3 วิธีตรวจสอบข้อมูลธุรกิจ เพื่อป้องกันมิจฉาชีพหลอก

ตรวจสอบข้อมูลธุรกิจ

รู้ได้ไงว่าคู่ค้าธุรกิจเราคือตัวจริง?

มิตรสหายท่านหนึ่งฝากคำถามมา

ตรวจสอบข้อมูลธุรกิจของคู่ค้าเราได้อย่างไร ? หลายคนคงมีคำถามเหล่านี้ในใจ เพราะว่าปัจจุบันเราจะเห็นว่ามีข้อมูลทุกอย่างถูกสร้างขึ้นมาได้หมด ตั้งแต่ แชทมาอวยแบบดีๆ รีวิวเพจ สร้างเอนเกจ เพิ่มยอดไลค์ รูปสลิปยาวๆที่ใช้ส่งไปรษณีย์ ไปจนถึงกล่องเปล่าที่มีไว้พร้อมถ่ายรูปโชว์ ขอบอกตรง ๆ เลยว่า พวกนี้มีการให้บริการทั้งหมดครับ อารมณ์ถ้าเงินถึงก็ซื้อได้ ยังไงอย่างนั้นเลยครับ

Advertisements

โดยเหตุการณ์ที่ผมเล่ามาทั้งหมดนี้ คนทำธุรกิจหลายคนเลือกใช้เพื่อเพิ่ม “ความน่าเชื่อถือ” ธุรกิจของตัวเอง ให้คู่ค้าหรือลูกค้ารู้สึกว่าน่าไว้วางใจ เพราะมีเครดิตจากการันตีที่ผ่านมา (แม้ว่าจะปลอม) เพราะมันช่วยสร้างโอกาสปิดการขายให้กับผู้ขายสินค้าหรือให้บริการรายนั้น ๆ

โดยส่วนตัว ผมเคยสอบถามและใช้บริการบ้าง เพื่อทดสอบว่ามันดีจริงไหม และมันช่วยจริงได้หรือเปล่า แต่หลังจากทดลองดูไปสักพัก ก็ได้รับคำตอบว่า สิ่งสำคัญที่สุด คือ ตั้งใจทำผลงานของเราให้ดี แบบนี้น่าจะช่วยได้ในระยะยาว มากกว่าไปถึงดวงดาวในระยะสั้นแล้วตกลงมาแบบไม่ทันตั้งตัวครับ

Advertisements

ตรวจสอบข้อมูลธุรกิจได้อย่างไร ?

เอาล่ะ.. กลับมาเรื่องของความรู้กันดีกว่า อย่างที่มิตรสหายท่านหนึ่งของผมตั้งคำถามไปในตอนแรกว่า เราจะรู้ได้ยังไงว่า คนไหนตัวจริง คนไหนโกหก แล้วเราจะใช้วิธีการตรวจสอบแบบไหนให้รู้ขัอเท็จจริง เพื่อที่จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อความร้ายกาจของพวกเขา เลยกลายเป็นที่มาของบทความ 3 วิธีตรวจสอบความน่าเชื่อถือของธุรกิจ เพื่อป้องกันมิจฉาชีพหลอก ครับ

เช็คข้อมูลการจดทะเบียนนิติบุคคล

โดยปกติแล้ว ธุรกิจที่อ้างตัวว่าเป็นบริษัท ห้างหุ้นส่วน หรือ นิติบุคคลต่าง ๆ ย่อมได้รับความเชื่อถือว่าการประกอบธุรกิจในรูปแบบบุคคลธรรมดา แต่สิ่งที่เราต้องเช็คให้ชัดคือ รูปแบบของธุรกิจนั้นมีจริงไหม การประกอบธุรกิจมีรายได้ กำไร หรือ อะไรทีต้องระวังหรือเปล่า โดยวิธีการง่ายๆ ดังนี้ครับ

1. โหลด Application ชื่อ DBD e-Service ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
2. เลือก ตรวจค้นข้อมูล
3. เลือก ข้อมูลนิติบุคคล/งบการเงิน

Advertisements
ตรวจสอบข้อมูลธุรกิจ
Advertisements

4. กรอก เลขนิติบุคคล 13 หลัก หรือ ชื่อนิติบุคคล
5. จะมีข้อมูลขึ้นมาให้ว่า จดทะเบียนวันไหน ทุนกี่บาท ตั้งอยู่ที่ไหน
6. เลือก ข้อมูลเปรียบเทียบงบการเงิน ดูได้ทั้งฐานะการเงินและกำไร

ตรวจสอบข้อมูล DBD

สำหรับการตรวจสอบวิธีนี้ จะทำให้เรารู้ข้อมูลคร่าว ๆ ในการประกอบธุรกิจของคู่ค้าของเราแล้วครับ ว่าน่าเชื่อถือจริงหรือไม่ โดยผมขอให้ข้อสังเกตส่วนตัวไว้ว่า เบื้องต้นควรเช็คข้อมูลสำคัญ คือ รายได้ กำไร และหนี้สินต่างๆ ว่ามีอะไรผิดปกติหรือเปล่า

