20 ข้อที่คุณควรรู้ก่อนยื่นภาษีบุคคลธรรมดาประจำปี

20 ข้อควรรู้ก่อนยื่นภาษี

พี่ครับ จะยื่นภาษีประจำปี
ผมมีอะไรที่ต้องระวังบ้าง

คำถามจากแฟนเพจสุดน่ารักท่านหนึ่ง

ก่อนที่จะ ยื่นภาษีบุคคลธรรมดา ประจำปี นอกจากการเรียนรู้ วิธีคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และจัดเตรียมเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องของตัวเองแล้ว ผมมีคำแนะนำบางอย่างที่อยากฝากให้ทุกคนทำความเข้าใจก่อนจะยื่นภาษีด้วยตัวเองครับ โดยได้รวบรวมข้อมูลมาให้ทั้งหมด 20 ข้อ เราลองมาดูกันเลยครับว่ามีอะไรบ้าง ?

Advertisements
สำหรับคนที่ไม่มีเวลา สามารถเลือกอ่านเฉพาะหัวข้อที่สนใจได้เลยครับ

1. ถ้าคุณขอคืนภาษี คุณควรสมัครพร้อมเพย์

ไม่ใช่ว่าไม่สมัครแล้วจะไม่ได้คืนเงินภาษีนะครับ แต่เหตุผลที่ผมแนะนำแบบนี้ เพราะมองว่าการสมัครจะทำให้เราได้เงินคืนภาษีรวดเร็วยิ่งขึ้นครับ โดยเราไม่ต้องเสียเวลาเอาหนังสือแจ้งคืนเงินภาษีพร้อมกับบัตรประจำตัวประชาชนไปติดต่อกับทางธนาคารกรุงไทยให้เสียเวลาหรือค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพิ่มเติมครับ

สำหรับพร้อมเพย์ที่สามารถใช้รับคืนเงินภาษีเข้าบัญชีได้นั้น ต้องเป็นพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขบัตรประจำตัวประชาชนของเราเท่านั้นครับ

Advertisements

2. อย่าลืมแก้ไขข้อมูลส่วนตัวให้ถูกต้อง

เมื่อเข้ามาตรงหน้าแรกของระบบยื่นภาษีออนไลน์ จะมีข้อความให้เราตรวจสอบข้อมูลส่วนตัวให้เรียบร้อยก่อน ซึ่งมีข้อความให้เลือก “เปลี่ยนชื่อ-ชื่อสกุล ผู้มีเงินได้” และ “แก้ไขที่อยู่” ซึ่งตรงนี้ผมแนะนำให้แก้ไขเพิ่มเติมให้ถูกต้องนะครับ เพื่อที่เวลามีปัญหาในการขอข้อมูล หรือติดต่อต่าง ๆ จะได้ไม่ล่าช้าและผิดพลาดครับ

3. ใครมีคู่สมรส อย่าลืมวางแผนยื่นภาษีให้ประหยัดที่สุด

สำหรับคนที่มีคู่สมรส อย่าลืมเลือกทางเลือกที่คุ้มค่าที่สุดในการจัดการภาษีนะครับ โดยแบ่งออกเป็นกรณีต่างๆ ดังนี้ครับ

