาญ
สำหรับ ประกันชีวิตแบบบำนาญ จะมีลักษณะคล้ายกับการสร้าง “บำนาญ” ให้กับตัวของเราเอง โดยบริษัทประกันชีวิตจะมีกำหนดจ่ายเงินในจำนวนเท่า ๆ กันคืนให้เราตามช่วงอายุที่กำหนดไว้กับทางบริษัทประกัน และมักถูกใช้เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำหรับการวางแผนเกษียณของใครหลายคนครับ
โดยเราสามารถใช้ประกันตัวนี้ ลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี และเป็นจำนวนเงินสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท และยังมีเงื่อนไขเพิ่มเติมด้วยว่า เมื่อรวมประกันบำนาญกับเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือเงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือเงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน เงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพแล้ว (RMF) เงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) และกองทุนการออมแห่งชาติแล้ว ต้องมีจำนวนเงินไม่เกิน 500,000 บาทอีกด้วยครับ

โดยเงื่อนไข ประกันชีวิตแบบบำนาญ ที่สามารถลดหย่อนภาษีนั้น มีดังนี้ครับ
- เป็นกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบบำนาญมีกำหนดเวลาตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป
- ต้องเอาประกันไว้กับผู้รับประกันภัยที่ประกอบกิจการประกันชีวิตในไทย
- มีการกำหนดการจ่ายผลประโยชน์เป็นรายงวดอย่างสม่ำเสมอ จะจ่ายเท่ากันทุกงวดหรือจ่ายในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นตามระยะเวลาการเอาประกันก็ได้
- มีการกำหนดช่วงอายุของการจ่ายผลประโยชน์เมื่อผู้มีเงินได้มีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป ถึงอายุ 85 ปี หรือกว่านั้น ต้องจ่ายเบี้ยประกันภัยครบถ้วนแล้ว ก่อนได้รับผลประโยชน์
ประกันลดหย่อนภาษี
รวมทั้งสิ้นสูงสุด 300,000 บาท
หลายคนอาจจะเคยได้ยินคำพูดทำนองนี้ใช้ไหมครับ ผมขอขยายความให้ฟังครับว่ามันหมายถึง การทำประกันชีวิตแบบทั่วไปจำนวน 100,000 บาท และประกันชีวิตแบบบำนาญในจำนวนสูงสุด 15% ไม่เกิน 200,000 บาท เมื่อเราใช้สิทธิสูงสุดก็จะสามารถลดหย่อนภาษีได้เป็นจำนวน 300,000 บาท นั่นเองครับ
นอกจากนั้น เรายังสามารถเลือกใช้ประกันชีวิตแบบบำนาญมาลดหย่อนภาษีเพียงอย่างเดียวได้สูงสุดถึง 300,000 บาท เพราะเงื่อนไขของประกันชีวิตแบบบำนาญนั้นครอบคลุมถึงเงื่อนไขการทำประกันชีวิตนั่นเองครับ
สำหรับการทำประกันชีวิตทั้ง 3 กลุ่มข้างต้นนี้ เราไม่จำเป็นต้องจำเงื่อนไขหรือหลักการทั้งหมดก็ได้นะครับ เพราะอยากรู้ว่าตัวเองมีค่าเบี้ยประกันที่จ่ายไปแล้วใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้เท่าไร เราสามารถดูข้อมูลจาก ใบเสร็จรับเงินค่าเบี้ยประกันที่ระบุไว้ หรือสอบถามตัวแทนประกันชีวิตหรือนักวางแผนการเงิน (ที่ดูแลเรา) ให้หาหลักฐานให้ก็ได้เหมือนกันครับ เพราะข้อมูลเหล่านี้มันค่อนข้างชัดเจนอยู่แล้วว่าเรามีสิทธิลดหย่อนภาษีกี่บาท
ประกันสุขภาพคุณพ่อและคุณแม่
ก่อนอื่นตรงนี้ผมต้องเน้นให้ชัดเจนว่า ประกันที่ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ต้องเป็นประกันสุขภาพเท่านั้น โดยประกันสุขภาพของคุณพ่อคุณแม่นี้ มีเงื่อนไขเหมือนกับประกันสุขภาพของตัวเรานั่นเองครับ โดยเราสามารถนำมาใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 15,000 บาท และค่าเบี้ยประกันสุขภาพนี้สามารถหารแบ่งกันสำหรับลูกหลาย ๆ คนที่ร่วมกันจ่ายได้ด้วยครับ (เฉพาะบุตรชอบด้วยกฎหมาย ไม่รวมถึงบุตรบุญธรรม)
แต่ประกันสุขภาพสำหรับคุณพ่อคุณแม่นี้มีเงื่อนไขเพิ่มเติมตรงที่ว่า คุณพ่อคุณแม่ของเราต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปีด้วยครับ และเรายังสามารถนำเบี้ยประกันสุขภาพของคุณพ่อคุณแม่คู่สมรสมาใช้ได้ลดหย่อนได้เช่นเดียวกันครับ แต่ต้องเป็นในกรณีที่คู่สมรสไม่มีเงินได้และเรานำคู่สมรสนั้นมาใช้สิทธิลดหย่อนภาษี
เอาล่ะครับ หลังจากที่เรารู้จักกับเงื่อนไขของประกันทั้งหมดที่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีกันไปแล้ว ทีนี้เราจะมาว่ากันต่อถึงเงื่อนไขของการเลือกซื้อประกันกันบ้างครับ ว่าเราควรซื้อประกันแบบไหนดี ถึงจะได้สิทธิลดหย่อนภาษีอย่างคุ้มค่าที่สุด
ซื้อประกันแบบไหนดี?