ยกตัวอย่างเช่น บอกว่าเปิดบริษัทมานานแต่กลับไม่มีรายได้ บอกว่ายอดขายร้อยล้านแต่เปิดมาจริงหลักแสน หรือแม้แต่มีหนี้เยอะแยะแบบไม่น่าจะจ่ายไหว แบบนี้ก็ช่วยเตือนเราได้ระดับหนึ่งครับ

เช็คข้อมูลการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)

สำหรับข้อนี้ ผมอยากให้เริ่มต้นโดยการลองถามคำถามสั้น ๆ ไปอย่าง “ออกใบกำกับภาษีให้ได้ไหม” หรือ “จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือเปล่า” ถ้าหากธุรกิจที่เราถามไปเขามีตัวตนจริง และทำถูกต้องตามกฎหมาย เขาจะสามารถออก “ใบกำกับภาษี” ให้เราได้ทันที หรือ ให้เราตรวจสอบข้อมูลแบบ “ภ.พ. 20” ที่เป็นหลักฐานแสดงว่าจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างถูกต้องครับ

เมื่อได้รับหลักฐานแล้ว โดยเราสามารถเข้าไปเช็คข้อเท็จจริงเพิ่มเติมได้ที่ เวปไซด์กรมสรรพากร ในหัวข้อ ระบบค้นหาข้อมูลผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม แล้วกรอกข้อมูลเลขประจำผู้เสียภาษี หรือ ชื่อผู้ประกอบการ เพื่อดูว่าธุรกิจนั้นจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยหรือเปล่า

ผู้ประกอบการจด VAT
Advertisements

อย่างไรก็ดี สำหรับธุรกิจขนาดเล็กที่มียอดขายต่อปีไม่ถึง 1.8 ล้านบาท หรือเป็นธุรกิจที่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มอาจจะไม่มีชื่อในระบบ หรือแจ้งเราว่าเขาไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ถ้าได้รับคำตอบแบบนี้ก็ไม่ต้องแปลกใจนะครับ (เพราะมันเป็นไปได้)

แต่ถ้าหากเป็นธุรกิจที่บอกว่าสามารถออกใบกำกับภาษีให้กับเราได้ อันนี้ก็ต้องมีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแน่นอน ไม่งั้นใบกำกับภาษีที่เราได้มาจะถือว่าเป็นใบกำกับภาษีปลอม ซึ่งจะมีปัญหามาที่เราได้ครับ

นอกจากนั้น การถามคำถามนี้อาจจะทำให้เรารู้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า ถ้าเขาบอกว่าไม่รู้จักใบกำกับภาษี หรือ ออกให้ไม่ได้ (โดยไม่มีเหตุผลที่ชัดเจน) นั่นอาจจะมีประเด็นในเรื่องของการหลบเลี่ยงภาษี หรือ ไม่ได้เป็นธุรกิจที่ขายดีตามที่เขาบอกไว้ก็ได้ครับ

เช็คหลักฐานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

สำหรับบางธุรกิจ อาจจะต้องมีหลักฐานความน่าเชื่อถือเพิ่มเติม เช่น จดทะเบียนหรือมีใบอนุญาตต่าง ๆ เช่น องค์การอาหารและยา (อย) หรือใบประกอบธุรกิจหรือวิชาชีพบางประเภท ส่วนนี้คืออีกส่วนหนึ่งที่สำคัญในการตรวจสอบความถูกต้องและความน่าเชื่อถือของธุรกิจครับ

ผมอยากแนะนำให้ลองสังเกตเพิ่มเติมเรื่องการทำเอกสารอื่น ๆ นอกเหนือจากใบกำกับภาษี เช่น ใบวางบิล ใบแจ้งหนี้ ใบเสร็จรับเงิน ด้วยครับ เพราะพวกนี้ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่แสดงถึงความเป็นมืออาชีพและความเรียบร้อยในการทำงานร่วมกันครับ

สรุป

เหตุผลที่ผมตั้งใจเขียนบทความนี้ขึ้นมา เพราะมองว่า ปัจจุบันธุรกิจในประเทศเราอาจจะยังไม่ได้เข้าสู่ระบบภาษี หรือระบบบัญชีอย่างถูกต้อง อาจจะด้วยความไม่รู้ ไม่เข้าใจ หรือไม่สนใจยังไงก็ตาม แต่ในฐานะผู้บริโภค หรือ คู่ค้าทางธุรกิจ สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ ความน่าเชื่อถือและจริงใจที่เราได้รับครับ และข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้จะช่วยบอกได้ในระดับหนึ่ง

ดังนั้น หากมีธุรกิจประเภทไหนที่ทำให้ผู้บริโภคเกิดความสงสัยได้ว่า สิ่งที่พยายามทำทุกอย่างนั้นเป็นเพียงแค่คำโฆษณาเพื่อให้สินค้าหรือบริการขายได้เท่านั้น แบบนั้นอาจจะไม่ใช่เรื่องดีเท่าไร แต่อย่างไรก็ตาม สุดท้ายเราก็ไม่สามารถทำอะไรได้ดีกว่า

การรู้ข้อเท็จจริงเพื่อป้องกันตัวเองครับ

TAXBugnoms

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Allow