  • กรณีคู่สมรสของเราไม่มีเงินได้ ถ้าคู่กันแล้วชีวิตเขาฝากเราให้ดูแล โดยที่เขาไม่มีรายได้ใดๆเลย อันนี้จัดการง่ายมาก โดยดึงเขามาเป็น “ค่าลดหย่อนคู่สมรส” ได้สิทธิสูงสุด 60,000 บาท
  • กรณีช่วยกันทำมาหากิน มีทางเลือกในการแบ่งรายได้จากการทำงานร่วมกัน แล้วให้แต่ละคนไปยื่นของตัวเอง แบบนี้จะประหยัดมากกว่า หลักการแบ่งของเรื่องนี้ ให้ดูว่าเป็นเงินได้ประเภทไหน เช่น ถ้าเป็นเงินได้ประเภทที่ 2-7 ให้แบ่งกันคนละครึ่ง แต่ถ้าเป็นประเภทที่ 8 ให้กำหนดสัดส่วนการแบ่งได้ตามที่ตกลงกัน ตรงนี้จะช่วยประหยัดภาษีได้มากขึ้น
  • กรณีต่างคนต่างมีรายได้ กรณีที่ต่างฝ่ายต่างแยกทำมาหากิน ตัวใครตัวมัน แต่ช่วยกันทำงานหาเงินมาดูแลครอบครัว แบบนี้จะมี 3 ทางเลือก คือ
    • ทางเลือกแรก แยกกันเลยตัวใครตัวมัน มองง่าย ๆ ว่าถ้ารวมกันน่าจะเสียภาษีมากขึ้น แบบนี้แยกยื่นจะคุ้มกว่า โดยส่วนใหญ่ มักจะเลือกใช้ทางนี้ ซึ่งเป็นทางที่ดีที่สุดครับ
    • ทางเลือกที่สอง แยกเฉพาะเงินเดือนออกมา แล้วเอาเงินได้อื่นไปรวมยื่นกับคู่สมรสของเราแทน กรณีนี้จะเหมาะสำหรับคนที่มีความแตกต่างกันด้านรายได้ในระดับหนึ่ง เช่น คู่ของเรามีเงินได้หลากหลายประเภทแล้วเสียในฐานภาษีที่สูงกว่า แต่ตัวเรามีเงินได้ประเภทเดียวและน้อยกว่ามาก
    • ทางเลือกสุดท้าย คือ คู่เรามีรายได้น้อยแต่ค่าลดหย่อนต่างๆเยอะ แปลว่า คู่ที่จะมาช่วยให้เราลดภาษีที่ต้องจ่ายลงเพราะส่วนของค่าลดหย่อนที่เขามีเกินกว่ารายได้นั้น เมื่อมารวมแล้วจะช่วยหักเงินได้ของเราได้ ทำให้เสียภาษีน้อยลงได้เหมือนกัน

สำหรับคนที่งง ๆ และสงสัยว่าจะเลือกทางไหน ผมมีคำแนะนำเพิ่มเติมให้ คือ ลองคำนวณดูก่อนจาก เวปไซด์กรมสรรพากร หรือ ศึกษาจากคลิปด้านล่างนี้ก็ได้ครับ

Advertisements
https://youtu.be/BzZFUGHpUjY
Advertisements

4. มีรายได้หลายประเภท = ยื่นให้ครบทุกประเภท

กรณีนี้มักจะมีคนถามว่า มีรายได้หลายทางหลายประเภท ควรจะยื่นแบบไหนดี? ต้องยื่นทุกประเภทเลยหรือเปล่า คำตอบคือ เราต้องยื่นเงินได้ทุกประเภทให้ครบถ้วนครับ โดยต้องรู้ว่าเรามีเงินได้ประเภทไหนบ้าง (อ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความ เงินได้ 8 ประเภทมีอะไรบ้าง?)

โดยเงินได้ที่ไม่ต้องยื่นภาษีนั้น จะมีอยู่ 2 ประเภทครับ นั่นคือ เงินได้ที่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษี และ เงินได้ที่ได้รับสิทธิเลือกหักภาษี ณ ที่จ่าย (Final TAX) ดังนั้น ถ้าเราไม่ได้มีเงินได้ 2 ประเภทนี้ แปลว่าเราต้องเอามายื่นให้ถูกต้องครับ

ใครสนใจ ลองดูตัวอย่างของการคำนวณภาษีกรณีที่มีรายได้หลายประเภทได้ที่โพสต์นี้ครับ

https://www.facebook.com/TaxBugnoms/posts/4070783339613718

5. ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ได้รับสิทธิยกเว้นเงินได้ 190,000 บาท

กรณีผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป จะได้รับสิทธิยกเว้นเงินได้ฟรีๆ จำนวน 190,000 บาทครับ โดยเงินได้นี้สามารถเอาไปหักออกจากเงินได้ประเภทไหนก็ได้ โดยการกรอกข้อมูลตรงนี้จะอยู่ในช่องด้านล่างของเงินได้ประเภทที่เราเลือกครับ

Advertisements

6. คนพิการที่อายุไม่ถึง 65 ปี ได้รับสิทธิยกเว้นเงินได้ 190,000 บาท

เช่นเดียวกันกับผู้สูงอายุ กรณีคนพิการที่มีเงินได้จะได้รับสิทธิยกเว้นเงินได้ 190,000 บาทเหมือนกัน เพียงแต่ว่าถ้าหากเป็นคนพิการที่อายุ 65 ปีขึ้นไป จะใช้สิทธิในข้อ 5 โดยถือว่าเป็นผู้สูงอายุแทนครับ