เพื่อลดหย่อนภาษีคุ้มค่าที่สุด
สิ่งหนึ่งที่ผมอยากให้พิจารณาก่อนจะหาคำตอบว่า “ประกันไหนดี” เราควรกลับไปที่คำถามก่อนว่า “ชีวิตนี้ต้องการอะไร” ดังนั้น ผมมองว่าของการวางแผนซื้อประกันที่เหมาะสมนั้น ต้องมีองค์ประกอบดังต่อไปนี้ครับ
1. กำหนดความคุ้มครองที่เราต้องการ
ลองตรวจสอบตัวเองก่อนครับว่า ตัวเรานั้นมีความต้องการในการทำประกันลดหย่อนภาษีเพื่ออะไร เช่น ต้องการเน้นความคุ้มครองและป้องกันความเสี่ยงเพื่อไม่ให้เป็นภาระกับคนรุ่นหลัง หรือเราเป็นที่พึ่งสำคัญของครอบครัว แบบนี้เราอาจจะต้องมองหาประกันที่เน้นไปในเรื่องของความคุ้มครองมากกว่าออมทรัพย์ อย่างเช่น ประกันแบบชั่วระยะเวลา หรือแบบตลอดชีพ
หรือถ้าเรามองเรื่องของการได้รับเงินจำนวนหนึ่งเมื่อถึงเป้าหมาย หรือ ใช้เงินในวัยเกษียณ แบบนี้อาจจะเลือกประกันแบบสะสมทรัพย์ หรือประกันชีวิตแบบบำนาญ ก็เป็นทางเลือกที่เหมาะสมตามความต้องการของเราครับ
หรือถ้าเน้นเรื่องของการป้องกันความเสี่ยงจากโรคร้าย ประกันสุขภาพก็จะเป็นคำตอบได้ชัดเจนที่สุดครับ ดังนั้นต้องถามตัวเองว่า เราต้องการอะไรจากการทำประกัน และค่อยมามองกันในข้อต่อไปครับ นั่นคือ
2. พิจารณาความสามารถในการจ่ายเบี้ยประกัน
อย่าลืมว่าการทำประกันหลายตัวนั้นไม่ได้จ่ายเพียงแค่ครั้งเดียว แต่ยังมีภาระในอนาคตที่เราต้องจ่ายไปเรื่อย ๆ เป็นเวลานาน ดังนั้นลองสำรวจต่อไปอีกสักนิดว่า ความคุ้มครองหรือการป้องกันที่เราต้องการนั้นต้องจ่ายเบี้ยประกันเป็นจำนวนเงินเท่าไร และเรามีความสามารถในการจ่ายได้อย่างต่อเนื่องหรือเปล่า เพราะเรื่องของความสามารถเป็นเรื่องสำคัญครับ
รู้ใช่ไหมครับว่า เมื่อซื้อประกันแล้วต้องมีการจ่ายเบี้ยประกันอย่างต่อเนื่องตามที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ และถ้าผิดเงื่อนไขทางภาษีขึ้นมา เช่น เวนคืนกรมธรรม์ก่อนครบอายุ สิทธิในการประหยัดภาษีของเราจะต้องคืนให้แก่สรรพากร พร้อมกับเสียเงินเพิ่ม (ดอกเบี้ย) ด้วยนะครับ
3. ตรวจสอบความคุ้มค่าทางด้านภาษีให้ถูกต้อง
อย่างที่เขียนไว้ในข้อ 1 และ 2 ครับว่า ในการตัดสินใจทำประกันแต่ละประเภทนั้น เราควรมองที่วัตถุประสงค์ในการป้องกันความเสี่ยงที่ต้องการและความสามารถในการจ่ายของเราก่อนครับ แล้วค่อยมาดูสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีต่าง ๆ ว่าเราสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้มากหรือน้อยแค่ไหน คิดเสียว่าให้เน้นที่ความต้องการของเราเป็นหลัก แต่เน้นเรื่องภาษีเป็นเรื่องรอง แต่ได้ทั้งสองก็เป็นเรื่องดีที่สุดครับผม
วิธีกรอกข้อมูลลดหย่อนภาษีประกันชีวิต