7. ไม่รู้เลขประจำตัวผู้จ่ายเงินได้ ก็สามารถยื่นได้

โดยปกติแล้วเราต้องกรอกเลขประจำตัวผู้เสียภาษีคนที่จ่ายเงินสูงสุดคนเดียวในเงินได้แต่ละประเภท แต่ในกรณีที่เราไม่รู้ว่าผู้จ่ายเงินได้เป็นใคร (เช่น ไม่ได้รับหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย หรือได้รับเงินได้เป็นเงินสด) เราก็สามารถยื่นภาษีได้ครับ โดยกรอกเลขประจำตัวผู้เสียภาษีด้วยเลข “0000000000001” เพียงเท่านี้ก็จะไม่มีข้อความแจ้งเตือนจากระบบมาให้เราต้องหงุดหงิดและรำคาญใจอีกต่อไปครับ

8. เงินปันผลกองทุนรวมถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 4

เนื่องจากตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2562 เป็นต้นไป เงินปันผลจากกองทุนรวมทั่วไปที่เรามี (กองทุนรวมตาม พ.ร.บ.ตลาดหลัททรัพย์) จะถูกเปลี่ยนประเภทจากเงินได้ตามมาตรา 40(8) หรือเงินได้ประเภทที่ 8 (ส่วนแบ่งกำไรจากกองทุนรวม) มาเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(4)(ข) ดังนั้นการกรอกข้อมูลเงินได้ตรงนี้จะต้องเลือกเป็นเงินได้ประเภทที่ 4 เงินปันผลจากกองทุนรวมแทนครับ ซึ่งถ้าใครสนใจข้อมูลเรื่องนี้เพิ่มเติม สามารถศึกษาได้ที่คลิปด้านล่างครับ

https://youtu.be/hLdBRlRdjxc

9. กรณีออกจากงาน อย่าลืมเช็คสิทธิแยกคำนวณภาษี

สำหรับคนที่ออกจากงานระหว่างปี มักจะมีคำถามเรื่องของการจัดการภาษี ผมแนะนำให้พิจารณาตามหลักการสั้น ๆ ดังนี้ครับ

  • ทำงานกี่ที่ในปีนั้น ให้เอารายได้รวมกันทั้งหมด ไม่ว่าจะเปลี่ยนงานระหว่างปี ได้งานใหม่ระหว่างปี ออกแล้วไม่มีงานทำต่อ พิจารณาเพียงหลักการเดียว คือ เอารายได้ทั้งหมดมารวมกันเพื่อคำนวณภาษี ถ้ามีหลายทีก็เอามารวมกันเพื่อยื่นให้ถูกต้อง
  • ออกจากงานที่เก่าแล้วได้รับเงินชดเชย เช่น เงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน เงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินพิเศษจากเจ้านาย ไม่ว่าจะได้งานใหม่หรือไม่ ให้พิจารณาดังนี้
    • เงินชดเชยตาม กม. แรงงานได้รับสิทธิยกเว้น 300,000 แต่ต้องเป็นการออกจากงานตามกฎหมาย
    • ถ้าได้เงินจาก กองทุนสำรองเลี้ยงชีพส่วนที่ต้องเสียภาษี คือ เงินสมทบ + ผลประโยชน์ โดยส่วนเงินสะสมของเราไม่ต้องเสียภาษี และที่สะสมในปีก็ยังลดหย่อนได้อยู่ (ยกเว้นแต่ออกตอนอายุ 55 ปีขึ้นไป อันนี้ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีทั้งจำนวน)
    • เงินอื่น ๆ ที่ได้รับเพิ่มเติม ไม่ได้รับสิทธิในการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

โดยปกติ เงินที่ว่าทั้งหมดถ้าไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีต้องเอามายื่นรวมเป็นเงินเดือนหรือเงินได้ประเภทที่ 1 ทั้งหมด แต่ถ้าทำงานตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป สามารถใช้สิทธิแยกยื่นเพื่อคำนวณภาษีต่างหากได้ เรียกว่า เงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน โดยการแยกคำนวณภาษีได้นั้น จะทำให้เสียภาษีน้อยลงกว่าการรวมคำนวณครับ

https://www.facebook.com/TaxBugnoms/posts/4139508066074578

10. ขาย LTF หรือ RMF หรือ SSF ระหว่างปี อย่าลืมกรอกข้อมูลด้วย

กรณีที่มีการขาย LTF หรือ RMF เกิดขึ้นในปีไหน แนะนำให้เอาข้อมูลมายื่นให้ถูกต้อง เพื่อเป็นการแจ้งข้อมูลให้แก่สรรพากร โดยกรอกในช่องเงินค่าขายกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) หรือ เงินค่าขายกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) หรือ เงินค่าขายกองทุนรวมเพื่อการออม (ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป) โดยถ้าเราถือครองถูกต้องตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด เราไม่ต้องเสียภาษีเพิ่มครับ แต่ถ้าหากขายก่อนครบกำหนด อันนี้ต้องเสียภาษีเพิ่มแน่นอนครับ

11. รายได้ที่เป็น Final TAX สามารถใช้เป็นฐานในการลดหย่อนภาษีได้

สำหรับรายได้ที่เป็น Final TAX เช่น เงินปันผลจากหุ้น กองทุนรวม ดอกเบี้ยเงินฝากต่างๆ ที่เราใช้สิทธิเสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายโดยไม่นำมารวมเป็นรายได้เพื่อยื่นภาษีประจำปี เงินก้อนนี้สามารถใช้เป็นฐานในการซื้อกองทุนเพื่อลดหย่อนภาษีหรือประกันแบบบำนาญได้ด้วยครับ ซึ่งถ้าหากใครมีข้อมูลตรงนี้ก็สามารถเอามากรอกตอนที่ยื่นภาษีประจำปีได้ จะทำให้สิทธิในการซื้อเพิ่มขึ้นครับ

12. บุตรคนที่ 2 ลดหย่อนภาษีได้เพิ่มขึ้นอีก 30,000 บาท

สำหรับเงื่อนไขการลดหย่อนภาษีที่หลายคนพลาดในประเด็นค่าลดหย่อนบุตร คือ การลดหย่อนบุตรคนที่ 2 ที่เกิดตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป สามารถลดหย่อนภาษีได้เพิ่มอีก 30,000 บาท รวมเป็น 60,000 บาท

และอีกประเด็นหนึ่งที่หลายคนมักเข้าใจผิด นั่นคือ สิทธิในการลดหย่อนบุตรของทั้งพ่อและแม่ไม่จำเป็นต้องหารครึ่งอีกต่อไป แต่ให้ยื่นได้เต็ม ๆ สำหรับผู้ที่มีเงินได้เลยครับ เช่น ถ้าทั้งพ่อและแม่มีเงินได้ ก็สามารถลดหย่อนบุตรได้เต็มจำนวนทั้งคู่ครับ

13. กรอกข้อมูลกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้ถูกต้อง

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ คือ กองทุนที่เราสมทบเข้าในระหว่างปี โดยยอดสะสมมักจะปรากฎในใบหัก ณ ที่จ่ายที่บริษัทสรุปยอดให้ประจำปีไว้ใช้ยื่นภาษีอยู่แล้วครับ

เวลากรอกข้อมูล เราสามารถกรอกยอดตามนั้นได้เลยครับ แต่ระบบจะมีการปรับยอดให้ โดยให้ 10,000 บาทแรกไปปรากฎอยู่ที่รายการค่าลดหย่อน และส่วนที่เกินนั้นอยู่ในยอดที่หักออกจากเงินได้ของเราอีกหน้าหนึ่ง ดังนั้นไม่ต้องตกใจ มันจะมี Pop up เด้งขึ้นมา ถ้าเราลองบวกดูจะเห็นว่ายอดเท่าเดิม แต่มันอยู่กันคนละที่แค่นั้นครับ

สาเหตุที่เป็นแบบนี้ เพราะว่า ค่าลดหย่อนตัวนี้มันมีองค์ประกอบสองส่วน คือ ส่วนที่เป็นค่าลดหย่อน 10,000 บาท และส่วนที่เกิน 10,000 บาทแต่ไม่เกิน 490,000 บาท จะเป็นส่วนที่เอามายกเว้นหักออกจากเงินได้ (รวมกันแล้วคือไม่เกิน 500,000 บาท)