ทีนี้มาดูในส่วนสำคัญที่หลายคนมักผิดพลาดเกี่ยวกับการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีสำหรับประกันชีวิตกันบ้างครับ โดยคำแนะนำการกรอกข้อมูลลดหย่อนภาษีประกันชีวิตนั้น มีขั้นตอนดังนี้ครับ

1. เริ่มต้นจากประกันสุขภาพ (ถ้ามี) ให้กรอกตามจำนวนเงินที่จ่ายจริงแต่ใช้สิทธิได้สูงสุดไม่เกิน 25,000 บาท (ถ้าเป็นการยื่นภาษีก่อนปี 2563 คือ 15,000 บาท)
2. หลังจากนั้นมากรอกประกันชีวิตต่อ (ถ้ามี) ถ้าตรงนี้ใครกรอกประกันสุขภาพไปแล้ว ให้จำไว้ว่าเมื่อรวมประกันชีวิตแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท เพราะถ้ากเรารอกทั้งสองช่องรวมแล้วเกิน จะกรอกไม่ผ่านครับ
ยกตัวอย่างเช่น เรากรอกประกันสุขภาพไป 13,000 บาทแล้ว เรายังสามารถให้กรอกประกันชีวิตตามที่จ่ายจริงไป แต่จำนวนเงินสูงสุดก็ต้องไม่เกิน 87,000 บาทครับ
3. หลังจากนั้นมากรอกประกันบำนาญ (ถ้ามี) โดยตรงนี้มีเงื่อนไขนิดหน่อยที่ต้องรู้ไว้ คือ ถ้ายังใช้สิทธิประกันชีวิตรวมกับประกันสุขภาพไม่เต็มสิทธิ์ 100,000 บาท ให้กรอกสิทธิประกันชีวิตให้เต็มสิทธิ์ 100,000 บาทก่อน แล้วค่อยเอาส่วนที่เหลือมากรอกประกันบำนาญครับ
ยกตัวอย่างเช่น นายบักหนอมมีประกันสุขภาพ 13,000 บาท มีประกันชีวิต 67,000 บาท และมีประกันบำนาญ 100,000 บาท กรณีนี้จะต้องกรอกในแต่ละช่องเป็น ประกันสุขภาพ 13,000 บาท ประกันชีวิต 87,000 บาท และประกันบำนาญ 80,000 บาท แบบนี้จะผ่านฉลุยไม่มีปัญหา และไม่มี pop-up เด้งขึ้นมาให้เสียเวลาครับ
สาเหตุเป็นอย่างที่บอกไปตอนช่วงอธิบายเงื่อนไขของประกันชีวิตลดหย่อนภาษีครับ เพราะเงื่อนไขของประกันบำนาญนั้นครอบคลุมถึงประกันชีวิต การกรอกแบบนี้เลยทำให้เราต้องกรอกสิทธิของประกันชีวิตให้เต็มจำนวนเสียก่อนเป็นอันดับแรก แล้วค่อยเอาส่วนที่เหลือมากรอกประกันบำนาญนั่นเองครับ
สรุป
โดยสรุปแล้ว การซื้อประกันลดหย่อนภาษี อาจทำให้เรากลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า เหตุผลที่เราตัดสินใจซื้อประกันแต่ละตัวนั้น มันควรมาจากสิ่งที่ประกันชีวิตให้กับเราได้เป็นอันดับแรกก่อน นั่นคือ ความคุ้มครองและการป้องกันความเสี่ยง และสิ่งนี้นี่แหละควรจะเป็นวัตถุประสงค์ที่แท้จริงในการใช้เงินของเราครับ
หลังจากนั้นค่อยมาพิจารณาสิทธิประโยชน์ต่างๆที่ได้รับเพิ่มเติม ทั้งเรื่องผลตอบแทนจากประกันบางประเภท หรือการประหยัดภาษี ว่าสิ่งที่ได้ทั้งหมดนี้คุ้มค่าหรือเปล่า ซึ่งสุดท้ายแล้ว คำว่าคุ้มค่าของแต่ละคนนั้นก็ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่ว่าเราจะนิยามมันแบบไหน ?
อย่าลืมสำรวจตัวเองให้ดี
TAXBugnoms
ก่อนที่จะตัดสินใจนะครับ