ยื่นภาษี กรอกข้อมูลกองทุนสำรองเลี้ยงชีพยังไง

จากรูปตัวอย่างที่เอามาโชว์ คือ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 50,000 บาท พอกรอกแล้ว จะไปอยู่ที่ค่าลดหย่อน 10,000 บาท และอีก 40,000 บาทจะอยู่ในส่วนยกเว้นเงินได้ครับผม

14. กรอกข้อมูลประกันแต่ละประเภทให้ถูกต้อง

สำหรับ ประกันที่ใช้ลดหย่อนภาษี จะมีความแตกต่างกันไปตามแต่ละประเภทครับ โดยการกรอกข้อมูลประกันประเภทต่าง ๆ นั้นมีหลักการดังนี้ครับ

  • เริ่มต้นจากประกันสุขภาพ (ถ้ามี) ให้กรอกตามจำนวนเงินที่จ่ายจริงแต่ใช้สิทธิได้สูงสุดตามกฎหมาย (เดิม 15,000 บาท และปรับเป็น 25,000 บาทในปี 2563)
  • หลังจากนั้นมากรอกประกันชีวิตต่อ (ถ้ามี) ถ้าตรงนี้ใครกรอกประกันสุขภาพไปแล้ว ให้จำไว้ว่าเมื่อรวมประกันชีวิตแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท ถ้ากรอกทั้งสองช่องรวมแล้วเกินจะกรอกไม่ผ่านครับ ยกตัวอย่างเช่น กรอกประกันสุขภาพไป 13,000 บาท ให้กรอกประกันชีวิตตามที่จ่ายจริงไป แต่สูงสุดก็ต้องไม่เกิน 87,000 บาท
  • สุดท้ายค่อยมากรอกประกันบำนาญ (ถ้ามี) โดยตรงนี้มีเงื่อนไขนิดหน่อยทีต้องรู้ไว้ คือ ถ้ายังใช้สิทธิประกันชีวิต+ประกันสุขภาพไม่เต็ม 100,000 บาท ให้กรอกสิทธิประกันชีวิตให้เต็ม 100,000 บาทก่อน แล้วค่อยเอาส่วนที่เหลือมากรอกในช่องประกันบำนาญ
ยื่นภาษี ประกันชีวิต

ยกตัวอย่างเช่น มีประกันสุขภาพ 30,000 บาท ประกันชีวิต 100,000 บาท และมีประกันบำนาญ 200,000 บาท กรณีในปี 2562 เราจะต้องกรอกในช่องประกันสุขภาพ 15,000 บาท ประกันชีวิต 85,000 บาท และประกันบำนาญ 200,000 บาท จะทำให้ผ่านฉลุยไม่มีปัญหาครับ

15. กรณีเงินบริจาค 2 เท่าให้กรอกยอดตามจริงที่เราบริจาคไป

สำหรับการกรอกข้อมูลเงินบริจาค 2 เท่า เช่น บริจาคเพื่อการศึกษา หรือ โรงพยาบาลรัฐ ให้กรอกข้อมูลเงินบริจาคตามจำนวนเงินที่เราบริจาคจริงครับ แล้วค่อยให้ระบบคูณตัวเลขให้ ซึ่งเพดานสูงสุดของเงินบริจาคจะไม่เกิน 10% ของเงินได้สุทธิก่อนหักเงินบริจาคครับ

16. กรณีเงินบริจาคทั่วไปกรอกหลังจากเงินบริจาค 2 เท่า

สำหรับเงินบริจาคกรณีทั่วไป ที่ไม่ได้สิทธิ์ 2 เท่า จะกรอกเป็นรายการค่าลดหย่อนสุดท้าย (ตามรูปด้านบน) โดยกรอกหลังจากที่กรอกเงินบริจาค 2 เท่าเรียบร้อยแล้วครับ

17. บางกรณีเราอาจจะเสียภาษีจากวิธีเงินได้พึงประเมิน x 0.5%

ถ้าใครศึกษาวิธีการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะทราบว่า ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้นมีวิธีการคำนวณภาษีอีกวิธีหนึ่ง โดยเอาเงินได้ (รายได้ของเราทั้งหมด) ที่ไม่ใช่เงินเดือน (หรือเงินได้ประเภทที่ 1) คูณด้วย 0.5% และ เราจะใช้วิธีนี้คำนวณภาษีเมื่อเรามีเงินได้ที่ไม่ใช่เงินเดือนรวมกันทั้งปีเกินกว่า 1 ล้านบาทเท่านั้น และนำมาเปรียบเทียบกับการคำนวณภาษีด้วยวิธีเงินได้สุทธิ หากได้ภาษีตามวิธีไหนมากกว่าให้เสียภาษีตามวิธีนั้น ซึ่งในบางกรณี เราอาจจะต้องเสียภาษีตามวิธีนี้ก็ได้ครับ

วิธีคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

18. กรณีขอคืนภาษีสามารถยื่นเอกสารได้ทันที ไม่ต้องรอ

ในกรณีที่เราได้เงินคืนภาษี กรมสรรพากรจะมีปุ่ม “นำส่งเอกสารขอคืนภาษี” ขึ้นมาให้กดทันทีครับ ซึ่งถ้าใครสะดวกส่งเอกสารทันที ผมแนะนำให้กดแล้วอัพโหลดเอกสารเลยครับ จะได้ไม่ต้องเสียเวลารอพี่สรรพากรแจ้งขอเอกสารเพิ่มเติม

เอกสารยื่นขอคืนภาษี

19. กรณีชำระภาษีตั้งแต่ 3,000 บาท สามารถผ่อนชำระได้ 3 งวด

ในกรณีที่เรายื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้แล้ว พบว่ามีภาษีที่ต้องชำระจำนวนตั้งแต่ 3,000 บาทขึ้นไป เรามีสิทธิขอผ่อนชำระภาษีได้เป็น 3 งวดเท่า ๆ กัน โดยไม่มีดอกเบี้ย (เงินเพิ่ม) จากกรมสรรพากรครับ แต่ต้องผ่อนให้ตรงเวลานะครับ เพราะไม่งั้นแล้ว เราจะหมดสิทธิผ่อนทันที โดยต้องเสียเงินเพิ่มในอัตรา 1.5% ต่อเดือนอีกด้วยครับ

นอกจากนั้นแล้ว ยังสามารถจ่ายผ่านบัตรเครดิตได้อีก 3 ธนาคารด้วยครับ ได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารกรุงเทพ ถ้าหากใครมีบัตรเครดิตกับธนาคารเหล่านี้ก็สามารถขยายเวลาชำระภาษีได้อีกนิดหน่อยครับ

20. ตรวจสอบข้อมูลลดหย่อนภาษีได้ที่เวปไซด์กรมสรรพากร

ปัจจุบันสรรพากรมีการเปิดโครงการที่ชื่อว่า MyTAXAccount เพื่อให้เราสามารถตรวจสอบข้อมูลค่าลดหย่อนบางตัวได้ด้วยตัวเองครับ ซึ่งตอนนี้เราสามารถตรวจสอบข้อมูล ประกันชีวิตและประกันสุขภาพ เงินบริจาคผ่านระบบ E-donation กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และ ประกันสังคม ได้ด้วยตัวเองครับ ก็ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลของเราอีกทีหนึ่งครับ

สรุป

โดยสรุปแล้ว สำหรับการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือการรู้ข้อมูลของตัวเองก่อน เพื่อที่เราจะได้นำมากรอกข้อมูลได้อย่างถูกต้องอีกทีหนึ่งครับ ซึ่งผมหวังว่าเทคนิคในการจัดการข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้จะช่วยให้การจัดการภาษีประจำปีของทุกคนง่ายและสะดวกขึ้นครับ

สำหรับคนที่ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นศึกษาข้อมูลเรื่องภาษีจากไหน ยื่นยังไง คำนวณแบบไหน มีประเด็นระวังอะไรที่ต้องใส่ใจบ้าง ผมแนะนำให้ลองเริ่มต้นจากคลิปด้านล่างที่ผมรวบรวมมาให้ก่อนครับ และหลังจากนั้นค่อยกลับมาทบทวนในบทความนี้อีกที น่าจะทำให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นครับ

https://www.facebook.com/TaxBugnoms/posts/4351057148253001

สุดท้ายนี้ ขอฝากไว้สั้น ๆ ว่า
เรามายื่นภาษีให้ถูกต้องกันนะครับ

TAXBugnoms

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Allow